จอ OLED, AMOLED, Super AMOLED ต่างกันยังไง? แบบไหนดีกว่ากัน?
ใครที่อ่านสเปกมือถือจะต้องเคยผ่านตาหน้าจอแสดงผล OLED, AMOLED และ Super AMOLED กันมาบ้างแน่ ๆ แถมบางทียังมี pOLED กับ Dynamic AMOLED เข้ามาให้งงกันไปอีก ชวนให้สงสัยว่าหน้าจอเหล่านี้มันต่างกันอย่างไร ทำไมถึงต้องมีหลายแบบ และแบบไหนดีกว่ากัน ในวันนี้เราจึงมาสรุปความแตกต่างของจอ OLED แต่ละแบบให้ทุกคนได้หายสงสัยกันครับ
OLED
โครงสร้างจอ TFT-LCD (ซ้าย) เทียบกับจอ OLED (ขวา)
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับเรื่องพื้นฐานอย่างหน้าจอ OLED กันก่อน โดย OLED นั้นย่อมาจาก Organic Light Emitting Diode คุณสมบัติของจอประเภทนี้คือมีเม็ดพิกเซลที่สามารถส่องสว่างได้ด้วยตัวเองเมื่อมีกระแสไฟผ่าน ต่างจากหน้าจอประเภท LCD ที่ต้องมีชั้นไฟ Backlight ช่วยส่องสว่างเม็ดพิกเซลอยู่ด้านล่าง
การไม่ต้องพึ่งไฟ Backlight มีข้อดีหลายอย่าง เพราะทันทีที่เราเอาเลเยอร์ Baclkight ออกไป หน้าจอจะบาง และเบาลงทันที แถมยังมีความยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถดัดให้งอได้ จึงสามารถนำไปดัดแปลงเป็นดีไซน์อื่น ๆ ได้ง่ายกว่า นอกจากนี้ ยังทำให้หน้าจอมีค่าคอนทราสต์ที่ดีขึ้นมาก และให้สีสันที่สดกว่า ที่สำคัญคือสีดำบนจอ OLED จะถูกแสดงผลด้วยการดับไฟที่เม็ดพิกเซล ทำให้จอ OLED แสดงผลสีดำได้ดำสนิทกว่าจอ LCD และกินไฟน้อยลงด้วย
เมื่อเทียบกับจอประเภท LCD แล้ว ข้อเสียของจอ OLED มีเพียงอย่างเดียวคือมีราคาแพงกว่า นั่นจึงทำให้เราไม่ค่อยเห็นหน้าจอ OLED ในสมาร์ทโฟนราคาประหยัดกันสักเท่าไหร่
AMOLED
โครงสร้างของจอ AMOLED
AMOLED ย่อมาจาก Active Matrix Organic Light Emitting Diode โดยรวมแล้วจะเรียกว่าเป็น “OLED อัปเกรด” ก็ได้ เพราะมีพื้นฐานเป็นจอ OLED เพียงแต่มีการเปลี่ยนแปลงการจัดเรียงเม็ดพิกเซลใหม่เป็นแบบ Active Matrix และใช้ thin-film transistor (TFT) ในการควบคุมการทำงานของเม็ดพิกเซลแบบเม็ดต่อเม็ด ไม่ใช่การควบคุมทีละแถวแบบจอ OLED ธรรมดา สิ่งที่ได้คือสามารถควบคุมการเปิด-ปิดของพิกเซลได้ละเอียดมากขึ้น และรวดเร็วขึ้น
การควบคุมที่ละเอียดยิ่งขึ้นนี้เอง ทำให้หน้าจอ AMOLED มีคอนทราสต์ทีขึ้น และมีสีดำที่ดำยิ่งขึ้นไปอีก แถมยังประหยัดพลังงานมากกว่าเดิมด้วย เหมาะกับฟีเจอร์ Always-On Display สุด ๆ ครับ
pOLED
โครงสร้างจอ pOLED
pOLED ย่อมาจาก Plastic Organic Light Emitting Diode เป็นจอ OLED อีกแบบหนึ่งที่ใช้เลเยอร์พลาสติกแทนเลเยอร์ที่เป็นกระจก ทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เหมาะกับการนำไปใช้เป็นจอขอบโค้ง หรือจอพับ หรือจะเอาไปใช้กับสมาร์ทโฟนทั่วไปก็ได้ เพราะเป็นจอที่มีความบางเป็นพิเศษ ช่วยให้สมาร์ทโฟนบางลงได้อีก อย่างไรก็ดี ข้อเสียของจอ pOLED คือคุณภาพการแสดงผลจะต่ำกว่าจอ OLED แบบอื่นเล็กน้อย
Super AMOLED
โครสร้างจอ Super AMOLED (ซ้าย) เทียบกับจอ TFT-LCD (ขวา)
Super AMOLED คือหน้าจอ AMOLED อีกประเภทหนึ่งที่คิดค้นโดย Samsung ที่ปรับโครงสร้างใหม่ด้วยการแทรกเซ็นเซอร์รับสัมผัสเข้าไปในจอ ทำให้ยิ่งบางลงไปอีก ขณะเดียวกัน ยังมีการอัปเกรดให้จอสว่างขึ้น, ประหยัดพลังงานมากขึ้น, สู้แสงแดดได้ดีขึ้น และมีมุมมองที่กว้างขึ้น เรามักจะพบจอประเภทนี้ในสมาร์ทโฟนของ Samsung เป็นส่วนใหญ่ และอาจมีให้เห็นในสมาร์ทโฟนแบรนด์อื่นบ้างประปราย
Dynamic AMOLED
Dynamic AMOLED เป็นเทคโนโลยีที่ Samsung พัฒนาขึ้น (อีกแล้ว) โดยอัปเกรดหน้าจอ Super AMOLED ให้รองรับมาตรฐานการแสดงผลแบบ HDR10+ ที่มีการเข้ารหัสแบบ Dynamic Metadata ช่วยให้ประมวลผลภาพมืดและสว่างโดยรวมแบบอัตโนมัติได้ลึกขึ้น และสมจริงยิ่งกว่าเดิม ในทางทฤษฎีแล้วนับว่าใกล้เคียงกับดวงตามนุษย์มากที่สุด และน่าจะเป็นเทคโนโลยีการแสดงผลที่ล้ำหน้าที่สุดแล้วในอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนปัจจุบัน เราจะพบจอ Dynamic AMOLED ได้ในสมาร์ทโฟนเรือธงของ Samsung อย่าง Galaxy S Series ครับ
มาถึงตรงนี้หวังว่าทุกท่านจะหายสงสัยกันแล้วว่าหน้าจอ OLED แต่ละแบบนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร อย่างไรก็ตาม OLED เป็นเทคโนโลยีหน้าจอแสดงผลที่ได้รับความนิยมมาก และถูกนำไปใช้ในหลาย ๆ อุตสาหกรรม ในบทความนี้จะเน้นไปที่จอ OLED ประเภทที่ใช้ในสมาร์ทโฟนเป็นหลัก ส่วนจอ OLED แบบอื่น ๆ นั้น เราจะนำมาพูดถึงกันในโอกาสต่อไปครับ
นำเสนอบทความโดย : thaimobilecenter.com
วันที่ : 26/12/2566