หน้าแรกมือถือ > รวมข่าวมือถือ > หน้าบทความ ข่าวมือถือ
   
Date : 31/5/2565

กฎหมาย PDPA คืออะไร? ถ่ายรูป-คลิป-ไลฟ์ ยังไงไม่ให้ผิด ข้อเท็จจริงที่ควรรู้ เริ่มบังคับใช้ 1 มิถุนายนนี้

 

สำหรับผู้ที่หมั่นติดตามข่าวสารรอบตัวอยู่เป็นประจำก็น่าจะเห็น กฎหมาย PDPA หรือกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนตัว ผ่านตากันมาบ้าง ซึ่งล่าสุดในประเทศไทยก็เตรียมประกาศใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 นี้เป็นต้นไป ในวันนี้ทางทีมงานจึงได้มาสรุปทุกประเด็นที่น่าสนใจ ตั้งแต่ PDPA คืออะไร, วัตถุประสงค์ของ PDPA, ประโยชน์ของ PDPA และประเด็นที่คนส่วนใหญ่อาจยังเข้าใจผิดอยู่ หากพร้อมแล้วไปชมกันเลยค่ะ

 

PDPA คืออะไร ?

 

PDPA ย่อมาจาก Personal Data Protection Act หรือกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงข้อมูลที่สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ไม่ว่าจะเป็น ชื่อ, เลขบัตรประชาชน, เบอร์โทร, ที่อยู่, อีเมล, ไอดีไลน์, บัญชีผู้ใช้เว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ , ลายนิ้วมือ, ประวัติสุขภาพ และอื่น ๆ อาจเป็นได้ทั้งข้อมูลในรูปแบบเอกสาร กระดาษ หนังสือ หรือจัดเก็บในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

 

วัตถุประสงค์ของ PDPA 

 

กฎหมาย PDPA มาจาก พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 โดยมีขึ้นเพื่อให้เอกชน และรัฐที่เก็บรวมรวม ใช้ เปิดเผย และ/หรือ โอนข้อมูลส่วนบุคคลในราชอาณาจักรไทย ให้เป็นไปตามมาตรการปกป้องข้อมูลของผู้อื่นจากการถูกละเมิดสิทธิส่วนตัว โดยต้องขอความยินยอม (Consent) จากเจ้าของข้อมูล ก่อนการเก็บ รวบรวม ใช้ หรือเปิดเผย

 

ประโยชน์ของ PDPA

 

การบังคับใช้กฎหมาย PDPA จะเป็นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และรักษาสิทธิพึงมีแก่เจ้าของข้อมูล เพื่อป้องกันปัญหาที่จะอาจตามมาทางด้านกฎหมาย กรณีเกิดมีข้อมูลรั่วไหล หรือมีการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง หรือไม่ได้รับอนุญาต

 

อ้างอิง : PDPC Thailand

 

ประเด็นที่อาจเข้าใจผิดเกี่ยวกับ PDPA 

1. การถ่ายรูป-ถ่ายคลิป ติดภาพคนอื่นโดยเจ้าตัวไม่ยินยอมจะผิด PDPA

ตอบ กรณีการถ่ายรูป-ถ่ายคลิปโดยติดบุคคลอื่นโดยผู้ถ่ายรูป-ถ่ายคลิปไม่เจตนา และการถ่ายรูปถ่ายคลิปดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ถูกถ่าย สามารถทำได้ หากเป็นการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว

 

2. ถ้านำคลิป หรือรูปถ่ายที่ติดคนอื่นไปโพสต์ในโซเชียลมีเดียโดยบุคคลอื่นไม่ยินยอมจะผิด PDPA 

ตอบ สามารถโพสท์ได้ หากใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว ไม่ใช้แสวงหากำไรทางการค้าและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล 

 

3. ติดกล้องวงจรปิดแล้วไม่มีป้ายแจ้งเตือนผิด PDPA 

ตอบ การติดกล้องวงจรปิด ภายในบ้าน ไม่จำเป็นต้องมีป้ายแจ้งเตือน หากเพื่อป้องกันอาชญากรรม และรักษาความปลอดภัยกับตัวเจ้าของบ้าน 

 

4. เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลต้องให้ความยินยอมทุกครั้งก่อนนำข้อมูลไปใช้

ตอบ ไม่จำเป็น ต้องขอความยินยอม หากการใช้ข้อมูลดังกล่าว 
(1) เป็นการทำตามสัญญา 
(2) เป็นการใช้ที่มีกฎหมายให้อำนาจ 
(3) เป็นการใช้เพื่อรักษาชีวิตและ/หรือ ร่างกายของบุคคล 
(4) เป็นการใช้เพื่อการค้นคว้าวิจัยทางสถิติ 
(5) เป็นการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ
(6) เป็นการใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ หรือสิทธิของตนเอง 

ทั้งนี้ หลักการข้างต้น อาจเปลี่ยนแปลงตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นกรณีๆไป 
PDPA = พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
มาตรา 4(1) การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่ทำการเก็บข้อมูลเพื่อประโยชน์ส่วนตน หรือเพื่อกิจกรรมในครอบครัวของบุคคลนั้นเท่านั้น 

 

5.โพสต์วิดีโอจากกล้องหน้ารถได้หรือไม่ ?

ตอบ การบันทึกภาพจากกล้องหน้ารถสามารถทำได้ เพราะมีไว้เพื่อบันทึกหลักฐานในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์สุดวิสัย สามารถนำภาพเหล่านั้นไปใช้เป็นหลักฐานในทางกฎหมายได้ แม้มีบุคคลอื่นติดมาด้วย ตรวบเท่าที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

 

อ้างอิง : PDPC Thailand, พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค, PDPAPRO

 

กรณีตัวอย่าง

ทางเว็บไซต์ Thaimobilecenter มีการรีวิว ทดสอบสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยมีจุดที่ต้องทดสอบกล้องถ่ายภาพ ที่จะเป็นการโชว์ประสิทธิภาพของกล้องด้วยการถ่ายภาพในสภาพแสงที่ต่างกัน จากสถานที่ต่าง ๆ พร้อมวิวทิวทัศน์ ไม่ได้มีเจนตาที่จะถ่ายภาพบุคคลที่อยู่บริเวณใกล้เคียง 

 

สรุป

 

หลังจากที่มีการประกาศบังคับใช้กฎหมาย PDPA ในประเทศ คนส่วนใหญ่อาจเข้าใจผิดว่าเราไม่สามารถถ่ายภาพ หรือวิดีโอติดผู้อื่นได้เลย แต่ที่จริงแล้วสามารถทำได้ โดยที่ภาพ และคลิปวิดีโอดังกล่าวไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น และมีเจตนาในการใช้งานเพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัวเท่านั้น

สำหรับกรณีทีมงานถ่ายภาพแล้วนำมาลงบทความรีวิว โดยการถ่ายภาพวิว หรือบรรยากาศต่างๆ แล้วติดบุคคลอื่นมาด้วยในระยะไกลไม่เจาะจงถ่ายตัวบุคคล จะไม่ผิดกฎหมาย PDPA เนื่องจากทางทีมงานไม่ได้มีเจตนานำผู้อื่นมาหาผลประโยชน์ทางการค้า เพียงนำเสนอประสิทธิภาพของการถ่ายภาพมือถือรุ่นดังกล่าวเท่านั้น

 

นำเสนอบทความโดย : thaimobilecenter.com


วันที่ : 31/5/2565

Tags :
  

Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy