ทำไมมือถือ Android ของคุณถึงไม่ได้อัปเดตเวอร์ชันใหม่? ถ้าอยากอัปเดตให้ทันสมัยตลอดต้องทำอย่างไร? บทความนี้มีคำตอบ!
ย้อนกลับไปในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้ สมาร์ทโฟน Android OS หลายๆ รุ่นมักจะไม่มีกำหนดการอัปเดตซอฟต์แวร์อย่างแน่นอนนัก เรียกได้ว่าถ้ามีให้อัปเดตตอนไหนก็ได้รับตอนนั้น และแบรนด์มือถือแต่ละแบรนด์ก็ปล่อยการอัปเดตออกมาในช่วงเวลาที่แตกต่างกันด้วย ซึ่งในบางปีก็มีการอัปเดตระบบหลายครั้งทีเดียว แต่ในปัจจุบันนี้ Google เจ้าของระบบปฏิบัติการ Android OS ที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลกได้ปรับแผนใหม่ ด้วยการเปิดตัวระบบปฏิบัติการหลัก 1 เวอร์ชันต่อปี และออกอัปเดต Security Patch อย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้งเพื่อป้องกันอันตรายทางไซเบอร์ต่างๆ
แต่แม้ว่า Google จะเปิดตัว Android OS เวอร์ชันใหม่ปีละครั้ง และอัปเดตแพตช์อีกอย่างน้อยเดือนละครั้ง แต่สมาร์ทโฟนที่จะได้รับการอัปเดตแบบส่งตรงจาก Google ทันทีที่เปิดตัว หรือเปิดให้อัปเดต ก็คือสมาร์ทโฟนที่ผลิตจาก Google เท่านั้น นั่นก็คือ สมาร์ทโฟนตระกูล Google Pixel หรือก่อนหน้านี้ก็คือกลุ่มสมาร์ทโฟนในตระกูล Nexus แต่ในปัจจุบันมีสมาร์ทโฟนในโครงการ Android One เพิ่มเติมเข้ามาด้วย ซึ่ง Android One เป็นสมาร์ทโฟนหลายแบรนด์หลายระดับที่เข้าร่วมโครงการเพื่อรับอัปเดตจาก Google โดยตรงแบบเดียวกับมือถือที่ผลิตโดย Google แต่สำหรับสมาร์ทโฟนแบรนด์อื่นที่ใช้งาน Android OS จะต้องรอจนกว่าทางค่ายจะปรับแต่ง OS เวอร์ชันนั้นๆ ให้เหมาะสมกับการใช้งานของค่าย ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนานพอสมควร
แล้วอย่างนี้ ผู้ใช้มือถือ Android ทั่วไปจะสามารถรู้ได้อย่างไรกันว่ามือถือที่ใช้งานอยู่นั้นจะมีสิทธิ์ได้ไปต่อกับ OS เวอร์ชันใหม่ๆ หรือไม่ อะไรที่เป็นปัจจัยในการตัดสินของค่ายว่ามือถือรุ่นใดควรได้ไปต่อ แล้วการที่มือถือรุ่นนั้นไม่ได้รับอัปเดต OS เท่ากับว่าจะไม่สามารถใช้งานได้อีกเลยหรือไม่ ถูกลอยแพจริงๆ อย่างที่มีกระแสกันหรือเปล่า วันนี้เรามาลองทำความเข้าใจ และรู้จักกับการอัปเดต Android OS ให้มากขึ้นกันครับ
กว่าสมาร์ทโฟนจะได้อัปเดต Android เวอร์ชันใหม่ ต้องผ่านอะไรมาบ้าง?
ก่อนอื่นเราต้องมาทำตวามเข้าใจกันก่อนว่า กว่าที่สมาร์ทโฟนแต่ละแบรนด์จะได้รับอัปเดตระบบปฏิบัติการ Android รวมถึงแพทซ์ความปลอดภัย ต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง และเป็นเหตุผลว่าทำไมมือถือบางรุ่นถึงอัปเดตช้า-เร็ว ไม่เท่ากัน หรือบางรุ่นก็ไม่ได้รับอัปเดตเลย โดยทาง Sony ได้อธิบายเอาไว้ดังนี้ครับ
กระบวนการปล่อยอัปเดต Android เวอร์ชันใหม่ : Phase 1
1. เริ่มแรก Google จะทำการส่ง Platform Development Kit (PDK) ซึ่งข้างใน PDK จะประกอบไปด้วย Source Files (ยังไม่มี Android ตัวจริง) มาให้กับแบรนด์ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนก่อนที่ Android เวอร์ชันใหม่จะมีการปล่อยอัปเดต เพื่อให้ทางแบรนด์ผู้ผลิตมีเวลาพัฒนา ทดสอบ และปรับจูน
2.หลังจากที่ Google ปล่อย Android เวอร์ชันใหม่ล่าสุดอย่างเป็นทางการแล้ว ทางแบรนด์จะเริ่มนำซอฟท์แวร์ของระบบ Android เวอร์ชันใหม่มาปรับจูนให้เข้ากับระบบของแบรนด์มือถือแต่ละค่าย
3.ทำ HAL (Hardware Abstraction Layer) ซึ่งเป็นการปรับจูนชิปแต่ละรุ่นของแต่ละแบรนด์ ให้สามารถทำงานร่วมกับซอฟท์แวร์ Android เวอร์ชันใหม่ได้ ซึ่งทาง Sony อธิบายว่ากระบวนการนี้ผู้ผลิตแบรนด์มือถือจะรับหน้าที่ในการพัฒนาด้วยตนเอง
4.เริ่มปรับจูนฟังก์ชันพื้นฐานให้สามารถทำงานร่วมกับ Android เวอร์ชันใหม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น ระบบการโทรเข้า-ออก, ระบบส่งข้อความ และระบบเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
5.เริ่มปรับจูนฟังก์ชันพิเศษของมือถือแต่ละแบรนด์ให้ทำงานร่วมกับ Android เวอร์ชชันใหม่ โดยอย่างเช่นในแบรนด์ Sony จะมีการใส่ฟีเจอร์ Lockscreen, รายชื่อผู้ติดต่อ, แอปฯ Music, แอปฯ Movies, แอปฯ Album, แอปฯ Camera ไปจนถึงแอปฯ Email เป็นต้น
6.ทำการเทสระบบ Android เวอร์ชันใหม่แบบภายใน ว่าสามารถทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟนของตนเองได้มีประสิทธิภาพมากพอในสำหรับใช้งานในชีวิตประจำวันหรือไม่ ซึ่งหากมีบั๊ก หรือปัญหาต่างๆ ก็จะได้รับการแก้ไขในจุดนี้ทันที
7.ในขณะที่ทดสอบระบบ Android แบบภายใน ทาง Sony จะมีการปล่อยให้ผู้ใช้ทั่วไปได้ทดสอบด้วย โดยการทดสอบครั้งนี้จะเน้นไปในเรื่องของความเสถียร และประสิทธิภาพการทำงานเป็นหลัก ซึ่งหากผลทดสอบออกมาเป็นที่น่าพอใจแล้ว ก็จะมีการส่งไปให้องค์กรอื่นๆ ทำการรับรองต่อไป
กระบวนการปล่อยอัปเดต Android เวอร์ชันใหม่ : Phase 2
8.ตรวจสอบว่าระบบต่างๆ มีประสิทธิภาพมากพอที่จะผ่านมาตรฐานทดสอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Bluetooth Certification หรือ Wi-Fi SIG
9.ผู้ให้บริการเครือข่ายบางรายจะมีการเข้ามาช่วยทดสอบซอฟท์แวร์ Android เวอร์ชันใหม่ที่แบรนด์ทำการพัฒนาแล้ว เพื่อช่วยให้มั่นใจว่า จะสามารถทำงานร่วมกับเครือข่ายนั้นๆ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
10.หลังจากที่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการปล่อย Android เวอร์ชันใหม่ล่าสุดให้กับผู้ใช้ทั่วไปได้ทำการอัปเดตใช้งาน
11.แม้ว่ากระบวนการพัฒนา Android เวอร์ชันใหม่จะเสร็จสิ้นแล้ว แต่งานของแบรนด์ผู้ผลิตมือถือยังไม่จบ เพราะต้องคอยตรวจสอบตามโซเชียลมีเดีย และฟอรั่มต่างๆ ว่าผู้ใช้ประสบปัญหาอะไรหรือไม่ โดยบริษัทจะนำฟีดแบ็คเหล่านี้ไปทำการวางแผนสำหรับปล่อยซอฟท์แวร์ Android เวอร์ชันใหม่ต่อไป
ทำไมมือถือบางรุ่นถึงไม่ได้อัปเดต Android เวอร์ชันใหม่?
อย่างที่ทราบกันดีในหมู่ผู้ใช้ว่า Android OS เป็นระบบปฏิบัติการแบบเปิดที่ใครก็สามารถนำไปใช้งานได้อย่างหลากหลาย ซึ่งแตกต่างกับ iOS ของ Apple ที่เป็นระบบปฏิบัติการแบบปิด มีให้ใช้งานเฉพาะ iDevice เท่านั้น ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมาตลอด 10 ปี Apple เปิดตัวไอโฟนไปแค่หลักสิบ แต่มือถือ Android ถูกเปิดตัวมากกว่านั้นหลายเท่า ซึ่งอาจอยู่ในหลักพันหรือหลักหมื่นเครื่องตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
เนื่องจากสมาร์ทโฟนที่ใช้งานระบบ Android OS มีอยู่มากมาย และมือถือรุ่นนั้นๆ ก็ใช้งานฮาร์ดแวร์ที่แตกต่างกันออกไป เช่น สมาร์ทโฟนระดับเริ่มต้นก็ถูกสร้างมาให้มีราคาวางจำหน่ายที่ค่อนข้างถูก เพื่อให้ผู้ใช้ได้เลือกซื้อกันง่ายขึ้น หรือมือถือเรือธงตัวท็อปของแต่ละค่ายที่ใช้งานฮาร์ดแวร์ระดับสูงสุดของปีนั้นๆ ทำให้บรรดาผู้ผลิตต้องปรับแต่ง Android OS ให้ใช้งานได้กับสมาร์ทโฟนแต่ละรุ่น ซึ่งยังไม่รวมถึงการปรับแต่งลูกเล่นต่างๆ หรือฟีเจอร์พิเศษอีกหลายรายการด้วย ทำให้ Android OS เป็นระบบปฏิบัติการที่ค่อนข้างเปิดกว้าง, เพิ่มเติมได้, แก้ไขได้, ใส่ลูกเล่นได้ ฯลฯ แต่ด้วยความเปิดกว้างนี้ก็ทำให้บางครั้งกลายเป็นเรื่องยุ่งยากในการแก้ไข หรือปรับแต่งในเวอร์ชันใหม่ๆ ด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม สมาร์ทโฟน Android ที่เป็นมือถือที่ผลิตขึ้นภายใต้การดูแลของ Google ในลักษณะเดียวกับ iPhone ของ Apple ในปัจจุบันก็คือ Google Pixel Series ที่ Google ได้ออกแบบระบบที่เป็นมิตร และเข้าถึง User Experience ได้ตามที่ตั้งใจไว้
ทำไมมือถือของคุณถึงไม่ได้ไปต่อ?
หากย้อนกลับไปดูกระบวนการพัฒนา Android เวอร์ชันใหม่ที่ Sony อธิบายไว้ จะเห็นได้ว่า การสร้างมือถือ Android ของผู้ผลิตแต่ละแบรนด์นั้น ทางแบรนด์จะต้องทำการปรับแต่งระบบปฏิบัติการ Android ให้ทำงานได้เฉพาะเจาะจงกับสมาร์ทโฟนรุ่นนั้นๆ ที่ผลิตออกมา ซึ่งผู้ผลิตแต่ละแบรนด์ต่างก็มี "คาแรคเตอร์" ที่แตกต่างกันออกไป ในที่นี้ก็คือ User Interface และลูกเล่นต่างๆ ที่ทำให้แบรนด์ของพวกเขาเหล่านั้นดูโดดเด่น และแตกต่างจากคู่แข่งรายอื่นๆ ซึ่งการปรับแต่งรายละเอียดยิบย่อยแต่ละอย่างนี้ใช้เวลาค่อนข้างมาก ดังนั้นเมื่อมีอัปเดตเวอร์ชันใหม่มา ทางแบรนด์ก็ต้องนำเอา Android OS เวอร์ชันใหม่ที่อยู่ในฐานะตัวกลางมาปรับแต่งระบบเพิ่มเติมให้เข้ากับสมาร์ทโฟนภายในค่าย และคาแรคเตอร์เฉพาะของตนเอง จึงจะสามารถปล่อยอัปเดตให้ผู้ใช้ทั่วไปได้ ดังนั้น การปล่อยอัปเดตของแต่ละแบรนด์ที่ล่าช้าออกไป จึงขึ้นอยู่กับความเร็วในการแก้ไขปรับแต่งระบบเป็นสำคัญ และสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เมื่อมีอัปเดตเวอร์ชันใหม่ สเปกเครื่องขั้นต่ำที่ต้องการก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้มือถือรุ่นเก่าๆ อาจไม่สามารถใช้งานได้ระบบใหม่ได้ดีพอ ทางค่ายจึงตัดสินใจไม่อัปเดตให้
นอกจากรายละเอียดในเรื่องของฮาร์ดแวร์แล้ว แผนการตลาด และการดำเนินธุรกิจก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน สมมติว่า แบรนด์สมาร์ทโฟนรายหนึ่งต้องเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ปีละประมาณ 8 รุ่น ด้วยกัน ถ้าหากแบรนด์ต้องเขียนระบบใหม่ให้กับสมาร์ทโฟนทั้ง 8 รุ่นเวลามีอัปเดต ปีต่อมาแบรนด์จะต้องเขียนระบบใหม่ให้กับมือถือถึง 16 รุ่น (ที่เปิดตัวปีที่แล้ว และปีนี้) และถ้าหากแบรนด์ยังคงทำแบบเดิม ปีถัดมาตัวแบรนด์ก็จะต้องเขียนระบบใหม่ให้กับมือถือถึง 24 รุ่น! ถ้าหากเป็นเช่นนี้จริง ก็คงกินเวลาในการทำงานไปไม่น้อย ทรัพยากรต่างๆ ภายในบริษัทก็จะถูกแบ่งไปให้กับสมาร์ทโฟนรุ่นเก่า การพัฒนาสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ก็อาจทำได้แบบห่วงหน้าพะวงหลัง เพราะต้องดูแลผลิตภัณฑ์หลายรุ่นเกินไป ฯลฯ ทางแบรนด์จึงอาจต้องเลือกเฉพาะรุ่นที่มีผู้ใช้เยอะที่สุด หรือขายดีที่สุดมาทำต่อ ส่วนรุ่นอื่นอาจจะไม่อัปเดต เพราะอย่างไรเสียก็มีรุ่นใหม่เปิดตัวในปีต่อไปอยู่แล้ว หรือฮาร์ดแวร์อาจไม่รองรับ Android เวอร์ชันใหม่ เป็นต้น
ปราการด่านสุดท้ายที่ทำให้การอัปเดตอาจล่าช้าเพิ่มขึ้นก็คือ เครือข่ายผู้ให้บริการสัญญาณในแต่ละประเทศ ที่จะอนุญาตให้ส่งผ่านการอัปเดตให้กับผู้ใช้ทุกคนได้ทันทีหรือไม่ ซึ่งถ้าหากทางเครือข่ายยังไม่เห็นชอบก็ยังไม่สามารถปล่อยอัปเดตได้เช่นเดียวกัน
ถ้าอยากให้มือถือของตนเองได้อัปเดตต้องทำอย่างไร?
ถ้าคุณเป็นผู้ใช้ที่เป็นกังวลเกี่ยวกับการอัปเดตระบบให้ทันสมัยตลอดเวลา และส่งตรงทันทีที่ Google เปิดตัว วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะสามารถช่วยคุณได้ก็คือ การซื้อสมาร์ทโฟนที่ผลิตโดย Google ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้ก็คือ Google Pixel และ Google Pixel 2 โดยสมาร์ทโฟนทั้งสองรุ่นจะการันตีการอัปเดตเวอร์ชันประมาณ 2-3 ปี ซึ่งมั่นใจได้ว่าคุณจะได้รับการอัปเดตระบบให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลาอย่างแน่นอน
แต่ถ้าหากหาซื้อ Google Pixel ไม่ได้ ก็ต้องหันไปมองมือถือเรือธงของบรรดาแบรนด์ใหญ่ทั้งหลาย เพราะส่วนใหญ่แล้วมือถือเรือธงในแต่ละปีจะการันตีการอัปเดตประมาณ 2 ปี เป็นอย่างน้อย หรือบางแบรนด์อย่าง Samsung ที่ออกมาประกาศให้ทราบอย่างชัดเจนแล้วว่า มือถือรุ่นใหม่ๆ จะได้รับอัปเดต Android OS อย่างน้อย 3 เจเนเรชัน ทำให้มั่นใจได้เลยว่าการลงทุนซื้อสมาร์ทโฟนครั้งนี้จะได้รับอัปเดตอย่างแน่นอน
หรือทางเลือกใหม่ในปัจจุบันก็คือ สมาร์ทโฟน Android One ที่สมาร์ทโฟนในโครงการจะใช้งานแบบ Pure Android และได้รับการอัปเดตส่งตรงจาก Google เช่นเดียวกัน และมีราคาถูกกว่าค่อนข้างมาก เพราะส่วนใหญ่จะเป็นมือถือระดับเริ่มต้น และระดับกลางเป็นหลัก แต่การใช้งานสมาร์ทโฟน Android One บางรุ่นอาจมีการจำกัดฟีเจอร์บางอย่างที่ติดมากับ Android OS เวอร์ชันใหม่ เพราะฮาร์ดแวร์อาจไม่รองรับก็เป็นได้
สำหรับวิธีสุดท้าย ถ้าหากไม่อยากซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ แต่ตนเองมีความรู้ด้านเทคโนโลยีมากพอ ก็สามารถใช้งาน Android เวอร์ชันใหม่ได้อย่างรวดเร็วด้วยการลง Custom ROM หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ รอมโม โดย Custom ROM จะเป็นรอมทีได้รับการปรับแต่งทั้งในเรื่องของหน้า UI และประสิทธิภาพการทำงานตามสไตล์นักพัฒนารายนั้นๆ ซึ่งส่วนมากรอมโมจะมีการเพิ่ม Security Patch หรือแพทซ์ความประจำเดือนจาก Google ใส่เข้าไป รวมทั้งรอมโมจากนักพัฒนาบางกลุ่ม ก็จะปล่อยอัปเดต Android OS เวอร์ชันใหม่ให้กับมือถือรุ่นเก่าที่ไม่ได้ไปต่อด้วย แต่ต้องย้ำอีกครั้งว่า การใช้วิธี Custom ROM นี้ ผู้ใช้ต้องมีความเชี่ยวชาญอยู่พอสมควรนะครับ
สรุป
คำแนะนำที่ดีที่สุดในกรณีที่คุณเองเป็นผู้ใช้ที่จริงจัง (มากๆ) กับการได้รับอัปเดตระบบเวอร์ชันใหม่ในทุกๆ ปี ก็คือ หลีกเลี่ยงซื้อสมาร์ทโฟนระดับเริ่มต้น เพราะส่วนใหญ่แล้วสมาร์ทโฟนระดับเริ่มต้นมักจะไม่ได้อัปเดตเวอร์ชันใหม่ แต่สมาร์ทโฟนที่จะได้อัปเดตคือ กลุ่มมือถือระดับกลางรุ่นยอดนิยม และระดับ Mid-High ขึ้นไป แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับทางแบรนด์ด้วยว่าจะทำอัปเดตให้กี่รุ่น และมากน้อยเพียงใด แต่การไม่ได้รับอัปเดตก็ไม่ได้หมายความว่ามือถือของคุณตกรุ่น หรือจะใช้การไม่ได้ในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า หรือเกิดผลเสียร้ายแรงแต่อย่างใด เพราะถึงแม้จะไม่อัปเดต Android OS แต่แอปพลิเคชันต่างๆ ก็ยังใช้งานได้ตามปกติใน Android เวอร์ชันก่อนหน้า และน่าจะใช้ได้อีกสักระยะเลยทีเดียว แต่หนึ่งในสิ่งที่ควรกังวลหากสมาร์ทโฟนไม่ได้อัปเดตต่อก็คือ ความปลอดภัย เพราะการอัปเดตซอฟท์แวร์แต่ละครั้งจะมีการอุดช่องโหว่ของตัวระบบปฏิบัติการ Android เพื่อป้องกันสมาร์ทโฟนจากมัลแวร์ รวมถึงผู้ไม่หวังดีในการเข้ามาโจรกรรมข้อมูลภายในสมาร์ทโฟนผู้ใช้งาน ดังนั้นแล้วลองตัดสินใจกันดีๆ นะครับว่าการเลือกซื้อมือถือเครื่องใหม่รุ่นต่อไป การอัปเดตระบบยังสำคัญสำหรับตัวท่านอยู่หรือไม่ สำหรับวันนี้ทีมงาน Thaimobilecenter ต้องขอลาไปก่อน สวัสดีครับ
ที่มา : howtogeek
วันที่ : 14/09/2563