หน้าแรกมือถือ > รวมข่าวมือถือ > หน้าบทความ ข่าวมือถือ
   
Date : 8/10/2563

ทำไม Xiaomi Mi 10T | Mi 10T Pro ตั้งราคาขายเริ่มต้นแค่ 12,990 บาท?

 

กลายเป็นกระแสที่ฮือฮาเพียงช่วงข้ามคืน หลังจากที่ Xiaomi ตัดสินใจเปิดตัว Mi 10T และ Mi 10T Pro ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยสมาร์ทโฟนรุ่นดังกล่าวพกพาความน่าสนใจมากับหน้าจอแสดงผลแบบ 144Hz เทียบชั้นมือถือเกมมิ่ง, ชิปเซ็ต Qualcomm Snapdragon 865 ที่มีความแรงระดับหัวตาราง, กล้องหลังความละเอียดสูงสุด 108 ล้านพิกเซล ไปจนถึงลำโพงคู่ และแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ถึง 5000mAh ซึ่งสเปกทั้งหมดนี้ Xiaomi ตั้งราคาวางจำหน่ายเริ่มต้นเพียง 12,990 บาทเท่านั้น แต่ทำไม Xiaomi ถึงกล้าตั้งราคาขาย Mi 10T และ Mi 10T Pro ถูกกว่ามือถือเรือธงรุ่นอื่นๆ บนท้องตลาด? ไปหาคำตอบกันดีกว่าครับ

 

ทำไม Xiaomi ถึงขายมือถือราคาถูกได้?

1.กำไรส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากการขายมือถือ

ก่อนอื่นเรามาเข้าใจวิธีหารายได้ของ Xiaomi กันก่อน Lei Jun วีอีโอ Xiaomi เคยประกาศเอาไว้ภายในงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์เอาไว้ว่า ทาง Xiaomi จะไม่เอากำไรเกิน 5% จากผลิตภัณฑ์ประเภทฮาร์ดแวร์ที่ Xiaomi วางจำหน่าย เพื่อให้ผู้ใช้ รวมถึง Mi Fans สามารถจับต้องผลิตภัณฑ์ของ Xiaomi ได้ง่ายขึ้น 

 

ตัวอย่างโฆษณาที่ปรากฏบนระบบ MIUI

ดังนั้น วิธีการหารายของแบรนด์ Xiaomi จะเน้นไปที่โฆษณาแทน ซึ่งจะเห็นได้จากการที่สมาร์ทโฟน Xiaomi มีการฝังโฆษณามากับแอปพลิเคชันที่อยู่ในระบบปฏิบัติการ MIUI ด้วย ไม่ว่าจะเป็น แอปฯ Theme หรือ แอปฯ ทำความสะอาดเครื่อง แม้ว่าโฆษณาเหล่านี้จะมีออพชันให้สามารถเลือกปิดได้ แต่ทาง Xiaomi ก็เลือกที่จะเลือกเปิดให้สมาร์ทโฟนรับโฆษณาเป็นค่าเริ่มต้น (Default) 

 

นอกจากโฆษณาแล้ว อีกหนึ่งวิธีที่ Xiaomi ใช้หารายได้ด้วยก็คือ บริการ (Services) โดยจะเห็นได้จากการวางจำหน่าย ธีมพรีเมียม (แม้ในช่วงหลัง Xiaomi จะปรับให้ผู้ใช้ดาวน์โหลดธีมแบบพรีเมียมมาใช้ได้ฟรี แต่ก็จำเป็นต้องดูโฆษณาเพื่อดาวน์โหลดอยู่ดี), วอลเปเปอร์, ริงโทน ไปจนถึงบริการ Mi Cloud VIP ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเก็บไฟล์ต่างๆ บนคลาวด์ได้จากมือถือ Xiaomi และไฟล์เหล่านั้นสามารถดาวน์โหลดกลับมาใช้ได้ตลอดแม้ว่าเราจะเปลี่ยนไปใช้ Xiaomi เครื่องอื่นแล้วก็ตาม

 

2.ไม่เน้นโฆษณามาก แต่เน้นทำตลาดแบบปากต่อปาก

ตัวอย่างโฆษณา Xiaomi (ขวา) ที่บ่งบอกว่า Redmi K20 เป็นมือถือ "นักฆ่าเรือธง" ที่มีประสิทธิภาพที่เหนือกว่ามือถือรุ่นใหม่ โดยวางป้ายโฆษณาไว้คู่กับ OnePlus 7 Pro

แม้ในระยะหลังเราอาจเห็นโฆษณา Xiaomi ตามสื่อต่างๆ บ้าง เช่น โปสเตอร์บนรถไฟฟ้า หรือโทรทัศน์ แต่สิ่งที่เราจะเห็นได้ก็คือ Xiaomi จะใช้เคมเปญโปรโมทสินค้าหนักๆ หรือยิ่งใหญ่ โดยจะสังเกตเห็นได้ว่า สินค้า Xiaomi มักจะไม่มีพรีเซนเตอร์ หรือ Brand Ambassdor แต่สินค้าส่วนใหญ่จะเน้นทำตลาดแบบปากต่อปาก เน้นการทำไวรัล ซึ่งถือว่าเป็นโฆษณาที่ค่อนข้างแพร่กระจายในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว และใช้งบประมาณที่ไม่สูงมากนัก

 

หากเราย้อนกลับไปดูผลิตภัณฑ์รุ่นก่อนๆ จะเห็นได้ว่า Xiaomi มักจะใช้การตลาดในลักษณะดังกล่าวมาโดยตลอด อย่างเช่น ในรุ่น Redmi 7 ที่มีโชว์ความแข็งแกร่งของงานประกอบ ด้วยการวางมือถือกับพื้น แล้วให้คนเดินมาเหยียบ และกระทืบซ้ำ ไปจนถึงการนำมือถือไปทุบลูกวอลนัทจนแตกเป็นเสี่ยงๆ นอกจากนี้ Xiaomi ยังเลือกใช้โปรโมชันส่งเสริมการขายที่มอบของแถมมูลค่าสูงให้กับผู้ที่สั่งซื้อสินค้ากับ Xiaomi เพื่อให้มีการกล่าวถึงในวงกว้าง ยกอย่างเช่น การแถม Nintendo Switch เครื่องเล่นเกมพกพาที่มีมูลค่าเกือบหนึ่งหมื่นบาท ให้กับผู้ที่พรีออเดอร์ Mi 10T Pro ซึ่งแม้ว่าของแถมเหล่านี้จะมีจำนวนจำกัด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการจุดกระแสที่ค่อนข้างได้ผลทีเดียว

 

อีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยแพร่กระจายการตลาดแบบปากต่อปากของ Xiaomi ได้เป็นอย่างดี นั่นก็คือเหล่า Mi Fans ที่บริษัทให้ความสำคัญมาโดยตลอด ซึ่งเราจะเห็นได้จากการทำแคมเปญ Mi Explorer ที่มอบสิทธิให้กับ Mi Fans ในการได้ทดลองใช้งานผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ยังไม่เปิดตัวเป็นกลุ่มแรกๆ ไปจนถึงการเปิด Mi Community ที่ให้เหล่าผู้ใช้ Xiaomi มาพูดคุยเกี่ยวกับระบบปฏิบัติการ MIUI ได้โดยตรง และ Xiaomi ก็จะนำ feedback เหล่านั้นกลับมาพัฒนาระบบปฏิบัติการ MIUI ให้มีประสิทธิภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้คอมมูนิตี้ของ Xiaomi ดูเป็นกันเอง และมีความแข็งแกร่งในเวลาเดียวกัน

 

3.ไม่ได้ขายมือถืออย่างเดียว

ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า Xiaomi ไม่ได้วางจำหน่ายเพียงแค่สมาร์ทโฟนอย่างเดียว แต่ยังมีการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประเภท Smart Home, Gadgets และ IoT ด้วย เช่น ตู้ปลาอัจฉริยะ, หม้อหุงข้าว, เครื่องดูดฝุ่น, หูฟังไร้สาย, เครื่องฟอกอากาศ, เครื่องชั่งน้ำหนัก ฯลฯ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางการหายรายได้ให้กับบริษัทได้เป็นอย่างดี อีกทั้งสินค้าเหล่านี้ที่ Xiaomi วางจำหน่ายก็สามารถเชื่อมต่อ และทำงานร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆ ของตนเองได้ไม่แพ้กับ Ecosystem ของแบรนด์ใหญ่อย่าง Samsung หรือ Apple

 

ทำไม Xiaomi Mi 10T | Mi 10T Pro กล้าเปิดราคาขายเริ่มต้น 12,990 บาท?

อ่านมาถึงตรงนี้หลายท่านน่าจะพอเข้าใจคอนเซ็ปท์การหารายได้ของแบรนด์ Xiaomi กันบ้างแล้ว แต่หลายคนคงจะสงสัยว่า แล้วทำไม Mi 10T | Mi 10T Pro ถึงกล้าตั้งราคาขายเริ่มต้นเพียง 12,990 บาท? ซึ่งจากการวิเคราะห์ และการสังเกตของทีมงาน ก็พอจะได้ข้อสรุป 3 ข้อดังนี้

 

1.ใบเบิกทางสู่ Ecosystem ของ Xiaomi

ตัวอย่างของแถม Mi 10T Pro

การเปิดราคาขายสมาร์ทโฟนสเปกแรงของ Xiaomi ในครั้งนี้ อาจเป็นประตูเปิดทางเพื่อเชื้อเชิญให้หลายคนเข้าสู่โลก Ecosystem ของ Xiaomi หรือที่เราเรียกติดปากว่า "โรคมี่งอก" เพราะหากเราดูจากของแถมของ Mi 10T Pro ในครั้งนี้ ก็จะพบว่ามีแต่ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ใน Ecosystem ของ Xiaomi ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น หูฟังไร้สาย True Wireless, Mi TV Stick ไปจนถึงนาฬิกาอัจฉริยะ Mi Band 5 ซึ่งการที่ Xiaomi ตัดสินใจแถมสินค้าเหล่านี้ ก็เปรียบเสมือนการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ได้ทดลองสินค้าของ Xiaomi ซึ่งหากผู้ใช้ติดใจ ก็อาจมองหาผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของ Xiaomi เพิ่มเติมก็เป็นได้ ซึ่งประเด็นนี้หากเราสังเกตภายในงานเปิดตัว Mi 10T Series ก็จะพบว่า Xiaomi ไม่ได้เปิดตัวมือถืออย่างเดียว แต่มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์อื่นๆ ใน Ecosystem ให้เห็นพร้อมกัน เช่น เราท์เตอร์ และนาฬิกา เป็นต้น

กลยุทธ์ของ Xiaomi ครั้งนี้ ดูไปแล้วก็ค่อนข้างคล้ายคลึงกับ Apple ที่เคยเปิดตัว iPhone SE 2020 ที่มีราคาถูกพอๆ กับมือถือ Android ระดับกลาง แต่ได้สเปกเทียบชั้นกับไอโฟนราคาแพง เพื่อดึงดูดผู้ใช้ทั้งฝั่ง Android และ iOS ให้เข้าสู่ Ecosystem ของ Apple นั่นเอง

 

2.Mi 10T | Mi 10T Pro เป็นมือถือคนละกลุ่มกับ Mi 10 | Mi 10 Pro

แม้ดูเผินๆ Mi 10T Pro อาจมีสเปกที่ใกล้เคียงกับ Mi 10 ไม่ว่าจะเป็น การได้ใช้ชิปเซ็ตตัวเดียวกัน หรือกล้องความละเอียด 108 ล้านเท่ากัน เป็นต้น แต่หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่า คุณสมบัติบางอย่างของ Mi 10T Pro จะถูกลดทอนลงไปเพื่อสงวนฟีเจอร์เหล่านี้ให้กับสมาร์ทโฟนกลุ่มพรีเมียมของ Xiaomi ยกตัวอย่างเช่น ไม่มีระบบชาร์จไร้สาย, ใช้หน้าจอแบบ IPS แทน AMOLED, ไม่มีระบบ Laser Focus สำหรับช่วยโฟกัสในที่แสงน้อย, ไม่มีกล้อง Telephoto สำหรับการซูมภาพระยะไกล หรือการถ่าย Portrait โดยเฉพาะ ซึ่งฟีเจอร์พรีเมียมเหล่านี้ก็ถือว่าส่งผลต่อราคาวางจำหน่ายพอสมควร

 

3. จริงๆ Xiaomi ก็ขายราคาประมาณนี้อยู่แล้ว

หากเราย้อนกลับไปดูการตั้งราคาขายมือถือสเปกแรงของ Xiaomi ในยุคก่อนๆ ก็จะเห็นได้ว่า Xiaomi มักจะตั้งราคาขายถูกกว่ามือถือที่มีสเปกใกล้เคียงกันมาโดยตลอดอยู่แล้ว อย่างเช่น Mi 6 ที่มีสเปกใกล้เคียงกับ Samsung Galaxy S8 แต่กลับเปิดราคาวางจำหน่ายในไทยเพียง 13,790 บาทเท่านั้น (ในขณะที่ Galaxy S8 เปิดราคาขายที่ 27,900 บาท) แม้ในระยะหลังสมาร์ทโฟนแบรนด์ Xiaomi ตระกูล Mi จะมีราคาวางจำหน่ายที่สูงขึ้นจนเทียบเท่ากับมือถือตัวท็อปแบรนด์อื่น แต่จริงๆ แล้ว Xiaomi ก็ยังทำตลาดมือถือสเปกแรงราคาประหยัดมาโดยตลอด เพียงแต่ใช้ชื่อ POCO และ Redmi เท่านั้น

 

ข้อมูลอ้างอิง : Android Authority, Android Hits, Mi Community


วันที่ : 8/10/2563

Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy