มือถือ 4G ตัวท็อป vs มือถือ 5G ตัวรอง เลือกซื้อรุ่นไหนดี? (โพล)
สมาร์ทโฟน 5G ไม่จำกัดแค่เฉพาะรุ่นเรือธงแต่เพียงอย่างเดียว เพราะในปัจจุบันเราได้เห็นสมาร์ทโฟน 5G รุ่นรองวางจำหน่ายในบ้านเราอย่างหลากหลาย และมีการวางจำหน่ายในช่วงหลายเรทราคา ซึ่งในบางครั้งราคาของมือถือ 5G รุ่นรองก็ค่อนข้างใกล้เคียงกับมือถือ 4G ตัวท็อปเลยทีเดียว จึงทำให้หลายท่านที่กำลังตัดสินใจเลือกซื้อสมาร์ทโฟนอาจกำลังสงสัยว่า ระหว่างการเลือกซื้อมือถือ 5G รุ่นรอง และมือถือ 4G ตัวท็อป แบบไหนจะดีกว่ากัน? วันนี้เรารวบรวมบทวิเคราะห์มาให้ทุกคนแล้วครับ
ชิปเซ็ตมือถือ 5G รุ่นรอง และ 4G รุ่นท็อป
ชิปเซ็ตมือถือ 5G รุ่นรอง
สำหรับมือถือ 5G รุ่นรองที่วางจำหน่ายในประเทศไทย ส่วนมากจะใช้ชิปเซ็ตอยู่ทั้งหมด 4 รุ่น ได้แก่ Qualcomm Snapdragon 765, Snapdragon 765G, MediaTek Dimensity 800 และ Dimensity 800U โดยชิปเซ็ตทั้ง 4 รุ่นที่กล่วามา เลือกสถาปัตยกรรมการผลิตแบบ 7 นาโนเมตร พร้อมใช้โครงสร้าง CPU แบบ 8 แกนประมวลผล พร้อมฝังโมเด็มสำหรับเชื่อมต่อ 5G มาให้ภายในตัว แต่ทั้ง 4 รุ่นจะมีความแตกต่างในเรื่องของโครงสร้าง CPU
โดยในรุ่น Snapdragon 765 และ 765G จะใช้โครงสร้าง CPU แบบ 1+1+6 แบ่งเป็น แกนประมวลผลหลักแบบ Kyro 475 Prime (Cortex-A76) จำนวน 1 คอร์, แกนประมวลผลประสิทธิภาพ Kyro 475 Gold (Cortex-A76) จำนวน 1 คอร์ และแกนประหยัดพลังงานแบบ Kyro 475 จำนวน 6 คอร์ (Cortex-A55) พร้อมหน่วยปรมะวลผลกราฟิกแบบ Adreno 620
ส่วนทางด้าน Dimensity 800 และ Dimensity 800U ใช้โครงสร้าง CPU แบบ 2+6 แบ่งเป็น แกนประสิทธิภาพแบบ Cortex-A76 จำนวน 2 คอร์ และแกนประหยัดพลังงานแบบ Cortex-A55 จำนวน 6 คอร์ พร้อมหน่วยประมวลผลกราฟิกแบบ Mali-G57 MC4
แม้ว่าชิปเซ็ตทั้งสองค่ายจะมีความแตกต่างทางด้านสถาปัตยกรรม CPU และ CPU แต่หากพูดถึงประสิทธิภาพของชิปเซ็ต 5G รุ่นรองของทั้ง 4 รุ่น ถือว่าค่อนข้างใกล้เคียงกันอย่างมาก โดยสามารถทำคะแนนทดสอบจาก AnTuTu จะอยู่ที่ราว 32x,xxx - 34x,xxx คะแนน ซึ่งถือว่าเป็นคะแนนที่ค่อนข้างสูงใกล้เคียงกับอดีตสมาร์ทโฟนเรือธงหลายรุ่น
ชิปเซ็ตมือถือ 4G รุ่นท็อป
สำหรับมือถือ 4G ระดับท็อปที่วางขายในบ้านเรา ณ ปัจจุบัน มีการใช้ชิปเซ็ตที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่ Kirin 980, Kirin 990, Exynos 990, Snapdragon 855 และ Snapdragon 855+ ซึ่งชิปเซ็ตทุกรุ่นที่กล่าวมาแม้จะเป็นชิปเซ็ตที่ตกรุ่นไปแล้ว แต่ก็ถือว่าเป็นชิปเซ็ตตัวท็อปสุดที่ถูกใช้กับสมาร์ทโฟนเรือธง ซึ่งมาพร้อมกับประสิทธิภาพการประมวลผลที่สูงกว่า โดยหากอ้างอิงคะแนนทดสอบจาก AnTuTu จะพบว่า คะแนนทดสอบของชิปเซ็ตเหล่านี้จะอยู่ที่ประมาณ 4xx,xxx - 5xx,xxx คะแนน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ชิปมือถือ 4G ตัวท็อปจะสามารถทำคะแนนได้มากกว่ามือถือ 5G รุ่นรองสูงสุดเกือบ 200,000 คะแนนเลยทีเดียว ซึ่งหากพิจารณาจากตัวเลขคะแนนทดสอบแล้ว ก็พอจะเห็นภาพได้ว่า มือถือ 4G ตัวท็อปจะมีประสิทธิภาพการทำงานที่ต่างกันกับมือถือ 5G รุ่นรองอยู่พอสมควร
การเชื่อมต่อ ระหว่างมือถือ 5G รุ่นรอง และ 4G รุ่นท็อป
การเชื่อมต่อของมือถือ 5G รุ่นรอง
การเชื่อมต่อของมือถือ 5G รุ่นรอง จะสามารถใช้งานได้ทั้งเครือข่าย 4G และ 5G ซึ่งความเร็วดาวน์โหลดของอินเทอร์เน็ต 5G รุ่นรองก็ถือว่าอยู่ในระดับสูง โดยทาง Qualcomm เปิดเผยว่า ชิปเซ็ต Snapdragon 765 สามารถทำความเร็วดาวน์โหลดสูงสุด (Peak Download) ได้ที่ระดับ 3.7Gbps ซึ่งถือว่าเป็นความเร็วอินเทอร์เน็ตที่สูงกว่าอินเทอร์เน็ต 4G ซึ่งเป็นความเร็วดาวน์โหลดที่สูงกว่า 4G อย่างเห็นได้ชัด
แต่อย่างไรก็ตาม การทำความเร็วดาวน์โหลดบนเครือข่าย 5G ให้สูงถึงระดับ Gigabit ในประเทศไทยอาจจะทำได้ค่อนข้างยาก เพราะมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อความเร็วในการดาวน์โหลด ไม่ว่าจะเป็น เสาสัญญาณ, หรือความหนาแน่นของผู้ใช้งาน เป็นต้น รวมทั้งในปัจจุบัน 5G ในไทยยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ และมีผู้ให้บริการเพียงแค่ 2 รายเท่านั้น จึงทำให้การใช้งาน 5G ในปัจจุบันอาจไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร แต่อย่างไรก็ดี หากผู้ใช้ต้องการใช้มือถือเผื่ออนาคต มือถือ 5G รุ่นรองก็อาจจะดูตอบโจทย์กว่า
การเชื่อมต่อของมือถือ 4G รุ่นท็อป
แม้ว่ามือถือตัวท็อป 4G จะใช้งาน 5G ไม่ได้ แต่หากพูดถึงด้านการใช้งานจริงแล้ว มือถือ 4G รุ่นท็อปอาจจะดูครบเครื่อง และตอบโจทย์การใช้งานอินเทอร์เน็ตมือถือในทุกระดับได้มากกว่า เนื่องจาก 4G ของไทยในปัจจุบันให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศเป็นที่เรียบร้อย รวมทั้งผู้ให้บริการเครือข่ายบางค่ายก็มีการพัฒนาเทคโนโลยี 4G+ เพื่อช่วยเพิ่มเพดานความเร็วของอินเทอร์เน็ตให้สูงขึ้นเพื่อตอบโจทย์การรับชมคอนเทนต์ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ หากเราเจาะลึกไปที่สเปกของมือถือ 5G รุ่นรองจะพบว่า ตัวชิปเซ็ตสามารถทำความเร็วดาวน์โหลดของเครือข่าย 4G สูงสุดได้ที่ 1.2Gbps เท่านั้น ซึ่งเป็นความเร็วที่ค่อนข้างน้อยกว่ามือถือ 4G ตัวท็อปที่สามารถทำความเร็วดาวน์โหลด 4G ได้สูงสุดถึง 3Gbps เลยทีเดียว (อ้างอิงจากสเปกของชิปเซ็ต Exynos 990) ดังนั้น หากเราต้องการซื้อสมาร์ทโฟนมาเพือใช้ 4G เพียงอย่างเดียว และไม่ต้องการใช้ 5G มาก มือถือ 4G ตัวท็อปก็อาจจะตอบโจทย์มากกว่า
ฟังก์ชันอื่นๆ ระหว่างมือถือ 5G รุ่นรอง และ 4G รุ่นท็อป
ในด้านของฟังก์ชันอื่นๆ ที่นอกเหนือจากชิปเซ็ตแล้ว หากเราลองพิจารณาจากสเปกของมือถือ 5G รุ่นรองที่วางขายในบ้านเรา ณ ปัจจุบัน จะพบว่า มือถือ 5G รุ่นรองส่วนใหญ่จะไม่มีมีฟีเจอร์บางอย่างเหมือนกับมือถือ 4G รุ่นท็อป ยกตัวอย่างเช่น ระบบการชาร์จแบบไร้สาย , คุณสมบัติกันน้ำ, เทคโนโลยีหน่วยความจำ RAM + ROM ความเร็วสูง หรือ กระจกหน้าจอเวอร์ชันใหม่ เป็นต้น
สรุป ซื้อมือถือ 5G รุ่นกลาง หรือ 4G ตัวท็อป แบบไหนดี?
หากพูดถึงสเปกโดยรวมโดยไม่คำนึงถึงการใช้งาน 5G มือถือ 4G ตัวท็อปอาจจะดูตอบโจทย์การใช้งานอย่างคุ้มค่าในทุกด้านมากกว่า เพราะมาพร้อมกับสเปกที่ให้มามักจะจัดเต็มในทุกๆ องค์ประกอบ รวมทั้งในปัจจุบันมือถือ 4G ตัวท็อปก็มีการปรับราคาวางจำหน่ายลงมาค่อนข้างมาก จนใกล้เคียงกับมือถือ 5G รุ่นกลางหลายรุ่น ยกตัวอย่างเช่น
ตัวอย่างมือถือ 4G รุ่นท็อปที่น่าสนใจ
- HUAWEI P30 Pro ราคาออนไลน์ 14,xxx บาท (ราคาเปิดตัว 31,990 บาท)
- realme X3 Super Zoom ราคาออนไลน์ 16,990 บาท (ราคาเปิดตัว 19,990 บาท)
ตัวอย่างมือถือ 5G รุ่นรอง
- OnePlus Nord (8GB + 128GB) ราคา 14,990 บาท
- OPPO Reno 4z ราคา 12,990 บาท
แต่อย่างไรก็ตาม หากท่านเป็นผู้ที่ต้องการใช้งานเครือข่าย 5G เป็นหลัก และต้องการใช้มือถือในระยะยาว การลงทุนซื้อมือถือ 5G ตัวท็อปก็ค่อนข้างจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจกว่า เนื่องจากสเปกของมือถือ 5G รุ่นท็อปส่วนมาก ค่อนข้างแตกต่างจากมือถือ 4G รุ่นท็อปพอสมควร ทั้งนี้ ก็ต้องพิจารณาจากพฤติกรรมการใช้งานเป็นหลัก และความชื่นชอบส่วนบุคคล หากทดลองใช้สมาร์ทโฟนรุ่นไหนแล้วประทับใจ ก็ถือว่ามือถือรุ่นนั้นๆ น่าจับจองเป็นเจ้าของแล้วครับ
ข้อมูลอ้างอิง : AnTuTu, Samsung, Qualcomm, MediaTek (1), (2)
วันที่ : 26/11/2563