ตอนนี้คุณอยู่ที่ >> หน้าแรก >> หน้ารวม รีวิวมือถือ mobile review >> รีวิวมือถือ Mobile Review
   
Date : 07/12/2018

รีวิว (Review) Asus ROG Phone

ยอดสมาร์ทโฟนเกมมิ่ง เพื่อเกมเมอร์ตัวจริง! แรงขั้นสุดด้วยชิปเซ็ต Snapdragon 845+RAM 8GB พร้อมระบบระบายความร้อน GameCool, จอ AMOLED HDR 90Hz/1ms, ระบบสั่น AirTrigger สุดล้ำ, ลำโพงคู่เสียงกระหึ่ม, USB-C จัดเต็ม 3 ช่อง, แบตเตอรี่ HyperCharge 4000 mAh, กล้องคู่ 12 ล้านพิกเซล และอุปกรณ์เสริมเพื่อขั้นสุดของการควบคุม บนบอดี้โลหะแข็งแกร่งดุดัน!

 

ช่วงปีหลังๆ มานี้ เกมมิ่งสมาร์ทโฟน หรือสมาร์ทโฟนที่พัฒนามาเพื่อการเล่นเกมโดยเฉพาะ เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหลายๆ แบรนด์ก็ได้เปิดตัวเกมมิ่งสมาร์ทโฟนของตัวเองออกมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Xiaomi Black Shark, Nubia Red Magic, Honor Play หรือแม้กระทั่งเรือธงอย่าง Huawei Mate 20 X ก็ถูกจัดเป็นสมาร์ทโฟนสำหรับเล่นเกมอยู่กลายๆ เช่นกัน แต่ท่ามกลางเหล่าเกมมิ่งสมาร์ทโฟนที่เปิดตัวไปนั้น มีอยู่รุ่นหนึ่งที่โดดเด่น และถูกคาดหวังจากเหล่าเกมเมอร์เป็นอย่างมาก นั่นก็คือ Asus ROG Phone ที่เราจะนำมารีวิวให้ได้ชมกันในครั้งนี้ครับ

ROG Phone เป็นเกมมิ่งสมาร์ทโฟนจาก Asus ที่ออกแบบมาเพื่อการเล่นเกมโดยเฉพาะในทุกองค์ประกอบ ไม่ใช่มือถือตระกูล Zenfone แต่เป็นผลิตภัณฑ์ในซีรีส์ Republic of Gamers (ROG) ซึ่งเป็นไลน์สินค้าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และเกมมิ่งเกียร์ที่มีชื่อเสียงในวงการ PC มาอย่างยาวนาน ตัวเครื่องมีดีไซน์ที่โดดเด่นดุดันและมีความเป็นเกมมิ่งเกียร์เต็มร้อย โดยมาพร้อมกับโลโก้ ROG ด้านหลังตัวเครื่องที่เปล่งแสงไฟแบบ RGB ได้ถึง 16 ล้านสี และช่องระบายความร้อน ด้านหน้าเป็นจอแสดงผลแบบ AMOLED สีสันสดใสขนาด 6 นิ้ว ในอัตราส่วน 18:9 ความละเอียดระดับ Full HD+ (2160 x 1080 พิกเซล) ที่รองรับ Refresh Rate ได้สูงสุดถึง 90Hz ประกบด้วยลำโพงเสียงภายนอกทรงพลังที่หันหน้าเข้าหาผู้ใช้ ทำให้สามารถถ่ายทอดประสบการณ์ในการเล่นเกมทั้งด้านภาพและเสียงออกมาได้อย่างเต็มอารมณ์ สำหรับซอฟต์แวร์ภายในนั้น ROG Phone มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Android 8.1 Oreo ครอบทับด้วย ROG Gaming UI ซึ่งออกแบบมาเป็นพิเศษ และยังสามารถเข้าสู่โหมดการทำงานแบบ X Mode เพื่อรีดประสิทธิภาพของตัวเครื่องออกมาให้ถึงขีดสุดสำหรับการเล่นเกมโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ที่ช่วยในการเล่นเกมมากมาย เช่นการแสดงอุณหภูมิของชิปเซ็ตและ FPS แบบ real-time, ระบบ AirTriggers ที่ทำให้ใช้ปุ่ม Shoulders Button (L และ R) ได้, ฟังก์ชันการตั้ง มาโคร, เครื่องมือการอัดวิดีโอ และ Live Stream ในตัว และยังรองรับอุปกรณ์เสริมอีกมากมายหลายแบบอีกด้วย

 

จากคุณสมบัติข้างต้น เรียกได้ว่า ROG Phone นั้นถูกพัฒนาขึ้นโดยมีการเล่นเกมเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง แต่ในการใช้งานจริงจะตอบโจทย์เกมเมอร์ได้ครบถ้วนอย่างที่คาดหวังกันไว้หรือไม่ เราไปชมกันต่อในรีวิว ROG Phone โดยทีมงาน Thaimobilecenter ได้เลยครับ

 

รูปลักษณ์ภายนอกตัวเครื่อง และการออกแบบดีไซน์

ส่วนใหญ่แล้วเราจะไม่ค่อยพูดถึงกล่องแพ็คเกจภายนอกมากนักเนื่องจากไม่ค่อยมีอะไรน่าสนใจ แต่สำหรับ ROG Phone คงจะข้ามเรื่องนี้ไปไม่ได้ เพราะสมาร์ทโฟนรุ่นนี้ถูกบรรจุมาในกล่องที่สวยงามน่าสะสมมากๆ โดยเป็นกล่องสีดำทรงหกเหลี่ยม ตัดกับโลโก้สีแดงสะท้อนแสง และมีลวดลายแบบ Cybernatic เรียกได้ว่าเท่ตั้งแต่ยังไม่แกะกล่องกันเลย

 

เมื่อเปิดกล่องออกมาจะพบกับ ROG Phone วางเด่นอยู่ตรงกลาง ด้านซ้ายเป็นกล่องบรรจุสายชาร์จและอแดปเตอร์ชาร์จแบตเตอรี่ ส่วนด้านขวาเป็นพัดลมระบายความร้อน คล้ายกับพัดลมเสริมของแล็ปท็อป ส่วนตัวกล่องที่ดูไม่ค่อยเรียบร้อยนั้นเป็นเพราะว่าทางทีมงานได้เปิดออกมาดูก่อนจะทำการรีวิว จึงทำให้บางส่วนมีรอยยับครับ

 

กล่องบรรจุสายชาร์จและอแดปเตอร์จะเป็นกล่องทรง 6 เหลี่ยมเช่นเดียวกับกล่องใหญ่ มีสัญลักษณ์คล้ายเกวัดความเร็วสีแดงโดดเด่นอยู่ตรงกลาง

 

เมื่อเปิดดูด้านในจะพบกับอแดปเตอร์ชาร์จแบตเตอรี่ที่มีการพิมพ์โลโก้ Republic of Gamers เอาไว้

 

พร้อมด้วยสาย USB Type-C แบบ 2 หัวสำหรับเชื่อมต่อกับอแดปเตอร์และตัวเครื่อง แต่ในกล่องไม่มีตัวแปลงหัว USB Type-C ให้เป็น Type-A มาให้ จึงไม่สามารถเชื่อมต่อตัวสมาร์ทโฟนกับคอมพิวเตอร์ได้โดยตรง จำเป็นต้องใช้สายอื่นที่เป็น USB Type-C กับ USB Type-A หรือเชื่อมต่อผ่าน Dock ครับ

 

พัดลมระบายอากาศ AeroActive Cooler ที่มีมาให้ในกล่อง สามารถเชื่อมต่อกับ ROG Phone ผ่านพอร์ตการเชื่อมต่อพิเศษแบบ 48-Pin ด้านซ้ายของตัวเครื่อง ใต้พัดลมมีช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. และพอร์ต USB Type-C ทำให้เล่นไปชาร์จไปพร้อมกับเสียบหูฟังได้โดยไม่เกะกะ

 

ROG Phone มีจอแสดงผลแบบ AMOLED ขนาด 6 นิ้ว ในอัตราส่วน 18:9 ความละเอียดระดับ Full HD+ (2160 x 1080 พิกเซล) อินเทอร์เฟซการใช้งานเป็น ROG Gaming UI ที่ได้รับการออกแบบมาสำหรับสมาร์ทโฟนรุ่นนี้โดยเฉพาะ และมีกิมมิคเป็นเอฟเฟ็กต์เคลื่อนไหว พร้อมกับเปลี่ยนสีธีมได้เมื่อเข้าสู่ X Mode ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับโหมดนี้จะอธิบายในช่วงต่อไปครับ

 

ด้านบนหน้าจอของ ROG Phone มีขอบแบบเต็ม ไม่มีรอยบาก เป็นที่อยู่ของลำโพงเสียงภายนอกที่หันหน้าเข้าหาผู้ใช้ และกล้องดิจิทัลด้านหน้าความละเอียด 8 ล้านพิกเซล

 

ส่วนขอบจอด้านล่างนั้นก็เป็นขอบเต็มเช่นกัน ไม่มีปุ่มกดแบบ hard-key ใดๆ มีเพียงลำโพงอีกตัวหนึ่งติดตั้งเอาไว้ โดยปุ่มควบคุมทั้งหมดเป็นแบบ on-screen

 

ตัวเครื่องด้านหลังครอบทับด้วยกระจกเงาวาว มีดีไซน์ที่มาจากคอนเซ็ปต์มีดสั้น (Combat Knife) โดยมีโลโก้ ROG โดดเด่นอยู่ตรงกลาง พร้อมด้วยกล้องคู่ด้านหลังความละเอียด 12+8 ล้านพิกเซล, ไฟแฟลช LED, เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือทรงแปลกตา และช่องระบายความร้อนซึ่งไม่มีให้เห็นบ่อยนักบนสมาร์ทโฟน

 

ระบบระบายความร้อนของ ROG Phone มีชื่อว่า GameCool System ซึ่งประกอบด้วยห้องระบายความร้อนแบบไอน้ำ 3D Vapor-Chamber พร้อมด้วยแผ่นทองแดงกระจายความร้อน และแผ่นคาร์บอนบนเซอร์กิตบอร์ด ระบบระบายความร้อนที่เหนือกว่าสมาร์ทโฟนทั่วไปนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากฮาร์ดแวร์ภายในโดยเฉพาะตัวชิปเซ็ตจะต้องทำงานหนักเพื่อรีดเอาประสิทธิภาพในการเล่นเกมออกมาให้สูงที่สุด เครื่องจึงร้อนง่ายกว่าสมาร์ทโฟนทั่วไป

 

นอกจากระบบระบายความร้อนในตัวเครื่องแล้ว เรายังสามารถติดตั้งพัดลมเพื่อช่วยลดอุณหภูมิได้อีกแรงหนึ่งด้วย ซึ่งเมื่อติดตั้งพัดลมแล้วตัวเครื่องก็จะมีลักษณะแบบที่เห็นในภาพครับ

 

สำหรับพอร์ตการเชื่อมต่อต่างๆ นั้น ROG Phone มีพอร์ตการเชื่อมต่อแบบ USB Type-C ที่ด้านล่างตัวเครื่อง ซึ่งรองรับระบบชาร์จเร็วแบบ Hypercharge และ QuickCharge 4.0 ได้ โดยไม่เพิ่มความร้อนให้กับตัวเครื่องขณะชาร์จ เพราะมีการย้ายชิป IC Charger จากในตัวเครื่องไปอยู่บนตัวอแดปเตอร์แทนนั่นเอง

 

สำหรับปุ่ม Power และปุ่มปรับระดับเสียงจะอยู่ด้านขวาของตัวเครื่อง ส่วนด้านซ้ายมีช่องสำหรับใส่ซิมการ์ดแบบ 2 สล็อต (Nano-SIM) และที่พิเศษกว่าสมาร์ทโฟนรุ่นอื่น คือมีพอร์ตเชื่อมต่อแบบ 48-Pin ซึ่งเสียบสาย USB Type-C ได้ถึง 2 พอร์ต เราสามารถชาร์จแบตเตอรี่ผ่านพอร์ตนี้พร้อมกับเล่นเกมไปด้วยได้โดยไม่เกะกะสายชาร์จ และยังใช้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ด้วย

 

ถาดใส่ซิมของ ROG Phone เป็นแบบ Dual-Slot ซึ่งไม่รองรับการ์ดหน่วยความจำภายนอกแบบ microSD หรือแบบอื่นๆ

 

เปิดเครื่อง ทดสอบฟังก์ชันการใช้งาน และแอปพลิเคชันต่างๆ

ROG Phone มีอินเทอร์เฟซการใช้งาน ROG Gaming UI ที่มีโทนสีมืดคล้าย NightMode ของสมาร์ทโฟนบางรุ่น และมีชุดไอคอนแบบพิเศษในสไตล์แสงไฟนีออน โดยมีพื้นฐานมาจากระบบปฏิบัติการ Android 8.1.0 Oreo

 

เมื่อปัดหน้าจอขึ้นจะเข้าสู่หน้า App Drawer แอปพลิเคชันทั้งหมดที่ติดตั้งลงบนเครื่องจะแสดงอยู่ในหน้านี้ สามารถใช้แถบค้นหาด้านบนเพื่อค้นหาแอปพลิเคชันที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว

 

ROG Phone มีแอปพลิเคชันของ Google ติดตั้งมาให้ครบชุด ไม่ว่าจะเป็น Maps, YouTube, Gmail, Google Photos ไปจนถึง Google Drive และยังมาพร้อมกับเครื่องมือพื้นฐานต่างๆ แบบครบครัน

 

จุดเด่นของ ROG Phone คืออัตราการรีเฟรชของหน้าจอที่สูงถึง 90Hz ทำให้ภาพดูคมและลื่นไหลเป็นพิเศษ แต่การตั้งค่าเริ่มต้นจะเป็น 60Hz เราจึงต้องเปิดใช้คุณสมบัตินี้ด้วยตัวเองโดยในหน้าการตั้งค่าครับ

 

เมื่อปัดนิ้วจากด้านบนลงมา จะเป็นการเปิดแถบเมนูทางลัดการตั้งค่าและแสดงแถบแจ้งเตือนต่างๆ หากปัดนิ้วลงมาอีกครั้งจะเป็นการขยายเมนูทางลัดการตั้งค่า และแสดงระดับความสว่างของหน้าจอ

 

เมื่อกดที่ปุ่ม Recent Apps 1 ครั้งจะเป็นการเรียกดูแอปพลิเคชันที่เราเปิดทิ้งไว้ สามารถสลับการทำงานของแอปได้ด้วยการเลือกแอปพลิเคชันที่ต้องการ หรือปัดทิ้งไปด้านข้างเพื่อปิดทีละแอปได้ หากกดที่ไอคอนจรวดบริเวณมุมขวาล่าง จะเป็นการปิดแอปพลิเคชันทั้งหมดพร้อมกับเคลียร์หน่วยความจำ RAM หากกดปุ่ม Recent Apps ค้างไว้จะเป็นการบันทึกภาพ Screenshot ซึ่งสะดวกกว่าการกดปุ่มด้านข้างตัวเครื่องในสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นๆ

 

เมื่อกดค้างบนพื้นที่ว่างหน้าจอจะเข้าสู่การปรับแต่งหน้าจอหลัก ตั้งแต่การเปลี่ยนวอลเปเปอร์, เพิ่ม-ลบวิดเจ็ต ไปจนถึงแก้ไขลักษณะการจัดเรียงไอคอน และอื่นๆ

 

ในหน้าเปลี่ยนวอลเปเปอร์ จะเปลี่ยนได้ทั้งหน้าจอหลัก และหน้าจอล็อก พร้อมตัวอย่างก่อนเปลี่ยน ส่วนหน้าวิดเจ็ตจะแบ่งเป็นหมวดหมู่ตามแอปพลิเคชันหลัก โดยจะบอกขนาดของวิดเจ็ตไว้ด้วย สามารถเลือกนำไปใส่ในหน้าจอหลักได้ตามต้องการ

 

ในหมวดการแก้ไขหน้าจอหลัก สามารถเลือกรูปแบบการจัดเรียงไอคอน, เอฟเฟ็กต์ขณะเลื่อนเปลี่ยนหน้า, เปลี่ยนแบบอักษร (fonts) และการแสดงผลอื่นๆ ได้

 

ในส่วนการกำหนดลักษณะ จะมีฟีเจอร์ที่น่าสนใจคือ การล็อกแอป และการซ่อนแอป

 

การล็อกแอป จะทำให้เราสามารถล็อกแอปพลิเคชันไม่ให้คนอื่นเปิดใช้โดยพละการได้ แอปพลิเคชันที่ถูกล็อกจะมีสัญลักษณ์รูปแม่กุญแจสีเหลือง และจะต้องยืนยันตัวตนด้วยรหัสผ่าน หรือลายนิ้วมือ เพื่อเข้าใช้งานทุกครั้ง ช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับเราอีกระดับหนึ่ง

 

สำหรับการซ่อนแอปนั้น จะทำให้แอปพลิเคชันที่เราเลือกหายไปจากหน้าจอหลักและ App Drawer เสมือนว่าแอปพลิเคชันนั้นๆ ไม่เคยอยู่ในเครื่องของเรามาก่อน น่าจะมีประโยชน์กับคนที่แบ่งเครื่องกันใช้กับเพื่อน หรือคนในครอบครัว และไม่ต้องการให้คนอื่นเข้าถึงแอปพลิเคชันบางตัวครับ

 

สำหรับฟังก์ชันสำคัญอย่างการโทรนั้น มีอินเทอร์เฟซที่สะอาดตา และตัวเลขที่ใหญ่เห็นได้ชัดเจน ตามมาตรฐานสมาร์ทโฟนทั่วไปในปัจจุบัน

 

สำหรับคุณสมบัติด้านความปลอดภัย ROG Phone รองรับระบบยืนยันตัวตนด้วยลายนิ้วมือ โดยมีเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมืออยู๋ที่ด้านหลังตัวเครื่อง

 

นอกจากการสแกนลายนิ้วมือแล้ว ROG Phone ยังรองรับการสแกนใบหน้าด้วย ซึ่งจะเป็นการสแกนแบบ 2 มิติด้วยกล้องหน้าและซอฟท์แวร์ เหมือนสมาร์ทโฟนระบบ Android ทั่วไป เป็นอีกทางเลือกของผู้ที่ไม่สะดวกสแกนนิ้วครับ

 

ROG Phone มาพร้อมกับแอปพลิเคชันจัดการไฟล์ในเครื่อง โดยมีการแยกเป็นหมวดหมู่เอาไว้อย่างชัดเจน พร้อมบอกข้อมูลพื้นที่จัดเก็บภายในว่าใช้ไปเท่าไหร่ และเหลืออยู่เท่าไหร่ ซึ่งเราสามารถค้นหา ลบ หรือย้ายไฟล์ต่างๆ ได้ผ่านแอปพลิเคชันนี้

 

ในส่วนของแกลเลอรีสำหรับดูภาพถ่ายและวิดีโอที่เก็บไว้ในเครื่อง จะมีการแบ่งเป็นหมวดหมู่เอาไว้ตามวันที่ถ่าย หรือเลือกดูแบบอัลบั้มซึ่งแบ่งตามประเภทของไฟล์ก็ได้ตามสะดวก

 

แอปพลิเคชันพื้นฐานในการเล่นไฟล์วิดีโอของ ROG Phone มีหน้าตาเรียบง่าย มีฟังก์ชันการเล่นวิดีโอพื้นฐานครบถ้วน แต่ไม่มีลูกเล่นอะไรเป็นพิเศษ หากเล่นวิดีโอที่มีอัตราส่วนไม่พอดีกับหน้าจอ เช่นวิดีโอ 16:9 หรือวิดีโอแบบ Ultra Wide ก็จะเหลือขอบสีดำข้างๆ เอาไว้ เช่นที่เห็นในรูปข้างบน

 

หากไม่ชอบให้มีขอบดำ ก็สามารถกดที่ไอคอนรูปสี่เหลี่ยมบริเวณมุมขวาล่างเพื่อยืดภาพให้เต็มหน้าจอได้ แต่ต้องแลกมากับสัดส่วนภาพที่เพี้ยนไปบ้าง

 

หรือถ้าไม่ชอบขอบดำ และไม่อยากให้ภาพดูยืด ก็มีทางเลือกในการแสดงผลแบบครอบตัด ซึ่งจะขยายภาพให้เต็มจอโดยคงสัดส่วนเดิมไว้ แต่ภาพจะล้นออกไปนอกขอบแทน ซึ่งจะเลือกแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของแต่ละคนครับ

 

สำหรับการฟังเพลง ROG Phone จะใช้แอปพลิเคชัน Google Play Music เป็นพื้นฐาน ซึ่งมีอินเทอร์เฟซเรียบง่ายไม่หวือหวา แต่จะปรับแต่งอะไรได้ไม่มากนัก

 

ROG Phone ยังมีแอปพลิเคชัน ตัวจัดการโทรศัพท์มือถือ ที่สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพโดยรวมของตัวเครื่องได้โดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังเรายังตรวจสอบการใช้ข้อมูลอินเทอร์เน็ต, ตรวจสอบการใช้แบตเตอรี่, ปรับแต่งรูปแบบการแจ้งเตือน, ทำความสะอาดไฟล์ขยะ และสแกนหามัลแวร์ได้ด้วย

 

เมื่อเข้ามาที่ การใช้ข้อมูล จะแสดงปริมาณดาต้าอินเทอร์เน็ตทั้ง Wi-Fi และ 4G LTE ที่ใช้ไปในแต่ละวัน และจำนวนดาต้ารวม ซึ่งเราสามารถเข้าไปจำกัดการใช้ข้อมูลของแอปพลิเคชันบางตัวได้ เหมาะสำหรับผู้ที่ใช้แพ็คเกจอินเทอร์เน็ต 4G ที่จำกัดปริมาณดาต้า ส่วน การล้างหน่วยความจำ จะเป็นการเคลียร์ RAM ให้ตัวเครื่องทำงานลื่นไหลยิ่งขึ้น

 

ในส่วนการแจ้งเตือน จะเป็นการจำกัดจำนวนครั้งในการแจ้งเตือนของแอปต่างๆ เพื่อไม่ให้ถี่เกินไปจนน่ารำคาญ ส่วนการล้างข้อมูล จะเป็นการตรวจหาไฟล์ขยะในเครื่อง และแอปพลิเคชันที่ไม่ได้ใช้ ให้เราเลือกลบเพื่อคืนพื้นที่หน่วยความจำให้กับตัวเครื่องได้

 

และสำหรับ ความปลอดภัยและสิทธิ จะเป็นการจัดการสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ของแอปพลิเคชัน และสแกนหามัลแวร์ในเครื่องครับ

 

มาถึงไฮไลท์สำคัญของ ROG Phone ซึ่งก็คือ X Mode เราสามารถเปิดโหมดนี้ได้โดยไปที่ศูนย์เกม (ไอคอนรูปตัว G บน Dock ของหน้าจอหลัก) แล้วกดที่ตัว X ทันที่ที่เข้าสู่โหมดนี้ แอปพลิเคชันพื้นหลังทั้งหมดจะถูกปิดทันทีเพื่อเคลียร์ RAM พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพของ CPU และ GPU ขึ้นไปอีกขั้น เพื่อให้พร้อมสำหรับการเล่นเกม อาจเรียกว่าเป็นการ Overclock ในแบบของสมาร์ทโฟนก็ได้

 

เปรียบเทียบวอลเปเปอร์ในโหมดปกติ (ซ้าย) และวอลเปเปอร์ที่เปลี่ยนไปหลังเปิด X mode (ขวา)

 

นอกจาก X Mode แล้ว ในหน้า ศูนย์เกม ยังมีตัวเลือกการตั้งค่าอีกหลายอย่าง อย่างแรกคือ โพรไฟล์ของเกม ซึ่งเป็นการปรับแต่งค่าการแสดงผลของแต่ละเกมโดยเฉพาะ เมื่อเราเปิดเกมขึ้นมา ระบบก็จะดึงการตั้งค่าของเกมนั้นๆ มาใช้ เพราะสำหรับบางเกม เราอาจไม่ต้องการภาพที่สวยที่สุด แต่ต้องการความไหลลื่น หรือต้องการให้กินแบตเตอรี่น้อยที่สุดเพื่อให้เล่นได้นานๆ มากกว่า การตั้งโพรไฟล์ของเกมเอาไว้ ก็จะช่วยให้เราไม่ต้องตั้งค่าการแสดงผลใหม่ทุกครั้งที่เปิดเกมครับ

 

เราสามารถปรับแสง สี และความเร็วในการเปลี่ยนสีของโลโก้ ROG ด้านหลังตัวเครื่องได้ และซิงค์กับ ROG Phone เครื่องอื่นให้มีสีเดียวกัน และเปลี่ยนสีไปพร้อมกันได้ด้วย

 

หากติดตั้งพัดลม AeroActive Cooler เราจะสามารถตั้งความเร็วในการหมุนของพัดลม และเปลี่ยนสีไฟโลโก้ได้ แต่ทั้งนี้ เสียงพัดลมจะเข้าดังเข้าไปในไมโครโฟน จึงไม่เหมาะกับเกมที่ต้องเปิดไมค์สื่อสารกับผู้เล่นอื่นเท่าไหร่ครับ

 

สำหรับฟังก์ชัน การจัดการข้อมูลในเวลาจริง จะเป็นการเรียกแถบสถานะเล็กๆ ที่แสดงข้อมูลอัตราการใช้งาน CPU, GPU, ความร้อน และค่า FPS ของเกมที่กำลังเล่นอยู่ โดยจะแสดงข้อมูลตามเวลาจริง ช่วยให้เราติดตามสถานะของเครื่องได้ตลอดเวลา และดูค่า FPS ได้ทุกเกมโดยไม่ต้องโหลดแอปเพิ่มเติม

 

ตัวอย่างแถบแสดงสถานะ เมื่อเรียกใช้ฟังก์ชันการจัดการข้อมูลในเวลาจริง

 

ROG Phone มีตัวช่วยในการเล่นเกมที่เรียกว่า เกมจีนี่ ซึ่งมีฟังก์ชันการบันทึกวิดีโอ และสตรีมการเล่นมาให้ในตัว สามารถเลือกความละเอียดของวิดีโอได้ตั้งแต่่ 480p, 720p ไปจนถึง 1080p

 

นอกจากนี้ยังเลือกได้ว่าจะให้อัดเสียงจากไมค์ หรืออัดเสียงจากในเกม นับว่าเป็นฟีเจอร์ที่มีประโยชน์มากสำหรับเกมแคสเตอร์ครับ

 

เมื่ออยู่ในเกม เราสามารถเรียกแถบเมนูของเกมจีนขึ้นมาได้ ช่วยให้เราเข้าถึงฟังก์ชันต่างๆ และปรับการตั้งค่าได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องสลับจอไปมาระหว่างเล่นเกม การเปิดใช้ AirTriggers, การตั้งมาโคร, การอัดวิดีโอ และการสตรีมสด ก็เข้าถึงได้จากเมนูนี้

 

ในการเปิดใช้ปุ่ม AirTriggers ให้เราลากปุ่ม L1 และ R1 ไปยังตำแหน่งที่เราต้องการกดในเกม ตัวอย่างเช่น เราต้องการให้ปุ่ม L1 เป็นปุ่มยิงในเกม PUBG Mobile ก็ให้เราลากไอคอนปุ่ม L1 มาทับปุ่มยิงเอาไว้ ช่วยให้เราบังคับตัวละครได้ง่ายและเร็วขึ้นมาก

 

และที่น่าสนใจคือเราสามารถตั้งมาโครได้ด้วย ซึ่งมาโครก็คือการบันทึกรูปแบบการกดปุ่มหลายปุ่มตามลำดับ เอาไว้ในปุ่มเดียว ตัวอย่างเช่น บันทึกมาโครเป็น กดซูม+กดยิง เมื่อเรากดใช้ก็จะเป็นการซูมและยิงทันทีโดยที่เราไม่ต้องกดเอง หรือในเกมประเภท Fighting ที่อาศัยการกดปุ่มหลายปุ่มให้ตรงจังหวะเพื่อออกท่าไม้ตาย หากบันทึกมาโครไว้ การกดปุ่มก็จะเป็นไปตามจังหวะเดิมตลอด ส่งผลให้เรากดท่าติด 100% มาโครจึงมีประโยชน์มาก และอาจทำให้เราเล่นได้ดีขึ้นจนเพื่อนตกใจเลยทีเดียว

 

คลิปตัวอย่างการเล่นเกมบน ROG Phone

 

ปิดท้ายกันด้วยการทดสอบ Benchmark ของ ROG Phone ซึ่งจากการทดสอบด้วยแอปพลิเคชัน AnTuTu Benchmark สามารถทำคะแนนไปได้ 297126 คะแนน และจากการทดสอบด้วยแอปพลิเคชัน GeekBench 4 สามารถทำคะแนนในส่วนของ Single-Core ได้ 2527 คะแนน และ Multi-Core ได้ 9375 คะแนน ซึ่งจัดว่าสูงเป็นอันดับต้นๆ ในหมู่สมาร์ทโฟน Android ในปัจจุบันครับ

 

การใช้งานกล้องดิจิทัลสำหรับถ่ายภาพ และวิดีโอ

แม้ว่า ROG Phone จะเป็นสมาร์ทโฟนที่เน้นการเล่นเกมเป็นหลัก แต่ก็มีสเปกกล้องที่น่าสนใจทีเดียว โดยมาพร้อมกับกล้องหลังคู่ (Dual-Camera) ที่มีกล้องหลักความละเอียด 12 ล้านพิกเซล รูรับแสงขนาด f/1.8 และกล้องรองความละเอียด 8 ล้านพิกเซล มีระบบโฟกัสภาพแบบ PDAF, ระบบกันสั่น OIS 4 แกน, รองรับการถ่ายภาพแบบหน้าชัดหลังเบลอที่ปรับระดับความเบลอพื้นหลังได้ และมีเอฟเฟ็กต์ Beauty ที่ปรับได้ค่อนข้างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นโทนสีผิว, ความเรียบเนียน, ความสว่าง, ขนาดดวงตา ไปจนถึงความเรียวของใบหน้า และมีแบบ Auto ที่ระบบจะตั้งค่าต่างๆให้โดยอัตโนมัติ

 

นอกจากนี้ยังมีโหมดอื่นๆ ให้เลือกใช้ เช่นโหมด Pro, การถ่ายภาพเคลื่อนไหวแบบ GIF, โหมดพาโนรามา เป็นต้น แต่ก็ยังถือว่ามีโหมดการถ่ายภาพ และลูกเล่นน้อย เมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นที่มีราคาใกล้เคียงกัน

 

สำหรับกล้องหน้ามีความละเอียดอยู่ที่ 8 ล้านพิกเซล ขนาดรูรับแสง f/2.0 รองรับการถ่ายเซลฟีแบบหน้าชัดหลังเบลอ และมีเอฟเฟ็กต์ Beauty ปรับได้ 10 ระดับเช่นเดียวกับกล้องหลัง

 

นอกเหนือจากเอฟเฟ็กต์บิวตี้ และการถ่ายหน้าชัดหลังเบลอ ก็มีเพียงโหมดพาโนรามา และการถ่ายภาพเคลื่อนไหวแบบ GIF เท่านั้น

 

ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหลังคู่ ความละเอียด 12+8 ล้านพิกเซล

ตัวอย่างภาพถ่ายแบบมาโคร โหมดอัตโนมัติ เวลากลางวัน

 

ตัวอย่างภาพถ่ายโหมดอัตโนมัติ เวลากลางวัน เปิด Auto HDR

 

ตัวอย่างภาพถ่ายโหมดอัตโนมัติ เวลากลางวัน เปิด Auto HDR

 

ตัวอย่างภาพถ่ายโหมดอัตโนมัติ เวลากลางวัน

 

ตัวอย่างภาพถ่ายโหมดอัตโนมัติ เวลากลางวัน พร้อมเปิดเอฟเฟ็กต์เบลอฉากหลังระดับ 5

 

ตัวอย่างภาพถ่ายโหมดอัตโนมัติภายใต้สภาวะแสงน้อย โฟกัสที่จุดสว่างกลางภาพ และไม่มี HDR

 

ตัวอย่างภาพถ่ายโหมดอัตโนมัติภายใต้สภาวะแสงน้อย โฟกัสที่จุดสว่างกลางภาพ และเปิด HDR

 

ตัวอย่างภาพถ่ายโหมดอัตโนมัติ เวลากลางคืน เปิด Auto HDR

 

ตัวอย่างภาพถ่ายโหมดอัตโนมัติ เวลากลางคืน เปิด Auto HDR

 

ตัวอย่างภาพถ่ายโหมดอัตโนมัติ เวลากลางวัน

 

ตัวอย่างภาพถ่ายโหมด Portrait ความเบลอพื้นหลังระดับ 5

 

ตัวอย่างภาพถ่ายโหมด Portrait ความเบลอพื้นหลังระดับ 10 (สูงสุด)

 

ตัวอย่างภาพถ่ายโหมดอัตโนมัติ ไม่มีเอฟเฟ็กต์ Beauty

 

ตัวอย่างภาพถ่ายโหมดอัตโนมัติ พร้อมเอฟเฟ็กต์ Beauty ระดับ 5

 

ตัวอย่างภาพถ่ายโหมดอัตโนมัติ พร้อมเอฟเฟ็กต์ Beauty ระดับ 10 (สูงสุด)

 

ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหน้า ความละเอียด 8 ล้านพิกเซล

ตัวอย่างภาพถ่ายเซลฟี ไม่มีเอฟเฟ็กต์ Beauty

 

ตัวอย่างภาพถ่ายเซลฟี พร้อมเอฟเฟ็กต์ Beauty ระดับ 5

 

ตัวอย่างภาพถ่ายเซลฟี พร้อมเอฟเฟ็กต์ Beauty ระดับ 10 (สูงสุด)

ตัวอย่างภาพถ่ายเซลฟี พร้อมเอฟเฟ็กต์ Beauty แบบ Auto

 

สรุปผลการทดสอบของ Asus ROG Phone

ระหว่างการทดสอบใช้งาน ROG Phone ทางทีมงานรู้สึกอยู่ตลอดว่าสมาร์ทโฟนรุ่นนี้ไม่ใช่ "สมาร์ทโฟนที่เล่นเกมได้" แต่เป็น "เครื่องเล่นเกมแบบพกพาที่โทรศัพท์ได้" มากกว่า เพราะองค์ประกอบทั้งภายนอกและภายในของ ROG Phone ล้วนแต่พัฒนาขึ้นโดยมี "การเล่นเกม" เป็นศูนย์กลางทั้งสิ้น ตั้งแต่หน้าจอแสดงผล AMOLED ขนาด 6 นิ้ว ที่ให้สีสันสดใสกว่าด้วยเทคโนโลยี HDR และลื่นไหลสบายตากว่าด้วยอัตราการรีเฟรช 90Hz, ลำโพงเสียงภายนอกแบบสเตอริโอหันหน้าเข้าผู้ใช้ ไม่โดนมือบังเวลาจับถือ และให้เสียงที่ดังมากๆ, ตัวเครื่องด้านหลังดีไซน์โดดเด่นแบบเกมมิ่งเกียร์พร้อมโลโก้ ROG ที่มีแสงไฟ RGB, ระบบระบายความร้อนคล้ายเกมมิ่งแล็ปท็อป ไปจนถึงพอร์ตเชื่อมต่อพิเศษแบบ 48-Pin ด้านข้างตัวเครื่องที่ใช้ชาร์จแบตเตอรี่ได้อีกทาง ทำให้เล่นเกมพร้อมกับชาร์จแบตไปด้วยได้โดยไม่เกะกะสายชาร์จ

สำหรับสเปกภายใน ROG Phone มากับชิปเซ็ตตัวท็อป Qualcomm Snapdragon 845 ที่จับคู่มากับหน่วยประมวลผลกราฟิก Adreno 630 พร้อมด้วย RAM 8GB ที่รองรับเกมระดับ AAA ได้สบาย แถมยังเร่งความเร็วของ CPU ได้อีกด้วยการเปิด X Mode, แบตเตอรี่ความจุ 4000mAh ที่รองรับระบบชาร์จด่วน 2 แบบ ทั้ง QuickCharge 4.0 ของ Qualcomm และ Hypercharge ของ Asus พร้อมด้วย ROM 128GB/512GB ซึ่งสามารถติดตั้งเกมและเก็บไฟล์วิดีโอได้อย่างเหลือเฟือ ด้วยคุณสมบัติทั้งหมดนี้ เรียกได้ว่า ROG Phone เป็นสมาร์ทโฟนที่มีสเปกอยู่ในระดับ Top Tier ที่รับมือกับการทำงาน และความบันเทิงทุกรูปแบบได้เป็นอย่างดี

นอกจากดีไซน์ภายนอกและสเปกภายในแล้ว ROG Phone ยังมีฟีเจอร์เสริมสำหรับการเล่นเกมอีกหลายอย่าง ได้แก่ AirTriggers ที่ทำให้ผู้เล่นเปิดใช้งานปุ่มกด L1-R1 แบบจอยสติ๊กได้, ฟีเจอร์เกมจีนี่ ที่มีฟังก์ชันอัดวิดีโอและไลฟ์สดการเล่นเกมแบบ Built-in, ฟีเจอร์แสดงอุณหภูมิของตัวชิปเซ็ต และค่าเฟรมเรต (FPS) ได้ตามเวลาจริง ทำให้สามารถดูค่าเฟรมเรตได้ทุกเกม และที่น่าสนใจคือการบันทึก มาโคร ซึ่งอนุญาตให้ผู้เล่นบันทึกลำดับการกดปุ่มหลายปุ่มมารวมไว้ในปุ่มเดียว ช่วยให้ออกคำสั่งบังคับตัวละครได้เร็วขึ้น และง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้ มาโคร ถือว่าผิดกฎการเล่นสำหรับบางเกม และอาจทำให้โดนแบนได้ จึงควรตรวจสอบกฏกติกาการเล่นของเกมนั้นๆ ให้แน่ใจก่อนใช้งาน มาโคร

อีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นจุดเด่นของ ROG Phone คือระบบระบายความร้อนแบบ 3D Vapor Chamber ควบคู่ไปกับแผ่นทองแดงและแผ่นคาร์บอนกระจายความร้อน ซึ่งจากการทดสอบเล่นเกมอย่างต่อเนื่อง พบว่าตัวเครื่องยังคงร้อนจนรู้สึกได้ แต่ก็ไม่ร้อนจนเกินไป ส่วนพัดลม AeroActive Cooler ที่แถมมาให้นั้นช่วยลดอุณหภูมิได้ไม่มาก อีกทั้งเสียงพัดลมยังดังรบกวนเวลาเปิดไมค์ จึงไม่เหมาะที่จะใช้งานในหลายๆ สถานการณ์

ในส่วนของการถ่ายภาพ ทาง Asus แทบจะไม่ได้โปรโมตความสามารถด้านนี้ของ ROG Phone เลย แต่จากทดสอบพบว่า กล้องของ ROG Phone ถ่ายภาพออกมาดีกว่าที่คาดไว้มาก โดยสามารถตัดขอบเบลอฉากหลังในโหมด Portrait ได้แนบเนียน และถ่ายภาพภายใต้สภาวะแสงน้อยได้อย่างน่าประทับใจ นอกจากนี้ยังมีเอฟเฟ็กต์ Beauty ที่ปรับแต่งได้ละเอียดตั้งแต่โทนสีผิว ไปจนถึงความเรียวของคาง แต่ทั้งนี้ลูกเล่นต่างๆ อาจจะไม่มากเท่ากับสมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นอื่นที่มีราคาใกล้เคียงกัน

จากคุณสมบัติทั้งหมดที่กล่าวมานี้ สามารถพูดได้ว่า ROG Phone เป็นสมาร์ทโฟนสำหรับเล่นเกมที่เพียบพร้อมที่สุดแล้วในเวลานี้ โดยตอบโจทย์ความต้องการได้ทั้งเกมเมอร์ และสตรีมเมอร์ หากต้องการประสบการณ์การเล่นเกมบนสมาร์ทโฟนระดับเทพ ROG Phone ไม่ทำให้ผิดหวังแน่นอน แต่ถ้าไม่ใช่ฮาร์ดคอร์เกมเมอร์ และต้องการสมาร์ทโฟนที่ครอบคลุมการทำงานด้านอื่นๆ อย่างสมดุล สมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นอื่นๆ จะตอบโจทย์ได้มากกว่าในราคาที่เท่ากันครับ

ROG Phone วางจำหน่ายในประเทศไทยแล้ววันนี้ โดยรุ่น RAM 8GB+ROM 128GB มีราคาอยู่ที่ 29,990 บาท และรุ่น RAM 8GB+ROM 512GB ราคา 34,990 บาท พร้อมกันนี้ยังมีอุปกรณ์เสริมต่างๆ วางจำหน่ายแยกด้วย ผู้ที่สนใจสามารถสั่งซื้อ ROG Phone ได้ที่เว็บไซต์ Shopee และร้านตัวแทนจำหน่ายของ Asus ทั่วประเทศครับ

 

จุดเด่นของ Asus ROG Phone

- จอแสดงผลแบบ AMOLED อัตราส่วน 18:9 ขนาด 6 นิ้ว อัตรารีเฟรชสูงสุด 90Hz ให้ภาพที่มีสีสันสดใส คมชัด และลื่นไหลกว่าไม่ว่าจะเล่นเกม หรือดูวิดีโอ
- ดีไซน์โดดเด่นแบบเกมมิ่งเกียร์ พร้อมโลโก้ ROG มีไฟ RGB ปรับสีสันได้ตามใจชอบ
- ลำโพงเสียงภายนอกแบบสเตอริโอให้เสียงคุณภาพสูง และดังมากๆ
- รองรับการสแกนลายนิ้วมือและการสแกนใบหน้า
- เร่งประสิทธิภาพของตัวเครื่องให้สูงกว่าปกติได้ด้วย X Mode ช่วยให้เล่นเกมได้ราบรื่นยิ่งขึ้น
- ขับเคลื่อนด้วยชิปเซ็ต Octa-Core Snapdragon 845 ที่มากับหน่วยประมวลผลกราฟิก Adreno 630 รองรับเกมกราฟิกหนักๆ ได้สบาย
- หน่วยความจำ RAM 8GB LPDDRX4
- ความจุภายใน 128/512GB ติดตั้งเกมได้หลายเกม พร้อมเก็บไฟล์วิดีโอการเล่นได้อย่างเหลือเฟือ
- มีฟังก์ชันบันทึกวิดีโอการเล่น และสตรีมสดทาง Facebook หรือ Twitch ในตัว ไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพิ่มเติม
- มีฟังก์ชันแสดงอุณหภูมิของ CPU, GPU และค่า FPS ตามเวลาจริง ทำให้ดูค่า FPS ได้ทุกเกมโดยไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชันใดๆ เพิ่มเติม
- สามารถตั้ง มาโคร ได้
- เปิดใช้งานปุ่ม L1 และ R1 แบบจอยสติ๊กได้ผ่านฟีเจอร์ AirTriggers
- ระบบระบายความร้อน GameCool System ที่ประสานการระบายความร้อนแบบ 3D Vapor-Chamber และการกระจายความร้อนด้วยแผ่นทองแดง/คาร์บอนเข้าด้วยกัน ทำให้ระบายความร้อนได้อย่างรวดเร็ว
- กล้องคู่ด้านหลังความละเอียด 12+8 ล้านพิกเซล มีระบบกันสั่น OIS, โหมด Pro, โหมด Portrait และถ่ายรูปในที่มืดได้ค่อนข้างดี
- กล้องหน้าความละเอียด 8 ล้านพิกเซล รองรับการถ่ายเซลฟีแบบหน้าชัดหลังเบลอ และมีโหมด Beauty ที่ปรับค่าต่างๆ ได้หลากหลาย
- แบตเตอรีความจุ 4000 mAh รองรับระบบชาร์จเร็วทั้งแบบ QuickCharge 4.0 และ Hypercharge
- มีพอร์ตการเชื่อมต่อแบบ 48-Pin ด้านข้างตัวเครื่องที่สามารถเชื่อมต่อสาย USB-C ได้ เมื่อถือตัวเครื่องในแนวนอน พอร์ตนี้จะหันลงด้านล่าง สามารถเปลี่ยนมาชาร์จแบตเตอรี่ผ่านพอร์ตนี้ได้เพื่อไม่ให้สายชาร์จเกะกะมือเวลาเล่นเกม
- รองรับการใช้งาน 2 ซิมการ์ดแบบ Nano-SIM
- รองรับการเชื่อมต่อเครือข่าย Wi-Fi 802.11ad, 4G LTE และ VoLTE
- รองรับระบบ NFC และ Bluetooth 5.0
- รองรับอุปกรณ์เสริมหลากหลาย ซึ่งตอบโจทย์ทั้งเกมเมอร์ และสตรีมเมอร์

 

จุดที่อาจจะต้องพิจารณาเพิ่มเติมของ Asus ROG Phone

- ไม่รองรับการ์ดหน่วยความจำเสริมแบบ microSD หรือแบบอื่นๆ 
- ไม่มีคุณสมบัติป้องกันน้ำ-ป้องกันฝุ่น
- มีโหมดการถ่ายภาพให้ใช้น้อยเมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นที่มีราคาใกล้เคียงกัน
- การบันทึกวิดีโอระหว่างเล่นเกมอาจมีบางจังหวะที่ภาพแตกพร่า
- การใช้ มาโคร อาจผิดกฎการเล่นสำหรับบางเกม และอาจโดนแบนได้ จึงควรตรวจสอบกฎกติกาการเล่นของแต่ละเกมให้ละเอียดก่อนใช้งาน
- เสียงพัดลม AeroActive Cooler รบกวนไมโครโฟน หากต้องการเปิดไมโครโฟนขณะเล่น แนะนำให้ถอดออก

 

โปรดทราบ

* โทรศัพท์มือถือที่ท่านเห็นในบทความรีวิวนี้ เป็นเครื่องทดสอบจากศูนย์บริการ คุณสมบัติบางอย่างอาจแตกต่างจากเครื่องที่วางจำหน่ายจริง รวมถึงจุดด้อยบางประการที่พบในเครื่องทดสอบ อาจถูกแก้ไขให้ดีขึ้นแล้วในเครื่องที่วางจำหน่ายจริง ดังนั้นหากท่านสนใจซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นนี้ ควรตรวจสอบหรือทดลองใช้งานสินค้าด้วยตนเองเพื่อความมั่นใจครับ *

 

 

วันที่ : 07/12/2018

Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy