มือถือแบตบวม เกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่ พร้อมวิธีป้องกันแบตบวม
ปัญหาหนึ่งที่เจอกันบ่อย ๆ เมื่อใช้สมาร์ทโฟนไปนาน ๆ คืออาการแบตเตอรี่บวม ซึ่งหลายครั้งก็บวมจนดันฝาหลังของมือถือออกมาอย่างชัดเจน อาการนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร อันตรายหรือไม่ แล้วเราสามารถทำอะไรเพื่อป้องกันไม้ให้แบตมือถือบวมได้บ้าง? วันนี้เรามีคำตอบครับ
ทำไมแบตเตอรี่ถึงบวม?
แบตเตอรี่ที่ใช้บนมือถือตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจะมีด้วยกันทั้งหมด 2 ประเภทใหญ่ ๆ นั่นก็คือ Lithium-ion และ lithium polymer (ปัจจุบันจะเริ่มมี silicon-carbon เพิ่มเข้ามาด้วย) ซึ่งข้อดีของแบตเตอรี่แบบ Lithium ก็มีด้วยกันหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความหนาแน่นของประจุ ไปจนถึงอายุการใช้งานที่ยาวนาน แต่ข้อเสียก็มีอยู่เหมือนกัน เพราะแบตเตอรี่ Li-ion และ Li-polymer สามารถปล่อยแก๊สออกมาได้เมื่อเริ่มเสื่อม ดังนั้นเมื่อเราใช้แบตเตอรี่ไปหลาย ๆ ปี ผ่านการชาร์จมานับร้อย ๆ ครั้ง แบตเตอรี่ก็จะเสื่อมและบวมได้ นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ ก็ทำให้แบตเตอรี่เสื่อมเร็วขึ้นเช่นกัน เช่น อุณหภูมิที่ร้อนจัด (overheating) หรือตกกระแทกจนตัวแบตได้รับความเสียหาย เป็นต้น
มือถือแบตบวมอันตรายหรือไม่? ใช้ต่อได้ไหม ?
แม้ว่ามือถือของเราจะยังทำงานได้ด้วยแบตเตอรี่บวม ๆ แต่ก็ค่อนข้างอันตรายพอสมควร เพราะอาจเกิดผลเสียอื่น ๆ ตามมา เช่น:
- แบตเตอรี่ระเบิด
- หน้าจอทัชสกรีนเสีย เพราะโดนดันจากแบตที่บวม
- ฮาร์ดแวร์ภายใน เช่น เมนบอร์ด อาจเกิดความเสียหาย เพราะโดนดันจากแบตที่บวม
- ชาร์จแบตเตอรี่ช้า หรือชาร์จไม่เข้า
- ปุ่มกดไม่ทำงาน
ดังนั้นหากแบตมือถือมีอาการบวมจนสังเกตได้ แนะนำให้หยุดใช้งาน ปิดเครื่อง หลีกเลี่ยงการเสียบชาร์จแบตเตอรี่ และรีบนำมือถือไปเปลี่ยนแบตเตอรี่ก่อนใหม่ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจเข้ารับบริการที่ศูนย์บริการของแบรนด์นั้น ๆ โดยตรง หรือจะใช้บริการร้านซ่อมใกล้บ้านก็ได้ ที่สำคัญคือ "ห้ามเจาะเด็ดขาด" เพราะแบตเตอรี่อาจระเบิดได้ ซึ่งอันตรายมากครับ
ป้องกันอาการแบตบวมได้อย่างไร?
แบตเตอรี่บวมเป็นอาการที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติเมื่อแบตเตอรี่เสื่อม จึงไม่สามารถป้องกันได้ 100% เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่าเราจะทำอย่างไรแบตเตอรี่ก็จะเสื่อมอยู่ดีตามอายุการใช้งาน แต่เราสามารถชะลอการเสื่อมของแแบตเตอรี่ออกไปได้ โดย Ifixit เว็บไซต์ชื่อดังที่เชี่ยวชาญด้านการซ่อมแซมอุปกรณ์สมาร์ทโฟน ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลรักษาแบตเตอรี่ เพื่อช่วยให้แบตเตอรี่ใช้งานได้ยาวนาน และลดการเสียหายไว้ดังนี้ครับ
- ใช้สมาร์ทโฟน หรือชาร์จสมาร์ทโฟนในที่ที่มีอุณหภูมิที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการชาร์จแบตเตอรี่ในที่ที่ร้อนจัด
- พยายามอย่าทำมือถือตก หรือกระแทกแรง ๆ
- อย่าเสียบชาร์จแบตเข้า ๆ ออก ๆ ถ้าเสียบชาร์จแล้วควรปล่อยทิ้งไว้เลยจนกว่าจะเต็ม
- หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ชาร์จที่มีร่องรอยความเสียหาย หรือมีสภาพไม่สมบูรณ์
- พยายามอย่าปล่อยให้มือถือแบตหมดจนจอดับ เพราะจะทำให้แบตเสื่อมเร็วขึ้น
- หลีกเลี่ยงการทิ้งสมาร์ทโฟนไว้ในรถยนต์ที่จอดกลางแจ้ง โดยเฉพาะบนคอนโซลหน้ารถ เพราะอากาศที่ร้อนจัดภายในรถจะส่งผลต่อแบตเตอรี่โดยตรง เนื่องจากอุณหภูมิจะส่งผลต่อแบตเตอรี่โดยตรง หากต้องการใช้มือถือนำทาง แนะนำให้ติดตั้งในพื้นที่ที่แสงแดดส่องไม่ถึง หรือปรับไปใช้งานฟีเจอร์ Android Auto / Apple CarPlay ที่สามารถเชื่อมต่อมือถือเข้ากับจอควบคุมภายในรถได้โดยตรง
- หลีกเลี่ยงการชาร์จไป เล่นไป เว้นแต่ว่ามือถือที่ใช้อยู่จะมีฟีเจอร์ Bypass charging ที่จ่ายไฟเข้าเมนบอร์ดได้โดยตรง
และทั้งหมดนี้คือความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอาการแบตบวม แม้ว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่จะทำให้เกิดอาการแบตบวมน้อยลงแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีโอกาสที่เราจะเจอกับอาการแบตบวมได้อยู่ ซึ่งเราก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อน ๆ ทุกคนครับ
นำเสนอบทความโดย : thaimobilecenter.com
วันที่ : 28/4/2568
