รู้จัก HarmonyOS ระบบปฏิบัติการใหม่แห่งอนาคต พบคำตอบ Huawei สร้าง Ecosystem อย่างไร เพื่อเชื่อมทุกสมาร์ทดีไวซ์ ในทุกสถานการณ์
ปีนี้นับเป็นปีแรกที่งานชุมนุมนักพัฒนางานใหญ่ประจำปีของ Huawei ได้มีการเปิดโอกาสให้สื่อมวลชน และนักพัฒนาจากทั่วโลกมาเข้าร่วม ภายใต้ชื่องานว่า Huawei Developer Conference 2019 (HDC.2019) จากก่อนหน้านี้ที่เปิดโอกาสให้กับสื่อมวลชน กับนักพัฒนาชาวจีนเท่านั้น เพื่อให้นวัตกรรมด้านซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ของ Huawei เอง มีการเผยแพร่ออกไปสู่ระดับโลก เรียกว่าเป็นโอกาสที่หาได้ยาก ซึ่งสื่อไทย รวมถึงทีมงาน thaimobilecenter ของเราก็ได้รับเกียรติให้เข้าร่วมงานนี้ด้วยเช่นกัน รวมแล้วตลอดระยะเวลาของการจัดงาน 3 วัน ระหว่างวันที่ 9-11 สิงหาคม 2019 ก็จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคของ Huawei กว่า 600 คน กับนักพัฒนา และพันธมิตรทั่วโลกกว่า 6,000 คน มาชุมนุมกันภายในที่เดียว
กับเนื้อหาที่อัดแน่นของ Keynote ในช่วงบ่ายวันนี้ (9 สิงหาคม 2019) ที่ใช้เวลาต่อเนื่องยาวนานร่วม 4 ชั่วโมง ณ สนามกีฬา Dongguan Basketball Center อันมหึมา ในเมืองตงกวน สาธารณรัฐประชาชนจีน ก็ทำให้เราได้เปิดโลกทัศน์ และได้พบกับการเปิดตัวครั้งแรกของระบบปฏิบัติการของ Huawei เอง ที่โลกกำลังจับตามองอย่าง HarmonyOS (หรือที่ในจีนเรียกว่า HongmengOS), ส่วนติดต่อผู้ใช้ใหม่ล่าสุดอย่าง EMUI 10 ที่ถูกยกเครื่องให้ดีขึ้นในหลายๆ จุด รวมถึงวิธีการพัฒนาระบบนิเวศ (Ecosystem) ใหม่ๆ เพื่อการทำงานร่วมกันแบบไร้รอยต่อ (Seamless) ของสมาร์ทดีไวซ์ในอนาคต ซึ่งในวันนี้เราก็ได้นำข้อมูลที่น่าสนใจต่างๆ มาสรุปให้ทุกท่านได้ติดตามกันแล้ว
HarmonyOS ระบบปฏิบัติการใหม่ ดีอย่างไร มีจุดไหนที่แตกต่างจากคู่แข่ง?
สำหรับการนำเสนอ Keynote ในวันนี้ถูกแบ่งออกเป็น 5 ช่วง 5 ประเด็นสำคัญ โดยผู้บริหารระดับสูงของ Huawei รวม 5 ท่าน ได้แก่
Richard Yu ผู้ดำรงตำแหน่ง Executive Director, CEO of Huawei Consumer Business Group
Dr. Wang Chenglu ผู้ดำรงตำแหน่ง President of Software Engineering, Huawei Consumer Business Group
Zhang Ping'an ผู้ดำรงตำแหน่ง President of Huawei Consumer Cloud Service
Shao Yang ผู้ดำรงตำแหน่ง Chief Strategy Officer, Huawei Consumer Business Group
Ai Wei Fellow ผู้ดำรงตำแหน่ง Chipsets and Hardware Technology Strategy, Huawei
ซึ่งไฮไลท์ของ Keynote ในวันนี้จะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกเสียจาก HarmonyOS ระบบปฏิบัติการใหม่แห่งอนาคต ที่กำลังถูกจับตามองมากที่สุดในขณะนี้ โดยเบื้องหลังของการพัฒนาระบบปฏิบัติการ HarmonyOS ก็คือการที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่ผู้บริโภคต้องการประสบการณ์การใช้งานจากสิ่งต่างๆ ที่มีความอัจฉริยะ และมีความเป็นองค์รวม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีระบบปฏิบัติการที่รองรับกับการทำงานบนอุปกรณ์หลากหลายประเภท, สามารถใช้งานได้ในทุกสถานการณ์, รองรับการทำงานบนหลายแพลตฟอร์ม, ตอบสนองได้รวดเร็ว และมีความปลอดภัยสูง
HarmonyOS เป็นระบบปฏิบัติการที่แตกต่างกับระบบปฏิบัติการ Android และ iOS โดย HarmonyOS มีพื้นฐานการจัดการระบบแบบ Microkernel และเป็นระบบแบบกระจาย (Distributed Operating System) นอกจากนี้ยังมีความปลอดภัยสูง และสามารถใช้งานข้ามอุปกรณ์ได้อย่างสมบูรณ์ นักพัฒนาจึงไม่จำเป็นต้องออกแบบแอปพลิเคชันสำหรับอุปกรณ์ที่แตกต่างกัน เนื่องจากออกแบบเพียงครั้งเดียว ก็สามารถเข้ากับอุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ HarmonyOS ได้ทุกประเภท ซึ่ง Huawei กล่าวว่าในอนาคตทุกอุปกรณ์ และทุกกิจกรรมที่ผู้บริโภคทำจะเชื่อมโยงเข้ากันเป็นหนึ่งเดียว เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการผลักดันแนวคิดของ IoE (Internet of Everything) ที่จะมีการเชื่อมโยงทุกอุปกรณ์เป็นหนึ่งเดียวผ่านระบบอินเทอร์เน็ตให้เป็นจริง ซึ่งโดยสรุปแล้ว HarmonyOS นั้นมีจุดขายสำคัญ 4 อย่างหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่
1. ทำงานได้อย่างต่อเนื่องในทุกอุปกรณ์
HarmonyOS เป็นระบบปฏิบัติการสำหรับสมาร์ทดีไวซ์ระบบแรกที่เป็นระบบแบบกระจาย (Distributed Operating System) จึงสามารถทำงานได้กับทุกอุปกรณ์ รวมทั้งยังมีคุณสมบัติอันชาญฉลาด ทั้ง Shared Communications Platform, Distributed Data Management, Distributed Task Scheduling, และ Virtual Peripherals
นอกจากนี้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณสมบัติต่างๆ ของแอปพลิเคชันได้อย่างเต็มที่ โดยไม่จำเป็นต้องศึกษารายละเอียดเชิงลึกของการพัฒนาแอปพลิเคชันให้เหมาะสมกับอุปกรณ์รุ่นต่างๆ อีกทั้งยังช่วยให้การจัดจำหน่าย หรือการนำเสนอแอปพลิเคชันสำหรับอุปกรณ์ประเภทต่างๆ เป็นไปโดยง่าย
เพราะระบบปฏิบัติการนี้มีสถาปัตยกรรมของระบบปฏิบัติการเป็นแบบ Distributed OS และรองรับเทคโนโลยี Distributed Virtual Bus โดยแอปพลิเคชันสำหรับระบบปฏิบัติการนี้จะสามารถใช้งานกับอุปกรณ์ที่แตกต่างกันได้อย่างต่อเนื่อง
2. ทำงานได้อย่างลื่นไหลบนเทคโนโลยี Deterministic Latency Engine และ High-Performance IPC
HarmonyOS ใช้เทคโนโลยี Deterministic Latency Engine และ High-Performance Inter Process Communication (IPC) เพื่อการทำงานที่ลื่นไหล โดยเทคโนโลยี Deterministic Latency Engine จะช่วยจัดลำดับคำสั่งที่ต้องทำงานก่อน และตั้งกรอบเวลาสำหรับการทำงานของคำสั่งต่างๆ ไว้ล่วงหน้าได้ ช่วยให้ทรัพยากรของระบบสามารถจัดการกับการทำงานที่สำคัญกว่าได้ก่อน ลดอาการหน่วงของแอปพลิเคชันลงได้ถึง 25.7%
นอกจากนี้ Microkernel ที่ Huawei ใช้ยังสอดคล้องกับเทคโนโลยี IPC ส่งผลให้ประสิทธิภาพของ IPC สูงกว่าระบบปฏิบัติการอื่นๆ ถึง 5 เท่า
3. มีความปลอดภัยสูง ตั้งแต่แกนระบบ จากการใช้ Microkernel
HarmonyOS ใช้สถาปัตยกรรม Microkernel แบบใหม่ล่าสุด ที่มีความปลอดภัยสูง และทำงานได้ลื่นไหลกว่าเดิม และช่วยให้การพัฒนาแกนระบบ (Kernel) ง่ายขึ้น เนื่องจาก Microkernel จะทำหน้าที่ในการพัฒนาแกนระบบให้สามารถรองรับการทำงานที่สำคัญได้ เช่น การกำหนดลำดับการทำงานของคำสั่งต่างๆ บนเธรด (Thread) และระบบ IPC
Microkernel ของระบบปฏิบัติการ HarmonyOS มีระบบการยืนยันแบบ Formal Verification ที่ทำงานบน Trusted Execution Environment (TEE) อันเป็นแนวคิดใหม่ของระบบความปลอดภัย และความน่าเชื่อถือของระบบ โดยระบบการยืนยันแบบ Formal Verification นั้นทำงานโดยอาศัยการสร้างโมเดลข้อมูลเพื่อตรวจสอบทุกส่วนของซอฟต์แวร์ และใช้กลไกทางคณิตศาสตร์เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของระบบตั้งแต่แหล่งที่มา ซึ่งแตกต่างจากระบบการยืนยันแบบเดิม เช่น แบบ Functional Verification หรือ แบบ Attack Simulation ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบความปลอดภัยได้อย่างเต็มรูปแบบ
HarmonyOS เป็นระบบปฏิบัติแรกที่มีระบบการยืนยันแบบ Formal Verification ที่ทำงานบน TEE ซึ่งยกระดับความปลอดภัยให้สูงขึ้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากระบบปฏิบัติการนี้มีจำนวนบรรทัดของโค้ดที่ใช้ในการพัฒนาน้อยกว่าระบบปฏิบัติการอื่นๆ กล่าวคือระบบ Microkernel มีจำนวนบรรทัดโค้ดที่น้อยกว่าระบบปฏิบัติการที่พัฒนาจาก Linuxkernel ถึง 1 ต่อ 1,000 ทำให้ HarmonyOS มีช่องโหว่ของระบบน้อยกว่าระบบปฏิบัติการอื่นเป็นอย่างมาก
4. พัฒนาแอปพลิเคชันเพียงครั้งเดียวใช้งานได้ทุกอุปกรณ์ ด้วย Multi-Device IDE
HarmonyOS รองรับระบบ Multi-Device IDE ซึ่งเป็นระบบที่รองรับภาษาคอมพิวเตอร์หลากหลายภาษาและมีสถาปัตยกรรมที่รองรับการพัฒนาแอปพลิเคชันแบบเฉพาะ ตัวระบบปฏิบัติการจึงสามารถปรับขนาดให้เหมาะสมกับหน้าจอ, ตัวป้อนคำสั่ง หรือเครื่องมือสำหรับการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ที่แตกต่างกันได้โดยอัตโนมัติ อีกทั้งยังรองรับทั้งการลาก และวาง รวมไปถึงการพรีวิวซอฟต์แวร์แบบเสมือนจริงในขั้นตอนการพัฒนาอีกด้วย นักพัฒนาซอฟต์แวร์จึงสามารถลดเวลาที่ต้องใช้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้รองรับทุกอุปกรณ์ได้ เพราะระบบ Multi-Device IDE ช่วยให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถเขียนชุดคำสั่งเพียงครั้งเดียวก็นำซอฟต์แวร์ของตนไปใช้งานได้กับทุกอุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ HarmonyOS อีกทั้งยังช่วยยกระดับการทำงานกับอุปกรณ์ที่หลากหลายอย่างไร้รอยต่อขึ้นไปอีกขั้น
HUAWEI ARK Compiler เป็นตัวแปลภาษาโปรแกรมแบบ Static ตัวแรกที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับ Virtual Machine ของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ซึ่งจะช่วยให้นักพัฒนาสามารถรวบรวมโค้ดที่ซับซ้อนมาเพื่อให้ระบบแปลงเป็นโค้ดที่เรียบง่ายสำหรับการทำงานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว HUAWEI ARK Compiler จึงเอื้อประโยชน์ให้กับนักพัฒนาเป็นอย่างมาก
ด้วยจุดเด่นทั้ง 4 ประการข้างต้น HarmonyOS จึงเป็นระบบปฏิบัติการที่เรียบง่ายแต่เปี่ยมประสิทธิภาพ โดย Huawei จะเริ่มต้นใช้ระบบปฏิบัติการนี้กับอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ เช่น สมาร์ทวอทช์ (Smart Watch), สมาร์ททีวี (Smart Screen), ระบบอินโฟเทนเมนท์ในรถยนต์ (In-Vehicle Systems) และลำโพงอัจฉริยะ โดย Huawei คาดหวังว่าการพัฒนาระบบปฏิบัติการนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคที่ใช้งานผลิตภัณฑ์ Huawei ได้รับประสบการณ์การใช้งานอุปกรณ์ได้อย่างต่อเนื่อง มีความปลอดภัย และรองรับการใช้งานกับทุกๆ อุปกรณ์
กระบวนการสร้าง Ecosystem และแผนการสำหรับนักพัฒนา
แน่นอนว่าความสำเร็จของ HarmonyOS ขึ้นอยู่กับการสร้าง Ecosystem หรือระบบนิเวศของทั้งแอปพลิเคชัน และนักพัฒนา Huawei จึงจะนำเสนอระบบปฏิบัติการนี้เป็นแบบเปิด (Open Source) สำหรับนักพัฒนาทั่วโลก นอกจากนี้ Huawei ยังจะตั้งกองทุน และชุมชนนักพัฒนาแบบเปิด เพื่อสร้างความร่วมมือเชิงลึกกับนักพัฒนาอีกด้วย
โดยตลอดระยะเวลา 3 วันของการจัดงาน ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคของ Huawei กว่า 600 คนจะพบกับนักพัฒนา และพันธมิตรกว่า 6,000 คนจากทั่วโลกเพื่อหารือด้านการสร้างสรรค์ และพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงระบบนิเวศใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นตามแนวคิด Rethink Possibilities
สาธารณรัฐประชาชนจีน มีฐานผู้ใช้งานและ Ecosystem ของแอปพลิเคชันที่แข็งแกร่งมาก ดังนั้นในระยะแรก Huawei จึงจะวางรากฐานของระบบปฏิบัติการนี้ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ก่อนจะขยายออกไปยังตลาดอื่นทั่วโลก โดย Huawei พร้อมจะสร้าง และสานต่อสิ่งใหม่ๆ ให้กับระบบปฏิบัติการนี้ผ่านการร่วมพัฒนา และแลกเปลี่ยนข้อมูลในด้านต่างๆ ทั้งคุณสมบัติการเชื่อมต่อ, กล้อง และปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดย Huawei จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรเพื่อพัฒนาบริการ และแอปพลิเคชันเพื่อมอบทั้งประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ และสร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ HarmonyOS ยังเป็นพื้นที่ใหม่สำหรับนักพัฒนา ที่ต้องการพัฒนาแนวคิด หรือแอปพลิเคชันที่สามารถทำงานได้กับทุกอุปกรณ์ โดยลดความซ้ำซ้อนของกระบวนการพัฒนาลง อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์การใช้งานแบบเดียวกันบนทุกอุปกรณ์ ซึ่งทาง Huawei ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาทั้ง HarmonyOS และแกนระบบ โดย HarmonyOS เวอร์ชัน 1.0 จะติดตั้งในผลิตภัณฑ์สมาร์ททีวี (Smart Screen) ของ Huawei ที่จะวางจำหน่ายภายในปีนี้ และภายใน 3 ปีข้างหน้า Huawei คาดว่าจะพัฒนาระบบปฏิบัติการนี้ให้สามารถทำงานกับสมาร์ทดีไวซ์ได้หลากหลายประเภทมากขึ้น เช่น Wearable, HUAWEI Vision และระบบปฏิบัติการภายในรถยนต์
โดยสรุปแล้ว HarmonyOS จะนำประโยชน์ที่หลากหลายมาสู่ผู้ใช้งาน, ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ และนักพัฒนา โดยผู้บริโภคจะได้สัมผัสกับประสบการณ์การใช้งานที่ทรงพลัง และไร้รอยต่อ ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์จะสามารถพัฒนาฮาร์ดแวร์ที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น 5G, ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ IoT ได้ง่าย และรวดเร็วขึ้น และสำหรับนักพัฒนา จะสามารถเข้าถึงผู้ใช้จำนวนมากโดยใช้ต้นทุนน้อยลง และยังทำงานได้รวดเร็วขึ้น รวมทั้งจะยกระดับอุตสาหกรรม และเติมเต็ม Ecosystem ไปอีกขั้น โดยเป้าหมายของ Huawei คือการช่วยให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์การใช้งานที่หลากหลาย และเปี่ยมประสิทธิภาพ
EMUI 10 ส่วนติดต่อผู้ใช้ใหม่ล่าสุด ที่สวยขึ้น ฉลาดขึ้น เร็วลื่นขึ้น และรับกับ Ecosystem ยิ่งกว่าเดิม
นอกจาก Huawei จะเปิดตัวระบบปฏิบัติการ HarmonyOS ให้เป็นที่ฮือฮากันแล้ว ก็ยังมีอีกไฮไลท์ที่น่าสนใจคือการเปิดตัวส่วนติดต่อผู้ใช้ (UX หรือ User Experience) เวอร์ชันใหม่ล่าสุดอย่าง EMUI 10 ที่มากับ 4 ไฮไลท์สำคัญคือ New UX Design, Seamless AI Life, Faster and Smoother Operations และ Win-Win Ecosystem โดยพัฒนาอยู่บนระบบปฏิบัติการ Android 10 Q ที่กำลังจะมาในช่วงเดือนกันยายนเช่นกัน และเลือกใช้ Ark Compiler เพื่อการทำงานที่ลื่นไหล อีกทั้งนักออกแบบยังพัฒนา UX ของ EMUI 10 นี้ให้สวยงาม และสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์มากขึ้นด้วย
EMUI 10 จะเป็นส่วนประสานผู้ใช้แบบ Distributed OS จึงช่วยให้นักพัฒนาสามารถจำลองรูปแบบการใช้งานที่แตกต่างกันได้ และจำลองการทำงานต่อเนื่องระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ ได้ เสมือนว่านักพัฒนามี Virtual Machine ที่มีประสิทธิภาพสูง นอกจากนี้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ยังไม่จำเป็นต้องกังวลถึงข้อแตกต่างของฮาร์ดแวร์ เพราะนักพัฒนาสามารถพัฒนาแอปพลิเคชันเพียงครั้งเดียวแต่รองรับการทำงานกับทุกอุปกรณ์ได้
นอกจากนี้ระบบ Deterministic Latency Engine ยังช่วยลดปัญหาระบบค้างจากการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่เหมาะสมในทุกระดับของซอฟต์แวร์ได้ ช่วยให้ EMUI 10 มีความเสถียรตลอดเวลา
ซึ่ง Huawei ให้ข้อมูลว่าประสิทธิภาพของการใช้งานแอปพลิเคชันจะดีขึ้น 60%, ใช้งานได้ลื่นไหลยาวนานกว่า 18 เดือน, รอม EROFS ที่อ่านเร็วขึ้น 20%, GPU Turbo ปรับปรุุงใหม่ให้เล่นเกมได้เร็วขึ้น 60%, เทคโนโลยี Turbo Link ที่เร็วกว่าการใช้งานเครือข่าย 4G LTE แบบเดี่ยวๆ 70% และอีกหลายๆ อย่าง โดยในเบื้องต้นเราขอสรุปสิ่งที่น่าสนใจของ EMUI 10 ไว้สั้นๆ ก่อนดังนี้
- การดีไซน์ UX ใหม่ ที่มาพร้อมกับการวางเลย์เอาท์แบบนิตยสาร (Magazine) และหน้า Always On Display (AOD) สีสันสดใส
- การแสดงผลแบบ Dark Mode ตั้งแต่ภาพพื้นหลัง ไปจนถึงไอคอน ที่พัฒนาอยู่บนพื้นฐานธรรมชาติของผู้ใช้งาน หรือมนุษย์ ทั้งในเรื่องของค่าความเปรียบต่าง (Contrast) และการไล่ระดับสี (Color Scale) เพื่อความสะดวกสบาย และประสบการณ์ที่ดีในการมองรายละเอียดบนหน้าจอ
- การออกแบบไอคอนใหม่ตามทฤษฏีการออกแบบ
- ความปลอดภัยแบบกระจาย (Distributed Security) ที่ทำมาเพื่อรองรับระบบความปลอดภัยสำหรับการใช้งานในทุกสถานการณ์ เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นบุคคลที่ถูกต้อง, อุปกรณ์ที่เหมาะสม และเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง
- ความเข้ากันได้กับฮาร์ดแวร์ และการแชร์ระหว่างกัน ระหว่างอุปกรณ์ที่แตกต่างกัน
- การแชร์หน้าจอได้ในสัมผัสเดียว (One-Touch Screen Sharing) ที่ให้ประสบการณ์ราวกับกำลังใช้งานอยู่ในอุปกรณ์เดียวกัน เช่นเราสามารถแชร์หน้าการสนทนา หรือหน้าวิดีโอ ออกไปยังหน้าจอภายนอก หรือลำโพงภายนอกได้ เพื่อภาพที่ใหญ่เต็มตาขึ้น และเสียงที่มีมิติทรงพลังขึ้น
- การทำงานร่วมกันหลายหน้าจอ (Multi-Screen Collaboration) ที่ทุกอุปกรณ์ต่อพ่วงของสมาร์ทโฟน และเครื่องคอมพิวเตอร์พีซี สามารถแลกใช้งานกันได้ เช่นเมาส์ หรือคีย์บอร์ด ของเครื่องพีซี ก็จะสามารถใช้ควบคุมสมาร์ทโฟนได้ เรียกว่าทั้งสมาร์ทโฟน กับเครื่องพีซี สามารถทำงานร่วมกันได้แบบไร้รอยต่อ (Seamless) แต่อย่างไรก็ดี ก็ต้องอาศัยแอปพลิเคชัน 3rd Party ด้วยเช่นกัน
- Huawei HiCar ที่สามารถเชื่อมต่อกับรถยนต์, สมาร์ทโฟน และนาฬิกา ดังนั้นเราจึงสามารถใช้งานแอปพลิเคชันระบบนำทาง, ฟังเพลง และอื่นๆ บนสมาร์ทโฟน บนหน้าจอของรถยนต์ได้ด้วย
- GPU Turbo ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น 60%
- Turbo Link ที่มีประสิทธิภาพดีขึ้น 70%
- EROFS (Extended Read-Only File System) มีประสิทธิภาพดีขึ้น 20%
ส่วนสมาร์ทโฟนกลุ่มแรกที่จะได้อัปเดตคือ P30 Series ในวันที่ 8 กันยายนนี้ และแน่นอนว่าสมาร์ทโฟนเรือธงตระกูล Mate Series รุ่นต่อไปที่จ่อเปิดตัวในช่วงเดือนตุลาคมนี้ (คาดว่าเป็น Mate 30) ก็จะมาพร้อมกับ EMUI 10 ด้วยเช่นกัน
ระบบนิเวศใหม่ จากการเปิดแพลตฟอร์ม HMS (Huawei Mobile Services)
HMS (Huawei Mobile Services) เป็นแพลตฟอร์มซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาแอพพลิเคชั่นของ Huawei โดยแพลตฟอร์มนี้จะช่วยให้นักพัฒนาสามารถมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรม ลดขั้นตอนการพัฒนา และนำเสนอแอปพลิเคชันของตนสู่ผู้บริโภคทั่วโลกที่ใช้อุปกรณ์หลากหลายประเภทได้ ภายในงาน HDC ประจำปีนี้ Huawei จะเปิดส่วนหลักของแพลตฟอร์ม HMS ทั้งสิ้น 14 ส่วน บริการ 51 ประเภท และ APIs 885 ชุดให้นักพัฒนาทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้ เพื่อยกระดับแพลตฟอร์มไปอีกขั้น เติมเต็มการใช้งานกับอุปกรณ์ทุกรูปแบบ ปัจจุบันมีแอปพลิเคชัน 43,000 ตัวที่เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์ม HMS
และในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ Huawei จะนำเสนอมาตรฐาน Fast Applications ที่ใช้งานอยู่แล้วในสาธารณรัฐประชาชนจีนสู่ตลาดโลก เพื่อการพัฒนาคุณสมบัติของการใช้งานแอปพลิเคชันอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องติดตั้งลงในอุปกรณ์ ปัจจุบัน Huawei มีบริการมากกว่า 5,000 บริการใน HUAWEI Ability Gallery สำหรับนักพัฒนาชาวจีน โดยแพลตฟอร์ม HUAWEI Ability Gallery จะเปิดตัวในเดือนธันวาคมนี้เช่นกัน เพื่อให้ Huawei นำเสนอสิ่งที่ดีสู่ผู้บริโภคได้เร็วและดียิ่งขึ้น
ในโอกาสนี้ Huawei ยังเปิดตัวระบบ App Gallery Connect สู่นักพัฒนาทั่วโลก เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่นักพัฒนาในกระบวนการพัฒนา และนำเสนอแอปพลิเคชัน ทั้งการสร้างสรรค์ พัฒนา นำเสนอ ดูแล และการวิเคราะห์ นอกจากนี้ Huawei ยังเพิ่มเงินสนับสนุนจาก 1 พันล้านหยวนเป็น 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้แก่โครงการ “Shining Star” และเปิดโอกาสให้นักพัฒนานอกสาธารณรัฐประชาชนจีน สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้เป็นครั้งแรก ในการนี้ Huawei พร้อมจะทำงานร่วมกับพันธมิตรระดับแนวหน้าในแวดวงธุรกิจเดียวกัน เพื่อร่วมกันตั้งกองทุนส่งเสริมและสนับสนุนการสรรค์สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ของนักพัฒนาทั่วโลก
เครื่องมือใหม่สำหรับนักพัฒนา
Huawei พร้อมที่จะให้การสนับสนุนนักพัฒนาด้วยเครื่องมือและแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่สามารถช่วยให้นักพัฒนาสามารถนำเสนอผลงงานได้ในทุกอุปกรณ์ของ Huawei พร้อมนำเสนอแพลตฟอร์มใหม่สำหรับการทำงานร่วมกับชิป Kirin โดยเฉพาะการพัฒนาคุณสมบัติด้านมัลติมีเดีย ที่ช่วยลดขั้นตอนการพัฒนา โดยอาศัยการสังเกตจดจำการใช้งานของผู้ใช้ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อยกระดับแนวคิดปัญญาประดิษฐ์ให้ก้าวไปอีกขั้น
นอกจากนี้ Huawei ยังพร้อมจะพัฒนาคุณสมบัติใหม่ๆ ให้กับอุปกรณ์อื่นๆ ที่นอกเหนือจากสมาร์ทโฟน และเติมเต็มประสบการณ์การใช้งานในทุกช่วงเวลา พร้อมนำเสนอ HiLink, LiteOS และ Chip Suite ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแบบเปิดสำหรับอุปกรณ์ และระบบคลาวด์, ระบบปฏิบัติการ และชิปเซ็ตตามลำดับ แพลตฟอร์มดังกล่าวนี้จะช่วยขจัดอุปสรรคของการพัฒนาอุปกรณ์ IoT ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำได้ และช่วยให้กระบวนการพัฒนานั้นง่ายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
HiLink เป็นแพลตฟอร์มเปิดสำหรับการค้นหาและเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และไม่ต้องเชื่อมต่อซ้ำ ซึ่งสามารถรองรับอุปกรณ์ที่หลากหลาย และการควบคุมหลายรูปแบบ เชื่อมทุกสิ่งเป็นหนึ่งเดียวเพื่อการทำงานที่ง่ายกว่าที่เคย
LiteOS เป็นผู้เชื่อมโยงระหว่างอุปกรณ์ IoT และแอปพลิเคชันต่างๆ โดย Huawei ใช้เฟรมเวิร์คการพัฒนา และการสร้างโปรแกม Maple JS ที่มีขีดความสามาถด้านการประมวลผลเทียบเท่าการพัฒนาระบบโดยใช้ภาษา C เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนา
การผสานชิป HiSilicon, LiteOS, Gigahome และ Honghu ช่วยให้นักพัฒนาสามารถพัฒนาแอปพลิเคชันให้เข้ากับอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ ได้โดยสะดวกมากขึ้น
ในงาน HDC ปีนี้ Huawei ยังนำเสนอนวัตกรรมล่าสุดอีกมาก เช่น อัลกอริทึม Space Computing และเทคโนโลยีการระบุปัญญาประดิษฐ์ (AI Identification) สำหรับบริการไซเบอร์เวิร์ส (Cyberverse) ที่ผสานโลกจริงและโลก VR เข้าด้วยกัน เพื่อประสบการณ์ที่เหนือกว่า นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอเทคโนโลยี 5G แบบช่วงคลื่น mmWave, ระบบควบคุมคลื่น mmWave โดยใช้ท่าทาง และระบบตรวจจับจังหวะการเต้นของหัวใจที่อยู่ในสมาร์ทโฟนพับได้ HUAWEI Mate X อีกทั้ง Huawei ยังใช้การรวบรวมข้อมูลจากมวลชนเพื่อเก็บข้อมูลแผนที่ ช่วยให้การระบุพิกัด และการนำทางในอาคารแม่นยำมากขึ้น
สรุปภาพรวมสำหรับงาน Huawei Developer Conference 2019 วันแรก
สำหรับระบบปฏิบัติการ HarmonyOS แม้จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว แต่นี่ก็เป็นเพียงบทเริ่มต้นสำหรับโปรเจคยักษ์แห่งอนาคตของ Huawei เท่านั้น เรียกว่าหนังเรื่องนี้ต้องดูกันยาวๆ ซึ่งหากฟังความเห็นของคุณ Richard Yu ที่บรรยายบนเวทีก็ค่อนข้างชัดเจนว่า หากทาง Huawei เลือกได้ สมาร์ทโฟนของ Huawei ก็ยังคงต้องการที่จะพึ่งพาระบบปฏิบัติการ Android กับ Ecosystem ของ Google หรือ Microsoft อยู่เช่นเดิม แต่ด้วยความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในช่วงนี้ HarmonyOS ก็คืออีกหนึ่งเส้นทางที่สามารถรับประกันได้ว่า Huawei ยังก้าวไปต่อได้อย่างมั่นคง ซึ่งในอนาคตหากสมาร์ทโฟน Huawei ไม่สามารถใช้งานระบบปฏิบัติการ Android ต่อไปได้ ทาง Huawei ก็ยังสามารถโยกย้ายมาที่ระบบปฏิบัติการ HarmonyOS ได้ทันทีเช่นกัน เรียกว่าเป็นแผนสำรองที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้งานแบรนด์ Huawei ได้ในระดับหนึ่ง
ซึ่งทาง Huawei หมายมั่นปั้นมือว่าระบบปฏิบัติการ HarmonyOS นี้จะเป็นรากฐานของเทคโนโลยีต่างๆ ในอนาคต และอาจเป็นการเปิดตลาดใหม่ที่มีมูลค่านับล้านล้านดอลลาร์เลยทีเดียว ดังนั้น Huawei จึงพร้อมจะสร้าง Ecosystem และดึงดูดนักพัฒนารายใหม่ๆ เพื่อสร้างการเชื่อมโยงทุกอุปกรณ์เข้าด้วยกันแบบไร้รอยต่อให้เป็นจริงได้ใน 5 ถึง 10 ข้างหน้า
และผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนรุ่นปัจจุบันของ Huawei หลายๆ รุ่น ก็ยังมีข่าวดีคือตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2019 เป็นต้นไป ก็จะเริ่มทยอยได้รับการอัปเดตส่วนติดต่อผู้ใช้เวอร์ชันใหม่ล่าสุดอย่าง EMUI 10 ที่ทั้งสวยขึ้น, เร็วขึ้น, ลื่นไหลขึ้น, ฉลาดขึ้น และทำงานกับ Ecosystem ของ Huawei ได้ดียิ่งขึ้น ส่วนข้อมูลเชิงลึกของ EMUI 10 นั้น เราจะรวบรวมมานำเสนอให้ทุกท่านได้ติดตามอีกครั้งในบทความต่อไป ท่านใดสนใจก็รอชมกันได้ครับ
ขอบคุณการสนับสนุนข้อมูลจาก : Huawei Consumer Business Group (Thailand)
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจของงาน Huawei Developer Conference 2019
- เจาะฟีเจอร์ EMUI 10 ประสบการณ์ UX ครั้งใหม่ในสมาร์ทโฟน Huawei เพื่อยกระดับส่วนติดต่อผู้ใช้ขึ้นไปอีกขั้น
- Cyberverse อีกหนึ่งอาวุธลับ Huawei ที่รวมโลกจริง กับโลกดิจิทัลไว้ แบบไร้รอยต่อ ผ่านจอสมาร์ทโฟน
- พาทัวร์ Huawei Ox Horn Campus อาณาจักร 5 หมื่นล้าน สำนักงานในฝัน ที่ทุกวันเหมือนอยู่ในยุโรป
นำเสนอบทความโดย : thaimobilecenter.com
วันที่ : 11/8/2562