รีวิว (Review) OnePlus 7 Pro
เรือธง Super Flagship รุ่นใหม่ ไฮเอนด์ขั้นสุดทุกองค์ประกอบ แรงจัดเต็มทุกการใช้งาน ด้วยจอขอบโค้ง Fluid AMOLED 6.67 นิ้ว 90Hz รุ่นแรกของโลก ผสานระบบสแกนนิ้วบนหน้าจอ, กล้อง Triple Camera 48MP พร้อม Dual OIS+3x Optical Zoom, กล้องหน้า Pop-Up สุดล้ำ, ชิปเซ็ต Snapdragon 855 ตัวท็อป, RAM สูงสุด 12GB, ROM UFS 3.0 สูงสุด 256GB, แบตเตอรี่ Warp Charge 30 ชาร์จเร็วใหญ่ 4000 mAh และลำโพงคู่ Dolby Atmos บนบอดี้กระจกโค้งสุดพรีเมียม ในราคาเริ่มที่ 24,990 บาท
29 พฤษภาคม 2019 - ย้อนกลับไปเมื่องาน OnePlus 7 Series
Launch Event ที่ขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แบรนด์ OnePlus
ได้ทำการเปิดตัวมือถือรุ่นใหม่ในชื่อ OnePlus 7 Pro
ที่วางตัวเป็น Super Flagship หรือสุดยอดเรือธง ให้ได้เห็นกันอย่างเป็นทางการ
โดยสาเหตุที่ OnePlus ใช้คำว่า Super Flagship นั้นก็
เนื่องมาจากคุณสมบัติภายในตัวเครื่องแบบจัดเต็มที่โดดเด่นกว่าเรือธงบางรุ่นบน
ท้องตลาด รวมทั้งยังโดดเด่นกว่า OnePlus รุ่นอื่นๆ ที่เคยเปิดตัวมา
ซึ่งอาจเรียกได้ว่า OnePlus 7 Pro เป็นมือถือที่ดีที่สุดเท่าที่ OnePlus
เคยทำมาเลยก็ว่าได้
สำหรับ OnePlus 7 Pro มีความน่าสนใจเริ่มตั้งแต่หน้าจอแสดงผลแบบใหม่ในชื่อ
Fluid AMOLED ที่มีขนาดใหญ่เต็มตาถึง 6.67 นิ้ว
บนความละเอียดระดับ QHD+ (3120x1440 พิกเซล) พร้อมค่า Refresh
Rate ที่ระดับ 90 Hz เป็นรุ่นแรกของโลก ช่วยให้ใช้งานได้อย่างลื่นไหล พร้อมบอดี้กระจก 3D Gorilla Glass
แบบขอบโค้งที่ถูกขึ้นรูปเป็นชิ้นเดียวกันเพื่อช่วยให้จับถือได้อย่างถนัดมือ
นอกจากนี้ OnePlus 7 Pro ยังมาพร้อมกับตัวเลือกสีใหม่อย่างสีน้ำเงิน Nebula
Blue ที่มีความสวยงาม และแปลกตาไปจาก OnePlus รุ่นก่อนๆ
ส่วนทางด้านสเปกก็ถือว่าจัดเต็มสมกับสมาร์ทโฟนเรือธงประจำปี 2019
เริ่มตั้งแต่ การปรับไปใช้ขุมพลังชิปเซ็ตตัวท็อปใหม่ล่าสุดอย่าง Snapdragon 855 Octa-Core
Processor ประกบคู่กับหน่วยความจำแรม (RAM) ที่มีขนาดสูงสุดถึง 12GB
พร้อมหน่วยความจำภายในแบบ UFS 3.0 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่
ล่าสุดที่อ่านเขียนข้อมูลได้เร็วกว่าหน่วยความจำแบบ UFS 2.1
ที่ใช้กันบนสมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นปัจจุบัน
รวมทั้งยังขับเคลื่อนการทำงานด้วยระบบปฏิบัติการ Android OS เวอร์ชัน 9
Pie ครอบทับด้วย UI ที่ทาง OnePlus พัฒนาขึ้นมาเองในชื่อ OxygenOS
9.5 ที่มีจุดเด่นด้านความลื่นไหลในการใช้งาน อีกทั้งทาง OnePlus
ยังติดตั้งระบบระบายความร้อนด้วยของเหลวแบบ 10
ชั้นเอาไว้ภายในตัวเครื่องเพื่อช่วยถ่ายเทความร้อนได้ดียิ่งขึ้น
สำหรับการถ่ายภาพก็ถือว่ามีการอัปเกรดใหม่ยกชุด โดยปรับไปใช้ชุดกล้องหลัง 3 ตัว (Triple Camera) แบ่งออกเป็น กล้องตัวหลักความละเอียด 48 ล้านพิกเซล รูรับแสงกว้าง f/1.6, กล้องเลนส์ Ultra Wide Angle ความละเอียด 16 ล้านพิกเซล รูรับแสงกว้าง f/2.2 และกล้อง Telephoto ความละเอียด 8 ล้านพิกเซล รูรับแสงกว้าง f/2.4 ที่รองรับการซูมภาพแบบ Optical Zoom 3 เท่า พร้อมระบบป้องกันการสั่นแบบ Dual OIS และระบบโฟกัสภาพอัตโนมัติแบบ PDAF, CAF และ LAF
จากข้อมูลทั้งหมดพอจะให้ทุกท่านเห็นภาพได้ว่า OnePlus 7 Pro มีสเปกที่สมกับฐานะสมาร์ทโฟนระดับ Super Flagship เลยทีเดียว โดยตัวเครื่องจริงจะมีความสวยงามอย่างไร ฟังก์ชันต่างๆ ตอบโจทย์การใช้งานมากน้อยขนาดไหน ไปติดตามรีวิวจากทีมงาน Thaimobilecenter กันได้เลยครับ
รูป ลักษณ์ภายนอกตัวเครื่อง และการออกแบบดีไซน์
เริ่มต้นที่กล่องแพ็กเกจกันก่อน OnePlus 7 Pro ยังคงเลือกใช้กล่องบรรจุภัณฑ์ในโทนสีขาวตัดกับสีแดงอันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ OnePlus เช่นเดิม โดยที่ด้านหน้ากล่องมีการพิมพ์เลข 7 ซึ่งเป็นการสื่อถึงชื่อซีรีส์นี้เอาไว้อย่างชัดเจน
เมื่อเปิดกล่องชั้นนอกออกมาจะพบกับเอกสารต่างๆ ของ OnePlus 7 Pro ที่ถูกจัดเก็บไว้ในบรรจุภัณฑ์สีแดง ประกอบไปด้วย Invitation Letter ซึ่งเป็นจดหมายแสดงความขอบคุณต่อแฟนๆ OnePlus ที่เขียนโดย Pet Lau ซึ่งเป็นซีอีโอของ OnePlus, เข็มจิ้มถาดใส่ซิมการ์ด, เอกสารด้านความปลอดภัย และแผ่นคู่มือการใช้งานตัวเครื่องขนาดใหญ่
ส่วนสติ๊กเกอร์ที่แถมมาให้กับ OnePlus 7 Pro จะมีทั้งหมด 2 ชิ้น คือ โลโก OnePlus สีแดง และสโลโก Never Settle สีขาว
ด้านเคสที่แถมมาให้ จะเป็นเคสใสที่ปกป้องขอบตัวเครื่องได้รอบด้าน พร้อมกับเว้นช่องว่างสำหรับกล้องหน้าแบบ Pop-up Camera ของ OnePlus 7 Pro เอาไว้อย่างพอดิบพอดี
เมื่อเข้ามาดูภายในกล่องออกมาจะพบกับ OnePlus 7 Pro ที่ถูกหุ้มด้วยพลาสติกถูกจัดวางเอาไว้อย่างเป็นระเบียบ โดยที่ด้านหน้าของจะมีการพิมพ์สโลแกนของ OnePlus นั่นคือ Never Settle (อย่างหยุดนิ่ง) เอาไว้ด้วย ส่วนที่ด้านล่างของพลาสติกจะมีไอคอนรูปลายนิ้วมือเอาไว้ ซึ่งเป็นการสื่อว่าสมาร์ทโฟนรุ่นดังกล่าวรองรับการสแกนลายนิ้วมือบนหน้าจอนั่นเอง
สำหรับอุปกรณ์ที่แถมมาให้ภายในกล่องชั้นในสุด ได้แก่ อแดปเตอร์ชาร์จไฟที่รองรับระบบชาร์จเร็วแบบบ Warp Charge 30 โดยรองรับการจ่ายไฟได้สูงสุดที่ 5V/6A หรือ 30W ซึ่งถือว่าเร็วกว่าระบบ Dash Charge ที่ใช้บน OnePlus รุ่นก่อนๆ ซึ่งรองรับการจ่ายไฟสูงสุดที่ 5V/4A หรือ 20W เท่านั้น (เนื่องจากเครื่องที่ทีมงานได้รับมารีวิวเป็นเครื่องสำหรับวางจำหน่ายในประเทศอังกฤษ จึงทำให้อแดปเตอร์เป็นหัวปลั๊กแบบ 3 ขา โดยเวอร์ชันที่วางจำหน่ายในประเทศไทยจะเป็นหัวปลั๊กสองขาตามปกติครับ) พร้อมสาย USB Type-C สีแดงสำหรับชาร์จแบตเตอรี่ หรือโอนถ่ายข้อมูลภายในตัวเครื่อง
ข้าวมาดูที่ตัวเครื่องกันบ้าง อย่างที่กล่าวไปตั้งแต่ต้นว่า OnePlus 7 Pro ปรับโฉมใหม่หมดจดในเรื่องของดีไซน์หน้าจอแสดงผล ซึ่งรอบนี้ปรับไปใช้หน้าจอแบบใหม่ที่มีชื่อว่า Fluid AMOLED โดยเป็นหน้าจอขอบโค้งขนาด 6.67 นิ้ว บนความละเอียดคมชัดระดับ QHD+ (3120x1440 พิกเซล) ซึ่งตัวหน้าจอทั้งหมดของ OnePlus 7 Pro จะถูกครอบทับด้วยกระจก 3D Gorilla Glass อีกหนึ่งชั้นเพื่อช่วยป้องกันความเสียหายจากการตกกระแทก
หน้าจอของ OnePlus 7 Pro ยังรองรับการแสดงผลแบบ HDR10+ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้หน้าจอสามารถแสดงค่า Contrast ได้ดีขึ้น และมี Dynamic Range ที่กว้างขึ้นด้วย ทำให้ผู้ใช้ต่างๆ จะมองเห็นรายละเอียดต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในฉากที่มีความมืด หรือความสว่างได้อย่างชัดเจนขึ้นนั่นเอง โดยในปัจจุบันบริการสตรีมมิ่งที่มีคอนเทนต์ซึ่งรองรับการแสดงผลแบบ HDR10+ ก็เริ่มมีความแพร่หลายแล้ว ยกตัวอย่างเช่น Youtube, Netflix หรือ Amazon Prime เป็นต้น
นอกจากนี้ หน้าจอของ OnePlus 7 Pro ยังมาพร้อมกับค่า Refresh Rate ที่ระดับ 90Hz ซึ่งหมายความว่าหน้าจอของ OnePlus 7 Pro จะสามารถแสดงภาพนิ่งได้ทั้งหมด 90 เฟรมใน 1 วินาที ส่งผลให้แอนิเมชันในการทัชสกรีน, การสไลด์หน้าจอ และการใช้งานโดยรวมดูลื่นไหลกว่าหน้าจอสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่มีค่า Refresh Rate อยู่ที่ระดับ 60Hz
ด้วยการที่ OnePlus อัปเกรดหน้าจอ OnePlus 7 Pro ครั้งใหญ่นี้เองทำให้ได้รับการตัดเกรดจาก DisplayMate ผู้เชี่ยวชาญด้านการทดสอบหน้าจอชั้นนำระดับโลกให้อยู่ในระดับ A+ ซึ่งเป็นคะแนนที่อยู่ในระดับสูงสุดจากฝั่ง DisplayMate โดยทางผู้ทดสอบระบุว่า หน้าจอ OnePlus 7 Pro มีจุดเด่นด้านค่าความสว่างที่สูง, ค่า Dynamic Range ที่กว้าง, สีสันที่เที่ยงตรง, ฟังก์ชัน Night Mode ที่ช่วยลดแสงสีฟ้าได้อย่างดีเยี่ยม รวมถึงอัตราการบริโภคพลังงานที่ต่ำ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้หน้าจอ Fluid AMOLED มีประสิทธิภาพที่โดดเด่น และได้รับคะแนนทดสอบสูงขนาดนี้นั้น เป็นเพราะทาง OnePlus ได้ลงทุนกับแผนกวิจัย และการพัฒนา (R&D) ในการพัฒนาหน้าจอแสดงผลรุ่นนี้เป็นเม็ดเงินรวมแล้วราว 100 ล้านหยวน หรือประมาณ 460 ล้านบาทเลยทีเดียว
อีกหนึ่งลูกเล่นสำคัญของหน้าจอ Fluid AMOLED บน OnePlus 7 Pro คือฟังก์ชัน Horizon Light
ซึ่งจะเป็นการแสดงไฟสถานะบริเวณขอบหน้าจอเมื่อมีข้อความแจ้งเตือนจากแอปพลิเคชัน
ต่างๆ
สำหรับส่วนบนของหน้าจอแสดงผล OnePlus 7 Pro มีการซ่อนเซ็นเซอร์ต่างๆ เอาไว้อย่างแนบเนียน ไม่ว่าจะเป็น เซ็นเซอร์ Proximity สำหรับการปิดหน้าจอแบบอัตโนมัติเมื่อยกขึ้นโทรศัพท์ขึ้นมาแนบหู เพื่อประหยัดพลังงาน รวมถึงเซ็นเซอร์ Ambient Light สำหรับตรวจวัดระดับความสว่างของสภาพแวดล้อม เพื่อปรับระดับความสว่างของหน้าจอให้มีความเหมาะสมแบบอัตโนมัติ แต่น่าเสียดายตรงที่จะไม่มีไฟแจ้งเตือนสถานะแบบ LED เหมือนกับ OnePlus รุ่นก่อนแต่อย่างใด ส่วนลำโพงสนทนาของ OnePlus 7 Pro จะสังเกตเห็นได้ว่ามีความกว้างกว่าปกติ เนื่องจากลำโพงตรงส่วนนี้จะถูกใช้งานเป็นลำโพงตัวที่สองเพื่อช่วยขับเสียงให้ดังขึ้น นั่นเอง
ที่ด้านล่างของหน้าจอมาพร้อมกับปุ่มควบคุมแบบ สัมผัส ประกอบด้วย ปุ่ม Back สำหรับย้อนกลับ, ปุ่ม Home สำหรับกลับไปยังหน้าโฮมสกรีน และปุ่ม Recent Apps สำหรับเรียกดูแอปพลิเคชันทั้งหมดที่ทำงานอยู่เบื้องหลัง ซึ่งหากใครที่ต้องการใช้หน้าจอ Fluid AMOLED แบบเต็มพื้นที่ก็สามารถปรับไปใช้วิธีควบคุมแบบ Gesture ได้ในการตั้งค่าภายในระบบครับ
และนอกเหนือจากปุ่มควบคุมต่างๆ แล้ว ที่ด้านล่างของหน้าจอยังฝังเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วเอาไว้ด้วย โดยทาง OnePlus เปิดเผยว่า เซ็นเซอร์สแกนนิ้วใต้จอของ OnePlus 7 Pro จะสามารถปลดล็อกได้เร็วยิ่งกว่ารุ่น OnePlus 6T ถึง 38% โดยจะใช้เวลาปลดล็อกเพียง 0.21 วินาทีเท่านั้น ส่งผลให้ OnePlus 7 Pro เป็นมือถือที่มีระบบปลดล็อกบนหน้าจอที่รวดเร็วที่สุดในโลก ณ ชั่วโมงนี้
ที่ด้านซ้ายของตัวเครื่อง ติดตั้งปุ่มปรับระดับเสียงเอาไว้
ที่ด้านขวาของตัวเครื่อง ประกอบไปด้วย ปุ่ม Alert Slider สำหรับปรับรูปแบบการแจ้งเตือนแบบเร่งด่วนแบบ 3 ระดับ (1.เลื่อนขึ้นไปด้านบนสุดเพื่อเปิดเสียงแจ้งเตือน 2.เลื่อนมาที่ระดับกลางเพื่อเปิดโหมดสั่น 3.เลื่อนลงมาด้านล่างเพื่อปิดเสียง)
ที่ด้านบนของตัวเครื่องมีการเว้นพื้นที่สำหรับ กลไกกล้องหน้าเลื่อนได้แบบ Pop-up Camera พร้อมไมโครโฟนตัวที่สองสำหรับตัดเสียงรบกวน
ที่ด้านล่างของตัวเครื่อง ประกอบไปด้วย ถาดใส่ซิมการ์ดแบบ Hybrid Slot, พอร์ตเชื่อมต่อแบบ USB Type-C, ไมโครโฟนสำหรับสนทนา และลำโพงเสียงหลักของตัวเครื่อง ทำให้ OnePlus 7 Pro เป็นสมาร์ทโฟนรุ่นแรกของค่ายที่ได้ใช้ระบบลำโพงคู่แบบ Stereo Speakers นอกจากนี้ ลำโพงคู่ของ OnePlus 7 Pro ยังมีการพัฒนาร่วมกับ Dolby Atmos เพื่อช่วยพัฒนาลำโพงเสียงให้มีความกระหึ่ม และถ่ายทอดรายละเอียดต่างๆ ได้ดีมากยิ่งขึ้น
พลิกมาดูที่ด้านหลังของตัวเครื่องกันบ้าง โดย OnePlus 7 Pro มาพร้อมกับบอดี้กระจก Gorilla Glass ที่มีขอบโค้งซึ่งโอบรับเข้ากับอุ้งมือผู้ใช้งานได้เป็นอย่างดี ซึ่งสีที่ทีมงานได้รับมารีวิวในวันนี้คือสี Nebula Blue หรือสีน้ำเงินที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากห้วงอวกาศ โดยสี Nebula Blue ถือว่ามีความแตกต่างจากสีอื่นๆ เนื่องจากเป็นสีเดียวที่มีผิวสัมผัสแบบด้านในขณะที่สีอื่นเป็นสีแบบมันเงาคล้ายกับ กระจก โดยตัวเครื่องสวยๆ แบบนี้ทาง OnePlus มีการติดซีลยางกันน้ำเอาไว้ด้านในด้วย (ทาง OnePlus ไม่ระบุค่า IP Rating)
ที่ด้านบนติดตั้งชุดกล้องหลัง 3 ตัว (Triple Camera) ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่ OnePlus เลือกใช้ชุดกล้องหลัง 3 ตัวบนสมาาร์ทโฟนของตนเอง หลังจากใช้งานกล้องหลังคู่มาตั้งแต่รุ่น OnePlus 5T โดยกล้องแต่ละตัวประกอบไปด้วย กล้องตัวหลักความละเอียด 48 ล้านพิกเซล เซ็นเซอร์รับภาพ Sony IMX586 ที่มีค่ารูรับแสงกว้าง f/1.6 พร้อมโครงสร้างเลนส์แบบ 7 ชิ้น และมีระบบป้องกันภาพสั่นไหวแบบ OIS ภายในตัว ถัดมาเป็นกล้องเลนส์ซูม (Telephoto) ความละเอียด 8 ล้านพิกเซล รูรับแสงกว้าง f/2.4 พร้อมระบบป้องกันภาพสั่นไหวแบบ OIS ด้านกล้องตัวที่สามที่ถูกเพิ่มเข้ามาใหม่คือ กล้องเลนส์มุมกว้างพิเศษแบบ Ultra Wide Angle ความละเอียด 16 ล้านพิกเซล รูรับแสงกว้าง f/2.2 ที่มีองศาในการรับภาพกว้าง 117 องศา ส่วนโมดูลที่คั่นระกว่างกลางชุดกล้องคือเซ็นเซอร์ Laser Autofocus สำหรับช่วยโฟกัสในสภาวะแสงน้อยผ่านการยิงเลเซอร์ นอกจากนี้ กล้องของ OnePlus 7 Pro ยังมีระบบโฟกัสอีกสองแบบคือ PDAF (Phase Detection Autofocus) และ CAF (Continuous Auto Focus) ส่วนที่อยู่ด้านล่างสุดคือไฟแฟลชแบบ Dual LED
เปิดเครื่องใช้งาน พร้อมการทดสอบฟังก์ชัน และแอปพลิเคชันต่างๆ
OnePlus 7 Pro ขับเคลื่อนการทำงานด้วยระบบปฏิบัติการ OxygenOS 9.5 เวอร์ชันใหม่ล่าสุดซึ่งต่อยอดพัฒนามาจาก Android OS เวอร์ชัน 9 Pie โดย Oxygen OS 9.5 ยังคงเน้นไปในเรื่องของความสะอาดตาคล้ายกับระบบปฏิบัติการแบบ Stock Android แต่มีปรับปรุงความเร็วด้านการทำงาน และความลื่นไหลตามคอนเซ็ปท์ Fast and Smooth
จุดเด่นของ OxygenOS นอกเหนือจากเรื่องความเร็วของระบบ Android ที่ได้รับคะแนนเป็นอันดับหนึ่งจากผลสำรวจของ PC Mark แล้ว OxygenOS ยังถือเป็นอีกหนึ่งในระบบปฏิบัติการที่ขึ้นชื่อการได้รับอัปเดตใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นรองเพียงแค่ Google เท่านั้นตามผลการสำรวจของ AOSMark โดย OnePlus เปิดเผยว่า มือถือ OnePlus ทุกรุ่นจะได้รับการอัปเดตด้านซอฟท์แวร์เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี ส่วนการอัปเดตความปลอดภัยจะได้รับอัปเดตอย่างน้อย 3 ปีด้วยกัน ทำให้ผู้ใช้มั่นใจได้ว่า จะได้รับอัปเดตฟีเจอร์ใหม่ๆ รวมถึงระบบปฏิบัติการเวอร์ชันใหม่อย่างต่อเนื่องอย่างแน่นอน
รองรับการใช้งานแบบ 2 ซิมการ์ด พร้อมรองรับการเชื่อมต่อบนเครือข่าย และการแสตนด์บายบนเครือข่าย 4G LTE ทั้งสองซิมการ์ด ส่วนเทคโนโลยี VoLTE (Voice over LTE) จากที่ทีมงานตรวจสอบมาพบว่า ในเบื้องต้น OnePlus 7 Pro จะสามารถใช้งาน VoLTE ร่วมกับเครือข่าย AIS ก่อนเป็นลำดับแรก ส่วนเครือข่ายอื่นๆ อาจต้องรอการอัปเดตเพิ่มเติมอีกครั้งในอนาคตครับ
เมื่อลากนิ้วจากขอบด้านบนลงมาด้านล่างจะพบกับ Toggle Switch ซึ่งเป็นหน้ารวบรวมคำสั่งลัดสำหรับสั่งการแบบเร่งด่วน เช่น การเปิด-ปิด อินเทอร์เน็ต หรือเปิด-ปิด ไฟฉาย เป็นต้น โดยผู้ใช้สามารถสลับตำแหน่งของคีย์ลัดได้เองผ่านการแตะที่ไอคอนรูปดินสอที่อยู่ด้าน ล่าง
ถัดลงมาคือ Notification Center ซึ่งเป็นศูนย์รวมการแจ้งเตือนต่างๆ โดยผู้ใช้สามารถปัดไปทางด้านซ้าย-ขวา เพื่อลบการแจ้งเตือนได้อย่างรวดเร็ว และหากลากนิ้วค้างไว้จะเป็นการเรียกเมนูการตั้งค่าต่างๆ เกี่ยวกับการแจ้งเตือน ได้แก่ การตั้งค่าการแจ้งเตือนของแอปพลิเคชันนั้นๆ และการเลื่อนการแจ้งเตือนออกไปตามระยะเวลาที่กำหนด
เมื่อปัดไปที่ด้านขวาจากหน้าโฮมสกรีน จะพบกับหน้ารวมวิดเจ็ตสารพัดประโยชน์จากทาง OnePlus ไม่ว่าจะเป็น การเขียนบันทึกแบบเร่งด่วน, การเข้าเมนูถ่ายภาพเซลฟี่ รวมถึงบันทึกสถานที่จอดรถของผู้ใช้งาน เป็นต้น โดยผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยนตำแหน่ง หรือเพิ่มวิดเจ็ตต่างๆ ได้เพิ่มเติมผ่านการแตะที่ไอคอน 3 ขีดบริเวณมุมซ้ายบน
สำหรับแอปพลิเคชันทั้งหมดภายในตัวเครื่องจะถูก จัดเรียงเอาไว้ภายใน App Drawer โดยผู้ใช้สามารถเรียกใช้งานได้ผ่านการลากนิ้วขึ้นจากด้านล่าง
เมื่อแตะค้างที่หน้าไอคอนจะปรากฏการแจ้งเตือน และคีย์ลัดแบบเร่งด่วน (รองรับเฉพาะบางแอปพลิเคชันเท่านั้น)
สำหรับแอปพลิเคชันที่ติดตั้งมาให้ภายในตัว เครื่องจะมีเพียงแค่แอปพลิเคชันพื้นฐานจาก Google เช่น Google Drive, Google Photos หรือ Gmail เท่านั้น ส่วนแอปพลิเคชันจากทาง OnePlus จะมีเพียงสองแอปพลิเคชันคือ Community สำหรับเข้าถึงคอมมูนิตี้ผู้ใช้งานของ OnePlus และ OnePlus Switch สำหรับโอนถ่ายข้อมูลมือถือจากเครื่องเก่ามาเครื่องใหม่ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งสาเหตุที่มีแอปพลิเคชันติดเครื่องมาน้อยเนื่องจากทาง OnePlus เน้นในเรื่องประสบการณ์การใช้งานที่ใกล้เคียงกับ Stock Android นั่นเอง
แม้จะหน้าตาภายนอกอาจใกล้เคียงกับ Stock Android แต่ภายใน OxygenOS จะมีการเพิ่มลูกเล่นต่างๆ เพื่อตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวัน เริ่มตั้งแต่ ฟังก์ชัน Night Mode 2.0 ที่เป็นการปรับอุณหภูมิหน้าจอให้อยู่ในโทนอุ่นพร้อมกับตัดแสงสีฟ้าที่ออกมาจาก หน้าจอให้น้อยลงเพื่อลดอาการล้าทางสายตา และป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับดวงตา ซึ่งฟังก์ชัน Night Mode 2.0 ยังได้รับมาตรฐานจาก VDE Institue ซึ่งเป็นหน่วยงานทดสอบเกี่ยวกับอุตสาหกรรมจากประเทศเยอรมนี อีกด้วย
ในส่วนของฟังก์ชันเกี่ยวกับหน้าจอยังมาพร้อมกับ ฟีเจอร์ Reading Mode สำหรับปรับการแสดงผลของหน้าจอ และตัวอักษรให้เหมาะสมกับนักอ่านทุกท่าน
รวมทั้งผู้ใช้ยังสามารถปรับรูปแบบการแสดงสีสัน ได้ทั้งหมด 3 รูปแบบ ได้แก่ Vivid (สีสันสดใส) Natural (สีสันธรรมชาติ) และ Adance (ขั้นสูง) ที่ผู้ใช้สามารถจะปรับแต่งการแสดงผลของสีสันตามมาตรฐานต่างๆ ได้อีก 3 แบบ เริ่มตั้งแต่ AMOLED Wide Gamut, sRGB และ Display P3
ส่วนการแสดงผลระดับ 90Hz ผู้ใช้สามารถปรับลดลงมาเหลือ 60Hz เพื่อช่วยประหยัดพลังงานมากขึ้นได้ แต่ทาง OnePlus จะแนะนำให้ผู้ใช้ปรับเป็นค่า 90Hz เพื่อประสบการณ์ใช้งานที่ลื่นไหลมากยิ่งขึ้น รวมทั้งผู้ใช้ยังสามารถเลือกปรับความละเอียดของการแสดงผลได้ทั้งหมด 3 รูปแบบ ได้แก่ Auto Switch สำหรับปรับความละเอียดการแสดงผลให้เหมาะสมแบบอัตโนมัติ, QHD+ ปรับการแสดงผลอยู่ที่ความละเอียด 3120x1440 พิกเซล ตามความละเอียด Native ของหน้าจอ Fluid AMOLED และ Full HD+ สำหรับปรับลดความละเอียดผลลงมาที่ 2336x1080 พิกเซล เพื่อประหยัดแบตเตอรี่มากขึ้น
มาพร้อมกับฟังก์ชัน Video Enhancer ซึ่งจะช่วยปรับสีสันของคลิปวิดีโอที่เล่นอยู่ให้มีความสวยงามมากยิ่งขึ้น ตอบโจทย์การใช้งานร่วมกับหน้าจอแบบ Fluid AMOLED
สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการแสดงผลของฟังก์ชัน Ambient Display ได้ และสามารถเลือกตั้งข้อความที่ต้องการให้แสดงผลบนฟังก์ชัน Ambient Display ได้อีกด้วย
อย่างที่กล่าวไปตั้งแต่ต้นว่า OnePlus 7 Pro มาพร้อมกับระบบเสียงที่พัฒนาร่วมกับ Dolby Atmos โดยผู้ใช้สามารถปรับรูปแบบของเสียงได้ทั้งหมด 3 แบบ ประกอบไปด้วย Dynamic ซึ่งจะเป็นการปรับเสียงให้เหมาะสมกับคอนเทนต์ที่กำลังเล่นอยู่แบบอัตโนมัติ, Movie ปรับเสียงให้เหมาะสมกับคอนเทนต์ภาพยนตร์ และ Music ซึ่งเป็นการปรับเสียงให้เหมาะสมกับการฟังเพลงแบบเต็มอิ่ม
ปุ่มควบคุมแบบสัมผัส (Navigation Bar) ผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยนตำแหน่งของปุ่มได้เอง หรือจะเปลี่ยนไปใช้วิธีควบคุมแบบ Gesture ก็สามาราถทำได้เช่นเดียวกัน
ในส่วนของแบตเตอรี่ ผู้ใช้สามารถตรวจสอบแอปพลิเคชันเบื้องหลังที่อาจบริโภคแบตเตอรี่มากเกินจำเป็นได้เอง แต่หากใครที่ไม่แน่ใจว่าควรปิดการใช้งานแอปพลิเคชันใดบ้าง ก็อาจเปลี่ยนไปใช้ฟังก์ชัน Adaptive Battery ที่จะปล่อยให้ระบบทำการจัดสรรพลังงานให้เหมาะสมเองแบบอัตโนมัติก็ทำได้เช่นกัน
ในหน้าหน่วยความจำภายใน ผู้ใช้สามารถตรวจสอบเองได้ว่า พื้นที่ภายในตัวเครื่องถูกใช้ไปกับคอนเทนต์ หรือไฟล์ประเภทใดบ้าง และสามารถแตะที่คำสั่ง Free up Space เพื่อลบแอปพลิเคชันที่ไม่ได้ใช้งานบ่อยออกจากตัวเครื่อง เพื่อคืนพื้นที่กลับคืนมาได้อีกด้วย
นอกเหนือจากฟังก์ชันการทำงานต่างๆ ที่ผู้ใช้สามารถตั้งค่าได้เองแล้ว ระบบ Oxygen OS ยังมาพร้อมกับฟีเจอร์ที่เรียกว่า Utilities ซึ่งเป็นแหล่งรวมเครื่องมือ และลูกเล่นสารพัดประโยชน์ เริ่มตั้งแต่ Gaming Mode ที่เป็นการปรับแต่งรูปแบบการใช้งานให้เหมาะสมกับการเล่นเกม ยกตัวอย่างเช่น การรับสายสนทนาผ่านลำโพง เป็นต้น
และที่สำคัญ Oxygen OS 9.5 เวอร์ชันใหม่ยังมาพร้อมกับโหมดใหม่ที่มีชื่อเรียกว่า Fnatic Mode หรือโหมดการเล่นเกมขั้นสูงที่ทาง OnePlus ได้พัฒนาร่วมกับต้นสังกัด eSports ชื่อดังระดับโลกอย่าง Fnatic โดยในโหมดนี้ระบบจะมำงานบล็อกการแจ้งเตือนต่างๆ แบบอัตโนมัติ พร้อมปรับการทำงานของ CPU ให้ประมวลผลเกี่ยวกับเกมเป็นหลัก รวมถึงปรับการทำงานของการใช้งานข้อมูลอินเทอร์เน็ตเพื่อให้เกิด Latency ต่อที่สุด (ในโหมดนี้ระบบจะทำการตัดการใช้งานของซิมการ์ดที่สองชั่วคราว)
อีกหนึ่งฟังก์ชันสารพัดประโยชน์ที่มาพร้อมกับ OnePlus 7 Pro คือ Quick Launch โดยเมื่อผู้ใช้วางนิ้วเพื่อปลดล็อกหน้าจอค้างไว้ ก็จะสามารถเลือกเข้าถึงคีย์ลัด หรือแอปพลิเคชันที่ตั้งค่าเอาไว้ได้อย่างรวดเร็ว
และที่สำคัญยังมาพร้อมกับฟังก์ชัน Parallel Apps สำหรับโคลนแอปพลิเคชัน ทำให้ผู้ใช้สามรถใช้งาน Facebook รวมถึงแอปพลิเคชันประเภทโซเชียลมีเดียแบบ 2 แอคเคานท์ได้
มาพร้อมกับฟีเจอร์ App Locker สำหรับล็อกแอปพลิเคชัน โดยจะมีเพียงแค่ผู้ที่ลงทะเบียนลายนิ้วมือ หรือผู้ที่รู้รหัสผ่านเท่านั้นที่จะสามารถเข้าใช้งานได้ ซึ่งนับว่าเป็นการปกป้องความเป็นส่วนตัวได้ดีทีเดียว
นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังสามารถตั้งเวลาเปิด-ปิด ของตัวเครื่องได้เองผ่านฟีเจอร์ที่เรียกว่า Scheduled power on/off
และฟีเจอร์สุดท้ายที่ทาง OnePlus ได้ใส่เข้ามาให้ใน OnePlus 7 Pro ด้วยนั่นก็คือ RAM Boost โดยจะเป็นการปรับการทำงานของหน่วยความจำ RAM ให้มีความเหมาะสมตามพฤติกรรมการใช้งานของแต่ละคน โดยระบบสามารถคาดเดาได้ว่าผู้ใช้จะทำการเปิดใช้งานแอปพลิเคชันใดบ้าง และจะทำการโหลดข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้งานเอาไว้ก่อนล่วงหน้า ทำให้การเปิดใช้งานแอปพลิเคชันต่างๆ จะสามารถทำได้เร็วขึ้นกว่าเดิมนั่นเองครับ
ในส่วนของความปลอดภัย OnePlus 7 Pro มาพร้อมกับระบบยืนยันตัวตนแบบ Biometric ด้วยการสแกนลายนิ้วมือบนหน้าจอ โดยผู้ใช้สามารถลงทะเบียนลายนิ้วมือได้สูงสุด 5 ลายนิ้วมือ และสามารถปรับแต่งอนิเมชันระหว่างการปลดล็อกได้ทั้งหมด 4 รูปแบบ
ส่วนทางด้าระบบปลดล็อกด้วยใบหน้าจะรองรับการลง ทะเบียนใบหน้าแค่ 1 บุคคลเท่านั้น
ข้ามมาที่เรื่องประสิทธิภาพการทำงานกันบ้าง โดยครั้งนี้ OnePlus 7 Pro อัปเกรดสเปกครั้งใหญ่ให้สมกับฐานะ Super Flagship แห่งปี 2019 ด้วยการมาพร้อมกับขุมพลังตัวท็อป Snapdragon 855 Octa-Core Processor ประกบคู่กับหน่วยความจำแรม (RAM) แบบ LPDDR4x ขนาดสูงสุด 12GB พร้อมหน่วยความจำแบบใหม่อย่าง UFS 3.0 2-Lane ความจุสูงสุด 256GB และระบบปฏิบัติการ Android OS เวอร์ชัน 9 Pie ใหม่แกะกล่อง
เมื่อทำไปทดสอบประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมด้วยแอ ปพลิเคชัน AnTuTu พบว่าสามารถทำคะแนนได้ทั้งหมด 363602 คะแนน
ทดสอบการประมวลผลด้วยแอปพลิเคชัน Geekbench สามารถทำคะแนนการประมวลผลแบบแกนเดี่ยว (Single-Core) ได้ทั้งหมด 3443 คะแนน และทำคะแนนการประมวลผลแบบหลายแกน (Multi-Core) ได้ทั้งหมด 10728 คะแนน
ทดสอบการความเร็วของหน่วยความจำภายในแบบ UFS 3.0 ด้วยแอปพลิเคชัน AndroBench พบว่า มีอัตราการอ่านข้อมูลอยู่ที่ 1465.68 MB/s ซึ่งถือว่าเร็วกว่า UFS 2.1 พอสมควร
แน่นอนว่าด้วยประสิทธิภาพระดับสูงของ OnePlus 7 Pro ส่งผลให้การเล่นเกมกราฟิกสวยๆ อย่างเช่น Cyber Hunter หรือ Shadowgun : Legends เป็นไปอย่างลื่นไหลแม้ว่าจะปรับกราฟิก และเฟรมเรทอยู่ในระดับสูงสุด ส่วนอาการสะสมความร้อนแม้จะปรากฏให้เห็นบ้างเล็กน้อย แต่ก็สามารถถ่ายเทออกไปได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากระบบระบายความร้อนด้วยของเหลวแบบ 10 ชั้นที่อยู่ภายในตัวเครื่องนั่นเอง
ส่วนการเล่นคอนเทนต์ความละเอียดสูงก็สามารถทำ ได้ดีเช่นกัน โดยในส่วนของ Youtube สามารถเล่นได้ที่ความละเอียดสูงสุดระดับ 2K 1440P ตาม Native ของหน้าจอ Fluid AMOLED และเมื่อใช้งานร่วมกับลำโพงคู่แบบ Dolby Atmos แล้ว ทำให้รับชมคอนเทนต์ต่างๆ ได้อย่างเต็มอิ่มมากยิ่งขึ้น
ด้านเซ็นเซอร์ต่างๆ ก็ถือว่าจัดวางมาให้แบบครบครัน ไม่ว่าจะเป็น Proximity Sensor, Gyroscope Sensor, Light Sensor หรือ Magnetic Sensor
ส่วนระบบ GPS ก็ถือว่าจับตำแหน่งได้อย่างรวดเร็ว และมีค่าความคลาดเคลื่อน +- ไม่เกิน 5 เมตร ซึ่งเป็นผลมาจากระบบการจับสัญญาณ GPS ที่สามารถจับคลื่นแบบ L1+L5 ได้พร้อมกันนั่นเองครับ
การใช้งานกล้องดิจิทัลสำหรับถ่ายภาพ และวิดีโอ
ในส่วนของกล้องถ่ายภาพนั้น อย่างที่กล่าวไปตั้งแต่ต้นว่า OnePlus ได้ปรับไปใช้งานชุดกล้อง 3 ตัว (Triple Camera) เป็นครั้งแรก โดยกล้องตัวหลักมีความละเอียดสูงถึง 48 ล้านพิกเซล ใช้เซ็นเซอร์ Sony IMX586 พร้อมค่ารูรับแสง f/1.6 ส่วนกล้องตัวที่สองเป็นแบบ Ultra Wide Angle ความละเอียด 16 ล้านพิกเซล รูรับแสงกว้าง f/2.2 และกล้องตัวที่สามแบบ Telephoto ความละเอียด 8 ล้านพิกเล รูรับแสงกว้าง f/2.4 โดยการถ่ายภาพทั่วไปด้วยกล้องตัวหลักนั้น ระบบจะทำการถ่ายภาพออกแบบที่ความละเอียด 12 ล้านพิกเซล เนื่องด้วยเทคโนโลยี 4-in-1 ที่จะเป็นการรวมเม็ดพิกเซลขนาด 0.8 ไมครอนรวมเข้าด้วยกันเป็นพิกเซลใหญ่กว่าที่ 1.6 ไมครอน เพื่อช่วยการรับแสงที่ดีมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
ส่วนทางด้านกล้องหน้าปรับไปใช้กลไกกล้องแบบ Pop-up Camera ความละเอียด 16 ล้านพิกเซล ใช้เซ็นเซอร์รับภาพ Sony IMX471 พร้อมรูรับแสงกว้างที่ f/2.0 โดยกลไกกล้องเลื่อได้ของ OnePlus 7 Pro นั้นทาง OnePlus เคลมว่าผ่านการทดสอบมาแล้วกว่า 300,000 ครั้ง ทำให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถใช้งานได้อย่างยาวนานแน่นอน หรือหากใครที่อาจจะยังไม่มั่นใจถึงความแข็งแรงของกลไกกล้องเลื่อนได้ ทาง OnePlus ก็มีการอัปโหลดคลิปทดสอบกลไกกล้องหน้า OnePlus 7 Pro ให้ได้รับชมกันผ่านทาง Youtube เป็นเวลาถึง 12 ชั่วโมงเต็ม
สำหรับอินเทอร์เฟสของกล้องถ่ายภาพ OnePlus 7 Pro ยังคงออกแบบโดยเน้นความเรียบง่าย และสะดวกต่อการใช้งานเช่นเดิม โดยผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยนการตั้งค่าต่างๆ ได้ง่ายผ่านการแตะที่ไอคอนซึ่งจัดเรียงเอาไว้ที่ด้านบน ประกอบด้วย การตั้งระยะเวลาถ่ายภาพ ตั้งแต่ 3 - 10 วินาที, ปรับสัดส่วนของภาพถ่าย และการเปิด-ปิด ไฟแฟลช
ส่วนการสลับไปใช้งานเลนส์ระยะต่างๆ ก็สามารถทำได้ง่ายผ่านการแตะที่ไอคอนด้านล่าง ไล่เรียงดังนี้ เลนส์มุมกว้าง, เลนส์ปกติ และเลนส์ Telephoto ที่มีระยะซูม 3 เท่า
สำหรับโหมดการถ่ายภาพต่างๆ ที่จัดวางมาให้ภายในหน้าแรก ได้แก่ โหมด Portrait สำหรับถ่ายภาพแบบหน้าชัดหลังเบลอ ที่ผู้ใช้สามารถเลือกปิด-ปิด ฟังก์ชันถ่ายภาพหน้าสวยได้
ต่อมาเป็นโหมด Nightscape 2.0 ที่ถูกออกแบบมาสำหรับถ่ายภาพกลางคืนแบบไม่จำเป็นต้องใช้ขาตั้งกล้อง โดยในโหมดนี้ระบบจะทำการถ่ายภาพหลายๆ ใบเป็นเวลาประมาณ 4-5 วินาที จากนั้นจะนำภาพทั้งหมดมาซ้อนกันเพื่อช่วยเก็บรายละเอียดให้ดีมากยิ่งขึ้น
ส่วนโหมดถ่ายภาพในรูปแบบอื่นๆ สามารถเปิดใช้งานได้ผ่านการปัดจากหน้าเมนูที่ด้านล่างขึ้น เช่น โหมดถ่ายภาพแบบ Pro ที่ผู้ใช้สามารถเลือกตั้งค่าต่างๆ ภายในกล้องได้เอง หรือโหมด Panorama สำหรับถ่ายภาพในมุมกว้าง เป็นต้น
โดยในโหมด Pro นั้น จะเป็นเพียงโหมดเดียวที่ผู้ใช้สามารถถ่ายภาพบนความละเอียดระดับ 48 ล้านพิกเซล โดยสามารถเลือกปรับความละเอียดของภาพถ่ายได้ด้วยการแตะที่ไอคอน JPG ที่ด้านบน รวมทั้งในโหมดนี้ผู้ใช้ยังสามารถถ่ายภาพออกมาเป็นไฟล์ RAW ได้อีกด้วย
ส่วนโหมดถ่ายวิดีโอรองรับการบันทึกภาพที่ความ ละเอียดสูงสุดระดับ 4K พร้อมทั้งสามารถถ่ายด้วยเลนส์ Telephoto ได้อีกด้วย อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้น OnePlus 7 Pro จะยังไม่สามารถบันทึกวิดีโอผ่านเลนส์ Ultra Wide Angle ได้ ซึ่งต้องรอการอัปเดตจากทาง OnePlus อีกครั้งครับ
ในส่วนของกล้องถ่ายภาพด้านหน้าก็ยังคงมาพร้อม กับอินเทอร์เฟสที่ใช้งานได้ง่ายไม่แตกต่างจากกล้องหลัง โดยในโหมดถ่ายภาพปกติ ผู้ใช้สามารถปรับแต่งการตั้งค่าต่างๆ ได้เอง ไม่ว่าจะเป็น การตั้งเวลาถ่ายภาพตั้งแต่ 3-10 วินาที, การปรับสัดส่วนของภาพถ่าย, การเปิด-ปิด ไฟแฟลช และการปรับเอฟเฟ็กต์ Beauty ได้ทั้งหมด 3 ระดับ
นอกจากนี้ ยังมาพร้อมกับโหมดถ่ายภาพ Portrait สำหรับถ่ายเซลฟี่แบบหน้าชัดหลังละลาย โดยในโหมดนี้ผู้ใช้สามารถปรับระดับเอฟเฟ็กต์ของฟังก์ชัน Beauty ได้เช่นเดียวกัน
ส่วนโหมดการถ่ายภาพวิดีโอรองรับการบันทึกไฟล์ ภาพที่ความละเอียดสูงสุดระดับ Full HD 1080P และไม่สามารถปรับความละเอียดเพิ่มเติมได้
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหลัง 3 ตัว
(Triple Camera) ความละเอียดระดับ 48+ 16+8 ล้านพิกเซล ของ OnePlus 7
Pro
ภาพถ่ายจากกล้องตัวหลัก
ภาพถ่ายจากกล้องเลนส์มุมกว้าง Ultra Wide Angle
ภาพถ่ายจากกล้องเลนส์ Telephoto
ภาพถ่ายจากโหมด Portrait
ภาพถ่ายจากโหมด Nightscape 2.0
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องดิจิทัลด้านหน้าของตัวเครื่อง ความละเอียด 16 ล้านพิกเซลของ OnePlus 7 Pro
ภาพถ่ายจากโหมดปกติ
ภาพถ่ายจากโหมดปกติ พร้อมเปิดฟังก์ชัน Beauty ที่ระดับ 3
ภาพถ่ายจากโหมด Portrait
สรุปผลการทดสอบของ OnePlus 7 Pro
เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับ OnePlus 7 Pro ซึ่งถือว่าคราวนี้ทาง OnePlus ได้ผันตัวจากนักฆ่าเรือธง กลายมาเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนเรือธงที่เหนือกว่าแทน โดยเราจะเห็นได้จากสมาร์ทโฟนรุ่นดังกล่าวที่มีการอัปเกรดคุณสมบัติครั้งใหญ่หลายต่อ หลายด้าน ซึ่งบางคุณสมบัติก็ถือว่าล้ำหน้ากว่าสมาร์ทโฟนเรือธงบางรุ่นบนท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็น หน้าจอแสดงผลแบบ Fluid AMOLED ขนาด 6.67 นิ้ว บนความละเอียดระดับ QHD+ พร้อม ค่า Refresh Rate ระดับ 90Hz ซึ่งถือว่าเป็นหน้าจอ AMOLED รุ่นแรกของโลกที่มี Refresh Rate ในระดับนี้ อีกทั้งตัวหน้าจอยังได้รับการันตีคุณภาพจาก DisplayMate ด้วยผลการทดสอบหน้าจอระดับ A+ ทำให้ผู้ใช้มั่นใจได้ว่าประสิทธิภาพการแสดงผล และสีสันต่างๆ จาก OnePlus 7 Pro จะเต็มตาเต็มอารมณ์อย่างแน่นอน
นอกจากหน้าจอที่มีความละเอียดสูงแล้ว OnePlus 7 Pro ยังชูจุดเด่นด้านกล้องถ่ายภาพด้วยชุดกล้องหลัง 3 ตัว (Triple Camera) ที่ได้รับคะแนนการทดสอบจาก DxOMark สูง ถึง 111 คะแนน ห่างจากที่ 1 ร่วมเพียง 1 คะแนนเท่านั้น ซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถมั่นใจได้ว่ากล้องของ OnePlus 7 Pro จะสามารถถ่ายทอดเรื่องราวความประทับใจในแต่ละวันได้อย่างดีเยี่ยม โดยกล้องแต่ละตัวประกอบด้วย กล้องตัวหลักความละเอียดสูง 48 ล้านพิกเซล รูรับแสงกว้าง f/1.6, กล้องเลนส์ Ultra Wide Angle ความละเอียด 16 ล้านพิกเซล รูรับแสงกว้าง f/2.4 และกล้องเลนส์ Telephoto ความ ละเอียด 16 ล้านพิกเซล รูรับแสงกว้าง f/2.2 นอก จากนี้ OnePlus 7 Pro ยังมาพร้อมกับกล้องหน้าเลื่อนได้สุดล้ำแบบ Pop-up Camera โดยมีความละเอียดอยู่ที่ 16 ล้านพิกเซล อีกทั้ง โหมดถ่ายภาพต่างๆ ก็ถือว่าตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น โหมด Portrait สำหรับถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอ หรือโหมด Nightscape 2.0 สำหรับถ่ายภาพกลางคืนโดยเฉพาะ
ส่วนประสิทธิภาพการทำงานก็จัดเต็มแบบรอบด้านตอบ โจทย์ทุกการใช้งาน โดยมาพร้อมกับขุมพลัง Snapdragon 855 Octa-Core Processor, หน่วยความจำแรม (RAM) แบบ LPDDR4x ขนาด สูงสุด 12GB, หน่วยความจำภายในแบบ UFS 3.0 ขนาดสูงสุด 256GB และแบตเตอรี่ความจุ 4000mAh ที่ รองรับเทคโนโลยีชาร์จเร็วแบบ Warp Charge 30W โดยฮาร์ดแวร์ทั้งหมดจะรันอยู่บนระบบปฏิบัติการ Android OS เวอร์ชัน 9.0 (Pie) ครอบทับด้วย Oxygen OS 9.5 ที่สามารถทำงานได้อย่างลื่นไหลใกล้เคียงกับ Stock Android
และการจากการทดสอบทั้งหมดก็สรุปได้ว่า OnePlus 7 Pro เป็นสมาร์ทโฟนที่เหมาะสำหรับผู้ที่กำลังมองหามือถือเรือธงระดับท็อปสำหรับใช้งานระดับสูง, ใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวัน, รับชมคอนเทนต์ หรือการเล่นเกม รวมถึงผู้ที่มองหาสมาร์ทโฟน Android ที่ใช้งานได้นาน และได้รับการอัปเดตซอฟท์แวร์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเหมาะกับผู้ที่มองหามือถือที่มีความโดดเด่นด้านกล้องถ่ายภาพที่สามารถบันทึกภาพต่างๆ ได้หลายระยะในเครื่องเดียว ในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป ซึ่ง OnePlus 7 Pro ถือว่าเป็นอีกหนึ่งรุ่นที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับ OnePlus 7 Pro เริ่มวางจำหน่ายในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเปิดราคาเริ่มต้นที่ 24,990 บาท มีให้เลือกทั้งหมด 2 เฉดสี ได้แก่ สีน้ำเงิน Nebula Blue และสีเทา Mirror Grey พร้อมตัวเลือก 3 รุ่นย่อย ซึ่งแต่ละรุ่นจะมีความแตกต่างในเรื่องของขนาดหน่วยความจำ RAM และ ROM โดยราคาวางจำหน่ายแต่ละรุ่นมีดังนี้
- รุ่น RAM 6GB + ROM 128GB ราคา 24,990 บาท
- รุ่น RAM 8GB + ROM 256GB ราคา 26,990 บาท
- รุ่น RAM 12GB + ROM 256GB ราคา 29,990 บาท
สุดท้ายนี้ ต้องขอขอบคุณทาง OnePlus ประเทศไทย ที่ให้ความไว้วางใจส่งเครื่อง OnePlus 7 Pro มาให้ทางทีมงานได้ทำการรีวิวให้ท่านผู้อ่านได้รับชมกัน สำหรับวันนี้ต้องขอลาไปก่อน พบกันได้ใหม่ในโอกาสหน้า สวัสดีครับ
จุดเด่นของ OnePlus 7 Pro
- ดีไซน์ตัวเครื่องแบบ Seamless Glass Curved ด้วยกระจกขอบโค้ง 3D Corning Gorilla Glass พร้อมกระบวนการขึ้นรูปแบบ
Unibody
- หน้าจอแสดงผลขอบโค้งแบบไร้ขอบไร้รอยบาก Fluid AMOLED ขนาด 6.67 นิ้ว
ความละเอียดระดับ QHD+ (3120x1440 พิกเซล) และครอบทับด้วยกระจก 3D Gorilla
Glass พร้อมค่า Refresh Rate ที่ระดับ 90Hz รุ่นแรกของโลก และรองรับเทคโนโลยีการแสดงผลแบบ HDR10+
- ประมวลผลการทำงานด้วยชิปเซ็ต Octa-Core Qualcomm Snapdragon 855 Processor
- หน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) แบบ Adreno 640
- ระบบระบายความร้อนแบบ Liquid Cooling System
- ทำงานอยู่บนระบบปฏิบัติการ Android OS เวอร์ชัน 9 Pie ครอบทับด้วย Oxygen
OS 9.5
- หน่วยความจำแรม (RAM) แบบ LPDDR4x ขนาด 6 GB, 8 GB หรือ 12 GB (ขึ้นอยู่กับราคาจำหน่าย)
- หน่วยความจำภายใน (ROM) แบบ UFS 3.0 ขนาด 128 GB หรือ 256 GB (ขึ้นอยู่กับราคาจำหน่าย)
- กล้องดิจิทัลด้านหลัง 3 ตัว (Triple Camera) ความละเอียด 48+16+8
ล้านพิกเซล พร้อมเลนส์มุมกว้าง Ultra Wide Angle และ Telephoto รูรับแสงกว้าง
f/1.6+f/2.2+f/2.4 พร้อมเซ็นเซอร์รับภาพ Sony IMX586, ฟีเจอร์ Portrait สำหรับถ่ายภาพแบบหน้าชัดหลังเบลอ
และฟีเจอร์ Nightscape 2.0
สำหรับถ่ายภาพกลางคืนโดยไม่จำเป็นต้องใช้ขาตั้งกล้อง, ระบบโฟกัสภาพแบบ Multi Autofocus (PDAF, LAF และ CAF), ระบบป้องกันการสั่นแบบ Dual OIS, ระบบซูมภาพแบบ 3x Optical Zoom และรองรับการถ่ายวิดีโอแบบ 4K ที่ความเร็ว 60 เฟรมต่อวินาที
- กล้องดิจิทัลด้านหน้าแบบ Pop-up Camera ความละเอียด 16 ล้านพิกเซล
รูรับแสงกว้าง f/2.0 พร้อมเซ็นเซอร์รับภาพ Sony IMX471 ฟีเจอร์ Portrait สำหรับถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอ
- ลำโพงคู่ Stereo Speakers พร้อมระบบเสียง Dolby Atmos
- ระบบสั่นแบบ Haptic Vibration Motor
- เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือบนหน้าจอที่สามารถปลดล็อกได้ในเวลาเพียง 0.21
วินาที
- ระบบสแกนใบหน้า (Face Recognition)
- ฟังก์ชัน Parallel App
สำหรับใช้งานแอปพลิเคชันประเภทโซเชียลมีเดียได้พร้อมกัน 2 แอคเคานท์
- แบตเตอรี่ความจุ 4000 mAh พร้อมเทคโนโลยีชาร์จเร็วแบบ Warp Charge 30
- รองรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านทางระบบ 4G LTE, 3G, EDGE, GPRS และ
WiFi dual Band
- ระบบ GPS+A-GPS ในตัว พร้อมรองรับระบบดาวเทียม GLONASS ของรัสเซีย, Beidou
ของประเทศจีน และ GALILEO ของสหภาพยุโรป
- ราคาเริ่มต้นที่ 24,990 บาท ถือว่าเป็นราคาที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับคุณสมบัติโดยรวม หรือเทียบกับคู่แข่งจากแบรนด์ชั้นนำ
จุดที่อาจจะต้องพิจารณาเพิ่มเติมของ
OnePlus 7 Pro
- ไม่มีช่องหูฟังมาตรฐานแบบ 3.5 มม. และภายในกล่องไม่มีอแดปเตอร์แปลงพอร์ต USB Type-C to 3.5 mm. มาให้
- เนื่องจากหน้าจอเป็นแบบขอบโค้ง จึงอาจทำให้บางครั้งอาจเกิดอาการทัชพลาดโดยไม่ได้ตั้งใจ
โปรดทราบ
* โทรศัพท์มือถือที่ท่านเห็นในบทความรีวิวนี้เป็นเพียงเครื่องทดสอบจากทางศูนย์ เพราะฉะนั้นคุณสมบัติบางอย่างอาจมีความแตกต่างจากเครื่องที่วางจำหน่ายจริง บ้างไม่มากก็น้อย รวมถึงจุดด้อยบางประการที่พบในเครื่องทดสอบ อาจจะถูกแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นในเครื่องที่วางจำหน่ายจริง ดังนั้นหากท่านสนใจซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นนี้ ควรตรวจสอบหรือทดลองใช้งานสินค้าด้วยตนเองอีกครั้งหนึ่ง *
สรุปคุณสมบัติตัวเครื่อง
ท่านสามารถตรวจสอบคุณสมบัติ (สเปก) และราคา ของ OnePlus 7 Pro ได้โดยการคลิกที่ลิงก์ด้านล่างนี้
สรุปคุณสมบัติ (สเปก) และราคา ของ OnePlus 7 Pro (6GB+128GB)
สรุปคุณสมบัติ (สเปก) และราคา ของ OnePlus 7 Pro (8GB+256GB)
สรุปคุณสมบัติ (สเปก) และราคา ของ OnePlus 7 Pro (12GB+256GB)
วันที่ : 29/05/2019