วิธีป้องกันมือถือโดนแฮ็ก จากแอปดูดเงิน พร้อมวิธีเช็กว่ามือถือถูกแฮ็กแล้วหรือไม่ ทั้ง Android และ iOS
ปัจจุบันที่ธุรกรรมการเงินได้ย้ายมาอยู่บนมือถือนั้น ถือว่าสะดวกสบายขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก พร้อมทั้งช่วยประหยัดเวลาการในธนาคาร แต่ในขณะเดียวกันภัยอัตรายก็ใกล้ตัวมากขึ้นเช่นเดียวกัน เราจะเห็นได้จากโลกโซเชียลกับการเตือนภัยต่าง ๆ จนเกิดเป็นวลี “แอปดูดเงิน” จากการแฮ็กของผู้ไม่ประสงค์ดีผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่หากไม่ระวังก็จะตกหลุมพรางได้อย่างง่ายดาย
ในวันนี้ทางทีมงานจะมาแนะนำวิธีป้องกันมือถือโดนแฮ็ก จากแอป/เว็บดูดเงิน ที่สามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเอง เพื่อนเป็นอีกหนึ่งวิธีป้องกันเงินในบัญชี หากพร้อมแล้วไปชมกันได้เลยค่ะ
ไม่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันนอก Store ทางการ
โดยปกติแล้วทาง Google จะคอยตรวจสอบ และแจ้งรายชื่อแอปพลิเคชันที่มีการติดตั้งมัลแวร์ต่าง ๆ ให้ผู้ใช้ได้ทราบกันอย่างต่อเนื่อง การดาวน์โหลดแอปพลิเคชันต่าง ๆ นอก Play Store จึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับมือถือ โดยเฉพาะมิจฉาชีพที่แอบอ้างเป็นร้านค้าชื่อดัง หรือหน่วยงานราชการ ซึ่งมักจะส่งลิงก์ดาวน์โหลดต่างหากมาให้ โดยไม่ผ่าน Play Store หากพบเจอลักษณะนี้ให้พิจารณาไว้ก่อนเลยว่าเจตนาไม่โปร่งใส
และหากจำกันได้ข่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้เสียหายจากการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันหาคู่ปลอม ที่มีการติดตั้งมัลแวร์ไว้ จึงทำให้ถูกโอนเงินออกจากบัญชีทั้งหมด ดังนั้นก่อนจะติดตั้งแอปพลิเคชันใด ๆ ให้ตรวจสอบที่มาให้ดีเสียก่อน
สำหรับผู้ใช้ iOS อาจหายห่วงได้ในระดับหนึ่งที่ทาง Apple ยังไม่อนุญาตให้ดาวน์โหลดแอปใด ๆ นอก App Store ได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีช่องทางที่มิจฉาชีพใช้ได้อยู่เช่นเดียวกัน อย่างเช่น แอบอ้างเป็น Apple เพื่อข้อให้ยืนยันข้อมูลส่วนตัว เป็นต้น
ไม่ดาวน์โหลดแอปที่ไม่น่าเชื่อถือ
ข้อก่อนหน้านี้ทางทีมงานแนะนำให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันผ่านทาง Play Store เท่านั้น แต่ก่อนที่ทาง Google จะตรวจสอบได้ครบทุกแอป ก็อาจทำให้มีบางแอปอันตรายหลุดรอดออกมาให้ผู้ใช้ดาวน์โหลดไปใช้งานกัน ซึ่งในกรณีนี้อาจต้องสังเกตบริษัทผู้พัฒนา, ยอดการดาวน์โหลด หรือช่องทางการติดต่อต่าง ๆ ว่าเป็นของจริงหรือไม่
หลีกเลี่ยงการเข้าเว็บไซต์ไม่น่าไว้ใจ/เว็บปลอม
อ้างอิง : Samsung
แม้จะไม่ได้ดาวน์โหลดแอปแปลก ๆ ไม่ได้ดาวน์โหลดแอปนอก Store ทางการ (Play Store / App Store) เว็บไซต์ก็เป็นอีกช่องทางที่ง่ายต่อการแฮ็ก โดยมักจะมีการฝังมัลแวร์ไว้ เพียงกดโหลดหน้าเว็บก็อาจจะเป็นการดาวน์โหลดมัลแวร์เข้าเครื่องแล้วก็เป็นได้ ซึ่งวิธีป้องกันคือเลือกใช้เว็บบราวเซอร์ที่มีการอัปเดตระบบป้องกันความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ เช่น Chrome, Firefox, Microsoft Edge, Safari
ที่สำคัญคือตรวจสอบลิงก์ของเว็บไซต์นั้น ๆ ก่อนจะกดเข้าไป เพื่อป้องกันการโดนฟิชชิง (Phishing) ที่ถือเป็นเทคนิคอันดับต้น ๆ ที่มิจฉาชีพนำมาใช้ และค่อนข้างได้ผลดีด้วย จากการปลอมเป็นหน้าเว็บของหน่วยานราชการ หรือเว็บร้านค้าต่าง ๆ โดยใช้อุบายว่าจำเป็นต้องตั้งค่าบีญชีใหม่ หรือต้องยืนยันตัวตน และต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวไป ซึ่งหน้าเว็บนั้นจะดักจับข้อมูลที่เรากรอกไปทุกอย่าง แน่นอนว่าหากไม่สังเกตให้ดี ข้อมูลของเราก็จะไปอยู่ในมือของมิจฉาชีพได้โดยง่าย
รวมถึงการลงส่วนเสริม (Extensions) บนเว็บบราวน์เซอร์ ก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่เสี่ยงต่อการโดนมัลแวร์ จึงควรเลือกส่วนเสริมที่ไว้ใจได้เท่านั้น
หลีกเลี่ยงการใช้ Wi-Fi ฟรีที่น่าสงสัย
แม้จะเป็นวิธีที่ทำได้ยาก แต่ก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน หากเราเลือกต่อสัญญาณ Wi-Fi สาธารณะที่ไม่ใช่จากผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์ ก็อาจโดนดักจับข้อมูลต่าง ๆ ที่เราเข้าถึงเมื่อเชื่อมต่อสัญญาณดังกล่าวอยู่ และอาจนำไปสู่การสูญเสียข้อมูล หรือเงินได้ ทางที่ดีควรตรวจสอบ Wi-Fi ให้ดีก่อนการเชื่อมต่อทุกครั้ง
สายชาร์จดูดเงิน
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ทำให้ตื่นตระหนกไม่น้อยกับสายชาร์จดูดเงิน ที่แม้ในท้ายที่สุดจะเป็นการเข้าใจผิด โดยสาเหตุหลักมาจากการลงแอปพลิเคชันนอก Store ทางการ แต่สายชาร์จดูดเงิน/ดูดข้อมูลนั้นก็มีอยู่จริง และทางทฤษฎีก็สามารถทำได้ ซึ่งจากที่มีหลายหน่วยงาน และผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบก็ให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ทำได้จริง แต่เป็นไปได้ยากมาก เนื่องจากระบบปฏิบัติการบนมือถือเราทั้ง Android และ iOS มีระบบการป้องกัน (Protocal) ต่าง ๆ อยู่หลายชั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่เพียงแค่เสียบสายชาร์จแล้วจะได้ข้อมูลส่วนตัวเราไปในทันที ทางที่ดีก็ควรเลือกใช้สายชาร์จของแท้ และไม่ยืมสายจากคนแปลกหน้าจะดีที่สุด
วิธีตรวจสอบว่ามือถือถูกแฮ็กแล้วหรือไม่ สำหรับระบบ Android
1.ไปที่ตั้งค่า
2.เลื่อนลงมาหาเมนูแอพ
3.กดที่จุด 3 จุด มุมขวาบนหน้าจอ
4.กดที่ การเข้าถึงพิเศษ
หากกดแล้วไม่ได้ไปหน้าเมนูดังกล่าว แต่ถูกเด้งไปที่หน้าจอหลักแสดงว่าตัวเครื่องโดนติดตั้งมัลแวร์บางอย่างเรียบร้อยแล้ว
เมื่อพบว่าถูกติดตั้งมัลแวร์ ควรปิดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทันที ทั้ง Wi-Fi และดาต้ามือถือ พร้อมทำการสำรองข้อมูล และตั้งค่าคืนเครื่องโรงงาน หรือล้างเครื่องใหม่นั่นเอง
อ้างอิง : CCIB
วิธีตรวจสอบว่ามือถือถูกแฮ็กแล้วหรือไม่ สำหรับระบบ iOS
1.ไปที่ตั้งค่า > แบตเตอรี่ เพื่อตรวจสอบดูว่ามีแอปพลิเคชันไหนใช้งานมากเกินความเป็นจริงบ้าง
2.ตรวจสอบแอปพลิเคชันทั้งหมดในตัวเครื่อง ว่ามีแอปแปลก ๆ ปะปนมาโดยไม่รู้ตัวหรือไม่
3.เพิ่มความปลอดภัยในการใช้งาน Safari
3.1ไปที่ตั้งค่า > Safari
3.2เลือกเปิดใช้งานฟังก์ชัน คำเตือนเว็บไซต์หลอกลวง
อ้างอิง : CCIB
นำเสนอบทความโดย : thaimobilecenter.com
วันที่ : 27/1/2566