Nokia 6120 Classic Review & Focus
Build
for the speed of life
Review
Date (07-October-2007)
เพิ่งวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทยไปเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้เอง
สำหรับ Nokia 6120 Classic โทรศัพท์มือถือประเภทสมาร์ทโฟนซึ่งทำงานบนระบบปฏิบัติการ
Symbian OS เวอร์ชัน 9.2 โดยในเรื่องของกระแสตอบรับนั้น
ตั้งแต่ได้วางจำหน่ายมาจนถึงขณะนี้ก็ถือว่ามีกระแสตอบรับที่ค่อนข้างดี
นั่นอาจเป็นเพราะว่า 6120 Classic เป็นสมาร์ทโฟนที่มีความสามารถค่อนข้างครบถ้วน
และมีราคาขายที่ไม่สูงจนเกินไปนั่นเอง โดยราคาเปิดตัวครั้งแรกที่จำหน่ายตามศูนย์ใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ
9,500 บาท หรือหากเป็นร้านทั่วไปตามแหล่งขายมือถือใหญ่ๆ
เช่นห้างมาบุญครอง ราคาก็จะต่ำกว่านี้ไม่มากก็น้อย และแม้ว่าในเรื่องของลูกเล่นบางอย่างจะสู้สมาร์ทโฟนตระกูล
NSeries ไม่ได้ แต่ก็ถือว่าไม่ได้ด้อยไปกว่ากันมากมาย
ความสามารถโดยทั่วไปของ 6120 Classic นอกจากความเป็นสมาร์ทโฟนที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการ
Symbian OS แล้ว ก็ยังมีความสามารถอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกไม่น้อย
เช่น รองรับระบบ 3G/HSDPA, มี EDGE/GPRS/Bluetooth,
ดูหนังฟังเพลงได้, มีวิทยุ FM ในตัว, หน้าจอ
QVGA 16 ล้านสี, กล้อง 2 ล้านพิกเซล,
รองรับ microSD Card และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งดูโดยคร่าวๆ
แล้วจะเห็นว่าเป็นโทรศัพท์มือถือประเภทสมาร์ทโฟนรุ่นหนึ่งที่มีความน่าสนใจไม่น้อย
ค่อนข้างครบเครื่องในราคาไม่สูงจนเกินเอื้อม แต่การใช้งานจริงๆ
จะดีหรือไม่อย่างไรนั้น คงต้องติดตามกันต่อไปในบทความรีวิวนี้
Nokia 6120 Classic Video Review & Focus
|
วิดีโอรีวิว Nokia
6120 Classic ตอนที่ 1
ข้อมูลเบื้องต้น
|
|
|
|
วิดีโอรีวิว Nokia
6120 Classic ตอนที่ 2
ลักษณะทางกายภาพ
|
|
|
|
วิดีโอรีวิว Nokia
6120 Classic ตอนที่ 3
เมนูใช้งานหลัก
|
|
|
|
วิดีโอรีวิว Nokia
6120 Classic ตอนที่ 4
ฟังก์ชันที่น่าสนใจ
|
อุปกรณ์ที่มีมาให้ในกล่อง
 อุปกรณ์มาตรฐานของ
Nokia 6120 Classic ที่เป็นเครื่องศูนย์ไทยนั้นจะประกอบไปด้วย
ตัวเครื่อง Nokia 6120 Classic, แบตเตอรี่
Li-Ion รุ่น BL-5B ความจุ 890 mAh จำนวน 1
ก้อน, ที่ชาร์จแบตเตอรี่รุ่น AC-4U จำนวน
1 อัน, หูฟังแบบ Stereo รุ่น HS-47 จำนวน
1 เส้น, การ์ดหน่วยความจำแบบ microSD ขนาด
256 MB จำนวน 1 อัน, แผ่นซีดีโปรแกรม PC Suite
จำนวน 1 แผ่น, สาย Data Cable รุ่น DKE-2
จำนวน 1 เส้น และสุดท้ายคือคู่มือการใช้งานภาษาไทย-อังกฤษ
จำนวน 1 เล่ม ซึ่งจากอุปกรณ์มาตรฐานที่แถมมาให้กับ
Nokia 6120 Classic นี้ก็ถือว่าครบถ้วนเพียงพอต่อการใช้งานเป็นอย่างดี
เมื่อแรกเห็นตัวเครื่อง
รูปลักษณ์โดยทั่วไปของ Nokia 6120 Classic
จะเป็นโทรศัพท์มือถือแบบแท่งที่ออกแบบให้ดูสวยหรูแบบเรียบๆ
และมีความคลาสสิคแฝงเข้ามาด้วยตามชื่อรุ่น
บวกกับวัสดุที่ช่วยเพิ่มความโดดเด่นให้กับตัวเครื่องได้เป็นอย่างดี
ไม่ว่าจะเป็นพลาสติกสีดำมัน หรือโครเมียมมันวาว
และถ้าดูกันที่ขนาดก็จะพบว่ามีขนาดที่ค่อนข้างกระทัดรัด
ไม่ใหญ่เทอะทะ ดูไปแล้วก็ใกล้เคียงกับโทรศัพท์มือถือแบบแท่งทั่วไป และความบางแม้อาจจะไม่ถึงกับบางเฉียบ
แต่ถ้าเทียบกับโทรศัพท์มือถือประเภทเดียวกันก็ถือว่าบางพอสมควรแล้ว
ส่วนสัมผัสที่ได้จากตัวเครื่องจะสัมผัสได้ถึงความเป็นพลาสติกเสียส่วนใหญ่
แต่ก็ไม่ได้รู้สึกถึงความบอบบางแต่อย่างใด
 เมื่อดูที่ด้านหน้าของตัวเครื่องจะเห็นการออกแบบดีไซน์ที่ดูเรียบๆ
เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าพร้อมขอบที่โค้งมนตามสไตล์ทั่วไปของโทรศัพท์มือถือทรงแท่ง
แต่อย่างไรก็ตามก็มีเส้นสายหรือองค์ประกอบที่ช่วยให้ดูไม่เรียบหรือน่าเบื่อจนเกินไป
โดยมีการนำสีบรอนซ์เงิน และโครเมียมมันวาว
มาตัดกับสีดำมันได้ค่อนข้างลงตัว เมื่อไปดูกันที่ด้านบนสุดจะพบกับเลนส์กล้องดิจิตอลที่ใช้งานสำหรับการสนทนาพร้อมภาพวิดีโอหรือทีเรียกกันว่า
Video Calling ซึ่งหากจะนำมาถ่ายภาพก็สามารถทำได้เช่นกันโดยเฉพาะการถ่ายภาพตนเอง
ถัดมาเป็นลำโพงหูฟังที่มีไว้สำหรับฟังขณะสนทนา
เมื่อมองมาที่บริเวณตรงกลางจะพบกับปุ่มกดควบคุมต่าง
ไล่ไปตั้งแต่ ปุ่มเข้าเมนู, ปุ่มเลือกซ้าย-ขวา,
ปุ่มรับสาย-โทรออก, ปุ่มวางสาย, ปุ่มควบคุมการทำงานแบบ
5 ทิศทางซึ่งมีลักษณะเป็นวงแหวนโครเมียมที่ดูสวยงาม
และที่ด้านขวาสุดคือปุ่มลบ สุดท้ายที่บริเวณด้านล่างจะเป็นแผงปุ่มกดตัวเลขที่ทำมาจากพลาสติกสีดำมัน
ซึ่งวัสดุหรือพื้นผิวประเภทนี้น่าจะเกิดรอยเปื้อน
หรือรอยขีดข่วนได้ง่าย ส่วนการจัดเรียงตำแหน่งนั้นก็มีลักษณะตามปกติเหมือนกับโทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่
 เมื่อพลิกมาดูที่ด้านหลังของตัวเครื่องจะพบกับพื้นผิวที่มีสีดำมันเสียเป็นส่วนใหญ่
ซึ่งจะเกิดรอยเปื้อนได้ง่าย ส่วนองค์ประกอบที่อยู่ด้านหลังของตัวเครื่องนี้จะประกอบไปด้วย
ไฟแฟลชสำหรับให้ความสว่างขณะถ่ายภาพ และที่อยู่ใกล้ๆ
กันก็คือเลนส์กล้องดิจิตอล ซึ่งถ่ายภาพได้ที่ความละเอียดสูงสุด
2 ล้านพิกเซล ส่วนพื้นที่ๆ อยู่ด้านล่างก็คือฝาหลังของที่ใส่แบตเตอรี่
กับซิมการ์ดนั่นเอง
 ที่ด้านขวาของตัวเครื่องจะใช้วัสดุสีดำด้าน
ซึ่งเท่าที่สัมผัสดูก็น่าจะเป็นวัสดุที่มีคุณภาพดี
และแข็งแรงพอสมควร ส่วนองค์ประกอบที่อยู่ทางด้านนี้จะประกอบไปด้วยปุ่มเพิ่มลดระดับเสียงที่ด้านบน
และที่ด้านล่างจะก็จะเป็นปุ่มที่มีรูปกล้องดิจิตอล
ซึ่งมีไว้สำหรับใช้งานกล้องดิจิตอล
 ที่ด้านซ้ายของตัวเครื่องก็จะมีพื้นผิวสีดำด้านเช่นเดียวกันกับทางด้านขวา
ซึ่งองค์ประกอบที่อยู่ทางด้านซ้ายนี้จะประกอบไปด้วยลำโพงในตัวสำหรับให้เสียงต่างๆ
เช่นเสียงเรียกเข้า หรือเสียงเพลง เป็นต้น ซึ่งวางตำแหน่งอยู่ทางด้านบน
ส่วนความดังหรือความไพเราะของเสียงจากลำโพงนี้จะเป็นอย่างไรนั้น
จะกล่าวถึงอีกครั้งหนึ่งในเนื้อหาถัดๆ ไป
 เมื่อมองลงมาทางด้านล่างถัดจากลำโพง
จะพบกับช่องสำหรับใส่การ์ดหน่วยความจำ ซึ่งรองรับหน่วยความจำแบบ
microSD Card ที่กำลังเป็นที่กำลังนิยมนำมาใช้กันในโทรศัพท์มือถือยุคนี้
โดยช่องสำหรับใส่การ์ดหน่วยความจำนี้จะถูกปิดไว้ด้วยฝาปิด
ซึ่งสามารถเปิด-ปิดได้ไม่ยากนัก โดยใช้เล็บจิกเข้าไปที่ร่องเล็กๆ
ตรงปลายของฝาปิด และงัดขึ้นมาเบาๆ เพียงเท่านี้ก็สามารถเปิดฝา
แล้วนำ microSD Card มาใส่ได้แล้ว
 ที่ส่วนหัว
หรือด้านบนของตัวเครื่องจะไม่มีองค์ประกอบอะไรมากนัก
นอกจากปุ่มเปิด-ปิดเครื่องเพียงอย่างเดียว
ซึ่งดูไปแล้วทางโนเกียก็ออกแบบดีไซน์ปุ่มตรงนี้ให้ดูทันสมัยได้อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
 ที่ด้านล่างของตัวเครื่องจะพบกับส่วนเชื่อมต่อต่างๆ
3 ส่วนด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ที่ด้านซ้ายสุด
จะเป็นช่องสำหรับเสียบสาย Data Cable ซึ่งหากเป็นสายมาตรฐานที่แถมมาให้ก็จะเป็นสายรุ่น
DKE-2 โดยจะมีลักษณะของอินเทอร์เฟสแบบ miniUSB
ถัดมาที่ตรงกลางจะเป็นช่องสำหรับต่อสายหูฟังขนาด
2.5 มิลลิเมตร ซึ่งถ้าหากต้องการนำแจ๊คหูฟังที่มีขนาด
3.5 มิลลิเมตรมาต่อใช้งานก็สามารถทำได้ แต่ก็ต้องอาศัยตัวแปลงร่วมด้วย
สุดท้ายที่ด้านขวาสุดจะพบกับช่องสำหรับต่อสายชาร์จแบตเตอรี่
ซึ่งหัวแจ๊คของที่ชาร์จรุ่น AC-4U นี้จะเป็นหัวขนาดเล็ก
เริ่มใส่ซิมการ์ด
และแบตเตอรี่
 การใส่ซิมการ์ด
และแบตเตอรี่สำหรับ Nokia 6120 Classic นั้นสามารถทำได้ไม่ยาก
จะมีขั้นตอนวิธีการที่คล้ายคลึงกับโทรศัพท์มือถือทั่วๆ
ไป นั่นคือถอดฝาหลังออกก่อน โดยให้นำนิ้วโป้งดันลงไปอย่างมั่นคงที่ฝาหลัง
หลังจากนั้นให้ออกแรงเลื่อนนิ้วโป้งในทิศทางเข้าหาตัวเอง
หากไม่มีอะไรผิดพลาด ฝาหลังก็จะเลื่อนออกมาได้โดยง่าย
 เมื่อเปิดฝาหลังออกมาแล้วก็จะพบกับช่องว่างสำหรับใส่ซิมการ์ด
และแบตเตอรี่ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับโทรศัพท์มือถือทั่วๆ
ไป ส่วนลักษณะของฝาหลังนั้นจะทำมาจากพลาสติกสีดำทั้งหมด
โดยมีความหนา และแข็งแรงอยู่พอสมควร
 เมื่อมองดูที่ด้านล่างซ้ายจะพบกับช่องสำหรับใส่ซิมการ์ดซึ่งมีฝาโลหะปิดอยู่
ดังนั้นการที่จะนำซิมการ์ดใส่เข้าไปก็จะต้องเปิดฝาโลหะออกมาเสียก่อน
จากนั้นก็ให้นำแผ่นซิมการ์ดวางลงไปให้พอดีกับช่องโดยสังเกตทิศทางจากมุมที่เป็นหัวตัดของซิมการ์ด
เมื่อวางซิมการ์ดลงในตำแหน่งที่ถูกต้องแล้ว
ก็ให้ปิดฝาโลหะลงไป แล้วใช้นิ้วดันไปข้างหน้าเพื่อทำการล็อคให้เข้าที่
 การใส่แบตเตอรี่ควรใส่ซิมการ์ดให้เรียบร้อยเสียก่อนเนื่องจากก้อนแบตเตอรี่ต้องอยู่ด้านบน
โดยเมื่อใส่ซิมการ์ดเรียบร้อยแล้ว ก็ให้นำก้อนแบตเตอรี่มาวางไว้ให้ถูกตำแหน่งภายในช่อง
โดยสังเกตทิศทางจากขั้วโลหะที่อยู่บริเวณด้านบนของช่องใส่
เมื่อวางก้อนแบตเตอรี่ได้อย่างถูกทิศทางแล้วก็ให้ดันก้อนแบตเตอรี่ลงไปในช่องให้เรียบร้อย
 เมื่อทำการใส่ซิมการ์ด
และแบตเตอรี่เรียบร้อยดีแล้ว ที่ด้านหลังของตัวเครื่องก็จะมีลักษณะดังภาพ
จากนั้นก็ให้นำฝาหลังมาปิดเอาไว้ตามปกติเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดใช้งานเครื่องต่อไป
ความเหมาะมือ
ขนาด และน้ำหนัก
 สำหรับตัวเครื่องของ
Nokia 6120 Classic นั้นมีขนาดที่ค่อนข้างกระทัดรัด
ตัวเครื่องแม้ไม่ถึงกับบางเฉียบแต่ก็ถือว่าบางพอสมควรแล้ว สามารถจับถือได้ง่าย
พื้นผิวโดยรวมไม่ลื่นจนเกินไป สามารถยึดเกาะได้ดี และไม่ว่าจะเป็นคนที่มีฝ่ามือที่เล็ก
หรือฝ่ามือที่ใหญ่ก็น่าจะสามารถจับถือได้อย่างถนัดมือด้วยเช่นกัน
ส่วนในเรื่องของน้ำหนักของตัวเครื่องขณะที่ใส่แบตเตอรี่แล้วนั้น
ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการระบุไว้ว่าจะหนักประมาณ
89 กรัม ซึ่งน้ำหนักระดับนี้ถือว่าค่อนข้างเบา
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อน้ำหนักที่เบาผนวกกับวัสดุของตัวเครื่องส่วนใหญ่ที่ให้สัมผัสของความเป็นพลาสติก
ก็อาจจะทำให้บางครั้งรู้สึกว่าตัวเครื่องยังไม่แข็งแรงแน่นหนาเท่าไหร่
 ในขณะที่ต้องการใช้เครื่องเพื่อทำการถ่ายภาพ
ผู้ใช้ก็สามารถจับถือในลักษณะของกล้องดิจิตอลได้เช่นกันเนื่องจากมีปุ่มกดสำหรับกล้องดิจิตอลที่ด้านข้างของตัวเครื่องอยู่แล้ว
 จากรูปด้านบน
เป็นการนำ Nokia 6120 Classic มาเปรียบเทียบขนาดกับโทรศัพท์มือถือค่ายเดียวกันอีก
2 รุ่นคือ Nokia 2630 และ Nokia 6500 Classic
ซึ่งหากมองที่ด้านหน้าก็จะมีขนาดความกว้าง
หรือความสูงที่ไม่ต่างกันมากนัก แต่ถ้าหากนำมาเปรียบเทียบความบาง
จะพบว่า 6120 Classic ก็ยังมีความหนามากกว่าทั้ง
2 รุ่นที่นำมาเทียบกันอยู่พอสมควร
เริ่มเปิดเครื่อง
 เมื่อทำการใส่ซิมการ์ด
และแบตเตอรี่เรียบร้อยดีแล้ว ก็พร้อมที่จะทำการเปิดเครื่องเพื่อใช้งาน
โดยวิธีการเปิดเครื่องของ Nokia 6120 Classic
นั้นสามารถทำได้ไม่ยาก โดยกดปุ่มเปิด-ปิดเครื่องที่ด้านบนของตัวเครื่องค้างเอาไว้ประมาณ
2-3 วินาที หลังจากนั้นเครื่องก็จะทำการสตาร์ทตัวเอง
ซึ่งเท่าที่สังเกตดูจะพบว่า 6120 Classic
จะเปิดใช้งานได้ค่อนข้างเร็วทันใจพอสมควร
โดยเฉพาะเมื่อเทียบกันกับโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นๆ
ของโนเกียเอง
ความคมชัดและสวยงามของหน้าจอแสดงผล
 หน้าจอแสดงผลของ
6120 Classic จะเป็นหน้าจอแบบ TFT LCD 16
ล้านสี ความละเอียดระดับ QVGA (320x240 Pixels)
ซึ่งถือว่ามีความละเอียดสูง สว่างชัดเจน และมีสีสันที่สดใสเป็นอย่างดี
แสดงผลได้ดีทั้งในที่มืด หรือที่แจ้ง แต่อย่างไรก็ดี
ความกว้างของหน้าจอจะอยู่ที่ประมาณ 2 นิ้วเท่านั้น
ทำให้การแสดงผลอาจจะไม่ใหญ่เต็มตามากนักสำหรับผู้ใช้บางราย
สรุปแล้วหน้าจอแสดงผลของ 6120 Classic นั้นก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ดี
ปุ่มกด และการตอบสนอง
 ปุ่มกดทุกปุ่มของ
Nokia 6120 Classic จะทำมาจากวัสดุพลาสติก
ซึ่งส่งผลให้สัมผัสที่ได้จะดูไม่ค่อยมั่นคงเท่าใดนักเวลากด
อีกทั้งในขณะที่กดปุ่มบางปุ่มเช่นปุ่มตัวเลข
อาจจะมีเสียงของการเสียดสีกันให้ได้ยินบ้าง
นอกจากนั้นสำหรับผู้ที่มีนิ้วมือค่อนข้างใหญ่อาจจะมีปัญหาในเรื่องความแม่นยำของการกดปุ่มแต่ละปุ่มมากกว่าผู้ที่มีนิ้วมือเล็ก
เนื่องจากปุ่มส่วนใหญ่จะค่อนข้างเล็กและมีความแบนราบสูง
อาจกดปุ่มพลาดได้เป็นระยะๆ แต่อย่างไรก็ตามในเรื่องของการตอบสนองนั้นสามารถทำได้ดี
รวมถึงความรวดเร็วในการประมวลผลนั้นถือว่ารวดเร็วทันใจเป็นอย่างดี
เท่าที่ได้ใช้งานไม่พบอาการหน่วงแต่อย่างใด
หากจะกล่าวว่าเป็นสมาร์ทโฟนที่ทำงานได้รวดเร็วที่สุดรุ่นหนึ่งของโนเกียก็คงจะไม่ผิดนัก
เมนูและฟังก์ชันการทำงาน
สำหรับ Nokia 6120 นั้นทำงานอยู่บนระบบปฏิบัติการ Symbian OS
เวอร์ชัน 9.2 และมีรูปแบบของการแสดงผลหรือ
User Interface เป็นแบบ Series 60 UI เวอร์ชัน 3.1
ซึ่งการแสดงผลโดยรวมจะคล้ายกับโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนค่ายโนเกียอีกหลายๆ
รุ่น
ที่หน้าจอหลัก จะมีการแสดงรายละเอียดหลายอย่าง
เริ่มตั้งแต่ที่ด้านบนสุดจะมีการแสดงระดับสัญญาณ,
นาฬิกา, ชื่อเครือข่าย, ชื่อโปรไฟล์, ระดับพลังงานแบตเตอรี่
ส่วนแถวถัดมาจะเป็น Shortcut เพื่อเข้าฟังก์ชันหรือเมนูต่างๆ
ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหากเป็นค่าเดิมจากโรงงานจะประกอบไปด้วย
6 ฟังก์ชันคือ รายชื่อ, ข้อความ, นาฬิกา,
ปฏิทิน, เว็บ และบลูทูธ โดยผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยนเมนูเหล่านี้ได้ตามต้องการในภายหลัง
 เมื่อกดปุ่มเมนู
จะปรากฏเมนูหลักของ Nokia 6120 Classic ให้เห็น
ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 9 เมนูหลักคือ ข้อความ,
รายชื่อ, บันทึก, การตั้งค่า, เว็บ, สื่อ,
โปรแกรมช่วย, เครื่องเล่นเพลง, คลังภาพ, ดาวน์โหลด,
แอปพลิเคชัน และบทแนะนำ
เมนูข้อความ
เมนูข้อความ คือเมนูที่รวบรวมฟังก์ชันต่างๆ
ที่เกี่ยวกับการรับส่งข้อความเอาไว้ เช่น
การสร้างข้อความใหม่, ถาดเข้า, โฟลเดอร์ของฉัน,
ศูนย์ฝากข้อความ หรือฉบับร่าง เป็นต้น

สามารถสร้างข้อความได้ 4 รูปแบบคือ ข้อความตัวอักษร,
ข้อความมัลติมีเดีย, ข้อความคลิปเสียง และอีเมล
โดยมีฟังก์ชันพื้นฐานมาให้อย่างครบถ้วน คล้ายกับสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นๆ
ของโนเกีย
 สามารถเลือกใช้งานได้
2 ภาษาคือภาษาไทย และภาษาอังกฤษ โดยมีระบบสะกดคำอัตโนมัติ
และอักขระพิเศษมาให้เช่นเคย
ข้อความมัลติมีเดียสามารถใส่องค์ประกอบได้หลายอย่าง
เช่น รูปภาพ, วิดีโอ, รูปภาพเล็ก, คลิปเสียง,
วิดีโอคลิป หรือสไลด์ เป็นต้น
 ผู้ใช้สามารถกำหนดคุณสมบัติ
หรือลักษณะของการใช้งานฟังก์ชันข้อความได้ด้วยตนเอง
 สามารถสร้างข้อความเสียงได้
โดยจะเลือกใช้คลิปเสียงที่มีอยู่แล้ว หรือจะสร้างคลิปเสียงใหม่ก็ได้เช่นกัน
เมนูรายชื่อ
เมนูรายชื่อ คือเมนูที่รวบรวมฟังก์ชันการทำงาน
หรือการจัดการต่างๆ ที่เกี่ยวกับรายชื่อเอาไว้
เช่น การค้นหารายชื่อ, การเพิ่มรายชื่อ, การเพิ่มกลุ่มผู้โทร,
การแก้ไขรายชื่อ, การเพิ่มรายละเอียดของรายชื่อ
หรือการคัดลอกรายชื่อ เป็นต้น
รูปแบบของการแสดงผลที่ผู้ใช้ซิมเบี้ยนสมาร์โฟนหลายคนคงคุ้นเคยกันดี
 สามารถเพิ่มรูปภาพเฉพาะหมายเลขได้
ซึ่งรูปภาพนี้จะแสดงเวลาที่มีสายเข้า หรือโทรออก ถือว่าเป็นลูกเล่นพื้นฐานไปแล้วสำหรับโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆ
ในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามรูปภาพที่แสดงก็ยังมีขนาดเล็กอยู่เช่นเคย
ดังนั้นหากต้องการแสดงรูปภาพแบบเต็มหน้าจอ
ผู้ใช้ก็คงจะต้องหาโปรแกรมมาติดตั้งเพิ่มเติมเองเองในภายหลัง
สามารถเพิ่มรายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละรายชื่อได้มากมาย
 สามารถกำหนดกลุ่มของรายชื่อได้
เพื่อความสะดวกในการค้นหา หรือจัดการในภายหลัง
ผู้ใช้สามารถตั้งค่าเกี่ยวกับการใช้งานเมนูรายชื่อได้ตามต้องการ
เมนูบันทึก
เมนูบันทึก คือเมนูที่มีไว้สำหรับเก็บบันทึกข้อมูลการใช้งานเกี่ยวกับการโทร
หรือการใช้ข้อมูลของผู้ใช้เอาไว้อย่างเป็นระบบระเบียบ
เช่นเบอร์โทรล่าสุด, เวลาการโทร หรือข้อมูลแพคเก็ต
เป็นต้น
สามารถเลือกแสดงบันทึกทุกประเภทในหน้าเดียวได้
มีบันทึกเบอร์ที่ไม่ได้รับสาย, เบอร์ที่รับสาย
และเบอร์ที่โทรออก ตามปกติ
 บันทึกเวลาการโทร
และตัวนับข้อมูลแพคเก็ตก็มีมาให้เช่นกัน
 ผู้ใช้สามารถตั้งค่าการใช้งานการบันทึกข้อมูลต่างๆ
ได้ตามต้องการ รวมทั้งมีฟังก์ชันย่อยที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้อีกมากมาย
เมนูการตั้งค่า
เมนูการตั้งค่า คือเมนูที่รวบรวมการตั้งค่าใช้งานส่วนต่างๆ
ของตัวเครื่อง โดยการตั้งค่าของ Nokia 6120
Classic จะแบ่งเป็น ลักษณะ, รูปแบบ, คำสั่งเสียง,
เชื่อมต่อ, การตั้งค่า, เสียงพูด, โทรด่วน,
ตัวจัดการ, ตัวช่วย และโทรศูนย์
เมนูย่อยต่างๆ ที่อยู่ภายในเมนูการตั้งค่ามีทั้งหมด
10 เมนู

มี Themes มาตรฐานมาให้ทั้งหมด 7 แบบด้วยกัน
ได้แก่ Nokia Noir, Classic Blue, Nokia Original,
Nokia Velvet, Pearl White, Pink และ Sand
Gold
สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการแสดงผลของเมนูได้
4 รูปแบบคือ ตาราง, รายการ, เกือกม้า และรูปตัววี
สามารถกำหนดภาพพื้นหลัง รวมถึงรายละเอียดต่างๆ
ได้ด้วยตนเอง
 สามารถเลือกรูปแบบหรือ
Profile ได้หลายรูปแบบ โดย Profile มาตรฐานที่มีมาให้จะประกอบไปด้วย
ทั่วไป, เงียบ, ประชุม, นอกสถานที่, วิทยุติดตามตัว
และออฟไลน์ ซึ่งผู้ใช้สามารถเข้าไปกำหนดคุณสมบัติของแต่ละ
Profile ได้ตามต้องการ
 สามารถเลือกไฟล์เสียงเรียกเข้า
หรือเสียงเตือนต่างๆ ได้ รวมถึงรูปแบบการดังของเสียงเรียกเข้า
หรือระดับความดังของเสียง เป็นต้น
กำหนดระดับเสียงปุ่มกด หรือตัวเลือกของการปลุกได้
สามารถกำหนดการสั่งงานด้วยเสียง เพื่อใช้งานเมนู
หรือฟังก์ชันต่างๆ ด้วยเสียงพูดได้
การเชื่อมต่อจะประกอบไปด้วยเมนูย่อย 6
เมนูคือ ถ่ายโอน, USB, ซิงค์, ตัวเชื่อม,
Bluetooth และการสนทนา
 การโอนข้อมูล
จะประกอบไปด้วย การถ่ายโอนข้อมูล, การบันทึกโอน
และโทรศัพท์
ผู้ใช้สามารถกำหนดตัวเลือกสำหรับการใช้งานสาย
Data Cable ได้ด้วยตนเอง
สามารถเรียกใช้งานการซิงค์ แก้ไขรูปแบบของการซิงค์
หรือสร้างรูปแบบของการซิงค์ใหม่ได้
สามารถจัดการการเชื่อมต่อที่กำลังใช้งานอยู่ได้
สามารถเปิด-ปิดการใช้งาน Bluetooth หรือตั้งค่าสำหรับการใช้งาน
Bluetooth ได้เช่น ชื่อของโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์ที่จับคู่
เป็นต้น
การสนทนา หรือ Push-to-Talk ก็มีมาให้ใช้งานด้วย
การตั้งค่า จะเป็นการตั้งค่าพื้นฐานที่สำคัญโดยทั่วไปของการใช้งานเครื่อง
โดยจะประกอบไปด้วย ทั่วไป, โทรศัพท์, การเชื่อมต่อ
และแอปพลิเคชัน
ในกลุ่มการตั้งค่าทั่วไป จะประกอบไปด้วย
จอภาพ, โหมดพร้อมทำงาน, แบบเสียง, ลักษณะ,
ภาษา และเสียงสั่งงาน
 จอภาพสามารถปรับตั้งค่าใช้งานได้หลากหลาย
เช่น ความสว่าง, ขนาดของตัวอักษร, การประหยัดพลังงาน,
โลโก้หรือข้อความต้อนรับ หรือเวลาของแสงสว่าง
เป็นต้น
 สามารถกำหนดคุณสมบัติของโหมดพร้อมทำงาน
หรือแบบเสียงได้
กำหนดลักษณะของการแสดงผลโดยทั่วไป
กำหนดรูปแบบของภาษาที่ใช้งานในเครื่องได้
2 ภาษาคือ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ
กำหนดคุณสมบัติของคำสั่งเสียงได้

กำหนดข้อมูลเวลา, เขตเวลา หรือวันที่ได้
รวมถึงรูปแบบของการแสดงผล, แบบเสียง หรือวันทำงาน
เป็นต้น
ตั้งค่าอุปกรณ์เสริมได้ตามต้องการ เช่น
ชุดหูฟัง, หูฟัง, ชุดติดรถยนต์แบบไร้สาย หรือแท่นชาร์จและลำโพง
เป็นต้น
จัดการเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้งานเครื่องได้
สามารถเรียกคืน หรือทำการ Restore เพื่อให้เครื่องมีการตั้งค่าเหมือนกับที่ตั้งมาจากโรงงานได้
สามารถตั้งค่าเกี่ยวกับการใช้งานระบบ
GPS ได้ แต่สำหรับ Nokia 6120 Classic นั้นไม่มีตัวรับสัญญาณ
GPS ในตัว ดังนั้นหากต้องการใช้งานระบบ GPS
จริงๆ ก็จะต้องมีอุปกรณ์เสริมแยกอีกต่างหาก
 การตั้งค่าเกี่ยวกับการโทรศัพท์
แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ ตั้งค่าการโทร, การตั้งค่าการโอนสาย,
ตั้งค่าจำกัดการโทร และตั้งค่าเครือข่าย
 สามารถตั้งค่าเกี่ยวกับการเชื่อมต่อได้
ไม่ว่าจะเป็น Bluetooth, USB, จุดเชื่อมต่อ,
ข้อมูลแพคเก็ต หรือสายข้อมูล
จะตั้งค่าเกี่ยวกับการใช้งานแอปพลิเคชันก็สามารถทำได้
เช่นการตั้งค่าแอปพลิเคชันบันทึก, RealPlayer,
เครื่องบันทึกเสียง หรือกล้อง เป็นต้น
ลักษณะของการตั้งค่าการบันทึก
ลักษณะของการตั้งค่า RealPlayer, เครื่องบันทึกเสียง,
รูปภาพ และวิดีโอ
ลักษณะของการตั้งค่าการจัดการแอปพลิเคชัน
 ลักษณะของการตั้งค่า
Visual Radio
ลักษณะของการตั้งค่าเสียงพูด
สามารถกำหนดหมายเลขโทรด่วนได้
โปรแกรมสำหรับจัดการแอปพลิเคชัน, การติดตั้ง
หรือถอนการติดตั้ง ก็มีมาให้ใช้งานเช่นกัน
ลักษณะของโปรแกรมสำหรับจัดการไฟล์ ซึ่งสามารถจัดการได้ทั้งไฟล์ในหน่วยความจำเครื่อง
และไฟล์ในการ์ดหน่วยความจำ
สามารถแสดงเวอร์ชันของเฟิร์มแวร์ที่อยู่ภายในเครื่อง
รวมทั้งสามารถจัดการเกี่ยวกับการอัพเดตเฟิร์มแวร์ได้
ลักษณะของการกำหนดสิทธิการใช้งาน
ลักษณะของโปรแกรมจัดการการ์ดหน่วยความจำ
ข้อมูลเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ หรือระบบปฏิบัติการที่ติดตั้งอยู่ภายในเครื่อง
 มีตัวช่วยสำหรับการตั้งค่าการเชื่อมต่อให้
และสามารถกำหนดค่าของศูนย์ฝากข้อความเสียงได้
เมนูเว็บ
เมนูเว็บ คือเมนูที่รวบรวมฟังก์ชันต่างๆ
ที่เกี่ยวกับการเปิดเว็บเอาไว้ เช่น การเปิดเว็บ,
การบุ๊คมาร์ค, การนำทาง, การตั้งค่าจุดเชื่อมต่อ
เป็นต้น
มีบุ๊คมาร์คสำหรับเก็บบันทึกที่อยู่เว็บ
หรือข้อมูลเว็บต่างๆ ที่ผู้ใช้มักจะต้องเข้าไปเยี่ยมชมอยู่บ่อยๆ
สามารถเลือกแสดงผลในแนวนอนได้ เพื่อมุมมองที่กว้างขึ้น

 ผู้ใช้สามารถตั้งค่าสำหรับการใช้งานเว็บได้หลากหลาย
เช่น จุดเชื่อมต่อ, โฮมเพจ, แผนที่ย่อ, รายการประวัติ,
การโหลดเนื้อหา, ขนาดจอภาพ, การเข้ารหัส,
การปิดกั้นป๊อปอัพ หรือขนาดแบบอักษร เป็นต้น
เมนูสื่อ
เมนูสื่อ คือเมนูที่รวบรวมโปรแกรมเกี่ยวกับเรื่องของมัลติมีเดียเอาไว้
ได้แก่ การบันทึกเสียง, วิทยุ, ตัวเล่น Flash,
RealPlayer และกล้องดิจิตอล
มีโปรแกรมบันทึกเสียงมาให้เช่นเคย โดยสามารถบันทึกได้นาน
1 นาที หากต้องการบันทึกเสียงได้นานกว่านี้
ก็จะต้องติดตั้งโปรแกรมเพิ่มเติม

มีวิทยุ FM Stereo ในตัว พร้อมทั้งสามารถรองรับการใช้งานระบบ
Visual Radio ได้ นอกจากนั้นก็มีฟังก์ชันพื้นฐานเกี่ยวกับการใช้งานวิทยุมาให้ด้วย
เช่น การเก็บบันทึกสถานี, การค้นหาคลื่น หรือการเล่นเป็นพื้นหลัง
เป็นต้น
มีโปรแกรมเล่นไฟล์ Flash มาให้

ลักษณะของโปรแกรม RealPlayer ที่เอาไว้สำหรับเล่นวิดีโอจากไฟล์
หรือเปิดวิดีโอแบบสตรีมมิ่ง
 กล้องดิจิตอลสามารถถ่ายภาพได้
3 โหมดหลักๆ คือ โหมดภาพนิ่ง, โหมดทัศนียภาพ
และโหมดวิดีโอ
สามารถเปิด-ปิดไฟแฟลช หรือเลือกใช้งานโหมดถ่ายภาพกลางคืนได้
ลักษณะของหน้าจอเมื่อเปิดโหมดถ่ายภาพกลางคืน
หรือเปิดไฟแฟลช
สามารถตั้งเวลาถ่ายภาพล่วงหน้าได้ 3 ระดับคือ
10, 20 และ 30 วินาที
 สามารถปรับสมดุลสีขาวได้
4 รูปแบบคือ อัตโนมัติ, แสงจ้า, แสงไฟทังสเตน
และแสงไฟนีออน รวมถึงสามารถปรับโทนสีได้ 4
รูปแบบคือ ปกติ, ซีเปีย, ขาวดำ และเนกาทีฟ
สามารถตั้งค่าของการใช้งานกล้องดิจิตอลได้
โดยแบ่งเป็นการตั้งค่ารูปภาพ และการตั้งค่าวิดีโอ
 การตั้งค่ารูปภาพ
สามารถตั้งค่าได้หลายประเภท ได้แก่ คุณภาพของรูปภาพ,
การแสดงภาพที่จับ, ความละเอียดของกล้องหลัก,
ความละเอียดของกล้องรอง, ชื่อรูปภาพ และหน่วยความจำที่ใช้
 การตั้งค่าวิดีโอ
สามารถตั้งค่าได้หลายประเภทเช่นกัน ได้แก่
ความยาว, ความละเอียดของกล้องหลัก, ความละเอียดของกล้องรอง,
ชื่อวิดีโอ และหน่วยความจำที่ใช้
เมนูโปรแกรมช่วย
เมนูโปรแกรมช่วย คือเมนูที่รวบรวมโปรแกรมอรรถประโยชน์ต่างๆ
หรือโปรแกรมจำพวก Organizer เอาไว้ให้ได้ใช้งาน
เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน ซึ่งได้แก่
ตัวแปลงหน่วย, ปฏิทิน, สมุดบันทึก, เครื่องคิดเลข
และนาฬิกา
ลักษณะของโปรแกรมตัวแปลงหน่วย ซึ่งสามารถใช้แปลงหน่วยได้หลายรูปแบบ
เช่น สกุลเงิน, พื้นที่, พลังงาน, ความยาว,
มวล, กำลังไฟฟ้า, ความดัน หรืออุณหภูมิ เป็นต้น


 ปฏิทิน
สามารถบันทึกนัดหมายได้หลายรูปแบบ ทั้งการประชุม,
บันทึก, วันครบรอบ หรือบันทึกสิ่งที่ต้องทำ
โดยสามารถตั้งค่าการใช้งานเพิ่มเติมได้ด้วย
เช่น เสียงปลุก, มุมมอง, วันเริ่มสัปดาห์
หรือหัวเรื่องสัปดาห์ เป็นต้น
ลักษณะหน้าตาของโปรแกรมสมุดบันทึก
ลักษณะหน้าตาของโปรแกรมเครื่องคิดเลข

การตั้งค่าเกี่ยวกับเวลาและวันที่สามารถทำจากเมนูนี้ได้
ทั้งการตั้งเวลา, เขตเวลา, วันที่, รูปแบบวันที่,
แบบเสียง หรือวันทำงาน เป็นต้น
สามารถใช้งานเป็นนาฬิกาปลุกได้ในตัว รวมถึงการกำหนดการปลุกซ้ำ
หรือวันที่ต้องการปลุก
 สามารถเทียบเวลากับเมืองต่างๆ
ทั่วโลกได้
เมนูเครื่องเล่น
เมนูเครื่องเล่น คือเมนูที่มีไว้สำหรับเปิดเล่นไฟล์เพลงต่างๆ
เช่นไฟล์เพลงแบบ MP3 เป็นต้น
ลักษณะหน้าตาของโปรแกรมเล่นเพลงจะเป็นดังรูป
ซึ่งการออกแบบก็ดูธรรมดาทั่วๆ ไป
สามารถค้นหาเพลงจากคลังเพลงได้ โดยผู้ใช้อาจเลือกตัวกรองเพื่อช่วยในการค้นหาได้
ซึ่งได้แก่ แทร็คทั้งหมด, ศิลปิน, อัลบั้ม,
รายการแทร็ค, ประเภท และผู้เรียบเรียง
สามารถเลือกให้เล่นแบบสุ่ม หรือเล่นซ้ำได้
สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบของเสียงเพลงได้ด้วยอีควอไลเซอร์
ซึ่งในเครื่องมีไว้ให้ 5 รูปแบบคือ ค่าที่ตั้งไว้,
คลาสสิก, แจ๊ส, ป๊อป และร็อค แต่ผู้ใช้ก็สามารถกำหนดรูปแบบของอีควอไลเซอร์ตามที่ตนเองต้องการได้ด้วยเช่นกัน
สามารถปรับสมดุลของเสียงด้านซ้าย และเสียงด้านขวาได้
สามารถตั้งรูปแบบของการสะท้อนได้ ซึ่งได้แก่
ห้องเสียงสะท้อน, ห้องน้ำ, ใต้น้ำ, ห้องขนาดเล็ก
และห้องขนาดกลาง
มีฟังก์ชันขยายเสียงเบส หรือเสียงทุ้มมาให้ด้วย
สามารถกำหนดให้เพลงที่เลือกอยู่ ให้ใช้เป็นเสียงเรียกเข้าได้
 หากต้องการดูรายละเอียดของไฟล์เพลงแต่ละไฟล์ก็สามารถทำได้
เมนูคลังภาพ
เมนูคลังภาพ คือเมนูที่รวบรวมไฟล์มัลติมีเดียต่างๆ
เอาไว้เป็นหมวดหมู่ ซึ่งได้แก่ รูปภาพ, คลิปวิดีโอ,
แทร็ค, คลิปเสียง, ลิงค์การสตรีม, การนำเสนอ
และแสดงทุกไฟล์
 สามารถเปิดดูรูปภาพ
และสามารถส่งรูปภาพไปทางข้อความมัลติมีเดีย
หรือทาง Bluetooth ได้
สามารถตกแต่งแก้ไขรูปภาพได้ เช่น ใส่เอฟเฟ็กต์,
การหมุน, การตัด หรือการใส่ตัวหนังสือ เป็นต้น
สามารถกำหนดให้ใช้รูปภาพกับรายชื่อที่ต้องการ
หรือใช้เป็นภาพพื้นหลังได้
สามารถหมุนรูปภาพได้ทั้งทางซ้าย และทางขวา
สามารถแสดงรายละเอียดของไฟล์รูปภาพได้
สามารถเปิดดูวิดีโอคลิปได้แบบเต็มจอ และสามารถดูรายละเอียดของไฟล์วิดีโอคลิปได้

หากเปิดไฟล์แทร็คใดๆ ขึ้นมา เครื่องก็จะทำการเรียกโปรแกรมเล่นไฟล์เพลงขึ้นมาโดยอัตโนมัติ
ซึ่งโปรแกรมนี้ได้กล่าวถึงไว้แล้วในเนื้อหาด้านบน
คลิปเสียงที่บันทึกไว้ก็สามารถเรียกฟังด้วยโปรแกรมเล่นไฟล์เพลงได้ด้วยเช่นกัน
 นอกจากนั้น
โฟลเดอร์ที่เหลือก็จะเป็นโฟลเดอร์สำหรับเก็บบันทึกข้อมูลของ
ลิงค์การสตรีม, การนำเสนอ และการแสดงไฟล์ทุกประเภท
เมนูดาวน์โหลด
 เมนูดาวน์โหลด
คือเมนูที่มีไว้สำหรับจัดการๆ ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันต่างๆ
ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อนำมาติดตั้ง และใช้งานในโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้
เมนูแอปพลิเคชัน
เมนูแอปพลิเคชัน คือเมนูที่รวบรวมแอปพลิเคชันต่างๆ
ไว้มากมาย สำหรับการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป
โดยแบ่งเป็น วิธีใช้, ส่วนตัว, สนทนา, ยินดีต้อนรับ,
เกมส์, Quickoffice และ Adobe PDF
แอปพลิเคชันวิธีใช้ เป็นแอปพลิเคชันที่รวบรวมข้อมูลสำหรับการแนะนำ
หรือสอนการใช้งานฟังก์ชันต่างๆ ภายในเครื่อง
ซึ่งมีให้เลือกดูอย่างมากมาย เช่นวิธีใช้กล้องดิจิตอล,
วิธีการตั้งค่า หรือวิธีการรับส่งข้อความ
เป็นต้น
ในกลุ่มของแอปพลิเคชันส่วนตัว จะประกอบไปด้วย
ข้อมูล GPS, สถานที่ รวมถึงโปรแกรมที่ผู้ใช้ติดตั้งเข้าไปเองในภายหลัง

หากมีอุปกรณ์สำหรับรับสัญญาณ GPS ก็สามารถใช้งานโปรแกรมข้อมูล
GPS ได้ ซึ่งจะมีตัวช่วยสำหรับการนำทางให้ใช้งานด้วย
ในแอปพลิเคชันสถานที่ จะมีไว้สำหรับเก็บบันทึกข้อมูลของสถานที่ต่างๆ
ที่ผู้ใช้ต้องการจดจำ
 โปรแกรมสนทนา
มีไว้สำหรับการสนทนาแบบ Instant Messaging
หรือเรียกง่ายๆ ว่าการ Chat นั่นเอง
ในส่วนของยินดีต้อนรับ จะประกอบไปด้วย
3 ส่วนย่อย คือ บทแนะนำ, ตัวช่วย และถ่ายโอน
 ในส่วนของตัวแนะนำ
ผู้ใช้สามารถเพลิดเพลินไปกับการแนะนำการใช้งานในส่วนต่างๆ
ด้วยรูปแบบของไฟล์ Flash ที่มีความเคลื่อนไหว
และมีเสียงประกอบ ทำให้ดูแล้วไม่น่าเบื่อ
มีตัวช่วยในการตั้งค่าการเชื่อมต่อมาให้ด้วย
 สามารถถ่ายโอนข้อมูลกับโทรศัพท์มือถือเครื่องอื่นได้ตามต้องการ
เช่นการถ่ายโอนข้อมูลรายชื่อ เป็นต้น
 ในเครื่อง
6120 Classic จะมีเกมส์ติดตั้งไว้ให้ 2 เกมส์คือ
เกม Marble Cannon และเกม City Bloxx
ลักษณะหน้าตาของเกม Marble Cannon
ลักษณะหน้าตาของเกม City Bloxx
โปรแกรม Quickoffice มีไว้สำหรับเปิดอ่านไฟล์เอกสาร
Office ซึ่งได้แก่ Word, Excel และ PowerPoint
แต่ไม่สามารถแก้ไขได้
 โปรแกรม
Adobe Reader LE 1.5 ซึ่งมีไว้สำหรับเปิดอ่านไฟล์แบบ
PDF นั่นเอง
เมนูบทแนะนำ
 เมนูบทแนะนำ
คือเมนูที่รวบรวมไฟล์แนะนำตัวเครื่อง Nokia
6120 Classic รวมถึงการใช้งานในส่วนต่างๆ
ซึ่งอยู่ในรูปแบบของ Flash Animation ที่เป็นภาพเคลื่อนไหวสวยงาม
พร้อมเสียงประกอบ ซึ่งผู้ใช้น่าจะเปิดดูได้อย่างเพลิดเพลิน
และไม่เบื่อง่ายๆ
คุณสมบัติเด่นที่น่าสนใจ
- รองรับระบบเครือข่าย GSM, 3G และ
HSDPA : นอกจาก Nokia 6120 Classic จะสามารถรองรับเครือข่ายแบบ
GSM ได้ตามปกติแล้ว ยังสามารถรองรับการใช้งานกับเครือข่าย
3G และ HSDPA (High-Speed Downlink Packet
Access) ได้ด้วย ซึ่งทำให้มีข้อได้เปรียบในอนาคต
ถึงแม้ว่าในขณะนี้ระบบเครือข่ายแบบ 3G ในประเทศไทยยังไม่ถือกำเนิดอย่างเต็มตัวก็ตาม
ยกตัวอย่างเช่นการสนทนาพร้อมภาพวิดีโอ หรือ
Video Calling ซึ่งหากใช้งานได้จริงเมื่อไหร่ก็ถือว่าน่าสนใจไม่น้อย
- ระบบปฏิบัติการ Symbian OS เวอร์ชัน
9.2 Series 60 UI Release 3.1: ระบบปฏิบัติการที่ใช้ใน
Nokia 6120 Classic เป็นระบบปฏิบัติการ Symbian OS
เวอร์ชันใหม่ ซึ่งก็คือเวอร์ชัน 9.2 และมีลักษณะหน้าตา
หรือ User Interface แบบ Series 60 UI Release
3.1 ซึ่งมีระบบการทำงานที่รวดเร็วและเสถียรมากขึ้น
เมนูหรือส่วนติดต่อผู้ใช้ต่างๆ ดูสวยงามทันสมัยมากขึ้น
รองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น หรือมีฟังก์ชันการทำงานที่หลากหลายมากขึ้น
เป็นต้น โดยเฉพาะเรื่องความรวดเร็วในการประมวลผลนั้นจะเห็นได้ค่อนข้างชัดเจน
ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นที่สำคัญอย่างหนึ่งของ
Nokia 6120 Classic เครื่องนี้เลยทีเดียว
- จอแสดงผล TFT LCD 16 ล้านสี ความละเอียดระดับ
QVGA กว้าง 2 นิ้ว : จอแสดงผลของ Nokia
6120 Classic จะเป็นจอภาพแบบ TFT LCD ซึ่งแสดงสีสันได้ถึง
16 ล้านสี และมีความละเอียดที่ค่อนข้างสูงคือ
QVGA หรือมีความละเอียด 320x240 พิกเซล ซึ่งทำให้การแสดงผลมีความคมชัดสูง
สีสันสดใส ความสว่างเพียงพอ แต่น่าเสียดายอยู่เล็กน้อยคือความกว้างของหน้าจอมีเพียง
2 นิ้วเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้การแสดงผลมองเห็นได้ไม่เต็มตามากเท่าที่ควร
- หน่วยความจำภายในขนาด 35 MB พร้อมรองรับ
microSD Card ได้สูงสุดขนาด 2 GB : หน่วยความจำภายในของ
6120 Classic ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการจะมีอยู่ทั้งหมด
35 MB ซึ่งก็ถือว่ามีจำนวนที่เพียงพอต่อการเก็บบันทึกข้อมูลในระดับหนึ่ง
ทั้งไฟล์รูปภาพ, ไฟล์เพลง, ไฟล์วีดีโอ และอื่นๆ
แต่อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าการใช้งานของผู้ใช้ในปัจจุบันจะต้องการขนาดความจุของหน่วยความจำที่มากกว่า
35 MB ไปแล้ว เนื่องจากข้อมูลมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น
มีไฟล์ที่น่าสนใจให้เก็บบันทึกมากขึ้น ซึ่ง
6120 Classic ก็สามารถรองรับกับการเก็บบันทึกข้อมูลที่มากขึ้นนี้ได้
ด้วยการรองรับการใส่การ์ดหน่วยความจำเสริมแบบ
microSD Card ได้นั่นเอง
และตามข้อมูลจากทางศูนย์ ในชุดขายมาตรฐานของ
6120 Classic ก็จะแถม microSD Card มาให้ใช้งานขนาด
256 MB อีกด้วย
- กล้องดิจิตอลพร้อมไฟแฟลชที่ด้านหลังของตัวเครื่อง
ความละเอียด 2 ล้านพิกเซล : กล้องดิจิตอลของ
6120 Classic เป็นกล้องดิจิตอลที่สามารถถ่ายภาพได้ที่ความละเอียดสูงสุด
2 ล้านพิกเซล หรือ 1600x1200 Pixels นอกจากนั้นก็ยังมีไฟแฟลชในตัวที่ช่วยให้แสงสว่างในที่มืดได้ด้วย
ส่วนคุณภาพของรูปภาพที่ถ่ายได้นั้นถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง
ไม่ดีไม่ด้อยเป็นพิเศษ เก็บรายละเอียดได้พอสมควร หากถ่ายในที่ๆ
แสงน้อยสีสันก็จะไม่สดใส แต่ถ้าหากถ่ายในที่ๆ
มีแสงสว่างเพียงพอก็จะได้สีสันที่สดใส สำหรับคุณสมบัติโดยละเอียดของกล้องดิจิตอลของ
Nokia 6120 Classic จะมีดังต่อไปนี้
- กำหนดความละเอียดของการถ่ายภาพนิ่งได้
3 ระดับ ได้แก่ 1600x1200, 1152x864, 640x480
และ 320x240 Pixels - มีไฟแฟลชในตัว -
ซูมภาพได้ 4 ระดับ (Digital Zoom) - มีโหมดหลักสำหรับการถ่ายภาพ
3 โหมด คือ โหมดภาพนิ่ง, โหมดวิดีโอ และโหมดทัศนียภาพ -
โหมดการถ่ายภาพในแนวกว้าง (Panorama) -
โหมดถ่ายภาพในที่มืด (Night Mode) - โหมดถ่ายภาพต่อเนื่อง
(Multi-Shot) - ตั้งเวลาถ่ายภาพล่วงหน้า
(10, 20 และ 30 วินาที) - ปรับค่า White
Balance ได้ 4 รูปแบบ (อัตโนมัติ, แสงจ้า,
แสงไฟทังสเตน และแสงไฟนีออน) - ปรับค่าโทนสีได้
4 รูปแบบ (ปกติ, ซีเปีย, ขาวดำ และเนกาทีฟ) -
กำหนดคุณภาพของภาพถ่ายได้ 3 ระดับ (สูง, ปกติ,
พื้นฐาน) - กำหนดความละเอียดของวิดีโอได้
3 ระดับ (320x240, 176x144 และ 128x96 Pixels) -
บันทึกวิดีโอในรูปแบบไฟล์ H.263 (3gpp) และ
MPEG4
สำหรับตัวอย่างภาพถ่ายที่ได้จากกล้องดิจิตอลของ
Nokia 6120 Classic จะมีดังต่อไปนี้
.jpg)
.jpg)
.jpg) ภาพถ่ายความละเอียด
1600x1200 Pixels : โหมดการถ่ายภาพแบบอัตโนมัติ
: คุณภาพสูง
.jpg) ภาพถ่ายความละเอียด
483x233 Pixels : โหมดทัศนียภาพ
.jpg) ทดสอบการถ่ายภาพโดยการปรับค่า
White Balance เป็นแบบ อัตโนมัติ, แสงจ้า,
แสงไฟทังสเตน และแสงไฟนีออน ตามลำดับ
.jpg) ทดสอบการถ่ายภาพโดยการปรับโทนสี
เป็นแบบ ปกติ, ซีเปีย, ขาวดำ และเนกาทีฟ ตามลำดับ
.jpg) ทดสอบการซูมขยายภาพ
1X, 2X และ 4X ตามลำดับ
.jpg) ทดสอบการถ่ายภาพโดยใช้โหมดการถ่ายภาพในแนวกว้าง
(Panorama Mode)
.jpg) ทดสอบการถ่ายภาพโดยไม่เปิดใช้ไฟแฟลช
และเปิดใช้ไฟแฟลช
.jpg) ภาพวิดีโอความละเอียด
320x240 Pixels (QVGA)
- กล้องดิจิตอลสำหรับใช้งาน Video Calling
ที่ด้านหน้าของตัวเครื่อง : กล้องดิจิตอลขนาดเล็กที่อยู่ด้านหน้าของตัวเครื่องนั้น
สามารถถ่ายภาพได้ความละเอียดสูงสุดที่ 352x240
Pixels (QVGA) ส่วนการถ่ายภาพวิดีโอนั้นสามารถถ่ายได้สูงสุดที่
176x144 Pixels (QCIF) โดยตามสเปคระบุว่ากล้องตัวนี้มีความละเอียดสูงสุดที่
CIF+ หรือ 352x440 Pixels ซึ่งจริงๆ แล้วกล้องตัวนี้ไม่ได้เน้นที่การถ่ายภาพเป็นหลัก
แต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการใช้งานเป็นกล้องสำหรับการสนทนาพร้อมภาพวีดีโอ
(Video Calling) นั่นเอง แต่ระบบเครือข่ายในบ้านเรายังไม่สามารถรองรับกับการใช้งานตรงนี้ได้
ดังนั้นในตอนนี้กล้องตัวนี้จึงเป็นได้แค่กล้องสำหรับใช้ถ่ายรูปตัวเองได้สะดวกมากขึ้นเท่านั้นเอง
- เชื่อมต่อข้อมูลผ่านทาง Bluetooth และสาย Data Cable : ช่องทางการเชื่อมต่อข้อมูลที่มีให้ใน
Nokia 6120 Classic นั้นมีมาให้ค่อนข้างครบถ้วน ทั้งการเชื่อมต่อข้อมูลแบบไร้สายผ่าน
Bluetooth รวมถึงการเชื่อมต่อข้อมูลแบบใช้สายผ่าน
Data Cable ซึ่งมีอินเทอร์เฟสการเชื่อมต่อแบบ
miniUSB ซึ่งสำหรับการใช้ Bluetooth นั้นเป็นไปได้อย่างอิสระ ไม่ต้องมีการติดตั้งอะไรเพิ่มเติม
และสามารถรองรับการใช้งานร่วมกับหูฟัง Bluetooth
แบบ Stereo ได้ (A2DP) ส่วนสาย Data
Cable ที่ใช้นั้นจะเป็นสายรุ่น DKE-2
- เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านระบบ WCDMA/HSDPA,
EDGE หรือ GPRS :
การเชื่อมต่อข้อมูลผ่านเครือข่ายของ 6120
Classic สามารถเชื่อมต่อได้ทั้งระบบ WCDMA
(384 kbps), HSDPA (1.8 Mbps), EDGE Class
32 และ GPRS Class 32 ซึ่งถือว่าค่อนข้างครบถ้วนแล้วสำหรับโทรศัพท์มือถือระดับนี้
ส่วนโปรแกรม Browser ที่ติดตั้งมากับเครื่องนั้นเป็นเพียง
Browser แบบพื้นฐานเท่านั้น มีลูกเล่นค่อนข้างน้อย
ดังนั้นหาต้องการ Browser ที่ดีและมีลูกเล่นมากกว่านี้
ผู้ใช้ก็คงต้องไปหาโปรแกรม Browser มาติดตั้งเพิ่มเติมเองอีกครั้งหนึ่ง
- โปรแกรมเล่นไฟล์วิดีโอ และไฟล์เพลง
พร้อมลำโพง Loudspeaker ในตัว : สำหรับโปรแกรมเล่นไฟล์เพลงใน
6120 Classic นั้น สามารถรองรับรูปแบบของไฟล์เพลงได้หลากหลาย
ได้แก่ MP3, M4A, eAAC+ และ WMA
มีฟังก์ชันในการฟังเพลงพื้นฐานครบถ้วน และสามารถปรับอีควอไลเซอร์ได้
ส่วนการเล่นไฟล์วิดีโอก็จะมีโปรแกรม RealPlayer
ซึ่งรองรับการเล่นไฟล์แบบ H.264(MPEG4), 3gpp
และ Real Codecs จึงถือว่า 6120 Classic
นี้สามารถรองรับการเล่นไฟล์เพลงและไฟล์วีดีโอได้อยู่พอสมควร
แต่ก็อาจจะมีลูกเล่นที่ไม่หลากหลายมากเท่าไหร่
ส่วนคุณภาพเสียงที่ได้ยินจากหูฟังนั้นน่าเสียดายที่ไม่ได้รับหูฟังแบบ
Stereo รุ่น HS-47 มาทดสอบด้วย
จึงไม่สามารถสรุปได้ว่าเสียงที่ได้ยินจากหูฟังนั้นมีความไพเราะมากน้อยเพียงใด
แต่สำหรับเสียงที่ได้ยินจากลำโพง Loudspeaker
นั้นถือว่าค่อนข้างดี โดยเฉพาะในเรื่องของพลังเสียง,
ความดัง หรือความชัดเจน แต่ในเรื่องของรายละเอียด หรือความไพเราะอาจจะไม่ถึงกับดีที่สุด
และยังด้อยกว่าลำโพงของโทรศัพท์มือถือที่เน้นเรื่องการฟังเพลงบางรุ่นอยู่บ้างพอสมควร
และยังมีข้อด้อยอีกประการหนึ่งคือ หากเปิดเสียงในระดับดังสูงสุด
ลำโพงจะเกิดอาการเสียงแตกอยู่พอสมควร
- วิทยุ FM Stereo ในตัว พร้อมรองรับ
Visual Radio : นอกจากจะสามารถฟังเพลงจากไฟล์เพลงรูปแบบต่างๆ
ได้แล้ว 6120 Classic ก็ยังสามารถฟังเพลงหรือรายการต่างๆ
ผ่านทางวิทยุ FM Stereo ได้ด้วย ซึ่งวิทยุ
FM Stereo ใน 6120 Classic นี้ก็มีฟังก์ชันการทำงานพื้นฐานคล้ายกันกับวิทยุ
FM Stereo ที่มีอยู่ในโทรศัพท์มือถือค่าย
Nokia อีกหลายรุ่น เช่น การค้นหาคลื่นความถี่อัตโนมัติ,
การบันทึกสถานีวิทยุ, การเปิดฟังเสียงผ่านทางลำโพง
Loudspeaker หรือการตั้งค่าความถี่แบบทศนิยม
2 หลักเป็นต้น และความสามารถที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือสามารถรองรับการใช้งานระบบ
Visual Radio ได้ด้วย ส่วนประสิทธิภาพในเรื่องของการรับสัญญาณวิทยุนั้นก็ถือว่าทำได้ชัดเจนปกติดีอย่างที่ควรจะเป็น
คุณสมบัติอื่นๆ ที่น่าสนใจ
- วัสดุ การประกอบ ความแข็งแรง และน้ำหนัก : วัสดุที่นำมาใช้กับ Nokia 6120
Classic นั้นจะเป็นวัสดุพลาสติกแทบทั้งหมด
แต่การประกอบนั้นก็สามารถทำได้อย่างแน่นหนาแข็งแรงเป็นอย่างดี
มีขนาดที่เล็กกระทัดรัด ตัวเครื่องไม่หนา อีกทั้งยังมีน้ำหนักที่เบาอีกด้วย
แต่พื้นผิวส่วนที่เป็นพื้นผิวดำมันจะเกิดรอยเปื้อน
หรือรอยขีดข่วนได้ง่าย ดังนั้นการใช้งานต้องดูแลรักษากันมากเป็นพิเศษ
ส่วนปุ่มกดนั้นถือว่าเล็กสำหรับผู้ใช้ที่มีนิ้วมือใหญ่
และมีลักษณะที่แบนราบเสมอกัน ทำให้การกดอาจจะผิดพลาดได้บ่อยครั้ง
อีกทั้งปุ่มกดตัวเลขยังมีเสียงของการเสียดสีให้ได้ยินอยู่บ้างขณะที่ทำการกด
- ประสิทธิภาพในการสนทนา : คุณสมบัติเบื้องต้นสำหรับการรองรับระบบสัญญาณของ
Nokia 6120 Classic นั้นคือ Dual Mode - Quad Band (WCDMA/HSDPA
850/2100 - GSM 850/900/1800/1900
MHz) ซึ่งในเบื้องต้นการสแกนหาคลื่นสัญญาณขณะเปิดเครื่องขึ้นมานั้น
สามารถทำได้รวดเร็วดี และระหว่างที่อยู่ในสถานะ
Standby ไม่พบอาการที่เรียกว่าสัญญาณแกว่งหรือสัญญาณหายแต่อย่างใด ส่วนประสิทธิภาพขณะที่ใช้งานสนทนานั้น
ถือว่าอยู่ในระดับที่ปกติดี เสียงที่ได้ยินดังชัดเจน
แต่อย่างไรก็ตามยังถือว่าไม่ถึงกับดังมากที่สุด
- ความเสถียรของระบบ และความเร็วในการประมวลผล
: ความเสถียร และความรวดเร็วในการประมวลผลของ
Nokia 6120 Classic นั้นสามารถนับเป็นข้อดีของตัวเครื่องรุ่นนี้ได้เลยทีเดียว
เนื่องจากเท่าที่ได้ลองใช้งานดูถือเป็นโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนที่มีความเสถียร
และทำงานได้รวดเร็วทันใจที่สุดรุ่นหนึ่งก็ว่าได้
ไม่มีอาการหน่วง หรือเครื่องค้างระหว่างการใช้งานให้เห็น
เช่นในเรื่องของการถ่ายภาพและบันทึกไฟล์ภาพนั้นสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว
- การรองรับการใช้งานภาษาไทย :
ระบบภาษาไทยของ 6120 Classic นั้น ก็ถือว่ามีมาให้อย่างครบครันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
โดยไม่ต้องมีการติดตั้งโปรแกรมภาษาไทยหรือฟอนต์ภาษาไทยใดๆ
เพิ่มเติม
ตั้งแต่การแสดงข้อความหรือตัวหนังสือภาษาไทย,
การพิมพ์ข้อความภาษาไทย, ระบบสะกดคำอัตโนมัติภาษาไทย,
เมนูใช้งานภาษาไทย รวมถึงแผงปุ่มกดที่มีตัวอักษรภาษาไทยกำกับอยู่ด้วย
(หากเป็นเครื่องศูนย์ในไทย)
และสำหรับการแสดงผลตัวสระ, พยัญชนะ
หรือวรรณยุกต์ ภาษาไทยนั้นมีการจัดเรียงในตำแหน่งที่ปกติดี
- อัตราความสิ้นเปลืองพลังงาน :
แบตเตอรี่ของ 6120 Classic นั้นเป็นแบตเตอรี่แบบ Lithium Ion
รุ่น BL-5B
ขนาดความจุ 890 mAh ซึ่งอัตราความสิ้นเปลืองพลังงานของ 6120
Classic นั้น เท่าที่ทดสอบใช้งานมาระยะหนึ่งพบว่ามีอัตราความสิ้นเปลืองพลังงานที่ค่อนข้างสูง
แบตเตอรี่หมดค่อนข้างไวไปสักหน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากใช้งานฟังก์ชันที่ต้องอาศัยพลังงานสูง
เช่น ดูหนังฟังเพลง, ถ่ายภาพ หรือเชื่อมต่อผ่าน
Bluetooth ก็จะยิ่งทำให้สิ้นเปลืองพลังงานจากแบตเตอรี่มากเป็นพิเศษ
เท่าที่ใช้งานแบบค่อนข้างหนัก แบตเตอรี่จะอยู่ได้ประมาณ
1-2 วัน กล่าวคืออาจจะต้องชาร์จแบตเตอรี่กันแบบวันต่อวันเลยก็เป็นได้ แต่ถ้าหากไม่ค่อยได้ใช้งานมากนัก
แบตเตอรี่ก็จะอยู่ได้ประมาณ 3-4 วัน
อย่างไรก็ดี หากมีการอัพเฟิร์มแวร์เวอร์ชันใหม่ๆ
ก็อาจจะช่วยให้สามารถประหยัดพลังงานได้มากขึ้นก็เป็นได้
สรุปส่งท้าย
จากการทดสอบการใช้งานมาได้ประมาณ 1 สัปดาห์ กับ Nokia 6120 Classic
ก็พอจะมองเห็นอะไรหลายๆ
อย่างจากโทรศัพท์มือถือรุ่นนี้ จึงขอสรุปเป็นจุดเด่นและจุดด้อยตามความคิดเห็นส่วนตัวคร่าวๆ
ดังนี้
จุดเด่น
- การประมวลผลค่อนข้างรวดเร็วทันใจ มีความเสถียรสูง -
รองรับระบบ 3G หรือ HSDPA - ทำงานบนระบบปฏิบัติการ
Symbian OS ทำให้มีความยืดหยุ่นในการใช้งานสูง -
หน้าจอมีความละเอียดสูง สีสันสดใส - เสียงลำโพงค่อนข้างดังชัดเจน -
ตัวเครื่องมีขนาดที่เล็กกระทัดรัด น้ำหนักเบา และค่อนข้างบาง -
ราคาไม่สูง เมื่อเทียบกับความเป็นสมาร์ทโฟนซึ่งมีความสามารถค่อนข้างครบถ้วน -
มีกล้องดิจิตอลสำหรับใช้งาน Video Calling
ที่ด้านหน้าของตัวเครื่อง - สามารถใส่
microSD Card ได้ - มีการเชื่อมต่อที่ค่อนข้างครบถ้วนทั้ง
EDGE, GPRS, Bluetooth - สามารถฟังเพลง
หรือดูวิดีโอได้ พร้อมทั้งมีวิทยุ FM ในตัว -
กล้องดิจิตอลในตัว ความละเอียดระดับ 2 ล้านพิกเซล
จุดด้อย
- ความกว้างของหน้าจอไม่มากเท่าที่ควร -
บริเวณพื้นผิวที่มีลักษณะดำมันจะเกิดรอยเปื้อน
หรือรอยขีดข่วนได้ง่าย - ความหลากหลายของลูกเล่นบางอย่างยังเป็นรองสมาร์ทโฟนโฟนตระกูล
NSeries - ลำโพงมีอาการเสียงแตกเมื่อปรับความดังของเสียงในระดับสูงสุด -
ตัวเครื่องค่อนข้างร้อนเมื่อใช้สนทนาเป็นระยะเวลานานๆ -
แบตเตอรี่หมดค่อนข้างเร็ว - ปุ่มกดบางปุ่มมีเสียงดังเล็กน้อยเมื่อทำการกด -
ปุ่มกดเล็ก และแบนราบไปสักหน่อย โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีนิ้วมือขนาดใหญ่
คะแนน TMC Point
การออกแบบดีไซน์ : 8.0/10
ใช้งานง่าย : 8.0/10
คุณสมบัติเครื่อง : 8.5/10
ฟังก์ชันการใช้งาน : 8.5/10
เสถียรภาพและประสิทธิภาพในการใช้งาน : 9.5/10
ราคาคุ้มค่า : 8.5/10
คะแนนรวม 8.58/10
โปรดทราบ
* โทรศัพท์มือถือที่ท่านเห็นในบทความรีวิวนี้เป็นเพียงเครื่องทดสอบจากทางศูนย์
เพราะฉะนั้นคุณสมบัติบางอย่างอาจมีความแตกต่างจากเครื่องที่วางจำหน่ายจริงบ้างไม่มากก็น้อย
รวมถึงจุดด้อยบางประการที่พบในเครื่องทดสอบ
อาจจะถูกแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นในเครื่องที่วางจำหน่ายจริง
ดังนั้นหากท่านสนใจซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นนี้
ควรตรวจสอบหรือทดลองใช้งานสินค้าด้วยตนเองอีกครั้งหนึ่ง
*
สรุปคุณสมบัติเครื่อง
ท่านสามารถตรวจสอบคุณสมบัติแบบสรุป (Specification) ของ Nokia
6120 Classic ได้โดยการคลิ๊กที่ Link ด้านล่างนี้
Nokia
6120 Classic Specification
ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตาม
Oska (Editor
in Chief : Thaimobilecenter.com) : [email protected]
:: ไปหน้าแรกเว็บไซต์ Thaimobilecenter
| ไปหน้าแรก
Mobile Focus ::
|