ตอนนี้คุณอยู่ที่ >> หน้าแรก >> หน้ารวม รีวิวมือถือ mobile review >> รีวิวมือถือ Mobile Review
   
Date : 11/09/2021


รีวิว Samsung Galaxy Z Fold3 | Flip3 5G แกร่งกว่าเดิม ทนน้ำได้ พร้อมใช้ S Pen เด่นที่กล้องใต้จอ เป็นต่อด้วยลูกเล่น ในราคาที่ถูกล
 

สวัสดีครับ ก็กลับมาพบกันอีกครั้งกับผม ตั้ม Thaimobilecenter และที่อยู่ในมือของผมตอนนี้ก็คือ Galaxy Z Fold3 5G และ Z Flip3 5G สองสุดยอดสมาร์ทโฟนจอพับที่ดีที่สุดในปีนี้ของ Samsung ซึ่งทั้ง 2 รุ่นนี้แม้จะมีรูปลักษณ์ภายนอกที่แตกต่างกันมาก แต่จริง ๆ แล้วต้องบอกว่ามีต้นกำเนิดมาจาก DNA เดียวกัน ด้วยคุณสมบัติพื้นฐานหลายอย่างที่ใช้ร่วมกัน เพียงแต่เน้นให้ตอบโจทย์ไปคนละแบบเท่านั้น และแน่นอนว่ามีการพัฒนาให้ดีขึ้นจากรุ่นเดิม ตั้งแต่เรื่องของความแข็งแกร่ง, การทนน้ำ, กล้องซ่อนใต้หน้าจอ, การรองรับปากกา S Pen, ประสิทธิภาพด้านการประมวลผล และอีกมากมาย ในราคาที่ถูกลงกว่าเดิม ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไร หรือจะเลือกรุ่นไหนดี วันนี้ผมก็ได้นำทั้ง 2 รุ่นนี้มาจับคู่รีวิวให้ชมพร้อมกันแล้วครับ

 

รูปลักษณ์ภายนอก และการออกแบบดีไซน์

ในเรื่องของรูปลักษณ์ภายนอก แน่นอนครับว่าด้วยการที่เป็นสมาร์ทโฟนจอพับ จึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดูโดดเด่นสะดุดตา แตกต่างจากสมาร์ทโฟนทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด

 

โดยเมื่อเปรียบเทียบ Galaxy Z Fold3 กับรุ่นพี่อย่าง Galaxy Z Fold2 หากดูที่ด้านหน้า โดยรวมแล้วแทบไม่มีความแตกต่างกัน ยกเว้นบางจุด

 

แต่เมื่อพลิกมาที่ด้านหลังก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างชัดเจน นั่นคือดีไซน์ของกล้องถ่ายภาพที่เปลี่ยนจากแบบกรอบสี่เหลี่ยม มาเป็นกรอบวงรียาวที่มีการจัดเรียงกล้อง กับไฟแฟลชไว้ในแนวตั้งทั้งหมด พร้อมเลนส์กล้องที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งก็ดูสวยหรูไปคนละแบบ

 

ถัดมาในเรื่องของสีสัน เดิมทีใน Galaxy Z Fold2 นั้นมีตัวเครื่องให้เลือกเพียงแค่ 2 สี คือ Mystic Black กับ Mystic Bronze แต่พอมาใน Galaxy Z Fold3 จะมีสีสันของตัวเครื่องให้เลือกเพิ่มขึ้นเป็น 3 สี ได้แก่ สีดำ (Phantom Black), สีเขียว (Phantom Green) และสีเงิน (Phantom Silver)

 

ข้ามมาในฝั่งของ Galaxy Z Flip3 สิ่งแรกที่เราสังเกตได้ทันทีก็คือชื่อรุ่น เพราะแทนที่จะเลือกใช้ลำดับตัวเลขต่อจากรุ่นที่แล้วอย่าง Galaxy Z Flip ให้มาเป็น Galaxy Z Flip2 แต่ทาง Samsung ได้ตัดสินใจข้ามลำดับตัวเลขมาเป็น Galaxy Z Flip3 แทน ซึ่งเหตุผลก็คือทาง Samsung ต้องการให้สมาร์ทโฟนจอพับในตระกูล Galaxy Z Series ทั้งหมดมีลำดับตัวเลขที่เท่ากัน เพื่อป้องกันการสับสนเรื่องความใหม่ความเก่า เช่นหากการเปิดตัวครั้งนี้เลือกใช้ชื่อรุ่นเป็น Galaxy Z Flip2 แทน พอนานไปบางคนก็อาจจะนึกว่า Galaxy Z Flip2 นั้นเก่ากว่า Galaxy Z Fold3 ที่เปิดตัวออกมาพร้อมกันก็เป็นได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้ตัวเลขเดียวกันนั่นเอง

 

สำหรับดีไซน์โดยรวมเมื่อเทียบ Galaxy Z Flip รุ่นแรก ก็จะพบว่า Galaxy Z Flip3 มีการเน้นเหลี่ยมมุมมากขึ้น มีความโค้งมนน้อยลงกว่าเดิม

 

โดยที่ด้านหน้าของ Galaxy Z Flip3 จะพบว่าขอบของหน้าจอมีความบางเฉียบลงกว่าเดิม พร้อมรูหูฟังด้านบนที่ปรับมาเป็นดีไซน์แบบ 3 รู เนื่องจากใช้เป็นลำโพงเสียงตัวที่สองด้วย และแกนบานพับที่ดูเรียบเนียนกลมกลืนไปกับตัวเครื่องมากกว่าเดิม

 

ส่วนที่ด้านหลังมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด ด้วยการเล่นสีแบบทูโทน โดยในส่วนของกล้องคู่จะอยู่บนแถบพื้นหลังสีดำสนิท ซึ่งตรงนี้คือหน้าจอแสดงผลที่ใหญ่ขึ้น 4 เท่า กลายเป็น 1.9 นิ้ว รองรับการใช้งานได้ดีขึ้น กับขนาดของเลนส์กล้องที่ใหญ่ขึ้น และมีการเรียงตัวในแนวตั้งแทน ทั้งเลนส์กล้อง กับไฟแฟลช

 

เดิมทีใน Galaxy Z Flip นั้นมีสีตัวเครื่องให้เลือกเพียง 3 สี คือ Mirror Purple, Mirror Black และ Mirror Gold แต่พอมาใน Galaxy Z Flip3 จะมีสีสันให้เลือกมากขึ้นรวมถึง 7 สีด้วยกัน ทั้ง 4 สีมาตรฐาน ได้แก่สี Cream, Green, Lavender และ Phantom Black กับอีก 3 สีพิเศษที่จำหน่ายเฉพาะใน Samsung.com ได้แก่สี Gray, White และ Pink

 

รายละเอียดทางกายภาพ

แม้เราจะเข้าใจดีว่าสมาร์ทโฟนจอพับสไตล์นี้ ตัวเครื่องย่อมต้องมีขนาดที่ใหญ่, มีน้ำหนักเยอะ และมีความหนาเป็นพิเศษ อย่างไรก็ดี Samsung ก็พยายามพัฒนาให้มีความกะทัดรัดลงเท่าที่จะทำได้ใน Galaxy Z Fold3 และ Z Flip3

 

โดยน้ำหนักตัวของ Galaxy Z Fold3 นั้นเบาลงเล็กน้อยเหลือ 271 กรัม จากเดิม 282 กรัม แต่ก็ยังหนักกว่าสมาร์ทโฟนทั่วไปอยู่พอสมควร อย่างถ้าเทียบกับ Galaxy Note20 Ultra เครื่องนี้ที่มีน้ำหนัก 208 กรัม Galaxy Z Fold3 ก็จะหนักกว่าอยู่ถึง 63 กรัม เลยทีเดียว

 

ส่วนน้ำหนักตัวของ Galaxy Z Flip3 นั้นยังคงเท่าเดิมที่ 183 กรัม ซึ่งถือว่าเบาใกล้เคียงกับสมาร์ทโฟนทั่วไป

 

ดังนั้นเมื่อเทียบกันแล้ว น้ำหนักของ Galaxy Z Fold3 จะหนักกว่า Galaxy Z Flip3 อยู่ถึง 88 กรัม

 

ในเรื่องมิติของตัวเครื่อง Galaxy Z Fold3 จะมีขนาดลดลงเล็กน้อย ทั้งขณะพับ และขณะกาง ในขณะที่จอยังคงใหญ่เท่าเดิมทั้งด้านนอก และด้านใน

 

ส่วนความหนาแกนบานพับของ Galaxy Z Fold3 ลดลงเล็กน้อยเหลือ 16.0 มิลลิเมตร จากเดิมที่ 16.8 มิลลิเมตร จึงพับจอประกบกันได้สนิทมากยิ่งขึ้น

 

ในด้านของ Galaxy Z Flip3 ก็ถูกปรับลดขนาดลงเล็กน้อย ให้มีความกะทะรัดลงอีกเล็กน้อยเช่นกัน ตั้งแต่ความหนาของแกนบานพับที่ลดลงเหลือ 17.1 มิลลิเมตร จากเดิม 17.4 มิลลิเมตร, ความหนาขณะกางที่ลดลงเหลือ 6.9 มิลลิเมตรตลอดทั้งแนว จากเดิมที่หนา 7.2 มิลลิเมตรตรงฝั่งของบานพับ

 

ความกว้างของตัวเครื่องที่ลดลงเหลือ 72.2 มิลลิเมตร จากเดิม 73.6 มิลลิเมตร, ความสูงขณะพับจอที่ลดลงเหลือ 86.4 มิลลิเมตร จากเดิม 87.4 มิลลิเมตร และความสูงขณะกางจอที่ลดลงเหลือ 166 มิลลิเมตร จากเดิม 167.3 มิลลิเมตร

 

ทั้ง Galaxy Z Fold3 และ Z Flip3 นั้นไม่มีเซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือแบบฝังใต้หน้าจอ แต่ใช้เซนเซอร์สแกนลายนิ้วมือบนปุ่ม Power ที่ด้านข้างตัวเครื่องแทน และมาพร้อมกับระบบจดจำใบหน้าด้วยเช่นกัน

 

จุดเด่นอีกอย่างก็คือทั้ง Galaxy Z Fold3 กับ Z Flip3 นั้นมากับลำโพงเสียงแบบคู่ พร้อมกับระบบเสียงแบบ Dolby Atmos ซึ่งแบ่งออกเป็นลำโพงที่ด้านบน กับลำโพงที่ด้านล่างของตัวเครื่อง ดังนั้นอรรถรสด้านเสียงจึงดีเยี่ยม

 

พอร์ตเชื่อมต่อของทั้ง 2 รุ่น ต่างเลือกใช้พอร์ตสมัยใหม่แบบ USB Type-C แต่ต่างกันเล็กน้อยที่ Galaxy Z Fold3 นั้นเป็นมาตรฐาน USB 3.2 ส่วน Galaxy Z Flip3 เป็นมาตรฐาน USB 3.1 และทั้งคู่ต่างก็ไม่มีพอร์ตหูฟังแบบ 3.5 มิลลิเมตร

 

ส่วนถาดใส่ซิมการ์ดของทั้ง 2 รุ่นนั้นจะแตกต่างกัน โดยถาดซิมการ์ดของ Galaxy Z Fold3 นั้นจะรองรับการใส่ Nano SIM พร้อมกัน 2 ซิม แต่ถาดซิมการ์ดของ Galaxy Z Flip3 นั้นจะใส่ Nano SIM ได้เพียงแค่ซิมเดียว แต่ก็ยังสามารถรองรับหมายเลขที่สองได้ด้วยการใช้ eSIM แทนครับ

 

ความสะดวกด้านการใช้งาน

เรื่องการใช้งานในชีวิตประจำวัน หากเป็นคนที่ไม่เคยใช้สมาร์ทโฟนจอพับมาก่อน ก็อาจต้องมีการปรับตัวกันอยู่บ้างครับ อย่างการพกพา ด้วยความหนาที่มากกว่าสมาร์ทโฟนทั่วไปเป็นเท่าตัว บวกกับน้ำหนักตัวที่ค่อนข้างมาก ดังนั้นการพกพาด้วยการใส่ไว้ในกระเป๋ากางเกงก็อาจจะไม่คล่องตัวมากนัก แต่หากมีกระเป๋าใบเล็ก ๆ สักใบแล้วใส่ไว้ในนั้น ก็จะมีความคล่องตัวมากขึ้น

 

โดยเฉพาะในฝั่งของ Galaxy Z Flip3 นั้นเมื่อพับจอแล้ว จะมีขนาดเหลือเพียงแค่ 4.2 นิ้วเท่านั้น

 

การจับถือตัวเครื่อง Galaxy Z Fold3 ด้วยมือเดียว แรก ๆ แม้ขณะพับจอก็ยังรู้สึกเต็มไม้เต็มมือมากกว่าปกติ แต่เมื่อใช้งานไปสักพักก็จะเกิดความเคยชิน

 

แต่หากเป็นขณะกางจอออกมา การถือด้วยมือเดียวคงต้องเป็นคนที่มีฝ่ามือใหญ่สักหน่อย หากเป็นคนที่มีฝ่ามือเล็กก็คงต้องเลือกจับไว้ที่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งของหน้าจอแทน ดังนั้นโดยทั่วไปแล้วการใช้งานแบบ 2 มือจะมีความคล่องตัวมากกว่าสำหรับรุ่นนี้ครับ

 

เช่นเดียวกับการพับหน้าจอ การพับด้วยมือข้างเดียวอาจพอทำได้ แต่ก็ค่อนข้างยาก ดังนั้นการพับจอด้วย 2 มือก็จะง่ายกว่ามาก ส่วนการกางหน้าจอคงต้องใช้ 2 มือเท่านั้น

 

สำหรับการพับจอแล้วถือมือเดียวเพื่อการใช้งานทั่วไปก็ถือว่าทำได้ดีครับ เช่นการพิมพ์ข้อความ, การใช้งาน Notification Panel, การใช้งานหน้า App Drawer หรือการโทร

 

อีกข้อสังเกตสำหรับ Galaxy Z Fold3 ก็คือส่วนของกล้องด้านหลังนั้นมีความนูนค่อนข้างมาก ทำให้เวลาวางบนพื้นราบตัวเครื่องจะไม่ได้ระนาบ หรือหากวางไม่ระวังก็อาจทำให้ส่วนของกล้องเกิดริ้วรอยได้

 

ในด้านของ Galaxy Z Flip3 การจับถือใช้งานด้วยมือเดียวถือว่าสะดวกคล่องตัวกว่ามากครับ ทั้งในขณะที่พับจอ และในขณะที่กางจอ เรียกว่าใช้งานได้สะดวกไม่ต่างจากสมาร์ทโฟนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์ข้อความ, การใช้งาน Notification Panel, การใช้งานหน้า App Drawer, การโทร และอื่น ๆ

 

แต่แน่นอนว่าการจับถือด้วย 2 มือก็จะช่วยให้การใช้งานสะดวกคล่องตัวมากขึ้น ทั้งการใช้งานในแนวตั้ง และแนวนอน

 

ส่วนการพับจอของ Z Flip3 ด้วยมือเดียวก็สามารถทำได้ง่ายกว่า หรือจะพับด้วย 2 มือก็ยิ่งสะดวก และการกางจอด้วยมือเดียวก็ยังพอทำได้ แต่อาจไม่ง่ายนัก ดังนั้นการกางจอด้วย 2 มือก็จะสะดวกที่สุดครับ

 

จุดหนึ่งที่ Galaxy Z Flip3 ได้เปรียบ Galaxy Z Fold3 ก็คือส่วนของกล้องหลังที่แบนราบกว่ามาก จึงไม่ดันเครื่องขึ้นมาเวลาวางไว้บนโต๊ะ หรือบนพื้นผิวต่าง ๆ

 

วัสดุ ความแข็งแรง และคุณภาพชิ้นงาน

นอกจากจะมีการปรับดีไซน์ใหม่แล้ว เรื่องของวัสดุของ Galaxy Z Fold3 กับ Z Flip3 ก็ถูกอัปเกรดให้มีความแข็งแรงทนทานมากขึ้นด้วยครับ

 

อย่างแรกก็คือตัวเครื่องของทั้ง Galaxy Z Fold3 กับ Z Flip3 นั้นมีคุณสมบัติของการทนน้ำตามมาตรฐาน IPX8 ซึ่งตามข้อมูลระบุว่าสามารถทนน้ำได้ลึก 1.5 เมตร นานสูงสุด 30 นาที ซึ่งเป็นสมาร์ทโฟนจอพับ 2 รุ่นแรกของโลกที่ทำได้ ดังนั้นจึงสามารถใช้งานได้อย่างมั่นใจแบบไม่ต้องกลัวน้ำอีกต่อไป

 

ถัดมาก็คือกลไกของการพับ ที่ถูกอัปเกรดมาใช้โลหะ Armor Aluminum ที่ส่วนของบานพับ กับกรอบตัวเครื่อง ซึ่งช่วยให้มีความทนทานมากขึ้นกว่า 10%

 

ประกอบกับกระจก Samsung Ultra Thin Glass ที่พัฒนามาเพื่อจอพับโดยเฉพาะ ซึ่งมีความทนทานมากกว่าเดิม 80% รวมแล้วจึงสามารถทนต่อการพับ และกางตัวเครื่องได้มากกว่า 200,000 ครั้ง หรือคิดง่าย ๆ คือหากเราพับวันละ 100 ครั้ง ก็จะใช้งานได้นานราว 5 ปีครึ่งเลยทีเดียว ซึ่งถึงตอนนั้นเราก็น่าจะเปลี่ยนเป็นรุ่นใหม่ไปแล้วครับ

 

ด้วยแกนพับที่แข็งแรงมากขึ้น เราจึงใช้งานได้มั่นใจมากขึ้น รวมทั้งมีความหนืดในตัว จึงปรับองศาของจอให้หลายระดับตามที่ต้องการ

 

นอกจากนี้ที่ด้านหน้า และด้านหลังของทั้ง Galaxy Z Fold3 กับ Z Flip3 ต่างถูกอัปเกรดให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น โดยการครอบทับด้วยกระจก Gorilla Glass Victus ซึ่งเป็นกระจกนิรภัยรุ่นที่แข็งแกร่งที่สุดของบริษัท Corning ในขณะนี้ โดยทาง Samsung ระบุว่าสามารถทนต่อการตกหล่นจากที่สูงได้ 2 เมตร และทนต่อการขีดข่วนได้มากกว่า 4 เท่า เมื่อเทียบกับกระจกอะลูมิโนซิลิเกต

 

ไม่เพียงเท่านั้น กล้องหลังของ Galaxy Z Fold3 กับ Z Flip3 ยังถูกครอบทับด้วยกระจก Super Clear Glass กับ Corning Gorilla Glass with DX ซึ่งเมื่อกระจกทั้งสองนี้มาอยู่ด้วยกัน แสงก็จะสามารถผ่านเข้าไปที่เซนเซอร์ของกล้องได้ถึง 98% ดังนั้นคุณภาพของภาพที่ได้จึงยังคงดีเยี่ยม รวมทั้งมีความแข็งแกร่ง และทนต่อการขีดข่วนได้ จึงสามารถช่วยปกป้องเลนส์กล้องได้เป็นอย่างดี

 

จอแสดงผลของ Galaxy Z Fold3 5G

สำหรับจอ Dynamic AMOLED 2X Infinity Flex Display ขนาด 7.6 นิ้ว บน Galaxy Z Fold3 นั้นเป็นรุ่นแรกที่ได้ใช้เทคโนโลยี Eco Square OLED (Eco2 OLED) ซึ่งเป็นการนำชั้น Polarizer ที่มีอยู่เดิมออกไป ส่งผลให้บริโภคพลังงานน้อยลง 25% ในขณะเดียวกันก็มีความสว่างเพิ่มขึ้น 29% สูงสุดที่ 1200 nits รวมทั้งช่วยให้กล้อง Under-Panel Camera (UPC) ทำงานได้ดีขึ้น เนื่องจากแสงสามารถผ่านเข้าไปได้ดีขึ้นถึง 33%

 

นอกจากนี้ก็ยังมีอัตราการรีเฟรชแบบ Adaptive สูงสุดที่ 120Hz กับความละเอียดสูงสุดระดับ QXGA+ หรือ 2208x1768 พิกเซล บนอัตราส่วนการแสดงผลแบบ 22:5:18 และรองรับการแสดงผลคอนเทนต์แบบ HDR10+

 

ไม่เพียงแค่จอหลักที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่จอนอก หรือ Cover Screen ขนาด 6.2 ก็ถูกอัปเกรดให้ดีขึ้นเช่นกัน ด้วยการเปลี่ยนเป็นจอแบบ Dynamic AMOLED 2X Infinity-O Display ซึ่งมีอัตราการรีเฟรชแบบ Adaptive สูงสุดที่ 120Hz เช่นเดียวกับจอหลัก รวมทั้งมีความสว่างเพิ่มขึ้น 25% สูงสุดที่ 1500 nits, สามารถแสดงคอนเทนต์แบบ HDR10+ ได้ดีขึ้น และแสดงผลในที่กลางแจ้งได้ดีขึ้น 25% ส่วนความละเอียดของการแสดงผลจะอยู่ที่ระดับ HD+ หรือ 2268x832 พิกเซล บนอัตราส่วนแบบ 24.5:9

 

กล้องซ่อนใต้หน้าจอ (Under Display Camera) ของ Galaxy Z Fold3 5G

จุดขายสำคัญอย่างแรก ๆ ของ Galaxy Z Fold3 ก็คือการเป็นสมาร์ทโฟนจอพับรุ่นแรกของโลกที่นำกล้องหน้าแบบซ่อนใต้หน้าจอ หรือ Under Display Camera มาใส่ไว้ แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่านี่คือการนำมาใช้จริงครั้งแรก แม้ดูเผิน ๆ อาจสังเกตไม่เห็นกล้องหน้า และแสดงผลได้สวยงามเต็มตาโดยที่ไม่มีรู, รอยบาก, ติ่ง หรือหยดน้ำ มาบดบังสายตา

 

อย่างไรก็ดีเมื่อเราเปิดใช้งานกล้องหน้า รูกล้องก็จะเผยออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน เพราะอย่างไรก็จำเป็นต้องให้ชั้นหน้าของเลนส์กล้องมีความโปร่งใสมากที่สุด เพื่อให้แสงผ่านเข้าไปยังเซนเซอร์รับภาพได้ ด้วยการตัดวงจรการแสดงผลบริเวณนั้นออกไปชั่วคราว ส่วนขณะที่มีการใช้งานด้านอื่น ๆ แม้วงจรการแสดงผลจะทำงาน แต่เราก็ยังคงสามารถสังเกตเห็นรูกล้องได้ลาง ๆ ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็คือบริเวณนั้นยังไม่สามารถทำให้มีเม็ดพิกเซลที่ละเอียดคมชัดเท่ากับจอแสดงผลปกติได้นั่นเอง แต่นี่ก็คือการบุกเบิกนวัตกรรมที่ยอดเยี่ยมมากแล้วครับ และในอนาคตน่าจะพัฒนาให้ดีขึ้นได้อีกอย่างแน่นอน

 

เปรียบเทียบภาพเซลฟี่จากกล้องซ่อนใต้หน้าจอ 4MP กับกล้องหน้า 10MP และกล้องหลัง 12MP

ประเด็นสำคัญที่ถูกตั้งข้อสงสัยกันอยู่ก็คือ ในเมื่อต้องมีชั้นของการแสดงผลเพิ่มเข้ามาที่หน้าเลนส์ของกล้องที่ซ่อนใต้หน้าจอ (Under Display Camera) ซึ่งอาจมีผลกับความสามารถของการรับแสง แล้วคุณภาพของภาพที่ถ่ายออกมาจะแตกต่างจากกล้องหน้าปกติ กับกล้องหลักของ Galaxy Z Fold3 เองขนาดไหน ในวันนี้ผมก็ได้ถ่ายภาพตัวอย่างมาให้ลองเปรียบเทียบกันดูครับ

 

จากภาพที่เห็น ก็ต้องยอมรับว่ากล้องหน้าปกติที่มีความละเอียด 10 ล้านพิกเซล กับกล้องหลักที่มีความละเอียด 12 ล้านพิกเซล นั้นเก็บรายละเอียดได้ดีกว่ากล้องหน้าแบบซ่อนใต้หน้าจอที่มีความละเอียดเพียง 4 ล้านพิกเซลอยู่มาก แต่หากเราตัดเรื่องของความละเอียดออกไป ก็มีอยู่อีกจุดที่สังเกตได้ก็คือภาพเดิม ๆ ที่เห็นในช่วงเสี้ยววินาทีแรกหลังกดชัตเตอร์ ยังคงดูมีความฟุ้งอยู่บ้าง แต่พอในเสี้ยววินาทีต่อมา ดูเหมือนซอฟต์แวร์ของกล้อง Under Display Camera จะมีการประมวลผลต่ออีกขั้นหนึ่งด้วยความรวดเร็ว เพื่อปรับให้ภาพที่ยังดูฟุ้งนั้นมีความคมชัดมากขึ้น และระดับความเปรียบต่าง (Contrast) ที่ดีขึ้น จนเราได้ผลลัพธ์สุดท้ายดังภาพที่เห็น ซึ่งนี่ก็เป็นเทคนิคการปรับปรุงคุณภาพของรูปถ่ายอย่างหนึ่งที่ยังคงจำเป็นต้องนำมาใช้กับกล้องแบบซ่อนใต้หน้าจอครับ

 

ฟีเจอร์ด้านการแสดงผลของจอภาพบน Galaxy Z Fold3 5G

ในอีกด้านหนึ่ง Galaxy Z Fold3 5G นั้นก็เป็นเหมือนกับแท็บเล็ตขนาดย่อม ๆ เพราะเมื่อกางออกจะมีหน้าจอที่ใหญ่ถึง 7.6 นิ้ว ดังนั้นจึงมีฟีเจอร์หลายอย่างที่นำมาประยุกต์ใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่นการเปิดใช้งานพร้อมกันสูงสุด 3 หน้าต่าง ด้วย Multi Window เรียกว่าสามารถเล่นเกม ไปพร้อมกับการดูภาพยนตร์, ดูคลิป หรืออื่น ๆ ได้แบบสบาย ๆ

 

และไม่เพียงเท่านั้น ยังสามารถใช้ได้กับทุกแอปพลิเคชัน แม้แอปพลิเคชันนั้นจะไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้กับ Multi Window ก็ตาม โดยต้องมีการตั้งค่าเล็กน้อยที่ Settings > Advanced Features > Labs แล้วเปิดตัวเลือก Multi Window for All Apps รวมทั้งสามารถเลือกอัตราส่วนการแสดงผลของแต่ละแอปพลิเคชันได้ แต่แอปพลิเคชันบางตัวที่ไม่ได้ออกแบบมาให้รองรับกับ Multi Window ก็อาจจะทำงานได้ไม่สมบูรณ์ 100%

 

นอกจากนี้เรายังสามารถสร้างกลุ่มของแอปพลิเคชันด้วยฟังก์ชัน App Pair ไว้ใน Edge Panel เพื่อให้เราเปิดแอปพลิเคชันทั้งหมดในกลุ่มขึ้นมาในรูปแบบของ Multi Window ได้อย่างรวดเร็วด้วยการแตะเพียงแค่ครั้งเดียว หรือหากต้องการเปลี่ยนเป็นแอปพลิเคชันอื่น ก็เพียงแค่ลากไอคอนของแอปพลิเคชันนั้นมายังหน้าต่างที่ต้องการ รวมทั้งสามารถสลับตำแหน่งหน้าต่างของแต่ละแอปพลิเคชันได้อย่างอิสระ พร้อมรองรับการใช้งานทั้งในแนวตั้ง และแนวนอน

 

ไม่เพียงเท่านั้นหากการเปิดใช้งานพร้อมกัน 3 หน้าต่างยังไม่พอ เราก็สามารถใช้ฟังก์ชัน Pop-up Window เพื่อเปิดใช้งานพร้อมกัน 4 หน้าต่างได้ ซึ่งด้วยหน้าจอที่ใหญ่ถึง 7.6 นิ้ว จึงใช้งานได้อย่างไม่อึดอัดสายตา

 

โดยการแบ่งหน้าจอก็จะช่วยให้เราได้มุมมองที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะการเล่นเกม ซึ่งอาจช่วยสร้างความได้เปรียบให้กับเราได้

 

และการเล่นเกมแบบเต็มจอขนาด 7.6 นิ้ว และไม่มีรูกล้องมาบดบังก็ช่วยเพิ่มอรรถรส กับความตื่นตาตื่นใจให้กับการเล่นเกมได้มากเลยทีเดียวครับ

 

ส่วนที่หน้าจอด้านนอก หรือ Cover Display เราก็สามารถใช้ Multi Window ได้เช่นกัน โดยเปิดได้สูงสุดพร้อมกัน 2 หน้าต่าง พร้อมรองรับการใช้งาน Edge Panel, การใช้งานในแนวนอน และการสลับตำแหน่งหน้าต่าง

 

และการเล่นเกมด้วยจอด้านนอก ก็จะให้มุมมองที่กว้างเป็นพิเศษเช่นเดียวกัน ซึ่งน่าจะถูกใจบรรดาเกมเมอร์อยู่พอสมควร

 

อีกฟีเจอร์ที่เป็นจุดขายสำคัญก็คือ Flex Mode ซึ่งเมื่อเราพับจอในระดับ 75-155 องศา เครื่องก็จะแบ่งหน้าจอออกเป็น 2 ส่วน โดยที่ฝั่งด้านบนจะเป็นหน้าหลักของแอปพลิเคชัน ส่วนที่ฝั่งด้านล่างจะเป็นแผงควบคุมต่าง ๆ สำหรับแอปพลิเคชันนั้น ๆ และเราสามารถเลือกเปิด-ปิดการใช้งาน Flex Mode ของแต่ละแอปพลิเคชันได้ตามต้องการ

 

ซึ่งด้วย Flex Mode นี้ก็จะช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการใช้งาน ที่สมาร์ทโฟนทั่วไปไม่สามารถทำได้ เช่นการพับหน้าจอในองศาที่ต้องการ พร้อมวางเครื่องไว้โดยไม่ต้องจับ หรือไม่ต้องมีขาตั้ง แล้วนั่งชมภาพยนตร์เรื่องโปรดแบบสบาย ๆ ได้ทุกที่ทุกเวลา

 

จอแสดงผลของ Galaxy Z Flip3 5G

ในด้านหน้าจอแสดงผลของ Galaxy Z Flip3 ก็ถูกอัปเกรดให้ดีขึ้นเช่นเดียวกัน โดยที่จอหลักแม้จะมีขนาดที่ 6.7 นิ้วเท่าเดิม แต่เปลี่ยนมาใช้จอแบบ Dynamic AMOLED 2X Infinity Flex Display ที่มีอัตราการรีเฟรชแบบ Adaptive สูงสุดที่ 120Hz กับความละเอียดระดับ FHD+ หรือ 2640x1080 พิกเซล บนอัตราส่วนแบบ 22:9 พร้อมความสว่างสูงสุดที่ 1200 nits ซึ่งโดยรวมแล้วสามารถแสดงผลได้ดีขึ้น และมีความลื่นไหลมากกว่าเดิม

 

ถัดมาที่จอด้านนอก หรือ Cover Screen ก็นับว่าดีขึ้นมาก ด้วยจอแบบ Super AMOLED ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นถึง 4 เท่า กลายเป็น 1.9 นิ้ว พร้อมความละเอียดที่ 512x260 พิกเซล และความสว่างสูงสุดที่ 935 nits

 

ฟีเจอร์ด้านการแสดงผลของจอภาพบน Galaxy Z Flip3 5G

ซึ่งด้วยจอด้านนอกที่ใหญ่ขึ้น 4 เท่า จึงทำให้รองรับกับฟีเจอร์ต่าง ๆ ได้มากขึ้น อย่างแรกคือสามารถแสดงข้อมูลต่าง ๆ ได้มากกว่าเดิม ทั้งการแจ้งเตือน, วิดเจ็ตต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเล่นเพลง, สภาพอากาศ, นาฬิกาปลุก, นาฬิกานับเวลาถอยหลัง, ตารางงาน และ Samsung Health

 

โดยเราสามารถควบคุมการทำงานแบบพื้นฐาน หรือเปลี่ยนสไตล์ของหน้าหลักได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องกางหน้าจอออกมา

 

แต่หากเราต้องการปรับตั้งค่าแบบละเอียด ก็ให้กางจอออกมา แล้วเข้าไปที่หน้าการตั้งค่า Cover Screen ซึ่งในนั้นก็จะมีทั้งการกำหนดสไตล์ของนาฬิกา, สีของนาฬิกา, ภาพพื้นหลัง พร้อมการเปิดใช้วิดเจ็ต และการจัดลำดับตามที่เราต้องการ

 

ส่วนที่จอพับด้านในของ Galaxy Z Flip3 ก็มาพร้อมกับฟีเจอร์เด่นอย่าง Flex Mode ที่เมื่อเราพับหน้าจอในระดับ 75-155 องศา การแสดงผลก็จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนให้โดยอัตโนมัติ เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานในขณะที่พับหน้าจอ โดยส่วนด้านบนจะเป็นจอหลัก ส่วนที่ด้านล่างจะเป็นจอรองที่มีแผงควบคุมการทำงานต่าง ๆ ซึ่งจะมีรูปแบบแตกต่างกันไปในแต่ละแอปพลิเคชัน เช่นการพับหน้าจอในองศาที่ต้องการ แล้วตั้งเครื่องเอาไว้เพื่อดูคลิปบน YouTube หรือสนทนาแบบ Video Call ผ่าน Google Duo และแอปพลิเคชันอื่น ๆ อีกมากมาย

 

ในส่วนของ Multi Window หรือ Split Screen นั้นรองรับได้สูงสุด 2 แอปพลิเคชันพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นแนวตั้ง หรือแนวนอน

 

และเช่นเดียวกับ Galaxy Z Fold3 คือสามารถใช้ได้กับทุกแอปพลิเคชัน แม้แอปพลิเคชันนั้นจะไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้กับ Multi Window ก็ตาม โดยให้เราเข้าไปตั้งค่าที่ส่วนของ Labs แล้วเปิดตัวเลือก Multi Window for All Apps แต่แอปพลิเคชันบางตัวที่ไม่ได้ออกแบบมาให้รองรับกับ Multi Window ก็อาจจะทำงานได้ไม่สมบูรณ์ 100%

 

ฟังก์ชันอีกอย่างที่หลายคนน่าจะชอบก็คือการรับสายเรียกเข้าด้วยการกางหน้าจอออกมา และการวางสายด้วยการพับหน้าจอ แต่เราต้องเข้าไปเปิดการใช้งานก่อนที่ Settings > Accessibility > Interaztion and Dexterity > Answering and Ending Calls แล้วเปิดฟังก์ชัน Open Phone to Answer กับ Close Phone to End เพียงเท่านี้ก็ใช้งานได้แล้วครับ

 

จุดสังเกตอื่น ๆ ของจอแสดงผลบน Galaxy Z Fold3 | Z Flip3 5G

จุดที่ดีอีกอย่างบนจอพับของทั้ง Galaxy Z Fold3 กับ Z Flip3 ก็คือทาง Samsung ได้ติดตั้งฟิล์มกันรอยอย่างดีมาให้เรียบร้อยแล้ว เราจึงไม่จำเป็นต้องไปหาฟิล์มกันรอยมาติดตั้งเองในภายหลังให้ยุ่งยาก โดยในด้านของ Galaxy Z Fold3 ติดมาให้ทั้งจอหลักด้านใน และจอด้านนอก แต่ Galaxy Z Flip3 ติดมาให้เฉพาะจอหลักด้านในเท่านั้น ส่วนจอด้านนอกไม่ได้ติดตั้งฟิล์มกันรอยมาให้

 

แม้ฟีเจอร์ของจอพับได้บน Galaxy Z Fold3 กับ Z Flip3 จะดูน่าตื่นตาตื่นใจ และแปลกใหม่ แต่ก็ยังมีจุดสังเกตให้เราต้องพิจารณาอยู่บ้าง เริ่มที่เรื่องของอัตราส่วนของการแสดงผลที่ในบางกรณีอาจจะแปลกไปจากปกติที่เราเคยเห็นในสมาร์ทโฟนทั่วไป

 

ถัดมาก็คือเรายังคงสามารถสังเกตเห็นแนวรอยพับบริเวณส่วนกลางของหน้าจอได้ โดยเฉพาะเมื่อมองในมุมเอียง, ในขณะที่ปิดหน้าจอ หรือในขณะที่มีแสงจากภายนอกมาตกกระทบมาก ๆ

 

แต่หากเราเปิดจอใช้งาน และมองในมุมตรง เราก็แทบจะมองไม่เห็นรอยพับแล้ว

 

สุดท้ายคือเวลาที่เรารูดนิ้วผ่านบริเวณรอยพับ เราก็จะรู้สึกได้ถึงการสะดุด เนื่องจากทางกายภาพแล้ว ณ บริเวณรอยพับนั้นไม่ได้ราบเรียบเหมือนส่วนอื่น ๆ ซึ่งก็ยังคงเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่งของจอแบบพับได้ แต่ก็ไม่ได้มีผลกับประสิทธิภาพของการตอบสนองต่อการสัมผัสแต่อย่างใด

 

กล้องของ Galaxy Z Fold3 5G

มาถึงเรื่องของกล้องถ่ายภาพของ Galaxy Z Fold3 กันบ้างครับ โดยหากไม่นับกล้อง Under Display Camera ที่ถูกใส่เข้ามาใหม่ กล้องอื่น ๆ ที่เหลือยังคงเหมือนกับ Galaxy Z Fold2 รุ่นพี่ ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ยังถือว่าเป็นกล้องระดับไฮเอนด์ที่ถ่ายภาพได้ยอดเยี่ยม และครอบคลุมทุกระยะ ทาง Samsung จึงยังไม่เห็นความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องอัปเกรดใหม่ อีกทั้งตระกูล Galaxy Z Series นั้นไม่ได้เน้นที่เรื่องของกล้องถ่ายภาพเป็นหลักอยู่แล้วนั่นเอง

 

โดยชุดกล้องหลัง 3 ตัวประกอบไปด้วย กล้อง Ultra Wide ความละเอียด 12 ล้านพิกเซล พร้อมรูรับแสงขนาด f2.2 และมุมรับภาพ 123 องศา

 

กล้อง Wide Angle ความละเอียด 12 ล้านพิกเซล พร้อมรูรับแสงขนาด f1.8, ระบบโฟกัสอัตโนมัติแบบ Dual Pixel และระบบป้องกันการสั่นแบบ OIS

 

และกล้อง Telephoto ความละเอียด 12 ล้านพิกเซล พร้อมรูรับแสงขนาด f2.4, ระบบโฟกัสอัตโนมัติแบบ PDAF, ระบบป้องกันการสั่นแบบ OIS และระบบซูม 2 เท่าแบบ Optical Zoom ส่วนการซูมแบบ Digital Zoom นั้นสามารถทำได้สูงสุด 10 เท่า และไฟแฟลชที่ติดตั้งมาให้นั้นเป็นแบบ High CRI LED ซึ่งมีความเที่ยงตรงของสีสูง

 

ซึ่งระบบโฟกัสอัตโนมัติแบบ Dual Pixel นั้นสามารถโฟกัสวัตถุได้อย่างรวดเร็วแม่นยำเป็นพิเศษ และยังรองรับระบบโฟกัสแบบติดตามวัตถุ หรือ Tracking Autofocus อีกด้วย

 

ระบบป้องกันการสั่นด้วยเลนส์บนกล้องของ Galaxy Z Fold3 เรียกว่า Dual OIS นั่นคือมีอยู่ทั้งในกล้อง Wide Angle และกล้อง Telephoto ดังนั้นจึงช่วยลดการสั่นไหวขณะถ่ายภาพ หรือถ่ายวิดีโอได้เป็นอย่างดีทั้งในระยะปกติ และระยะไกล

 

ฟีเจอร์เด่นอย่างหนึ่งที่ออกแบบมาเพื่อการใช้งานกล้องบน Galaxy Z Fold3 โดยเฉพาะก็คือ Capture View ซึ่งเป็นการแบ่งหน้าจอออกเป็น 2 ส่วน โดยฝั่งซ้ายจะเป็นหน้าจอสำหรับแสดงตัวอย่างภาพที่ถ่ายล่าสุด ส่วนที่ฝั่งขวาจะเป็นหน้าควบคุมการทำงานต่าง ๆ ของกล้อง ดังนั้นเราจึงสามารถเห็นผลลัพธ์ได้อย่างชัดเจนทันทีโดยที่ไม่ต้องกดเข้าไปดูภาพใหญ่อีกครั้ง

 

รวมทั้งเมื่อเราพับจอในแนวตั้ง ในรูปแบบของ Flex Mode กล้องก็จะเปลี่ยนมุมมองเป็นแบบ Capture View ให้เราโดยอัตโนมัติ

 

และหากเราใช้งานด้วย Flex Mode ด้วยการพับจอในแนวนอน หน้าจอของกล้องก็จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนบนคือจอพรีวิวภาพก่อนถ่าย และส่วนล่างคือแผงควบคุมกล้อง กับตัวอย่างภาพที่ถ่ายล่าสุด ซึ่งประโยชน์อีกอย่างก็คือเราสามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องถือเครื่องในแบบ Hands-free และใช้แทนขาตั้งกล้องได้ เช่นเมื่อต้องถ่ายภาพกลางคืน หรือถ่ายวิดีโอ

 

และที่พิเศษคือ เราสามารถสลับเอาจอพรีวิวภาพมาอยู่ที่ส่วนล่างได้ จึงช่วยให้การใช้งานสะดวกขึ้นมาก โดยเฉพาะในกรณีที่เราต้องตั้งกล้องถ่ายภาพในมุมสูงด้วยการพับจอให้กล้องเงยขึ้น แล้วยังสามารถมองเห็นจอพรีวิว าพไปด้วยได้ เช่นการถ่ายภาพท้องฟ้า, ถ่ายดาว, ถ่ายอาคารสูง, ถ่ายภาพกลางคืน และอื่น ๆ

 

ประโยชน์อีกอย่างของการใช้งานกล้องด้วย Flex Mode ก็คือเราสามารถใช้กล้องหลังเพื่อถ่ายเซลฟี่ตัวเอง หรือถ่ายกับกลุ่มเพื่อนได้อย่างง่ายดาย ด้วยคุณภาพสูงสุด เพราะเราสามารถกดเลือกให้กล้องพรีวิวภาพที่จอด้านนอกได้ เรียกว่าไม่มีใครหลุดเฟรมอย่างแน่นอน และการสั่งกดชัตเตอร์ก็ไม่ยาก เพียงแค่เรายกฝามือขึ้นมาให้กล้องเห็นเท่านั้น หรือจะสั่งงานด้วยเสียงก็ได้เช่นกัน

 

นอกจากนี้กล้องของ Galaxy Z Fold 3 ยังมาพร้อมกับฟีเจอร์เด่นอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Scene Optimizer สำหรับวิเคราะห์ฉาก แล้วตั้งค่ากล้องให้เหมาะสมโดยอัตโนมัติ, Shot Suggestions สำหรับช่วยแนะนำการจัดองค์ประกอบภาพ, โหมด Single Take ที่เรากดถ่ายเพียงแค่ครั้งเดียวก็จะได้ภาพ กับคลิปหลากหลายรูปแบบ, โหมด Pro ที่เราปรับตั้งค่ากล้องเองได้ พร้อมรองรับถ่ายภาพไฟล์ RAW, รองรับการบันทึกไฟล์ภาพแบบ HEIF ซึ่งมีคุณภาพดีกว่า ในขณะที่มีขนาดไฟล์เล็กกว่าราว 2 เท่า, ฟังก์ชัน Ultra Wide Shape Correction สำหรับจัดการกับความบิดเบี้ยวของ าพมุมกว้างให้โดยอัตโนมัติ

 

โหมด Director’s View ที่จะแสดงภาพจากกล้องทุกตัวพร้อม ๆ กัน ให้เราเป็นเหมือนผู้กำกับที่กำหนดมุมกล้องได้เอง, ฟังก์ชัน Auto HDR สำหรับช่วยจัดการกับรายละเอียดในส่วนที่มืด กับส่วนที่สว่างให้เหมาะสม, แอปพลิเคชัน AR Doodle สำหรับวาดกราฟิกต่าง ๆ แบบ 3 มิติลงไปพร้อมกับการถ่าย, แอปพลิเคชัน AR Emoji สำหรับสร้างตัวละคร 3 มิติในรูปแบบของเราเอง และแอปพลิเคชัน Deco PIC สำหรับการใส่หน้ากาก และสติกเกอร์ต่าง ๆ เข้าไปพร้อมกับการถ่าย

 

ส่วนการถ่ายวิดีโอนั้นสามารถถ่ายได้ที่ความละเอียดสูงสุดระดับ 4K UHD ที่ความเร็ว 60 fps รวมทั้งแบบ Slow Motion ที่ความละเอียดระดับ FHD ด้วยความเร็ว 240 fps และแบบ Super Slow Motion ที่ความละเอียดระดับ HD ด้วยความเร็ว 960 fps

 

รวมทั้งรองรับการบันทึกไฟล์แบบ HEVC ที่มีขนาดไฟล์เล็กกว่า ในขณะที่คุณภาพยังคงเดิม, รองรับการถ่ายวิดีโอแบบ HDR10+, มีระบบป้องกันการสั่นแบบ Super Steady ที่คล้ายกล้อง Action Camera และมีฟังก์ชัน Zoom-in Mic ที่ช่วยเพิ่ม-ลดระดับเสียงไปตามระยะการซูมของกล้อง

 

สำหรับกล้องเซลฟี่ที่จอด้านนอกนั้นก็ยังคงเป็นกล้องแบบเจาะรูตรงกลางตัวเดิมเช่นกัน นั่นคือเป็นกล้องความละเอียด 10 ล้านพิกเซล พร้อมเม็ดพิกเซลขนาด 1.22 ไมครอน, รูรับแสงขนาด f2.2, มุมรับภาพ 80 องศา และรองรับการถ่ายวิดีโอที่ความละเอียดสูงสุดระดับ 4K UHD ด้วยความเร็ว 30 fps

 

ส่วนกล้องอีกตัวก็คือนวัตกรรมล่าสุดอย่างกล้องซ่อนใต้หน้าจอ หรือ Under Display Camera ที่เราได้พูดถึงกันไปแล้วในตอนต้น ซึ่งอาจถ่ายใช้ถ่ายเซลฟี่ได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ดูรวม ๆ แล้ว น่าจะเหมาะกับการนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ด้านอื่นมากกว่า เช่นการสนทนาแบบ Video Call หรือประชุมออนไลน์ ส่วนถ่ายเซลฟี่ให้ได้สวยคมชัด แนะนำให้ใช้กล้องหน้า 10 ล้านพิกเซล หรือกล้องหลังแทน ยกเว้นกรณีที่จำเป็นต้องใช้กล้องซ่อนใต้หน้าจอถ่ายจริง ๆ เท่านั้นครับ

 

กล้องของ Galaxy Z Flip3 5G

มาในฝั่งของ Galaxy Z Flip3 กันบ้างครับ โดยกล้องถ่ายภาพทั้งหมดก็ยังคงยกชุดมาจาก Galaxy Z Flip รุ่นเดิม ทั้งกล้องหลังคู่ และกล้องหน้า ส่วนไฟแฟลชที่ติดตั้งมาให้นั้นเป็นแบบ High CRI LED ซึ่งมีความเที่ยงตรงของสีสูง ซึ่งแม้จะไม่ได้มีการอัปเกรดอะไร แต่เดิม ๆ ก็ใช้ถ่ายภาพทั่วไปได้ดีเยี่ยมอยู่แล้ว

 

โดยกล้องหลักด้านหลัง 2 ตัว ประกอบไปด้วย กล้อง Ultra Wide ความละเอียด 12 ล้านพิกเซล พร้อมรูรับแสงขนาด f2.2 และมุมรับภาพ 123 องศา

 

และกล้อง Wide Angle ความละเอียด 12 ล้านพิกเซล พร้อมรูรับแสงขนาด f1.8, ระบบโฟกัสอัตโนมัติแบบ Dual Pixel และระบบป้องกันการสั่นแบบ OIS

 

ซึ่งระบบโฟกัสอัตโนมัติแบบ Dual Pixel นั้นสามารถโฟกัสวัตถุได้อย่างรวดเร็วแม่นยำเป็นพิเศษ และยังรองรับระบบโฟกัสแบบติดตามวัตถุ หรือ Tracking Autofocus อีกด้วย

 

ด้านระบบป้องกันการสั่นแบบ OIS ที่มีอยู่ในกล้อง Wide Angle นั้นก็ช่วยลดการสั่นไหวขณะถ่ายภาพ หรือถ่ายวิดีโอได้เป็นอย่างดี

 

ที่น่าสนใจคือจอด้านนอกสามารถพรีวิวรูปภาพก่อนถ่ายได้ ด้วยฟังก์ชัน Dual Preview เพียงแต่เราจะเห็นรายละเอียดไม่ครบทั้งหมดเนื่องจากอัตราส่วนของจอจะกว้างมากกว่าปกตินั่นเอง

 

นอกจากนี้เรายังสามารถเปิดใช้งานกล้องได้ทันทีโดยไม่ต้องกางจอออกมาด้วยการกดปุ่ม Power ติด ๆ กัน 2 ครั้ง โดยจะมีการแสดงผลผ่านทางหน้าจอด้านนอกแทน พร้อมทั้งสามารถสไลด์ด้านซ้าย หรือด้านขวา เพื่อสลับระหว่างโหมดถ่ายภาพ กับโหมดถ่ายวิดีโอ และสามารถสไลด์ขึ้นบน หรือลงล่าง เพื่อสลับระหว่างกล้อง Wide Angle กับกล้อง Ultra Wide

 

และแน่นอนว่าเราสามารถใช้ประโยชน์ของ Flex Mode เพื่อถ่ายรูปโดยไม่ต้องถือเครื่อง หรือไม่ต้องใช้ขาตั้งกล้องได้ ในแบบ Hands-free ทั้งกล้องหน้า และกล้องหลัง  โดยเมื่อเราพับจอ กล้องก็จะแบ่งหน้าจอออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนบนที่เป็นจอพรีวิวภาพก่อนถ่าย กับส่วนล่างที่เป็นเครื่องมือต่าง ๆ สำหรับควบคุมการทำงานของกล้อง

 

แต่หากเราต้องการสลับจอพรีวิวภาพก่อนถ่ายให้มาอยู่ที่ด้านล่างแทนก็สามารถเลือกได้ ซึ่งจะเหมาะกับสถานการณ์ที่เราต้องพับกล้องเงยขึ้นเพื่อถ่ายภาพในมุมสูง รวมทั้งสามารถเลือกเปิดให้แสดงภาพพรีวิวที่หน้าจอด้านนอกด้วยได้ ส่วนการสั่งกดชัตเตอร์ เราก็แค่เพียงยกฝ่ามือขึ้นมาให้สัญญาณ หรือจะสั่งงานด้วยเสียงก็ได้เช่นกัน

 

ส่วนฟีเจอร์ หรือลูกเล่นอื่น ๆ ในกล้องของ Galaxy Z Flip3 ก็จะคล้ายกับของ Galaxy Z Fold3 ที่เราพูดถึงไปเมื่อสักครู่ ไม่ว่าจะเป็น Scene Optimizer, โหมด Single Take, การบันทึกไฟล์แบบ HEIF, โหมด Pro ที่รองรับถ่ายภาพไฟล์ RAW, โหมด Director’s View, ฟังก์ชัน Auto HDR, แอปพลิเคชัน AR Doodle, แอปพลิเคชัน AR Emoji และแอปพลิเคชัน Deco PIC

 

รวมทั้งคุณสมบัติด้านการถ่ายวิดีโอเช่นกัน ทั้งการถ่ายที่ความละเอียดสูงสุดระดับ 4K UHD ด้วยความเร็ว 60 fps, ถ่ายแบบ Slow Motion ที่ความละเอียดระดับ FHD ด้วยความเร็ว 240 fps, ถ่ายแบบ Super Slow Motion ที่ความละเอียดระดับ HD ด้วยความเร็ว 960 fps, การบันทึกไฟล์วิดีโอแบบ HEVC, รองรับการถ่ายวิดีโอแบบ HDR10+ และมีระบบป้องกันการสั่นแบบ Super Steady ส่วนฟังก์ชัน Zoom-in Mic ดูเหมือนจะมีอยู่ในเฉพาะ Galaxy Z Fold3 เท่านั้น

 

สำหรับกล้องหน้าของ Galaxy Z Flip3 นั้นมีความละเอียดอยู่ที่ 10 ล้านพิกเซล พร้อมเม็ดพิกเซลขนาด 1.22 ไมครอน, รูรับแสงขนาด f2.4, มุมรับภาพ 80 องศา และรองรับการถ่ายวิดีโอที่ความละเอียดสูงสุดระดับ 4K UHD ด้วยความเร็ว 30 fps

 

ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องของ Galaxy Z Fold3 5G

 

ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องของ Galaxy Z Flip3 5G

 

การใช้งานปากกา S Pen บน Galaxy Z Fold3 5G

แม้ปีนี้จะไม่มี Galaxy Note เปิดตัว แต่นั่นก็อาจจะไม่ใช่ปัญหา เพราะ Galaxy Z Fold3 รุ่นนี้เป็นสมาร์ทโฟนจอพับรุ่นแรกของโลกที่สามารถใช้งานร่วมกับปากกา S Pen เพื่อการขีดเขียนได้ แต่ด้วยคุณสมบัติของหน้าจอแบบพับได้ที่ไม่ได้มีความทนทานต่อการขีดเขียนเท่ากับหน้าจอปกติ ดังนั้นปากกา S Pen ที่นำมาใช้ก็ต้องเป็นรุ่นที่ออกแบบมาเฉพาะด้วยเช่นกัน ไม่สามารถนำปากกา S Pen ที่ใช้กับ Galaxy Note หรือ Galaxy S21 Ultra มาใช้งานได้

 

ซึ่งปากกา S Pen ที่ใช้กับ Galaxy Z Fold3 5G นั้นจะมีหัวปากกาที่มีความอ่อนนุ่มมากกว่า โดยจะมีอยู่ 2 รุ่นก็คือปากกา S Pen Fold Edition ที่ไม่มี Bluetooth และปากกา S Pen Pro ที่มี Bluetooth โดยรุ่น S Pen Pro นั้นจะเป็นรุ่นที่สูงกว่า มีขนาดใหญ่กว่า และมีฟีเจอร์ที่มากกว่า เช่นรองรับการสั่งงานด้วยท่าทางผ่านฟีเจอร์ Air Actions, หัวปากกาแบบ Pro tip, ไฟ LED แสดงสถานะการทำงาน, มีแบตเตอรี่ในตัว, ปุ่มสลับโหมดการทำงาน (โหมด S Pen กับโหมด Z Fold) และใช้งานได้กับทุกอุปกรณ์ที่รองรับ S Pen

 

อย่างไรก็ดีเรื่องของการพกพานั้นคงไม่สะดวกคล่องตัวเท่ากับ Galaxy Note เนื่องจากไม่มีช่องเก็บปากกาในตัว แต่เราก็สามารถนำเคสรุ่น Flip Cover with Pen ที่มีช่องเก็บปากกามาใช้งานได้ และอุปกรณ์เสริมทั้ง 2 ชิ้นนี้ไม่ได้มีแถมมาให้ในชุดจำหน่ายมาตรฐาน ต้องซื้อแยกเท่านั้น ส่วน Galaxy Z Flip3 ไม่รองรับปากกา S Pen ทุกประเภทครับ

 

ส่วนฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่รองรับการใช้งานร่วมกับปากกา S Pen ก็เรียกว่าถอดแบบมาจาก Galaxy Note เลยครับ ทั้ง Air Command, Air View, Live Message, Samsung Notes, Screen Off Memo, Smart Select, Screen Write, Translate, Bixby Vision, Glance, Magnify, PENUP, Coloring, Air Doodle และ Write on Calendar

 

ฮาร์ดแวร์ และระบบพื้นฐานของ Galaxy Z Fold3 | Flip3 5G

โดยเครื่อง Galaxy Z Fold3 5G ที่เราได้มาทดสอบนี้เป็นโมเดล SM-F926B/DS รุ่น RAM 12GB+ROM 256GB ส่วนเครื่อง Galaxy Z Flip3 5G ที่เราได้มานั้นเป็นโมเดล SM-F711B รุ่น RAM 8GB+ROM 128GB

 

เรื่องประสิทธิภาพด้านการประมวลผล ทั้ง Galaxy Z Fold3 5G และ Z Flip3 ก็นับว่าอยู่ในระดับท็อป ด้วยการเลือกใช้ชิปเซ็ตที่ดีที่สุดของค่าย Qualcomm อย่าง Snapdragon 888 ที่มากับหน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) Adreno 660 ผสานกับหน่วยความจำ RAM แบบ LPDDR5 และหน่วยความจำ ROM แบบ UFS 3.1 ดังนั้นทุกการใช้งานจึงเร็วแรงลื่นไหลไม่มีสะดุด ทั้งความบันเทิง, การทำงาน, การใช้งานหลายหน้าจอพร้อมกัน หรือแม้กระทั่งเกมที่มีกราฟิกระดับสูงก็ตาม

 

อย่างไรก็ดีชิปเซ็ต Snapdragon 888 แม้จะมีประสิทธิภาพด้านประมวลผลที่สูงมาก แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงมีปัญหาเรื่องความร้อนอยู่ โดยเฉพาะเวลาที่ต้องประมวลผลหนัก ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่นการเล่นเกมที่มีกราฟิกสูง ๆ หรือเปิดใช้งานกล้องนาน ๆ แต่อย่างน้อยก็ยังใช้งานได้ราบรื่น ไม่ถึงขั้นทำให้เครื่องค้าง หรือหยุดการทำงานแต่อย่างใด

 

โดยทั้งหมดนี้ทำงานอยู่บนระบบปฏิบัติการ Android 11 ซึ่งถูกครอบทับด้วย One UI 3.1.1

 

แบตเตอรี่ของ Galaxy Z Fold3 | Flip3 5G

ในเรื่องของแบตเตอรี่ สำหรับ Galaxy Z Fold3 นั้นมีความจุลดลงเล็กน้อยเหลือ 4400 mAh จากเดิม 4500 mAh ซึ่งโดยรวมแล้วเรื่องความอึดไม่ได้รู้สึกว่าแตกต่างจากรุ่นเดิม นั่นคืออยู่ในระดับปานกลาง อาจไม่ถึงกับอึด แต่ก็ไม่ได้หมดเร็วกว่าที่ควรจะเป็น สามารถใช้งานได้ยาวนานตลอดวัน และยังคงมี AI หรือ Machine Learning ที่คอยเรียนรู้พฤติกรรมการใช้งานอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะช่วยปรับจูนการใช้พลังงานให้เหมาะสมขึ้นเรื่อย ๆ นั่นคือเมื่อเราใช้งานไปพักหนึ่ง แบตเตอรี่ก็จะใช้งานได้ยาวนานขึ้นนั่นเอง

 

ส่วนเทคโนโลยีการชาร์จแบตเตอรี่ความเร็วสูงก็มีทั้งแบบ 25W Fast Charging และ 10W Fast Wireless Charging รวมทั้งมีฟีเจอร์ Wireless PowerShare หรือ 4.5W Reverse Wireless Charging ให้ใช้งานอีกด้วย

 

ในด้านของ Galaxy Z Flip3 ยังคงมีแบตเตอรี่ความจุเท่าเดิมที่ 3300 mAh ซึ่งแม้จะเป็นความจุที่ไม่มากนัก และไม่ถึงกับอึด แต่ก็สามารถใช้งานได้นานตลอดวัน เรียกว่าอยู่ในระดับปานกลาง รวมทั้งมี AI หรือ Machine Learning ที่คอยเรียนรู้พฤติกรรมการใช้งานเพื่อปรับจูนการใช้พลังงานเช่นเดียวกับ Galaxy Z Fold3

 

ส่วนเทคโนโลยีการชาร์จแบตเตอรี่ความเร็วสูงก็มีทั้งแบบ 15W Fast Charging และ 10W Fast Wireless Charging รวมทั้งสามารถแชร์พลังงานให้กับอุปกรณ์อื่นได้ด้วย Wireless PowerShare หรือ 4.5W Reverse Wireless Charging

 

อย่างไรก็ดีในชุดจำหน่ายมาตรฐานของทั้ง Galaxy Z Fold3 และ Z Flip3 ไม่ได้แถมอะแดปเตอร์ชาร์จแบตเตอรี่มาให้ด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายสำหรับหลายคน แต่นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ทาง Samsung ผลักดันมาได้ระยะหนึ่งแล้ว

 

ทดสอบประสิทธิภาพในด้านต่าง ๆ ของ Galaxy Z Fold3 | Flip3 5G

เมื่อทดสอบประสิทธิภาพของการทำงานโดยรวมของ Galaxy Z Fold3 ด้วยแอปพลิเคชัน AnTuTu Benchmark ก็พบว่าทำคะแนนรวมได้ 774,255 คะแนน โดยแบ่งเป็นคะแนนในแต่ละส่วนดังนี้

 

เมื่อทดสอบประสิทธิภาพของการทำงานโดยรวมของ Galaxy Z Flip3 ด้วยแอปพลิเคชัน AnTuTu Benchmark ก็พบว่าทำคะแนนรวมได้ 729,974 คะแนน โดยแบ่งเป็นคะแนนในแต่ละส่วนดังนี้

 

ซึ่งก็ถือว่ามีคะแนนอยู่ในระดับหัวแถวของบรรดาสมาร์ทโฟนในตลาดปัจจุบัน

 

เมื่อทดสอบประสิทธิภาพด้านการทำงานโดยรวมของ Galaxy Z Fold3 ด้วยแอปพลิเคชัน PCMark ก็พบว่าได้คะแนนรวมอยู่ที่ 14,530 คะแนน โดยแบ่งเป็นคะแนนในแต่ละส่วนดังนี้

 

เมื่อทดสอบประสิทธิภาพด้านการทำงานโดยรวมของ Galaxy Z Flip3 ด้วยแอปพลิเคชัน PCMark ก็พบว่าได้คะแนนรวมอยู่ที่ 12,920 คะแนน โดยแบ่งเป็นคะแนนในแต่ละส่วนดังนี้

 

เมื่อทดสอบประสิทธิภาพด้านการประมวลผลของ Galaxy Z Fold3 ด้วยแอปพลิเคชัน Geekbench 5 ก็พบว่าสามารถทำคะแนนในส่วนของการประมวลผลแบบ Single-Core ได้ที่ 1,102 คะแนน และทำคะแนนในส่วนของการประมวลผลแบบ Multi-Core ได้ที่ 3,339 คะแนน

 

เมื่อทดสอบประสิทธิภาพด้านการประมวลผลของ Galaxy Z Flip3 ด้วยแอปพลิเคชัน Geekbench 5 ก็พบว่าสามารถทำคะแนนในส่วนของการประมวลผลแบบ Single-Core ได้ที่ 598 คะแนน และทำคะแนนในส่วนของการประมวลผลแบบ Multi-Core ได้ที่ 2,318 คะแนน

 

เมื่อทดสอบประสิทธิภาพด้านการประมวลผลกราฟิกของ Galaxy Z Fold3 ด้วยแอปพลิเคชัน 3DMark ในฉาก Wild Life Extreme ก็พบว่าได้คะแนนรวมอยู่ที่ 1,476 คะแนน และได้คะแนนในฉาก Sling Shot Extreme ที่ 6,145 คะแนน

 

เมื่อทดสอบประสิทธิภาพด้านการประมวลผลกราฟิกของ Galaxy Z Flip3 ด้วยแอปพลิเคชัน 3DMark ในฉาก Wild Life Extreme ก็พบว่าได้คะแนนรวมอยู่ที่ 1,313 คะแนน และได้คะแนนในฉาก Wild Life ที่ 3,960 คะแนน

 

เมื่อทดสอบประสิทธิภาพของที่จัดเก็บข้อมูลภายใน หรือ ROM ของ Galaxy Z Fold3 ด้วยแอปพลิเคชัน AnTuTu Benchmark ก็พบว่าได้คะแนนรวมอยู่ที่ 62,366 คะแนน โดยมีความเร็วในส่วนของ Sequence Read ที่ 1999.1 MB/s และความเร็วในส่วนของ Sequence Write ที่ 799.9 MB/s รวมทั้งเมื่อทดสอบด้วยแอพลิเคชัน AndroBench ก็พบว่าได้ความเร็วอยู่ในระดับเดียวกัน ซึ่งความเร็วระดับนี้ก็คือความเร็วตามมาตรฐาน UFS 3.1 นั่นเอง

 

เมื่อทดสอบประสิทธิภาพของที่จัดเก็บข้อมูลภายใน หรือ ROM ของ Galaxy Z Flip3 ด้วยแอปพลิเคชัน AnTuTu Benchmark ก็พบว่าได้คะแนนรวมอยู่ที่ 51,072 คะแนน โดยมีความเร็วในส่วนของ Sequence Read ที่ 1666.9 MB/s และความเร็วในส่วนของ Sequence Write ที่ 749.3 MB/s รวมทั้งเมื่อทดสอบด้วยแอพลิเคชัน AndroBench ก็พบว่าได้ความเร็วอยู่ในระดับเดียวกัน ซึ่งความเร็วระดับนี้ก็คือความเร็วตามมาตรฐาน UFS 3.1 นั่นเอง

 

เทคโนโลยีด้านการเชื่อมต่อของ Galaxy Z Fold3 | Flip3 5G

สำหรับคุณสมบัติด้านการเชื่อมต่อของ Galaxy Z Fold3 กับ Z Flip3 ก็ใส่มาให้แบบจัดเต็มครับ เริ่มที่การรองรับเครือข่าย 5G ทั้งแบบ Non-Standalone และ Standalone รวมทั้งรองรับคลื่นความถี่ทั้งแบบ Sub6 และ mmWave ส่วนเครือข่าย 4G LTE สามารถรองรับได้ถึงมาตรฐาน Cat.20 หรือที่ความเร็วดาวน์โหลดสูงสุด 2.0 Gbps และรองรับเทคโนโลยี Wi-Fi 6 ส่วนการสแตนด์บายบนเครือข่าย 5G จะเลือกใช้ได้คราวละซิมเดียว ส่วนอีกซิมจะสลับไปสแตนด์บายบนเครือข่าย 4G LTE แทน

 

นอกจากนี้ก็ยังมีเทคโนโลยีการเชื่อมต่อแบบ Bluetooth 5.2 ใน Galaxy Z Fold3, Bluetooth 5.1 ใน Galaxy Z Flip3 และ NFC แต่สำหรับบริการ Samsung Pay เท่าที่ลองติดตั้งแอปพลิเคชันในเครื่องทดสอบ 2 เครื่องนี้ ก็พบว่ายังไม่รองรับ แต่ในเครื่องที่วางจำหน่ายจริงจะรองรับหรือไม่ ก็คงต้องลองทดสอบกันอีกครั้งหนึ่ง แต่ที่แน่นอนแล้วคือ Samsung Pay จะให้บริการวันสุดท้ายคือ 31 ธันวาคม 2564 ที่กำลังจะถึงนี้ครับ

 

ส่วนการระบุตำแหน่ง หรือการนำทาง ก็รองรับระบบดาวเทียมหลัก ๆ ของโลกได้ครบทั้ง GPS, A-GPS, Galileo, Glonass และ BeiDou ซึ่งโดยรวมก็สามารถจับสัญญาณได้ดีตามมาตรฐาน

 

สุดท้ายการเชื่อมต่อใช้งานแบบเครื่องเดสก์ท็อปผ่านทาง Samsung DeX จะรองรับเฉพาะใน Galaxy Z Fold3 เท่านั้น ส่วน Galaxy Z Flip3 ไม่รองรับครับ

 

Bixby ผู้ช่วยอัจฉริยะ

ฟีเจอร์ที่มีประโยชน์อีกอย่างก็คือผู้ช่วยอัจฉริยะที่เราคุ้นเคยกันดีนามว่า Bixby ซึ่งแม้จะยังไม่รองรับการพูดสั่งงานด้วยภาษาไทย แต่หากเรารู้จักประโยคภาษาอังกฤษพื้นฐานอยู่บ้างก็สามารถใช้งานได้แล้ว โดยมีตัวอย่างของประโยคที่ใช้บ่อย ๆ ให้เราได้ทำความคุ้นเคยกันก่อน

 

นอกจากนี้ยังมี Bixby Routines สำหรับสร้างชุดคำสั่งแบบอัตโนมัติตามที่เราต้องการ เช่นเมื่อถึงเวลากลางคืนเราต้องการให้เครื่องทำอะไร เราก็กำหนดไว้ล่วงหน้าได้ทันที

 

อีกอย่างก็คือ Bixby Vision ที่เราเพียงแค่นำกล้องส่องไปยังสิ่งที่สนใจ เราก็จะทราบข้อมูลของสิ่งนั้นได้ทันที ทั้งไวน์, การแปลภาษา, การค้นหาข้อมูล, การช้อปปิ้ง และ QR Code

 

ราคา และการวางจำหน่ายของ Galaxy Z Fold3 | Flip3 5G

สุดท้ายสำหรับราคาจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทยของ Galaxy Z Fold3 และ Z Flip3 ก็จะถูกแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 รุ่นย่อย ดังรายละเอียดต่อไปนี้ครับ

 

เริ่มที่ Galaxy Z Fold3 จะมีตัวเลือก 3 สี ได้แก่ สีดำ Phantom Black, สีเขียว Phantom Green และสีเงิน Phantom Silver โดยแบ่งออกเป็น 2 รุ่นย่อย ได้แก่รุ่น RAM 12GB+ROM 256GB ในราคา 57,900 บาท และรุ่น RAM 12GB+ROM 512GB ในราคา 61,900 บาท ส่วน Galaxy Z Flip3 จะมีตัวเลือก 4 สีมาตรฐาน ได้แก่ สีครีม (Cream), สีเขียว (Green), สีม่วงลาเวนเดอร์ (Lavender) และสีดำ Phantom Black กับอีก 3 สีพิเศษแบบ Exclusive ที่จำหน่ายเฉพาะใน Samsung.com เท่านั้น ได้แก่สี Gray, White และ Pink โดยแบ่งออกเป็น 2 รุ่นย่อย ได้แก่รุ่น RAM 8GB+ROM 128GB ในราคา 34,900 บาท และรุ่น RAM 8GB+ROM 256GB ในราคา 36,900 บาท โดยจะเห็นว่าคราวนี้มีตัวเลือกที่ความจุ 128GB เพิ่มเข้ามาด้วย ซึ่งก็น่าจะช่วยให้หลายคนตัดสินใจจับจองเป็นเจ้าของได้ได้ง่ายขึ้นครับ

 

สรุปผลการทดสอบของ Galaxy Z Fold3 | Flip3 5G

และที่ผ่านไปข้างต้นก็คือความสามารถเด่น ๆ ทั้งหมดของ Galaxy Z Fold3 5G และ Z Flip3 5G ครับ ซึ่งแน่นอนว่าด้วยคุณสมบัติระดับนี้ เราสามารถนำไปใช้งานเป็นสมาร์ทโฟนเครื่องหลักได้แบบสบาย ๆ โดยในด้านของ Z Fold3 นั้นเหมาะกับผู้ที่ต้องการใช้งานแบบจริงจัง เหมือนได้ทั้งสมาร์ทโฟน กับแท็บเล็ตในเครื่องเดียว ส่วน Z Flip3 นั้นเหมาะกับผู้ที่ต้องการความคล่องตัว หรือความเป็นแฟชั่น เรียกว่าทั้ง 2 รุ่นนี้ไม่ได้เป็นแค่สมาร์ทโฟนเท่านั้น แต่เป็นเหมือนอุปกรณ์ข้างกายที่ช่วยเสริมภาพลักษณ์ของเราได้ด้วย อย่างไรก็ดีสมาร์ทโฟนจอพับนั้นอาจไม่ได้เหมาะกับทุกคน รวมทั้งยังมีราคาที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นก็ขอแนะนำให้ศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อนะครับ สุดท้ายนี้ก็ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามชม หากชอบคลิปนี้ก็อย่าลืมกด Like, กด Share และกด Subscribe กันไว้นะครับ แล้วพบกันได้ใหม่ในโอกาสหน้า สวัสดีครับ

 

สรุปคุณสมบัติของ Galaxy Z Fold3 | Flip3 5G

ท่านสามารถตรวจสอบคุณสมบัติ (สเปก) โดยละเอียด และราคา ของ Samsung Galaxy Z Fold3 | Z Flip3 5G ได้โดยการคลิกที่ลิงก์ด้านล่างนี้

สรุปคุณสมบัติ (สเปก) และราคา ของ Samsung Galaxy Z Fold3 5G 12GB+256GB
สรุปคุณสมบัติ (สเปก) และราคา ของ Samsung Galaxy Z Fold3 5G 12GB+512GB

สรุปคุณสมบัติ (สเปก) และราคา ของ Samsung Galaxy Z Flip3 5G 8GB+128GB

สรุปคุณสมบัติ (สเปก) และราคา ของ Samsung Galaxy Z Flip3 5G 8GB+256GB

 

โปรดทราบ

โทรศัพท์มือถือที่ท่านเห็นในบทความรีวิวนี้เป็นเพียงเครื่องทดสอบจากทางผู้ผลิต เพราะฉะนั้นคุณสมบัติบางอย่างอาจมีความแตกต่างจากเครื่องที่วางจำหน่ายจริงบ้างไม่มากก็น้อย รวมถึงจุดด้อยบางประการที่พบในเครื่องทดสอบ อาจจะถูกแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นในเครื่องที่วางจำหน่ายจริง ดังนั้นหากท่านสนใจซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นนี้ ควรตรวจสอบ หรือทดลองใช้งานสินค้าด้วยตนเองอีกครั้งหนึ่ง *

 

 

วันที่ : 11/09/2021

Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy