หน้าแรกมือถือ > รวมข่าวมือถือ > หน้าบทความ ข่าวมือถือ
   
Date : 17/7/2561

กว่าจะมาเป็นสมาร์ทโฟน Huawei ไม่ใช่เรื่องง่าย! บุกหลังบ้าน Huawei พาชมศูนย์วิจัย และสายการผลิต ที่มาตรฐานจัดเต็มทุกขั้นตอน!

 

เคยคิดไหมครับว่าสมาร์ทโฟน Huawei ที่อยู่ในมือของทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นเรือธงตัวท็อปอย่าง P20 Pro, Mate 10 Pro หรือรุ่นอื่นๆ ที่รองลงไป กว่าจะมาเป็นตัวเครื่องสวยๆ งามๆ ที่เห็นอยู่ตรงหน้าของท่านนี้ ต้องผ่านร้อนผ่านหนาวอะไรมาบ้าง? ผมเองก็เคยสงสัยใคร่รู้อยู่เหมือนกัน และแล้วโอกาสนั้นก็มาถึง เพราะในทริปเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ของ Huawei ในประเทศจีนครั้งนี้ นอกจากผมจะได้ทำความรู้จักกับเจ้าของบ้านอย่าง Huawei ถึงต้นกำเนิด ดังที่ได้นำมาเล่าให้ฟังในบทความที่แล้ว (Who is Huawei?) ผมก็ยังได้รับเชิญให้เข้าไปถึงใน “ห้องครัว” ของ Huawei อีกด้วย

“ห้องครัว” ที่ว่าไม่ใช่ห้องครัวที่เอาไว้ทำอาหารให้พนักงาน Huawei แต่อย่างใดนะครับ แต่หมายถึงห้องสำหรับวิจัย และพัฒนา ไปจนถึงสายการผลิตสมาร์ทโฟน Huawei ที่เปรียบเสมือน “ห้องครัว” หลังบ้าน Huawei ที่ใช้สำหรับผลิตสุดยอดสมาร์ทโฟนรุ่นเด็ดๆ มาเสิร์ฟให้กับทุกท่านนั่นเองครับ เรียกว่าได้เห็นตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้นการวิจัย, การพัฒนา, การทดสอบ, การตรวจสอบคุณภาพ, การปรับปรุง ไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายที่แพ็กใส่กล่องพร้อมส่งไปขายให้กับทุกท่านเลยทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม : Who is Huawei? บุกสำนักงานใหญ่ รู้จัก Huawei ให้ถึงแก่น เผยเส้นทางสู่แบรนด์ชั้นนำของโลก และกลยุทธ์สู่ความยิ่งใหญ่ในอนาคต!

อย่างที่ทราบกันไปแล้วว่า Huawei นั้นเป็นบริษัทที่ลงทุนด้าน R&D หรือการวิจัย และพัฒนามากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก เพราะช่วง 10 ปีที่ผ่าน Huawei ลงทุนด้านนี้ทั่วโลกไปมากถึง 62.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงเห็นได้ชัดเจนว่า Huawei ทุ่มเทด้านงานวิจัยอย่างจริงจังไม่แพ้องค์กรใดในโลกนี้ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งคำตอบที่ชัดเจนมากๆ สำหรับคำถามที่มักจะถามกันอยู่บ่อยๆ ว่าแบรนด์ Huawei ต่างจากแบรนด์จีนรายอื่นอย่างไร


เยี่ยมชมศูนย์วิจัย Huawei Device Laboratory ต้นกำเนิดที่แท้จริงของสมาร์ทโฟน Huawei

ที่หมายแรกที่ผมได้เข้าไปสัมผัสก็คือ ศูนย์วิจัยของ Huawei ที่เมืองปักกิ่งที่มีชื่อว่า Huawei Device Laboratory ซึ่งนับเป็นหนึ่งในศูนย์วิจัยที่สำคัญที่สุดของ Huawei และเน้นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสมาร์ทโฟนที่เราๆ ท่านๆ ใช้กันอยู่นั่นเอง โดยพื้นที่เป็นลักษณะของอาคารขนาดใหญ่ 2 ฝั่ง ซึ่งอยู่ภายในอาณาจักรของ Huawei เอง รวมแล้วมีพื้นที่ในส่วนของศูนย์วิจัยกว่า 12,000 ตารางเมตร ประกอบไปด้วยห้องปฏิบัติการ (ห้องแล็บ) จำนวน 23 ห้อง ซึ่งรองรับการวิจัยที่แตกต่างกัน 9 ประเภท

อย่างไรก็ดีโดยปกติแล้วภายในศูนย์วิจัยแห่งนี้ไม่อนุญาตให้มีการบันทึกภาพใดๆ เพื่อป้องกันข้อมูลสำคัญรั่วไหลออกไปสู่ภายนอก แต่ในโอกาสที่พวกเราบรรดาสื่อมวลชนในกลุ่มในกลุ่มเอเชียแปซิฟิก (APAC) ได้มาเยี่ยมชมแบบเอ็กซ์คลูซีฟ จึงสามารถเก็บภาพมาได้บ้างเล็กน้อยเป็นกรณีพิเศษ โดยผมเองมีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมชมห้องวิจัย 5 ส่วน และเก็บข้อมูลมาแชร์ให้ทุกท่านได้ติดตามกันดังนี้ครับ

 


Device Automation Test Center : ทดสอบอัตโนมัติทุกฟีเจอร์ เทียบเท่าคนงาน 10,000 คน เพื่อระบบที่ไร้ข้อผิดพลาด!

เป็นที่ทราบกันดีว่าฟีเจอร์ หรือฟังก์ชันสำหรับใช้งานบนสมาร์ทโฟนนั้นมีเป็นร้อยๆ พันๆ ดังนั้นการที่จะทดสอบแบบเดิมๆ ด้วยมนุษย์ กับเครื่องจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลเข้ามาคงเป็นไปไม่ได้ และต้องยอมรับว่าการทำงานของมนุษย์นั้น “ไม่สมบูรณ์แบบ” ย่อมมีความเหนื่อยล้า หรือปัจจัยอื่นๆ มาทำให้ผลทดสอบคลาดเคลื่อนไป

ด้วยเหตุนี้ทาง Huawei จึงได้สร้างห้องวิจัย Device Automation Test Center นี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อสนับสนุนการทำงานของแผนกต่างๆ ทั้งฝ่ายวิจัย และพัฒนาซอฟต์แวร์, ฝ่ายทดสอบผลิตภัณฑ์ และฝ่ายบำรุงรักษาระบบปฏิบัติงานต่างๆ เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถบรรลุเป้าหมายเดียวกันคือ “การพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ไร้ข้อผิดพลาด” ให้เร็วที่สุด

 

โดยภายในห้องวิจัยนี้ประกอบไปด้วยเครื่องทดสอบอัตโนมัติถึง 800 เครื่องที่สามารถทดสอบสมาร์ทโฟนได้ถึง 5,000 เครื่องในเวลาเดียวกัน ด้วยการทำงานที่รวดเร็วเทียบเท่ากับการทำงานของพนักกงานถึง 10,000 คน ที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมงในทุกวัน ซึ่งเรียกได้ว่าห้องวิจัย Automation End Device Test Center นี้เป็นหนึ่งในห้องวิจัยระดับชั้นนำของอุตสาหกรรม สามารถทำการวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็วในระดับที่ใกล้เคียงกับห้องวิจัยของ Google เลยทีเดียวครับ

 

The Communication Protocol Test Lab : ทุกคลื่น ทุกเครือข่าย ทุกแบนด์วิดท์ ทุกสถานการณ์ เพื่อการใช้งานเต็มประสิทธิภาพทั่วโลก!

ด้วยรูปแบบของระบบเครือข่ายที่หลากหลายบนโลกใบนี้ จึงทำให้การที่จะพัฒนาสมาร์ทโฟนสักเครื่องออกมาให้สามารถรองรับการทำงานร่วมกับเครือข่ายเหล่านั้นทั้งหมดได้ นับเป็นเรื่องที่ยากเอาการ ซึ่งทาง Huawei ในฐานะของผู้นำด้านระบบเครือข่ายมาช้านานย่อมเข้าใจในจุดนี้เป็นอย่างดี

ดังนั้นเพื่อให้เครื่องสมาร์ทโฟน Huawei สามารถนำไปใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพกับเครือข่ายทั่วโลก ทาง Huawei จึงสร้างห้องวิจัยที่เรียกว่า The Communication Protocal Test Lab ขึ้นมาโดยเฉพาะ โดยห้องวิจัยนี้สามารถรองรับมาตรฐานการสื่อสาร และคลื่นวิทยุได้ทุกประเภท เพื่อจำลองสภาพเครือข่ายให้หลากหลายมากที่สุด ด้วยความสามารถของการจำลองเครือข่ายของ 14 ประเทศ 36 เมือง และสถานที่กว่า 100 แห่ง ตั้งแต่สำนักงาน, ห้างสรรพสินค้า, ซูเปอร์มาร์เก็ต แม้กระทั่งภูเขา ก็จำลองได้ รวมแล้วสามารถจำลองสัญญาณได้มากถึง 50 สัญญาณกับเครือข่ายในรูปแบบต่างๆ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูงสุดของอุตสาหกรรม

 

ห้องวิจัยนี้สามารถจำลองสภาพเครือข่ายได้หลากหลายรูปแบบมากที่สุดกว่า 1,000 รูปแบบ ด้วยการจำลองมาตรฐานการสื่อสาร และคลื่นความถี่ได้ทุกประเภท จากเครือข่ายผู้ให้บริการขนาดใหญ่กว่า 20 ราย พร้อมการจำลองสภาพการสื่อสารหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การใช้เสียง, การใช้ข้อมูล, การค้นหาบนอินเทอร์เน็ต, VoWiFi, VoLTE, CA และ MIMO ยิ่งไปกว่านั้น ห้องวิจัยนี้ถือเป็นห้องวิจัยเดียวที่ระบบ Wi-Fi มีการผสานการทำงานของทั้ง CDMA และ GUTl เข้าไว้ด้วยกัน

 


Reliability Lab : จำลอง และทดสอบความแข็งแกร่งในสภาพแวดล้อมอันสุดขั้ว แค่ Drop Test ยังน้อยไป!

ห้องวิจัย Reliability Lab หรือห้องวิจัยความคงทนของผลิตภัณฑ์นี้เรียกว่าเกิดมาเพื่อภารกิจของการทำลายล้างโดยแท้ เป็นการทดสอบความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ว่ามีความแกร่งพอสำหรับการใช้งานอันหนักหน่วงในชีวิตประจำวัน ด้วยการจำลองสถานการณ์การใช้งานในรูปแบบต่างๆ เพื่อปรับปรุงความแข็งแรงทนทานของสมาร์ทโฟน Huawei ไม่ว่าจะจะเป็นการทดสอบระดับความล้า, ทดสอบความคงทน, ทดสอบแรงกระทำเชิงกล, ทดสอบระดับความทนทานของส่วนประกอบต่างๆ, ทดสอบความทนทานต่อแรงสั่นสะเทือน, ทดสอบความทนทานต่ออุณหภูมิที่ร้อนจัด-เย็นจัด และความสามารถของการกระจายความร้อน

ห้องวิจัย Reliability Lab สามารถทดสอบผลิตภัณฑ์โดยการจำลองสถานการณ์ต่างๆ ที่เทียบเท่ากับการใช้งานสมาร์ทโฟนในชีวิตประจำวันของเราๆ ท่านๆ เป็นเวลานานต่อเนื่องกว่า 1 ปี ซึ่งขั้นตอนการทดสอบต่างๆ ขั้นต้นจะถูกทำซ้ำกันขั้นต่ำเป็นหลักล้านครั้งเลยทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น

 

- ทดสอบการตก : จะจำลองการตกหล่นของสมาร์ทโฟนในระดับความสูง และสถานการณ์ต่างๆ
- ทดสอบความทนทานต่อความชื้น : ทดสอบที่ระดับ IPX2 คือทนทานต่อละอองฝน, ละอองน้ำจากการสาด หรือหกใส่ หรือของเหลวในลักษณะเทียบเท่า
- ทดสอบความทนทานต่อฝุ่น และทราย : ทดสอบที่ระดับ 5 หรือ 6 นั่นคือสามารถป้องกันอุปกรณ์จากฝุ่นที่เกาะตัวเครื่อง หรือฝุ่นทรายที่อาจปลิวมากระทบสมาร์ทโฟน
- ทดสอบความทนทานต่อแรงสั่นสะเทือน : ทดสอบครอบคลุมถึงการสั่นสะเทือนระดับต่ำในชีวิตประจำวัน เช่นการใช้งานในยานพาหนะที่กำลังเคลื่อนที่ ทั้งรถยนต์, จักรยาน และอื่นๆ รวมถึงแรงสั่นสะเทือนระหว่างการขนส่ง ทั้งทางบก, ทางน้ำ และทางอากาศ

 

การทดสอบต่างๆ เหล่านี้เป็นไปตามมาตรฐานต่างๆ ของทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ และประเทศอื่นๆ โดยส่วนใหญ่ โดยห้องวิจัย Reliability Lab ยังสามารถทำการทดสอบการใช้สมาร์ทโฟนนำทางบนยานพาหนะ หรือสถานที่ ที่มีการสั่นไหวรุนแรงเป็นเวลาขั้นต่ำ 3 ชั่วโมง รวมไปถึงจำลองสภาพแวดล้อมที่ระดับน้ำทะเล หรือริมชายหาดเพื่อศึกษาการใช้งาน

 

อีกทั้งยังสามารถจำลองอุณหภูมิสูง-ต่ำ หรือการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างเฉียบพลัน ด้วยการทดสอบเป็นเวลามากกว่า 240 ชั่วโมง รวมทั้งสภาพเปียก หรือชื้นอีกด้วย

 

 

Antenna Test Lab : ขจัดปัญหา Death Grip ที่ทำสัญญาณหาย พร้อมทดสอบสัญญาณดาวเทียม เพื่อการระบุตำแหน่งที่แม่นยำ!

ปัญหาของสมาร์ทโฟนบางรุ่นก่อนหน้านี้คือบางลักษณะของการจับถือเครื่องส่งผลให้คุณภาพของการรับสัญญาณต่ำลง หรือสัญญาณหาย จนเกิดปัญหาที่เรียกกันว่า Death Grip ซึ่งห้องวิจัย Antenna Test Lab นี้สามารถตรวจเจอปัญหานี้ และทำการปรับปรุงก่อนผลิตจริง เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ยอดเยี่ยมให้แก่ผู้ใช้ ด้วยการทำการศึกษา และทดลองเพื่อปรับปรุงคุณภาพของการสื่อสารทางโทรศัพท์, การเชื่อมต่อข้อมูลที่รวดเร็ว และการใช้ระบบดาวเทียมนำร่อง หรือ GPS ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

โดยห้องวิจัย Antenna Test Lab นี้ประกอบไปด้วยห้องทดสอบย่อยหลายห้องด้วยกัน ได้แก่ ห้องทดสอบที่มีความแม่นยำสูงสุด, ห้องทดสอบที่ไร้การสะท้อนของคลื่นไมโครเวฟ (Microwave Anechoic Chamber) และห้องทดสอบการสะท้อนกลับของคลื่น (Reverberation Chamber)

 

 

Audio Lab : ปรับปรุงความใสเคลียร์ของเสียงท่ามกลางเสียงรบกวนในสภาพแวดล้อม พร้อมคุณภาพเสียง Hi-Fi ตามมาตรฐาน Grammy Award!

ห้องวิจัยสุดท้ายที่ผมมีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมชมก็คือห้องวิจัยด้านเสียง หรือ Audio Lab ซึ่งถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้ส่วนวิจัยอื่นๆ ก่อนหน้านี้ เพราะการใช้งานสมาร์ทโฟนของเราล้วนเกี่ยวข้องกับเสียงแทบทั้งสิ้น โดยห้องวิจัยด้านเสียงของ Huawei นี้เป็นห้องวิจัยด้านเสียงเพียงแห่งเดียวในประเทศจีน ที่สามารถทำการทดสอบในรูปแบบต่างๆ ตามเกณฑ์ของกลุ่ม 3GPP, Vodafone และมาตรฐานสากลอื่นๆ ด้วยเทคโนโลยีสำหรับพัฒนาอุปกรณ์ด้านเสียง, วิจัยอัลกอริทึม และตรวจสอบประสิทธิภาพของอุปกรณ์เสียงกว่า 200 ชิ้น เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ด้านเสียงที่ดีที่สุดจากสมาร์ทโฟน Huawei

ห้องวิจัย Audio Lab ช่วยให้ Huawei สามารถทดสอบสมาร์ทโฟนร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายชั้นนำของโลกอย่าง AT&T, Vodafone, Verizon และอื่นๆ ได้ เพื่อความมั่นใจก่อนวางจำหน่าย และถือเป็นห้องวิจัยแรกในประเทศจีน ที่ผ่านเกณฑ์การลดเสียงรบกวน 3PASS Noise Reduction Test System อันเป็นมาตรฐานล่าสุดของสถาบันมาตรฐานโทรคมนาคมแห่งยุโรป (ETSI) และเนื่องจากจนถึงขณะนี้ยังไม่มีห้องวิจัยอื่นใดที่ได้รับการรับรองนี้เพิ่มเติม จึงอาจกล่าวได้ว่าห้องวิจัยด้านเสียงของหัวเว่ยเป็นห้องวิจัยที่มีระบบทดสอบการลดเสียงเสียงรบกวนที่ดีที่สุดในปัจจุบัน


เยี่ยมชมสายการผลิตสมาร์ทโฟน Huawei ณ เมืองเซินเจิ้น

เมื่อได้เยี่ยมชมศูนย์วิจัย Huawei Device Laboratory ณ เมืองปักกิ่ง กันแบบเต็มอิ่มแล้ว เพื่อให้ครบรส พวกเราก็พากันบินลงมายังเมืองเซินเจิ้น เพื่อเข้าชมสายการผลิต (Product Line) ของสมาร์ทโฟน Huawei กันต่อ ซึ่งในที่นี่เราจะได้เห็นกับตาตัวเองว่า หลังจากที่ผลิตภัณฑ์แต่ละรุ่นผ่านขั้นตอนทดสอบต่างๆ ที่ศูนย์วิจัยมาแล้ว พอมาถึงขั้นตอนของการผลิตเป็นเครื่องสมาร์ทโฟนจริงๆ พร้อมแพ็กใส่กล่อง เพื่อส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลกนั้นต้องมีขั้นตอนกระบวนการอย่างไรบ้าง แต่ก็น่าเสียดายอยู่ไม่น้อยที่ทาง Huawei ไม่อนุญาตให้พวกเราถ่ายภาพด้านในสายการผลิตได้ แม้กระทั่งการบันทึกเสียงก็ห้ามเช่นกัน เนื่องจากข้อมูลต่างๆ ด้านในล้วนเป็นความลับระดับสูง เรียกว่าต้องผ่านเครื่องสแกนเข้าไปแบบตัวเปล่าเลยทีเดียวครับ

ที่ด้านในของสายการผลิต สัมผัสแรกที่เห็นคือเป็นโรงงานที่สะอาดเอี่ยม, ไฟส่องสว่างทั่วถึง และโอ่โถงกว้างใหญ่ทันสมัย ประกอบไปด้วยแถวของเครื่องผลิตในขั้นตอนต่างๆ เรียงเป็นโมดูลที่ทำงานเฉพาะอย่าง ไปจนถึงปลายทาง นับรวมแล้วมีไลน์การผลิตแบบนี้ 20 กว่าแถวเห็นจะได้ ซึ่งแต่ละแถวยาวจากจุดเริ่มต้นไปถึงปลายทางประมาณ 150 เมตร มีกำลังการผลิตแถวละราว 2,000 เครื่องต่อวัน หรือรวมแล้วแต่ละเดือนสามารถผลิตสมาร์ทโฟนได้ทั้งหมดกว่า 1 ล้านเครื่อง และทาง Huawei ได้ให้ข้อมูลอีกว่าสายการผลิตนี้จะทำงานตลอด 24 ชั่วโมงแทบไม่มีหยุดพักเลยก็ว่าได้

 

และจุดที่สังเกตได้อีกอย่างก็คือแต่ละขั้นตอนส่วนใหญ่แล้วเป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด หรือไม่ก็ใช้หุ่นยนต์อัจฉริยะเข้ามาช่วยเพื่อความสมบูรณ์แบบของการผลิต ช่วยลดความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 80-85% จะมีเพียงแค่บางขั้นตอนเท่านั้นที่ยังต้องอาศัยมนุษย์เข้ามาช่วยจัดการอยู่บ้าง ซึ่งอาจเหลือแค่ไม่ถึง 20% เช่นการตรวจสอบความเรียบร้อยผ่านหน้าจอมอนิเตอร์, ทดสอบการใช้งานจริง, การฟังเสียง, ระบบสัมผัส, ส่วนติดต่อผู้ใช้ (UI) บนหน้าจอ, การทดสอบการกระแทก หรืองานที่ไม่ต้องการความแม่นยำ 100% เช่นการวางชิ้นส่วนตามจุดที่กำหนดไว้แล้ว, การแปะแผ่นพลาสติกใสบนตัวเครื่อง หรือการแปะสติกเกอร์ตามจุดต่างๆ บนผลิตภัณฑ์ หรือกล่องบรรจุภัณฑ์ แต่ก็ยอมรับว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้ทำงานได้คล่องแคล่วรวดเร็วไม่แพ้หุ่นยนต์เลยทีเดียวครับ

เมื่อเข้าไปที่ด้านใน เริ่มแรกเราก็จะเห็นม้วนกลมใหญ่ๆ คล้ายม้วนฟิล์มภาพยนตร์เรียงกันเป็นตับ ซึ่งนั่นก็คือชิปต่างๆ ที่เรียงตัวกันอยู่เป็นสายยาวๆ เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตนั่นเอง

ต่อมาเราก็จะเห็นขั้นตอนการผลิตชิ้นส่วนที่เป็นหัวใจของการทำงานของสมาร์ทโฟนครับ นั่นก็คือแผงวงจร หรือเมนบอร์ด ซึ่งแต่ละเมนบอร์ดจะใช้เทคโนโลยีการเคลือบเพื่อป้องกันการลัดวงจร หรือหากรุ่นไหนเป็นรุ่นที่มีคุณสมบัติของการป้องกันน้ำ ก็จะมีการเคลือบสารป้องกันน้ำที่เมนบอร์ดเพิ่มเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง และแต่ละเมนบอร์ดก็จะมีบาร์โค้ดที่ไม่ซ้ำกัน

ถัดจากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนของการใช้หุ่นยนต์ในการนำเอาชิ้นส่วนสำคัญต่างๆ ประกอบลงบนเมนบอร์ด ไม่ว่าจะเป็นชิปเซ็ต, ROM, RAM และอื่นๆ ซึ่งแต่ละขั้นตอนจะมีการตรวจสอบความเรียบร้อยซ้ำสองรอบเพื่อความมั่นใจ โดยจะมีมนุษย์เข้ามาร่วมตรวจสอบกับระบบอัตโนมัติด้วย

สำหรับชิ้นส่วนใดที่ต้องอาศัยความร้อนในกระบวนการผลิต เช่นการยิงกาว ชิ้นส่วนนั้นๆ ก็จะถูกพักให้อุณหภูมิกลับมาสู่สภาวะปกติเสียก่อน เพราะหากนำไปใช้ในขั้นตอนต่อไปทันที อาจเกิดความเสียหาย

โดยในขั้นตอนของการประกอบนี้เองที่บาร์โค้ดของแต่ละเมนบอร์ดก็จะถูกจับคู่กับหมายเลขซีเรียลของสมาร์ทโฟน

พอประกอบเมนบอร์ด เข้ากับตัวเครื่องจนพอจะเห็นเป็นรูปเป็นร่างของตัวเครื่องบ้างแล้ว จากนั้นก็ต้องมีการทดสอบอีกหลายๆ ขั้นตอนนะครับ ไม่ว่าจะเป็น ทดสอบการรับสัญญาณ, ทดสอบหน้าจอ, ทดสอบเซ็นเซอร์, ทดสอบแบตเตอรี่, ทดสอบระบบชาร์จไฟ, ทดสอบอุณหภูมิขณะใช้งาน, ทดสอบกล้องถ่ายภาพ, ทดสอบการใช้งานด้านเสียง และทดสอบความทนทาน

ส่วนการขนส่งชิ้นส่วนต่างๆ ภายในโรงงานจะไม่ใช้คนเดินถือไปถือมาแบบนั้นนะครับ แม้จะเป็นแค่ระยะใกล้ๆ ก็ตาม แต่อาศัยหุ่นยนต์ส่งของวิ่งไปวิ่งมาตามเส้นทางที่กำหนดไว้แทน

หลังจากผ่านกระบวนการตรวจสอบด้วยสมองกล และมนุษย์มาจนครบถ้วนแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนของการเก็บรายละเอียดสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นการระบุหมายเลข IMEI, การประทับโลโก้ Huawei, การแปะบาร์โค้ด, การติดสติกเกอร์, การแปะแผ่นพลาสติก ไปจนถึงการซีลพลาสติกรอบๆ กล่องบรรจุภัณฑ์

อย่างขั้นตอนของการผลิตจากจุดเริ่มต้นออกมาเป็นสมาร์ทโฟนกล้องเทพรุ่นใหม่ล่าสุดอย่าง Huawei P20 Pro จนถึงบรรจุลงกล่องพร้อมนำออกจำหน่าย ก็จะใช้เวลาประมาณ 30 นาที และจะมีเครื่องใหม่แพ็กกล่องออกมาทุกๆ ช่วงเวลาประมาณ 20 วินาที เรียกว่าพอได้เห็น P20 Pro เครื่องละเกือบ 3 หมื่นบาท ไหลออกมาเป็นเทน้ำเทท่าแบบนี้ ก็รู้สึกได้ทันทีว่าเครื่อง P20 Pro ในมือผมก็เป็นแค่ 1 ในหลายล้านเครื่องบนโลกนี้เท่านั้นเองครับ


สรุปส่งท้าย

ก็เรียกได้ว่าทริปนี้คุ้มค่าได้ที่ได้บินมากับ Huawei จริงๆ ครับ เพราะได้ครบจบทุกอย่างในทริปเดียว ได้รู้จักกับแบรนด์สมาร์ทโฟนระดับโลกอย่าง Huawei มากขึ้นในทุกแง่ทุกมุม ทั้งจากการเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่, เยี่ยมชมศูนย์วิจัย และพัฒนา, เยี่ยมชมสายการผลิต และการที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงตัวจริงเสียงจริง ซึ่งก็ช่วยให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าแบรนด์ Huawei แม้จะเป็นแบรนด์จีน แต่ก็มีความแตกต่างจากแบรนด์จีนอื่นๆ อีกหลายๆ แบรนด์ หากดูกันที่นวัตกรรม, คุณภาพ และมาตรฐานการผลิตโดยรวม ก็ถือว่าเป็นแบรนด์ระดับโลกไปแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย และยิ่งไปกว่านั้นคือผมยังได้ทราบข้อมูลของสมาร์ทโฟนรุ่นไฮไลท์ใหม่ล่าสุดของ Huawei ที่กำลังจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้อีกด้วย แต่ก็ต้องขออนุญาตอุบไว้ก่อน รอวันเปิดตัวเราจะนำมาพรีวิวให้ชมกันอย่างแน่นอน รอติดตามกันได้ครับ สุดท้ายนี้ก็ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามชม รวมถึงต้องขอขอบคุณทาง Huawei ที่พาไปทัวร์ในครั้งนี้ด้วยครับ สวัสดีครับ


อ่านเพิ่มเติม

Who is Huawei? บุกสำนักงานใหญ่ รู้จัก Huawei ให้ถึงแก่น เผยเส้นทางสู่แบรนด์ชั้นนำของโลก และกลยุทธ์สู่ความยิ่งใหญ่ในอนาคต!

 

thaimobilecenter.com

 


วันที่ : 17/7/2561

Tags :
  

Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy