*เทรนด์ใหม่ "กรีน เทคโนโลยี" ผู้ค้าไอซีทีไทยตื่นตัวขอเอี่ยวลดปัญหา "โลกร้อน" *เอไอเอส ดึงพลังงานธรรมชาติทุกรูปแบบ พัฒนาเครือข่ายมือถือเป็น "กรีน เน็ตเวิร์ก" *เอชพีวางตัว "พลเมืองโลก" ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยแนวคิด "โกลบัล ซิติเซนชิป" * "เคียวเซ" ปรัชญาใส่ใจต่อสุขภาพผู้ใช้แบบฉบับ แคนนอน เรื่องราวของภาวะโลกร้อนได้กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ได้รับความสนใจทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ทำให้ผู้คนต่างออกมารณรงค์ในทุกรูปแบบ มีตั้งแต่การสร้างจิตสำนึก ตลอดจนการบริโภคสินค้าและบริการในทุกอุตสาหกรรม ให้มีจิตสำนึกถึงสิ่งที่ทำให้ "โลกร้อน" ซึ่งอุตสาหกรรมไอซีทีก็เป็นหนึ่งในหลายๆ อุตสาหกรรมที่ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว โดยได้มีการทุ่มงบวิจัยและพัฒนาแนวคิดเรื่อง "กรีน เทคโนโลยี" ขึ้นมาภายในหน่วยงาน รวมไปถึงความรับผิดชอบในการผลิตสินค้าและบริการใหม่ๆ ที่จะออกวางขายในท้องตลาด

ถึงแม้ว่าในประเทศไทย กระแส "กรีน เทคโนโลยี" จะยังไม่ได้เป็นโจทย์สำคัญในการซื้อหาหรือเลือกใช้สินค้าและบริการของประชาชนภายในประเทศ แต่ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในสังคม หน่วยงานทางด้านไอซีทีในประเทศหลายๆ บริษัทต่างตระหนักดีถึงการมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้น ล่าสุด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ได้เปิดตัวเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ประหยัดพลังงานภายใต้แนวคิด "กรีน เน็ตเวิร์ก" เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน "การพัฒนาเครือข่ายของเอไอเอสนั้น นอกเหนือจากเดินหน้าทำงานอย่างต่อเนื่องทั้งขยายความครอบคลุม เพิ่มความสามารถในการรองรับการใช้งาน พัฒนาคุณภาพการใช้งาน รวมไปถึงสรรหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อให้การใช้งานเป็นไปอย่างไร้ข้อจำกัดในทุกพื้นที่แล้ว เรายังมองถึงการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย ดังนั้นจากนี้ต่อไปในกระบวนการทำงานทั้งองค์กรของเอไอเอสจะคำนึงถึงการผสมผสานแนวคิดรณรงค์ลดภาวะโลกร้อนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำงานพัฒนาเครือข่าย" วิเชียร เมฆตระการ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าว สิ่งที่เป็นประโยชน์ในขณะเดียวกันก็อาจมีโทษด้วย เช่นเดียวกับเทคโนโลยีต่างๆที่เราใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน อาทิ พลังงานจากไฟฟ้า ที่ในกระบวนการผลิตอันอาจก่อให้เกิดมลภาวะ ดังนั้นแนวคิดของเอไอเอส จึงสนใจที่จะศึกษาการนำพลังงานสะอาดหรือพลังงานทดแทนจากธรรมชาติมาผสมผสานใช้งาน รวมถึงการลดการใช้พลังงานไฟฟ้าเกินความจำเป็น วีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานปฏิบัติการเครือข่าย เอไอเอส กล่าวว่า "โซลูชั่นที่ทางทีมวิศวกรมองไว้ 4 โซลูชั่นเพื่อประยุกต์ใช้งานได้อย่างเหมาะสม ประกอบด้วย หนึ่ง พลังงานจากแสงอาทิตย์ โดยการใช้โซลาร์เซลล์ ด้วยหลักการเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้เป็นกระแสไฟฟ้าเพื่อจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์สื่อสารที่ติดตั้งภายในสถานีฐาน "ปัจจุบันเราได้เริ่มนำแนวทางดังกล่าวมาใช้งานแล้วกว่า 11 แห่ง โดยคาดว่าจะเพิ่มอีก 4 แห่งในปีนี้ สอง พลังงานจากแรงลม โดยติดตั้งกังหันลมแบบแนวนอน เพื่อผลิตไฟฟ้าที่เชื่อมเข้ากับระบบไฟฟ้าหลักจากการไฟฟ้านครหลวง ปัจจุบันเริ่มดำเนินการแล้วในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง สาม พลังงานจากน้ำมันไบโอดีเซล ด้วยการริเริ่มนำน้ำมันไบโอดีเซลมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ติดตั้ง ณ สถานีฐาน และสี่ ชุมสายพลังงานต่ำ โดยทำการติดตั้งผนังประหยัดพลังงานหรือ Insulated Wall เพื่อให้สามารถรักษาอุณหภูมิในชุมสายได้นานกว่าเดิม โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ๆ อีกต่อไป รวมถึงเปลี่ยนจากการใช้เครื่องปรับอากาศเป็นพัดลมคุณภาพสูงในบางพื้นที่ ซึ่งสามารถใช้ระบายความร้อนและรักษาการทำงานของอุปกรณ์เครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกัน "อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวข้างต้นนั้น จะมีการเลือกใช้งานอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับภูมิประเทศที่แตกต่างกันออกไป ดังเช่น โครงการหลวงขุนแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ในกลุ่มเทือกเขาสูง ดังนั้นเอไอเอส จึงเลือกนำเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์เข้ามาใช้ในการติดตั้งสถานีฐาน ประกอบกับยังไม่มีกระแสไฟฟ้าเข้าถึง ถึงแม้จะต้องใช้เงินลงทุนเฉพาะส่วนที่เป็นแผ่นรับโซลาร์เซลล์ 1 ล้านบาท แต่บริษัทก็ได้ประโยชน์ในแง่การประหยัดพลังงานไฟฟ้าเป็นการทดแทน แถมยังลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงลง" ทั้งนี้เอไอเอสได้รับความไว้วางใจจากมูลนิธิโครงการหลวง ให้เข้าไปดำเนินงานขยายเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่โครงการหลวงทั้ง 38 โครงการทั่วภาคเหนือ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นเส้นทางคดเคี้ยวบนเทือกเขาสูง ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์เป็นอย่างมากกับเกษตรกรชาวเขาและบุคลากรของโครงการเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้สามารถติดต่อสื่อสารได้อย่างสะดวกสบาย ส่งผลทำให้การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ปัจจุบันเอไอเอสมีสถานีฐานอยู่ในโครงการหลวงแล้ว 35 แห่ง และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 3 แห่ง โกลบัล ซิติเซนชิป แนวคิดเชิงอนุรักษ์ "เอชพี" ด้านสรรพัชญ โสภณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (ประเทศไทย) จำกัด หรือเอชพี ได้กล่าวถึงบทบาทของบริษัทในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมว่า เอชพีได้ยึดถือแนวคิด "โกลบัล ซิติเซนชิป" เพื่อแสดงภาวะความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะความเป็นพลเมืองคนหนึ่งของโลก นับตั้งแต่ปี 2535 ทางเอชพีได้จัดตั้งโปรแกรมที่เรียกว่า ดีไซน์ ฟอร์ เอนวิรอนเมนต์ ขึ้นมา ซึ่งเป็นการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยคำนึงถึงการลดปริมาณพลังงานที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตและการใช้สินค้า ลดจำนวนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตและพัฒนาวัตถุดิบที่ใช้ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลดลง มีคุณค่ามากขึ้นหลังสิ้นอายุการใช้งาน และการออกแบบเพื่อสามารถนำมาใช้ใหม่ได้ รวมไปถึงการจัดทำลายและการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์อย่างถูกวิธี นอกจากนี้ ทางเอชพียังสานต่อโครงการปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง อาทิ การรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ โดยมีเป้าหมายที่จะรีไซเคิลอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และตลับหมึกพิมพ์ให้ได้จำนวนน้ำหนัก 1,000 ล้านปอนด์ภายในปี 2553 ภายหลังจากที่ประสบความสำเร็จในการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ไปแล้ว 1,000 ล้านปอนด์ก่อนกำหนดถึง 6 เดือนในปี 2550 "ขณะเดียวกันเอชพียังได้รณรงค์โครงการรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับพนักงานของเอชพีเอง โดยจัดทำกล่องสำหรับการทิ้งตลับหมึกพิมพ์และถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วติดตั้งในสำนักงานของเอชพีและตามสาขาต่างๆที่มีอยู่ทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนให้พนักงานทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะพิษอย่างถูกวิธีเพื่อนำไปทำงานอย่างถูกต้องต่อไป" "เคียวเซ" ปรัชญาแคนนอน สำหรับบริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ภายใต้ปรัชญา "เคียวเซ" ที่ว่าด้วยความใส่ใจและให้ความสำคัญกับสุขภาพของผู้ใช้อุปกรณ์สำนักงานจากแคนนอนทุกคน แคนนอนจึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ และลดการใช้สารเคมีที่เป็นพิษอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เรายังใส่ใจที่จะป้องกันมลภาวะที่อาจเกิดกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดปริมาณของเสียให้ต่ำที่สุด การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อการรักษาสภาพแวดล้อมไม่ว่าในกรณีใดๆ ทำให้แคนนอนมีแนวทางพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีแนวคิดในการลดการใช้สารเคมี และป้องกันมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่ โครงการลดสารพิษและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิต "Reduction of Hazardous Substances" หรือ RoHS เป็นมาตรฐานที่ทางสหภาพยุโรปกำหนดขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์ ตลอดจนชิ้นส่วนทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งบังคับการห้ามใช้สารอันตราย 6 อย่างภายใน 1 กรกฎาคม 2549 และผลิตภัณฑ์ทุกอย่างของแคนนอนที่เข้าสู่ตลาดตั้งแต่ปี 2548 เป็นไปตามมาตรฐานดังกล่าว On Demand Fixing เป็นเทคโนโลยีเฉพาะสำหรับการพิมพ์งานด้วยระบบเลเซอร์จากแคนนอน ที่ใช้พลังงานน้อย เพียง 1 ใน 4 ของระบบเดิม จึงสามารถทำงานได้ทันทีโดยไม่ต้องอุ่นเครื่อง ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายเรื่องพลังงาน All -In-One Cartridge เป็นเรื่องของการออกแบบชุดหมึกของแคนนอนในเลเซอร์พรินเตอร์ที่รวมเอาหมึก ดรัม ชุดสร้างภาพและชุดทำความสะอาดไว้ด้วยกัน ทำให้ง่ายต่อการเปลี่ยนชุดหมึกและปลอดภัยในเรื่องของฝุ่นและผงหมึกที่เหลือจากการใช้งาน และสุดท้าย รูปแบบการดีไซน์ที่เป็นมิตรแก่ผู้ใช้ โดยทางแคนนอนได้ทำการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นไปตามหลักการออกแบบที่เรียกว่า Ergonomics ที่พัฒนาให้ผู้ใช้สามารถทำงานกับเครื่องใช้ได้อย่างง่ายดายและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ทางแคนนอนยังได้ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า Factor 2 โดยการสรรค์สร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ซึ่งใช้ระบบการจัดการมาตรฐานที่มีประสิทธิภาพ โดยมาตรฐานการวัดของแคนนอนเพื่อลดการทำลายสิ่งแวดล้อมทุกขั้นตอนของวงจรชีวิตสินค้า เริ่มต้นตั้งแต่ หนึ่ง การเลือกวัตถุดิบที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และสามารถนำกลับมา recycle ได้ และไม่เป็นอันตรายในการกำจัด สอง การผลิตสินค้า ที่เป็นต้นแบบช่วยในการรักษาพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ และพัฒนาสินค้าที่สามารถหาวัตถุดิบอื่นมาแทนวัตถุดิบที่เป็นอันตราย สาม การขนส่ง ใช้รถตู้และเรือในการขนส่ง รวมถึงปรับปรุงหีบห่อในการบรรจุ สี่ สินค้าของแคนนอนถูกผลิตขึ้นมาโดยตระหนักต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงประโยชน์การใช้งานที่สูงสุด ห้า ตลับหมึกของแคนนอน ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ฮิซาฮิโระ มิโนคาวะ ประธานบริษัทและประธานกรรมการบริหาร บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า จุดมุ่งหมายของแคนนอนในการผลิตสินค้าเพื่อให้เกิดประโยชน์ และการใช้งานที่หลากหลายนั้น ขณะเดียวกันจะต้องมีการนำทรัพยากรมาใช้ให้น้อยที่สุด และลดการเกิดของเสียในทุกขั้นตอน อาทิ เครื่องถ่ายเอกสาร กล้อง พรินเตอร์ จะใช้พลังงานน้อย สามารถนำตลับหมึกกลับมาใช้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำเร็จในการลดพลังงานในเครื่องถ่ายเอกสารดิจิตอลขาวดำได้ถึง 78% พรินเตอร์สีเขียว นวัตกรรมซัมซุง จากการเปิดเผยของกฤตวิทย์ กฤตยเรืองโรจน์ ผู้จัดการผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องพิมพ์ ธุรกิจไอที บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า ซัมซุงได้เล็งเห็นถึงปัญหาสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมจึงได้วางแผนการปฏิบัติงานและกำหนดเงื่อนไขเพื่อสิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการทำงาน ประกอบไปด้วย หนึ่งด้านบริหารงาน สอง ระดับผลิตภัณฑ์ สาม กระบวนการดำเนินงาน สี่ ระดับสถานที่ดำเนินงาน และห้า เพื่อชุมชนสีเขียว ทำให้ผลิตภัณฑ์ของซัมซุงจึงมีคุณภาพที่ผสานนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อโลกสีเขียว และดีไซน์ล้ำสไตล์ที่สมบูรณ์แบบส่งตรงสู่ผู้ใช้งานนับล้านคนทั่วโลก "จากการกำหนดเงื่อนไขเพื่อสิ่งแวดล้อมและเจตนารมณ์ของซัมซุงในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทำให้ผลิตภัณฑ์เลเซอร์พรินเตอร์ของซัมซุงได้รับการรับรองจากสถาบัน "บลู แองเจิล" ถึง 3 รุ่นประกอบไปด้วยเลเซอร์พรินเตอร์ รุ่น ซีแอลพี-300เอ็น ที่มีรูปแบบการใช้งานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน ด้วยเทคโนโลยี NO-NOIS ทำให้มีเสียงรบกวนน้อยกว่า 45 เดซิเบล รุ่นเอ็มแอล-3051เอ็นดี เป็นพรินเตอร์ 2 ระบบที่มีสมรรถนะในการช่วยประหยัดทรัพยากรที่ให้อัตราการพิมพ์ต่อเดือนสูงสุดและคุ้มค่า และรุ่นเอสซีเอ็กซ์-5530เอฟเอ็น ที่สามารถช่วยประหยัดการใช้หมึกได้ถึง 40% ของการพิมพ์เอกสารทั่วไป เลเซอร์พรินเตอร์ทั้ง 3 รุ่นอ้างอิงจากสมรรถนะในการช่วยประหยัดทรัพยากรและการแผ่รังสีในอัตราที่ต่ำ" กฤตวิทย์กล่าวอีกว่า ทางซัมซุงยังได้พัฒนาตลับหมึกและระบบการพิมพ์ที่เป็นเทคโนโลยีลิขสิทธิ์เฉพาะของซัมซุงภายใต้โปรแกรม "สตาร์" หรือ Samsung Take-back and Recycling โดยเป็นระบบที่นำตลับผงหมึกเลเซอร์ที่หมดแล้วมาเติมและสามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการมีจิตสำนึกต่อภาวะโลกร้อนที่กำลังก่อตัวขึ้นในโลกกลมๆ ใบนี้ ยังมีสินค้าและบริการอีกจำนวนมากที่ได้ผลิตและกำลังจะผลิตออกมาในอุตสาหกรรมไอซีทีที่บริษัทผู้ผลิตต่างคำนึงถึงวิกฤตทางธรรมชาติที่กำลังเกิดขึ้น จึงเหลือเพียงผู้บริโภคสินค้าไฮเทคว่า จะให้ความใส่ใจต่อเรื่องนี้มากน้อยเพียงใดเท่านั้น
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์
วันที่ : 25/2/51
|