ทำไมมือถือเรือธงราคาสูง ถึงน่าซื้อกว่ามือถือระดับกลาง ?
ปฏิเสธไม่ได้ว่า มือถือระดับกลางเริ่มมีความน่าสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ในบางครั้งดูน่าสนใจกว่ามือถือรองท็อป ไปจนถึงมือถือเรือธงไปเสียแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ชิปเซ็ตที่มีความแรงเพียงพอต่อการใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างลื่นไหล, กล้องความละเอียดสูงที่มีเลนส์การถ่ายภาพให้เลือกใช้อย่างหลากหลาย, แบตเตอรี่ขนาดใหญ่ที่เพียงพอต่อการใช้งานตลอดวันแบบสบายๆ ไปจนถึงราคาวางจำหน่ายที่สบายกระเป๋า แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง มือถือเรือธงที่มีราคาแพงกว่าก็อาจเป็นตัวเลือกที่ดูน่าสนใจกว่ามือถือระดับกลางก็เป็นได้ แต่เพราะเหตุผลใดนั้น ไปหาคำตอบกันครับ
*สำหรับสมาร์ทโฟนระดับต่างๆ ทางทีมงานขออนุญาตให้คำจำกัดความไว้ดังนี้ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสเปกมือถือด้วยตนเองได้ที่นี่)
- เรือธง : สมาร์ทโฟนท็อปที่สุดของค่ายในปีนั้นๆ โดยจะมาพร้อมกับชิปเซ็ตรุ่นล่าสุด พร้อมกับเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าสุดของค่าย
- ระดับกลาง : สมาร์ทโฟนที่มีคุณสมบัติรองมาจากเรือธง ทั้งด้านสเปก และวัสดุตัวเครื่อง ซึ่งจะมีตัวเลือกมากที่สุดในตลาด
- ระดับเริ่มต้น : สมาร์ทโฟนที่มีราคาถูกช่วงพันต้นๆ พร้อมกับคุณสมบัติที่รองรับการใช้งานในระดับพื้นฐาน
1.ตกรุ่นช้า
สำหรับสมาร์ทโฟนเรือธง จะเป็นสมาร์ทโฟนที่ดีที่สุดของผู้พัฒนามือถือแต่ละแบรนด์ ทำให้ส่วนใหญ่จะเปิดตัวให้เห็นปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ซึ่งแต่ละค่ายก็มีไทม์ไลน์การเปิดตัวมือถือเรือธงของตัวเองที่ค่อนข้างแน่นอน เช่น iPhone มักจะเปิดตัวให้เห็นในเดือนกันยายนของทุกปี หรือ Samsung Galaxy S Series ที่มักจะเปิดตัวให้เห็นในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม ของทุกปี จึงทำให้กว่าที่จะมือถือเรือธงจะตกรุ่นก็ต้องรอเป็นเวลาถึง 1 ปีเต็ม
ขณะที่สมาร์ทโฟนระดับกลางค่อนข้างจะมีโอกาสตกรุ่นค่อนข้างไว เพราะส่วนมากจะเปิดตัวค่อนข้างถี่กว่า ยกตัวอย่างเช่น Redmi Note 11 Pro Series ที่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2022 และต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2022 ก็ได้มีการเปิดตัวรุ่นอัปเกรดอย่าง Redmi Note 11T Pro Series เป็นต้น
2.เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด
อย่างที่เรากล่าวไปว่า มือถือระดับเรือธงเป็นมือถือที่ดีที่สุดของแบรนด์นั้นๆ ทำให้เรามักจะได้เห็นเทคโนโลยีที่ใส่มาให้สุด ไม่ว่าจะเป็น หน้าจอแสดงผลที่ดีที่สุด, ชิปเซ็ตที่แรงที่สุด, หน่วยความจำ RAM, ROM เวอร์ชันใหม่ที่สุด และมีความจุเยอะที่สุด, ระบบชาร์จเร็วที่สุด, ระบบปฏิบัติการเวอร์ชันใหม่ล่าสุด, กล้องถ่ายภาพที่ดีที่สุด ไปจนถึงดีไซน์ตัวเครื่องที่พรีเมียมที่สุด ซึ่งด้วยคุณสมบัติระดับท็อปที่ทางค่ายจัดสรรมาให้ ส่งผลให้ประสบการณ์การใช้งานจริงจะเป็นไปอย่างลื่นไหลมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
3.ฟีเจอร์ Exclusive
อีกหนึ่งความพิเศษของสมาร์ทโฟนระดับเรือธง คือ ฟีเจอร์แบบ Exclusive ที่ถูกจำกัดไว้เฉพาะสมาร์ทโฟนตระกูลเรือธงเท่านั้น เช่น ระบบการชาร์จแบบไร้สาย, บอดี้กันน้ำกันฝุ่นระดับสูง, ระบบสแกนใบหน้า 3 มิติ, ระบบซูมไกลแบบคมชัด, รองรับการใช้ปากกา Stylus, เทคโนโลยีการรับสัญญาณรูปแบบใหม่ เช่น Wi-Fi 6, Wi-Fi 6E เป็นต้น ซึ่งมักจะเป็นฟีเจอร์ที่เราไม่ได้เห็นบ่อยนักบนสมาร์ทโฟนระดับกลาง
4.ได้รับการอัปเดตมากกว่า
อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้มือถือเรือธงน่าสนใจคือ โอกาสในการอัปเดตที่ค่อนข้างไปได้ไกลกว่ามือถือซีรีส์รองลงมา และหลายแบรนด์ก็เริ่มออกมาประกาศการันตีระยะเวลาดังกล่าวแล้ว อย่างเช่น ทาง Samsung การันตีอัปเดต Android OS นาน 3 ปี พร้อมอัปเดตความปลอดภัยนาน 4 ปีเต็ม โดยในรุ่น Samsung Galaxy S10 Series อดีตเรือธงในปี 2019 ที่มาพร้อม Android 9.0 สามารถอัพเดตได้ถึง Android 12 ที่เป็นเวอร์ชันล่าสุดในปีนี้ได้
5.แม้เป็นอดีตเรือธง ก็ยังแรงอยู่
ชิปเซ็ตที่ถูกใช้ในสมาร์ทโฟนเรือธง มักจะเป็นชิปเซ็ตที่แรงที่สุดในยุคนั้น และแรงกว่าชิปเซ็ตมือถือระดับกลางอยู่หลายเท่า ซึ่งแม้ว่าจะตกรุ่นไปแล้ว แต่ก็ยังถือว่าแรงกว่าชิปเซ็ตมือถือระดับกลางรุ่นใหม่ๆ ซึ่งหากเราอ้างอิงจากคะแนน AnTuTu จะเห็นได้ชัดเจนว่า Samsung Galaxy S20+ อดีตเรือธงปี 2020 ที่ใช้ชิปเซ็ตเรือธงรุ่น Exynos 990 มีผลทดสอบที่ 459,389 คะแนน ซึ่งยังสูงกว่า Samsung Galaxy A53 5G มือถือ Samsung A รุ่นใหม่ในปี 2022 ที่ใช้ชิปเซ็ตระดับกลางรุ่นใหม่อย่าง Exynos 1280 ที่ 379,516 คะแนน จึงทำให้มือถือเรือธงสามารถใช้งานได้ยาวนานแม้ว่าจะตกรุ่นแล้วก็ตาม
อย่างไรก็ตาม มือถือเรือธงก็อาจไม่ได้น่าสนใจกว่ามือถือระดับกลางเสมอไป เพราะส่วนหนึ่งคงต้องขึ้นอยู่กับความชื่นชอบส่วนบุคคล รวมถึงงบประมาณในการเลือกซื้อมือถือสักเครื่อง ซึ่งหากได้ทดลองเล่นรุ่นไหนแล้วถูกใจ ก็ถือว่ารุ่นนั้นๆ น่าจับจองเป็นเจ้าของแล้วครับ
นำเสนอบทความโดย : thaimobilecenter.com
วันที่ : 1/06/2565
