รีวิว (Review) Motorola One Vision
สมาร์ทโฟน Android One ตัวคุ้มรุ่นใหม่ กล้องเยี่ยม จอกว้างพิเศษ ฟีเจอร์มาเต็ม ในราคาไม่ถึงหมื่น ด้วยกล้องหลังคู่ Quad Pixel เซ็นเซอร์ 48MP พร้อมระบบกันสั่น OIS, กล้องหน้า Quad Pixel เซ็นเซอร์ 25MP, จอ CinemaVision กว้างพิเศษแบบ Ultra Wide, แบตเตอรี่ TurboPower 3500 mAh และหน่วยความจำ UFS จุใจ 128GB บนบอดี้กระจกขอบโค้งไล่เฉดสีที่ไม่กลัวน้ำ ในราคาเพียง 9,990 บาท
10 มิถุนายน 2019 - ช่วงนี้นับเป็นจังหวะที่เหมาะมากๆ สำหรับผู้ที่กำลังมองหาสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ที่มีฟีเจอร์ดีๆ สักเครื่อง ในราคาที่คุ้มค่า ซึ่งในตอนนี้ก็มีให้เลือกมากมายหลายต่อหลายรุ่น โดยเฉพาะในช่วงราคาไม่เกิน 10,000 บาท แต่ท่ามกลางสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่เหล่านี้ ก็มีสมาร์ทโฟนอีกรุ่นหนึ่งที่มีความสามารถน่าสนใจเป็นพิเศษ, ฟีเจอร์ดีคุ้มค่า และน่าจะเอามาเป็นตัวเลือกแรกๆ นั่นก็คือ Motorola One Vision ที่เราจะนำมารีวิวให้ชมกันในวันนี้ครับ
Motorola One Vision เป็นสมาร์ทโฟนในโครงการ Android One ตัวที่ 2 ของ Motorola (ตัวแรกคือ Motorola One) ซึ่งมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Android 9 Pie แท้ๆ ไม่มี Custom UI ครอบทับ จึงทำให้มีหน้าตาการใช้งานที่เรียบง่าย และไม่มีเอฟเฟกต์ หรือแอปพลิเคชันเกินจำเป็นมาทำให้หนักเครื่อง และยังเป็นสมาร์ทโฟนที่มีหน้าจออัตราส่วนแบบ 21:9 รุ่นแรกที่วางจำหน่ายในบ้านเราอีกด้วย
จุดขายสำคัญของสมาร์ทโฟนรุ่นนี้ คือกล้องหลังคู่ (Dual-Camera) เซ็นเซอร์ 48+5 ล้านพิกเซล พร้อมเทคโนโลยี Quad Pixel ที่มีโหมด Portrait เวอร์ชันอัปเกรด และโหมดถ่ายภาพกลางคืน Night Vision จับคู่มากับกล้องหน้าเซ็นเซอร์ 25 ล้านพิกเซล พร้อมเทคโนโลยี Quad Pixel เช่นเดียวกับกล้องหลัง และที่สำคัญคือกล้องหลังนั้นมาพร้อมกับระบบป้องกันการสั่นแบบ OIS (Optical Image Stabilization) ซึ่งหาได้ยากมากในกลุ่มสมาร์ทโฟนราคาไม่เกิน 10,000 บาท
สำหรับสเปกของ Motorola One Vision นั้น นับว่าน่าสนใจ และมีการอัปเกรดจากรุ่นก่อนอย่างมากทีเดียว โดยมากับหน้าจอ CinemaVision ขนาด 6.3 นิ้ว แบบเจาะรูกล้องหน้า (Punchhole) ความละเอียดระดับ FHD+ (2520x1080 พิกเซล) ที่มีอัตราส่วนกว้างพิเศษแบบ 21:9 พร้อมประมวลผลการทำงานด้วยชิปเซ็ตเจเนอเรชันใหม่อย่าง Exynos 9609 แบบ 8 แกน ความเร็วสูงสุด 2.2 GHz ที่มากับหน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) Mali-G72 MP3 , หน่วยความจำ (RAM) ขนาด 4 GB และหน่วยความจำภายใน (ROM) แบบ UFS ขนาดจุใจที่ 128 GB จึงรองรับการใช้งานทุกประเภทได้อย่างลื่นไหล ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน, ถ่ายรูป หรือเล่นเกม ขณะเดียวกันตัวเครื่องยังมีแบตเตอรี่ความจุ 3500 mAh ที่รองรับการชาร์จเร็วได้ด้วยเทคโนโลยี TurboPower, หน่วยความจำเสริมแบบ microSD Card สูงสุด 512GB และรองรับการใช้งาน 2 ซิมการ์ด (Dual-SIM) บวกกับตัวเครื่องที่โค้งมนสวยงาม
ด้วยความเรียบง่ายของ Pure Android ประกอบกับคุณสมบัติที่โดดเด่นข้างต้น ทำให้ Motorola One Vision เป็นสมาร์ทโฟนที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ณ ชั่วโมงนี้ โดยเฉพาะสำหรับท่านที่ชอบระบบปฏิบัติการ Pure Android และชอบการถ่ายภาพ เพื่อไม่ให้เสียเวลาเราไปชม รีวิว Motorola One Vision โดยทีมงาน Thaimobilecenter กันได้เลยครับ
รูปลักษณ์ภายนอกตัวเครื่อง และการออกแบบดีไซน์
Motorola One Vision เป็นสมาร์ทโฟนที่ใช้หน้าจอแสดงผลอัตราส่วน 21:9 ต่างจากสมาร์ทโฟนทั่วไปที่มักจะเป็น 18:9 หรือ 19:9 ทำให้หน้าจอดูยาวเป็นพิเศษ ขอบจอด้านบนไม่มีรอยบากใดๆ ยื่นเข้ามา โดยกล้องหน้าจะฝังอยู่ใต้หน้าจอบริเวณมุมซ้ายบนแทน หรือที่เรียกกันว่าดีไซน์แบบ Punchhole สำหรับจอแสดงผลเป็น LTPS IPS ขนาด 6.3 นิ้ว มีความละเอียด 1080 x 2520 พิกเซล (FHD+)
- กล้องหน้าที่มุมซ้ายบนของหน้าจอใช้เซ็นเซอร์ 25 ล้านพิกเซล พร้อมรูรับแสงกว้าง f/2.0 และเทคโนโลยี Quad Pixel เช่นเดียวกับกล้องหลัง แต่รูอาจดูค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟนบางรุ่นที่มีกล้องหน้าแบบ Punchhole เหมือนกัน
ตัวเครื่องด้านหลังมีการไล่เฉดสีที่ดูแปลกไป จากสมาร์ทโฟนทั่วไป โดยจะไล่เฉดสีจากด้านข้างเข้ามากลางตัวเครื่อง ครอบทับด้วยกระจกขอบโค้ง 4D Corning Gorilla Glass เพิ่มความแวววาว มุมซ้ายบนเป็นกล้องคู่ (Dual Camera) เซ็นเซอร์ 48+5 ล้านพิกเซล พร้อมไฟแฟลช LED และเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือสกรีนโลโก้ Motorola ด้านล่างสกรีนโลโก้ Android One ซึ่งเครื่องที่นำมารีวิวให้ชมกันในครั้งนี้เป็นสีน้ำตาล Bronze ครับ
กล้องด้านหลังเป็นจุดหนึ่งที่อัปเกรดขึ้นมาจากรุ่นก่อนอย่างมาก โดยเป็นกล้องคู่เซ็นเซอร์ 48+5 ล้านพิกเซล รูรับแสงกว้าง f/1.7+f/2.2 โดยกล้องตัวที่สองเป็น Depth Sensor สำหรับตรวจจับความลึก ส่วนเซ็นเซอร์รับภาพตัวหลักมีเทคโนโลยีที่เรียกว่า Quad Pixel ที่รับแสงได้มากเป็น 4 เท่า และที่สำคัญคือมีระบบป้องกันการสั่นแบบ OIS ติดตั้งมาให้ด้วย ซึ่งหาได้ยากในสมาร์ทโฟนราคาหลักพัน
- ขอบเครื่องทั้ง 4 ด้านโค้งมนรับกับอุ้งมือ โดยด้านซ้ายมีถาดใส่ซิมการ์ด ส่วนด้านขวามีปุ่ม Power (ปุ่มสั้น) และปุ่มปรับระดับเสียง (ปุ่มยาว)
- ด้านบนตัวเครื่องมีช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร และไมโครโฟนตัดเสียงรบกวน ส่วนด้านล่างมีช่องลำโพงเสียงภายนอก, พอร์ต USB Type-C และไมโครโฟนตัวหลัก
- Motorola One Vision มีถาดใส่ซิมการ์ดแบบ Hybrid Slot สามารถใส่ซิมการ์ดแบบ nanoSIM ได้พร้อมกัน 2 ซิมการ์ด หรือเลือกใส่ซิมการ์ดคู่กับหน่วยความจำ microSD (สูงสุด 512GB) อย่างใดอย่างหนึ่ง
- นอกจากตัวเครื่องแล้ว ภายในกล่องยังมีเคสซิลิโคนแบบใส, ฟิล์มกันรอยหน้าจอ, อแดปเตอร์, สาย USB Type-C, หูฟัง และเข็มดันถาดใส่ซิมมาให้ด้วย
เปิดเครื่อง พร้อมทดสอบการใช้งานด้านซอฟต์แวร์
- Motorola One Vision เป็นสมาร์ทโฟนในโครงการ Android One จึงมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Android 9 Pie แบบดั้งเดิม ไม่มีการครอบด้วย Custom UI ใดๆ จึงมีหน้า UI ที่สะอาด เรียบง่าย ซึ่งถือเป็นจุดเด่นสำคัญของสมาร์ทโฟนในซีรีส์ Moto One และที่สำคัญ สมาร์โฟนในโครงการนี้จะได้รับอัปเดตเวอร์ชัน Android ไปอีกอย่างน้อย 2 ปี จึงมั่นใจได้ว่าจะได้ใช้ Android แบบสดใหม่อย่างแน่นอนครับ
- เมื่อปัดนิ้วจากด้านบนลงมาจะเป็นการเปิดดูแถบแจ้งเตือน และเมนูทางลัด ซึ่งมีทางลัดสำหรับการตั้งค่าที่ใช้บ่อยๆ เช่น Wi-Fi, โหมดเงียบ, Bluetooth, ไฟฉาย เป็นต้น เมื่อปัดลงมาอีกครั้งจะเป็นการขยายแถบเมนูทางลัด และเปิดแถบปรับระดับความสว่างของหน้าจอ
-
เมื่อปัดนิ้วบนหน้าจอหลักไปทางซ้าย
จะแสดงรายการแอปพลิเคชันทั้งหมดที่ติดตั้งไว้ในตัวเครื่อง
หรือเลือกเปิดลิ้นชัก (App Drawer)
ด้วยการปัดขอบจอด้านล่างขึ้นด้านบนเพื่อดูรายการแอปพลิเคชันทั้งหมดในที่เดียวก็ได้
เช่นกัน
- หากกดค้างบนที่ว่างในหน้าจอหลักสักครู่หนึ่ง จะปรากฏเมนูการปรับแต่งหน้าจอขึ้นมา
- ในเมนู การตั้งค่าหน้าแรก จะมีตัวเลือกให้ปรับแต่งหน้าจอหลักหลายอย่าง เช่น เปลี่ยนรูปทรงไอคอนแอป, แสดง/ซ่อนแอป Google หรือ เปิด/ปิดการเพิ่มไอคอนแอปลงในหน้าจอหลักโดยอัตโนมัติหลังติดตั้ง เป็นต้น
- และเรายังเปลี่ยนภาพวอลเปเปอร์ด้วยภาพที่มีอยู่ในเครื่อง รวมไปถึงเพิ่มวิดเจ็ตๆ ต่างๆ ขึ้นไปบนหน้าจอหลักได้
-
สำหรับผู้ที่ชอบเล่นสมาร์ทโฟนในเวลากลางคืน Motorola One Vision
มีฟังก์ชัน แสงตอนกลางคืน ที่จะช่วยตัดแสงสีฟ้าบนหน้าจอ
และปรับโทนสีให้ดูอุ่นขึ้น
เพื่อลดความเมื่อยล้าของดวงตาเมื่อใช้งานในที่มืด
โดยเราสามารถเลือกปรับความเข้มของโทนสีได้ตามใจชอบ
และยังตั้งเวลาให้เปิดใช้งานโดยอัตโนมัติได้อีกด้วย
คุณสมบัติเฉพาะของสมาร์ทโฟน Motorola คือฟีเจอร์ Moto Actions
ที่ช่วยให้เราใช้ท่าทางบางอย่างเพื่อเรียกใช้งานบางฟังก์ชันได้อย่างรวดเร็วโดยไม่
ต้องปลดล็อกตัวเครื่อง เช่น พลิกข้อมือ 2 ครั้งเพื่อเปิดใช้งานกล้อง
หรือเขย่าตัวเครื่อง 2 ครั้งเพื่อเปิดไฟฉายทันที เป็นต้น
- ส่วน Moto Display เป็นฟีเจอร์อัจฉริยะที่จะตรวจจับว่า เรากำลังมองหน้าจออย่หรือไม่ หากเรามองอยู่หน้าจอจะไม่หรี่แสง และจะไม่ดับเองโดยอัตโนมัติ ช่วยลดความรำคาญขณะเล่นเกม หรือดูหนังได้ดี
- ฟังก์ชันสำคัญอย่างการโทรมี UI ที่เรียบง่ายสะอาดตาตามสไตล์ของ Pure Android ตัวเลขมีขนาดใหญ่กำลังดี มองเห็นง่าย กดได้สะดวก
- เราสามารถดูสถิติการใช้แบตเตอรี่ได้ว่าใช้ไปแล้วเท่าไหร่ และเหลือเวลาการใช้งานอีกประมาณกี่ชั่วโมง หากต้องการยืดเวลาการใช้งานออกไปอีก ก็เลือกเปิด โหมดประหยัด พลังงาน ในหน้าเมนูนี้ได้เช่นกัน
- เมื่อกดที่ปุ่มนำทางด้านล่างพร้อมกับลากขึ้นไปด้านบน จะเข้าสู่เมนูสลับแอป ซึ่งเราสามารถเลือกสลับการทำงานไปยังแอปพลิเคชันอื่นที่เปิดเอาไว้ได้ นอกจากนี้ หากกดที่ไอคอนของแอปพลิเคชันดังภาพตัวอย่าง จะมีตัวเลือก แยกหน้าจอ ปรากฏขึ้น ซึ่งทำให้เราเปิดแอปพลิเคชันนั้น พร้อมกับแอปพลิเคชันอื่นได้ด้วยการแบ่งจอออกเป็นสองส่วน (แต่บางแอปพลิเคชันจะไม่รองรับฟีเจอร์นี้)
- ใช้งานโหมดแยกหน้าจอได้ทั้งในแนวตั้ง และแนวนอน
- Motorola One Vision มีระบบเสียง Dolby Audio สำหรับการจูนเสียงให้สมจริงยิ่งขึ้น โดยเราสามารถเข้าไปปรับได้ในแถบเมนูทางลัด
- ในส่วนของเมนู ไลฟ์สไตล์ดิจิทัล จะแสดงระยะเวลาการใช้งานโทรศัพท์ในแต่ละวัน พร้อมกราฟเปรียบเทียบรายสัปดาห์ ซึ่งจะทำให้เราทราบได้ว่าเราใช้เวลากับสมาร์ทโฟนในแต่ละวันมากเกินไปหรือไม่ หากต้องการควบคุมเวลาการใช้งาน ก็สามารถจำกัดระยะเวลาการใช้งานของแต่ละแอปพลิเคชันได้ โดยแอปจะถูกปิดลงเมื่อใช้งานจนครบกำหนดเวลา และจะเปิดได้ใหม่ในวันรุ่งขึ้น หรือยกเลิกการตั้งเวลา
- สำหรับการดู และจัดการไฟล์ในเครื่อง สามารถทำได้ผ่านแอปพลิเคชัน Files ซึ่งติดตั้งมาให้แล้ว ตัวแอปมีฟังก์ชันการทำความสะอาดไฟล์ขยะ และแนะนำการลบไฟล์ที่ไม่จำเป็น เช่น รูปภาพที่ Backup ไว้บน Google Photos แล้ว เพื่อเพิ่มพิ้นที่ให้กับหน่วยความจำในตัวเครื่องด้วย
ในเมนู เรียกดู จะแสดงไฟล์ที่เก็บไว้ในเครื่องโดยแบ่งเป็นหมวดหมู่ชัดเจน พร้อมกับแสดงโฟลเดอร์ที่เราเปิดดูล่าสุด
การจัดการรูปภาพจะใช้แอป Google Photos เป็นหลัก ซึ่งมีฟังก์ชันการปรับแต่งหลายอย่าง เช่นใส่ฟิลเตอร์ ปรับแสงเงา คร็อปตัด ปรับเอียง และสำหรับภาพที่ถ่ายด้วยโหมด Portrait จะปรับความเบลอและโฟกัสภายหลังได้ด้วย
อีกหนึ่งฟังก์ชันที่น่าสนใจของ Google Photos คือ การอัปโหลดรูปถ่าย และวิดีโอขึ้นไปบน Cloud ของ Google Photos โดยอัตโนมัติ ทำให้เปิดดูจากอุปกรณ์อื่นได้ทุกที่ ทุกเวลา และยังเป็นการ Backup ไปในตัวอีกด้วย
สำหรับฟีเจอร์ ผู้ช่วย ของ Google Photos เป็นเครื่องมือพิเศษที่ช่วยให้เราจัดอัลบั้มภาพ, สร้างวิดีโอ, นำภาพมาต่อกัน หรือสร้างภาพเคลื่อนไหวตระกูล GIF ได้อย่างรวดเร็ว และง่ายดาย เรียกว่าเป็นลูกเล่นสารพัดประโยชน์ก็ว่าได้
ตัวอย่างการนำภาพมาต่อกัน (คอลลาจ) ซึ่งแอปจะแบ่งช่อง และจัดวางรูปภาพให้เราโดยอัตโนมัติตามจำนวนภาพ ส่วนการสร้างวิดีโอ จะเป็นการนำภาพนิ่ง หรือวิดีโอมาต่อกันเป็นไฟล์เดียว โดยมีดนตรีประกอบขณะเล่น ซึ่งเราสามารถเลือกภาพ วิดีโอ และเพลงได้ตามใจ
-
การฟังเพลงบน Motorola One Vision จะใช้แอปพลิเคชันพื้นฐานเป็น Google
Music ซึ่งไม่มีลูกเล่นอะไรนอกจากการใช้งานพื้นฐาน
-
ส่วนไฟล์วิดีโอจะใช้ตัวเล่นของ Google Photos
ซึ่งก็ไม่ค่อยมีลูกเล่นอะไรเช่นกัน สำหรับวิดีโอทั่วไปที่ไม่ได้มีสัดส่วน
21:9 จะแสดงแบบพอดีกับหน้าจอ (Fit to Screen) ได้อย่างเดียว
ไม่มีตัวเลือกให้ขยายเต็มจอ ประกอบกับ Motorola One Vision
มีจอยาวกว่าสมาร์ทโฟนทั่วไป
ทำให้เหลือขอบดำข้างซ้ายและขวามากกว่าอย่างเห็นได้ชัด
อย่างไรก็ดี ประโยชน์ที่แท้จริงของหน้าจอแบบ 21:9 คือการรับชมภาพยนตร์สมัยใหม่ที่เป็นฟอร์แมต 21:9 ได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีขอบดำมากวนใจ ไม่ว่าจะดูบน YouTube, NetFlix หรือช่องทางใดๆ ก็ตาม แต่ทั้งนี้รูกล้องหน้าก็จะบังจอเล็กน้อยเช่นกัน ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ครับ
สำหรับการท่องเว็บไซต์บน Motorola One Vision จะใช้เบราเซอร์ Chrome เป็นหลัก ซึ่งมีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปอยู่แล้ว หรือถ้าใครไม่ค่อยชอบ Chrome ก็สามารถดาวนืโหลดเบราเซอร์ตัวอื่นบน Play Store มาใช้ได้เช่นกัน
- มาดูการเล่นเกมของ Motorola One Vision กันบ้างครับ นับว่าเป็นครั้งแรกเลยที่เราจะได้เล่นเกมบนหน้าจออัตราส่วน 21:9 ซึ่งในครั้งนี้ทางทีมงานได้เลือกเกมมาใช้ทดสอบ 3 เกมด้วยกัน ได้แก่เกมฮิตอย่าง PUBG Mobile, เกมที่มีกราฟิกระดับกลางๆ อย่าง Sdorica -mirage- และ Durango : Wildlands และเกมที่มีกราฟิกระดับสูงอย่าง AxE หลัง จากใช้เวลาเล่นติดต่อกันประมาณ 2 ชั่วโมง พบว่า Motorola One Vision ตอบสนองการเล่นเกมได้อย่างน่าพอใจ โดยเกม PUBG Mobile สามารถตั้งค่ากราฟิกเป็นระดับสูงได้โดยไม่มีอาการกระตุกแต่อย่างใด ส่วน Sdorica -mirage- และ Durango : Wildlands ก็สามารถทำเฟรมเรตได้สูง และนิ่งมาก แม้แต่เกมระดับ AAA อย่าง AxE ก็ยังเล่นได้ไหลลื่นตลอด เรื่องประสิทธิภาพจึงสอบผ่านอย่างสบายๆ
อย่างไรก็ตาม
ยังมีจุดที่ต้องพิจารณาอยู่บ้าง
อย่างแรกคือขอบดำข้างจอที่เว้นไว้สำหรับกล้องหน้า
ซึ่งกว้างกว่าปกติเนื่องจากกล้องหน้าของ Motorola One Vision
มีขนาดค่อนข้างใหญ่ อีกทั้งยังไม่มีฟีเจอร์ช่วยเร่งประสิทธิภาพ
หรือปิดกั้นการแจ้งเตือนขณะเล่นเกมเหมือนสมาร์ทโฟนแบรนด์อื่น (เพราะเป็น
Pure Android) หากต้องการใช้งานเราจะต้องเข้าไปหาโหลดใน Play Store
เองซึ่งค่อนข้างยุ่งยาก และมักจะไม่ดีเท่ากับแอปที่มากับ Custom UI
ของแบรนด์ต่างๆ ครับ
- เมื่อทดสอบประสิทธิภาพในการทำงานโดยรวมของ Motorola One Vision ด้วยแอปพลิเคชัน AnTuTu Benchmark ก็พบว่าได้คะแนนรวมอยู่ที่ 150790 คะแนน ส่วนประสิทธิภาพด้านการประมวลผล เมื่อทดสอบด้วยแอปพลิเคชัน Geekbench 4 ก็พบว่าได้ 1608 คะแนนสำหรับการประมวลผลแกนเดี่ยว (Single-Core) และ 5483 คะแนนสำหรับการประมวลผลหลายแกน (Multi-Core)
- สำหรับการทดสอบด้วยแอปพลิเคชัน 3D Mark แบบ OpenGL ES 3.1 ได้คะแนนการทดสอบที่ 1358 คะแนน ส่วนการทดสอบแบบ Vulkan ได้คะแนนการทดสอบที่ 1379 คะแนน
-
เซ็นเซอร์ในเครื่อง Motorola One Vison ประกอบด้วย Accelerometer Sensor,
Light Sensor, Orientation Sensor, Proximity Sensor, Gyroscope Sensor,
Sound Sensor และ Magnetic Sensor
ส่วนหน้าจอแสดงผลรองรับการสัมผัสได้พร้อมกันสูงสุด 5 จุด
- และปิดท้ายกัยด้วยการทดสอบรับสัญญาณ GPS ซึ่ง Motorola One Vision สามารถจับสัญญาณดาวเทียมในที่กลางแจ้งได้ดี โดย ณ เวลาที่ทดสอบสามารถจับสัญญาณดาวเทียมได้ทั้งหมด 29 ดวง และมีความแม่นยำในระดับบวกลบ 4 เมตร อย่างไรก็ตาม คุณภาพของสัญญาณดาวเทียมขึ้นอยู่กับพื้นที่ และสภาพอากาศด้วย
การ ใช้งานกล้องดิจิทัลสำหรับถ่ายภาพ และวิดีโอ
- คุณสมบัติด้านการถ่ายภาพ เป็นจุดหนึ่งที่ได้รับการอัปเกรดขึ้นอย่างมากจากรุ่นก่อน โดยคราวนี้เลือกใช้เซ็นเซอร์รุ่นใหม่ที่มีความละเอียดสูงถึง 48 ล้านพิกเซล รูรับแสง f/1.7 พร้อมด้วยเทคโนโลยี Quad Pixel ที่จะรวมพิกเซล 4 พิกเซลให้กลายเป็นหนึ่งเดียว จนสุดท้ายเราก็จะได้ไฟล์ภาพความละเอียด 12 ล้านพิกเซลที่มีคุณภาพสูง ด้วยการเก็บรายละเอียดที่ยอดเยี่ยม และระบบป้องกันการสั่นแบบ OIS ประกบด้วยเซ็นเซอร์วัดความลึก (Depth Sensor) ความละเอียด 5 ล้านพิกเซล รูรับแสง f/2.2 โดยมีโหมดการถ่ายภาพ และลูกเล่นใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาให้ใช้งานอีกด้วย
- ในโหมดอัตโนมัติ Motorola One Vision มีระบบ AI วิเคราะห์ภาพให้ใช้งานด้วย โดยระบบจะจำแนกประเภทของวัตถุในภาพ แต่ จะไม่ปรับแต่งภาพให้ในทันที โดยจะแสดงตัวเลือกให้เราเปลี่ยนไปใช้โหมดที่เหมาะสม หรือเปิดการปรับเอง ซึ่งเราจะทำหรือไม่ทำก็ได้ อย่างในภาพตัวอย่างข้างต้น AI จำแนกวัตถุในภาพว่าเป็นอาหาร พร้อมกับแสดงแถบ Toggle ให้เราเลือกเปิดการปรับแต่งด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นข้อดีเมื่อเทียบกับระบบ AI ของสมาร์ทโฟนบางรุ่นที่เราไม่สามารถเลือกปิด AI ได้ครับ
ที่น่าสนใจคือ โหมดถ่ายภาพบุคคล หรือโหมด Portrait ซึ่งในรุ่นนี้มีฟีเจอร์ใหม่เพิ่มเข้ามาหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการปรับระดับความเบลอ 6 ระดับ, และเอฟเฟ็กต์ภาพ Portrait แบบต่างๆ เช่น เพิ่มแสง Lens Flare, ถ่ายแบบขาวดำ หรือถ่ายให้ตัวแบบมีสีสัน แล้วให้ฉากหลังเป็นสีขาวดำ เป็นต้น
-
นอกจากนี้ยังมีโหมด สีเฉพาะจุด ที่จะแสดงเฉพาะสีที่เราเลือกไว้อย่างเดียว
และมีฟิลเตอร์หลายแบบให้เลือกใช้
นอกเหนือไปจากการถ่ายภาพแล้ว Motorola One Vision ยังมีฟีเจอร์ Google Lens ซึ่งมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ค้นหารายละเอียดของพืช สัตว์ หรือสินค้าต่างๆ, สแกน QR Code, คัดลอกข้อความในภาพ เป็นต้น
-
ในภาพตัวอย่าง ทางทีมงานใช้ Google Lens ค้นหาแก้วน้ำลายพิคาชู ซึ่ง AI
ก็แสดงผลลัพธ์เป็นรูปแก้วน้ำสีเหลืองที่มีลักษณะคล้ายกันออกมา
เมื่อกดเข้าไปในภาพก็จะพาเราไปยังร้านค้าออนไลน์ที่ขายแก้วใบนั้นอยู่
แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นร้านค้าในต่างประเทศซึ่งมีวิธีการสั่งซื้อยุ่งยาก
และจัดส่งนาน หากเป็นร้านที่มีอยู่ในประเทศ เช่น Shopee หรือ Lazada
จะดีกว่านี้มากครับ
-
สำหรับ โหมดโปร สามารถปรับค่าต่างๆ ได้มากพอสมควร ได้แก่การโฟกัส
(AF/MF), สมดุลแสงขาว (WB), ความเร็วชัตเตอร์ (Shutter Speed), ความไวแสง
(ISO) และการชดเชยแสง (EV)
แม้ว่าเซ็นเซอร์กล้องหลังของ Motorola One Vision จะมีความละเอียดสูงถึง 48 ล้านพิกเซล แต่ไฟล์ภาพสุดท้ายที่เก็บบันทึก จะมีความละเอียดอยู่ที่เพียง 12 ล้านพิกเซล เนื่องจากเทคโนโลยี Quad Pixel จะนำจุดพิกเซล 4 จุดมารวมกันเป็นจุดเดียวเพื่อให้รับแสงได้มากขึ้น ช่วยให้ภาพคมชัด และมีคุณภาพสูง แม้จะมีความละเอียด 12 ล้านพิกเซลก็ตาม นอกจากนี้ ยังถ่ายภาพในอัตราส่วน 16:9 และ 21:9 ด้วยความละเอียดที่ลดลงมาได้ด้วย
-
ในส่วนของการบันทึกวิดีโอ สามารถบันทึกได้ที่ความละเอียดสูงสุดระดับ 4K
UHD (30fps)
-
กล้องหน้าของ Motorola One Vision ใช้เซ็นเซอร์ 25 ล้านพิกเซล พร้อมทั้งมีเทคโนโลยี Quad Pixel เช่นเดียวกับกล้องหลัง โดยมีรูรับแสงขนาด f/2.0
-
เมื่อถ่ายภาพด้วยกล้องหน้า จะมี ฟีเจอร์หน้าสวย ให้ใช้
งานด้วย ซึ่งเลือกให้รับแบบอัตโนมัติ หรือปรับด้วยตนเองก็ได้
-
กล้องหน้ารองรับการถ่ายภาพนิ่งที่ความละเอียดสูงสุดเต็ม 25
ล้านพิกเซล โดยถ่ายได้ 3 อัตราส่วนได้แก่ 4:3, 16:9 และ 21:9 สำหรับตัวเลือกที่เป็น Quad Pixel
จะทำให้ภาพสว่างยิ่งขึ้น เหมาะกับการเซลฟี่ในที่ที่มีแสงน้อย ส่วนการบันทึก
วิดีโอด้วยกล้องหน้า สามารถบันทึกได้ที่ความละเอียดสูงสุดระดับ FHD
(30fps)
และยังมีการตั้งค่าอื่นๆ ให้ปรับใช้กันตามสะดวกด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหลังคู่ เซ็นเซอร์ 48+5 ล้านพิกเซล (ไฟล์ภาพที่ได้จริงมีความละเอียด 12 ล้านพิกเซล ด้วยเทคโนโลยี Quad Pixel)
ถ่ายด้วยโหมดอัตโนมัติ
ถ่ายด้วยโหมดอัตโนมัติ
- ถ่ายด้วยโหมดอัตโนมัติ
ถ่ายด้วยโหมดอัตโนมัติ
ถ่ายด้วยโหมดอัตโนมัติ เปิด AI (แมว)
ถ่ายด้วยโหมดอัตโนมัติ เปิด AI (อาหาร)
ถ่ายด้วยโหมดอัตโนมัติ
ถ่ายด้วยโหมดบุคคล (Portrait) ความเบลอฉากหลังระดับ 3 (ปานกลาง)
ถ่ายด้วยโหมดบุคคล (Portrait) ความเบลอฉากหลังระดับ 3 (ปานกลาง)
ถ่ายด้วยโหมดอัตโนมัติ ด้วยอัตราส่วน 21:9
ถ่ายด้วยโหมดบุคคล (Portrait) ความเบลอฉากหลังระดับ 1 (ต่ำสุด)
ถ่ายด้วยโหมดบุคคล (Portrait) ความเบลอฉากหลังระดับ 3 (ปานกลาง)
ถ่ายด้วยโหมดบุคคล (Portrait) ความเบลอฉากหลังระดับ 6 (สูงสุด)
ถ่ายด้วยโหมดบุคคล (Portrait) ด้วยเอฟเฟกต์แบบคอนทัวร์ ซึ่งเพิ่มความเข้มของเงาให้มากขึ้น
ถ่ายด้วยโหมดบุคคล (Portrait) ด้วยเอฟเฟกต์แสงแบบดวงอาทิตย์ ซึ่งเพิ่มแสงสว่างจ้าบริเวณมุมขวาบนของภาพ พร้อมเอฟเฟกต์ Lens Flare
ถ่ายด้วยโหมดบุคคล (Portrait) ด้วยเอฟเฟกต์แสงแบบไฟเวที ซึ่งจะเห็นแค่บางส่วนของตัวแบบเท่านั้น ส่วนฉากหลังจะมืดสนิท
ถ่ายด้วยโหมดบุคคล (Portrait) ด้วยเอฟเฟกต์แสงแบบไฟเวทีแบบขาวดำ ซึ่งเหมือนกับเอฟเฟกต์ไฟเวที แต่ตัวแบบจะเป็นสีขาวดำ
ถ่ายด้วยโหมดบุคคล (Portrait) ด้วยเอฟเฟกต์ป็อปสี ซึ่งจะทำให้ฉากหลังเป็นสีขาวดำ โดยที่ตัวแบบยังมีสีสันตามปกติ
ตัวอย่างภาพถ่ายจากโหมดอัตโนมัติ ในเวลากลางคืน
ตัวอย่างภาพถ่ายจากโหมดกลางคืน (Night Vision) ซึ่งจะเห็นว่าภาพดูสว่างขึ้น และมองเห็นรายละเอียดมากขึ้น
ตัวอย่างภาพถ่ายจากโหมดอัตโนมัติ ในเวลากลางคืน
ตัวอย่างภาพถ่ายจากโหมดกลางคืน (Night Vision) ซึ่งจะเห็นว่าภาพดูสว่างขึ้น และมองเห็นรายละเอียดมากขึ้น
ตัวอย่างภาพถ่ายจากโหมดอัตโนมัติ ในเวลากลางคืน
ตัวอย่างภาพถ่ายจากโหมดกลางคืน (Night Vision) ซึ่งจะเห็นว่าภาพดูสว่างขึ้น และมองเห็นรายละเอียดมากขึ้น
ตัวอย่างภาพถ่ายจากโหมดอัตโนมัติ ในเวลากลางคืน
ตัวอย่างภาพถ่ายจากโหมดกลางคืน (Night Vision) ซึ่งจะเห็นว่าภาพดูสว่างขึ้น และมองเห็นรายละเอียดมากขึ้น
ตัวอย่างภาพถ่ายจากโหมดอัตโนมัติ ในเวลากลางคืน
ตัวอย่างภาพถ่ายจากโหมดกลางคืน (Night Vision) ซึ่งจะเห็นว่าภาพดูสว่างขึ้น และมองเห็นรายละเอียดมากขึ้น
ตัวอย่างภาพถ่ายจากโหมดอัตโนมัติ ในเวลากลางคืน
ตัวอย่างภาพถ่ายจากโหมดกลางคืน (Night Vision) ซึ่งจะเห็นว่าภาพดูสว่างขึ้น และมองเห็นรายละเอียดมากขึ้น
ตัวอย่างภาพถ่ายจากโหมดอัตโนมัติ ในเวลากลางคืน
ตัวอย่างภาพถ่ายจากโหมดกลางคืน (Night Vision) ซึ่งจะเห็นว่าภาพดูสว่างขึ้น และมองเห็นรายละเอียดมากขึ้น
- ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหน้า ความละเอียด 25 ล้านพิกเซล
- ถ่ายด้วยโหมดปกติ ปิดเอฟเฟกต์หน้าสวย
- ถ่ายด้วยโหมดปกติ เปิดเอฟเฟกต์หน้าสวยระดับ 1 (ต่ำสุด)
- ถ่ายด้วยโหมดปกติ เปิดเอฟเฟกต์หน้าสวยระดับ 3 (ปานกลาง)
- ถ่ายด้วยโหมดปกติ เปิดเอฟเฟกต์หน้าสวยระดับ 6 (สูงสุด)
- ถ่ายด้วยโหมดปกติ เปิดเอฟเฟกต์หน้าสวยแบบอัตโนมัติ
สรุปผลการทดสอบของ Motorola One Vision
Motorola One Vision เป็นสมาร์ทโฟนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีประสิทธิภาพในการทำงานด้านต่างๆ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นๆ ในระดับเดียวกัน จุดเด่นของสมาร์ทโฟนรุ่นนี้มีอยู่ 3 อย่างด้วยกัน คือระบบปฏิบัติการแบบ Pure Android ที่เรียบง่าย และคล่องตัว, หน้าจอแสดงผลอัตราส่วน 21:9 ที่ยาวกว่าสมาร์ทโฟนทั่วไป และกล้องหลังคู่แบบ Quad Pixel ที่มีเซ็นเซอร์ 48+5 ล้านพิกเซล พร้อมโหมด Night Vision และมีระบบกันสั่นแบบ OIS ในตัว
ข้อดีของระบบปฏิบัติการแบบ Pure Android คือ การได้รับอัปเดตเวอร์ชัน Android เป็นรุ่นแรกๆ และการันตีการอัปเดตระบบปฏิบัติการต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี กับอัปเดตระบบรักษาความปลอดภัยให้ต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี จึงไม่ต้องกังวลว่า จะถูกลอยแพหลังจากซื้อไปไม่นาน ซึ่งผู้ใช้หลายคนค่อนข้างให้ความสำคัญกับส่วนนี้ขณะเดียวกัน ระบบปฏิบัติการแบบ Pure Android ยังมีหน้าตาการใช้งานที่เรียบง่าย ไม่มีเอฟเฟกต์ หรือฟีเจอร์หวือหวา จึงทำงานได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี ความเรียบง่ายที่ว่านี้ก็อาจจะไม่เหมาะกับผู้ใช้บางท่าน เนื่องจากขาดลูกเล่น หรือฟีเจอร์หลายอย่างที่มีในสมาร์ทโฟนอื่นๆ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับผู้ใช้แต่ละคนว่าความต้องการแบบไหน
สำหรับหน้าจออัตราส่วน 21:9 นั้น ถือว่าเป็นของใหม่ในวงการสมาร์ทโฟน เพราะยังไม่เคยมีเจ้าไหนเคยวางจำหน่ายมาก่อน ข้อดีของหน้าจอแบบนี้ คือสามารถรับชมภาพยนตร์ยุคใหม่ที่มีอัตราส่วนแบบ 21:9 ได้เต็มๆ โดยไม่มีขอบดำด้านบน และด้านล่างมากวนใจ ซึ่งยังไม่มีสมาร์ทโฟนรุ่นใดทำได้ อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ใช้เห็นคอนเทนต์ได้มากกว่าในการใช้งานแนวตั้งอีกด้วย แต่ทั้งนี้ในความเป็นจริงแล้ว วิดีโอส่วนใหญ่บน YouTube และแพลตฟอร์มอื่นๆ ยังคงมีอัตราส่วนแบบ 16:9 จึงทำให้เหลือขอบดำด้านข้างไว้ค่อนข้างเยอะ นอกจากนี้ กล้องหน้าของ Motorola One Vision ค่อนข้างใหญ่เมื่อ เทียบกับสมาร์ทโฟนบางรุ่นที่มีรูกล้องหน้าเหมือนกัน แม้จะไม่รบกวนการใช้งาน แต่ก็ทำให้ต้องขยายแถบสถานะด้านบนหน้าจอให้กว้างกว่าปกติ ยิ่งช่วยเสริมให้แถบดำขณะดูวิดีโอกว้างยิ่งขึ้น ซึ่งบางคนอาจจะไม่ค่อยถูกใจนัก
ในส่วนของกล้องคู่เซ็นเซอร์ 48+5 ล้านพิกเซลของ Motorola One Vision นั้น ได้รับการอัปเกรดจากรุ่นก่อนอย่างชัดเจน โดยเลือกใช้เซ็นเซอร์รับภาพของ Samsung ที่มีเทคโนโลยี Quad Pixel ทำ ให้รับแสงได้มากขึ้น 4 เท่า และถ่ายรูปในที่มืดโดยไม่เปิดแฟลชด้วยโหมด Night Vision ได้ โดยมีคุณภาพใกล้เคียงกับสมาร์ทโฟนแบรนด์อื่นๆ ที่มีโหมดถ่ายภาพแบบเดียวกัน ส่วนโหมด Portrait นั้นก็ได้รับการอัปเกรดโดยเพิ่มฟังก์ชันการปรับระดับความเบลอฉากหลัง พร้อมด้วยเอฟเฟกต์จัดแสงแบบ Portrait Lighting ที่ทำออกมาได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะลูกเล่นการแสดงเฉพาะสีใดสีหนึ่งในภาพ และการดูดสีออกจากฉากหลังของตัวแบบ ยิ่งไปกว่านั้น ซอฟต์แวร์ของ Motorola One Vision ยังสามารถตัดขอบเบลอได้อย่างแม่นยำ โดยรวมแล้วเรียกได้ว่า Motorola One Vision เป็นสมาร์ทโฟนราคาไม่เกิน 10,000 บาทที่ถ่ายรูปได้สวยงามเป็นอันดับต้นๆ เลยทีเดียว แต่ทั้งนี้ ยังไม่สามารถถ่ายภาพแบบเต็มความละเอียดของเซ็นเซอร์ที่ 48 ล้านพิกเซลได้ เนื่องจากเป็นการรวมพิกเซลด้วยเทคโนโลยี Quad Pixel ให้เหลือความละเอียดในไฟล์ภาพจริงที่ 12 ล้านพิกเซล
สเปกโดยรวมของ Motorola One Vision สามารถรองรับการใช้งานทุกประเภทได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะด้านการเล่นเกม ด้วยชิปเซ็ต Exynos 9609 แบบ 8 แกน พร้อมหน่วยประมวลผลกราฟิก Mali-G72 MP3 และหน่วยความจำ RAM 4 GB จึงสามารถเล่นเกมที่มีกราฟิกหนักๆ ได้อย่างราบรื่น และเล่นได้เกือบทุกเกมบน Play Store ณ ขณะนี้ นับว่าเป็นสมาร์ทโฟนที่มีประสิทธิภาพเหมาะกับการเล่นเกมอีกรุ่นหนึ่ง แต่ขณะเดียวกัน การแสดงผลเกมจะเหลือขอบสีดำตรงด้านที่มีกล้องหน้าเอาไว้ค่อนข้างกว้าง และยังไม่สามารถขยายการแสดงผลให้เต็มจอไปยังส่วนนี้ได้ การแสดงผลของเกมจึงเยื้องไปด้านข้างเล็กน้อย ซึ่งอาจไม่ค่อยถูกใจเกมเมอร์บางส่วน อีกทั้งตัวเครื่องยังไม่มี ฟีเจอร์ปิดกั้นการแจ้งเตือน หรือเร่งประสิทธิภาพขณะเล่นเกม ต่างจากสมาร์ทโฟนแบรนด์อื่นที่ใช้ Custom UI ของตัวเองซึ่งมีฟีเจอร์เหล่านี้มาให้แบบ Built-In ผู้ใช้จึงจำเป็นต้องค้นหา และติดตั้งฟีเจอร์เหล่านี้เอาเองจาก Play Store ซึ่งค่อนข้างยุ่งยาก และอาจไม่เสถียรเท่ากับฟีเจอร์ที่มากับ Custom UI โดยตรง แต่หากไม่ซีเรียสตรงนี้ Motorola One Vision ก็ไม่น่าจะทำให้เกมเมอร์ผิดหวังแน่นอน
ด้วยคุณสมบัติทั้งหมดที่กล่าวมานี้ สามารถสรุปได้ว่า Motorola One Vision เป็นสมาร์ทโฟน Pure Android ที่มีการใช้งานเรียบง่ายไม่ซับซ้อน สเปกแรงสมราคา และถ่ายรูปได้สวยงามเป็นอันดับต้นๆ ในกลุ่มสมาร์ทโฟนราคาไม่เกิน 10,000 บาท จึงเหมาะสำหรับผู้ที่อยากลองสัมผัสกับระบบปฏิบัติการแบบ Pure Android, รักการถ่ายภาพ และรักความบันเทิงด้านภาพครับ
Motorola One Vision วางจำหน่ายแล้ววันนี้ผ่านทาง True Shop, Banana IT, TG Fone และทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ Shopee ในราคา 9,990 บาท โดยมีให้เลือก 2 สี ได้แก่ สี น้ำเงิน Sapphire และ สีน้ำตาล Bronze และยังมีโปรโมชั่นพิเศษ เมื่อซื้อ Motorola One Vision พร้อมแพ็กเกจ Truemove H ลดราคาค่าเครื่องเหลือเพียง 4,990 บาท เท่านั้น ท่านใดที่สนใจก็สามารถสอบถามรายละเอียด และเงื่อนไขโปรโมชั่นเพิ่มเติมได้ที่ True Shop ทุกสาขา
สุดท้ายนี้ ต้องขอขอบคุณทาง Motorola ประเทศไทย ที่ให้ความไว้วางใจส่งเครื่อง Motorola One Vision มาให้ทางทีมงานได้รีวิวกันในโอกาสนี้ด้วยครับ
จุดเด่นของ Motorola One Vision
-
ดีไซน์ตัวเครื่องแบบขอบโค้ง ด้วยกระจกหลัง 4D Corning Gorilla Glass และมีการไล่เฉดสีที่ต่างจากสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นในปัจจุบัน
- ตัวเครื่องป้องกันได้ในระดับ IP52 ซึ่งสามารถปกป้องตัวเครื่องจากการสัมผัสกับน้ำได้ปานกลาง เช่น การทำน้ำหก, ถูกสาดน้ำ หรือละอองฝน
- ตัวเครื่องขนาด 160.1x71.2x8.7 มิลลิเมตร พร้อมน้ำหนัก 180 กรัม
- หน้าจอแสดงผล CinemaVision (LTPS IPS) ขนาดใหญ่ 6.3 นิ้ว
ความละเอียดระดับ Full HD+ (1080x2520 พิกเซล : 432 ppi)
ในอัตราส่วนในการแสดงผลแบบ 21:9 โดยมีสัดส่วนจอแสดงผลกับตัวเครื่องที่ 82.5%
- เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือที่ด้านหลังตัวเครื่อง (Fingerprint Scanner)
- ระบบปลดล็อกด้วยใบหน้า (Face Unlock)
- ชิปเซ็ตประมวลผล Exynos 9609 แบบ Octa-Core Processor
ที่มีความเร็ว 2.2 GHz
- หน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) แบบ Mali-G72 MP3
- ทำงานอยู่บนระบบปฏิบัติการ Android 9.0 Pie (Pure Android) ที่การันตีการอัปเดตระบบปฏิบัติการต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี และการันตีการอัปเดตระบบความปลอดภัยให้ต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี
- หน่วยความจำแรม (RAM) ขนาด 4 GB
- หน่วยความจำภายใน (ROM) แบบ UFS ขนาด 128 GB
- รองรับการเพิ่มหน่วยความจำภายนอกแบบ microSD ได้สูงสุดที่ขนาด 512 GB
- กล้องดิจิทัลด้านหลังแบบคู่ (Dual Camera) เซ็นเซอร์ 48+5 ล้านพิกเซล
ขนาดรูรับแสงกว้างสุดที่ f/1.7 พร้อมเทคโนโลยี Quad Pixel, รองรับฟังก์ชันการวิเคราะห์ภาพถ่ายด้วย AI,
รองรับโหมดถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอ (Portrait) ที่ปรับความเบลอได้หลายระดับ
และมีเอฟเฟกต์การจัดแสงให้เลือกใช้หลายแบบ, รองรับโหมดการถ่ายภาพกลางคืน
(Night Vision) ที่ช่วยให้ภาพถ่ายในที่มืดสว่าง และคมชัดขึ้นโดยไม่ต้องใช้แฟลช
และมีระบบป้อนกันการสั่นแบบ OIS
- กล้องดิจิทัลด้านหน้าเซ็นเซอร์ 25 ล้านพิกเซล
มีขนาดรูรับแสงกว้างสูงสุดที่ f/2.0 รองรับการถ่ายเซลฟี่แบบหน้าชัดหลังเบลอ
และมีฟีเจอร์หน้าสวย (Beauty)
- ระบบเสียง Dolby Audio เพิ่มความสมจริงให้กับเสียงต่างๆ
โดยไม่จำเป็นต้องใช้ร่วมกับหูฟัง
- แบตเตอรี่ความจุ 3,500 mAh พร้อมเทคโนโลยีการชาร์จแบตเตอรี่ความเร็วสูงแบบ
TurboPower 15W
- ระบบ GPS+A-GPS ในตัว พร้อมรองรับการใช้งานร่วมกับระบบดาวเทียม GLONASS และ Galileo
- รองรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านทางระบบ 4G LTE, 3G, EDGE และ GPRS
- รองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi 802.11 a/b/g/n/ac และ Bluetooth 5.0
- พอร์ตเชื่อมต่อแบบ USB Type-C
- รองรับการใช้งานแบบ 2 ซิมการ์ด (Dual nanoSIM)
- รองรับการสแตนด์บายแบบ Dual 4G LTE
- ระบบเสียงแบบ Dolby Audio
- ราคาจำหน่าย 9,990 บาท
ถือว่าเป็นราคาที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับคุณสมบัติโดยรวม
จุดที่อาจจะต้องพิจารณาเพิ่มเติมของ Motorola One Vision
- ด้วยเทคโนโลยีการรวมพิกเซลแบบ Quad Pixel ไฟล์ภาพถ่ายจากกล้องด้านหลังที่มีเซ็นเซอร์ 48 ล้านพิกเซล จึงมีความละเอียดจริงสูงสุดที่ 12 ล้านพิกเซล
- ยังไม่สามารถเปิดฟีเจอร์หน้าสวย (Beauty) ในโหมด Portrait
เมื่อถ่ายด้วยกล้องหลังได้
- รูกล้องหน้าค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นที่มีดีไซน์เดียวกัน
- หน้าจออัตราส่วน 21:9 ยังเป็นอัตราส่วนที่ใหม่
จึงยังไม่สามารถใช้งานร่วมกับแอปพลิเคชันทั้งหมดได้
- ถาดใส่ซิมการ์ดเป็นแบบ Hybrid-Slot ซึ่งช่องซิมการ์ดที่สอง
ต้องเลือกใส่อย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างซิมการ์ด หรือ microSD Card
- ระบบปฏิบัติการแบบ Pure Android ยังขาดฟีเจอร์บางอย่าง
เช่นการปิดกั้นแจ้งเตือนขณะเล่นเกม
โปรดทราบ
* โทรศัพท์มือถือที่ท่านเห็นในบทความรีวิวนี้ เป็นเครื่องทดสอบจากศูนย์บริการ คุณสมบัติบางอย่างอาจแตกต่างจากเครื่องที่วางจำหน่ายจริง รวมถึงจุดด้อยบางประการที่พบในเครื่องทดสอบ อาจถูกแก้ไขให้ดีขึ้นแล้วในเครื่องที่วางจำหน่ายจริง ดังนั้นหากท่านสนใจซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นนี้ ควรตรวจสอบ หรือทดลองใช้งานสินค้าด้วยตนเองเพื่อความมั่นใจครับ *
สรุปคุณสมบัติเครื่อง
ท่านสามารถตรวจสอบคุณสมบัติ (สเปก) และราคา ของ Motorola One Vision ได้โดยการคลิกที่ลิงก์ด้านล่างนี้
สรุปคุณสมบัติ (สเปก) และราคา ของ Motorola One Vision
วันที่ : 30/05/2019