นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2559 เวลา 13.20 น. นายสุทธิชัย ชื่นชูศิลป์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนา บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส และตัวแทน จาก บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ เอดับบลิวเอ็น เดินทางมารับเอกสารแสดงความจำนงขอรับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) หรือ 4G เป็นรายแรก ก่อนหน้านี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 ประกาศให้มีการประมูลคลื่น 900 MHz รอบใหม่ ในวันที่ 27 พ.ค. 2559 ทั้งนี้หากผู้สนใจเข้าร่วมประมูลเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) 3 รายเดิม คือ เอดับบลิวเอ็น, บริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในเครือบริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ในเครือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และยืนยัน ในการใช้เอกสารเดิมเหมือนการประมูลคลื่น 900 MHz ครั้งที่ผ่านมา กสทช.ไม่จำเป็นต้องตรวจสอบคุณสมบัติ เพราะเอกสารครั้งที่แล้วนับว่าผ่านคุณสมบัติ ทุกประการ อย่างไรก็ตาม ต้องมีการตรวจสอบเฉพาะเงินวางประกันการประมูลจำนวน 3,783 ล้านบาท เท่านั้น ว่าครบหรือไม่ แต่หากมีโอเปอเรเตอร์รายใหม่เพิ่มเข้ามา กสทช.ต้องพิจารณาคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลด้วย ในวันที่ 19-22 พ.ค. และประกาศผลผู้เข้าร่วมประมูล วันที่ 23 พ.ค. จากนั้นจะเปิดสาธิตการประมูลให้สื่อมวลชนและผู้เข้าประมูล ดูพร้อมกันในวันที่ 25 พ.ค. "มั่นใจถึง 99.99% ว่า คงไม่มีโอเปอเรเตอร์รายใหม่เข้าร่วมประมูล และมั่นใจถึง 95% ว่า จะมีเพียงเอดับบลิวเอ็น เพียงรายเดียวเท่านั้นที่เข้าร่วมประมูล ดังนั้น เอดับบลิวเอ็น ต้องมาประมูลเพื่อเคาะราคายืนยันในราคาเริ่มต้นการประมูลที่ 75,654 ล้านบาท" ส่วนทรูฯนั้นตนเองคิดว่า คง ไม่สนใจ เพราะทรูฯเองก็ได้ผลประโยชน์จากประกาศ คสช.ครั้งนี้ด้วยในการขยายเวลาวันหมดอายุใบอนุญาตจากเดิมคือวันที่ 15 มี.ค. 2573 เป็นวันหมดอายุพร้อมกันกับผู้ได้รับใบอนุญาตรายใหม่
|