เบื้องหลัง Xperia 1 III : มือถือที่ Sony พัฒนากล้องร่วมกับทีมกล้องถ่ายภาพระดับโปรอย่าง Alpha
จุดเด่นของ Sony Xperia 1 III เรือธงระดับไฮเอนด์รุ่นใหม่ล่าสุด นอกเหนือจากสเปกที่เร็วแรงไม่แพ้สมาร์ทโฟนเรือธงค่ายคู่แข่งแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ Sony จัดเต็มมาให้นั่นก็คือ ระบบกล้องหลังจำนวน 3 ตัว พร้อมเซ็นเซอร์ 3D iToF ประกบคู่กับเลนส์ ZEISS อันเลื่องชื่อ แต่กว่าที่จะออกมาเป็นกล้องถ่ายภาพมือถือ Xperia 1 III ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ Sony ต้องทำงานร่วมกับทีมวิศวกรผู้อยู่เบื้องพัฒนากล้องถ่ายภาพระดับโปรอย่าง Alpha อย่างใกล้ชิด เราไปดูเบื้องหลังของกล้องมือถือรุ่นนี้กันดีกว่าครับ
เลนส์
Hiroyuki Chiba ผู้รับหน้าที่พัฒนาเลนส์ G Master และ Rx Series ให้ข้อมูลว่า Sony ได้ทำการออกแบบเลนส์ Xperia 1 III โดยยึดหลักการ “Cameraness” แบบเดียวกันกับการพัฒนาเลนส์สำหรับกล้องใหญ่ ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 4 อย่าง ได้แก่ High Image Quality (คุณภาพของภาพถ่ายระดับสูง), High Precision (ความแม่นยำสูง), Small and lightweight (เล็ก และเบา) และ Speed (ความรวดเร็ว)
ผลงานที่ทีมวิศวกรผู้พัฒนาเลนส์ของ Sony ฝากเอาไว้กับมือถือรุ่นนี้ก็คือ Periscope Structure ซึ่งเป็นการสร้างเลนส์ Telephoto ที่มีระยะโฟกัสภาพหลายระยะ ขนาดของเลนส์ที่เล็ก แต่ให้ภาพถ่ายในคุณภาพระดับสูง
สำหรับชุดโมดูลกล้อง Periscope Structure จะทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์รับภาพตัวใหม่ที่ทำงานร่วมกับระบบโฟกัสภาพแบบ Dual PD และ Actuator ที่ได้รับการปรับจูนเพื่อให้ทำงานร่วมกันอย่างรวดเร็ว และโฟกัสได้อย่างแม่นยำ
ซอฟท์แวร์
ในส่วนของซอฟท์แวร์ Yu Kimishima วิศวกรด้านซอฟท์แวร์ เล่าว่า ตอนที่พัฒนากล้อง Alpha 1 ทาง Sony ได้ใส่ฟีเจอร์ Real-time Tracking (ฟีเจอร์โฟกัสแบบล็อกวัตถุแบบเรียลไทม์) เพื่อให้ผู้ใช้ระดับโปรได้มีเวลาวางองค์ประกอบภาพโดยที่ไม่ต้องกังวงว่าภาพจะโฟกัสเข้าเป้าหรือไม่ โดยส่วนที่ช่วยให้กล้องสามารถล็อกโฟกัสได้อย่างแม่นยำก็ได้อานิสงฆ์มาจากพลังของ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) นั่นเอง
แต่อย่างไรก็ดี AI ยังมีข้อจำกัดด้านการแยกแยะความหลากหลาย อย่างเช่น การถ่ายภาพในสนามฟุคบอลที่มีนักกีฬาใส่ชุดทีมเดียวกัน ซึ่งอาจส่งผลให้ AI ล็อกโฟกัส Subjet ที่ต้องการผิดพลาดได้ ซึ่งการยกฟีเจอร์นี้จากกล้องใหญ่ Alpha 1 มาใส่ไว้ใน Xperia 1 III จำเป็นต้องขจัดจุดอ่อนเหล่านี้ Sony จึงได้ใส่กล้อง 3D iToF เพื่อเข้ามาช่วยเก็บข้อมูลด้านระยะชัดตื้นได้อย่างแม่นยำ โดยจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปทำงานร่วมกับข้อมูลที่ AI ได้รับมานั่นเอง
นอกจากนี้ Sony ยังใส่ใจสำหรับผู้ที่ต้องการมือถือเพื่อการถ่ายภาพกีฬา ด้วยการใส่เลนส์ Telephoto ที่มีกำลังซูมไกล 2 ระยะ ได้แก่ 70 มม. และ 105 มม. ที่มีความสามารถในด้านการโฟกัสที่รวดเร็ว ซึ่งเมื่อทำงานร่วมกับฟีเจอร์ Real-time Tracking แล้ว จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถลั่นชัตเตอร์ได้ทันทีโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการโฟกัสอีกต่อไป ทำให้การถ่ายภาพกีฬาบน Xperia 1 III จะเป็นเรื่องง่ายมากยิ่งขึ้น
ในส่วนของกล้อง 3D iToF นั้น แม้ว่าจะมีความสามารถในด้านการเก็บข้อมูลระยะชัดตื้นได้อย่างแม่นยำก็จริง แต่กระบวนการทำงานถือว่าต่างจากกกล้อง Depth Sensor ของกล้อง Alpha เป็นอย่างมาก Sony จึงได้พัฒนาอัลกอริทึมใหม่ให้เหมาะสมกับมือถือ แต่ให้ประสบการณ์ด้านการใช้งานจริงไม่แตกต่างกับกล้อง Alpha เลยทีเดียว
คุณภาพของภาพถ่าย
ในกล้อง Alpha ทาง Sony โฟกัสไปในเรื่องของการถ่ายทอดสีสัน และรายละเอียดของภาพถ่ายให้ออกมาเป็นอย่างธรรมชาติ ซึ่ง Sony มองว่า ภาพถ่ายแบบนี้จะมีความสวยงามตลอดกาล ซึ่งแน่นอนว่าภาพถ่ายที่สวยงามนั้น หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดก็คือ เซ็นเซอร์รับภาพ ที่มีคุณภาพระดับสูง
สำหรับการพัฒนาเซ็นเซอร์รับภาพนั้น ทีมงานของ Sony ได้ทำการวิเคราะห์หลายด้าน ทั้งการถ่ายทอดสกินโทน, การจัดการ Noise เมื่อใช้ ISO ระดับสูง ไปจนถึงปัญหาอื่น ๆ ที่มักจะเจอได้กล้องถ่ายภาพบนสมาร์ทโฟน แม้จะฟังดูเป็นเรื่องที่ยาก แต่โชคดีตรงที่ Sony มีขีดความสามารถในพัฒนาองค์ประกอบต่าง ๆ ของกล้องได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็น เซ็นเซอร์รับภาพ, เลนส์ ไปจนถึงชิปประมวลผลภาพถ่าย ซึ่งการร่วมมือกันของหลาย ๆ ทีมนี้เองทำให้ Sony สามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ได้หลายต่อหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น กล้อง Alpha หรือเทคโนโลยี Cybershot เป็นต้น
ในส่วนของมือถือ Xperia ทาง Sony ได้ปรับปรุงคุณภาพของภาพถ่ายผ่านการยกระดับชิปเซ็ตประมวลผลของสมาร์ทโฟน ไปพร้อม ๆ กับการปรับจูนเทคโนโลยีประมวลผลภาพี่ยกเครื่องมาจากจากกล้องใหญ่ Alpha พร้อมทั้งยังมีการใส่แอปฯ Photography Pro ที่ดึงหน้าอินเทอร์เฟสการตั้งค่าต่าง ๆ มาจากกล้อง Alpha โดยตรง ตอบโจทย์ผู้ใช้ระดับโปรอย่างเต็มพิกัด พร้อมทั้งยังมีการใส่ปุ่ม Shutter Button ที่ออกแบบขยาด และพื้นที่ในการสัมผัสอย่างพอเหมาะพอเจาะ เพื่อให้การโฟกัส และการถ่ายภาพบนมือถือเป็นเรื่องที่สะดวกมากยิ่งขึ้น
นอกจาก คุณภาพของกล้องแล้ว Sony ยังให้ความใส่ใจในเรื่องของหน้าจอแสดงผลที่ต้องถ่ายทอดสีสันได้อย่างเที่ยงตรง จึงทำให้เกิดฟีเจอร์ Creator Mode ที่ช่วยให้ถ่ายทอดสีสันได้ราวกับมอนิเตอร์ระดับมืออาชีพ แต่ซอฟท์แวร์อย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ทาง Sony จึงได้ใส่หน้าจอความละเอียดสูงระดับ 4K มาตอบโจทย์ผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพบนมือถือ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะได้รับประสบการณ์อย่างเต็มเปี่ยม
จะเห็นได้ว่าการพัฒนากล้องถ่ายภาพ Sony คำนึงถึงผู้ใช้เป็นหลัก และยังมีการพัฒนาร่วมกับทีมอื่น ๆ ภายในบริษัทเพื่อช่วยยกระดับประสบการณ์การถ่ายภาพบนมือถือให้ดีขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วความสวยงามของภาพถ่ายคงไม่สามารถชี้วัดได้แบบ 100% เพราะส่วนหนึ่งคงต้องขึ้นอยู่กับความชื่นชอบส่วนบุคคลด้วยนั่นเองครับ
ข้อมูลอ้างอิง : Sony
วันที่ : 20/4/2564
