หลังจากที่ได้สมาร์ทโฟนสุดรักมาไว้ในครอบครองแล้ว แน่นอนว่านอกจากการใช้งานในแต่ละวันแล้ว ยังต้องมีการปกป้องดูแลตัวเครื่องเพื่อให้สมาร์ทโฟนของเรานี้มีสภาพดังเช่นเครื่องใหม่ให้นานที่สุด และการติดฟิล์มกันรอยก็เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถลดรอยขีดข่วนของตัวเครื่อง และหน้าจอได้เป็นอย่างดี ซึ่งฟิล์มกันรอยในปัจจุบันก็มีให้เลือกหลากหลายรูปแบบเสียจนหลายคนเกิดปัญหาว่าฟิล์มกันรอยแบบไหนมันดีกว่ากัน ? ฟิล์มกันรอยแบบไหนกันรอยได้ดีกว่า ? ฟิล์มกันรอยแบบไหนเหมาะสมกับการใช้งานของผู้ใช้ที่สุด ? ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก็ได้สร้างความข้องใจให้กับผู้ใช้หลายคน แต่ก็ไม่ต้องกังวลไปเพราะวันนี้เว็บไซต์ thaimobilecenter.com ของเรา จะพาไปรู้จักกับฟิล์มกันรอยแบบต่างๆ เพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจเลือกซื้อฟิล์มกันรอยให้กับทุกท่านกัน
ก่อนจะไปดูประเภทต่างๆ ของฟิล์มกันรอย ต้องกล่าวก่อนว่า “ฟิล์มกันรอย” ในที่นี้ มักจะถูกใช้เรียกรวมสิ่งที่นำมาปกป้องหน้าจอสมาร์ทโฟน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ได้มีเพียงฟิล์ม แต่ยังมีกระจกนิรภัย ด้วยเช่นกัน
- สำหรับฟิล์มกันรอย จะมีลักษณะเป็นแผ่นบาง ป้องกันหน้าจอได้ด้วยการเคลือบฟิล์มแข็งบาง ซึ่งสามารถแนบสนิทไปกับหน้าจอ และไม่บดบังการแสดงผล และมีราคาถูก
- ส่วนกระจกนิรภัย จะมีความหนา พร้อมกับคุณสมบัติการป้องกันที่ดีกว่าแบบฟิล์ม รวมถึงราคาที่สูงกว่าแบบฟิล์มเล็กน้อย
ฟิล์มกันรอยแบบใส (Clear Screen Protector)
เป็นฟิล์มกันรอยที่หาซื้อหาใช้ได้ง่าย โดยมีการวางจำหน่ายอย่างแพร่หลาย พร้อมคุณสมบัติที่ไม่ส่งผลต่อการแสดงผล หรือสีสันของหน้าจอมากนักจนเรียกได้ว่า เหมือนไม่ติดฟิล์มกันรอยเลยทีเดียว โดยฟิล์มกันรอยแบบใสนี้จะมีให้เลือกหลายระดับทั้ง Ultra Clear หรือ Invisible Screen Protector ซึ่งมีจุดเด่นที่ไม่ทำให้การแสดงผลของหน้าจอประสิทธิภาพลดลงมากนัก ยังคงความสดใสของหน้าจอไว้ดังเดิม แต่จะมีข้อเสียตรงที่เกิดรอยนิ้วมือได้ค่อนข้างง่ายเมื่อใช้งาน
ฟิล์มกันรอยแบบด้าน (Matte Screen Protector)
เป็นฟิล์มกันรอยอีกแบบที่ได้รับความนิยมไม่น้อย ด้วยจุดเด่นอย่างการลดการเกิดรอยนิ้วมือขณะใช้งาน และยังลดแสงจากหน้าจอ ช่วยถนอมสายตาได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงลดการสะท้อนจากแสงรอบๆ ด้วยเช่นกัน แต่สำหรับคนที่ชอบหน้าจอสีสดใสจากหน้าจอ ฟิล์มกันรอยแบบนี้อาจไม่ตอบโจทย์มากเท่าที่ควร
ฟิล์มกันรอยแบบเพิ่มความเป็นส่วนตัว (Privacy Screen Protector)
สำหรับผู้ใช้ที่ให้ความสำคัญด้านความเป็นส่วนตัวมากเป็นพิเศษ และต้องใช้สมาร์ทโฟนท่ามกลางฝูงชนมากมายที่อาจจะถือวิสาสะมองจอเราขณะที่เรากำลังใช้สมาร์ทโฟนอยู่ ฟิล์มลักษณะนี้ก็ถือว่าตอบโจทย์อยู่ไม่น้อย โดยฟิล์มชนิดมีคุณสมบัติที่ทำให้สามารถมองเห็นหน้าจอสมาร์ทโฟนได้เฉพาะมุมด้านหน้าตรงๆ เท่านั้น หากมองจากมุมอื่นจะมองเห็นเป็นแค่จอมืดๆ แต่ก็มีข้อเสียคือ เราอาจจะแชร์ความสุขด้วยการดูคลิปวีดีโอ หรือรูปภาพต่างๆ พร้อมกับเพื่อนหลายๆ คนไม่ได้ เพราะจะมีแค่คนที่อยู่ตรงหน้าจอเท่านั้นที่มองเห็น
ฟิล์มน้ำ หรือฟิล์มไฮโดรเจล (Hydrogel Film)
ฟิล์มกันรอยรูปแบบใหม่ที่มีจุดเด่นเป็นความบางเฉียบ จนกล่าวได้ว่าเหมือนไม่ได้ติดฟิล์มใดๆ อีกทั้งยังไม่บดบังความคมชัด หรือสีสันของหน้าจอ และยังสามารถสัมผัสใช้งานได้ตามปกติ ที่คล้ายกับอัปเกรดมาจาดฟิล์มใสปกติ ที่มีพร้อมความแข็งแรง ทนทานใกล้เคียงกับแบบกระจก โดยสามารถรับแรงกระแทกได้ในระดับหนึ่ง อีกทั้งยังติดใช้งานได้ไม่ยาก พร้อมไม่ทิ้งฟองอากาศ หรือคราบกาว ซึ่งมีให้เลือกใช้งานทั้งแบบใส และแบบด้านอีกด้วย เรียกได้ว่าตอบโจทย์การใช้งานในหลากหลายรูปแบบเลยทีเดียว
ฟิล์มกันรอยแบบกันกระแทก (Anti-Shock Screen Protector)
ปัญหาหนักอกหนักใจที่บรรดาผู้ใช้สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ต้องเจอกันอยู่เป็นประจำก็คือการทำเครื่องหล่น หรือเกิดกระแทกกับของบางอย่างแล้วหน้าจอแตก ซึ่งทำให้ลำบากต้องเสียเงินไปเปลี่ยนหน้าจอกันหลายพันบาท ดังนั้นบรรดาผู้ผลิตฟิล์มกันรอยชั้นนำจึงพร้อมใจกันพัฒนาฟิล์มกันรอยแบบกันกระแทก (Anti-Shock) ออกมาโดยเฉพาะ ซึ่งจุดเด่นของฟิล์มกันกระแทกแบบนี้ แน่นอนว่าตัวฟิล์มจะมีความทนทานต่อแรงตกกระแทกของวัตถุที่กระทบกับหน้าจอ รวมไปถึงการป้องกันรอยขีดข่วนที่อาจเกิดขึ้นจากการพกพาของผู้ใช้ อีกทั้งแผ่นฟิล์มยังมีความแข็งแรงทนทานกว่าฟิล์มแบบทั่วๆ ไปหลายเท่าเลยทีเดียว
และเท่าที่มีการทดสอบกันมาก็พบว่า แผ่นฟิล์มชนิดนี้สามารถป้องกันหน้าจอแตกได้จริง เนื่องจากตัวของแผ่นฟิล์มเองจะประกอบไปด้วยชั้นย่อยหลายชั้นที่มีคุณสมบัติแตกต่างกัน ตั้งแต่ชั้นฟิล์มกันรอยนิ้วมือ, ชั้นฟิล์มกันรอยขีดข่วน และชั้นฟิล์มกันแรงกระแทก ซึ่งชั้นฟิล์มกันกระแทกนี้เองจะผลิตจากกระจกที่สามารถช่วยดูดซับแรง หรือกระจายแรงกระแทกแทนหน้าจอจริงๆ ได้ ซึ่งในปัจจุบันนี้แบรนด์ผู้ผลิตฟิล์มกันรอยชั้นนำหลายๆ แบรนด์ต่างก็มีฟิล์มกันกระแทกชนิดนี้ติดตั้งให้ผู้ใช้อย่างหลากหลาย และมีการพัฒนาให้ตัวฟิล์มเหมาะสมกับการใช้งานโดยทั่วไปแบบครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ความบางของฟิล์มในระดับ 0.xx มิลลิเมตร, การป้องกันรอยนิ้วมือ หรือการป้องกันการเกาะตัวของหยดน้ำ เป็นต้น และด้วยคุณสมบัติทั้งหมดนี้ก็ส่งผลให้ผู้ใช้ส่วนใหญ่มักเลือกติดตั้งฟิล์มกันรอยแบบกันกระแทก (Anti-Shock) ที่มีคุณสมบัติครอบคลุมไว้เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับสมาร์ทโฟนเครื่องสำคัญของเราได้ทุกเมื่อนั่นเอง
กระจกกันรอย (Tempered Glass)
กระจกนิรภัยสำหรับปกป้องหน้าจอ กับจุดเด่นที่ความแข็งแรงทนทานกว่าแบบฟิล์ม พร้อมช่วยลดการแตกร้าวหน้าจอเมื่อตกพื้นได้ดีกว่า และแม้ความหนาของกระจกจะมากกว่าแบบฟิล์ม แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้งาน โดยผู้ใช้ยังสามารถสัมผัสหน้าจอในตำแหน่งต่างๆ ได้ทั่วจอเช่นเดิม พร้อมคงความคมชัด และสีสันสดใสไว้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ต้องเลือกที่มีการการันตีคุณภาพความแข็งแรงในระดับ 9H จึงจะมั่นใจได้ว่าช่วยปกป้องหน้าจอสมาร์ทโฟนของเราได้จริง
สำหรับกระจกกันรอยในปัจจุบันมีตัวเลือกให้ใช้อย่างหลากหลาย ตอบโจทย์สมาร์ทโฟนที่มีการดีไซน์ใหม่ อย่างเช่น กระจกกันรอยเต็มหน้าจอ และกระจกกันรอยเต็มหน้าจอแบบลงโค้งสำหรับสมาร์ทโฟยจอขอบโค้งโดยเฉพาะ
หมายเหตุ : สำหรับตัวเลข 9H มาจากการทดสอบ Pencil Hardness Test ตามมาตรฐาน ASTM D3363 (ประเทศสหรัฐอเมริกา) หรือ GB/T6739 (ประเทศจีนจีน) โดยการนำมาจัดเรียงลำดับความแข็งของธาตุต่างๆ ไว้ที่ 1-10 ขั้น ไล่ตั้งแต่ระดับความแข็งต่ำสุด แร่อ่อน แร่ยิปซัม ไปจนถึง พลอยสีแดง และเพชรที่มีความแข็งแรงมากที่สุดนั่นเอง ซึ่งหากได้รับผลเป็นตัวเลขมากเท่าใด แสดงว่ามีความแข็งแรงมากเท่านั้น โดยในปัจุบันคุณภาพของกระจกกันรอยจะอยู่ที่ 9H หรือ 9H+
กระจกกันรอย UV
เหมาะสำหรับสมาร์ทโฟนที่มีหน้าจอขอบโค้งโดยเฉพาะ ด้วยจุดเด่นอย่างความติดแน่นตลอดขอบหน้าจอทั้งสองด้าน ด้วยการใช้น้ำยาชนิดพิเศษ ผสานการฉายแสง UV เพื่อให้ติดแน่นกับหน้าจอ จนไม่มีช่องว่างใดๆ ระหว่างหน้าจอ และตัวฟิล์ม จึงมั่นในได้ว่าจะไม่มีการหลุด หรือการเผยอของตัวกระจกแต่อย่างใด ซึ่งต่างจากกระจกแบบปกติที่มีชั้นกาว ที่หากติดเบี้ยวไปเพียงเล็กน้อย การแก้ให้กลับมาตรงที่ที่ถูกต้องก็อาจเกิดฟองอากาศด้านในได้ ต่างจากแบบ UV ที่สามารถจัดตำแหน่งตามที่ต้องการได้ก่อนที่จะทำการฉายแสง UV นั่นเอง แต่กระจกกันรอยแบบ UV จำเป็นต้องใช้เครื่องฉายแสง UV (บางแบรนด์จะแถมเครื่องฉายมาให้) และอาจใช้เวลามากกว่า ทางที่ดีให้ผู้ที่เชี่ยวชาญทำการติดจะดีที่สุด อีกทั้งยังมีราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับแบบปกติ แต่ก็แลกมากับอายุการใช้งานที่ยาวนาน และปกป้องหน้าจอได้อย่างครอบคลุมนั่นเอง ซึ่งหากเทียบกับราคาที่ต้องจ่ายในการเปลี่ยนหน้าจอแล้ว ก็ถือว่าคุ้มค่าในการลงทุน
นอกจากนี้กระจกแบบ UV ยังสามารถใช้งานเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือที่ฝังอยู่ใต้หน้าจอได้ตามปกติ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าตัวกระจกจะติดกับหน้าจอโดยไม่มีช่องว่าง หรืออากาศแทรกอยู่ ในขณะที่แบบกระจกปกติที่มีชั้นกาวมีโอกาสเกิดอากาศด้านในได้ จึงอาจทำให้ใช้งานฟีเจอร์นี้ได้ไม่ดีเท่าที่ควร
สรุปแล้ว ฟิล์มกันรอยราคาถูกหรือแพงแตกต่างกันอย่างไร และควรเลือกซื้อฟิล์มกันรอยแบบไหนดี ?
ฟิล์มกันรอยแบบต่างๆ แต่ละยี่ห้อ แต่ละแบบจะมีราคาที่แตกต่างกันไป โดยที่ฟิล์มราคาแพงกว่าจะแลกมาด้วยฟีเจอร์ต่างๆ ของฟิล์มที่ดีกว่า เช่น กันรอยขีดข่วนได้ดีกว่า, ป้องกันรอยนิ้วมือเมื่อใช้งานได้ดีกว่า หรือลดการสะท้อนแสงจากแสงรอบๆ ตัวได้ดีกว่า เป็นต้น ซึ่งฟิล์มกันรอยที่ราคายิ่งสูง ก็จะยิ่งได้ฟิล์มที่มีคุณภาพกว่าฟิล์มที่ราคาถูกกว่านั่นเอง สำหรับการเลือกซื้อ ก็คงต้องพิจารณากันต่อไปว่า ผู้ใช้ถูกใจกับฟิล์มกันรอยแบบไหนมากกว่ากัน, มีงบประมาณมากน้อยขนาดไหน และฟิล์มกันรอยแบบไหนเหมาะสมกับการใช้งานของผู้ใช้ที่สุดนั่นเองครับ
นำเสนอ ทิป&ทริค น่ารู้สำหรับผู้ใช้มือถือ, สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต โดย : thaimobilecenter.com
วันที่ : 14/12/63
|