เมื่อจอมือถือแบบ LCD อาจดีกว่าจอ OLED แม้จะเป็นเทคโนโลยีเก่ากว่าก็ตาม
หน้าจอสมาร์ทโฟนในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งหากแบ่งประเภทหลัก ๆ ที่ใช้กันอยู่ทั่วไปนั้นจะมีด้วยกันทั้งหมด 2 แบบ ได้แก่ หน้าจอแบบ LCD ที่ใช้บนสมาร์ทโฟนตั้งแต่ยุคบุกเบิก ไปจนถึงสมาร์ทโฤนทั่วไปตั้งแต่ระดับเริ่มต้น ไปจนถึงมือถือเรือธงตัวเริ่มต้นในบางรุ่น และหน้าจอแบบ OLED ที่นิยมมาใช้งานอย่างแพร่หลายในช่วงหลัง และถูกนำไปใช้ในสมาร์ทโฟนระดับกลางรุ่นใหม่ ๆ ไปจนถึงสมาร์ทโฟนตัวท็อป
หลายท่านอาจจะเข้าใจว่าหน้าจอ OLED อาจดีกว่าหน้าจอ LCD ในทุก ๆ ด้าน เนื่องจากราคาวางจำหน่ายที่สูงกว่า รวมทั้งมักจะเป็นหน้าจอที่ถูกเลือกใช้บนมือถือที่มีราคาแพง แต่ความเป็นจริงแล้วอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไปก็เป็นได้ เพราะยังมีปัจจัยบางส่วนที่ทำให้หน้าจอ LCD อาจดูเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมต่อการใช้งานสำหรับใครอีกหลายคนก็เป็นได้ครับ
Flicker จุดที่อาจเป็นข้อได้เปรียบของจอ LCD ?
Flickering หรือ Flicker เป็นคำจำกัดความที่สื่อถึงความต่อเนื่องของการกระพริบเปิด-ปิดหน้าจอ ซึ่งโดยปกติแล้วผู้ใช้อาจไม่ได้สังเกตเห็นถึงการกระพริบของหน้าจอได้อย่างชัดเจน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ดวงตาของผู้ใช้มีปฏิกริยาตอบสนองต่ออาการ Flicker ของหน้าจอโดยอัตโนมัติ ดวงตาจะขยายใหญ่ และหดตัวตามแสงของหน้าจอที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งปฏิกริยาเหล่านี้เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้ใช้รู้สึกปวดหัวหลังจากมองหน้าจอเป็นระยะเวลานาน
นอกจากนี้ อาการ Flicker ยังส่งผลให้ดวงตารู้สึกล้ามากกว่าเดิมเนื่องจากต้องทำงานหนักมากยิ่งขึ้น ซึ่งแม้ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน แต่อาการ Flicker บนหน้าจอสมาร์ทโฟนก็ยังคงเป็นปัญหาต่อผู้ใช้อีกหลายท่านโดยเฉพาะหน้าจอแบบ OLED
Flicker เกิดจากอะไร ?
อย่างที่เรากล่าวไปตั้งแต่ต้นว่า หน้าจอสมาร์ทโฟนที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในปัจจุบันถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ LCD (Liquid Crystal Screen) ซึ่งเป็นหน้าจอที่ไม่มีความสามารถในการเปล่งแสงได้ด้วยตัวเอง แต่จะใช้หลักการฉายแสง backlight แบบ LED ที่ด้านหลัง เพื่อยิงแสงผ่านฟิลเตอร์ RGB เพื่อช่วยให้แสดงภาพ และสีสันออกมา ซึ่งจะต่างกับหน้าจอแบบ OLED ที่มีความสามารถในการเปล่งแสงผ่านไดโอดเพื่อแสดงสีสันได้ด้วยตัวเองด้วยการใช้แผงหน้าจอแบบ OLED
ซึ่งแน่นอนว่าการแสดงผลบนหน้าจอสมาร์ทโฟนไม่ได้มีแค่ระดับเดียว แต่มือถือรุ่นสามารถปรับระดับความสว่างได้ด้วย ซึ่งหลักการในการลดแสงสว่างของหน้าจอลงของไดโอด LED จะใช้วิธีปรับลดกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่าน เพื่อลดระดับความสว่างลง ส่งผลให้สีสันแตกต่างกันออกไปด้วย โดยสมาร์ทโฟนก็ใช้หลักการคล้าย ๆ กันในชื่อ Pulse Width Modulation (PWM) ที่จะเป็นการเปิด-ปิด ไดโอด LED เป็นจังหวะคล้ายกับการเต้นของหัวใจ แต่สายตาของผู้ใช้ไม่ได้รู้สึกถึงการที่ไอโอด LED ถูกเปิด-ปิดไปมา (หรือที่เรียกว่าอาการ Flicker) ซึ่งสิ่งที่เรารู้สึกได้ก็คือ หน้าจอมีความมืดลงขณะที่เกิดปฏิกริยาดังกล่าวเท่านั้น
ข้อได้เปรียบของจอ LCD ?
ใช่ว่า LCD จะไม่เกิดอาการ Flicker เพราะแท้ที่จริงแล้วหน้าจอ LCD ก็มีกระบวนการทำงานแบบ PWM เช่นเดียวกัน แต่ต่างกันตรงที่ความถี่ของการเปิด-ปิดไดโอดหน้าจอทั้งสองแบบที่แตกต่างกัน โดย PWM ของหน้าจอ OLED จะอยู่ที่ 50-500Hz ขณะที่ LCD จะอยู่ที่ 1000Hz ขึ้นไป ซึ่งโดยปกติแล้วสายตาของมนุษย์จะมีปฏิกริยาต่ออาการ Flicker ที่ระดดับ 250Hz ทำให้หมายความว่า หน้าจอ OLED อาจส่งผลต่ออาการล้าของสายตาได้มากกว่าหน้าจอ LCD นั่นเอง
อีกหนึ่งสิ่งที่หน้าจอ LCD ดูจะได้เปรียบกว่าหน้าจอ OLED คือ ราคา เพราะหากเราไปดูที่หน้าเว็บไซต์ของ Apple จะพบว่า มีการระบุถึงราคาในการซ่อมหน้าจอในกรณีไม่อยู่ภายใต้การรับประกัน ซึ่งจะพบว่า ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนหน้าจอแบบ LCD ของ iPhone 11 อยูที่ 6,599 บาท ขณะที่หน้าจอแบบ OLED ของ iPhone 11 Pro อยู่ที่ 8,899 บาทแม้ว่าขนาดหน้าจอของ iPhone 11 Pro จะเล็กกว่า iPhone 11 ก็ตาม
แต่อย่างไรก็ตาม หน้าจอ OLED บนสมาร์ทโฟน ก็มีบางสิ่ง่ที่ได้เปรียบกว่าหน้าจอแบบ LCD อยู่เช่นเดียวกัน เพราะด้วยความสามารถของตัวหน้าจอที่เปล่งแสงได้ด้วยตนเอง ทำให้เหมาะต่อการนำไปใช้งานร่วมกับฟีเจอร์ Always on Display เพื่อแสดงผลการแจ้งเตือน วันที่ เวลา ฯลฯ ในขณะที่หน้าจอถูกล็อกไว้ รวมทั้งยังมีจุดเด่นด้านการแสดงสีดำที่ดำสนิท ไปจนถึงค่า Contrast Ratio และค่า Dynami Range ที่ค่อนข้างกว้างกว่าเมื่อเทียบกับหน้าจอแบบ LCD ซึ่งสุดท้ายแล้วก็คงต้องขึ้นอยู่กับความชื่นชอบส่วนบุคคลของผู้ใช้งานนั่นเองครับ
ข้อมูลอ้างอิง : DxOMark
วันที่ : 14/6/2564
