AI ฉลาดจริงหรือ ? ทำไมถึงชอบวาดรูปนิ้วคนเกิน 10 นิ้ว ?
ในยุคนี้ AI ได้เข้ามาสร้างปรากฏการณ์ยิ่งใหญ่ให้แก่สังคมมนุษย์อยู่หลายครั้งหลายครา ตั้งแต่ AlphaGO ที่โค่นแชมป์โลกหมากล้อมได้ ไปจนถึง ChatGPT ที่ทำได้แทบทุกอย่างตามสั่ง กระทั่งล่าสุด AI วาดรูปอย่าง MidJourney ก็เข้ามาเขย่าวงการศิลปินมนุษย์ด้วยพลังในการเนรมิตรูปภาพอะไรก็ได้สุดแต่เราจะจินตนาการ โดยอาศัยแค่ชุดคำสั่งสั้น ๆ เท่านั้น สร้างแรงกระเพื่อมให้แก่สังคมมนุษย์อยู่ไม่น้อย
แต่ไม่ว่าจะเก่งกาจสักแค่ไหน สิ่งหนึ่งที่ AI ยังไม่อาจพิชิตได้ สิ่งนั้นคือ “มือ”
“มือ” อาจจะเป็นจุดอ่อนเพียงอย่างเดียวของ AI ตระกูลสร้างภาพ หรือ Image Generative AI เลยก็ว่าได้ เพราะไม่ว่าจะเป็น AI ตัวไหน ก็มักจะวาดมือออกมาแบบขาด ๆ เกิน ๆ ทั้งมีนิ้วเกินบ้าง บิดผิดรูปบ้าง บางทีดูเหมือนหลุดมาจากฝันร้ายเลยทีเดียว
ทำไม AI ที่ชาญฉลาดถึงมาตกม้าตายกับมือมนุษย์ได้? เรื่องนี้อาจจะมีคำตอบที่เป็นไปได้หลายอย่างด้วยกัน
ข้อมูลน้อย เข้าใจยาก
ตัวแทนจาก Stability AI เจ้าของ Stable Diffusion เคยพูดถึงเรื่องนี้ว่า คลังข้อมูลที่ AI ใช้เรียนรู้มีภาพมือน้อยมากเมื่อเทียบกับใบหน้า และมักจะมีขนาดเล็กจนตีความเป็นภาพใหญ่ลำบาก
ขณะเดียวกัน Amelia Winger-Bearskin ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI จาก University of Florida ก็เคยกล่าวว่า AI นั้นเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากการเปรียบเทียบรูปร่าง มันก็แค่ดูว่า “มือ” มีรูปร่างเป็นอย่างไร ซึ่งมือที่ปรากฏในภาพก็มักจะตีความลำบากสำหรับ AI เพราะมันมักจะถือหรือจับอะไรบางอย่างอยู่เสมอ บางทีก็ไปเกาะกับคนอื่นในรูป
พูดง่าย ๆ ก็คือ ลำพังฐานข้อมูลที่มีอยู่ตอนนี้ AI อาจจะ “รู้จัก” มือ แต่ไม่ “เข้าใจ” ว่ามันเกี่ยวข้องกับร่างกายของมนุษย์ยังไง
มือเป็นอวัยวะที่ซับซ้อนเกินไป
ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะยังไม่เชื่อว่ามือมนุษย์เป็นสิ่งที่เข้าใจยาก แต่ใครที่เคยเรียนวาดรูปมาบ้างจะเข้าใจเป็นอย่างดีว่ามือนั้นซับซ้อนขนาดไหน ทั้งจุดขยับที่มีหลายจุด, ความสัมพันธ์ของการขยับนิ้วแต่ละนิ้ว รูปลักษณ์ของมือที่มองจากมุมมองต่าง ๆ ไปจนถึงลักษณะการวางนิ้วในอากัปกิริยาต่างๆ ที่มีรูปแบบเฉพาะตัว แม้กระทั่งในท่าทางผ่อนคลายที่ปล่อยมือไว้เฉย ๆ ก็ยังมีการวางนิ้วในแบบของมัน หากผิดไปจากนี้ มันจะดูผิดธรรมชาติทันที
AI จะเรียนรู้ตัวตนของสิ่งต่าง ๆ จากการเปรียบเทียบเส้นและรูปร่าง แต่มือนั้นซับซ้อนเกินไป มันเปลี่ยนรูปร่างได้หลายแบบ ทำให้ AI ค้นหารูปทรงจำเพาะของมือที่ถูกต้องไม่ได้นั่นเอง
เรามองข้ามความผิดพลาดของ AI ไม่ได้
นอกจากความซับซ้อนของมือ มนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ปัญหานี้ชัดขึ้น เพราะมนุษย์จะมองเห็นความผิดปกติของมือได้ชัดเจนกว่าใบหน้า เป็นความสามารถที่ฝังลึกอยู่ในระดับสัญชาตญาณ หากยังไม่เชื่อ ลองดูที่รูปของอเดลด้านล่าง
ใช่แล้ว นี่คืออเดล นักร้องสาวเสียงทรงพลังไม่ผิดแน่ ทุกอย่างก็ดูปกติดี แต่พอลองพลิกรูปดูเท่านั้นแหละ…
ภาพลวงตานี้เรียกว่า the thatcher effect จนถึงตอนนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าสมองของเราโดนมันหลอกได้ยังไง แต่มันก็เป็นหลักฐานว่ามนุษย์เราสามารถจดจำใบหน้าได้ง่าย ๆ และไม่ได้ใส่ใจกับความผิดปกติเท่าไหร่
แต่กับ “มือ” นั้นตรงกันข้าม เรามักจะรู้สึกได้ทันทีหากมือนั้นอยู่ในรูปร่างที่ผิดแปลกไปจากที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นจำนวนนิ้ว, ทิศทางการบิดงอ, การจัดวางท่าทาง หรือแม่กระทั่งเล็บ และนี่เองทำให้มือประหลาดที่วาดโดย AI เตะตาเราเป็นพิเศษจนยากจะมองข้ามไปได้
ถึงแม้มือจะเป็นจุดอ่อนของ AI ที่มนุษย์อย่างเราสามารถเอามาบูลลี่ได้อย่างสนุกสนาน แต่มันก็แค่ตอนนี้เท่านั้น เราทุกคนรู้ดีว่า AI ไม่เคยหยุดเรียนรู้ และเทคโนโลยี AI ก็ไม่เคยหยุดการพัฒนา ทุกวินาทีที่ผ่านไป AI จะฉลาดขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นแล้ว AI จะเอาชนะ “มือ” ได้อย่างแน่นอน สำคัญที่ “เมื่อไหร่” เท่านั้น
แหล่งอ้างอิง
นำเสนอบทความโดย : thaimobilecenter.com
วันที่ : 28/2/2566
