หน้าแรกมือถือ > รวมข่าวมือถือ > หน้าบทความ ข่าวมือถือ
   
Date : 27/4/2564

รู้จัก UNISOC ผู้ผลิตชิปเซ็ตยักษ์ใหญ่อีกเจ้า ที่จะเข้ามามีบทบาทในวงการสมาร์ทโฟน 5G

 

หากพูดถึงชิปเซ็ตประมวลผลบนสมาร์ทโฟน เชื่อว่าทุกคนจะต้องคุ้นเคยกับชื่อของ Qualcomm, MediaTek, Samsung Exynos หรือ HiSilicon Kirin กันอยู่แล้ว แต่ในระยะหลังนี้หลายคนอาจจะสังเกตเห็นชิปเซ็ตที่มีชื่อว่า UNISOC กันมากขึ้น อย่างเช่น moto g20 ที่เพิ่งเปิดตัวไป ก็มากับชิปประมวลผล UNISOC T700 นอกจากนี้ ยังสามารถพบเห็นชิปเซ็ต UNISOC ได้ในสมาร์ทโฟนราคาประหยัดหลายๆ รุ่น หลายคนอาจจะสงสัยว่า UNISOC นั้นเป็นใคร ทำไมถึงโผล่เข้ามาในวงการสมาร์ทโฟน ในวันนี้ เราจะไปรู้จักกับ UNISOC กันครับ

UNISOC เป็นบริษัทสัญชาติจีนผู้ผลิตและพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์แบบ fabless แต่เดิมมีชื่อว่า Spreadtrum Communications, Inc. โดยเริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมการสื่อสารในฐานะผู้ผลิตชิปสำหรับโทรศัพท์มือถือในระบบ GSM ปัจจุบัน UNISOC เป็นผู้พัฒนาชิปเซ็ตเพื่อรองรับการใช้งานด้านการสื่อสารเคลื่อนที่และ IoT โดยรองรับมาตรฐานการสื่อสารครบถ้วนทั้ง 2G/3G/4G/5G ไปจนถึงโซลูชันชิปเซ็ตในด้าน IoT, RFFE, การเชื่อมต่อไร้สาย, AIoT และ TV ด้วย

ถึงแม้ชื่อของ UNISOC จะยังไม่โด่งดังเท่ากับ Qualcomm หรือ MediaTek ในตอนนี้ แต่ก็ไม่ใช่บริษัทโนเนมแต่อย่างใด เพราะอยู่ในเครือของ Tsinghua Unigroup ที่ขึ้นตรงกับรัฐบาลจีน และมีศูนย์วิจัยของตัวเองกว่า 14 แห่งทั้งในจีน และในต่างประเทศ เรียกได้ว่ามีพร้อมทั้งเงินทุน และทรัพยากร ไม่น้อยหน้ายักษ์ใหญ่อย่าง HUAWEI หรือ Samsung

สำหรับผลงานล่าสุดของ UNISOC ในอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนคือชิปเซ็ตประมวลผล 5G ตระกูล UNISOC Tanggula ที่มีด้วยกัน 4 ซีรีส์ ได้แก่ Tanggula 6 สำหรับมือถือระดับล่าง, Tanggula 7 สำหรับมือถือระดับกลาง, Tanggula 8 สำหรับมือถือระดับกลางบน และ Tanggula 9 ที่พร้อมท้าชนเจ้าตลาดในระดับไฮเอนด์อย่าง Snapdragon 800 series

ในตอนนี้ UNISOC ได้เปิดตัว Tanggula 7 ออกมาก่อน ส่วนซีรีส์อื่นๆ จะตามมาทีหลัง โดยมีด้วยกัน 3 รุ่น ได้แก่ UNISOC T770, UNISOC T740 และ UNISOC T760 โดยตัวท็อปอย่าง T770 นั้น ผลิตบนสถาปัตยกรรมระดับ 6 นาโนเมตร ประกอบด้วยหน่วยประมวลผล 1 x Cortex-A76 จำนวน 1 แกน, Cortex-A76 จำนวน 3 แกน และ Cortex-A55 จำนวน 4 แกน ความเร็วสูงสุด 2.5 GHz มีหน่วยประมวลผลกราฟิก Mali G57 สามารถรองรับอัตรารีเฟรชหน้าจอได้ 120Hz, รองรับหน่วยความจำแบบ UFS 3.1 และรองรับกล้องความละเอียดสูงสุด 108 ล้านพิกเซล พร้อมรองรับการเชื่อมต่อบนเครือข่าย 5G ทั้งแบบ SA และ NSA เรียกได้ว่ามีคุณสมบัติที่สูสีกับชิปเซ็ตเจ้าตลาด และสามารถแข่งขันได้อย่างไม่น้อยหน้า

 

ปัจจุบัน สมาร์ทโฟนที่ใช้ชิปเซ็ตประมวลผลของ UNISOC ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสมาร์ทโฟนระดับเริ่มต้น เช่น moto g20, moto e7i Power, Lenovo A7, Nokia C1 Plus, Wiko View 3 Lite เป็นต้น และจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

สำหรับในยุค 5G UNISOC มีเป้าหมายที่จะก้าวเป็น 1 ใน 3 ผู้ผลิตชิปเซ็ตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ของโลก รวมถึงเป็นผู้ให้บริการชิปเซ็ตรายใหญ่ที่สุดสำหรับอุปกรณ์ IoT และอุปกรณ์เชื่อมต่อ ตลอดจนบริษัท 5G ชั้นนำในประเทศจีน เมื่อดูจากโปรไฟล์ที่ไม่ธรรมดาแล้ว UNISOC มีศักยภาพสูงพอที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ได้แน่นอน ความทะเยอทะยานของ UNISOC จะสร้างแรงกระเพื่อมให้แก่วงการสมาร์ทโฟนได้มากแค่ไหน เป็นเรื่องที่น่าจับตามองครับ

 

ที่มา : UNISOC

 

 


วันที่ : 27/4/2564

Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy