TMC Point

  8.16

การออกแบบดีไซน์

  8.0

ใช้งานง่ายและมีประสิทธิภาพ

  8.5

คุณสมบัติเครื่อง

  8.5

ฟังก์ชันการใช้งาน

 8.0

เสถียรภาพและประสิทธิภาพ

 8.0

ความคุ้มค่าต่อราคา

  8.0

 
   

Nokia 6131 Review & Focus
The Power of a Touch
Review Date (23-June-2006)

โทรศัพท์มือถือแบบฝาพับจาก Nokia ตระกูล 61xx ก่อนหน้านี้ก็ได้เปิดตัวและวางจำหน่ายมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ 6170, 6101, 6103 หรือ 6125 ซึ่งแต่ละรุ่นก็ได้มีการเพิ่มขีดความสามารถของตัวเครื่องต่อยอดจากรุ่นก่อนหน้าขึ้นมาเรื่อยๆ จนมาถึง 6131 รุ่นนี้ ก็มีคุณสมบัติหรือความสามารถที่ดีขึ้นกว่ารุ่นก่อนหน้าด้วยเช่นกัน เช่น หน้าจอที่สามารถแสดงผลได้ละเอียดและมีสีสันสดใสมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว เป็นต้น ส่วนเรื่องของรูปร่างหน้าตา ก็มีความแตกต่างจากรุ่นอื่นๆ บ้าง เช่นฝาพับด้านหน้าที่ดูสั้นขึ้นมาอย่างตั้งใจ หรือปุ่มกดสำหรับการเปิดฝาพับที่ด้านข้าง เป็นต้น

ในขณะที่ทำบทความรีวิวอยู่นี้ 6131 ก็ได้วางจำหน่ายอย่างเป็นทางการไปแล้วระยะหนึ่ง ซึ่งผลตอบรับที่ผู้ใช้มีต่อ 6131 นั้นก็ถือว่าค่อนข้างดี ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าเมื่อเทียบคุณสมบัติที่มีอยู่ค่อนข้างครบเครื่อง กับราคาเปิดตัวเพียง 10,550 บาท จึงทำให้เป็นที่ถามถึงในหมู่ผู้ใช้จำนวนมาก และอีกประการอาจเป็นเพราะว่า เมื่อนำไปเทียบกับรุ่นที่ออกมาในระยะใกล้เคียงกันอย่าง 6125 ซึ่งมีคุณสมบัติโดยรวมใกล้เคียงกัน แต่ทว่าหน้าจอของ 6131 นั้นมีคุณสมบัติของการแสดงผลที่ดีกว่าอย่างมาก ทั้งในเรื่องของความละเอียด และสีสัน ในขณะที่ราคาของ 6131 แพงกว่าเพียงไม่กี่ร้อยบาทเท่านั้น (ราคาเปิดตัวของ 6125 คือ 10,290 บาท) จึงไม่น่าแปลกที่ผู้ใช้ส่วนใหญ่จะมองข้าม 6125 ไป แล้วมุ่งความสนใจมาที่ 6131 รุ่นนี้แทน อย่างไรก็ตามก็ยังมีผู้ที่กำลังหาข้อมูลในการใช้งานของ 6131 ว่าจริงๆ แล้วดีหรือไม่อย่างไร เพื่อการตัดสินใจเลือกซื้อได้อย่างมั่นใจ เพราะฉะนั้นทางทีมงานไทยโมบายเซ็นเตอร์ก็อาสาเป็นตัวแทนในการทดสอบการใช้งาน 6131 ให้ทุกท่านได้ติดตามชมกันครับ

อุปกรณ์ที่มีมาให้ในกล่อง

อุปกรณ์ที่มีมาให้พร้อมกับชุดขายมาตรฐานของ Nokia 6131 จะประกอบไปด้วย ตัวเครื่อง Nokia 6131, แบตเตอรี่แบบ Lithium Ion รุ่น BL-4C ขนาดความจุ 820 mAh จำนวน 1 ก้อน, หูฟังแบบ Stereo รุ่น HS-23 จำนวน 1 เส้น, สาย Adapter ชาร์จแบตเตอรี่รุ่น AC-3U จำนวน 1 เส้น และคู่มือการใช้งาน จำนวน 1 เล่ม ซึ่งอุปกรณ์มาตรฐานที่มีแถมมาให้นี้ ดูแล้วยังไม่ครบถ้วนเท่าไหร่นัก หลักๆ ที่ขาดไปก็เห็นจะเป็นสาย USB Data Cable หรือการ์ดหน่วยความจำ เป็นต้น ซึ่งผู้ใช้ต้องการใช้งานก็คงจะต้องไปหาซื้อเพิ่มเติมมาด้วยตนเองอีกครั้งหนึ่ง และนี่ก็อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาขายของ 6131 ดูไม่แพงมากก็เป็นได้

เมื่อแรกเห็นตัวเครื่อง

เมื่อได้เห็นตัวเครื่องของ Nokia 6131 ครั้งแรกจากรูปถ่ายตามเว็บไซต์ต่างๆ ก็ดูเหมือนว่าตัวเครื่องน่าจะดูใหญ่พอสมควร แต่เมื่อได้เห็นกับตัวจริงแล้วก็พบว่าตัวเครื่องก็ไม่ได้มีขนาดใหญ่โตแต่อย่างไร แต่ก็ไม่ได้เล็กมากเช่นกัน เป็นฝาพับที่มีขนาดปานกลาง ไม่หนามากและไม่บางมาก และเมื่อได้สัมผัสกับตัวเครื่องก็พบว่าวัสดุที่นำมาใช้นั้นก็ถือว่ามีคุณภาพที่ดี แม้ว่าจะไม่ได้ดีมากที่สุดอย่างรุ่นแพงๆ อีกหลายรุ่นก็ตาม น้ำหนักตัวเครื่องก็ยังถือว่ายังอยู่ในระดับที่เบา แม้จะไม่ถึงกับเบามากก็ตาม ส่วนดีไซน์ตัวเครื่องจะออกไปทางเรียบหรู มากกว่าที่จะเน้นความเป็นแฟชั่น


เครื่อง 6131 ที่ได้มาทดสอบนี้ เป็นสีบรอนซ์เงิน โดยที่ด้านหน้าของตัวเครื่องดูแล้วมีดีไซน์ที่สวยงามดี แม้ไม่ได้เน้นแฟชั่นอะไรมากมาย แต่ก็ดูเรียบหรู โดยมีลักษณะของเส้นกรอบโครเมียมมันวาว รวมถึงขอบโครเมียมที่เลยมาด้านล่าง ที่ตัดกันกับพื้นผิวสีด้าน ซึ่งในที่นี้คือสีบรอนซ์เงิน ส่วนองค์ประกอบที่เห็นจากด้านหน้านี้ ก็ไม่มีอะไรมากมายนัก เริ่มตั้งแต่ด้านบน จะมีเลนส์กล้องดิจิตอลซึ่งถ่ายภาพได้ละเอียด 1.3 ล้านพิกเซล และถัดมาที่ตรงกลางก็จะเป็นหน้าจอแสดงผลขนาด 1.36 นิ้ว และที่ด้านล่างสุดก็คือสไตล์เฉพาะของรุ่นนี้ คือขอบโครเมียมที่มีลักษณะเหมือนลิ้นยื่นเลยออกมา ซึ่งผู้ใช้บางคนก็มองว่าสวย บางคนก็อาจมองว่าดูแปลกๆ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน


เลนส์กล้องดิจิตอลที่อยู่ด้านหน้านี้เป็นแบบฝังตัวอยู่ภายใน โดยมีแผ่นพลาสติกปิดเอาไว้ให้อยู่ในระนาบเดียวกัน ทำให้ไม่มีส่วนใดของเลนส์กล้องดิจิตอลยื่นเลยออกมา และก็น่าจะส่งผลให้เกิดความเสียแก่เลนส์กล้องได้ยาก เนื่องจากถูกปิดเอาไว้อย่างถาวร


หน้าจอแสดงผลที่ด้านหน้าขนาด 1.36 นิ้ว ซึ่งเป็นแบบ TFT LCD 262,144 ความละเอียด 128 x 160 Pixels โดยดูตามคุณสมบัติแล้วก็น่าจะเป็นหน้าจอด้านนอกที่แสดงผลได้ดีเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามดูผลงานกันต่อไปเมื่อตอนเปิดเครื่องใช้งาน


ขอบโครเมียมมันวาวที่ยื่นออกมาทางด้านล่างมีลักษณะที่ดูเหมือนลิ้น ซึ่งผู้ใช้บางคนอาจจะสงสัยว่าทำไมจึงไม่ทำให้ฝาพับด้านหน้าปิดได้พอดีกับตัวเครื่องด้านล่าง โดยความเห็นส่วนตัวแล้ว ความตั้งใจนี้น่าจะเป็นเรื่องของการออกแบบดีไซน์ให้ดูสวยงามมีสไตล์เฉพาะตัวเสียมากกว่า เพราะดูแล้วก็ไม่ได้ช่วยให้การใช้งานดีขึ้นแต่อย่างใด


เมื่อพลิกมาดูที่ด้านหลังของตัวเครื่อง ก็จะมีลักษณะที่เรียบๆ ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ นอกจากโลโก้ยี่ห้อ Nokia ซึ่งติดอยู่กับฝาหลัง โดยโทนสีจะเป็นสีด้านทั้งหมด ไม่มีขอบโครเมียมใดๆ มาตัดไว้เป็นเส้นสายเหมือนกับด้านหน้า


เมื่อพลิกมาดูที่ด้านขวาของตัวเครื่อง ก็จะพบกับปุ่มควบคุมสำหรับการใช้งานหลายส่วน เริ่มตั้งแต่ที่ด้านบนสุด จะเป็นปุ่มกดสำหรับเปิดฝาเครื่องซึ่ง 6131 เป็นโทรศัพท์มือถือแบบฝาพับรุ่นแรกของ Nokia ที่มีปุ่มสำหรับเปิดฝานี้ ถัดมาที่บริเวณแถบสีดำมันตรงกลาง ด้านซ้ายสุดจะเป็นลำโพง Loudspeaker ถัดมาปุ่มตรงกลางก็จะเป็นปุ่มสำหรับเปิด-ปิดเครื่องหรือเลือก Profiles และปุ่มด้านขวาสุดก็จะเป็นปุ่มสำหรับเปิดใช้งานฟังก์ชันกล้องดิจิตอล


ปุ่มสำหรับเปิดฝาพับที่อยู่มุมด้านบนนี้ เท่าที่จำได้ น่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือแบบฝาพับรุ่นแรกที่ทาง Nokia นำมาใช้ ซึ่งจะใช้งานได้ดีหรือไม่อย่างไรนั้น จะกล่าวถึงโดยละเอียดในเนื้อหาถัดไป


ปุ่มสำหรับเปิด-ปิดเครื่อง หรือเลือก Profiles และสำหรับเข้าใช้งานฟังก์ชันกล้องดิจิตอล ในการทดสอบเบื้องต้น ก็พบว่ายังกดได้ไม่ถนัดมือเท่าไหร่นัก อาจเป็นเพราะว่าปุ่มกดมีลักษณะเรียวเล็ก และค่อนข้างอยู่ในระนาบเดียวกันกับพื้นผิวรอบด้าน


ลำโพง Loudspeaker ที่อยู่ตรงมุมด้านล่างนี้ ใช้สำหรับเปล่งเสียงเรียกเข้า เสียงเตือน หรือเสียงเพลงต่างๆ ซึ่งดูแล้วมีขนาดที่ค่อนข้างเล็ก แต่ประสิทธิภาพหรือคุณภาพของเสียงที่ได้จะเป็นอย่างไรนั้น จะกล่าวถึงโดยละเอียดในเนื้อหาถัดไป


เมื่อพลิกมาดูที่ด้านซ้ายของตัวเครื่อง ก็จะพบกับการออกแบบดีไซน์ที่คล้ายคลึงกันกับที่ด้านขวา นั่นคือมีลักษณะของแถบดำมันคาดไว้ที่ตรงกลาง โดยที่มุมด้านบนสุดของตัวเครื่องด้านนี้ก็คือรูสำหรับร้อยสายคล้อง ส่วนปุ่มกดที่แถบสีดำก็จะมีอยู่ปุ่มเดียวก็คือ ปุ่มสำหรับเพิ่มและลดระดับเสียง และที่แถบสีดำที่ด้านขวาก็จะเป็น Infrared Port


ปุ่มกดสำหรับเพิ่มและลดระดับเสียงนี้ ก็กดได้ยากเล็กน้อยเช่นเดียวกันกับปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง หรือปุ่มกล้องดิจิตอล ที่อยู่อีกด้าน เนื่องจากมีลักษณะคล้ายๆ กันคือ เรียวเล็ก และค่อนข้างแบนราบไปในระนาบเดียวกันกับตัวเครื่อง


สำหรับ 6131 นั้นก็มี Infrared Port ติดตั้งไว้ให้ด้วย ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันการใช้งาน Infrared Port จะน้อยลงมาก เนื่องจากมี Bluetooth ที่สามารถใช้งานได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากกว่าเข้ามาแทนที่ แต่ในการใช้งานบางอย่างก็อาจจำเป็นต้องใช้ Infrared Port อยู่เช่นกัน


เมื่อพลิกมาดูที่ด้านบนของตัวเครื่อง ก็จะมีลักษณะที่เรียบๆ ไม่มีอะไรซับซ้อนมากมาย โดยที่ด้านซ้ายสุดมีรูสำหรับเสียบสายชาร์จแบตเตอรี่ ถัดมาที่ตรงกลางก็เป็นฝาปิดของ Pop-Port และที่ขอบด้านขวาสุดก็จะเป็นรูสำหรับร้อยสายคล้อง


ฝาสำหรับปิด Pop-Port สำหรับกันฝุ่น หรือสิ่งสกปรกต่างๆ นี้ดูแล้วก็มีความแข็งแรงแน่นหนาเป็นอย่างดี คงไม่สามารถหลุดออกมาได้เองหากผู้ใช้ไม่ตั้งใจเปิดออกมา


การเปิดฝาปิดของ Pop-Port นั้นก็สามารถทำได้โดยง่าย เพียงจิกเล็บลงไปที่ขอบบนดังภาพ แล้วแงะออกมา ก็สามารถเปิดฝานี้ได้แล้ว ซึ่งแกนของฝาปิดของ Pop-Port นี้จะเป็นวัสดุที่คล้ายกับยางแข็งที่สามารถยืดหยุ่นได้ ดูแล้วก็น่าจะใช้งานได้ทนทานดีอยู่เหมือนกัน


เมื่อมาดูที่มุมด้านบนสุด ก็จะพบกับรูสำหรับร้อยสายคล้อง ซึ่งก็มีรูปแบบที่ไม่แปลกแหวกแนวแต่อย่างใด ผู้ใช้สามารถนำสายคล้องที่มีขายอยู่ทั่วไปอย่างมากมายหลายรูปมาใช้งานได้โดยง่าย


เมื่อพลิกมาดูที่ด้านล่างของตัวเครื่อง ก็จะไม่พบกับปุ่มควบคุม อุปกรณ์ หรือส่วนเชื่อมต่อใดๆ นอกจากรูปร่างลักษณะของมุมมองด้านนี้ที่เผยอขึ้นเล็กน้อย ซึ่งโดยส่วนตัวดูแล้วคล้ายกับส่วนหัวของเรืออยู่เหมือนกัน


การเปิดฝาหน้านั้น หากเป็นฝาพับรุ่นอื่นๆ ของ Nokia ก่อนหน้านี้ ผู้ใช้จะต้องทำการดึงฝาพับออกมาด้วยตนเอง แต่ใน 6131 นี้นั้นมีทางเลือกอีกทางที่สะดวกกว่าคือสามารถกดปุ่มสำหรับเปิดฝาพับที่อยู่มุมบนสุดได้ ซึ่งมีลักษณะเป็นกลไกสปริงที่เมื่อผู้ใช้กดแล้ว ฝาพับด้านหน้าก็จะเด้งออกมา โดยความแรงหรือความนุ่มนวลของการเด้งนั้น อยู่ในระดับปานกลาง คือไม่รุนแรง ไม่กระด้างหรือไม่เบามากจนเกินไป ซึ่งโดยรวมก็ถือว่าน่าพอใจ


เมื่อกดปุ่มเปิดฝาแล้ว ฝาพับหน้าด้านหน้าก็จะกางออกมาดังภาพ ซึ่งก็น่าจะช่วยให้สามารถใช้งานแบบมือเดียวได้สะดวกขึ้น เช่นกรณีของการรับสายที่โทรเข้ามา ก็ไม่จำเป็นต้องใช้อีกมือช่วยในการเปิดฝา แต่อย่างไรก็ดี ในการปิดฝาพับก็คงจะต้องใช้อีกมือช่วยปิดอยู่เหมือนเดิม


มุมมองของตัวเครื่องเมื่อกางฝาพับออกมา ก็จะมีลักษณะดังภาพ คือดูสวยแบบเรียบๆ ไล่ตั้งแต่ด้านบนสุดจะเป็นลำโพงหูฟังสำหรับการสนทนา ถัดลงมาจะเป็นหน้าจอแสดงผลขนาด 2.2 นิ้ว และที่ด้านล่างก็จะเป็นแผงปุ่มกดต่างๆ โดยสำหรับเครื่องสีบรอนซ์เงินนี้ แผงปุ่มกดด้านในจะเป็นสีขาว รวมถึงกรอบที่ล้อมรอบหน้าจอด้านในก็จะเป็นสีขาวด้วยเช่นเดียวกัน แต่ถ้าหากตัวเครื่องเป็นแบบสีดำ แผงปุ่มกดหรือกรอบหน้าจอด้านในนี้ก็จะเป็นสีดำ



เมื่อมองดูที่ด้านข้างขณะที่กางฝาพับออกมาจะพบว่า สามารถกางเต็มที่ได้ประมาณ 160 องศาเท่านั้น ไม่ถึงกับกางได้ 180 องศา แต่การวางมุมระดับประมาณนี้ ก็น่าจะเหมาะสมดีแล้วสำหรับการใช้งานโทรศัพท์มือถือแบบฝาพับ เช่นการใช้งานขณะสนทนา เป็นต้น และเมื่อมองอีกด้านขณะที่กางฝาพับออกมา ก็จะมีลักษณะการออกแบบดีไซน์ที่คล้ายๆ กัน


ลำโพงหูฟังสำหรับสนทนา มีแอบหรูเล็กน้อย โดยดีไซน์ให้มีลักษณะเป็นกรอบโครเมียมมันวาวล้อมรอบลำโพงเอาไว้ เพื่อไม่ให้ดูเรียบเกินไป


ในส่วนของแผงปุ่มกดทั้งหมดจะล้อมรอบด้านนอกด้วยกรอบโครเมียมมันวาว และปุ่มกดส่วนใหญ่จะเป็นพลาสติกสีด้าน ในที่นี้คือสีขาว ซึ่งจากการทดสอบการกดเบื้องต้น ก็พบว่าสามารถกดได้นุ่มมือดี ความแข็งกระด้างจะลดลงจากรุ่นก่อนหน้านี้พอสมควร โดยในส่วนบนของแผงปุ่มกดก็คือชุดปุ่มควบคุมการทำงาน ซึ่งประกอบไปด้วย ปุ่ม Softkeys ที่ด้านซ้ายและด้านขวา, ปุ่มควบคุมการทำงานแบบ 5 ทิศทางซึ่งดูแล้วออกแบบได้สวยงามหรูหราดีเนื่องจากมีการทำเป็นวงแหวนโครเมียม นอกจากนั้นก็ยังมีปุ่มโทรออกหรือรับสาย และสุดท้ายคือปุ่มวางสาย


แผงปุ่มกดตัวเลข หรือปุ่มกดตัวอักษร หากเป็นเครื่องศูนย์ที่วางจำหน่ายในประเทศไทย ก็จะมีตัวอักษรภาษาไทยกำกับเอาไว้ให้ด้วยตามปกติ โดยปุ่มกดตัวเลขแต่ละปุ่มมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่และแยกตัวออกจากกันอย่างชัดเจน ในการทดสอบใช้งานเบื้องต้นจึงพบว่าสามารถกดได้ง่าย และนอกจากนั้นก็ยังมีความนุ่มนวลมากกว่ารุ่นก่อนหน้านี้อยู่พอสมควรอีกด้วย

เริ่มใส่ SIM Card และแบตเตอรี่


ก่อนที่จะเปิดเครื่องใช้งานได้นั้น ก็จะต้องมีการใส่แบตเตอรี่ และซิมการ์ด ให้เรียบร้อยดีเสียก่อน โดยก่อนอื่นให้ทำการเปิดฝาหลังออกมา ซึ่งการเปิดฝาหลังของ 6131 นี้สามารถทำได้โดยง่าย มีวิธีการคล้ายกับโทรศัพท์มือถือทั่วๆ ไป นั่นคือให้นำนิ้วโป้งกดลงไปบนส่วนกลางของฝาหลังด้วยแรงพอประมาณ แล้วออกแรงดันขึ้นไป ฝาหลังก็จะเลื่อนออกมาดังภาพ


เมื่อเปิดฝาหลังของ 6131 ออกมาเรียบร้อยแล้ว ฝาหลัง และที่ด้านหลังของตัวเครื่องก็จะเป็นดังภาพ โดยที่ด้านหลังของตัวเครื่องนี้มีไว้สำหรับใส่อุปกรณ์ที่สำคัญ 3 อย่างก็คือ ซิมการ์ด, แบตเตอรี่ และการ์ดหน่วยความจำแบบ microSD Card


ฝาหลังของ 6131 ทำมาจากพลาสติกเกรดดี ดูแล้วมีความแข็งแรงทนทานและไม่บอบบาง จึงน่าจะสามารถใช้งานไปได้อย่างยาวนาน


ฝาหลังของ 6131 มีส่วนที่พิเศษอยู่ส่วนหนึ่ง คือ ที่ส่วนบนจะใช้งานเป็นฝาสำหรับปิด Pop-Port และรูสำหรับเสียบสายชาร์จแบตเตอรี่ไปในตัว โดยแกนของฝาสำหรับปิด Pop-Port นี้จะทำมาจากยางแข็งที่สามารถยืดหยุ่นได้ ซึ่งดูแล้วก็น่าจะมีความแข็งแรงทนทานดี


สำหรับ 6131 นั้นสามารถใส่การ์ดหน่วยความจำเพิ่มเติมได้ โดยประเภทของการ์ดหน่วยความจำที่ใช้ก็คือ microSD Card หรือที่เรียกกันอีกอย่างว่า TransFlash Card นั่นเอง โดยการใส่การ์ดนั้นจะต้องทำการเปิดฝาหลังเสียก่อน เนื่องจากช่องสำหรับใส่การ์ดจะอยู่ที่ด้านในดังภาพ และการถอดหรือใส่การ์ดหน่วยความจำของ 6131 นี้จะเป็นแบบ Hot Swap ซึ่งก็คือไม่ต้องปิดเครื่องก่อนก็สามารถถอดหรือใส่การ์ดได้ทันที


ขั้วโลหะสัมผัสสำหรับก้อนแบตเตอรี่จะเป็นดังภาพ ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถรู้ทิศทางที่ถูกต้องของการใส่ก้อนแบตเตอรี่ได้


ช่องสำหรับใส่ซิมการ์ดนั้นก็ไม่ได้มีรูปแบบที่แปลกแหวกแนวแต่อย่างใด โดยจะมีกรอบในขนาดที่พอดีกับแผ่นซิมการ์ด และฝาโลหะที่กางเปิดปิดได้สำหรับล็อคแผ่นซิมการ์ดให้อยู่กับที่ ซึ่งสามารถใช้งานได้ง่ายไม่ซับซ้อน


ช่องสำหรับใส่ซิมการ์ดนั้นมีขนาดและรูปร่างที่พอดีกับแผ่นซิมการ์ด ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ใช้จะใส่ซิมการ์ดผิดด้านอย่างแน่นอน เพราะหากใส่ผิดด้านก็จะไม่สามารถใส่เข้าไปได้เลย โดยหลังจากวางแผ่นซิมการ์ดลงในช่องเรียบร้อยแล้ว ก็ให้นำฝาโลหะไปปิดล็อคไว้ให้เรียบร้อย ดังภาพ


แบตเตอรี่ของ 6131 นั้นเป็นแบตเตอรี่แบบ Lithium Ion รุ่น BL-4C ขนาดความจุ 820 mAh ซึ่งมีรูปแบบที่คุ้นเคยกันดี แต่การใช้งานจะยาวนานมากน้อยแค่ไหนนั้น คงจะต้องติดตามกันต่อในการทดสอบถัดไป


การใส่ก้อนแบตเตอรี่นั้นก็สามารถทำได้โดยง่าย โดยมีวิธีที่คล้ายกันกับโทรศัพท์มือถือทั่วไป นั่นคือให้ดันก้อนแบตเตอรี่เข้าหาขั้วโลหะ ด้วยแรงพอประมาณ จนก้อนแบตเตอรี่เข้าตำแหน่งที่เข้าที่เข้าทางดังภาพ


เมื่อใส่ซิมการ์ด และก้อนแบตเตอรี่เรียบร้อยดีแล้ว ที่ด้านหลังของตัวเครื่องก็จะมีลักษณะดังภาพ ซึ่งหลังจากนี้ก็เหลือเพียงแค่ปิดฝาหลังให้เรียบร้อยตามเดิม และก็พร้อมแล้วสำหรับการเปิดใช้งานเครื่องต่อไป

ความเหมาะมือและน้ำหนัก


เมื่อได้ทำการใส่ซิมการ์ด และก้อนแบตเตอรี่เรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะลองจับถือ 6131 ดูบ้าง อย่างแรกในเรื่องของน้ำหนักประมาณ 112 กรัม ก็ถือว่าไม่ได้เบามากนัก แต่ก็ไม่ได้รู้สึกหนักแต่อย่างใด เรียกได้ว่ามีน้ำหนักปานกลางค่อนไปทางเบา ส่วนขนาดตัวเครื่องเมื่ออยู่ในมือนั้น หากเป็นผู้ที่มีฝามือค่อนข้างใหญ่ ก็น่าจะรู้สึกว่าตัวเครื่อง 6131 นี้มีขนาดที่เล็ก แต่หากเป็นผู้ที่มีฝ่ามือค่อนข้างเล็กหรือกลางๆ ก็น่าจะรู้สึกว่าตัวเครื่อง 6131 นี้มีขนาดที่กำลังดี และสุดท้ายคือเรื่องของวัสดุหรือการประกอบ เมื่อได้สัมผัสดูก็พบว่า 6131 ใช้วัสดุที่ดี ถึงแม้ว่าจะไม่ดีเท่าโทรศัพท์มือถือระดับราคาแพงก็ตาม ส่วนการประกอบนั้นโดยรวมแล้วถือว่าทำได้ประณีตแน่นหนาดี แต่ทว่าในส่วนของแกนฝาพับนั้นยังสามารถรู้สึกถึงการโยกคลอนได้เล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้โยกคลอนมากมายจนเป็นปัญหาแต่อย่างใด ซึ่งสำหรับเครื่องที่วางจำหน่ายจริงนั้นอาจจะมีแกนฝาพับที่แน่นหนากว่านี้ก็เป็นได้


ความหนาของตัวเครื่องถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง ไม่ได้ถึงกับหนามาก และไม่ได้ถึงกับบางมาก


เมื่อจับถือตัวเครื่องขณะกางฝาพับออกแล้ว ก็ถือว่ามีขนาดที่ไม่ใหญ่มากนัก อาจจะค่อนไปทางเล็กเสียด้วยซ้ำหากเป็นผู้ใช้ที่มีมือขนาดใหญ่ แต่สำหรับผู้ใช้โดยทั่วๆ ไปแล้ว ก็น่าจะจับถือได้กำลังพอดีมือ รู้สึกทะมัดทะแมง และไม่น่าจะพลาดทำหลุดมือได้ง่ายๆ


เมื่อนำมาเปรียบเทียบขนาดกับบัตรทั่วๆ ไปก็พบว่ามีความสูงที่ใกล้เคียงกัน ตัวเครื่อง 6131 อาจจะสูงกว่าอยู่เล็กน้อย แต่เพียงเท่านี้ก็ถือว่ามีขนาดที่เล็กพอประมาณแล้ว ส่วนความกว้างนั้นจะน้อยกว่าบัตรอยู่พอสมควร จึงทำให้ 6131 เป็นโทรศัพท์มือถือแบบฝาพับที่ดูแล้วไม่ใหญ่เทอะทะ


ด้วยความเอียงทำมุมของฝาพับประมาณ 160 องศา เมื่อนำมาแนบหูขณะสนทนา ก็น่าจะกำลังพอเหมาะสำหรับผู้ใช้ส่วนใหญ่ ประกอบกับตรงส่วนล่างที่เป็นไมโครโฟนที่ยื่นออกมามากกว่าปกติอีกเล็กน้อย ก็อาจจะช่วยให้เสียงพูดจากผู้ใช้ชัดเจนขึ้นก็เป็นได้

เริ่มเปิดเครื่อง


เมื่อใส่ซิมการ์ด ,แบตเตอรี่ และปิดฝาหลังเรียบร้อยดีแล้ว ก็พร้อมที่จะเปิดเครื่องใช้งาน โดยการเปิดเครื่องนั้นสามารถทำได้ไม่ยาก ด้วยการกดปุ่มเปิด-ปิดเครื่องที่ด้านข้างของตัวเครื่องดังภาพ กดค้างไว้ประมาณ 1-2 วินาที เครื่องก็จะเปิดการทำงานขึ้นมา และพร้อมทำงานด้วยเวลาไม่นานนัก แต่อย่างไรก็ดี ปุ่มกดนี้อาจจะกดได้ยากสักหน่อยสำหรับผู้ที่มีนิ้วใหญ่ เพราะปุ่มมีลักษณะเรียวเล็ก และค่อนข้างอยู่ในระนาบเดียวกันกับตัวเครื่อง แต่ก็ไม่ถึงกับยากมากมายเท่าไหร่นัก


เมื่อกดปุ่มเปิดเครื่องค้างไว้ประมาณ 1-2 วินาที เครื่องก็จะเริ่มเปิดการทำงาน และใช้เวลาเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้งานไม่นานนัก เท่าที่ได้ทดสอบดูก็พบว่าระยะเวลาตั้งแต่กดปุ่มเปิดเครื่องจนถึงพร้อมใช้งาน คือ จนถึงตอนที่สามารถจับสัญญาณโทรศัพท์มือถือได้เรียบร้อย มีการทำงานที่ค่อนข้างรวดเร็วทันใจ เรียกว่าเพียงอึดใจเดียวก็สามารถใช้งานได้แล้ว

ความคมชัดและสวยงามของหน้าจอแสดงผล


หน้าจอแสดงผลของ Nokia 6131 นี้ถือว่าเป็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดดจากหน้าจอแสดงผลของโทรศัพท์มือถือฝาพับตระกูล 61xx รุ่นก่อนๆ อย่างเห็นได้ชัด นั่นคือ 6131 ใช้หน้าจอหลักขนาด 2.2 นิ้วแบบ TFT LCD ที่แสดงสีสันได้มากถึง 16 ล้านสี และความละเอียดระดับ QVGA นั่นคือมากถึง 320 x 240 Pixels จึงทำให้สามารถแสดงผลได้คมชัดสดใสขึ้นกว่ารุ่นก่อนหน้านี้อย่างเห็นได้ชัด รวมถึงหน้าจอแสดงผลขนาดเล็กขนาด 1.36 นิ้วที่ด้านนอกแบบ TFTLCD 262,144 สี ความละเอียด 128 x 160 Pixels ซึ่งก็มีความละเอียดและสีสันที่ดีกว่ารุ่นก่อนหน้านี้เช่นกัน แต่อย่างไรก็ดีหากนำไปเปรียบเทียบกับหน้าจอแสดงผลที่มีคุณสมบัติระดับเดียวกันของโทรศัพท์มือถือฝาพับค่าย Panasonic ก็ยังถือว่า 6131 เป็นรองอยู่เล็กน้อย สรุปแล้ว หน้าจอแสดงผลของ 6131 นั้นน่าจะทำให้ผู้ใช้ประทับใจในความคมชัดสวยงามได้อย่างแน่นอน

ปุ่มกด และการตอบสนอง


อย่างที่กล่าวไว้ในเนื้อหาข้างต้นแล้วคือปุ่มกดส่วนใหญ่ของ 6131 นั้นทำมาจากพลาสติกสีด้าน ส่วนปุ่มควบคุมการทำงานแบบ 5 ทิศทางนั้นมีความพิเศษมากว่าปุ่มอื่นๆ ตรงที่มีวงแหวน และปุ่มตกลงที่เป็นโครเมียมมันวาว ทำให้ดูสวยงามหรูหรามากขึ้น ซึ่งความรู้สึกเมื่อได้ลองกดปุ่มดูแล้วก็พบว่ามีความนุ่มนวลมากขึ้น หรือมีความแข็งกระด้างน้อยกว่ารุ่นก่อนหน้าอยู่พอสมควร ทั้งปุ่ม Softkeys ด้านซ้ายและขวา, ปุ่มรับสาย-โทรออก, ปุ่มวางสาย และปุ่มควบคุมการทำงานแบบ 5 ทิศทาง รวมถึงลักษณะหน้าสัมผัสของปุ่มกดแต่ละปุ่มที่ค่อนข้างกว้าง จึงทำให้สามารถกดใช้งานได้คล่องมือเป็นอย่างดี ส่วนความรวดเร็วในการประมวลผลนั้น ในการใช้งานฟังก์ชันทั่วไปก็ถือว่ารวดเร็วทันใจดี แต่ถ้าหากเป็นฟังก์ชันที่ต้องการๆ ประมวลผลมากเป็นพิเศษ เช่นการถ่ายรูปภาพขนาดใหญ่ หรือการเปิดดูรูปภาพขนาดใหญ่ ก็คงจะต้องอาศัยระยะเวลาในการรอคอยมากกว่าปกติ


ปุ่มกดตัวเลข หรือตัวอักษร แต่ละปุ่มถูกวางแยกออกจากกันอย่างชัดเจน และแต่ละปุ่มก็มีหน้าสัมผัสที่ค่อนข้างกว้าง ดังนั้นการกดใช้งานจึงค่อนข้างง่าย รวดเร็ว และคล่องตัวเป็นอย่างดี ซึ่งสำหรับเครื่องศูนย์ที่วางจำหน่ายในประเทศไทย ปุ่มกดจะมีตัวอักษรภาษาไทยกำกับเอาไว้ให้ด้วย สรุปแล้วประสิทธิภาพในการใช้งานปุ่มกดที่อยู่ด้านในฝาพับของ 6131 นั้นถือว่าค่อนข้างน่าประทับใจ แต่สำหรับปุ่มกดที่อยู่ด้านข้างตัวเครื่อง ไม่ว่าจะเป็น ปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง, ปุ่มกล้องดิจิตอล และปุ่มเพิ่ม-ลดระดับเสียง ยังถือว่ากดใช้งานได้ค่อนข้างยากสักหน่อย โดยเฉพาะผู้ใช้ที่มีนิ้วมือใหญ่ เนื่องจากลักษณะของปุ่มกดค่อนข้างเรียวเล็ก และค่อนข้างอยู่ในระนาบเดียวกันกับตัวเครื่องนั่นเอง


สำหรับ 6131 นั้นไม่มีเซนเซอร์วิเคราะห์แสงเหมือนกับโทรศัพท์มือถือค่ายเดียวกันอีกหลายๆ รุ่น ดังนั้นเมื่อมีการกดปุ่มใช้งาน ก็จะมีแสง Backlight สีฟ้าของแผงปุ่มกดสว่างอยู่ตลอดเวลา จึงอาจจะทำให้สิ้นเปลืองพลังงานมากกว่าบ้าง แต่ก็คงจะไม่มากจนเกินไปนัก และสำหรับความชัดเจนของแสง Backlight นั้นถือว่าชัดเจนเป็นอย่างดี ตัวอักษรหรือตัวเลขคมชัด ไม่มีปัญหาสำหรับการมองเห็นในที่มืดอย่างแน่นอน

เมนูและฟังก์ชันการทำงาน

สำหรับ Nokia 6131 นั้นมีรูปแบบของการแสดงผลเมนูต่างๆ หรือ User Interface แบบ Series 40 UI ซึ่งคงเป็นที่คุ้นเคยกันดีสำหรับผู้ใช้หลายๆ คนที่เคยใช้โทรศัพท์มือถือยี่ห้อ Nokia เพราะ User Interface แบบ Series 40 UI ก็เคยถูกนำมาใช้กับโทรศัพท์มือถือของ Nokia อีกหลายต่อหลายรุ่นก่อนหน้านี้อยู่แล้ว


การเข้าใช้งานเมนูพื้นฐานจากหน้าจอ Standby เริ่มตั้งแต่ การกดปุ่มที่ด้านข้างของตัวเครื่องเพื่อการ เพิ่ม-ลดระดับเสียง, เข้าใช้งานฟังก์ชันกล้องดิจิตอล และเลือก Profiles ส่วนปุ่ม Softkeys ทางด้านซ้ายและด้านขวาก็จะเป็นการเข้าเมนูไปที่ และเมนู Bluetooth ตามลำดับ



ในหน้าเมนูหลัก ผู้ใช้สามารถเลือกการแสดงผลเมนูได้หลายรูปแบบตามต้องการ ตั้งแต่แบบรายการ, แบบตาราง, แบบตารางในป้ายกำกับ และแบบแท็บ ซึ่งการใช้งานก็จะสะดวกแตกต่างกันออกไป และหากผู้ใช้ต้องการที่จะย้ายตำแหน่งของเมนูใดเมนูหนึ่งก็สามารถทำได้เช่นกัน

เมนูข้อความ

เมนูข้อความ คือเมนูที่รวบรวมฟังก์ชันการทำงาน และการจัดการเกี่ยวกับข้อความเอาไว้ โดยมีหมวดหลักให้ผู้ใช้เลือกใช้อยู่ดังนี้คือ สร้างข้อความ, ถาดเข้า, ฉบับร่าง, ถาดออก, รายการที่ส่ง, รายการที่จัดเก็บ, รายงานการส่ง, อีเมล, สนทนา, ข้อความเสียง, ข้อความข้อมูล, คำสั่งขอใช้บริการ, ลบข้อความ และการตั้งค่าข้อความ


การสร้างข้อความ สามารถสร้างได้ 4 รูปแบบคือ ข้อความตัวอักษร, ข้อความัลติมีเดีย, ข้อความด่วน และข้อความคลิปเสียง




การสร้างข้อความตัวอักษรถือว่าเป็นรูปแบบของข้อความที่ได้รับความนิยมสูงสุด โดยฟังก์ชันต่างๆ สำหรับการสร้างข้อความที่มีอยู่ใน 6131 นั้นก็มีลักษณะที่คล้ายกันกับโทรศัพท์มือถือ Series 40 UI ของ Nokia หลายๆ รุ่นก่อนหน้านี้ ซึ่งฟังก์ชันพื้นฐานที่มีก็มีอยู่ครบถ้วน เช่น การส่ง, แสดงตัวอย่าง, ลบช่องข้อมูล, ใส่ชื่อ, ใส่เบอร์, ใส่รอยยิ้ม, วาง, การเลือกภาษาที่เขียน, ใช้ตัวสะกดคำ, ใช้แม่แบบข้อความ, เปลี่ยนประเภทข้อความ, การจัดเก็บเป็นแม่แบบ หรือการตั้งค่าการส่ง เป็นต้น


ข้อความมัลติมีเดีย หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าข้อความแบบ MMS ก็มีฟังก์ชันพื้นฐานหลายอย่างที่คล้ายกันกับที่มีอยู่ในการสร้างข้อความตัวอักษร รวมถึงมีฟังก์ชันพิเศษสำหรับการสร้างข้อความมัลติมีเดียโดยเฉพาะ ซึ่งตัวอย่างฟังก์ชันพื้นฐานสำหรับการสร้าางข้อความมัลติมีเดียก็เช่น การส่ง, แสดงตัวอย่าง, ใส่ตัวอักษร, ใส่ภาพ, ใส่วีดีโอคลิป, ใส่เสียง, ใส่นามบัตร, ใส่บันทึกปฏิทิน, ใส่ภาพนิ่ง, ลบออก, ใช้แม่แบบข้อความ, ย้ายสไลด์, การจับเวลาภาพนิ่ง, เปลี่ยนประเภทข้อความ, จัดเก็บข้อความ, จัดเก็บเป็นแม่แบบ, จบการเขียน, ไปที่ฟิลด์บนสุด หรือไปที่ฟิลด์ล่างสุด เป็นต้น


นอกจากผู้ใช้จะสามารถสร้างข้อความตัวอักษร และข้อความมัลติมีเดียได้แล้ว ก็ยังสามารถสร้างข้อความได้อีก 2 รูปแบบคือ ข้อความด่วน และข้อความคลิปเสียง โดยสำหรับข้อความด่วนนั้นก็จะมีฟังก์ชันการทำงานที่คล้ายกันกับการสร้างข้อความตัวอักษร เพียงแต่จะสามารถพิมพ์ข้อความได้สั้นกว่า ส่วนข้อความคลิปเสียงก็จะเป็นลักษณะของการบันทึกเสียงแล้วส่งไปยังผู้รับ





เมนูย่อยในเมนูข้อความ นอกจากเมนูสร้างข้อความ ก็จะมีอีกหลายเมนู เช่น ถาดเข้าซึ่งเอาไว้สำหรับเก็บบันทึกข้อความที่ได้รับ, ฉบับร่างซึ่งเก็บบันทึกข้อความที่ยังสร้างไม่เสร็จ, ถาดออกซึ่งเก็บบันทึกข้อความที่ยังส่งไม่สำเร็จ, รายการที่ส่งซึ่งเก็บข้อความที่ส่งไปเรียบร้อยแล้ว, รายงานการส่งซึ่งเก็บรายการสถานะต่างๆ ของการรับ-ส่งข้อความ, อีเมล, สนทนา, ข้อความเสียง, ข้อความข้อมูล, คำสั่งขอใช้บริการ หรือการลบข้อความ เป็นต้น


ในการลบข้อความ ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะลบทีละข้อความ, ลบทั้งโฟลเดอร์ หรือลบทั้งหมดในคราวเดียว


ผู้ใช้สามารถปรับตั้งค่าสำหรับการใช้งานเกี่ยวกับข้อความได้หลายอย่าง เช่น การตั้งค่าทั่วไป, ข้อความตัวอักษร, ข้อความมัลติมีเดีย, ข้อความอีเมล, จัดเก็บข้อความที่ส่ง, แทนที่ในรายการที่ส่ง, ขนาดอักษร, รอยยิ้มแบบกราฟิก, รายงานผลการส่ง, ศูนย์ข้อความ, ศูนย์อีเมล, ระยะเวลาของข้อความ หรือรูปแบบของการส่งข้อความ เป็นต้น

เมนูรายชื่อ

เมนูรายชื่อ คือเมนูที่รวบรวมฟังก์ชัน หรือการจัดการเกี่ยวกับข้อมูลรายชื่อผู้ติดต่อเอาไว้ เช่น การค้นหารายชื่อ, การแสดงสถานะของผู้ใช้, การสร้างหรือแก้ไขรายชื่อ, การตั้งค่าใช้งาน, การจัดการกลุ่มผู้โทร, การโทรด่วน, การซิงโครไนส์, การลบรายชื่อ, การย้าย หรือคัดลอกรายชื่อ เป็นต้น


การค้นหารายชื่อที่ต้องการข้อมูล อย่างง่ายที่สุดก็คือการไล่ดูเรียงตามรายการลงมาเรื่อยๆ แต่หากมีรายชื่อเยอะมาก ก็จะเสียเวลามาก แต่ผู้ใช้ก็สามารถค้นหารายชื่อจากตัวอักษรได้ ซึ่งก็น่าจะช่วยให้ค้นหารายชื่อที่ต้องการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น


การสร้างรายชื่อหรือผู้ติดต่อรายการใหม่ ก็มีลักษณะที่คล้ายกันกับโทรศัพท์มือถือ Series 40 ค่าย Nokia อีกหลายๆ รุ่น ซึ่งผู้ใช้สามารถใส่รายละเอียดปลีกย่อยของผู้ติดต่อได้หลายอย่าง ตั้งแต่ ชื่อ, นามสกุล, เบอร์โทร, เบอร์บ้าน, ที่อยู่สนทนา, ที่อยู่อีเมล, โทนเสียง, ที่อยู่เว็บ, บริษัท, ตำแหน่ง, ชื่อทางการ, ชื่อเล่น, ที่อยู่ไปรษณีย์, ID ผู้ใช้, วันเกิด, บันทึก และภาพ


หากผู้ใช้ต้องการที่จะแยกกลุ่มของผู้ติดต่อออกจากกันเพื่อความสะดวกในการค้นหาหรือจัดการ ก็สามารถสร้างกลุ่มของผู้ติดต่อขึ้นมาใหม่ได้เอง


สำหรับ Nokia 6131 นี้นอกจากจะสามารถแสดงรูปภาพขณะที่มีสายเรียกเข้า (Picture Caller ID) แบบเต็มหน้าจอได้แล้ว ยังสามารถแสดงภาพวีดีโอขณะที่มีสายเรียกเข้า (Video Caller ID) ได้ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นความสามารถที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของ Nokia 6131


ผู้ใช้สามารถเรียกดูสถานะส่วนตัว และสถานะส่วนรวมได้ รวมถึงสามารถแก้ไขหรือตั้งค่าสถานะของผู้ใช้ได้



การตั้งค่าสำหรับการใช้งานของเมนูรายชื่อ ก็มีอยู่หลายส่วน เช่น การเลือกหน่วยความจำที่ใช้บันทึก, รูปแบบการแสดงกลุ่มรายชื่อ, รูปแบบของการแสดงชื่อ, ขนาดของตัวอักษร หรือการแสดงสถานะของหน่วยความจำ เป็นต้น


การกำหนดหมายเลขโทรด่วน สามารถทำได้ทั้งหมด 8 หมายเลข นั่นคือตั้งแต่ปุ่มกดหมายเลข 2 ถึง 9 นั่นเอง


หากผู้ใช้ต้องการที่จะลบรายชื่อจากหน่วยความจำเครื่อง หรือซิมการ์ด ก็สามารถทำได้โดยง่าย รวมถึงการคัดลอดรายชื่อจากเครื่องไปที่ซิมการ์ด หรือจากซิมการ์ดไปที่เครื่อง ก็มีฟังก์ชันรองรับการใช้งานส่วนนี้ไว้ให้เช่นกัน

เมนูบันทึก

เมนูบันทึก คือเมนูที่รวมรวมฟังก์ชัน, เก็บข้อมูล หรือการจัดการ เกี่ยวกับประวัติการโทร หรือการเชื่อมต่อข้อมูลเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น บันทึกการโทร, เบอร์ที่ไม่ได้รับสาย, เบอร์ที่โทรออก, ผู้รับข้อความ, ลบรายการบันทึก, เวลาการโทร, ตัวนับข้อมูลแพคเก็ต, ตัวจับเวลาแพคเก็ต, บันทึกข้อความ และตำแหน่ง



นอกจากที่ผู้ใช้จะสามารถเรียกดูรายการที่บันทึกไว้แยกแต่ละประเภท เช่น เบอร์ที่ไม่ได้รับสาย, เบอร์ที่ได้รับสาย หรือ เบอร์ที่โทรออก ได้แล้ว ยังสามารถดูหน้ารวมของทุกประเภทได้ด้วย และแต่ละรายการที่บันทึกก็สามารถเรียกดูรายละเอียดได้ เช่นเวลาที่โทร หรือระยะเวลาที่ใช้ เป็นต้น


นอกจากผู้ใช้จะสามารถดูรายการประวัติของการโทรแต่ละประเภทได้แล้ว ยังสามารถดูเวลารวมที่ใช้ไปในแต่ละประเภทได้ด้วย เช่นเวลาที่ใช้ล่าสุด, เวลาที่โทรเข้า, เวลาที่โทรออก, เวลาการโทรรวม รวมถึงดูประมาณข้อมูลที่ใช้ ทั้งข้อมูลที่ส่งล่าสุด, ข้อมูลที่รับล่าสุด, ข้อมูลที่ส่งทั้งหมด, ข้อมูลที่รับทั้งหมด และสามารถดูบันทึกเกี่ยวกับข้อความได้ด้วย ทั้งข้อความตัวอักษรที่ส่ง, ข้อความมัลติมีเดียที่ส่ง, ข้อความตัวอักษรที่ได้รับ, ข้อความ MMS ที่ได้รับ


หากผู้ใช้ต้องการที่ลบบันทึกประวัติการโทร, ลบเวลา, ลบประวัติการใช้ข้อมูล หรือต้องการตั้งตัวนับใหม่ ก็สามารถทำได้ โดยก่อนที่จะลบได้นั้น ผู้ใช้ต้องทำการใส่รหัสผ่านให้ถูกต้องเสียก่อน ซึ่งตามปกติแล้วหากผู้ใช้ไม่ได้ไปตั้งรหัสผ่านใหม่ ก็ให้ใช้รหัสผ่านปกติคือ 12345

เมนูการตั้งค่า

เมนูการตั้งค่า คือเมนูที่รวมรวมเมนูย่อยสำหรับการตั้งค่าพื้นฐานของการใช้งานเครื่องในส่วนต่างๆ เอาไว้ ได้แก่ รูปแบบ, ลักษณะ, แบบเสียง, จอแสดงผลหลัก, จอเล็ก, วันและเวลา, ทางลัดส่วนตัว, การเชื่อมต่อ, โทรออก, โทรศัพท์, อุปกรณ์เพิ่มพิเศษ, การตั้งกำหนดค่า, ความปลอดภัย และการเรียกคืนค่าดั้งเดิม



การตั้งค่ารูปแบบ หรือ Profiles ก็มีลักษณะที่คล้ายหรือเหมือนกันกับโทรศัพท์มือถือ Series 40 รุ่นอื่นๆ โดยสามารถปรับแต่งค่าได้ตั้งแต่ เสียงเตือนโทรเข้า, เสียงเรียกเข้า, ระดับเสียงกริ่ง, วิดีโอของสายเข้า, เอฟเฟ็กต์แสง, การสั่นเตือน, ตัวเลือกเสียงสนทนา, เสียงแจ้งสนทนา, เสียงสนทนาโทรกลับ, เสียงข้อความเข้า, เสียงเตือนสนทนา, เสียงปุ่มกด, แบบเสียงอื่น, เสียงแอปพลิเคชัน และเตือนสำหรับ


ผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบหรือกราฟฟิกของการแสดงผลเพื่อไม่ให้เกิดความเบื่อหน่ายกับการแสดงผลแบบเดิมๆ ได้ด้วย Themes ซึ่งใน 6131 นี้มี Themes มาให้เลือกใช้อยู่ 5 รูปแบบคือ Nokia, Billiard, Blue Guitar, Snake และ Soccer ดังภาพ


นอกจากการตั้งค่าเกี่ยวกับเสียงในแต่ละ Profiles ได้แล้ว ผู้ใช้ยังสามารถเลือกตั้งค่าแบบเสียงจากเมนูการตั้งค่าแบบเสียงได้ด้วย



การตั้งค่าสำหรับจอแสดงผลหลัก มีตั้งแต่การตั้งค่าโหมดสแตนด์บาย, ภาพพักหน้าจอ, การประหยัดพลังงาน, ขนาดของตัวอักษร, ภาพพื้นหลัง, ภาพเคลื่อนไหวฝาพับ, สีแบบอักษรสแตนด์บาย, ไอคอนปุ่มสำรวจ และเวลาปิดไฟพื้นหลัง 


นอกจากที่ผู้ใช้จะสามารถตั้งค่าใช้งานสำหรับหน้าจอแสดงผลหลักได้แล้ว ยังสามารถตั้งค่าการใช้งานสำหรับจอเล็กที่ด้านนอกได้ด้วย โดยการตั้งค่าที่สามารถทำได้ก็คือ ภาพพื้นหลัง, ภาพพักหน้าจอ, ประหยัดพลังงาน, ภาพเคลื่อนไหวฝาพับ และเวลาปิดไฟพื้นหลัง



การตั้งค่าวันและเวลา ก็เป็นการตั้งค่าที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง เนื่องจากค่าวันและเวลามักจะถูกนำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในฟังก์ชันหรือโปรแกรมต่างๆ มากมาย โดยการตั้งค่าที่ผู้ใช้สามารถทำได้คือ ตั้งเวลา, ตั้งวันที่, เลือกรับข้อมูลวันเวลาอัตโนมัติ, ประเภทนาฬิกา, เขตเวลา, รูปแบบเวลา และรูปแบบของการแสดงวันที่


การตั้งค่าเกี่ยวกับทางลัด ก็จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงเมนูหรือฟังก์ชันการทำงานต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น โดยทางลัดที่สามารถกำหนดได้ก็มีตั้งแต่ ปุ่ม Softkeys ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา, แถบปุ่มลัด และปุ่มสำรวจ ซึ่งผู้ใช้สามารถกำหนดได้เองทั้งหมดว่าจะให้เมนูหรือฟังก์ชันใดบ้างมาอยู่ในทางลัด


การสั่งงานด้วยเสียงก็นับเป็นอีกฟังก์ชันหนึ่งที่มักจะมีอยู่ในโทรศัพท์มือถือ Nokia รุ่นใหม่หลายๆ รุ่น ซึ่งการสั่งงานด้วยเสียงก็คือการที่ผู้ใช้ออกเสียงพูดของตัวเองเพื่อสั่งให้เครื่องประมวลผลฟังก์ชัน, เข้าใช้งานเมนู หรือโปรแกรมตามที่กำหนดไว้




การเชื่อมต่อข้อมูลของ 6131 ที่มีมาให้ถือว่าค่อนข้างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น Bluetooth, Infrared, EDGE/GPRS, การถ่ายโอนข้อมูล หรือสาย USB Data Cable ซึ่งการตั้งค่าใช้งานของการเชื่อมต่อแต่ละแบบก็ไม่ยุ่งยากซับ ทั้งผู้มือเก่าและผู้ใช้มือใหม่


การตั้งค่าสำหรับการโทรออก ประกอบไปด้วย การโอนสาย, รับได้ทุกปุ่ม, รับสายโดยการเปิดฝา, เรียกซ้ำอัตโนมัติ, โทรด่วน, สายเรียกซ้อน, ข้อมูลการโทร, ส่งข้อมูลผู้โทร


การตั้งค่าเครื่อง หรือตั้งค่าโทรศัพ์ จะประกอบไปด้วย การตั้งค่าภาษา, ป้องกันปุ่มกด, ข้อความต้อนรับ, อัพเดตโทรศัพท์, เลือกผู้ให้บริการ, ยืนยันบริการซิม, ตัวช่วยแนะนำเมนู และเสียงเปิดเครื่อง


การตั้งค่าอุปกรณ์เพิ่มพิเศษ จะประกอบไปด้วยการตั้งค่าชุดหูฟัง, โทรข้อความ, เครื่องชาร์จ และเครื่องช่วยฟัง


การตั้งกำหนดค่า จะประกอบไปด้วย การตั้งกำหนดค่าที่ตั้งไว้, ใช้ค่าที่ตั้งไว้ในทุกแอปพลิเคชัน, จุดเชื่อมต่อที่ต้องการ, ต่อเว็บสนับสนุนผู้ให้บริการ, การตั้งค่าตัวจัดการอุปกรณ์ และการตั้งค่าส่วนบุคคล



การตั้งค่าความปลอดภัย หรือการตั้งค่าป้องกัน จะประกอบไปด้วย ถามรหัส PIN, การจำกัดการโทร, จำกัดเบอร์, เฉพาะกลุ่ม, ระดับการป้องกัน, รหัสผ่าน, รหัสที่ใช้, ใบรับรองสิทธิ์, ใบรับรองผู้ใช้ และการตั้งค่าการป้องกัน

เมนูคลังภาพ

เมนูคลังภาพ คือเมนูที่รวบรวมฟังก์ชันสำหรับการเปิดดู หรือการจัดการกับไฟล์บันเทิง หรือไฟล์มัลติมีเดียประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ไฟล์รูปถ่าย, ไฟล์วีดีโอคลิป, ไฟล์เพลง, ไฟล์ลักษณะ, ไฟล์กราฟิก, ไฟล์โทนเสียง, ไฟล์เสียงบันทึก และไฟล์ที่ได้รับ


ในการเปิดดูไฟล์ หรือโฟลเดอร์ต่างๆ ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนมุมมองได้ตามความถนัด และยังสามารถตรวจสอบพื้นที่ของหน่วยความจำที่ว่างหรือที่ใช้ไปได้อีกด้วย 



นอกจากผู้ใช้จะสามารถเปิดดูรูปถ่าย หรือรูปภาพ ได้ตามปกติแล้ว ยังมีทางเลือกในการจัดการกับรูปภาพได้อีกหลายอย่าง เช่น การดูรูปภาพแบบเต็มจอ, การลบรูปภาพ, การส่งรูปภาพ, การย้ายรูปภาพ, การเปลี่ยนชื่อรูปภาพ, การขยายรูปภาพ, การตั้งความคมชัดของรูปภาพ หรือการแก้ไขรูปภาพ เช่นใส่ข้อความ, ใส่เฟรม, ใส่ภาพตัดปะ, ใส่ภาพ หรือตัดภาพ เป็นต้น และผู้ใช้ยังสามารถกำหนดให้ใช้รูปภาพเป็นภาพพื้นหลัง, ภาพพักหน้าจอ, ภาพรายชื่อ หรือภาพประจำกลุ่มรายชื่อ ได้ด้วย


การเปิดดูไฟล์วีดีโอสามารถเลือกเปิดดูแบบปกติ หรือแบบเต็มจอก็ได้ นอกจากนั้นก็ยังสามารถจัดการกับไฟล์วีดีโอได้อีกหลายอย่าง เช่น ลบ, ส่ง, ย้าย, เปลี่ยนชื่อ, ปิดเสียง, ตั้งความคมชัด หรือการใช้งานไฟล์วีดีโอเป็นภาพพักหน้าจอ, วีดีโอสายเข้า หรือวีดีโอรายชื่อ ก็สามารถทำได้เช่นกัน



ไฟล์กราฟฟิกประเภทอื่นๆ ที่มีอยู่เครื่อง นอกจากไฟล์รูปภาพหรือรูปถ่าย และไฟล์วีดีโอแล้ว ก็ยังมีไฟล์ประเภทพิเศษปลีกย่อยอีกหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น ไฟล์ธีม, ไฟล์ภาพพื้นหลัง, ไฟล์ภาพพักจอ, ไฟล์ภาพตัดปะ, ไฟล์กรอบรูป และไฟล์โลโก้นำเสนอ


เมื่อเข้าไปในโฟลเดอร์ของโทนเสียง จะมีการแบ่งเป็นโฟลเดอร์ย่อย 2 โฟลเดอร์คือ เสียงเรียกเข้า และเสียงเตือน โดยจำนวนของเสียงเรียกเข้า หรือเสียงเตือนที่มีมาให้แต่เดิมในเครื่อง ก็มีอยู่เยอะพอสมควร และเสียงเหล่านี้ก็สามารถนำมาใช้เพื่อเป็น แบบเสียง, เสียงเตือนข้อความ, เสียงเตือนสนทนา, เสียงแจ้ง, เสียงโทรกลับ, เสียงปลุก หรือเสียงปฏิทินได้


ในโฟลเดอร์ไฟล์ที่ได้รับ คือโฟลเดอร์ที่เก็บไฟล์ที่ผู้ใช้โหลดเข้ามาไว้ในหน่วยความจำในภายหลังด้วยตนเอง เช่นไฟล์เพลงต่างๆ เป็นต้น ซึ่งหากเป็นไฟล์เพลง ก็สามารถนำมาใช้งานเป็น แบบเสียง, เสียงเตือนข้อความ, เสียงเตือนสนทนา, เสียงแจ้ง, เสียงโทรกลับ, เสียงปลุก หรือเสียงปฏิทินได้ เช่นเดียวกันกับไฟล์เสียงที่มีอยู่ในโฟลเดอร์เสียงเรียกเข้า หรือเสียงเตือน นั่นเอง

เมนูสื่อ

เมนูสื่อ คือเมนูที่รวบรวมโปรแกรม หรือฟังก์ชันการทำงานเกี่ยวกับความบันเทิง หรือมัลติมีเดีย เอาไว้ ได้แก่ กล้อง, วีดีโอ, เครื่องเล่นสื่อ, เครื่องเล่นเพลง, วิทยุ, เครื่องบันทึก, อีควอไลเซอร์ และขยายเสียงสเตอริโอ



หน้าจอแสดงผลขณะที่ใช้งานกล้องดิจิตอล ก็จะประกอบไปด้วยไอคอนแสดงสถานะการทำงาน หรือการปรับตั้งค่าต่างๆ ของการใช้งานกล้องดิจิตอล เช่น โหมดการใช้งานกล้องดิจิตอล (ภาพนิ่ง หรือวีดีโอ), จำนวนรูปภาพทั้งหมดที่สามารถถ่ายได้, ระดับการซูมขยาย, ความละเอียดของรูปภาพ, ตัวตั้งเวลา หรือการถ่ายภาพต่อเนื่อง เป็นต้น


เอฟเฟ็กต์ที่มีมาให้ผู้ใช้เลือกใช้ นอกจากการถ่ายภาพแบบปกติ ก็คือ สีลวงตา, เฉดสีเทา, ซีเปีย, เนกาทีฟ และโซลาไรส์


คุณภาพของการถ่ายภาพนิ่งสามารถเลือกได้ 3 ระดับคือ ระดับสูง, ระดับปกติ และระดับธรรมดา ส่วนความละเอียดของรูปภาพนั้นสามารถเลือกได้ 6 ระดับ คือ 1024 x 1280, 960 x 1280, 600 x 800, 480 x 640, 240 x 320 และ 120 x 160 Pixels ซึ่งก็ถือว่าหลากหลายพอสมควร


สำหรับภาพวีดีโอ ก็สามารถเลือกระดับของคุณภาพได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นระดับสูง, ระดับปกติ หรือระดับธรรมดา ส่วนความละเอียดของภาพวีดีโอนั้นสามารถเลือกได้ 2 ระดับคือ 176 x 144 Pixels (QCIF) และ 128 x 96 Pixels (subQCIF)


การตั้งค่าเพิ่มเติมอื่นๆ ในการถ่ายภาพนิ่ง หรือภาพวีดีโอก็มีอีกบ้างพอสมควร เช่น เวลาในการแสดงภาพตัวอย่าง ซึ่งเลือกได้ตั้งแต่ ไม่แสดงตัวอย่าง, 3 วินาที, 5 วินาที, 10 วินาที หรือจบการดูตัวอย่างด้วยตนเอง และนอกจากนั้นยังมีการเลือกเปิด-ปิดเสียงกล้อง, การเลือกชื่อไฟล์ที่บันทึก และการเลือกประเภทของหน่วยความจำที่ต้องการเก็บบันทึกไฟล์ ซึ่งเลือกได้ทั้งหน่วยความจำภายในเครื่อง และการ์ดหน่วยความจำ


หน้าจอแสดงผลขณะใช้งานถ่ายภาพวีดีโอ ก็จะมีการแสดงสถานะหลายอย่างที่คล้ายกันกับการถ่ายภาพนิ่ง เช่น โหมดการใช้งานกล้องดิจิตอล (ภาพนิ่ง หรือวีดีโอ), ระยะเวลาที่เหลืออยู่ที่สามารถถ่ายได้, ระดับการซูมขยาย หรือความละเอียดของวีดีโอ เป็นต้น  


โปรแกรมเครื่องเล่นสื่อมักจะใช้เพื่อการเล่นไฟล์เพลง หรือไฟล์วีดีโอ ซึ่งการแสดงผลจะเป็นแบบที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน รวมถึงใช้สำหรับการดาวน์โหลดไฟล์มัลติมีเดียต่างๆ ผ่านทางระบบเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ, เสียงกริ่ง หรือวีดีโอ



นอกจากจะเปิดฟังไฟล์เพลงผ่านทางคลังภาพ หรือเครื่องเล่นสื่อได้ตามปกติแล้ว ในการเล่นไฟล์เพลงผู้ใช้ยังสามารถใช้โปรแกรมเครื่องเล่นเพลงโดยเฉพาะได้ ซึ่งก็จะมีฟังก์ชันการทำงานที่หลากหลายมากขึ้น เช่น รายการชื่อเพลง, การปรับแทรค, การแก้รายการชื่อเพลง, การสุ่มเพลง, การเล่นซ้ำ รวมถึงการปรับรูปแบบของเสียงเพลงด้วยอีควอไลเซอร์ ซึ่งมีมาให้ 7 รูปแบบคือ ปกติ, ป็อป, ร็อค, แจ๊ส, คลาสสิค, ชุด 1 และ ชุด 2 โดยที่อีควอไลเซอร์ชุด 1 และ ชุด 2 นั้นผู้ใช้สามารถปรับแต่งค่าด้วยตนเองได้ตามใจชอบ


ความสามารถที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งใน 6131 ก็คือวิทยุ FM ซึ่งหน้าตาหรือการแสดงผลก็มีลักษณะที่คล้ายหรือเหมือนกันกับโทรศัพท์มือถือ Series 40 รุ่นใหม่ๆ หรือรุ่นก่อนหน้านี้อีกหลายรุ่น รวมถึงฟังก์ชันใช้งานก็จะคล้ายกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเก็บบันทึกคลื่นสถานีวิทยุได้ 20 สถานี, การค้นหาคลื่นสัญญาณอัตโนมัติ, การเลือกฟังเสียงแบบสเตอริโอหรือโมโน, การเลือกฟังผ่านทางลำโพง Loudspeaker หรือการตั้งค่าความถี่ของสถานี และบันทึกด้วยตนเอง เป็นต้น ซึ่งการจะฟังวิทยุได้นั้น ก่อนอื่นก็ต้องต่อหูฟังให้เรียบร้อยเสียก่อนเช่นเดียวกันกับโทรศัพท์มือถือที่ฟังวิทยุได้รุ่นอื่นๆ เนื่องจากสายหูฟังจะใช้เป็นตัวรับสัญญาณวิทยุนั่นเอง



นอกจาก 6131 จะสามารถรับฟังวิทยุตามปกติได้แล้ว ยังสามารถรองรับการใช้งานระบบ Visual Radio ได้ด้วย ซึ่งในเบื้องต้นก็จะเป็นการค้นหารายชื่อของสถานีวิทยุตามภาค หรือจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทย แล้วเมื่อมีรายการสถานีวิทยุแสดงให้เห็น ผู้ใช้ก็สามารถเลือกเก็บบันทึกสถานีที่ต้องการไว้ในรายการสถานีของตนเองได้ ซึ่งก็สามารถรับข้อมูลเบื้องต้นของสถานีได้บางอย่างเช่น ชื่อสถานี หรือความถี่ โดยสามารถรับฟังผ่านทางคลื่นวิทยุได้ตามปกติ แต่บริการข้อมูลแบบ Visual Radio จริงๆ นั้น ผู้ใช้จะต้องมี ID ของบริการ Visual Radio เป็นของตนเองเสียก่อน


ในโปรแกรมบันทึกเสียงนั้นมีรูปแบบที่ดูเรียบง่ายไม่ซับซ้อน สามารถใช้งานได้ง่าย โดยในการบันทึกเสียงแต่ละครั้งนั้น ผู้ใช้สามารถบันทึกเสียงได้นานสูงสุดครั้งละ 5 นาที โดยไฟล์เสียงที่ได้นั้นจะเป็นแบบ .amr  และผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะให้เก็บบันทึกไฟล์ไว้ในหน่วยความจำภายในเครื่อง หรือเก็บบันทึกไฟล์ไว้ในการ์ดหน่วยความจำ


หากผู้ใช้ต้องการที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบของเสียงเพลงให้เหมาะสมตามสไตล์ของเพลงที่ฟังอยู่ ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ด้วยอีควอไลเซอร์ โดยในเครื่องจะมีให้เลือกใช้อยู่ 7 รูปแบบคือ ปกติ, ป็อป, ร็อค, แจ๊ส, คลาสสิค, ชุด 1 และ ชุด 2 โดยที่อีควอไลเซอร์ชุด 1 และ ชุด 2 นั้นผู้ใช้สามารถปรับแต่งค่าด้วยตนเองได้ตามใจชอบ รวมถึงจะตั้งชื่อใหม่ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน


ฟังก์ชันการขยายเสียงสเตอริโอ หากเข้าใจไม่ผิด คือการจำลองเสียงที่ออกมาทางลำโพง Loudspeaker ที่ปกติเป็นแบบโมโน ให้ฟังดูมิติมากขึ้นในแบบของเสียงสเตอริโอ ซึ่งจากการทดลองฟัง ก็แทบไม่พบความแตกต่างของมิติเสียงเลยก็ว่าได้

เมนูสนทนา


เมนูสนทนา คือเมนูที่มีฟังก์ชันสำหรับจัดการ หรือใช้งานการสนทนา Push-to-Talk นั่นเอง ซึ่งน่าเสียดายที่ระบบเครือข่ายในบ้านเราขณะนี้ยังไม่สามารถให้บริการระบบสนทนาแบบ Push-to-Talk ได้อย่างสมบูรณ์ แต่ต่อไปในอนาคตอันใกล้ ก็น่าจะสามารถใช้งานการสนทนาแบบนี้ได้

เมนูนัดหมาย

เมนูนัดหมาย คือเมนูที่รวบรวมโปรแกรม หรือฟังก์ชันใช้งาน สำหรับการจัดการ หรือช่วยอำนวยความสะดวกในภารกิจต่างๆ ที่มักจะเกิดขึ้นเป็นประจำในชีวิตประจำวันของผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็น นาฬิกาปลุก, ปฏิทิน, สิ่งที่ต้องทำ, บันทึก, เครื่องคิดเลข, ตัวนับถอยหลัง และนาฬิกาจับเวลา



ฟังก์ชันนาฬิกาปลุก เป็นฟังก์ชันพื้นฐานอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งโทรศัพท์มือถือแทบทุกรุ่นทุกยี่ห้อจะมีใส่มาให้ โดยนาฬิกาปลุกที่มีอยู่ใน 6131 นี้ก็จะมีลักษณะที่คล้ายกันกับโทรศัพท์มือถือ Series 40 ทั่วไป ประกอบไปด้วยฟังก์ชันการทำงานพื้นฐานเกี่ยวกับนาฬิกาปลุกหลายอย่าง เช่น การตั้งเวลาปลุก, การเตือนหรือปลุกซ้ำ, การตั้งเสียงปลุก และการกำหนดเวลาเลื่อน ซึ่งสามารถกำหนดเวลาเลื่อนได้หลายระดับ ตั้งแต่ 5, 10, 15, 30 หรือ 60 นาที อีกทั้งยังสามารถกำหนดเวลาเลื่อนได้เองอีกด้วย



โปรแกรมปฏิทิน สามารถเลือกให้แสดงผลแบบเดือน หรือแบบสัปดาห์ ได้ และผู้ใช้สามารถสร้างบันทึกได้ 5 รูปแบบ คือ นัดหมาย, โทร, วันเกิด, บันทึก และเตือนความจำ ซึ่งแต่ละรูปแบบก็จะมีลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสม นอกจากนั้นการใช้งานบันทึกที่มีอยู่เดิมซ้ำอีก ก็สามารถทำได้ ตั้งแต่ทุกวัน, ทุกสัปดาห์, ทุก 2 สัปดาห์, ทุกเดือน ไปจนถึงทุกปี 



การตั้งค่าเกี่ยวกับเวลา และวันที่ ก็สามารถทำได้จากโปรแกรมปฏิทินได้ ตั้งแต่การตั้งวันที่, ตั้งเวลา, กำหนดเขตเวลา, รูปแบบของวันที่, ตัวคั่นวันที่ และรูปแบบเวลา 


การตั้งค่ามุมมองของปฏิทิน มีให้เลือกอยู่ 2 แบบคือ มุมมองแบบเดือน และแบบอาทิตย์ ส่วนวันเริ่มสัปดาห์สามารถเลือกได้ 3 วันคือ วันเสาร์, วันอาทิตย์ และวันจันทร์ ส่วนการลบบันทึกปฏิทินสามารถเลือกได้ว่าจะให้ลบหลังจาก 1 วัน, 1 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน


โปรแกรมจดบันทึกมีลักษณะเหมือนกับแผ่นกระดาษเล็กๆ ซึ่งเอาไว้สำหรับจดข้อความบันทึกต่างๆ ที่ผู้ใช้ต้องการ ซึ่งฟังก์ชันสำหรับการพิมพ์ข้อความในโปรแกรมจดบันทึกก็จะคล้ายกับฟังก์ชันสำหรับการพิมพ์ข้อความตัวอักษรในเมนูข้อความ นั่นเอง


โปรแกรมเครื่องคิดเลขที่มีอยู่ใน 6131 นอกจากจะมีฟังก์ชันคำนวณพื้นฐานมาให้ใช้แล้ว ก็ยังมีฟังก์ชันการคำนวณระดับสูงทางคณิตศาสตร์บางอย่างมาให้เลือกใช้ด้วย นอกจากนั้นในโปรแกรมเครื่องคิดเลขนี้ก็ยังมีฟังก์ชันสำหรับการคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนให้ใช้งานอีกด้วย


การใช้งานฟังก์ชันนับเวลาถอยหลัง ก็ไม่ได้ยุ่งยากแต่อย่างใด ผู้ใช้เพียงแค่ตั้งเวลาเริ่มต้นที่ต้องการนับถอยหลังเอาไว้ แล้วกดตกลง เพื่อเริ่มนับเวลา


นอกจากจะมีนาฬิกาที่นับเวลาถอยหลังได้แล้ว ใน 6131 ยังมีนาฬิกาสำหรับจับเวลาให้ใช้งานด้วย ซึ่งในการจับเวลา สามารถจับเวลาแยกเป็นรายการได้หลายรายการ ซึ่งก็จะช่วยให้การจับเวลาในบางกรณีมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น เช่นการจับเวลาของนักวิ่งที่วิ่งแข่งกันหลายคนเป็นต้น

เมนูแอปพลิเคชั่น

เมนูแอปพลิเคชั่น คือเมนูที่รวบรวมแอปพลิเคชั่น โปรแกรม หรือเกมส์ ที่ได้ติดตั้งเพิ่มเติมเอาไว้ นอกเหนือจากโปรแกรมปกติทั่วไปภายในเครื่อง เช่นเกมส์ หรือโปรแกรมใช้งานพิเศษต่างๆ ที่เป็นจาวาแอปพลิเคชั่น เป็นต้น




เกมแรกที่มีติดตั้งมาให้ภายในเครื่องก็คือเกมส์ Snake III หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่าเกมงูนั่นเอง โดยเกม Snake III จะเป็นเกมงูในรูปแบบ 3 มิติ ซึ่งมีความสวยงามสดใสมากขึ้น โดยสามารถเลือกได้ว่าจะเล่นแบบ 1 คน หรือ 2 คน รวมถึงสามารถตั้งค่าสำหรับการเล่นได้ เช่น เพลง, สีของงู, กล้องเสมือน และภาพรวม และหากเป็นผู้ใช้ที่ยังไม่เคยเล่นเกมงูมาก่อนก็สามารถเปิดดูวิธีเล่นได้ด้วย สรุปแล้วเกม Snake III ก็เป็นเกมที่เล่นได้สนุกอีกเกมหนึ่ง ใช้เล่นในยามว่างหรือคลายเครียดได้เป็นอย่างดี



อีกเกมหนึ่งที่มีติดตั้งไว้ให้ก็คือเกม Soccer 3D ซึ่งเป็นเกมฟุตบอลที่แสดงผลแบบ 3 มิติ มีความสวยงามพอสมควร แต่การบังคับด้วยปุ่มของโทรศัพท์มือถืออาจจะยากหรือไม่ค่อยถนัดเท่าไหร่ ส่วนการตั้งค่าการเล่นที่สามารถตั้งได้ก็คือ ความดัง, การสั่น, ระดับความยาก, การควบคุม, มุมมองของกล้อง และเวลาในเกม สำหรับอีกเกมที่เห็นนอกจากเกมงูและเกมฟุตบอล คือเกม Sudoku แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถเข้าไปลองเล่นได้ จึงไม่ทราบว่ามีความสนุกสนานน่าเล่นเพียงใด


โปรแกรมแคตตาล็อก คือโปรแกรมที่มีไว้แสดงแคตตาล็อกที่เก็บรายการ หรือรายละเอียดของไฟล์ต่างๆ ที่ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดเพิ่มเติม เพื่อนำมาใช้งานในเครื่องได้ เช่น ไฟล์แฟลช, ไฟล์เพลง, ไฟล์วีดีโอริงโทน หรือไฟล์เสียงเรียกเข้าแบบโพลีโฟนิก เป็นต้น


นอกจากจะสามารถดูเวลาในประเทศตามปกติได้แล้ว ผู้ใช้ยังสามารถใช้โปรแกรมสำหรับเทียบเวลาตามเมือง หรือประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ด้วย ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกเมืองต่างๆ ที่ต้องการเทียบเวลาได้หลายเมืองตามต้องการ รวมถึงสามารถดูรายละเอียดของแต่ละเมืองได้ด้วย เช่น ชื่อเมือง, รหัสสนามบิน, ประเทศ, รหัสพื้นที่ หรือช่วงต่างของค่า GMT เป็นต้น


เช่นเดียวกันกับโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆ อีกหลายรุ่นจากค่ายโนเกีย คือจะมีการใส่ไฟล์แนะนำตัวเครื่อง หรือวิธีการใช้งานเบื้องต้นมาให้ด้วย 


อีกฟังก์ชันหนึ่งที่น่าสนใจของ 6131 ก็คือ การเชื่อมต่อแสดงผลผ่านทางเครื่องโปรเจคเตอร์ ซึ่งอาจจะนำไปประยุกต์ใช้เพื่อนำรูปภาพ หรือวีดีโอขึ้นฉายแสดงบนหน้าจอขนาดใหญ่ เป็นต้น


โปรแกรม Nokia Sensor ก็เป็นอีกโปรแกรมหนึ่งที่น่าสนใจ โดยเป็นโปรแกรมที่มีลักษณะของการแลกเปลี่ยนข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ผ่านการเชื่อมต่อทาง Bluetooth กับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือเครื่องอื่นๆ ที่มีโปรแกรมเดียวกันนี้ โดยข้อมูลดังกล่าวอาจจะเป็น รูปภาพ, ข้อความ หรือสื่ออื่นๆ ของเจ้าของเครื่อง สรุปแล้วประโยชน์ของโปรแกรม Nokia Sensor ก็น่าจะใช้เพื่อทำความรู้จักกับบุคคลที่พบปะเจอะเจอกัน หรืออาจจะใช้เพื่อดูว่าบุคคลที่กำลังสนใจอยู่นั้น มีข้อมูลส่วนตัวเป็นอย่างไร เป็นต้น

เมนูเว็บ

เมนูเว็บ คือเมนูที่เป็นโปรแกรม Browser สำหรับเปิดดูหน้าเว็บต่างๆ ซึ่งในที่นี้เป็น Browser แบบ XHTML โดยหมวดหลักภายในเมนูนี้ จะประกอบไปด้วย การเข้าเว็บโนเกีย, โฮมเพจ, บุ๊คมาร์ค, ที่อยู่เว็บล่าสุด, ถาดรับบริการ, การตั้งค่า, ไปที่ที่อยู่ และลบข้อมูลในแคช



การแสดงผลของหน้าเว็บแบบ XHTML นั้น แม้ว่าจะไม่มีความซับซ้อนหลากหลายเท่ากับ HTML ที่เปิดดูกันปกติในเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่ก็ถือว่ามีความเหมาะสมดีแล้วสำหรับการแสดงผลในหน้าจอเล็กๆ ของโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็นการจัดวาง, ตัวอักษร, ขนาดของหน้า, รายละเอียด, รูปภาพ หรือกราฟฟิกต่างๆ


เช่นเดียวกันกับ Browser ทั่วไป คือผู้ใช้สามารถจัดเก็บข้อมูลของเว็บ เช่น URL ไว้ในรายการของบุ๊คมาร์คได้ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเข้าถึงในภายหลัง



การตั้งค่าการใช้งานเบราเซอร์นั้นก็มีลักษณะคล้ายกันกับโทรศัพท์มือถือ Series 40 รุ่นใหม่ๆ อีกหลายรุ่น โดยสามารถตั้งค่าใช้งานได้หลายอย่าง เช่น รูปแบบการเชื่อมต่อ, ชื่อบัญชี, การแสดงหน้าต่างการติดต่อ, การตัดคำ, ขนาดตัวอักษร, การแสดงภาพ, การแจ้งเตือน, การเข้ารหัสตัวอักษร, ขนาดหน้าจอ, การตั้งค่าป้องกัน หรือ การตั้งค่า JavaScript เป็นต้น

คุณสมบัติเด่นที่น่าสนใจ

- หน้าจอแสดงผลแบบ TFT LCD 16 ล้านสี ความละเอียดระดับ QVGA : หน้าจอแสดงผลขนาด 2.2 นิ้วของ Nokia 6131 เป็นหน้าจอแบบ TFT LCD ที่แสดงผลสีได้มากถึง 16 ล้านสี และมีความละเอียดมากถึง 240 x 320 Pixels หรือระดับ QVGA ซึ่งถือว่าเป็นหน้าจอที่มีประสิทธิภาพในการแสดงผลค่อนข้างสูง มีความละเอียดคมชัดดูเนียนตา และมีสีสันที่สดใส ส่วนหน้าจอแสดงผลขนาดเล็กที่ด้านนอก แม้ว่าจะมีคุณสมบัติที่ไม่สูงเท่ากับหน้าจอแสดงผลด้านใน แต่หากเทียบกับหน้าจอแสดงผลด้านนอกของโทรศัพท์มือถือฝาพับรุ่นอื่นๆ ก็ถือว่า เป็นหน้าจอขนาดเล็กที่แสดงผลได้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นหน้าจอขนาด 1.36 นิ้วแบบ TFT LCD ที่แสดงผลสีได้ 65,536 สี และมีความละเอียด 128 x 160 Pixels ซึ่งทำให้แสดงผลได้ค่อนข้างละเอียดคมชัด และมีสีสันที่สดใส ต่างจากหน้าจอด้านนอกของโทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่ที่แสดงผลได้ค่อนข้างหยาบและสีสันจืดชืด สรุปแล้วทั้งหน้าจอหลักด้านใน และหน้าจอเล็กด้านนอก ของ 6131 นั้นจะไม่ทำให้ผู้ใช้ผิดหวังอย่างแน่นอน

- หน่วยความจำภายในขนาด 11 MB พร้อมรองรับการ์ดหน่วยความจำ microSD : หน่วยความจำภายในของ 6131 นั้น ตามข้อมูลทางเทคนิคแล้วจะประกอบไปด้วยหน่วยความจำ Flash ขนาด 32 MB และหน่วยความจำ RAM ขนาด 16 MB แต่หน่วยความจำที่เหลือสำหรับผู้ใช้จริงๆ นั้นจะมีอยู่ประมาณ 11 MB ซึ่งหน่วยความจำภายในขนาด 11 MB หากเป็นการเก็บข้อมูลประเภทที่ไม่ต้องใช้พื้นที่เก็บมากนัก เช่น รูปภาพขนาดเล็ก, เสียงเรียกเข้าแบบสั้น, รายชื่อ หรือโปรแกรมใช้งานขนาดเล็ก ก็น่าจะใช้งานได้อย่างเพียงพอหากมีการจัดการที่ดี แต่ด้วยความสามารถของ 6131 ที่ค่อนข้างหลากหลายในเรื่องความบันเทิง หรือมัลติมีเดีย เช่น การถ่ายรูปภาพ, ถ่ายวีดีโอ หรือดูหนังฟังเพลง ทำให้หน่วยความจำขนาด 11 MB ดูเล็กไปถนัดตา เนื่องจากการใช้งานฟังก์ชันเหล่านี้มักจะควบคู่ไปกับขนาดไฟล์ที่ค่อนข้างใหญ่ ดังนั้นในการใช้งานจริงๆ คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องหาการ์ดหน่วยความจำแบบ microSD มาใส่เพิ่มเติมในภายหลัง ซึ่งตามข้อมูล 6131 สามารถรองรับขนาดของ microSD ได้สูงสุดถึง 2 GB เลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ในชุดขายมาตรฐานไม่ได้แถมการ์ด microSD มาให้ด้วย

- กล้องดิจิตอลในตัว ความละเอียดระดับ 1.3 ล้าน Pixels : กล้องดิจิตอลของ Nokia 6131 นั้นมีความละเอียดสูงสุดอยู่ที่ 1.3 ล้าน Pixels หรือสามารถถ่ายภาพได้ที่ความละเอียดสูงสุด 1280 x 1024 Pixels ซึ่งคุณภาพของภาพถ่ายที่ได้มานั้น ถือว่าค่อนข้างดี เก็บรายละเอียดได้ดี มีสีสันที่ค่อนข้างสดใส ส่วนการถ่ายภาพวีดีโอนั้น สามารถถ่ายได้ความละเอียดสูงสุดที่ 176 x 144 Pixels หรือ QCIF ในความต่อเนื่องของภาพสูงสุดที่ 15 เฟรมต่อวินาที ซึ่งคุณภาพโดยรวมถือว่าอยู่ในระดับปกติปานกลาง ไม่ถึงกับดีหรือแย่ ทั้งในเรื่องของความละเอียด หรือสีสัน หากใช้เปิดดูในหน้าจอโทรศัพท์มือถือก็น่าจะพอใช้ได้ เนื่องจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือนั้นก็มีขนาดที่เล็กและไม่ต้องการความละเอียดที่มากอยู่แล้ว สำหรับคุณสมบัติโดยรวมของกล้องดิจิตอลใน 6131 จะมีดังต่อไปนี้

- กำหนดความละเอียดของภาพถ่ายได้ 6 ระดับ คือ 1024x1280, 960x1280, 600x800, 480x640, 240x320 และ 120x160 Pixels
- กำหนดคุณภาพของภาพถ่ายได้ 3 ระดับ (สูง, ปกติ, ธรรมดา)
- ซูมขยายภาพได้สูงสุด 8 เท่า (Digital Zoom)
- มีโหมดถ่ายภาพในที่มืด หรือถ่ายภาพเวลากลางคืน (Night Mode)
- สามารถตั้งเวลาถ่ายภาพล่วงหน้าได้ (Self Timer)
- สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องได้ (Multi Shot)
- สามารถใส่ Effects ให้กับการถ่ายภาพได้ (ปกติ, สีลวงตา, เฉดสีเทา, ซีเปีย, เนกาทีฟ และโซลาไรส์)
- กำหนดความละเอียดของภาพวีดีโอได้ 2 ระดับคือ 176x144 Pixels (QCIF) และ 128x96 Pixels (subQCIF)
- กำหนดคุณภาพของภาพวีดีโอได้ 3 ระดับ (สูง, ปกติ, ธรรมดา)
- กำหนดเวลาแสดงภาพตัวอย่างได้ (3, 5, 10 วินาที หรือ จบการดูภาพตัวอย่างด้วยตนเอง)
- เลือกเปิด-ปิดเสียงกล้อง
- ปุ่มกดสำหรับเข้าใช้งานฟังก์ชันกล้องดิจิตอลที่ด้านข้างของตัวเครื่อง

สำหรับตัวอย่างของภาพถ่ายในสถานการณ์ต่างๆ ที่ได้จาก 6131 สามารถชมได้จากภาพตัวอย่างที่ด้านล่างต่อไปนี้


ภาพถ่ายความละเอียด 1280 x 1024 Pixels : คุณภาพสูงสุด, โหมดปกติ, ไม่ซูม


ภาพถ่ายที่ผ่านการซูมขยายแบบ Digital Zoom 2 เท่า, 4 เท่า, 6 เท่า และ 8 เท่า ตามลำดับ


ภาพถ่ายความละเอียด 1280 x 1024 Pixels : โหมดปกติ และ โหมดกลางคืน ตามลำดับ


ภาพถ่ายความละเอียด 600 x 800 Pixels : ปกติ, สีลวงตา, เฉดสีเทา, ซีเปีย, เนกาทีฟ และโซลาไรส์ ตามลำดับ


ภาพวีดีโอความละเอียด 176 x 144 Pixels : คุณภาพสูงสุด, โหมดปกติ

- เชื่อมต่อข้อมูลผ่านทาง Bluetooth, Infrared Port และ USB : ช่องทางการเชื่อมต่อข้อมูลที่มีให้ใน Nokia 6131 นั้นมีมาให้อย่างครบถ้วน ทั้งการเชื่อมต่อข้อมูลแบบไร้สายผ่าน Bluetooth หรือ Infrared Port รวมถึงการเชื่อมต่อข้อมูลแบบใช้สายผ่าน USB Data Cable ซึ่งมีอินเทอร์เฟสการเชื่อมต่อแบบ Pop-Port ที่เป็นอินเทอร์เฟสมาตรฐานของโทรศัพท์มือถือยี่ห้อโนเกียนั่นเอง ซึ่งสำหรับการใช้ Bluetooth หรือ Infrared Port นั้นเป็นไปได้อย่างอิสระ ไม่ต้องมีการติดตั้งอะไรเพิ่มเติม แต่หากต้องการเชื่อมต่อข้อมูลผ่านสาย USB Data Cable ผู้ใช้คงจะต้องไปหาซื้อมาใช้งานเองในภายหลัง เนื่องจากในชุดขายมาตรฐานไม่ได้มีแถมมาให้ด้วย ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายไม่น้อยเลยทีเดียว

- เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านระบบ EDGE Class 10 หรือ GPRS Class 10 : การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านระบบเครือข่ายของ Nokia 6131 สามารถทำได้โดยผ่านโปรแกรมเบราเซอร์แบบ WAP 2.0 หรือ XHTML ซึ่งสามารถแสดงผลเนื้อหาและกราฟฟิกได้ดีในระดับหนึ่ง ซึ่งก็เหมาะสมดีสำหรับการเปิดดูผ่านทางหน้าจอของโทรศัพท์มือถือซึ่งก็มีขนาดเล็กอยู่แล้ว โดยการเชื่อมต่อสามารถรองรับได้ทั้งระบบ EDGE Class 10 และ GPRS Class 10 โดยข้อดีของการใช้งานระบบ EDGE ได้คือความเร็วที่มากกว่าระบบ GPRS มากพอสมควร แต่การใช้ระบบ EDGE นั้นสามารถใช้งานได้แค่บางพื้นที่เท่านั้น เช่นในกรุงเทพฯ รอบใน หากไม่สามารถใช้ระบบ EDGE ก็คงจะต้องหันมาพึ่งระบบ GPRS ซึ่งค่อนข้างช้ากว่ามาก

- รองรับการเล่นไฟล์เพลง, ไฟล์วีดีโอ และมีวิทยุ FM Stereo ในตัว : สำหรับความสามารถในการฟังเพลง หรือเปิดดูไฟล์วีดีโอของ 6131 นั้นก็สามารถรองรับรูปแบบไฟล์ได้ค่อนข้างครบถ้วน ทั้ง MP3, MP4, AAC, AAC+, eAAC+, WMA, H.263 และ H.264 ซึ่งสำหรับการฟังเพลงนั้นก็สามารถเปิดฟังได้โดยตรงผ่านทางคลังภาพ หรืออาจใช้โปรแกรมเครื่องเล่นเพลงโดยเฉพาะก็ได้ ซึ่งก็จะมีฟังก์ชันให้ใช้งานหลากหลายกว่านั่นเอง นอกจากนั้นผู้ใช้ยังสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบของเสียงเพลงได้ด้วยอีควอไลเซอร์ ซึ่งมีมาให้ 7 รูปแบบคือ ปกติ, ป็อป, ร็อค, แจ๊ส, คลาสสิค, ชุด 1 และ ชุด 2 โดยที่อีควอไลเซอร์ชุด 1 และ ชุด 2 นั้นผู้ใช้สามารถปรับแต่งค่าด้วยตนเองได้ตามใจชอบ สำหรับเรื่องความไพเราะหรือคุณภาพเสียงนั้น น่าเสียดายที่ไม่ได้รับหูฟังมาตรฐานแบบ Stereo รุ่น HS-23 มาทดสอบด้วย จึงไม่สามารถสรุปได้ แต่หากเป็นเสียงที่ออกมาทางลำโพง Loudspeaker แม้ว่าจะไม่ถึงกับประทับใจ แต่ก็ถือว่าพอใช้ได้ ในเรื่องความดัง และความชัดเจน ก็ถือว่าทำได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะเรื่องของความดัง ถือว่าดังมากพอสมควรเลยทีเดียว และนอกจาก 6131 จะสามารถฟังเพลงผ่านไฟล์เพลงได้แล้ว ก็ยังสามารถฟังวิทยุ FM Stereo ได้ด้วย ซึ่งมีฟังก์ชันการทำงานคล้ายกับโทรศัพท์มือถือ Series 40 อีกหลายรุ่น เช่น การเก็บบันทึกคลื่นสถานีวิทยุได้ 20 สถานี, การค้นหาคลื่นสัญญาณอัตโนมัติ, การเลือกฟังเสียงแบบสเตอริโอหรือโมโน, การเลือกฟังผ่านทางลำโพง Loudspeaker หรือการตั้งค่าความถี่ของสถานี และบันทึกด้วยตนเอง เป็นต้น ส่วนเรื่องการรับสัญญาณวิทยุนั้นถือว่าทำได้ดีตามปกติ มีความชัดเจนอย่างที่ควรจะเป็น

คุณสมบัติอื่นๆ ที่น่าสนใจ

- วัสดุ การประกอบ ความแข็งแรง และน้ำหนัก : ตัวเครื่องของ Nokia 6131 นั้นมีวัสดุที่ค่อนข้างดี การประกอบค่อนข้างประณีต เมื่อจับถือแล้วก็รู้สึกแน่นหนาแข็งแรงดี แต่ก็อาจจะด้อยกว่าโทรศัพท์มือถือรุ่นแพงๆ จากค่ายเดียวกันอยู่บ้าง รวมถึงมีข้อสังเกตอีกอย่างคือ ฝาพับยังสามารถโยกคลอนได้อยู่บ้างเล็กน้อย แต่อย่างไรก็ตามก็ยังไม่ถึงกับเป็นปัญหาแต่อย่างใด ส่วนน้ำหนักตัวประมาณ 112 กรัมนั้นถือว่าไม่ได้หนักและไม่ได้เบาจนเกินไป ถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง

- ประสิทธิภาพในการสนทนา : คุณสมบัติเบื้องต้นสำหรับการรองรับระบบสัญญาณของ Nokia 6131 นั้นคือ Quad Band (GSM 850/900/1800/1900 MHz) ซึ่งในเบื้องต้นการสแกนหาคลื่นสัญญาณขณะเปิดเครื่องขึ้นมานั้น สามารถทำได้รวดเร็วดี และระหว่างที่อยู่ในสถานะ Standby ไม่พบอาการที่เรียกว่าสัญญาณแกว่งหรือสัญญาณหายแต่อย่างใด ส่วนประสิทธิภาพขณะที่ใช้งานสนทนานั้น ถือว่าอยู่ในระดับที่ปกติดี เสียงที่ได้ยินดังชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามยังถือว่าไม่ถึงกับดังมากที่สุด

- ความเสถียรของระบบ และความเร็วในการประมวลผล : ความเสถียรของระบบขณะใช้งานฟังก์ชันหรือโปรแกรมต่างๆ ตลอดการใช้งานไม่พบอาการที่ผิดปกติแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นอาการเครื่องค้าง หรือรีสตาร์ทตัวเอง ส่วนในเรื่องของความรวดเร็วในการประมวลผลนั้น หากเป็นฟังก์ชันหรือโปรแกรมทั่วไปที่ไม่ต้องมีการประมวลผลข้อมูลมาก ก็สามารถประมวลผลและทำงานได้รวดเร็วทันใจ แต่ถ้าหากเป็นฟังก์ชันหรือโปรแกรมที่ต้องมีการประมวลผลข้อมูลมาก เช่นการประมวลผลขณะถ่ายรูปภาพขนาดใหญ่ หรือการเปิดดูรูปภาพขนาดใหญ่หลายๆ ภาพก็จะต้องอาศัยเวลาในการประมวลผลมากขึ้นบ้าง ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ปกติ

- การรองรับการใช้งานภาษาไทย : ระบบภาษาไทยของ Nokia 6131 นั้น ก็ถือว่ามีมาให้อย่างครบครัน ตั้งแต่การแสดงข้อความหรือตัวหนังสือภาษาไทย, การพิมพ์ข้อความภาษาไทย, ระบบสะกดคำอัตโนมัติภาษาไทย, เมนูใช้งานภาษาไทย รวมแผงปุ่มกดที่มีตัวอักษรภาษาไทยกำกับอยู่ด้วย (หากเป็นเครื่องศูนย์ในไทย) และสำหรับความถูกต้องในการการแสดงผลตัวอักษร, ตัวสระ, พยัญชนะ หรือวรรณยุกต์ต่างๆ ก็สามารถแสดงผลได้ถูกต้องตามปกติ ไม่มีการแสดงผลแบบผิดปกติให้เห็นแต่อย่างใด

- อัตราความสิ้นเปลืองพลังงาน : แบตเตอรี่ของ Nokia 6131 นั้นเป็นแบตเตอรี่แบบ Lithium Ion รุ่น BL-4C ขนาดความจุ 820 mAh โดยอัตราความสิ้นเปลืองพลังงานของ Nokia 6131 นั้น เท่าที่ทดสอบใช้งานมาระยะหนึ่งถือว่าทำได้ไม่ค่อยดีนัก แบตเตอรี่ค่อนข้างหมดเร็วไปสักหน่อย หากเทียบกับโทรศัพท์มือถืออีกหลายๆ รุ่น ยิ่งหากใช้งานหนักๆ ด้วยแล้ว ผู้ใช้ก็อาจจะต้องพก Adapter ชาร์จไฟติดตัวไปด้วยเผื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน หรืออาจจะต้องหาซื้อแบตเตอรี่สำรองเผื่อเอาไว้อีกสักก้อนก็น่าจะอุ่นใจได้มากขึ้น

สรุปส่งท้าย

จากการทดสอบการใช้งานมาได้ประมาณ 1 สัปดาห์ กับ Nokia 6131 ก็พอจะมองเห็นอะไรหลายๆ อย่างจากโทรศัพท์มือถือรุ่นนี้ จึงขอสรุปเป็นจุดเด่นและจุดด้อยตามความคิดเห็นส่วนตัวคร่าวๆ ดังนี้

จุดเด่น

- หน้าจอสามารถแสดงผลได้ละเอียดคมชัด และมีสีสันที่สดใส ทั้งหน้าจอหลักด้านใน และหน้าจอเล็กด้านนอก
- สามารถแสดงรูปภาพขณะมีสายเรียกเข้าได้แบบเต็มจอ และสามารถนำภาพวีดีโอมาแสดงขณะมีสายเรียกเข้าได้
- เสียงจากลำโพง Loudspeaker มีความดัง และชัดเจน
- สามารถใส่การ์ดหน่วยความจำแบบ microSD Card ได้สูงสุดขนาด 2 GB
- มีปุ่มกดสำหรับช่วยเปิดฝาพับ ทำให้การเปิดฝาพับทำได้ง่ายขึ้น
- มีวิทยุ FM Stereo ในตัว และสามารถรองรับการใช้งาน Visual Radio ได้
- ปุ่มกดต่างๆ แผงปุ่มกดด้านใน สามารถกดใช้งานได้ง่าย รู้สึกคล่องตัว ตอบสนองดี และมีความนุ่มนวล
- คุณภาพของรูปถ่ายที่ได้ค่อนข้างดี สามารถเก็บรายละเอียดได้ค่อนข้างดี สีสันสดใสพอสมควร
- สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ทั้งทางระบบ EDGE Class 10 หรือ GPRS Class 10
- สามารถเชื่อมต่อข้อมูลได้ทั้งทาง Bluetooth, Infrared Port หรือ USB Data Cable

จุดด้อย

- แบตเตอรี่ค่อนข้างหมดเร็วกว่าปกติ
- ฝาพับยังสามารถโยกได้เล็กน้อย
- ในชุดขายมาตรฐานไม่แถม microSD Card มาให้ด้วย ทำให้ผู้ใช้ต้องไปหาซื้อเองในภายหลัง
- ในชุดขายมาตรฐานไม่แถมสาย USB Data Cable มาให้ด้วย ทำให้ผู้ใช้ต้องไปหาซื้อเองในภายหลัง
- ปุ่มกดที่ด้านข้างของตัวเครื่องกดได้ค่อนข้างยากเล็กน้อย

สรุปแล้ว Nokia 6131 เป็นโทรศัพท์มือถือแบบฝาพับที่มีความสามารถค่อนข้างครบเครื่อง ในราคาจำหน่ายที่ไม่แพงมากจนเกินไป ตั้งแต่หน้าจอแสดงผลที่แสดงผลได้ละเอียดคมชัดสีสันสดใสทั้งด้านในและด้านนอก คุณสมบัติการเชื่อมต่อข้อมูลที่มีมาให้ค่อนข้างครบทั้ง EDGE, GPRS, Bluetooth, Infrared Port หรือ USB Data Cable สามารถรองรับการ์ดหน่วยความจำแบบ microSD ได้มากถึง 2 GB กล้องดิจิตอลที่ถ่ายภาพได้ค่อนข้างดี มีวิทยุ FM Stereo ในตัว รวมถึงความเสถียรและความเร็วในการประมวลผลของระบบโดยรวมที่ค่อนข้างดี แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีจุดด้อยบางประการที่ยังพบเห็นอยู่บ้าง เช่นแบตเตอรี่ที่ค่อนข้างหมดเร็ว ฝาพับสามารถโยกคลอนได้เล็กน้อย ปุ่มกดด้านข้างที่อาจกดได้ยากสักหน่อย รวมถึงของแถมบางอย่างที่ขาดหายไปบ้าง เป็นต้น ท้ายที่สุดในภาพรวมของ Nokia 6131 ถือว่าเป็นโทรศัพท์มือถือฝาพับอีกรุ่นหนึ่งในขณะนี้ที่มีความน่าสนใจไม่น้อย หากใครกำลังมองหาโทรศัพท์มือถือฝาพับที่มีความสามารถครบครันในราคาไม่แพงมากมาใช้งานสักเครื่อง ก็คงจะต้องนำเอา Nokia 6131 ไปพิจารณาเป็นตัวเลือกในใจอีกรุ่นหนึ่งแล้วครับ.

คะแนน TMC Point

การออกแบบดีไซน์ : 8.0/10
ใช้งานง่าย : 8.5/10
คุณสมบัติเครื่อง : 8.5/10
ฟังก์ชันการใช้งาน : 8.0/10
เสถียรภาพและประสิทธิภาพในการใช้งาน : 8.0/10
ราคาคุ้มค่า : 8.0/10

คะแนนรวม 8.16/10

โปรดทราบ

* โทรศัพท์มือถือที่ท่านเห็นในบทความรีวิวนี้เป็นเพียงเครื่องทดสอบจากทางศูนย์ เพราะฉะนั้นคุณสมบัติบางอย่างอาจมีความแตกต่างจากเครื่องที่วางจำหน่ายจริงบ้างไม่มากก็น้อย รวมถึงจุดด้อยบางประการที่พบในเครื่องทดสอบ อาจจะถูกแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นในเครื่องที่วางจำหน่ายจริง ดังนั้นหากท่านสนใจซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นนี้ ควรตรวจสอบหรือทดลองใช้งานสินค้าด้วยตนเองอีกครั้งหนึ่ง *

สรุปคุณสมบัติเครื่อง

ท่านสามารถตรวจสอบคุณสมบัติแบบสรุป (Specification) ของ Nokia 6131 ได้โดยการคลิ๊กที่ Link ด้านล่างนี้

Nokia 6131 Specification 

ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตาม
Oska (Thaimobilecenter Editor) : [email protected]


ผู้สนับสนุนเครื่อง Nokia 6131 สำหรับการทดสอบ



ขอขอบคุณ บริษัท เอ็ม ลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)
เลขที่ 73 อาคารเอ็ม ลิ้งค์ ชั้น 1 ซ.สุขุมวิท 62 แขวงบางจาก เขตพระโขนง
กรุงเทพฯ 10260 Tel.0-2741-5700 Fax.0-2741-6878
E-mail : [email protected]  
 

:: ไปหน้าแรกเว็บไซต์ Thaimobilecenter | ไปหน้าแรก Mobile Focus ::