หน้าแรกมือถือ > รวมข่าวมือถือ > หน้าบทความ ข่าวมือถือ
   
Date : 4/4/2565

ทำไมกล้องมือถือ 108 ล้านพิกเซล ถึงถ่ายภาพออกมาได้แค่ 12 ล้านพิกเซล ?

 

Samsung Galaxy S22 Ultra รวมถึงสมาร์ทโฟนหลายต่อหลายรุ่นในปัจจุบัน ได้ปรับเปลี่ยนมาใช้กล้องหลังที่มีความละเอียดเซ็นเซอร์สูงถึง 108 ล้านพิกเซล แต่อย่างไรก็ดี หลายคนอาจจะสังเกตุเห็นจากการใช้งานจริงได้ว่า ในความเป็นจริงแล้วกล้องมือถือความละเอียด 108 ล้านพิกเซล จะถ่ายภาพออกมาได้ที่ความละเอียด 12 ล้านพิกเซลเป็นค่าพื้นฐาน แต่เพราะเหตุใดภาพถ่ายถึงออกมาที่ความละเอียดนี้ ความละเอียดที่เหลือหายไปไหน วันนี้เราไปไขข้อข้องใจกันดีกว่าครับ

 

ทำไมกล้อง 108 ล้านถึงถ่ายภาพออกมาได้แค่ 12 ล้าน ?

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเซ็นเซอร์กล้องถ่ายภาพบนมือถือก่อน หากเราใช้กล้องส่องเข้าไปที่เซ็นเซอร์กล้องถ่ายภาพจะพบจุดสีเล็ก ๆ วางเรียงกัน ซึ่งเราเรียกจุดเหล่านี้ว่า พิกเซล หน้าที่ของพิกเซลคือการรับข้อมูลภาพ นำไปประกอบรวมกันเพื่อให้เกิดขึ้นเป็นภาพภาพหนึ่ง ยิ่งมีจำนวนพิกเซลที่เยอะขึ้น ก็จะยิ่งทำให้ขนาดของภาพใหญ่มากยิ่งขึ้น แต่ไม่ได้เป็นตัวการันตีว่าภาพที่ออกมาจะมีความคมชัดเสมอไป

 

โดยตัวของจำนวนพิกเซลที่มีอยู่จะถูกนำมาใช้เรียกเพื่อให้เราเข้าใจได้ง่ายว่ากล้องถ่ายภาพของมือถือรุ่นนี้พิกเซลมีกี่จุด เช่น 12 ล้านพิกเซล ก็คือ มีพิกเซลทั้งหมด 12 ล้านจุด หรือ 108 ล้านพิกเซล ก็มีพิกเซลจำนวน 108 ล้านจุดบนตัวเซ็นเซอร์รับภาพ หรือหากเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายขึ้นก็คือ จำนวนพิกเซลเปรียบเสมือนผืนผ้าใบสำหรับวาดภาพ ยิ่งมีพิกเซลเยอะผ้าใบก็จะมีความใหญ่มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าภาพที่ถูกวาดบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ จะมีความสวยงามกว่า หรือมีความคมชัดกว่าภาพที่ถูกวาดบนผืนผ้าใบขนาดเล็ก

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะเริ่มสงสัยแล้วว่า หากกล้องที่มีจำนวนพิกเซลสูงไม่ได้ช่วยให้ภาพถ่ายสวยกว่า หรือคมชัดกว่ากล้องที่มีจำนวนพิกเซลน้อยกว่า แล้วทำไมมือถือรุ่นบางรุ่นในปัจจุบันถึงเลือกใช้กล้อง 108 ล้านพิกเซล ? คำตอบของเรื่องนี้ก็คือ Pixel-Bining หรือเทคโนโลยีการรวมพิกเซลเข้าด้วยกัน ทำให้ภาพที่ออกมาจากกล้องมือถือ 108 ล้านพิกเซล มีความละเอียดอยู่ที่ 12 ล้านพิกเซลนั่นเองครับ

 

Pixel Bining คืออะไร ?

อย่างที่เรากล่าวไปตอนต้นว่า ในเซ็นเซอร์รับภาพมือถือจะมีพิกเซลวางเรียงต่อกันเป็นหลักล้านจุด แต่ด้วยความที่ขนาดของเซ็นเซอร์รับภาพมือถือไม่สามารถขยายให้ใหญ่เท่ากับกล้อง Mirrorless หรือกล้อง Full Frame เนื่องจากข้อจำกัดด้านการดีไซน์ของมือถือที่จำเป็นต้องมีความบาง และน้ำหนักที่เบาเพื่อเอื้อต่อการพกพาที่สะดวก จึงทำให้เกิดแนวคิดในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า Pixel Bining เพื่อทำให้กล้องมือถือที่มีพิกเซลขนาดเล็ก สามารถถ่ายภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

Pixel Bining เป็นเทคนิครวมพิกเซลเล็ก ๆ ที่อยู่ข้าง ๆ กัน ให้กลายเป็น 1 พิกเซลใหญ่ เพื่อช่วยให้พื้นที่บริเวณนั้นมีจุดที่สามารถรับข้อมูลภาพที่มากขึ้น ทำให้รับแสงได้มากขึ้น และเก็บรายละเอียดต่าง ๆ ของภาพถ่ายได้ดีขึ้นตามไปด้วย โดยในกรณีของ Galaxy S22 Ultra ที่ใช้กล้อง 108 ล้านพิกเซลเช่นเดียวกัน จะใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า nona-binning ซึ่งเป็นการรวม 9 พิกเซลเล็กให้กลายเป็น 1 พิกเซลใหญ่ ทำให้ภาพที่ออกมามีความละเอียดอยู่ที่ 12 ล้านพิกเซล (108÷9 = 12)

โดยปกติแล้วมือถือที่ใช้กล้องความละเอียดสูงมักจะเปิดฟีเจอร์ Pixel Bining เป็นค่าพื้นฐาน แต่หากใครที่ต้องการถ่ายภาพความละเอียด 108 ล้านพิกเซลก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตาม การถ่ายภาพเต็มความละเอียด 108 ล้านพิกเซลโดยไม่ผ่าน Pixel Bining ก็มีจุดที่ต้องแลกมานั่นก็คือ ภาพจะมีจุดรบกวน (Noise) ที่เยอะขึ้น เนื่องจากพื้นที่ในการรับข้อมูลภาพน้อยลง รวมทั้งอาจจะมีความคมชัดที่น้อยกว่าด้วย

จะเห็นได้ว่า มือถือกล้องความละเอียดสูง 108 ล้านพิกเซลก็มีจุดเด่นเฉพาะตัวด้วยเทคโนโลยี Pixel Bining ที่จะช่วยให้ภาพมีความคมชัดมากยิ่งขึ้น หรือหากใครต้องการถ่ายภาพเต็มความละเอียด 108 ล้านพิกเซลก็ตอบโจทย์ด้านการนำไฟล์ภาพไปพรินต์ขึ้นป้ายขนาดใหญ่ และยังเหมาะกับการถ่ายภาพในสถานการณ์ที่เราต้องการเก็บรายละเอียดทั้งหมดเพื่อนำไปตัดออกเฉพาะส่วน ซึ่งก็น่าสนใจว่าในอนาคตอันใกล้นี้กล้องมือถือจะถูกพัฒนาไปในทิศทางใด และจะมีฟีเจอร์อะไรที่ช่วยให้ใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกขึ้นบ้างครับ

 

นำเสนอบทความโดย : thaimobilecenter.com


วันที่ : 4/4/2565

Tags :
  

Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy