ทำไมมือถือญี่ปุ่นถึงไม่ทำตลาดนอกประเทศ ?
หลายคนอาจไม่รู้ว่าครั้งหนึ่งประเทศญี่ปุ่นเคยเป็นผู้นำด้านโทรศัพท์มือถือที่แบรนด์ทั่วโลกต่างไล่ตามกันอยู่พักใหญ่ ในปี 2000 ที่ Nokia 3310 มือถือจอขาวดำร่างถึกสุดธรรมดากำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก มีแบรนด์ญี่ปุ่นอย่าง Sharp ได้เปิดตัวมือถือรุ่น J-SH04 ที่มาพร้อมกับกล้องถ่ายภาพ และสามารถส่งรูปภาพผ่านทาง E-Mail ได้เป็นรุ่นแรกของโลก
เช่นเดียวกับมือถือที่สามารถแตะเพื่อจ่ายเงิน และสะสมแต้มร้านค้าต่าง ๆ ที่เพิ่งเริ่มมีการใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบันก็เป็นฟังก์ชั่นที่มีบนมือถือญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2006 หรือแม้กระทั่งฟีเจอร์กันน้ำกันฝุ่นที่กลายเป็นมาตรฐานของสมาร์ทโฟนเรือธงยุคปัจจุบัน ก็เป็นฟีเจอร์ที่ 90% ของมือถือญี่ปุ่นมีอยู่แล้วตั้งแต่ปี 2012 (กล่าวโดยคุณ Taro Itakura ผู้บริหาร Panasonic ในปี 2012) ในเมื่อมือถือญี่ปุ่นมีฟีเจอร์ที่ล้ำหน้ากว่าแบรนด์อื่น ๆ ในตลาดโลกถึง 10 ปี เหตุใดถึงมีมือถือน้อยรุ่นน้อยแบรนด์ที่ได้ออกมาวางจำหน่ายทั่วโลก? วันนี้เราจึงได้รวบรวม 4 สาเหตุหลัก ๆ ที่สมาร์ทโฟนญี่ปุ่นถึงไม่ทำตลาดนอกประเทศมาให้อ่านกันครับ
Sharp J-SH04 ที่มา: Sharp
ตลาดในประเทศแข็งแรงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปลายยุค 90 จนถึงปี 2009 ตอนนั้นมือถือญี่ปุ่นมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ล้ำหน้า และสวนทางกับมือถือแบรนด์ระดับโลกหลาย ๆ แบรนด์ เช่นขณะที่ทั่วโลกตอนนั้นใช้บริการอินเตอร์เน็ตบนมือถือแบบ WAP แต่กลับกันเครือข่ายมือถือยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่นอย่าง NTT DoCoMo เลือกที่จะพัฒนาบริการอินเตอร์เน็ตบนมือถือแบบใหม่อย่าง i-mode ที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้เหมาะกับมือถือของกลุ่มลูกค้าในญี่ปุ่น
มือถือ i-mode ที่มา: The Japan Times
i-mode ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากจนค่ายมือถืออื่น ๆ ต้องเข็นบริการในลักษณะเดียวกันออกมาแข่งขันจนมียอดผู้ใช้รวมกันทั้งหมดถึง 80 ล้านคนในปี 2006 ซึ่งจุดนี้ทำให้มือถือญี่ปุ่นในยุคนั้นต้องมีปุ่มคีย์ลัดสำหรับบริการนี้โดยเฉพาะ และแน่นอนว่ามือถือ Interbrand อื่น ๆ ที่ใช้อินเตอร์เน็ตแบบ WAP เป็นมาตรฐานนั้นไม่มีฟีเจอร์ที่ว่านี้ เทคโนโลยีนี้เองส่งผลให้มือถือ House Brand ของญี่ปุ่นขายดิบขายดีจนไม่ต้องพึ่งตลาดต่างประเทศ ซึ่งหากอิงจากสถิติจาก IDC Japan ช่วงปี 2008 ที่ iPhone ยังไม่ได้เข้ามารุกตลาดญี่ปุ่นอย่างจริงจังจะพบว่ายอดขายโทรศัพท์มือถือทั้งหมดในญี่ปุ่นกว่า 42.22 ล้านเครื่อง แบรนด์ญี่ปุ่นได้ครองส่วนแบ่งการตลาด 5 อันดับแรกทั้งหมด โดยมี
- Sharp นำมาเป็นอันดับที่หนึ่งโดยคิดเป็น 23.2%
- อันดับ 2 Panasonic ครองส่วนแบ่งทั้งหมด 16.3%
- อันดับ 3 NEC ครองส่วนแบ่งทั้งหมด 13.0%
- อันดับที่ 4 Fujitsu ครองส่วนแบ่งทั้งหมด 10.5%,
- อันดับที่ 5 Toshiba ครองส่วนแบ่งทั้งหมด มีส่วนแบ่งที่ 9.0%
ด้วยยอดขายในประเทศที่ดีอยู่แล้ว และลักษณะของธุรกิจญี่ปุ่นที่ไม่ชอบความเสี่ยง มือถือแบรนด์ญี่ปุ่นจึงเลือกที่จะ Playsafe และทำตลาดเฉพาะในประเทศของตัวเอง และเลือกพัฒนามือถือให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ในประเทศญี่ปุ่นมากกว่าที่จะลองเสี่ยงในตลาดต่างประเทศที่มีการแข่งขันสูง และไม่ทราบถึงความต้องการของลูกค้าแน่ชัด
หลายแบรนด์ญี่ปุ่นพัฒนามือถือเพื่อเอาใจผู้ใช้ในประเทศเท่านั้น
ด้วยยอดขายของมือถือแบรนด์ญี่ปุ่นที่ครองส่วนแบ่งการตลาดในประเทศเป็นส่วนใหญ่ และไม่คิดที่จะขยายออกไปในตลาดนอกประเทศ ทำให้การพัฒนามือถือของประเทศญี่ปุ่นนั้นแตกต่างไปจากแบรนด์ทั่วโลกอย่างสิ้นเชิงเพื่อเอาใจคนในประเทศเพียงเท่านั้น ตัวอย่างเช่น มือถือฝาพับที่เคยได้รับความนิยมอย่างสูงในญี่ปุ่นจนถึงปี 2014 ที่ iPhone และ สมาร์ทโฟนแอนดรอยด์เริ่มได้รับความนิยมแล้ว แต่ก็ยังคงมียอดจัดส่งสูงถึง 10.58 ล้านเครื่อง ดังนั้นไม่ว่าจะมีการคิดค้นฟีเจอร์ที่ล้ำหน้ากว่ามือถือประเทศอื่น ๆ ขนาดไหน ก็จะถูกนำลงมาอยู่ในรูปร่างของมือถือฝาพับที่คนในประเทศชอบ
มือถือฝาพับปี 2022 Fujitsu Arrow Keitai Basic F-41C ที่มา: NTT DoCoMo
แต่ในทางกลับกันเทรนด์ดีไซน์มือถือในตลาดโลกมีการเปลี่ยนแปลงกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้ยึดติดกับดีไซน์ใดดีไซน์หนึ่งเป็นเวลานาน ๆ รูปลักษณ์เดิม ๆ ของมือถือญี่ปุ่นจึงอาจไม่เป็นที่ดึงดูดสายตาชาวโลกแม้ว่าจะมีสเปกล้ำยุคขนาดไหนก็ตาม อย่างในตลาดอเมริกาเอง มือถือฝาพับญี่ปุ่นได้ถูกมองว่า เชย หนาเทอะทะ จากหลากหลายสื่อมาตั้งแต่กลางยุค 2000 แล้ว ดังนั้นการที่จะนำมือถือแบรนด์ญี่ปุ่นลงสู่ตลาดโลกอาจจะต้องมีการสำรวจเทรนด์ในตลาด และปรับโฉมกันยกใหญ่ ซึ่งนั่นก็แปลว่าทางแบรนด์ก็ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เมื่อตลาดในบ้านยังทำกำไรเป็นกอบเป็นกำ แบรนด์มือถือญี่ปุ่นจึงเลือกที่จะเป็นเสือนอนกินในบ้าน และไม่ออกไปเสี่ยงในตลาดโลกที่ไม่คุ้นเคยให้เจ็บตัวนั่นเอง
การเข้ามาของคู่แข่งอย่าง “iPhone”
อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ทำให้มือถือญี่ปุ่นเติบโตในบ้านของตัวเองคือการอัดฟีเจอร์ และนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาในมือถือของตัวเองทุกปีเพื่อให้ผู้ใช้รู้สึกว่ามือถือตัวเองเริ่มเก่า และจำเป็นต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่เพื่อไล่ตามเทคโนโลยีที่มาใหม่ในทุก ๆ ปี หากนึกไม่ออกว่ามือถือญี่ปุ่นพัฒนาเร็วขนาดไหนให้ลองนึกตามว่า มือถือญี่ปุ่นมีฟีเจอร์ส่งอีเมลผ่านมือถือแล้วในปี 1999 ถัดมาปี 2000 เริ่มมีการใส่กล้องในมือถือ หลังจากนั้นปี 2001 ญี่ปุ่นก็เปิดใช้คลื่น 3G อย่างเป็นทางการ พอเข้าสู่ปี 2002 ก็สามารถดาวน์โหลดเพลงผ่านมือถือได้แล้ว สองปีผ่านไปปี 2004 ก็เริ่มมีการใช้มือถือเพื่อแตะจ่ายสินค้า และปี 2005 มือถือญี่ปุ่นสามารถรับสัญญาณ และดูทีวีดิจิตอลผ่านมือถือ
ด้วยความที่มือถือญี่ปุ่นเน้นไปที่การพัฒนาฟีเจอร์ และเทคโนโลยีในมือถือเพียงอย่างเดียวทำให้แบรนด์ญี่ปุ่นละเลยสิ่งที่สำคัญที่สุดของมือถือนั่นคือประสบการณ์การใช้งาน ซึ่งหลายเสียงจากเว็บบอร์ดต่างประเทศลงความเห็นเป็นหนึ่งเดียวว่า มือถือญี่ปุ่นมี UI และ UX ที่เข้าขั้นแย่และไม่เป็นมิตรต่อผู้ใช้งานเลย และอาจเหลือเชื่อหากกล่าวว่าการโอนถ่ายข้อมูลบนมือถือที่รวมฟีเจอร์สุดล้ำผ่านคอมพิวเตอร์นั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก และไม่สามารถทำได้เลยในบางรุ่น
UI มือถือญี่ปุ่น ที่มา: uuuv (Youtube)
ถึงกระนั้นมือถือญี่ปุ่นก็ยังได้รับความนิยมมาตลอดจนกระทั่งปี 2008 ที่ Apple ได้จับมือกับค่ายมือถือที่มีผู้ใช้น้อยที่สุดในขณะนั้นอย่าง Softbank ได้ร่วมกันนำ iPhone 3G ลงเล่นตลาดญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ด้วยความที่ Softbank ได้สิทธิ์จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในญี่ปุ่น จึงทำให้บริษัทต้องเดินหน้าสุดกำลังเพื่อโปรโมท iPhone ถึงขั้นที่มีการแจกเครื่องฟรีแลกกับการติดสัญญาสองปี จนทำให้ iPhone กลายเป็นมือถือที่มีราคาถูกที่สุดในตลาดมือถือญี่ปุ่น ณ ตอนนั้น
Masayoshi Son CEO Softbank (ซ้ายมือ) ในวันเปิดวางจำหน่าย iPhone 3G วันแรก ที่มา: Softpedia News
ขณะเดียวกันแบรนด์ใหญ่ในญี่ปุ่นไม่เชื่อว่า iPhone จะประสบความสำเร็จ เพราะถ้าเทียบกันมือถือญี่ปุ่นในยุคนั้นถือว่าล้ำหน้ากว่าในเกือบทุกด้าน แต่สิ่งเดียวที่ iPhone มีดีกว่าคือความเรียบง่าย (Minimal) ซึ่งตอบโจทย์ผู้ใช้งานในญี่ปุ่นมากกว่า จึงทำให้ iPhone ได้รับการตอบรับที่ค่อนข้างดี จนปี 2009 Apple ก็ได้เขามาอยู่ใน Top 10 ของส่วนแบ่งการตลาดมือถือในประเทศญี่ปุ่นด้วยยอดจัดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านเครื่องซึ่งคิดเป็น 113% และท้ายที่สุดก็ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในปี 2012 และครองส่วนแบ่งการตลาดมาจนถึงปัจจุบัน แทนที่ Sharp ที่เคยครองอันดับ 1 ติดต่อกันถึง 6 ปี นับตั้งแต่นั้นมาชะตาของมือถือแบรนด์ญี่ปุ่นก็ไม่สู้ดีนัก โดยแบรนด์มือถือญี่ปุ่นที่ถอยออกจากตลาดมือถือมีดังนี้
- Mitsubishi ชิงออกจากตลาดมือถือก่อนใครในปี 2008
- Sanyo ขายกิจการมือถือให้กับ Kyocera ในปี 2009
- Hitachi, Casio และ NEC ควบรวมแผนกมือถือในปี 2009 ก่อนประกาศเลิกทำตลาดมือถือพร้อมแบรนด์ Panasonic ปี 2013
- Toshiba ปล่อยสมาร์ทโฟนรุ่นสุดท้ายออกมาในปี 2012 และประกาศเลิกทำตลาดมือถือภายในปีเดียวกัน
ณ ตอนนี้มีแค่ 4 แบรนด์ที่ยังส่งมือถือสมาร์ทโฟนลงตลาดอยู่ ได้แก่
- Sharp ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นแบรนด์ญี่ปุ่นแท้ได้อย่างไม่เต็มปากแล้วเพราะเพิ่งถูกซื้อกิจการโดยบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของไต้หวันอย่าง Foxconn เมื่อปี 2016 ครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 3 ในปี 2021 คิดเป็น 9.4%
- Sony ที่เป็นมือถือญี่ปุ่นแบรนด์เดียวที่ยังลงทุนในตลาดโลก และหันมาจับกลุ่มผู้ใช้ระดับโปรจนพลิกกลับมาทำกำไรในกลุ่มธุรกิจมือถือเมื่อปี 2020 หลังจากที่ซบเซามานาน ครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 4 ปี 2021 คิดเป็น 7.9%
- Fujitsu ยังมีไลน์สมาร์ทโฟนชูโรงในบ้านอยู่อย่าง Fujitsu Arrow ครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 5 ปี 2021 คิดเป็น 7.1%
- Kyocera ที่หันมาเอาดีด้านการขายสมาร์ทโฟนรุ่นถึกทนเพราะจับกลุ่มลูกค้าระดับองค์กร และสมาร์ทโฟนที่ออกแบบมาให้ใช้ง่าย โดยครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 6 ปี 2021 คิดเป็น 4.7%
ถึงทั้ง 4 แบรนด์นี้ยังคงเป็นแบรนด์ญี่ปุ่นที่ยังวนเวียนอยู่ในส่วนแบ่งการตลาด 6 อันดับแรกของประเทศในปี 2021 แต่กระนั้น เมื่อรวมยอดจัดส่งของทั้ง 4 แบรนด์แล้วก็ยังไม่สามารถสู้ iPhone ที่ทำยอดจัดส่งในประเทศญี่ปุ่นไปมากกว่า 16.833 ล้านเครื่อง (49.7% ของยอดจัดส่งสมาร์ทโฟนทั้งหมดในญี่ปุ่น) เมื่อส่วนการแบ่งการตลาดในบ้านถูกแบรนด์ชาติตะวันนำโด่งอย่างขาดลอย และหลายแบรนด์ยังคงมีข่าวขาดทุนให้เห็นอยู่เป็นเนือง ๆ อาจไม่ใช่เรื่องดีหากแบรนด์ญี่ปุ่นจะส่งมือถือตัวเองลงในสมรภูมิมือถือโลกที่กำลังแข่งขันกันอย่างหนัก
ญี่ปุ่นไม่ใช่ผู้นำเทคโนโลยีด้านมือถืออีกต่อไปแล้ว
ด้วยความที่ยอดขายมือถือในประเทศที่เคยพุ่งสูงเป็นอย่างมาก หลายๆแบรนด์จึงมุ่งเน้นไปในส่วนการผลิตตัวเครื่องเพราะทำกำไรได้ดีกว่ามาก และไม่ได้เข้ามาจับธุรกิจการผลิตส่วนประกอบมือถืออย่างจริงจัง แต่เมื่อมือถือญี่ปุ่นสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดลงทุก ๆ ปี กำไรที่แบรนด์ญี่ปุ่นเคยได้จากการผลิตเครื่องก็เริ่มลดลง และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยีสำคัญของมือถือยุคปัจจุบันนั้นเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชิปประมวลผล เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ตอนนี้ญี่ปุ่นเริ่มตามหลังจีนที่ลงทุนในเทคโนโลยีส่วนประกอบอย่างจริงจัง และช่องว่างนั้นก็กว้างขึ้นทุกปี ขณะนี้จีนได้ก้าวมาเป็นหนึ่งในผู้นำด้านอุตสาหกรรมชิปประมวลผลมือถือ ซึ่งผิดกับญี่ปุ่นที่ถึงแม้จะเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บริษัทผลิตสถาปัตยกรรมชิปเซ็ตประมวลผลยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง ARM แต่ก็เรียกไม่ได้ว่าเป็นธุรกิจของญี่ปุ่นเสียทีเดียว เพราะ ARM ไม่มีแผนที่จะย้ายกิจการไปญี่ปุ่น
ถึงญี่ปุ่นจะพอมีเทคโนโลยีเซ็นเซอร์กล้องที่โด่งดังของ Sony อยู่บ้าง แต่เซ็นเซอร์ตัวท็อปที่ใช้บนมือถือรุ่นเรือธงก็ถือว่าเป็นส่วนประกอบที่มีราคาถูกมากเมื่อเทียบกับส่วนประกอบอื่นๆ (ไม่ถึง 10 เหรียญฯ หรือ 350 บาทไทย) ดังนั้นจึงมีศักยภาพในการสร้างรายได้ที่จำกัดแม้จะยึดส่วนแบ่งการตลาดจำนวนมากก็ตาม ครั้นญี่ปุ่นเองจะลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ก็ต้องใช้ทุนสูงหลายพันถึงหลายหมื่นล้านเหรียญฯ ในการสร้างโรงงานผลิต และยังไม่นับการต้องเสี่ยงแข่งขันกับจีนที่มีทุนมหาศาล
ณ ตอนนี้ที่แบรนด์ญี่ปุ่นขาดเทคโนโลยีใหม่ๆ และต้องนำเข้าส่วนประกอบมาใช้ในมือถือของตัวเอง บวกกับค่าแรงการผลิตในประเทศที่ค่อนข้างสูง ทำให้จุดขายในมือถือแบรนด์ญี่ปุ่นเรื่องความล้ำของเทคโนโลยีหายไป อีกทั้งไม่สามารถลดต้นทุนเพื่อทำราคาแข่งกับเจ้าตลาดสมาร์ทโฟนโลกแบบจีนได้ ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้แบรนด์ญี่ปุ่นเลือกที่จะไม่ส่งมือถือลงตลาดโลกนั่นเอง
สรุป
สถาณการณ์ของมือถือแบรนด์ญี่ปุ่นที่ไม่ค่อยสู้ดีนักเพราะตลาดมือถือในประเทศตัวเองที่เคยเติบโตถึงขีดสุดในยุค 2000 โดนบริษัทต่างชาติเข้ามาตีฐานลูกค้าในชาติตัวเองไปเกือบครึ่งยาวนานกว่า 10 ปี จนทำให้หลายแบรนด์หายไปจากวงการ อีกทั้งตัวเองไม่ใช่เจ้าเทคโนโลยีมือถือเหมือนเมื่อ 20 ปีก่อนอีกต่อไป แบรนด์ญี่ปุ่นจึงเลือกที่จะไม่เสี่ยงนำแบรนด์ของตัวเองออกไปสู้ในสมรภูมิมือถือโลกที่มีจีนครองเป็นส่วนมาก ซึ่งในตอนนี้มีแค่ Sony เท่านั้นที่ยังโลดแล่น และประสบความสำเร็จบนตลาดโลกอยู่จากการปรับตัวเข้าหาผู้ใช้เฉพาะกลุ่ม (Niche Consumer) ถึงแม้ว่าแบรนด์ที่ขายเฉพาะในประเทศอย่าง Sharp, Kyocera และ Fujitsu จะมีส่วนแบ่งการตลาดที่น้อยลงจากยุครุ่งเรือง แต่ก็ยังคงมีผู้ใช้ที่ยังเหนี่ยวแน่นเป็นกำแพง 6 อันดับกั้นแบรนด์ชาติอื่น ๆ ไว้อยู่ แม้ว่าเราจะไม่ได้เห็นแบรนด์เหล่านี้วางจำหน่ายนอกประเทศ แต่แบรนด์เหล่านี้ก็ยังสร้างสีสันด้านความแปลกในทุกครั้งที่เปิดตัว เช่น Sharp Aquos R7 ที่เลือกใช้เซ็นเซอร์กล้องหลักขนาดใหญ่ แทนที่จะไล่ตามเทรนโลกที่เลือกใส่เลนส์กล้องเสริมหลายตัว
Sharp Aquos R7 ที่มา: Sharp
ทั้งนี้หากดูจากสถานการณ์ปัจจุบัน การปรับตัวเข้าสู่ตลาดโลกนั้นอาจเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากสำหรับมือถือแบรนด์ญีุ่ปุ่น นอกจากจะต้องสู้กับภาวะค่าเงินเยนต่ำที่สุดในรอบ 20 ปีแล้ว ยังต้องเจอกับราคาส่วนประกอบมือถือที่ปรับตัวสูงขึ้น จนทำให้สมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นใหม่ ๆ มีราคาแพงขึ้นเกือบเท่าตัว (อิงจากราคาเปิดตัวของ Sharp Aquos R7 ประมาณ 52,500 บาท เทียบกับ R6 รุ่นก่อนที่เปิดตัวมาในราคา 30,657 บาท) ดังนั้นการมุ่งเน้นเฉพาะตลาดในบ้านที่ยังคงมีฐานผู้ใช้อยู่อาจเป็นการดีกว่าในสถานการณ์เช่นนี้
ข้อมูลที่น่าสนใจ
รู้หรือไม่? เคยมีสมาร์ทโฟนญี่ปุ่นถึง 2 รุ่นเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย และมาพร้อมกับฟังก์ชั่นที่เรียกได้ว่าพบได้น้อยมากในตลาดมือถือโลกยุคนั้น โดยมีทั้งหมดดังนี้
- NEC เคยนำสมาร์ทโฟนของตัวเองเข้ามาทำตลาดในไทยเมื่อปี 2012 โดยส่ง NEC Medias 101S มาวางจำหน่ายเพียงรุ่นเดียว และเป็นสมาร์ทโฟนกันน้ำกันฝุ่นเพียงไม่กี่รุ่นเท่านั้นในตลาดประเทศไทย โดยมีราคาเปิดตัวอยู่ที่ 12,900 บาท
NEC Medias 101S ที่มา: NEC Thailand
- ปี 2014 i-mobile เคยนำ Kyocera Digno M KYL22 เข้ามาขายในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ i-mobile IQ X KEN มาพร้อมจุดขายกันน้ำกันฝุ่น และเทคโนโลยีสั่นสะเทือน Smart Sonic Receive ที่สามารถส่งคลื่นเสียงไปที่หูโดยตรงไม่ต้องผ่านลำโพงสนทนา i-mobile IQ X KEN มีราคาเปิดตัวอยู่ที่ 16,900 บาทซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับบรรดามือถือ House Brand ในขณะนั้น
i-mobile IQ X KEN
อ้างอิงจาก: PCWorld, New York Times, Engadget, IT Media, MMRI (1) (2), Keitai Watch, Reuters, Mobile World Live, Retail in Asia, Digital Spy, CNET
วันที่ : 8/7/2565