กล้องคู่ (Dual Camera) ในสมาร์ทโฟนราคาไม่เกิน 10,000 บาท ดีกว่ากล้องเดี่ยว (Single Camera) จริงหรือ? ไขข้อสงสัย พร้อมเจาะลึกกล้องคู่ กับกล้องเดี่ยว แบบไหนดีกว่ากัน?
โลกของเทคโนโลยีในปัจจุบันนี้มีการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาการที่เพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปี โดยส่วนมากมักจะเป็นเทรนด์บางอย่างที่ได้รับความนิยมจากผู้ผลิต และผู้ใช้ในปีนั้นๆ จนบางฟีเจอร์ได้กลายเป็นมาตรฐานของการผลิตสมาร์ทโฟนไปในทันที เช่น เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือที่ก่อนหน้านี้ยังใช้งานกันไม่แพร่หลายดังเช่นปัจจุบัน หรือฟีเจอร์หน้าจอไร้ขอบในอัตราส่วน 18:9 ที่นอกจากจะใช้งานในสมาร์ทโฟนเรือธงแล้ว ก็ยังขยับขยายไปสู่กลุ่มสมาร์ทโฟนระดับกลางด้วยเช่นกัน
แต่สำหรับเทคโนโลยีอย่างหนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นปัจจัยหลักในการเลือกซื้อมือถือเครื่องใหม่สำหรับใครหลายๆ คน ก็คือ "กล้องถ่ายภาพ" ที่มีให้เลือกใช้งานกันตั้งแต่มือถือระดับเริ่มต้น ไปจนถึงมือถือเรือธง ซึ่งคุณภาพ และประสิทธิภาพของกล้องในสมาร์ทโฟนแต่ละระดับก็จะมีความแตกต่างกันออกไป โดยนวัตกรรมล่าสุดของกล้องมือถือก็คือ "กล้องคู่ (Dual-Camera)" ที่กลายเป็นเทรนด์หลักของกล้องถ่ายภาพบนสมาร์ทโฟนหลายๆ รุ่นในปัจจุบัน
สำหรับความสามารถของกล้องคู่ หลายๆ ท่านคงจะเคยพบเห็นประสิทธิภาพ และคุณสมบัติพิเศษของกล้องคู่บนมือถือเรือธงกันมาบ้างแล้ว แต่สำหรับกลุ่มสมาร์ทโฟนระดับกลางนั้น การใช้งานกล้องคู่จะมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับรุ่นเรือธงหรือไม่ หรือว่าสมาร์ทโฟนระดับกลางที่ใช้งานกล้องเดี่ยว (Single-Camera) จะทำผลงานได้ดีกว่ากัน วันนี้เราจะมาลองค้นหาคำตอบ และทำความรู้จักกับเทคโนโลยีกล้องคู่-กล้องเดี่ยวไปพร้อมๆ กันครับ
เทคโนโลยีกล้องคู่ (Dual-Camera) ทำงานอย่างไร?
นวัตกรรมกล้องคู่ (Dual-Camera) บนสมาร์ทโฟนถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการถ่ายภาพให้ใกล้เคียงกับกล้องโปรมากยิ่งขึ้น ซึ่งจุดประสงค์หลักๆ ก็คือ การเบลอฉากหลัง ให้เนียนตาคล้ายกับการถ่ายด้วยกล้องใหญ่ โดยการทำงานของกล้องคู่ทั่วไป คือ กล้องตัวแรกจะทำหน้าที่ถ่ายภาพตรงหน้า ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ, บุคคล หรือสถานที่ต่างๆ ส่วนกล้องตัวที่สองจะทำหน้าที่เก็บรายละเอียดเสริม เช่น การเบลอฉากหลัง, การเก็บแสงเงา หรือการซูมภาพ ซึ่งเมื่อผู้ใช้กดถ่ายภาพแล้ว ซอฟต์แวร์ก็จะนำภาพจากทั้งสองกล้องมารวมกันเป็นภาพเดียว จึงทำให้เกิดเป็น ภาพถ่ายแบบหน้าชัด-หลังเบลอ หรือภาพถ่ายที่มีรายละเอียดแสงเงาที่คมชัดมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
กล้องคู่ (Dual-Camera) มีจุดเด่นอย่างไรบ้าง?
แน่นอนว่าการพัฒนากล้องคู่ (Dual-Camera) บนสมาร์ทโฟนขึ้นมานั้น ตัวกล้องก็ต้องมีความสามารถ หรือประสิทธิภาพที่แตกต่างจากกล้องเดี่ยวบนสมาร์ทโฟนทั่วไป โดยความสามารถของกล้องคู่บนสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน อาจจำแนกได้คร่าวๆ ดังนี้
กล้องคู่กับการสร้างฉากหลังเบลอ หรือ Bokeh - ฟีเจอร์นี้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้สมาร์ทโฟนสามารถถ่ายภาพได้ใกล้เคียงกับกล้องโปรมากยิ่งขึ้น เพราะข้อจำกัดของเลนส์ และเซ็นเซอร์กล้องบนสมาร์ทโฟนยังไม่เอื้อให้ถ่ายภาพได้เทียบเท่ากับกล้องโปร ดังนั้น กล้องตัวที่สองจึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อถ่ายภาพแบบเบลอเกือบทั้งภาพ แล้วนำภาพที่ได้มารวมกับกล้องตัวแรกที่ถ่ายภาพแบบคมชัดทั้งหมดด้วยซอฟต์แวร์ประมวลผลภาพ โดยใช้อัลกอริธึมประมวลผลว่าวัตถุที่โฟกัสอยู่ตรงส่วนไหน และควรทำให้รายละเอียดใดคมชัด หรือเบลอออกไปบ้าง ผลลัพธ์ที่ได้จึงกลายเป็นภาพถ่ายแบบหน้าชัด-หลังเบลอดังที่เราเคยเห็นกัน
แต่การถ่ายภาพแบบหน้าชัด-หลังเบลอด้วยกล้องคู่บนสมาร์ทโฟนบางรุ่นก็ยังมีความไม่สมบูรณ์อยู่บ้าง เช่น การเบลอขอบวัตถุ หรือบุคคลที่โฟกัสไว้ เพราะซอฟต์แวร์คิดว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนประกอบของฉากหลัง ซึ่งปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าหากถ่ายภาพด้วยกล้องที่อาศัยการเบลอด้วยระยะชัดตื้นจากเลนส์จริงๆ โดยเฉพาะเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างๆ ดังนั้น การพัฒนาซอฟต์แวร์ประมวลผลภาพให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นก็เป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อการใช้งานโดยตรงด้วย
กล้องคู่ (Dual-Camera) กับเซ็นเซอร์รับภาพ RGB และ Monochrome - นอกจากฟีเจอร์เด่นอย่างการถ่ายภาพแบบหน้าชัด-หลังเบลอแล้ว กล้องคู่ (Dual-Camera) ยังมีจุดเด่นในเรื่องของการเก็บรายละเอียดสีสันแสงเงาต่างๆ ให้คมชัดมากยิ่งขึ้นด้วยการใช้งานเซ็นเซอร์รับภาพสี (RGB) และภาพขาวดำ (Monochrome) แบบแยกออกจากกัน โดยการใช้งานเซ็นเซอร์รับภาพแบบแยกนี้จะช่วยให้ภาพถ่ายมีรายละเอียดของแสง และสีสันในภาพที่คมชัดมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงประสิทธิภาพการถ่ายภาพในที่แสงน้อยก็เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน เพราะเซ็นเซอร์ตัวที่สองมักจะเก็บรายละเอียดเฉพาะแสงเพียงอย่างเดียว เมื่อนำมารวมกับภาพที่ได้จากเซ็นเซอร์ตัวแรก ก็ทำให้ภาพถ่ายมีความสว่างมากขึ้น และแสดงรายละเอียดในภาพได้มากขึ้นด้วย
กล้องคู่ (Dual-Camera) กับการซูมภาพแบบไม่สูญเสียรายละเอียด - อีกหนึ่งฟีเจอร์เด่นที่สามารถทำได้เฉพาะสมาร์ทโฟนที่ใช้งานกล้องคู่เท่านั้นก็คือ การซูมภาพแบบไม่สูญเสียรายละเอียด (Optical Zoom หรือ Lossless Zoom) โดยส่วนมาก เลนส์ตัวที่สองบนกล้องคู่จะใช้งานเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสไกลกว่าเลนส์ตัวแรก เช่น สมมติให้เลนส์ตัวแรกมีทางยาวโฟกัสที่ 22mm เลนส์ตัวที่สองก็จะมีทางยาวโฟกัสที่ 56mm เป็นต้น ซึ่งตัวเลขทางยาวโฟกัสที่มากขึ้น หมายความว่าผู้ใช้สามารถถ่ายภาพได้ไกลขึ้นนั่นเอง โดยตัวซอฟต์แวร์กล้องจะมีปุ่ม 2x เพื่อสลับไปใช้งานกล้องตัวที่สองที่ถ่ายภาพได้ไกลกว่า ทำให้ภาพถ่ายที่ได้ไม่สูญเสียรายละเอียดแต่อย่างใด
จำนวนกล้องมากกว่า = ดีกว่าจริงหรือ?
หากจะว่ากันตามตรงแล้ว กับคำถามเกี่ยวกับกล้องบนสมาร์ทโฟนที่ว่า จำนวนกล้องที่มากกว่าเท่ากับว่าจะให้คุณภาพของภาพถ่ายออกมาดีกว่าหรือไม่นั้น คำตอบคือ "ไม่จริงเสมอไป" เพราะตามหลักแล้ว รายละเอียดของภาพ, สีสัน หรือความคมชัดต่างๆ จะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักอย่าง "เซ็นเซอร์รับภาพ" เสียมากกว่า โดยเซ็นเซอร์รับภาพบนกล้องส่วนใหญ่จะเป็นเซ็นเซอร์แบบ CMOS (Complementary Metal Oxide Semiconductor) ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยหลักการใช้งานเซ็นเซอร์รับภาพก็จะเกี่ยวโยงกับ การวัดค่าแสง, ความเร็วชัตเตอร์, ขนาดรูรับแสง, ค่าความไวแสง (ISO) ฯลฯ ซึ่งกล้องถ่ายภาพแบบ DSLR หรือ Mirrorless (และกล้อง Compact บางรุ่น) มักจะปรับตั้งค่าในส่วนนี้ได้อย่างอิสระ แต่สำหรับสมาร์ทโฟนที่ค่อนข้างมีข้อจำกัดอยู่มากในการปรับตั้งค่าเหล่านี้ ถึงแม้จะมีโหมด Pro มาให้ก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าภาพถ่ายที่ได้จะสวยขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากคุณภาพของภาพถ่ายจะขึ้นอยู่ "ขนาดของเซ็นเซอร์รับภาพ" เป็นสำคัญ
ขนาดของเซ็นเซอร์รับภาพส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพของภาพถ่ายที่ได้มา ถ้าหากเซ็นเซอร์มีขนาดใหญ่ เท่ากับว่าตัวเซ็นเซอร์สามารถบรรจุข้อมูล และรายละเอียดต่างๆ ของภาพได้มากขึ้น ทั้งความคมชัด, รายละเอียดสี และแสงเงาต่างๆ ซึ่งการใช้งานเซ็นเซอร์รับภาพจำนวนสองตัวบนสมาร์ทโฟนกล้องคู่ เท่ากับว่าเซ็นเซอร์นั้นอาจมีขนาดเล็กลง จึงอาจทำให้คุณภาพของภาพถ่ายลดลงไปด้วย ซึ่งแตกต่างกับสมาร์ทโฟนกล้องเดี่ยวที่สามารถใช้เซ็นเซอร์ขนาดใหญ่เท่ากับเซ็นเซอร์สองตัวได้อย่างสบายๆ และเป็นปัจจัยหลักที่ให้คุณภาพของภาพถ่ายที่ดีกว่าด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วการเพิ่มจำนวนกล้อง หรือเซ็นเซอร์นั้นไม่ได้ช่วยเพิ่มคุณภาพของภาพถ่ายแต่อย่างใด เพราะคุณภาพของภาพถ่ายนั้นอยู่ที่การใช้งานเซ็นเซอร์รับภาพขนาดใหญ่เท่านั้นจึงจะสามารถเก็บรายละเอียดต่างๆ ได้ครบถ้วน และมีความคมชัดมากกว่า เช่นเดียวกับกล้องโปรที่มีเซ็นเซอร์ขนาดใหญ่นั่นเอง
นอกจากนี้ แบรนด์ผู้ผลิตบางแบรนด์ยังมองว่า สิ่งสำคัญอันดับแรกของการพัฒนากล้องถ่ายภาพบนสมาร์ทโฟนก็คือ ความไวต่อแสงโดยรอบ และการถ่ายภาพแบบกลุ่ม (Group Shot) ส่วนรองลงมาก็คือการปรับแต่งซอฟต์แวร์ของผู้ผลิตเอง ขณะที่ในส่วนของความละเอียดระดับ xx ล้านพิกเซลนั้น ถือเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยส่งผลกระทบมากนัก เพราะปัจจุบันนี้สมาร์ทโฟนทั่วไปสามารถใช้งานกล้องที่มีความละเอียดได้สูงถึงระดับ 20 ล้านพิกเซลขึ้นไป แต่ความละเอียดนี้ไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อการถ่ายภาพให้สวยงาม สิ่งที่ส่งผลจริงๆ อยู่ที่ซอฟต์แวร์ และเซ็นเซอร์รับภาพมากกว่า ดังนั้น จุดเด่นของกล้องคู่ (Dual-Camera) ในปัจจุบันจึงอยู่ที่การปรับแต่งซอฟต์แวร์ให้มีความแตกต่างจากคู่แข่ง ซึ่งถ้าหากวัดคุณภาพกันในส่วนนี้แล้ว สมาร์ทโฟนที่ใช้งานกล้องเดี่ยว (Single-Camera) ก็ถือว่าทำได้ไม่แพ้กัน และอาจได้เปรียบกว่าเพราะใช้งานเซ็นเซอร์ขนาดใหญ่กว่าด้วย
เปรียบเทียบภาพถ่ายจากสมาร์ทโฟน กล้องเดี่ยว vs กล้องคู่
ในหัวข้อนี้เราได้นำภาพถ่ายตัวอย่างจากสมาร์ทโฟนกล้องเดี่ยว และกล้องคู่ในช่วงราคาประมาณ 10,000 บาท มาเปรียบเทียบให้ทุกท่านได้รับชมกันในเบื้องต้นถึงคุณภาพของภาพถ่าย และรายละเอียดต่างๆ โดยสมาร์ทโฟนกล้องเดี่ยวคือ OPPO F5 และ Sony Xperia XA1 Plus ส่วนสมาร์ทโฟนกล้องคู่คือ Moto G5S Plus ส่วนภาพถ่ายจากกล้องของแต่ละรุ่นจะเป็นอย่างไร ลองรับชมกันได้เลยครับ
ตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องด้านหลังของ OPPO F5, Sony Xperia XA1 Plus และ Moto G5S Plus
(ภาพถ่ายโหมดปกติ)
ภาพถ่ายแบบซูม 100%
(ภาพถ่ายโหมดปกติ)
(ภาพถ่ายโหมด HDR)
(ภาพถ่ายแบบย้อนแสง)
(ภาพถ่ายกลางคืน)
เปรียบเทียบภาพถ่ายจากกล้องด้านหน้าของ OPPO F5, Sony Xperia XA1 Plus และ Moto G5S Plus
(ภาพถ่ายโหมดปกติ)
(ภาพถ่ายโหมด Beauty)
(ภาพถ่ายโหมด Beauty พร้อมเปิดโหมด Bokeh มีเฉพาะ OPPO F5 เท่านั้น)
(ภาพถ่ายโหมด Beauty)
จะเห็นได้ว่าภาพถ่ายตัวอย่างทั้งหมดจากสมาร์ทโฟนทั้ง 3 รุ่นนั้น ล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละรุ่นที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งถ้าหากมองในภาพรวมก็ถือว่าทำได้ดีตามมาตรฐานทุกรุ่น แต่ส่วนที่น่าจะมีความแตกต่างกันมากที่สุดก็คือ กล้องด้านหลังที่เปิดโหมด HDR ซึ่งสมาร์ทโฟนแต่ละรุ่นมีการปรับแต่งซอฟต์แวร์ที่แตกต่างกันออกไป โดย Moto G5S Plus มีการเร่งสีสันให้สดใสมากยิ่งขึ้น, Sony Xperia XA1 Plus มีคอนทราสต์ค่อนข้างจัดกว่าอีก 3 รุ่น ส่วน OPPO F5 ถือว่าเกลี่ยแสงทั้งภาพได้ค่อนข้างดี สามารถมองเห็นได้ทุกส่วน ตั้งแต่ส่วนสว่างที่สุด จนถึงส่วนที่มืดที่สุดในภาพ
สำหรับกล้องด้านหน้านั้นมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดย Sony Xperia XA1 Plus จะถ่ายภาพออกมาค่อนข้างติดโทนสีเหลือง ส่วน Moto G5S Plus จะวัดแสงได้ค่อนข้างมืดไปสักเล็กน้อย ขณะที่ OPPO F5 ถือว่าถ่ายภาพเซลฟี่ได้ค่อนข้างดีกว่าอีกสองรุ่น โดย OPPO F5 มีเทคโนโลยี A.I. Beauty ที่ช่วยเกลี่ยสีผิว และวิเคราะห์ใบหน้าของผู้ถ่าย พร้อมปรับค่า Beauty ให้แบบอัตโนมัติ และยังคงเก็บรายละเอียดโดยรวมได้ดี
สรุปผลการทดสอบเบื้องต้น
สรุปผลการทดสอบกล้องหลัง
ภาพถ่ายตัวอย่างทั้งหมดจากสมาร์ทโฟนทั้ง 3 รุ่นนั้น ในโหมดปกติโดยรวมถือว่าทำได้ดีตามมาตรฐานทุกรุ่น ทั้ง OPPO F5 Sony และ Xperia XA1 Plus ที่เป็นกล้องเดี่ยว กับ Moto G5S Plus ที่เป็นกล้องคู่ แต่จะมีเรื่องรายละเอียดของฉากหลังที่กล้องคู่อาจจะได้เปรียบนิดหน่อย (สังเกตที่รูปต้นไม้และฉากหลัง) ส่วนที่น่าจะมีความแตกต่างกันมากที่สุดก็คือ กล้องด้านหลังที่เปิดโหมด HDR ซึ่งสมาร์ทโฟนแต่ละรุ่นมีการปรับแต่งซอฟต์แวร์ที่แตกต่างกันออกไป โดย Moto G5S Plus จะเน้นการเร่งสีสันให้สดใส Sony Xperia XA1 Plus มีคอนทราสต์ค่อนข้างจัดกว่าอีก 3 รุ่น ส่วน OPPO F5 ถือว่าเกลี่ยแสงทั้งภาพได้ค่อนข้างดี สามารถมองเห็นได้ทุกส่วน ตั้งแต่ส่วนสว่างที่สุด จนถึงส่วนที่มืดที่สุด อย่างไรก็ดีการถ่ายทัศนียภาพ การถ่ายย้อนแสง รวมถึงการถ่ายในที่แสงน้อยจากการทดสอบยังไม่เห็นความแตกต่างมากนัก
สรุปการทดสอบกล้องหน้า
สำหรับกล้องด้านหน้านั้นจะเป็นการทดสอบกล้องเดี่ยวทั้งหมดนะครับ OPPO F5 จะค่อนข้างได้เปรียบเพราะมี A.I. beauty ที่ช่วยเกลี่ยแสงและสีผิว ซึ่งเป็นจุดเด่นของรุ่นนี้อยู่แล้ว ในส่วนของ Sony Xperia XA1 Plus ภาพที่ถ่ายออกมาจากการทดสอบค่อนข้างติดโทนสีเหลืองไปนิดนึง ซึ่งอาจจะเกิดจากสภาพแสงขณะถ่ายประกอบด้วย สำหรับ Moto G5S Plus จะมีการวัดแสงได้ค่อนข้างมืดไปสักเล็กน้อยในส่วนของกล้องหน้า
หลายครั้งที่เราได้ยิน หรือมีความเข้าใจผิดว่า "กล้องคู่ดีกว่ากล้องเดี่ยว" ซึ่งอาจไม่จริงเสมอไป แม้แต่สมาร์ทโฟนในระดับเรือธง ผลคะแนนทดสอบกล้องถ่ายภาพจาก DxOMark ในขณะนี้ สมาร์ทโฟนที่ได้คะแนนสูงที่สุดในโลกก็คือ Google Pixel 2 ด้วยคะแนนสูงถึง 98 คะแนนซึ่งเป็นสมา์ทโฟนกล้องเดี่ยวเช่นกัน เราขอสรุปจุดเด่นหลักๆ ของกล้องเดี่ยว และกล้องคู่ ก็อาจจำแนกให้เห็นชัดๆ ได้ดังนี้
กล้องเดี่ยว (Single-Camera) - มีจุดเด่นในเรื่องของเซ็นเซอร์รับภาพที่มีขนาดใหญ่ ทำให้สามารถเก็บรายละเอียดของภาพ และความคมชัดต่างๆ ได้มากกว่า ส่วนการถ่ายภาพแบบ หน้าชัด-หลังเบลอ ก็จะมีความเป็นธรรมชาติมากกว่า และไม่มีปัญหาเรื่องการตัดขอบวัตถุ หรือภาพลอย เพราะเป็นการเบลอที่เกิดขึ้นจากชิ้นเลนส์โดยตรง ไม่ใช่การเบลอด้วยซอฟต์แวร์ แต่ก็จะไม่สามารถเบลอได้มากเท่ากล้องคู่ หรือกล้องกล้อง DSLR
กล้องคู่ (Dual-Camera) - มีจุดเด่นในเรื่องของลูกเล่นในการถ่ายภาพที่มากกว่ากล้องเดี่ยว เช่น การถ่ายภาพ หน้าชัด-หลังเบลอ ที่ทำได้คล้ายกับกล้อง DSLR, การซูมภาพแบบไม่สูญเสียรายละเอียด (Lossless Zoom) และมีระยะซูมที่ไกลกว่า (เฉพาะรุ่นที่มีเลนส์ตัวที่สองเป็นเลนส์ Telephoto เท่านั้น)
เช่นเดียวกันกับกลุ่มสมาร์ทโฟนระดับกลางที่มีทั้งกล้องคู่ และกล้องเดี่ยว อย่างเช่นสมาร์ทโฟนทั้ง 3 รุ่นที่เราได้ยกมาเป็นตัวอย่างในการทดสอบครั้งนี้ ซึ่งจุดเด่นของกล้องเดี่ยว และกล้องคู่ก็มีแตกต่างกันออกไป แต่ถ้าหากจะวัดกันจริงๆ กล้องคู่ กับกล้องเดี่ยว สำหรับรุ่นที่ราคาไม่เกิน 10,000 บาท น่าจะแตกต่างกันในเรื่องของฟีเจอร์มากกว่า แต่ถ้าเป็นกล้องคู่ระดับ High-End ที่ใช้งานเซ็นเซอร์ 2 แบบ ทั้ง RGB และ Monochrome ก็อาจจะเก็บรายละเอียดได้แตกต่างกัน แต่สำหรับสมาร์ทโฟนในระดับราคานี้เรื่องรายละเอียดภาพ หรือความคมชัดต่างๆ จากที่เราทดสอบมาถือว่าค่อนข้างทำได้ดีทั้งคู่ครับ
หวังว่าบทความนี้จะช่วยทำความเข้าใจให้กับผู้อ่านเวลาเลือกซื้อมือถือให้ตรงกับความต้องการมากยิ่งขึ้น สำหรับวันนี้ทีมงาน Thaimobilecenter ก็ต้องขอลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้า สวัสดีครับ
นำเสนอบทความโดย : thaimobilecenter.com
วันที่ : 15/12/2560