หน้าแรกมือถือ > รวมข่าวมือถือ > หน้าบทความ ข่าวมือถือ
   
Date : 23/6/2563

มือถือยิ่งมีกล้องเยอะ ยิ่งช่วยให้ถ่ายภาพได้ดีขึ้นจริงหรือ?

 

อย่างที่หลายท่านน่าจะเห็นกันวา่ ปัจจุบันสมาร์ทโฟนเริ่มมีจำนวนกล้องถ่ายภาพที่มากขึ้น และมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในขณะนี้ก็เริ่มมีมือถือที่มาพร้อมกับกล้องถ่ายภาพด้านหลังมากถึง 5 ตัวให้เห็นกันหลายรุ่นแล้ว แต่หนึ่งในสิ่งที่ใครหลายคนอาจกำลังสงสัยก็คือ มือถือกล้องยิ่งเยอะยิ่งดีหรือไม่? ไปติดตามพร้อมกันเลยครับ

 

มือถือกล้องเยอะ ดีอย่างไร?

กล้องถ่ายภาพบนสมาร์ทโฟนแม้ว่าจะมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังคงมีข้อจำกัดทางด้านฮาร์ดแวร์ ไม่ว่าจะเป็น เซ็นเซอร์รับภาพที่มีขนาดเล็ก หรือ เลนส์ที่ไม่สามารถอดเข้าออกได้เหมือนกับกล้องใหญ่ ทำให้ผู้ผลิตจำเป็นต้องเพิ่มกล้องตัวรองเข้าไปเพื่อทลายข้อจำกัดเหล่านี้ เช่น การใส่เลนส์ Ultra-Wide เพื่อช่วยให้สมาร์ทโฟนสามารถถ่ายภาพมุมกว้างพิเศษโดยไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เสริม, การใส่เลนส์ Telephoto เพื่อช่วยให้ซูมภาพได้โดยไม่สูญเสียรายละเอียด หรือการใส่เลนส์ Depth เพื่อช่วยเก็บระยะชัดตื้นสำหรับทำเอฟเฟกต์หน้าชัดหลังเบลอ เป็นต้น

 

กล้องมือถือยิ่งเยอะยิ่งดี?

ตัวอย่างเซ็ตอัพกล้องของ iPhone 11 Pro ที่กล้องตัวรองมาพร้อมกับค่ารูรับแสง และชิ้นเลนส์ที่น้อยกว่ากล้องตัวหลัก

คำตอบของประเด็นนี้ คือ จริง และไม่จริง เสมอไป โดย Android Authority มองว่า มือถือที่มีกล้องมากกว่า อาจไม่ได้ส่งผลต่อคุณภาพถ่ายที่ดีกว่าเสมอไป (Quantity =/= Quality) เพราะอย่างที่กล่าวไปในหัวข้อด้านต้นว่า กล้องที่ถูกเพิ่มเข้าไปจะเป็นกล้องตัวรอง ซึ่งโดยปกติแล้ว จะมีความละเอียด, จำนวนชิ้นเลนส์, ขนาดเซ็นเซอร์ และค่ารูรับแสงที่น้อยกว่ากล้องตัวหลัก (Main Camera) 

 

ตัวอยา่งภาพถ่ายเปรียบเทียบกล้องตัวหลัก และกล้องเลนส์ Ultra Wide ของ HUAWEI nova 5T ยืนถ่ายในระยะเดียวกัน 

สาเหตุที่กล้องตัวรองส่วนมากจะมีสเปกที่ด้อยกว่ากล้องตัวหลัก ก็เนื่องมาจากกล้องเหล่านี้ไม่ได้ถูกใช้ในโหมดถ่ายภาพ หรือการถ่ายวิดีโอแบบปกติที่เราใช้กันอยู่เป็นประจำ แต่จะทำงานก็ต่อเมื่อผู้ใช้เข้าสู่โหมดถ่ายภาพที่มีความจำเป็นต้องดึงความสามารถของกล้องตัวรองออกมา เช่น โหมดถ่ายภาพ Portrait ที่จำเป็นต้องใช้ความสามารถของกล้อง Depth ในการข้อมูลระยะชัดตื้นเพื่อมาประมวลผลร่วมกับซอฟท์แวร์ สำหรับทำเอฟเฟกต์หน้าชัดหลังเบลอ หรือเอฟเฟกต์โบเก้ได้อย่างเนียนตา หรือโหมดถ่ายภาพ Macro ที่จำเป็นต้องใช้กล้องตัวรองที่มีความสามารถในการโฟกัสระยะใกล้ระดับ 2-4 เซนติเมตร เพื่อช่วยให้การถ่ายภาพในระยะใกล้มีความคมชัด ซึ่งหน้าที่เหล่านี้เป็นสิ่งที่กล้องตัวหลักทำได้ไม่ดีเท่า แต่ในทางกลับกัน หากเรานำกล้องตัวรองไปเก็บภาพถ่ายที่เน้นเก็บรายละเอียด ก็อาจทำได้ไม่ดีเท่ากับกล้องตัวหลักที่เซ็นเซอร์ใหญ่กว่า หรือความละเอียดสูงกว่า ดังนั้นอาจสรุปได้ว่า การที่สมาร์ทโฟนมีจำนวนกล้องถ่ายภาพที่มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการถ่ายภาพรูปแบบต่างๆ ได้มากกว่าการที่สมาร์ทโฟนมีกล้องเพียงตัวเดียวนั่นเอง

 

มือถือที่มีกล้องตัวรองหลายๆ ตัวบางรุ่น อาจช่วยเสริมให้คุณภาพของภาพถ่ายโดยรวมดีขึ้นตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น Nokia 9 PureView ที่ไม่ได้ใส่กล้องตัวรองเป็นเลนส์ในระยะต่างๆ มาให้ แต่เลือกใส่เซ็นเซอร์รับภาพสีกับขาวดำรวมแล้วทั้งหมด 5 ตัว ซึ่งจะคอยทำหน้าที่ในการถ่ายภาพจากกล้องทุกตัวพร้อมกัน และนำมาประมวลผลเป็นภาพถ่ายใบเดียว ซึ่งจะช่วยเพิ่ม Dynamic Range ให้กว้างขึ้น รวมถึงเก็บมิติชัดตื้นได้ดียิ่งขึ้น ช่วยเสริมคุณภาพของกล้องตัวหลักไปอีกขั้น 

 

แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันที่เทคโนโลยี Computational Photography หรือการถ่ายภาพที่นำเอาปัญญาประดิษฐ์ และเทคนิคทางคอมพิวเตอร์ (อ่านข้อมูลเกี่ยวกับ Computational Photography ได้ที่นี่) เริ่มเข้ามามีบทบาทด้านการถ่ายภาพมากยิ่งขึ้น จึงทำให้เราได้เห็นมือถือกล้องตัวเดียวสามารถทำฟีเจอร์แบบเดียวกับที่มือถือหลายกล้องได้ เช่น Google Pixel 2 ที่มีกล้องหลังตัวเดียว แต่กลับสามารถถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอได้เหมือนกับ iPhone X ที่มีกล้องหลังคู่ อีกทั้งยังสามารถทำคะแนนทดสอบด้านการถ่ายภาพโดยรวมจาก DxOMark ได้สูงกว่าที่ 99 ต่อ 97 คะแนน 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเทคโนโลยี Computational Photography จะเข้ามามีบทบาทมากน้อยเพียงใด แต่ด้วยข้อจำกัดของกล้องหลังตัวเดียวบนสมาร์ทโฟนที่มีขนาดเซ็นเซอร์ที่เล็ก และไม่สามารถถอดเปลี่ยนเลนส์ได้เอง จึงทำให้มือถือกล้องเดี่ยวอาจไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานในยุคปัจจุบันมากนัก ส่งผลให้หลายค่ายจำเป็นต้องใส่กล้องตัวรองมาให้ด้วย อย่างเช่น Google ที่ตัดสินใจเลือกใส่กล้องคู่ครั้งแรกในรุ่น Pixel 4 เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม กล้องถ่ายภาพก็เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น เพราะสมาร์ทโฟนแต่ละรุ่นก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป  สมาร์ทโฟนเครื่องไหนจะดีที่สุดนั้นคงต้องขึ้นอยู่กับความชื่นชอบส่วนบุคคลของผู้ใช้งานด้วย หากทดลองใช้งานแล้วถูกใจ มีคุณสมบัติที่ตรงตามความต้องการ ก็ถือว่ามือถือรุ่นนั้นเหมาะสมกับผู้ใช้แล้วครับ

 

ที่มา : Android AuthorityTechnizo Concept


วันที่ : 23/6/2563



Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy