TMC Point

  8.66

การออกแบบดีไซน์

  9.5

ใช้งานง่ายและมีประสิทธิภาพ

  8.5

คุณสมบัติเครื่อง

  9.0

ฟังก์ชันการใช้งาน

 8.5

เสถียรภาพและประสิทธิภาพ

  8.5

ความคุ้มค่าต่อราคา

  8.0

 
   

Samsung F480 TouchWiz Review & Focus
Imagine Customizing Your Touch Screen
Review Date (14-June-2006)

มีกระแสตอบรับที่ดีมากตั้งแต่ยังไม่วางจำหน่ายเลยทีเดียวสำหรับ Samsung F480 TouchWiz ซึ่งเป็นโทรศัพท์มือถือแบบสัมผัสรุ่นล่าสุดที่ทาง Samsung ภูมิใจนำเสนอ  จุดขายอย่างแรกที่ F480 แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนคือการออกแบบดีไซน์ที่สวยหรูดูดี ใช้วัสดุคุณภาพสูง การประกอบแน่นหนา ขนาดที่เล็กกระทัดรัด แถมยังมีความบางเฉียบอีกด้วย ซึ่งก็มีความเหมาะสมที่สุดแล้วกับการที่ทาง Samsung จัดให้ F480 ไปอยู่ในกลุ่มของ Fasion Phone และใครที่ได้สัมผัสกับตัวจริงคงได้ความประทับใจกลับไปไม่น้อย

จุดขายด้านการใช้งานที่สำคัญที่สุดของ F480 คงจะหนีไม่พ้นการสั่งงานด้วยการสัมผัสที่หน้าจอผ่านทาง User Interface ที่เรียกว่า TouchWiz ดังสโลแกนของรุ่นที่ต้องการใช้ผู้ใช้ปลดปล่อยจินตนาการของตนเองได้อย่างอิสระลงไปบนหน้าจอแบบสัมผัสนั่นเอง ทั้งในส่วนของเมนูหลัก โปรแกรมใช้งาน หรือฟังก์ชันต่างๆ ภายในเครื่อง  โดยเฉพาะฟังก์ชัน Widget ที่ใช้เป็นตัวชูโรงของ F480 รุ่นนี้  ซึ่ง Widget จะเป็นฟังก์ชันที่ผู้ใช้สามารถใช้ประโยชน์จากระบบสัมผัสได้อย่างเต็มที่  โทรศัพท์มือถือแนวนี้ถือว่าเป็นแทรนด์ที่กำลังมาแรงมากในขณะนี้ หลายค่ายต่างงัดไม้เด็ดของตนเองมาแข่งขันกันอย่างเต็มที่ ทาง Samsung ก็ไม่น้อยหน้า ส่งไม้เด็ดอย่าง F480 มาสู้ด้วยเช่นเดียวกัน

มีจุดเด่นในเรื่องของการสัมผัสหน้าจอก็นับว่าหรูแล้ว แต่ F480 ก็ยังมีจุดขายที่เข้ามาเพิ่มความน่าสนใจให้มากเข้าไปอีก นั่นคือกล้องดิจิตอลในตัวที่มีความละเอียดมากถึง 5 ล้านพิกเซล พร้อมระบบโฟกัสภาพอัตโนมัติ และฟังก์ชันพิเศษอีกมากมายที่แทบจะเหมือนกล้องดิจิตอลจริงๆ เลยทีเดียว เช่นฟังก์ชัน Face Detection หรือฟังก์ชันตรวจจับใบหน้า ที่ช่วยเล็งโฟกัสไปที่ใบหน้าของผู้ถูกถ่ายแบบอัตโนมัติ  ฟังก์ชัน Smile Shot หรือฟังก์ชันตรวจจับรอยยิ้ม ที่ช่วยตรวจจับรอยยิ้มของผู้ถูกถ่าย เพื่อให้ภาพถ่ายที่ออกมาเป็นภาพถ่ายที่มีแต่รอยยิ้มและความสุข  ฟังก์ชัน Image Stabiliser ที่ช่วยลดอาการสั่นไหวขณะที่ถ่ายภาพ  และอื่นๆ อีกมากมาย เรียกได้ว่าพก F480 ก็เหมือนพกกล้องดิจิตอลจริงๆ ไปด้วยแล้ว

นอกจากความสามารถเด่นๆ ที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว F480 ยังมีความสามารถอื่นๆ ใส่มาให้อย่างครบถ้วนอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านระบบ HSDPA, EDGE หรือ GPRS  การเชื่อมต่อข้อมูลผ่านทาง Bluetooth หรือสาย USB  การฟังเพลง  การดูคลิปวิดีโอ  การฟังวิทยุ  การเปิดอ่านเอกสารตระกูลออฟฟิศ  หรือการเช็คอีเมล  และก็ยังมีความสามารถอื่นๆ อีกมากมายที่ยังไม่ได้พูดถึง  โดยข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานจะถูกเก็บบันทึกเอาไว้ในหน่วยความจำภายในที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่คือ 223 MB หรือหากไม่จุใจก็สามารถใส่ microSD Card เพิ่มได้อีกสูงสุดถึง 8 GB เลยทีเดียว  ดังนั้นสรุปในเบื้องต้น Samsung F480 ก็ถือว่าเป็นโทรศัพท์มือถือที่มีครบแทบทุกอย่างที่ผู้ใช้ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรูปลักษณ์ภายนอก หรือความสามารถ  แต่การใช้งานจริงๆ แล้วจะดีแค่ไหนหรือจะมีประสิทธิภาพเพียงใด คงต้องมาติดตามกันต่อ

Samsung F480 Video Review & Focus
 

 

 วิดีโอรีวิว Samsung F480

อุปกรณ์ที่มีมาให้ในกล่อง

สำหรับอุปกรณ์ต่างๆ ที่มาพร้อมกับชุดขายมาตรฐานของ Samsung F480 นั้นก็มีอยู่อย่างครบถ้วนเพียงพอต่อการใช้งาน  เริ่มตั้งแต่ตัวเครื่อง, แบตเตอรี่ขนาด 1000 mAh จำนวน 1 ก้อน, สายชาร์จแบตเตอรี่ จำนวน 1 เส้น, ซองหนัง จำนวน 1 ซอง, สาย USB Data Cable จำนวน 1 สาย, หูฟังแบบ Stereo จำนวน 1 เส้น, คู่มือการใช้งาน  และที่น่าสนใจคือ ในชุดขายมาตรฐานของ F480 จะแถม microSD Card มาให้มากถึง 4 GB อีกด้วย เรียกได้ว่าผู้ใช้ไม่ต้องซื้อเพิ่มก็น่าจะใช้เก็บข้อมูลได้อย่างเหลือเฟือแล้ว

รูปลักษณ์ภายนอก


ที่ด้านหน้าของตัวเครื่องจะออกแบบมาให้ดูเรียบหรูในทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นผิวจะเป็นพื้นผิวสีดำที่ค่อนข้างมันเงา ล้อมกรอบด้วยโลหะโครเมียมมันวาวที่ช่วยให้ดูดีขึ้นได้อีกมาก ที่มุมทั้งสี่จะมีความโค้งมนสวยงามช่วยให้ดีไซน์ดูไม่แข็งจนเกินไป ที่ด้านบนสุดจะมีลำโพงหูฟัง และเลนส์กล้องดิจิตอลขนาดเล็กสำหรับการสนทนาแบบเห็นหน้า  ที่บริเวณตรงกลางจะเป็นหน้าจอขนาดใหญ่ขนาด 2.8 นิ้ว ซึ่งมีความละเอียดระดับ QVGA หรือ 320x240 พิกเซล


ที่ลำโพงหูฟังจะล้อมกรอบด้วยแถบโครเมี่ยมสวยงาม ซึ่งลำโพงนี้จะทำหน้าที่หลายอย่างตั้งแต่เป็นลำโพงหูฟังที่ใช้ขณะสนทนา เป็นลำโพงสำหรับเสียงเรียกเข้า หรือเป็นลำโพงขณะฟังเพลง เป็นต้น ส่วนถัดมาที่ด้านขวาก็จะเป็นเลนส์กล้องที่ใช้สำหรับการสนทนาแบบ Video Calling และที่ด้นล่างจะเป็นปุ่มสำหรับการรับสาย-โทรออก ปุ่มยืนยัน หรือปุ่มสำหรับเข้าหน้า Task Switcher และปุ่มสำหรับการวางสาย ซึ่งจะเห็นว่าปุ่มควบคุมการทำงานจะค่อนข้างน้อย เพราะการควบคุมส่วนใหญ่ของ F480 จะทำด้วยการสัมผัสที่หน้าจอโดยตรงนั่นเอง


ที่ด้านหลังของตัวเครื่องจะเห็นว่าวัสดุที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นโลหะ ซึ่งถือว่าเป็นวัสดุคุณภาพสูง และให้สัมผัสที่ดีกว่าวัสดุแบบทั่วไปเช่นพลาสติก ที่ด้านบนจะเป็นส่วนของกล้องดิจิตอลที่มีความละเอียดมากถึง 5 ล้านพิกเซล ซึ่งมีไฟแฟลชแบบ LED ในตัว และฟังก์ชันการทำงานระดับไฮเอนด์อีกมากมาย ซึ่งจะพูดถึงต่อไป ส่วนตรงพื้นที่ด้านล่างก็จะเป็นส่วนของฝาปิดช่องใส่แบตเตอรี่และซิมการ์ด



เมื่อพลิกมาที่ด้านขวาของตัวเครื่องจะพบว่าตัวเครื่องของ F480 จะค่อนข้างบาง หรือมีความหนาเพียง 11.6 มิลลิเมตรเท่านั้น การออกแบบจะเป็นลักษณะของแถบพลาสติกผิวมันที่ตัดกับวัสดุที่เป็นโลหะ ซึ่งดูสวยงามหรูหรา ที่ด้านบนจะเป็นช่องสำหรับเสียบสาย USB Data Cable สายชาร์จแบตเตอรี่ หรือสายหูฟัง ซึ่งมีฝาพลาสติกที่สามารถเปิด-ปิดได้เพื่อกันฝุ่นเข้า และเพื่อความเรียบร้อยสวยงาม ส่วนที่ด้านล่างจะเป็นปุ่มกดสำหรับการใช้งานกล้องดิจิตอล โดยในขณะที่ใช้งานกล้องดิจิตอลอยู่นั้น เมื่อกดปุ่มนี้ลงครึ่งหนึ่งจะเป็นการโฟกัสภาพ และหากกดปุ่มลงไปทั้งหมดก็จะเป็นการถ่ายภาพนั่นเอง


เมื่อพลิกมาที่ด้านซ้ายของตัวเครื่องก็จะมีการออกแบบดีไซน์ในลักษณะที่คล้ายกันกับที่ด้านขวา ที่ด้านบนสุดจะเป็นปุ่มสำหรับเพิ่ม-ลดระดับเสียง และถัดมาใกล้ๆ กันก็คือช่องสำหรับใส่การ์ดหน่วยความจำแบบ microSD Card ซึ่งตามข้อมูล F480 จะสามารถรองรับ microSD Card ได้มากถึง 8 GB เลยทีเดียว และเช่นเดียวกัน ช่องใส่การ์ดหน่วยความจำก็จะมีฝาพลาสติกสำหรับเปิด-ปิดช่องใส่เอาไว้ด้วย


ที่ด้านบนของตัวเครื่องจะออกแนวเรียบๆ ไม่ค่อยมีส่วนประกอบอะไรมากนัก นอกจากปุ่ม HOLD ซึ่งมีเอาไว้สำหรับการล็อคหน้าจอและปุ่มกด เพื่อป้องกันไม่ใช้ผู้ใช้กดโดนโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ ส่วนตรงมุมขวาที่เห็นเป็นรูเล็กๆ ก็คือช่องสำหรับร้อยสายคล้องนั่นเอง


ที่ด้านล่างของตัวเครื่องก็ออกแนวเรียบๆ เช่นกัน ไม่มีอะไรนอกจากรูเล็กๆ ซึ่งก็คือส่วนของไมโครโฟนที่ใช้สำหรับการสนทนา หรือบันทึกเสียงพูด

เริ่มใส่ SIM Card และแบตเตอรี่


เมื่อเปิดฝาหลังของ F480 ออกมาจะพบกับช่องสำหรับใส่แบตเตอรี่ และช่องสำหรับใส่ซิมการ์ด ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันกับโทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่ โดยการใส่ จะใส่ซิมการ์ดเข้าไปก่อน แล้วถึงค่อยตามด้วยการใส่แบตเตอรี่


แบตเตอรี่ของ F480 ที่แถมมาให้พร้อมกับชุดขายมาตรฐานจะเป็นแบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออน ซึ่งมีขนาดความจุ 1000 mAh ที่อาจจะดูน้อยไปซักหน่อยสำหรับผู้ที่ต้องเปิดใช้งานเครื่องอยู่บ่อยๆ แต่จริงๆ แล้ว F480 จะมีความสิ้นเปลืองพลังงานจากแบตเตอรี่แค่ไหน คงต้องติดตามกันต่อไป


ฝาหลังของ F480 ค่อนข้างจะแข็งแรงและได้สัมผัสที่ดีมากเป็นพิเศษ เนื่องจากใช้วัสดุที่เป็นโลหะผสมกับวัสดุที่เป็นพลาสติกสีดำคุณภาพสูง


การใส่ซิมการ์ดและแบตเตอรี่นั้นสามารถใส่ได้โดยง่าย โดยให้ทำการใส่ซิมการ์ดก่อนเป็นอันดับแรก ให้สังเกตที่ช่องด้านบนใกล้กับกล้องดิจิตอลจะพบกับช่องขนาดเล็กซ่อนอยู่ ซึ่งให้ทำการใส่ซิมการ์ดเข้าไปในช่องนี้ให้ถูกทิศทาง และเมื่อใส่ซิมการ์ดเรียบร้อยแล้ว ก็ให้นำก้อนแบตเตอรี่มาใส่ต่อ โดยให้สังเกตที่ขั้วของแบตเตอรี่ว่าถูกทิศทางหรือไม่ ซึ่งก็สามารถสังเกตได้ไม่ยากเช่นเดียวกัน


เมื่อทำการใส่ซิมการ์ด และแบตเตอรี่เป็นที่เรียบร้อยดีแล้ว ก็ให้นำฝาหลังมาปิดเอาไว้ให้สนิท เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดใช้งานเครื่องในขั้นตอนต่อไป

ความเหมาะมือ ขนาด และน้ำหนัก


ขนาดตัวเครื่องของ F480 หากดูกันเผินๆ อาจจะดูเหมือนมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ แต่เมื่อได้ลองจับถือจริงๆ แล้วกลับพบว่ามีขนาดที่ไม่ใหญ่อย่างที่คิด แต่จะมีขนาดที่ค่อนข้างกระทัดรัดกำลังดี ไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป ถ้าจะให้เปรียบเทียบก็มีความกว้างความสูงใกล้เคียงกับบัตรเครดิตเท่านั้นเอง สามารถจับถือได้อย่างเหมาะมือและถนัดมือ น้ำหนักขนาด 106 กรัมก็ถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ ไม่หนักไม่เบาจนเกินไปสำหรับโทรศัพท์มือถือลักษณะแบบนี้ รวมถึงสัมผัสที่ได้ก็ถือว่าดี ซึ่งคงเป็นเพราะวัสดุที่ใช้มีคุณภาพสูงนั่นเอง


ความบางของ F480 ก็ถือว่าเป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งเช่นกัน ซึ่ง F480 จะมีความหนาเพียง 11.6 มิลลิเมตรเท่านั้น ซึ่งหากดูภาพรวมทั้งความกว้าง ความสูง และความบางแล้ว ก็เรียกได้ว่าผู้ใช้สามารถพกพาติดตัวไปได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าถือ กระเป๋ากางเกง หรือแม้กระทั่งกระเป๋าเสื้อก็ยังได้เช่นกัน


หากนำ F480 ไปเปรียบเทียบกับรุ่นยอดนิยมอย่าง U600 ซึ่งเป็นมือถือแบบสไลด์โฟนที่มีจุดเด่นในเรื่องของความบาง ก็จะพบว่า F480 จะมีความหนามากกว่า U600 เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ความกว้างหรือความสูงของตัวเครื่องอาจจะมากกว่าพอสมควร ซึ่งนั่นก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ปกติเนื่องจาก F480 มีขนาดของหน้าจอแสดงผลที่ใหญ่กว่า U600 มากพอสมควร

เริ่มเปิดเครื่อง


การเปิดหรือปิดเครื่องให้กดที่ปุ่มวางสายค้างเอาไว้ประมาณ 2-3 วินาทีดังรูป ซึ่งก็ใช้เวลาไม่นานนักเครื่องก็พร้อมใช้งานแล้ว

ความคมชัดและสวยงามของหน้าจอแสดงผล


หน้าจอแสดงผลของ F480 เป็นหน้าจอแบบ TFT LCD ที่มีความละเอียดระดับ QVGA หรือ 240x320 พิกเซล และแสดงผลสีได้ 262,144 สี ซึ่งสามารถแสดงผลได้ละเอียดคมชัด สว่าง สีสันสดใสตามสไตล์ของซัมซุง ซึ่งโทรศัพท์มือถือจากซัมซุงมักจะมีจุดเด่นในเรื่องของการแสดงผลเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ปุ่มกด และการตอบสนอง


เรื่องของการตอบสนองของการสัมผัสที่หน้าจอของ F480 ถือว่าค่อนข้างดี มีการตอบสนองที่ค่อนข้างรวดเร็วทันใจ ไม่รู้สึกถึงความหน่วงของการประมวลผลแต่อย่างใด รวมถึงยังมีความแม่นยำสูงอีกด้วย ดังนั้นประสิทธิภาพของการสั่งงานด้วยการสัมผัสซึ่งเป็นจุดเด่นของ F480 จึงค่อนข้างจะน่าประทับใจ และสำหรับส่วนที่เป็นปุ่มกดตามส่วนต่างๆ ของตัวเครื่องก็ถือว่าสามารถกดได้ง่าย มีความนุ่มนวลและแข็งแรงแน่นหนาเป็นอย่างดี

เมนูและฟังก์ชันการทำงาน


User Interface ของ F480 จะเรียกว่า TouchWiz UI ซึ่งเป็น User Interface ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับการสั่งงานด้วยการสัมผัสที่หน้าจอโดยเฉพาะ


รูปร่างหน้าตาของฟังก์ชัน Widget และ Task Switcher


หน้าจอหลักของ F480 จะเป็นหน้าจอแบบ Widget ซึ่งผู้ใช้สามารถออกแบบการใช้งานตามสไตล์ของตนเองได้อย่างอิสระ ที่แถบบนสุดจะเป็นขีดระดับสัญญาณ, รูปแบบของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต, บลูทูธ, โปรไฟล์, ระดับพลังงานแบตเตอรี่ ที่แถบด้านซ้ายจะเป็นไอคอนของโปรแกรมต่างๆ ที่ผู้ใช้สามารถลากออกมาวางไว้ที่หน้าจอได้ ส่วนที่แถบด้านล่างจะเป็นการโทรออก, สมุดโทรศัพท์ และเมนูหลัก


ที่แถบด้านซ้ายของหน้าจอ Widget ซึ่งเป็นไอคอนของโปรแกรม หรือฟังก์ชันต่างๆ จะสามารถซ่อนเอาไว้ได้เพื่อให้มีพื้นที่หน้าจอสำหรับการใช้งานมากขึ้น หากต้องการใช้งานเมื่อไหร่ก็เพียงแค่กดให้เลื่อนออกมาเท่านั้นเอง ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกโปรแกรมที่ใช้งานบ่อยลากมาวางไว้ที่หน้าจอหลักได้ตามใจชอบ เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการเข้าใช้งาน รวมถึงสามารถวางตำแหน่งของโปรแกรมต่างๆ ได้อย่างอิสระอีกด้วย ซึ่งฟังก์ชัน Widget ถือว่าเป็นจุดเด่นหรือจุดขายของ F480 อย่างหนึ่งเลยทีเดียว


เมนูหลักจะเป็นเมนูแบบ Grid Icons ซึ่งมี 3 คอลัมน์ และ 4 แถว ดังภาพ


หน้าตาของฟังก์ชัน Task Switcher ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการสลับการทำงานระหว่างโปรแกรมต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องปิดโปรแกรมที่กำลังใช้งานอยู่ก่อน เช่นการสลับระหว่างโปรแกรมเครื่องเล่นเพลง, การส่งข้อความ, การเล่นอินเทอร์เน็ต, การโทรออก หรือการเข้าสู่เมนูหลัก


การโทรออกจะทำผ่านทาง Virtual Keypad ซึ่งเป็นการปุ่มกดตัวเลขผ่านการสัมผัสที่หน้าจอ หรืออาจจะโทรออกโดยการเลือกหมายเลขจากสมุดโทรศัพท์ก็ได้เช่นกัน

เมนู Call Log (บันทึกข้อมูลการโทร)


หน้าจอหลักของเมนู Call Log หรือเมนูบันทึกข้อมูลการโทร


การบันทึกข้อมูลการโทรจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลักคือ รายการประวัติการโทรล่าสุดทั้งหมด, รายการหมายเลขที่ไม่ได้รับสาย, รายการหมายเลขที่โทรออก และรายการหมายเลขที่โทรเข้า

เมนู Phonebook (สมุดโทรศัพท์)


หน้าจอหลักของเมนู Phonebook หรือเมนูสมุดโทรศัพท์


หน้าหลักของสมุดโทรศัพท์จะเป็นรายการของผู้ติดต่อทั้งหมดที่มีอยู่ในเครื่อง ซึ่งผู้ใช้สามารถเลื่อนดูรายการได้โดยการใช้นิ้วมือลากขึ้นลงที่หน้าจอ สามารถค้นหารายชื่อได้ แต่ละรายชื่อจะมีข้อมูลย่อยอยู่ภายใน และการสร้างรายชื่อใหม่ก็สามารถใส่ข้อมูลย่อยเพิ่มเติมได้อีกมากมาย ตั้งแต่ชื่อ, นามสกุล, ชื่อที่ต้องการให้แสดง, หมายเลขโทรศัพท์มือถือ, หมายเลขโทรศัพท์บ้าน, หมายเลขโทรศัพท์ที่ทำงาน, อีเมล, กลุ่มผู้โทร, รูปภาพส่วนตัว, เสียงเรียกเข้าส่วนตัว, บันทึกข้อมูลเพิ่มเติม, สายวิดีโอ, หมายเลขเครื่องแฟกซ์, ที่อยู่ หรือวันเกิด เป็นต้น

เมนู Music Player (เครื่องเล่นเพลง)


หน้าจอหลักของเมนู Music Player หรือเมนูเครื่องเล่นเพลง



การค้นหารายชื่อเพลงที่จะเปิดเล่นจะแบ่งออกเป็น เพลงที่เล่นล่าสุด, เพลงทั้งหมด, เพลงที่เพิ่งเปิดเล่นเมื่อเร็วๆ นี้, รายการเพลง, เพลงที่เล่นบ่อยที่สุด, ชื่อศิลปิน, แนวเพลง, ชื่ออัลบั้ม, ชื่อผู้แต่งเพลง และการเปิดฟัง Podcast


เมื่อเปิดฟังเพลง จะมีหน้าจอหลักดังรูป ซึ่งมีการแสดงรูปของปกอัลบั้ม, ชื่อเพลง, ชื่อศิลปิน, ชื่ออัลบั้ม, คะแนนเพลง และส่วนควบคุมต่างๆ


ผู้ใช้สามารถตั้งค่าสำหรับการใช้งานเครื่องเล่นเพลงได้ เช่น การเล่นซ้ำ, การสุ่ม, การเล่นเป็นพื้นหลัง หรือการปรับรูปแบบของอีควอไลเซอร์ เป็นต้น ซึ่งอีควอไลเซอร์จะมีให้เลือกใช้อยู่ถึง 9 รูปแบบด้วยกันคือ Normal, Rock, Pop, Dance, Classic, Jazz, Wide, Dynamic และ Surround

เมนู Browser (เว็บบราวเซอร์)


หน้าจอหลักของเมนู Browser หรือเมนูเว็บบราวเซอร์


ที่หน้าหลักอขงเว็บบราวเซอร์จะแบ่งออกเป็น หน้า Home, การป้อนค่า URL, รายการ Bookmarks, รายการเว็บที่บันทึกไว้, ประวัติการเข้าเว็บ และการตั้งค่าใช้งาน


การแสดงผลหน้าเว็บ ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะให้แสดงผลแบบ Desktop View ซึ่งเป็นการแสดงผลเหมือนกับเครื่องคอมพิวเตอร์จริงๆ หรือแสดงผลแบบ Smart-Fit ซึ่งจะเป็นการแสดงผลที่พอดีกับหน้าจอ แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถเลือกให้หน้าจอแสดงผลในแนวนอนได้


การตั้งค่าการใช้งานเว็บบราวเซอร์ก็สามารถทำได้ เช่น การล้างหน่วยความจำแคช, การล้างคุ้กกี้, ตัวเลือกของคุ้กกี้, การตั้งค่าอื่นๆ และการตั้งค่าโปรไฟล์ของเว็บบราวเซอร์ เป็นต้น


โปรแกรมเว็บบราวเซอร์ที่มีให้ใช้งานใน F480 คือโปรแกรม NetFront Browser ซึ่งในเครื่องทดสอบนี้จะเป็นเวอร์ชัน 3.4

เมนู Messages (ข้อความ)


หน้าจอหลักของเมนู Messages หรือเมนูข้อความ



เมนูข้อความจะแบ่งออกเป็นการสร้างข้อความ, กล่องรับข้อความ, กล่องรับอีเมล, ข้อความฉบับร่าง, ข้อความที่ส่งออก, ข้อความที่ส่งแล้ว, โฟลเดอร์ส่วนตัว, ตัวอย่างข้อความ, การลบข้อความ, การตั้งค่าข้อความ, ข้อความฉุกเฉิน และสถานะของหน่วยความจำข้อความ


การพิมพ์ข้อความจะพิมพ์ผ่านทาง Vitual Keypad ด้วยการสัมผัสที่หน้าจอโดยตรง ซึ่งมีลักษณะเหมือนปุ่มกดของโทรศัพท์มือถือจริงๆ และแม้ว่าในเครื่องทดสอบจะยังไม่สามารถรองรับการพิมพ์ข้อความภาษาไทยได้ แต่ในเครื่องที่วางจำหน่ายจริงจะสามารถรองรับการใช้งานภาษาไทยได้อย่างเต็มรูปแบบ



นอกจากการสร้างข้อความแบบตัวอักษรได้แล้ว ยังสามารถสร้างข้อความแบบมัลติมีเดีย หรือข้อความอีเมลได้ ซึ่งข้อความเหล่านี้สามารถแทรกเนื้อหาพิเศษเข้าไปในข้อความได้มากมายหลายอย่าง เช่น รูปภาพ, เสียง, วิดีโอ, ไฟล์, นามบัตร, การนัดหมาย, วันครบรอบ หรือรูปถ่าย เป็นต้น

เมนู My Files (จัดการไฟล์)


หน้าจอหลักของเมนู My Files หรือเมนูจัดการไฟล์


การจัดการไฟล์ จะแบ่งออกเป็น 5 ส่วนหลักคือ ไฟล์รูปภาพ, ไฟล์วิดีโอ, ไฟล์เสียง, ไฟล์อื่นๆ และสถานะของหน่วยความจำ ซึ่งอาจจะเป็นไฟล์ที่เก็บบันทึกเอาไว้ภายในหน่วยความจำในตัวเครื่อง หรืออาจจะเป็นไฟล์ที่เก็บบันทึกเอาไว้ภายใน microSD Card ก็ได้


นอกจากจะเปิดดูรูปภาพได้ตามปกติแล้ว ผู้ใช้ยังสามารถส่งรูปภาพผ่านทางข้อความ, อีเมล, หรือบลูทูธได้ รวมถึงสามารถตกแต่งแก้ไขรูปภาพได้ด้วย เช่น การปรับเลเวลแบบอัตโนมัติ, การปรับความสว่าง, การปรับค่า Contrast, การปรับสี, การใส่กรอบ, การใส่รูป, การใส่ Cliparts หรือการใส่ Emoticon เป็นต้น และยังสามารถเลือกใช้รูปภาพให้แสดงเป็นภาพพื้นหลัง หรือรูปภาพส่วนตัวของรายชื่อผู้ติดต่อได้อีกด้วย


ลักษณะหน้าตาของโปรแกรมเปิดดูวิดีโอ


การเปิดฟังเพลงนอกจากจะเปิดจากเมนูเครื่องเล่นเพลง ก็ยังสามารถเปิดเล่นจากตรงนี้ได้เลยเช่นเดียวกัน


หน้าจอแสดงสถานะของหน่วยความจำที่ใช้ไปในส่วนต่างๆ และหน่วยความจำส่วนที่เหลืออยู่

เมนู Calendar (ปฏิทิน)


หน้าจอหลักของเมนู Calendar หรือเมนูปฏิทิน


การแสดงผลปฏิทินสามารถเลือกได้ว่าจะแสดงแบบเป็นวัน หรือแสดงแบบเป็นสัปดาห์


สามารถสร้างการนัดหมาย, วันครบรอบ, วันหยุด และวันนัดสำคัญ ลงไปในปฏิทินได้


สามารถค้นหาข้อมูลของการนัดหมายที่บันทึกเอาไว้ในปฏิทินได้


การตั้งค่าการใช้งานปฏิทินมีมาให้ 2 อย่างคือ วันเริ่มสัปดาห์ และรูปแบบของการแสดงผลหลัก


ผู้ใช้สามารถตรวจสอบได้ว่าในปฏิทินยังเหลือหน่วยความจำให้ใช้งานอยู่อีกเท่าไหร่

เมนู Camera (กล้องดิจิตอล)


หน้าจอหลักของเมนู Camera หรือเมนูกล้องดิจิตอล


User Interface กล้องดิจิตอลของ F480 จะมีลักษณะการจัดวางที่คล้ายกับกล้องดิจิตอลจริงๆ


มีโหมดการใช้งานหลักให้เลือกอยู่ 3 โหมดด้วยกัน ได้แก่ การถ่ายภาพนิ่ง, ซีนถ่ายภาพ และการถ่ายภาพวิดีโอ


การตั้งค่าใช้งานกล้องดิจิตอลจะมีตั้งแต่การตั้งค่าโหมดการถ่ายภาพ, ขนาดของรูปภาพ, ไฟแฟลช, ตั้งเวลาถ่ายภาพล่วงหน้า, ฟังก์ชันจับภาพใบหน้า, เอฟเฟค, ค่าสมดุลสีขาว, การแสดงผลเมนูกล้อง และการตั้งค่าอื่นๆ


โหมดการถ่ายภาพจะแบ่งออกเป็น 6 แบบคือ การถ่ายภาพเดียวแบบปกติ, การถ่ายภาพต่อเนื่อง, การถ่ายภาพแบบ Mosaic, การถ่ายภาพโดยใส่กรอบ, การถ่ายภาพแบบ Panorama และการถ่ายภาพแบบ Smile Shot


สามารถตั้งค่าความละเอียดของรูปภาพได้ 6 ขนาดคือ 2560x1920, 2048x1536, 1600x1200, 1280x960, 640x480 และ 320x240 พิกเซล


สามารถเลือกตั้งไฟแฟลชให้ทำงานแบบอัตโนมัติ, เปิดไฟแฟลชตลอด หรือปิดไฟแฟลชได้


สามารถตั้งเวลาถ่ายภาพล่วงหน้าได้ 3 ระดับคือ 3 วินาที, 5 วินาที และ 10 วินาที


สามารถเลือกเปิด-ปิดฟังก์ชันการตรวจจับใบหน้าได้ (Face Detection)


ใส่เอฟเฟคให้กับรูปภาพได้ 3 แบบคือ Black&White, Sepia และ Negative


สามารถปรับค่าสมดุลสีขาว (White Balance) ได้ 5 รูปแบบคือ อัตโนมัติ, Daylight, Incandescent, Fluorescent และ Cloudy


สามารถตั้งค่าการแสดงผลเมนูกล้องได้ 3 รูปแบบคือ Icon, No Icons และ Guidelines



การตั้งค่ากล้องมีมาให้เลือกอย่างครบครัน ได้แก่ คุณภาพของรูปภาพ, ค่าความไวแสง, ค่า Wide Dynamic Rage, Exposuremeter, Single Shot Mode, ฟังก์ชันป้องกันการสั่น, เสียงชัตเตอร์, เสียงการซูม, เสียงความสว่าง และหน่วยความจำที่ใช้


ซีนสำหรับการถ่ายภาพมีมาให้เลือกใช้ 6 แบบด้วยกันคือ Portrait, Sports, Sunset, Dawn, Beach/Snow และ Night Shot


ลักษณะของ User Interface เมื่ออยู่ในโหมดของการถ่ายภาพวิดีโอ



การตั้งค่าสำหรับการถ่ายภาพวิดีโอก็มีมาให้ปรับแต่งอย่างครบครันด้วยเช่นเดียวกัน ได้แก่ โหมดของการบันทึก, ขนาดของวิดีโอ, ไฟแฟลช, การตั้งเวลาถ่ายภาพล่วงหน้า, เอฟเฟค, สมดุลสีขาว, การบันทึกเสียง, การแสดงผลเมนู, คุณภาพของวิดีโอ และหน่วยความจำที่ใช้

เมนู Bluetooth (บลูทูธ)


หน้าจอหลักของเมนู Bluetooth


สามารถค้นหาอุปกรณ์บลูทูธที่อยู่ใกล้เคียงได้ รวมถึงสามารถตั้งค่าการใช้งานบลูทูธได้ด้วย เช่น การตั้งชื่อเครื่อง, การเปิดใช้งานบลูทูธ, การอนุญาตให้มองเห็นเครื่อง หรือโหมดของความปลอดภัย เป็นต้น

เมนู Applications (แอปพลิเคชัน)


หน้าจอหลักของเมนู Applications


ที่หน้าหลักของเมนู Applications จะแบ่งออกเป็น เกมส์, วิทยุ, จดบันทึก, รายการงาน, บันทึกเสียง, นาฬิกาเทียบเวลาโลก, เครื่องคิดเลข, เครื่องแปลงหน่วย, นาฬิกานับเวลาถอยหลัง, นาฬิกาจับเวลา, RSS Feed, Music Recognition และโปรแกรมตัดต่อภาพวิดีโอ


เกมส์ที่มีมาให้ในเครื่องคือเกมส์ Photo Puzzle ซึ่งผู้ใช้สามารถนำเกมส์อื่นๆ มาติดตั้งเองในภายหลังได้


รูปร่างหน้าตาของโปรแกรมฟังวิทยุ ซึ่งมีความสามารถพื้นฐานมาให้อย่างครบถ้วน เช่น สามารถเปิดฟังผ่านหูฟังหรือลำโพงที่ตัวเครื่องได้ สามารถตั้งค่าความถี่ได้ สามารถบันทึกคลื่นวิทยุได้ หรือสามารถเล่นเป็นพื้นหลังได้ เป็นต้น


สามารถจดบันทึกข้อความต่างๆ ได้ รวมถึงสามารถตรวจสอบสถานะของหน่วยความจำที่เหลือได้


สามารถสร้างรายการงานได้ รวมถึงสามารถตรวจสอบสถานะของหน่วยความจำที่เหลือได้


สามารถบันทึกเสียงได้นานสูงสุด 1 ชั่วโมง


ลักษณะของโปรแกรมนาฬิกาเทียบเวลาโลก


โปรแกรมเครื่องคิดเลขมีฟังก์ชันพื้นฐานสำหรับการคำนวณมาให้อย่างครบถ้วน รวมถึงฟังก์ชันพิเศษทางคณิตศาสตร์บางฟังก์ชัน และนอกจากนั้นยังสามารถใช้ฟังก์ชันการแปลงหน่วยได้ในตัวอีกด้วย


โปรแกรมเครื่องแปลงหน่วย สามารถแปลงหน่วยได้หลายประเภท ได้แก่ สกุลเงิน, ความยาว, น้ำหนัก, ปริมาตร, พื้นที่ และอุณหภูมิ


สามารถนับเวลาถอยหลังได้ และสามารถจับเวลาได้


สามารถรับข่าวสารอัพเดทออนไลน์ผ่านทางโปรแกรม RSS Feed ได้


สามารถค้นหาข้อมูลของเสียงเพลงที่บันทึกไว้ผ่านทางโปรแกรม Music Recognition ได้


มีโปรแกรมสำหรับตัดต่อวิดีโอขนาดย่อมๆ เอาไว้ให้ใช้งานด้วย

เมนู Alarm (นาฬิกาปลุก)


หน้าจอหลักของเมนู Alarm หรือเมนูนาฬิกาปลุก


ในโปรแกรมนาฬิกาปลุก ผู้ใช้สามารถตั้งปลุกหรือตั้งเตือนได้ทั้งหมด 5 รายการ สามารถตั้งชื่อของการปลุกได้ สามารถกำหนดวันที่จะปลุกได้ สามารถตั้งการเลื่อนการปลุกได้ตั้งแต่ 1, 3, 5, 7 และ 10 นาที รวมถึงสามารถปลุกซ้ำได้สูงสุดถึง 10 ครั้ง

เมนู Setting (การตั้งค่า)


หน้าจอหลักของเมนู Setting หรือเมนูการตั้งค่า


การตั้งค่าการใช้งานเครื่องจะแบ่งออกเป็นหมวดย่อย ได้แก่ โปรไฟล์, เวลาและวันที่, การแสดงผลและแสงไฟ, ตั้งค่าโทรศัพท์, ตั้งค่าการโทร, ตั้งค่าความปลอดภัย, ตั้งค่าแอปพลิเคชัน, ตั้งค่าเครือข่าย, ตั้งค่าหน่วยความจำ และการเรียกคืนค่าเดิมจากโรงงาน


มีโปรไฟล์ให้เลือกใช้อยู่ 6 รูปแบบตามสถานการณ์ ได้แก่ Normal, Silent, Driving, Meeting, Outdoor และ Offline ซึ่งโปรไฟล์แต่ละรูปแบบ ผู้ใช้สามารถเข้าไปกำหนดค่าเพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง เช่น เสียงเรียกเข้า, การสั่น, เสียงเตือนข้อความ หรือระดับความดัง เป็นต้น


สามารถตั้งค่าการอัพเดทเวลาแบบอัตโนมัติ ตั้งเขตเวลา หรือตั้งค่าเวลาได้ตามปกติ


การตั้งค่าการแสดงผลแบ่งออกเป็น 2 หมวดคือ การตั้งค่าการแสดงผลผล และการตั้งค่าแสงไฟ


ในหมวดของการตั้งค่าการแสดงผลจะแบ่งออกเป็น ภาพพื้นหลัง, Widget, ข้อความต้อนรับ และสไตล์ของเมนูหลัก


ในหมวดของการตั้งค่าแสงไฟจะแบ่งออกเป็น การตั้งค่าความสว่างของหน้าจอ และการตั้งค่าเวลาของไฟ Backlight



การตั้งค่าโทรศัพท์ จะแบ่งออกเป็นหมวดย่อยดังนี้คือ การตั้งค่าภาษา, การตั้งค่าการตอบสนองด้วยการสั่น, การตั้งค่าหมายเลขเจ้าของเครื่อง, การตั้งค่าปุ่มปรับเสียง, การตั้งค่าการแสดงข้อมูลของผู้โทร, การตั้งค่าปุ่มกล้องดิจิตอล, การตั้งค่าการเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ และการตั้งค่าการล็อคปุ่มกดอัตโนมัติ


การตั้งค่าการโทรจะแบ่งออกเป็น 3 หมวดคือ การโทรทั้งหมด, การโทรด้วยเสียง และการโทรแบบ Video Call


การตั้งค่าความปลอดภัยจะแบ่งออกเป็น 9 หมวดย่อยคือ การล็อคโทรศัพท์, การล็อคซิมการ์ด, การล็อกพิน, Privacy Lock, Fixed Dialling Mode, การเปลี่ยนรหัสผ่านของโทรศัพท์, การเปลี่ยนรหัสพิน, การเปลี่ยนรหัสพินที่ 2 และการแกะรอยโทรศัพท์



การตั้งค่าแอปพลิเคชัน จะแบ่งออกเป็น การตั้งค่า MobileBlog, การตั้งค่าสมุดโทรศัพท์, การตั้งค่าข้อความ, การตั้งค่าปฏิทิน, การตั้งค่ากล้องดิจิตอล, การตั้งค่าโปรแกรมแปลงหน่วย, การตั้งค่าเครื่องเล่นเพลง และการตั้งค่าเว็บบราวเซอร์


การตั้งค่าเครือข่ายจะแบ่งออกเป็น การเลือกเครือข่าย, โหมดของเครือข่าย, การเชื่อมต่อ และเครือข่ายที่ใช้งาน


ในการตั้งค่าหน่วยความจำ ผู้ใช้สามารถเลือกล้างหน่วยความจำได้ โดยอาจจะล้างทั้งหมด หรือเลือกล้างเฉพาะส่วนที่ต้องการก็ได้ รวมถึงผู้ใช้สามารถตรวจสอบหน่วยความจำที่เหลืออยู่ หรือที่ใช้ไปแล้วได้จากตรงนี้

คุณสมบัติเด่นที่น่าสนใจ

- การสั่งงานด้วยการสัมผัสเต็มรูปแบบบน User Interface แบบ TouchWiz
ความโดดเด่นที่เป็นจุดเด่นสำคัญลำดับแรกของ F480 ก็คงหนีไม่พ้นระบบของการสั่งงานด้วยการสัมผัสนั่นเอง ซึ่งการสั่งงานด้วยการสัมผัสจะมีพื้นฐานอยู่บน User Interface แบบใหม่ที่เรียกว่า TouchWiz โดยครอบคลุมการใช้งานทั้งหมดภายในเครื่อง ตั้งแต่การใช้งานเมนูหลัก ไปจนถึงโปรแกรม หรือฟังก์ชันย่อยต่างๆ หากเป็นผู้ใช้มือใหม่ที่ไม่เคยใช้ระบบสัมผัสแบบนี้มาก่อนก็อาจจะต้องทำความเคยชินกับระบบสักพัก แต่หากใช้งานคล่องมือแล้ว จะพบว่าการสั่งงานด้วยการสัมผัสที่หน้าจอไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด แถมในบางกรณีก็ยังสะดวกรวดเร็วกว่าระบบแบบเดิมๆ เสียด้วยซ้ำ และการตอบสนองเวลาที่สัมผัสก็ค่อนข้างแม่นยำ และรวดเร็วดี

- ออกแบบการใช้งานในสไตล์ของตนเองได้อย่างอิสระด้วยฟังก์ชัน Widget
ฟังก์ชัน Widget เป็นฟังก์ชันสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าการสั่งงานด้วยการสัมผัสสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร ฟังก์ชัน Widget เป็นฟังก์ชันที่มอบความอิสระให้แก่ผู้ใช้อย่างเต็มที่ เหมือนกับการออกแบบดีไซน์การใช้งานตามจินตนาการของตนเองได้อย่างอิสระก็ว่าได้ ใช้โปรแกรม หรือฟังก์ชันอะไรบ่อยๆ ก็เพียงลากโปรแกรมนั้นมาวางเอาไว้ที่หน้าจอเพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการเข้าถึง ถ้าไม่ใช้แล้วก็ลากเอาไปเก็บไว้ได้ หรือจะเปลี่ยนตำแหน่งของไอคอนก็สามารถลากไปลากมาได้อย่างอิสระ

- กล้องดิจิตอลในตัว ความละเอียด 5 ล้านพิกเซล พร้อมความสามารถระดับสูง
กล้องดิจิตอลของ F480 ถือว่าเป็นกล้องดิจิตอลมือถือระดับไฮเอนด์อีกรุ่นหนึ่ง เนื่องจากสามารถถ่ายภาพได้ที่ความละเอียดสูงสุดถึง 5 ล้านพิกเซล และยังมีฟังก์ชันการทำงานระดับสูงให้ใช้งานมากเป็นพิเศษอีกด้วย ซึ่งความสามารถทั้งหมดในกล้องดิจิตอลของ F480 จะมีดังนี้

- สามารถตั้งค่าความละเอียดของรูปภาพได้ 6 ขนาดคือ 2560x1920, 2048x1536, 1600x1200, 1280x960, 640x480 และ 320x240 พิกเซล
- ไฟแฟลชในตัว (LED Flash) สามารถเลือกตั้งไฟแฟลชให้ทำงานแบบอัตโนมัติ, เปิดไฟแฟลชตลอด หรือปิดไฟแฟลชได้
- ระบบโฟกัสภาพอัตโนมัติ (Auto Focus)
- ฟังก์ชันตรวจจับใบหน้า (Face Detection)
- ฟังก์ชันตรวจจับรอยยิ้ม (Smile Shot)
- ระบบป้องกันการสั่น (Anti-Shake)
- ซูมภาพแบบดิจิตอลได้ 4 เท่า (Digital Zoom)
- User Interface กล้องดิจิตอลของ F480 จะมีลักษณะการจัดวางที่คล้ายกับกล้องดิจิตอลจริงๆ
- มีโหมดการใช้งานหลักให้เลือกอยู่ 3 โหมดด้วยกัน ได้แก่ การถ่ายภาพนิ่ง, ซีนถ่ายภาพ และการถ่ายภาพวิดีโอ
- โหมดการถ่ายภาพจะแบ่งออกเป็น 6 แบบคือ การถ่ายภาพเดียวแบบปกติ, การถ่ายภาพต่อเนื่อง, การถ่ายภาพแบบ Mosaic, การถ่ายภาพโดยใส่กรอบ, การถ่ายภาพแบบ Panorama และการถ่ายภาพแบบ Smile Shot
- สามารถตั้งเวลาถ่ายภาพล่วงหน้าได้ 3 ระดับคือ 3 วินาที, 5 วินาที และ 10 วินาที
- ใส่เอฟเฟคให้กับรูปภาพได้ 3 แบบคือ Black&White, Sepia และ Negative
- สามารถปรับค่าสมดุลสีขาว (White Balance) ได้ 5 รูปแบบคือ อัตโนมัติ, Daylight, Incandescent, Fluorescent และ Cloudy
- สามารถตั้งค่าการแสดงผลเมนูกล้องได้ 3 รูปแบบคือ Icon, No Icons และ Guidelines
- กำหนดคุณภาพของภาพถ่ายได้ 4 ระดับ (Superfine, Fine, Normal และ Economy)
- กำหนดค่าความไวแสง (ISO) ได้ 4 รูปแบบ (อัตโนมัติ, 100, 200 และ 400)
- ฟังก์ชัน Wide Dynamic Rage
- สามารถกำหนดค่า Exposure Value ได้ (EV -2 ถึง +2)
- ตั้งค่า Exposuremeter ได้ 2 รูปแบบ (Matrix และ Spot)
- กำหนดเสียงของชัตเตอร์ได้ 4 เสียง
- กำหนดเสียงของการซูม และความสว่างได้
- เลือกหน่วยความจำที่จะบันทึกไฟล์ภาพได้
- มีซีนสำหรับการถ่ายภาพให้เลือกใช้ 6 แบบคือ Portrait, Sports, Sunset, Dawn, Beach/Snow และ Night Shot
- ถ่ายภาพวิดีโอได้ที่ความละเอียด 320x240 และ 176x144 พิกเซล
- เปิดไฟแฟลชขณะถ่ายวิดีโอได้
- สามารถตั้งเวลาถ่ายภาพวิดีโอล่วงหน้าได้ 3 ระดับคือ 3 วินาที, 5 วินาที และ 10 วินาที
- ใส่เอฟเฟคให้กับวิดีโอได้ 3 แบบคือ Black&White, Sepia และ Negative
- สามารถปรับค่าสมดุลสีขาวของวิดีโอได้ 5 รูปแบบคือ อัตโนมัติ, Daylight, Incandescent, Fluorescent และ Cloudy
- เปิด-ปิดการบันทึกเสียงได้
- สามารถตั้งค่าการแสดงผลเมนูกล้องวิดีโอได้ 2 รูปแบบคือ Icon และ No Icons
- กำหนดคุณภาพของภาพวิดีโอได้ 3 ระดับ (Fine, Normal และ Economy)

จากความสามารถข้างต้นในกล้องดิจิตอลของ F480 จะเห็นว่ามีฟังก์ชันพิเศษให้เลือกใช้หรือปรับแต่งอยู่มากมาย ซึ่งถือว่าเป็นกล้องดิจิตอลมือถือระดับไฮเอนด์ตัวหนึ่งในท้องตลาดขณะนี้ก็ว่าได้ ส่วนตัวอย่างภาพถ่ายที่ได้จากกล้องดิจิตอลของ F480 จะมีดังต่อไปนี้




ตัวอย่างรูปถ่ายในโหมดปกติ : คุณภาพสูงสุด : ความละเอียดสูงสุด 5 ล้านพิกเซล (2560x1920 Pixels)



ทดสอบการใช้งานฟังก์ชันตรวจจับใบหน้า (Face Detection)




ทดสอบการถ่ายภาพด้วยการปิดไฟแฟลช และเปิดไฟแฟลชตามลำดับ



ทดสอบการซูมขยายภาพ


ทดสอบการปรับค่า Exposure Value (EV) เป็น -2, 0 และ +2 ตามลำดับ


ทดสอบการถ่ายภาพแบบ Mosaic


ทดสอบการถ่ายภาพพร้อมกับการใส่กรอบ


ทดสอบการถ่ายภาพแบบ Panorama


ทดสอบการใส่ Effect ให้กับรูปภาพ



ทดสอบการปรับค่า White Balance

- กล้องดิจิตอลสำหรับใช้งาน Video Calling ที่ด้านหน้าของตัวเครื่อง
นอกจาก F480 จะมีกล้องดิจิตอล 5 ล้านพิกเซลระดับไฮเอนด์แล้ว ก็ยังมีกล้องดิจิตอลขนาดเล็กที่ด้านหน้าของตัวเครื่องซึ่งรองรับการสนทนาแบบ Video Calling ติดมาให้ด้วย ซึ่งกล้องนี้สามารถใช้งานได้ในระบบเครือข่ายความเร็วสูงอย่าง 3G หรือ WCDMA ซึ่งทำให้คู่สนทนาทั้ง 2 ฝั่งสามารถได้ยินทั้งเสียง และได้เห็นทั้งภาพเคลื่อนไหวของอีกฝั่งหนึ่งได้ แต่อย่างไรก็ดี กล้องขนาดเล็กที่ด้านหน้านี้ไม่สามารถใช้สำหรับการถ่ายภาพได้ ซึ่งก็น่าเสียดายอยู่เล็กน้อย

- หน้าจอสัมผัสขนาดใหญ่ 2.8 นิ้ว ความละเอียดสูงระดับ QVGA
หน้าจอของ F480 นั้นมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ คือมีขนาด 2.8 นิ้ว หรือเทียบเท่า PDA Phone ทั่วไปในท้องตลาดนั่นเอง โดยเป็นหน้าจอแบบ TFT LCD ที่มีความละเอียดระดับ QVGA หรือ 320x240 พิกเซล และแสดงผลสีได้ 262,144 สี ซึ่งเป็นคุณสมบัติหน้าจอระดับมาตรฐานของโทรศัพท์มือถือระดับสูงในปัจจุบัน แต่ที่โดดเด่นกว่าก็คือการที่มีระบบรองรับการสั่งงานด้วยการสัมผัสนั่นเอง ส่วนการแสดงผลถือว่ามีความสว่างคมชัด และมีสีสันที่สดใสเป็นอย่างดี ซึ่งเรื่องของการแสดงผลก็ถือเป็นจุดเด่นของมือถือจากค่ายซัมซุงมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว

- รองรับระบบเครือข่าย GSM, 3G และ HSDPA
ระบบเครือข่ายที่ F480 สามารถใช้งานได้นั้นมีทั้ง GSM และ 3G โดยที่ระบบ GSM นั้นจะเป็นแบบ Tri Band หรือรองรับได้ 3 ย่านความถี่คือ 900/1800/1900 MHz ส่วนระบบ 3G หรือ WCDMA จะรองรับได้ 1 ย่านความถี่คือ 2100 MHz และนอกจากนั้นยังรองรับเทคโนโลยีการเชื่อมต่อความเร็วสูงอย่าง HSDPA (High-Speed Downlink Packet Access) อีกด้วย

- หน่วยความจำภายในขนาด 223 MB พร้อมรองรับ microSD Card ได้สูงสุดขนาด 8 GB
หน่วยความจำภายในเครื่องของ F480 นั้นมีมาให้ค่อนข้างมาก คือประมาณ 223 MB ซึ่งถือว่าเพียงพอต่อการใช้งานพื้นฐานทั่วไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามหากใช้งานกันจริงๆ ก็คงจะมีไฟล์อีกมากมายที่ต้องเก็บบันทึกเช่น ไฟล์เพลง, ไฟล์วิดีโอ, ไฟล์รูปภาพ เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นไฟล์ขนาดใหญ่ ดังนั้น F480 จึงออกแบบให้สามารถรองรับการ์ดหน่วยความจำแบบ microSD Card ได้สูงสุดขนาด 8 GB เลยทีเดียว ซึ่งก็เหลือเฟือแล้วสำหรับการเก็บไฟล์ต่างๆ

- เชื่อมต่อข้อมูลผ่านทาง Bluetooth และสาย USB Data Cable
การเชื่อมต่อข้อมูลของ F480 จะทำได้ทั้งแบบไร้สาย โดยผ่านทาง Bluetooth และแบบมีสายโดยผ่านทางสาย USB Data Cable ซึ่งการเชื่อมต่อข้อมูลผ่าน Bluetooth จะได้ความสะดวกคล่องตัวมากกว่า แต่อัตราการถ่ายโอนข้อมูลก็จะช้ากว่า USB Data Cable ค่อนข้างมาก ดังนั้นผู้ใช้จึงต้องเลือกใช้รูปแบบของการเชื่อมต่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่

- เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านระบบ WCDMA/HSDPA, EDGE หรือ GPRS
การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจะทำผ่านโปรแกรมเว็บบราวเซอร์อย่าง NetFront Web Browser ซึ่งสามารถรองรับการเปิดเว็บในรูปแบบของ HTML ได้ โดยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจะสามารถทำได้ผ่านทางระบบเครือข่ายความเร็วสูงอย่าง WCDMA/HSDPA หรือหากไม่สามารถใช้ระบบเครือข่าย 3G ได้ ก็ยังสามารถเชื่อมต่อผ่านระบบ EDGE หรือ GPRS ได้เช่นกัน ซึ่งถือว่า F480 สามารถรองรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้เป็นอย่างดี

- โปรแกรมเล่นไฟล์วิดีโอ ไฟล์เพลง และวิทยุ FM Stereo ในตัว
ความบันเทิงใน F480 นั้นก็มีมาให้ครบ ทั้งการเล่นไฟล์วิดีโอ การเล่นไฟล์เพลง และวิทยุ FM Stereo โดยในส่วนของการดูวิดีโอนั้นจะรองรับไฟล์วิดีโอแบบ MPEG4, H. 263, H. 264 และ WMV ส่วนการเล่นเพลงจะรองรับไฟล์เพลงแบบ MP3, AMR-NB, I-Melody, SMAF,  XMF, MIDI, SP MIDI, AAC, AAC+, Enhaced AAC+ และ WMA  ซึ่งถือว่าครอบคลุมรูปแบบของไฟล์วิดีโอและไฟล์เพลงที่นิยมใช้งานกันไปปัจจุบันแทบทั้งหมดแล้วก็ว่าได้ ส่วนคุณภาพของเสียงถือว่ามีคุณภาพที่ดี มีรายละเอียดเสียงที่ครบถ้วนชัดเจน หูฟังที่แถมมาในชุดถือว่ามีคุณภาพได้มาตรฐาน ยิ่งถ้าได้หูฟังคุณภาพสูงมาใส่ ก็จะยิ่งทำให้มีความไพเราะมากยิ่งขึ้นไปอีก ส่วนวิทยุ FM Stereo ก็สามารถรับสัญญาณได้คมชัดเป็นอย่างดีเช่นกัน

คุณสมบัติอื่นๆ ที่น่าสนใจ

- วัสดุ การประกอบ ความแข็งแรง และน้ำหนัก
จุดเด่นของ F480 อีกอย่างหนึ่งทำสำคัญก็คือเรื่องของตัวเครื่องนั่นเอง การออกแบบดีไซน์ทำออกมาได้อย่างสวยหรูดูดี วัสดุที่ใช้มีคุณภาพสูง โดยเฉพาะวัสดุที่เป็นโลหะ มีการประกอบแน่นหนาแข็งแรง มีน้ำหนักที่กำลังดี มีขนาดที่เล็กกระทัดรัด สามารถจับถือได้อย่างถนัดมือ บางเฉียบ สัมผัสที่ได้โดยรวมถือว่าน่าประทับใจ แต่วัสดุหรือพื้นผิวบางส่วนเป็นพื้นผิวที่มันวาว ดังนั้นผู้ใช้อาจจะต้องดูแลในเรื่องของความสะอาด หรือรอยขีดข่วนมากเป็นพิเศษ

- ประสิทธิภาพในการสนทนา
คุณภาพของเสียงสนทนาหลังจากที่ได้ทดลองใช้ F480 นั้นอยู่ในระดับที่สูง เสียงที่ได้มีความดังชัดเจน ประสิทธิภาพการรับสัญญาณก็อยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกัน มีความคมชัด ไม่มีอาการสัญญาณขาดๆ หายๆ ดังนั้นผู้ใช้จึงหายห่วงในเรื่องประสิทธิภาพของการสนทนาได้เลย

- ความเสถียรของระบบ และความเร็วในการประมวลผล
ความเสถียร และความรวดเร็วในการประมวลผลของ F480 นั้น โดยทั่วไปถือว่ามีระดับความเร็ว หรือมีความเสถียรอยู่ในระดับที่น่าประทับใจ ระยะเวลาตั้งแต่กดปุ่มเปิดเครื่องไปจนถึงสถานะพร้อมใช้งานค่อนข้างรวดเร็วทันใจ และการใช้งานยังไม่พบอาการหน่วงของเมนูใดๆ เลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะระบบสัมผัสนั้นถือว่ามีการตอบสนองที่ราบรื่นเป็นอย่างดี ควบคุมการทำงานได้อย่างแม่นยำรวดเร็ว

- การรองรับการใช้งานภาษาไทย
ระบบภาษาไทยของ F480 นั้น หากเป็นเครื่องศูนย์ที่วางจำหน่ายในประเทศไทยก็จะมีติดตั้งมาให้อย่างครบครันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว โดยไม่ต้องมีการติดตั้งโปรแกรมภาษาไทยหรือฟอนต์ภาษาไทยใดๆ เพิ่มเติม ตั้งแต่การแสดงข้อความหรือตัวหนังสือภาษาไทย, การพิมพ์ข้อความภาษาไทย, ระบบสะกดคำอัตโนมัติภาษาไทย หรือเมนูใช้งานภาษาไทย เป็นต้น

- อัตราความสิ้นเปลืองพลังงาน
แบตเตอรี่ของ F480 นั้นเป็นแบตเตอรี่แบบ Lithium Ion ขนาดความจุ 1000 mAh ซึ่งอัตราความสิ้นเปลืองพลังงานของ F480 นั้น เท่าที่ทดสอบใช้งานมาระยะหนึ่งพบว่ามีอัตราความสิ้นเปลืองพลังงานในระดับปานกลาง ไม่มากไม่น้อย แต่ด้วยความจุดที่ไม่มากนักสำหรับโทรศัพท์มือถือที่มีความสามารถหรือฟังก์ชันการทำงานระดับสูงแบบนี้ ก็อาจจะต้องชาร์จแบตเตอรี่กันค่อนข้างบ่อยสำหรับการใช้งานที่หนักๆ ยกตัวอย่างเช่น กรณีหากใช้งานฟังก์ชันที่ต้องอาศัยพลังงานสูง เช่น ดูหนังฟังเพลง, ถ่ายภาพ หรือเชื่อมต่อผ่าน Bluetooth ก็จะทำให้สิ้นเปลืองพลังงานจากแบตเตอรี่มากเป็นพิเศษ ซึ่งเท่าที่ใช้งานแบบค่อนข้างหนัก แบตเตอรี่จะอยู่ได้ประมาณ 1-2 วัน แต่ถ้าหากไม่ค่อยได้ใช้งานมากนัก แบตเตอรี่ก็จะอยู่ได้ประมาณ 2-3 วัน

สรุปส่งท้าย

จากการทดสอบการใช้งานมาได้ประมาณ 1 สัปดาห์ กับ Samsung F480 ก็พอจะมองเห็นอะไรหลายๆ อย่างจากโทรศัพท์มือถือรุ่นนี้ จึงขอสรุปเป็นจุดเด่นและจุดด้อยตามความคิดเห็นส่วนตัวคร่าวๆ ดังนี้

จุดเด่น

- สามารถสั่งงานด้วยการใช้นิ้วสัมผัสที่หน้าจอโดยตรง พร้อมทั้งมีการตอบสนองผู้ใช้ด้วยการสั่น
- มีฟังก์ชัน Widget ที่ช่วยให้ผู้ใช้มีความอิสระในการออกแบบการใช้งานตามสไตล์ของตนเอง
- ตัวเครื่องมีการออกแบบดีไซน์ที่สวยงามหรูหรา บางเฉียบ ใช้วัสดุคุณภาพสูง ได้สัมผัสที่ดี มีการประกอบที่แข็งแรงแน่นหนา
- มีกล้องดิจิตอลในตัวที่มีความละเอียดมากถึง 5 ล้านพิกเซล ภาพถ่ายที่ได้มีคุณภาพค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับรุ่นอื่นในท้องตลาด
- กล้องมีฟังก์ชัน Face Detection ในการตรวจจับใบหน้าขณะถ่ายภาพ
- กล้องมีฟังก์ชัน Smile Shot ในการตรวจจับรอยยิ้มขณะถ่ายภาพ
- กล้องมีระบบ Image Stabiliser ช่วยป้องกันการสั่นไหวของรูปภาพ
- กล้องมีไฟแฟลช และระบบโฟกัสภาพอัตโนมัติ
- มีกล้องขนาดเล็กที่ด้านหน้าของตัวเครื่อง สามารถรองรับการสนทนาแบบ Video Calling ได้
- มีหน้าจอแสดงผลขนาดใหญ่ 2.8 นิ้ว ความละเอียด QVGA ที่แสดงผลได้คมชัด สีสันสดใส
- มีหน่วยความจำภายในขนาด 223 MB และสามารถใส่ microSD Card เพิ่มได้ พร้อมทั้งแถมฟรี microSD Card ขนาด 4 GB มาพร้อมชุดขายมาตรฐาน
- รองรับการใช้งานทั้งระบบเครือข่าย 3G และ GSM
- รองรับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านระบบ HSDPA, EDGE หรือ GPRS พร้อม NetFront Web Browser
- รองรับการเชื่อมต่อข้อมูลผ่านทาง Bluetooth หรือสาย USB Data Cable
- รองรับความบันเทิงครบครันทั้งการฟังเพลง ดูวิดีโอ หรือฟังวิทยุ

จุดด้อย

- โปรแกรมบางอย่างจะไม่สามารถแสดงผลในแนวนอนได้ เช่น เว็บบราวเซอร์
- แบตเตอรี่อาจต้องชาร์จค่อนข้างบ่อย หากต้องมีการใช้งานหนักๆ
- ไม่มี Virtual Keyboard แบบ QWERTY
- ถ่ายภาพวิดีโอได้ที่ความละเอียดสูงสุดเพียง 320x240 พิกเซล (QVGA)
- กล้องดิจิตอลขนาดเล็กที่ด้านหน้าไม่สามารถใช้ในการถ่ายภาพได้

คะแนน TMC Point

การออกแบบดีไซน์ : 9.5/10
ใช้งานง่าย : 8.5/10
คุณสมบัติเครื่อง : 9.0/10
ฟังก์ชันการใช้งาน : 8.5/10
เสถียรภาพและประสิทธิภาพในการใช้งาน : 8.5/10
ราคาคุ้มค่า : 8.0/10

คะแนนรวม 8.66/10

โปรดทราบ

* โทรศัพท์มือถือที่ท่านเห็นในบทความรีวิวนี้เป็นเพียงเครื่องทดสอบจากทางศูนย์ เพราะฉะนั้นคุณสมบัติบางอย่างอาจมีความแตกต่างจากเครื่องที่วางจำหน่ายจริงบ้างไม่มากก็น้อย รวมถึงจุดด้อยบางประการที่พบในเครื่องทดสอบ อาจจะถูกแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นในเครื่องที่วางจำหน่ายจริง ดังนั้นหากท่านสนใจซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นนี้ ควรตรวจสอบหรือทดลองใช้งานสินค้าด้วยตนเองอีกครั้งหนึ่ง *

สรุปคุณสมบัติเครื่อง

ท่านสามารถตรวจสอบคุณสมบัติแบบสรุป (Specification) ของ Samsung F480 ได้โดยการคลิ๊กที่ Link ด้านล่างนี้

Samsung F480 Specification 


ผู้สนับสนุนเครื่อง Samsung F480 สำหรับการทดสอบ



ขอขอบคุณ บริษัท ไทยซัมซุงอิเลคโทรนิคส์ จำกัด
195 อาคารเอ็มไพร์ทาวเวอร์ ชั้น 19
ถนนสาทรใต้  แขวงยานนาวา  เขตสาทร
กรุงเทพมหานคร 10120 
 

:: ไปหน้าแรกเว็บไซต์ Thaimobilecenter | ไปหน้าแรก Mobile Focus ::