หน้าแรกมือถือ > รวมข่าวมือถือ > หน้าบทความ ข่าวมือถือ
   
Date : 8/10/2564

เก่าเขา-ใหม่เรา : ทำไมฟีเจอร์ใหม่ของ iPhone ถึงมาช้ากว่ามือถือ Android เสมอ?

 

iPhone ถือเป็นสมาร์ทโฟนที่อยู่คู่กับวงการมานาน และเป็นตัวจุดประกายให้วงการสมาร์ทโฟนเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ กระนั้นก็ตาม iPhone ในยุคหลังมักจะได้ใช้ฟีเจอร์ใหม่ทีหลังสมาร์ทโฟนฝั่ง Android เสมอ ซึ่ง Apple ก็มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้อยู่บ่อย ๆ จนเป็นที่สงสัยกันว่า ทำไมแบรนด์ใหญ่ที่อยู่คู่วงการมานานอย่าง Apple ถึงตามหลังฝั่ง Android อยู่ทุกปี ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังไม่มีใครทราบเหตุผลที่ชัดเจน แม้กระทั่งทาง Apple เองก็ไม่เคยออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตกันไปหลาย ๆ ทฤษฎี แต่แง่มุมที่น่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ Apple ยึดถือแนวทางที่ต่างจากแบรนด์ของฝั่ง Android ส่วนแนวทางของ Apple คืออะไรกันแน่ เราไปหาคำตอบกันครับ

 

1. Apple สนใจอย่างอื่นมากกว่าการได้เป็น "เจ้าแรก"

แน่นอนว่าการได้เป็นเจ้าแรกของวงการนั้นส่งผลดีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง มูลค่าของแบรนด์ที่เพิ่มขึ้น ไปจนถึงสิทธิ์ในการลงไปจับจองตลาดใหม่ก่อนใคร อย่างไรก็ตาม Apple ให้คุณค่ากับอย่างอื่นมากกว่า นั่นคือ "ความมั่นใจของลูกค้า" แนวทางของ Apple จึงเป็นการส่งมอบฟีเจอร์ที่มีประสิทธิภาพ และเสถียร ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาทดสอบจนกว่าจะแน่ใจว่า ฟีเจอร์ใหม่ที่จะใส่เข้ามานั้นมีประโยชน์ และผู้ใช้สามารถพึ่งพามันได้อย่างสบายใจ ยกตัวอย่างเช่น :

 

Live Text

Live Text คือฟีเจอร์ที่สามารถตรวจหาข้อความในรูปภาพ หรือจากภาพที่อยู่ในกล้องได้ ซึ่งผู้ใช้สามารถคัดลอก และวางในแอปอื่น เช่น คัดลอกข้อความจากป้ายโฆษณาเพื่อนำไปหาข้อมูลในเน็ตต่อ เป็นต้น

แน่นอนว่าฟีเจอร์นี้มีในสมาร์ทโฟน Android มานานแล้ว ซึ่งก็คือ Google Lens นั่นเอง แต่สิ่งที่ทำให้ Live Text แตกต่าง คือมันอนุญาตให้ผู้ใช้กดหมายเลขโทรศัพท์ในรูปเพื่อโทรออกได้เลย ซึ่งมันสะดวก และดูจะเข้าใจผู้ใช้มากกว่า

 

Share Play

อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่เป็นตัวอย่างได้ดีคือ Share Play ซึ่งเป็นฟีเจอร์ใหม่ที่เพิ่มเข้ามาใน FaceTime ทำให้ผู้ใช้สามารถแชร์หน้าจอกันได้ ซึ่ง Google Meet หรือ Zoom ก็ทำได้ แต่ Share Play นั้นมีรายละเอียดการทำงานที่แตกต่าง โดยอนุญาตให้ผู้ใช้ในกลุ่มสนทนาทุกคนสามารถควบคุมการเล่นเพลง หรือหนังได้ ทำให้ทุกคนสนุกไปพร้อม ๆ กัน แถมความสามารถนี้ยังไปดึงดูดให้สตรีมมิ่งค่ายต่าง ๆ อย่าง Netflix, Disney+ และ HBO เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของฟีเจอร์นี้ด้วย เพื่อให้สามารถสตรีมมิ่งหนังเป็นหมู่คณะผ่าน FaceTime ได้นั่นเอง

ฟีเจอร์การใช้งานที่ดี ทำให้เกิดความไว้วางใจ และการไว้วางใจในตัวผลิตภัณฑ์นี้เองจะเอื้อประโยชน์ให้กับจุดแข็งของ Apple นั่นคือ "ecosystem"

 

2. Apple ต้องการใช้ประโยชน์จาก ecosystem ที่แข็งแกร่งของตัวเอง

นอกจากประสิทธิภาพ และความเสถียรแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำให้ฟีเจอร์นั้น ๆ สามารถใช้งานร่วมกับอุปกรณ์อื่น ๆ ในเครือของ Apple ได้อย่างไร้รอยต่อ เพื่อที่จะทำให้ผู้ใช้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์อื่นของ Apple ต่อไป ด้วยความเชื่อที่ว่ามันจะทำงานด้วยกันได้อย่างราบรื่น และไม่มีปัญหาจุกจิกตามมาภายหลัง ซึ่ง Apple ก็มี ecosystem ที่แข็งแรงมารองรับอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น iPhone, iPad, MacBook, iMac, iPod, AirPods รวมไปถึงสมาร์ทดีไวซ์อื่น ๆ อีกมากมาย อีกทั้งซอฟต์แวร์ที่ใช้ก็พัฒนาขึ้นมาเองทั้งหมด จึงแตกต่างจากระบบ Android เรียกได้ว่า Apple นั้นไม่ได้แข่งกับ Android แต่แข่งอยู่ในสนามของตัวเองต่างหาก ด้วยเหตุนี้เอง Apple จึงไม่จำเป็นต้องแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่นในการใส่เทคโนโลยีที่ใหม่ล่าสุด เพราะถึงแม้คู่แข่งจะใส่ฟีเจอร์ที่ล้ำหน้ามาให้มากแค่ไหน แต่ถ้าผู้ใช้อยู่ใน ecosystem ของ Apple อยู่แล้ว ก็จะไม่ซื้อผลิตภัณฑ์นั้นอยู่ดี เพราะมันไม่เข้ากับ ecosystem ที่ใช้อยู่นั่นเอง

 

3. Apple ต้องการรักษาสถานะความ “พรีเมียม”

 

Apple วางตำแหน่งแบรนด์ตัวเองเป็นสินค้าพรีเมียม แม้กระทั่ง iPhone SE ที่ได้ชื่อว่าเป็นรุ่นประหยัด ก็ยังถือเป็นผลิตภัณฑ์พรีเมียม สิ่งที่ลูกค้าคาดหวังจากสมาร์ทโฟนพรีเมียม คือประสิทธิภาพการทำงานที่ดี และประสบการณ์การใช้งานที่ยอดเยี่ยม ซึ่งทำให้ Apple ต้องพิถีพิถันกับการใส่ฟีเจอร์ใหม่ ๆ เข้ามาเป็นพิเศษ เพราะต้องทำให้มั่นใจว่าฟีเจอร์นั้น ๆ จะต้องมีประโยชน์ มีประสิทธิภาพ และจะต้องทำงานกับอุปกรณ์อื่น ๆ ใน ecosystem ได้อย่างสมบูรณ์แบบด้วยอย่างที่กล่าวไปแล้ว การออกฟีเจอร์ที่ไม่เข้ากับ ecosystem หรือยังทำงานไม่สมบูรณ์อาจจะทำให้เสียภาพลักษณ์ของความเป็นสินค้าพรีเมียมไป นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ Apple ใช้เวลาพัฒนาฟีเจอร์ใหม่นานกว่าฝั่ง Android

สุดท้ายแล้ว เราอาจพูดได้ว่า Apple สละการเป็นเบอร์หนึ่ง เพื่อแลกกับความศรัทธาของลูกค้านั่นเอง

 

อย่างไรก็ดี นี่ก็เป็นเพียงการวิเคราะห์จากสิ่งที่เรา ๆ ท่าน ๆ ได้เห็นกันในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่สุดท้ายแล้วผู้ที่รู้คำตอบจริง ๆ ในเบื้องหลังก็คงจะเป็นใครไม่ได้นอกจาก Apple เอง ซึ่งบางอย่างอาจเกิดจากความตั้งใจของ Apple จริง ๆ แต่บางอย่างก็อาจเกิดจากข้อจำกัด หรือเหตุผลอื่น ๆ ที่เราก็ไม่อาจล่วงรู้ได้ และก่อให้เกิดการตั้งคำถามอยู่เสมอ ตลอดจนสร้างความรู้สึกเสียดายให้กับผู้ที่รอคอยฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่คาดหวังเอาไว้ แต่สิ่งที่แน่ชัดก็คือแนวทางที่ Apple เลือกไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ทุกคน เพราะหลายคนก็ชอบสัมผัสความสดใหม่ของนวัตกรรม และสเปกที่ยอดเยี่ยมของสมาร์ทโฟนฝั่ง Android มากกว่า ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับตัวผู้ใช้เองที่จะเลือกสิ่งที่เหมาะกับตัวเองที่สุดครับ

 


นำเสนอบทความโดย : thaimobilecenter.com


วันที่ : 8/10/2564



Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy