หน้าแรกมือถือ > รวมข่าวมือถือ > หน้าบทความ ข่าวมือถือ
   
Date : 30/11/2563

ติดฟิล์มมือถือแบบไหนดี? ฟิล์มกันรอยมีกี่แบบ? แต่ละแบบต่างกันอย่างไร?

 

เรียกได้ว่าสมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์พกพาที่มีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตเป็นลำดับต้นๆ เลยก็ว่าได้ เราก็เลยต้องดูแลรักษาให้ดี เพื่อให้สมาร์ทโฟนสุดรักของเรามีสภาพใกล้เคียงกับเครื่องใหม่ให้นานที่สุด ซึ่งการติดฟิล์มกันรอยก็เป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยลดการเกิดรอยขีดข่วนต่างๆ ไปจนถึงการแตกร้าวของหน้าจอ และตัวเครื่องได้เป็นอย่างดี

คำถามต่อมาก็คือ เราควรเลือกใช้ฟิล์มกันรอยแบบใดกับสมาร์ทโฟนของเรา เนื่องจากปัจจุบันมีให้เลือกใช้หลากหลายรูปแบบ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ และสมาร์ทโฟนดีไซน์ต่างๆ ในวันนี้ทางทีมงานจึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับฟิล์มกันรอย เพื่อเป็นแนวทางในการเลือกซื้อ ซึ่งฟิล์มกันรอยมีทั้งหมดกี่แบบ? แต่ละแบบต่างกันอย่างไร? เลือกติดฟิล์มแบบไหนดี? หาคำตอบไปพร้อมๆ กันได้เลยค่ะ

 

ก่อนจะไปดูประเภทต่างๆ ของฟิล์มกันรอย ต้องกล่าวก่อนว่า “ฟิล์มกันรอย” ในที่นี้ มักจะถูกใช้เรียกรวมสิ่งที่นำมาปกป้องหน้าจอสมาร์ทโฟน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ได้มีเพียงฟิล์ม แต่ยังมีกระจกนิรภัย ด้วยเช่นกัน

  • สำหรับฟิล์มกันรอย จะมีลักษณะเป็นแผ่นบาง ป้องกันหน้าจอได้ด้วยการเคลือบฟิล์มแข็งบาง ซึ่งสามารถแนบสนิทไปกับหน้าจอ และไม่บดบังการแสดงผล และมีราคาถูก
  • ส่วนกระจกนิรภัย จะมีความหนา พร้อมกับคุณสมบัติการป้องกันที่ดีกว่าแบบฟิล์ม รวมถึงราคาที่สูงกว่าแบบฟิล์มเล็กน้อย

 

ฟิล์มกันรอยแบบใส (Clear Screen Protector)

เป็นฟิล์มกันรอยที่หาซื้อหาใช้ได้ง่ายที่สุด โดยมีจุดเด่นเป็นความใส ไม่ส่งผลต่อการแสดงผล หรือสีสันของหน้าจอมากนักจนเรียกได้ว่า เหมือนไม่ติดฟิล์มกันรอยเลยทีเดียว โดยฟิล์มกันรอยแบบใสนี้จะมี ให้เลือกหลายระดับทั้ง Ultra Clear หรือ Invisible Screen Protector ฟิล์มกันรอยแบบใสจะไม่ทำให้การแสดงผลของหน้าจอประสิทธิภาพลดลงมากนัก แต่จะมีข้อเสียตรงที่จะเห็นรอยนิ้วมือง่ายเมื่อใช้งาน

 

ฟิล์มกันรอยแบบด้าน (Matte Screen Protector)

เป็นฟิล์มกันรอยอีกแบบที่ได้รับความนิยมไม่น้อย ด้วยข้อดีในการลดรอยนิ้วมือเมื่อใช้งาน และยังลดแสงจากหน้าจอ ช่วยถนอมสายตาได้ในระดับหนึ่งด้วย รวมถึงลดการสะท้อนจากแสงรอบๆ ด้วย แต่สำหรับคนที่ชอบหน้าจอสีสดใสจากหน้าจอ ฟิล์มกันรอยแบบนี้อาจไม่เหมาะสักเท่าไร

 

ฟิล์มกันรอยแบบเพิ่มความเป็นส่วนตัว (Privacy Screen Protector)

ฟิล์มนี้จะเหมาะกับผู้ใช้ที่มีเรื่องส่วนตัวในสมาร์ทโฟนเยอะ และต้องใช้สมาร์ทโฟนท่ามกลางฝูงชนมากมายที่อาจจะถือวิสาสะมองจอเราขณะที่เรากำลังใช้สมาร์ทโฟนอยู่ โดยฟิล์มกันรอยชนิดนี้จะทำให้สามารถมองเห็นหน้าจอสมาร์ทโฟนได้เฉพาะมุมด้านหน้าตรงๆ เท่านั้น หากมองจากมุมอื่นจะมองเห็นเป็นแค่จอมืดๆ นั่นเอง แต่ก็มีข้อเสียคือ เราอาจจะแชร์ความสุขด้วยการดูคลิปวีดีโอ หรือรูปภาพต่างๆ พร้อมกับเพื่อนหลายๆ คนไม่ได้ เพราะจะมีแค่คนที่อยู่ตรงหน้าจอเท่านั้นที่มองเห็น

 

ฟิล์มกันรอยแบบกันกระแทก (Anti-Shock Screen Protector)

เรียกได้ว่าปัญหาการทำเครื่องหล่น หรือเกิดกระแทกกับของบางอย่าง จนทำให้หน้าจอแตกร้าว แทบจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และอาจส่งผลให้ต้องเสียเงินในการเปลี่ยนหน้าจอใหม่ในราคาหลักพัน ซึ่งฟิล์มกันรอยแบบกันกระแทกถือเป็นตัวช่วยที่น่าสนใจ ด้วยคุณสมบัติเด่นอย่างความแข็งแรงทนทานต่อแรงตกกระแทก รวมไปถึงการป้องกันรอยขีดข่วนที่อาจเกิดขึ้นจากการพกพาของผู้ใช้

 

ฟิล์มน้ำ หรือฟิล์มไฮโดรเจล (Hydrogel Film)

ฟิล์มกันรอยรูปแบบใหม่ที่มีจุดเด่นเป็นความบางเฉียบ จนกล่าวได้ว่าเหมือนไม่ได้ติดฟิล์มใดๆ อีกทั้งยังไม่บดบังความคมชัด หรือสีสันของหน้าจอ และยังสามารถสัมผัสใช้งานได้ตามปกติ พร้อมความแข็งแรง ทนทานใกล้เคียงกับแบบกระจก ที่สามารถรับแรงกระแทกได้ในระดับหนึ่ง โดยติดใช้งานได้ไม่ยาก พร้อมไม่ทิ้งฟองอากาศ หรือคราบกาว ซึ่งมีให้เลือกใช้งานทั้งแบบใส และแบบด้าน

 

กระจกกันรอย (Tempered Glass)

กระจกนิรภัยสำหรับปกป้องหน้าจอ กับจุดเด่นที่ความแข็งแรงทนทานกว่าแบบฟิล์ม พร้อมช่วยลดการแตกร้าวหน้าจอเมื่อตกพื้นได้ดีกว่า และแม้ความหนาของกระจกจะมากกว่าแบบฟิล์ม แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้งาน โดยผู้ใช้ยังสามารถสัมผัสหน้าจอในตำแหน่งต่างๆ ได้ทั่วจอเช่นเดิม พร้อมคงความคมชัด และสีสันสดใสไว้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ต้องเลือกที่มีการการันตีคุณภาพความแข็งแรงในระดับ 9H จึงจะมั่นใจได้ว่าช่วยปกป้องหน้าจอสมาร์ทโฟนของเราได้จริง

สำหรับกระจกกันรอยในปัจจุบันมีตัวเลือกให้ใช้อย่างหลากหลาย ตอบโจทย์สมาร์ทโฟนที่มีการดีไซน์ใหม่ อย่างเช่น กระจกกันรอยเต็มหน้าจอ และกระจกกันรอยเต็มหน้าจอแบบลงโค้งสำหรับสมาร์ทโฟยจอขอบโค้งโดยเฉพาะ

 

หมายเหตุ : สำหรับตัวเลข 9H มาจากการทดสอบ Pencil Hardness Test ตามมาตรฐาน ASTM D3363 (ประเทศสหรัฐอเมริกา) หรือ GB/T6739 (ประเทศจีนจีน) โดยการนำมาจัดเรียงลำดับความแข็งของธาตุต่างๆ ไว้ที่ 1-10 ขั้น ไล่ตั้งแต่ระดับความแข็งต่ำสุด แร่อ่อน แร่ยิปซัม ไปจนถึง พลอยสีแดง และเพชรที่มีความแข็งแรงมากที่สุดนั่นเอง ซึ่งหากได้รับผลเป็นตัวเลขมากเท่าใด แสดงว่ามีความแข็งแรงมากเท่านั้น โดยในปัจุบันคุณภาพของกระจกกันรอยจะอยู่ที่ 9H หรือ 9H+ 

 

กระจกกันรอย UV

เหมาะสำหรับสมาร์ทโฟนที่มีหน้าจอขอบโค้งโดยเฉพาะ ด้วยจุดเด่นอย่างความติดแน่นตลอดขอบหน้าจอทั้งสองด้าน ด้วยการใช้น้ำยาชนิดพิเศษ ผสานการฉายแสง UV เพื่อให้ติดแน่นกับหน้าจอ จนไม่มีช่องว่างใดๆ ระหว่างหน้าจอ และตัวฟิล์ม จึงมั่นในได้ว่าจะไม่มีการหลุด หรือการเผยอของตัวกระจกแต่อย่างใด ซึ่งต่างจากกระจกแบบปกติที่มีชั้นกาว ที่หากติดเบี้ยวไปเพียงเล็กน้อย การแก้ให้กลับมาตรงที่ที่ถูกต้องก็อาจเกิดฟองอากาศด้านในได้ ต่างจากแบบ UV ที่สามารถจัดตำแหน่งตามที่ต้องการได้ก่อนที่จะทำการฉายแสง UV นั่นเอง แต่กระจกกันรอยแบบ UV จำเป็นต้องใช้เครื่องฉายแสง UV (บางแบรนด์จะแถมเครื่องฉายมาให้) และอาจใช้เวลามากกว่า ทางที่ดีให้ผู้ที่เชี่ยวชาญทำการติดจะดีที่สุด อีกทั้งยังมีราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับแบบปกติ แต่ก็แลกมากับอายุการใช้งานที่ยาวนาน และปกป้องหน้าจอได้อย่างครอบคลุมนั่นเอง ซึ่งหากเทียบกับราคาที่ต้องจ่ายในการเปลี่ยนหน้าจอแล้ว ก็ถือว่าคุ้มค่าในการลงทุน

 

นอกจากนี้กระจกแบบ UV ยังสามารถใช้งานเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือที่ฝังอยู่ใต้หน้าจอได้ตามปกติ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าตัวกระจกจะติดกับหน้าจอโดยไม่มีช่องว่าง หรืออากาศแทรกอยู่ ในขณะที่แบบกระจกปกติที่มีชั้นกาวมีโอกาสเกิดอากาศด้านในได้ จึงอาจทำให้ใช้งานฟีเจอร์นี้ได้ไม่ดีเท่าที่ควร

 

สรุปควรเลือกซื้อฟิล์มกันรอย / กระจกกันรอยแบบไหนดี?

ฟิล์ม และกระจกกันรอยแบบต่างๆ แต่ละยี่ห้อ แต่ละแบบจะมีราคาที่แตกต่างกันไป โดยรุ่นที่ราคาแพงกว่า มักจะแลกมาด้วยฟีเจอร์ต่างๆ ที่ดีกว่า อย่างเช่น กันรอยขีดข่วนได้ดีกว่า, ป้องกันคราบมัน กับรอยนิ้วมือ, ป้องกันรอยหยดน้ำ, การกรองแสงสีฟ้า เพื่อให้ผู้ใช้รู้สึกสบายตาขณะใช้งาน หรือลดการสะท้อนแสงจากแสงรอบๆ ตัวได้ดีกว่า เป็นต้น ซึ่งฟิล์ม และกระจกกันรอยที่มีราคาสูง ก็จะยิ่งได้คุณภาพที่ดีกว่าแบบราคาถูกนั่นเอง

สำหรับการเลือกซื้อ ก็คงต้องพิจารณากันต่อไปว่า ผู้ใช้ถูกใจกับฟิล์มกันรอยแบบไหนมากกว่ากัน, มีงบประมาณมากน้อยขนาดไหน และฟิล์มกันรอยแบบไหนเหมาะสมกับการใช้งานของผู้ใช้ที่สุดนั่นเองค่ะ ทั้งนี้ทางทีมงานขอแนะนำให้ทุกท่านลองหารีวิวจากร้านต่างๆ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมจากแต่ละแบรนด์โดยตรง เพื่อให้ได้ฟิล์ม หรือกระจกที่ตรงใจเรามากที่สุดค่ะ สำหรับวันนี้ทางทีมงานต้องลงไปก่อน พบกับได้ใหม่ในบทความหน้า สวัสดีค่ะ

 

นำเสนอบทความโดย : thaimobilecenter.com


วันที่ : 30/11/2563

Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy