DxOMark คือใคร? ทำไมถึงให้คะแนนกล้องมือถือ? น่าเชื่อถือแค่ไหน? บทความนี้มีคำตอบ
การเปิดตัวสมาร์ทโฟนที่มีความโดดเด่นด้านกล้องแต่ละครั้ง แบรนด์สมาร์ทโฟนมักจะมีการเปิดเผยคะแนนทดสอบกล้องจาก DxOMark ให้ทราบกันด้วย ซึ่งเป็นที่เข้าใจตรงกันว่ายิ่งตัวเลขผลทดสอบออกมาอยู่ในระดับสูง ก็เป็นการบ่งบอกถึงประสิทธิภาพของกล้องมือถือรุ่นนั้นได้เป็นอย่างดี แต่หลายคนอาจจะเคยสงสัยว่า DxOMark เป็นใคร? ทำไมถึงกล้าตัดสินให้คะแนนกล้องมือถือ? และพวกเขามีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน? เราไปหาคำตอบกันดีกว่าครับ
DxOMark คือใคร?
DxOMark เป็นบริษัทอิสระสำหรับทดสอบปคุณภาพของกล้องถ่ายภาพ, เซ็นเซอร์รับภาพ และเลนส์ ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2008 มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยวิธีการทดสอบของ DxOMark จะยึดตามหลักการทดสอบทางวิทยาศาสตร์เป็นหลัก โดยเครื่องมือที่ใช้ทดสอบก็จัดอยู่ในเกรดอุตสาหกรรม และมีการทดสอบประสิทธิภาพของสินค้าอย่างจริงจังในห้องทดลองของบริษัท ซึ่งเมื่อทดสอบเสร็จสิ้น DxOMark จะนำผลทดสอบแต่ละส่วนมาหารเป็นค่าเฉลี่ยรวม หรือ DxOMark Score เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้อย่างง่ายๆ ว่า กล้อง และเลนส์ รุ่นนั้นๆ มีประสิทธิภาพอยู่ในระดับใด
ทำไม DxOMark ถึงให้คะแนนกล้องมือถือ?
หลังจากที่ DxOMark ได้ทำการทดสอบกล้องถ่ายภาพ และเลนส์มาเป็นระยะเวลาราว 3 ปี บริษัทก็เริ่มหันมาทดสอบกล้องถ่ายภาพสมาร์ทโฟนอย่างจริงจังในปี 2012 เนื่องจากสมาร์ทโฟนในยุคนั้นเริ่มมีความโดดเด่นด้านกล้องถ่ายภาพมากขึ้นเรื่องๆ โดยสมาร์ทโฟนที่ถูกนำไปทดสอบเป็นกลุ่มแรกๆ ก็ได้แก่ iPhone 4, iPhone 5, Samsung Galaxy S2, Samsung Galaxy S3, Nokia 808 และ HTC 8X ในระยะเวลาที่ผ่านมา มีการออกแบบวิธีการทดสอบ พร้อมกับปรับกฏเกณฑ์การทดสอบประสิทธิภาพกล้องสมาร์ทโฟนมาอย่างต่อเนื่องทั้งภาพนิ่ง และการถ่ายวิดีโอ เพื่อให้มั่นใจได้ว่ารูปแบบการทดสอบครอบคลุมความสามารถกล้องถ่ายภาพบนสมาร์ทโฟนในปัจจุบัน
ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา หลังจากที Google ได้ทำการเปิดตัว Pixel รุ่นแรก พร้อมกับประกาศให้ทราบภายในงานเปิดตัวว่า Pixel สามารถทำคะแนนทดสอบกล้องสมาร์ทโฟนได้สูงสุดในประวัติการณ์ของ DxOMark ด้วยผล 89 คะแนน ก็เริ่มส่งผลให้สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ที่เปิดตัวตามมาในภายหลัง เริ่มมีการประกาศคะแนน DxOMark ให้ทราบกันด้วย ทำให้ตารางคะแนนกล้องมือถือที่ดีที่สุดในโลกจาก DxOMark มีการหมุนเวียนเปลี่ยนหน้าแชมป์มาโดยตลอด
DxOMark ทดสอบอะไรบ้าง?
DxOMark มีการปรับ Protocol หรือรูปแบบการเทสกล้องมือถืออยู่โดยตลอด ซึ่งในปัจจุบันส่วน DxOMark จะแบ่งการทดสอบออกเป็น 4 หมวดใหญ่ๆ ได้แก่ การถ่ายภาพนิ่งด้วยกล้องหลัง, การถ่ายวิดีโอด้วยกล้องหลัง, การถ่ายภาพนิ่งจากกล้องหน้า และการถ่ายวิดีโอด้วยกล้องหน้า โดยในส่วนของภาพนิ่งนั้น DxOMark จะถ่าย และให้คะแนนภาพถ่ายมากกว่า 1,600 ภาพ ส่วนการถ่ายวิดีโอก็จะทำการทดสอบถ่ายวิดีโอเป็นเวลามากกว่า 2 ชั่วโมง ทั้งในห้องแล็ป และนอกสถานที่ โดยแต่ละหมวดจะทดสอบดังต่อไปนี้
การถ่ายภาพนิ่งด้วยกล้องหลัง (ทดสอบ 9 รายการ)
- Exposure and Contrast (การวัดแสง, ความสว่าง และคอนทราสต์)
- Color (สีสัน)
- Autofocus (ระบบโฟกัสภาพอัตโนมัติ)
- Texture (รายละเอียด)
- Noise (จุดรบกวนบนภาพ)
- Artifacts (ร่องรอยจากการปรับแต่งของซอฟทแวร์)
- Night (การถ่ายภาพกลางคืน)
- Zoom (การซูมภาพ)
- Bokeh (การทำเอฟเฟกต์หน้าชัดหลังเบลอ)
- Wide (การถ่ายภาพด้วยกล้องเลนส์ Wide)
การถ่ายภาพนิ่งด้วยกล้องหน้า (ทดสอบ 8 รายการ)
- Exposure and Contrast (การวัดแสง, ความสว่าง และคอนทราสต์)
- Color (สีสัน)
- Focus (ระบบโฟกัสภาพ)
- Texture (รายละเอียด)
- Noise (จุดรบกวนบนภาพ)
- Artifacts (ร่องรอยจากการปรับแต่งของซอฟทแวร์)
- Flash (การใช้แฟลช)
- Bokeh (การทำเอฟเฟกต์หน้าชัดหลังเบลอ)
การถ่ายวิดีโอด้วยกล้องหน้า-หลัง (ทดสอบทั้งหมด 7 รายการ)
- Exposure and Contrast (การวัดแสง, ความสว่าง และคอนทราสต์)
- Color (สีสัน)
- Autofocus (ระบบโฟกัสภาพอัตโนมัติ)
- Texture (รายละเอียด)
- Noise (จุดรบกวนบนภาพ)
- Artifacts (ร่องรอยจากการปรับแต่งของซอฟทแวร์)
- Stabilization (ระบบกันสั่น)
DxOMark ทดสอบอย่างไร?
อย่างที่เรากล่าวไปตั้งแต่ด้านต้นว่า DxOMark จะเน้นทดสอบตามหัวข้อต่างๆ ที่กำหนดไว้ โดยอิงตามหลักวิทยาศาสตร์เป็นหลัก พร้อมกับใช้เครื่องมือทดสอบในระดับอุตสากรรม โดยการทดสอบจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การทดสอบประสิทธิภาพกล้องภายในห้องทดลอง และการทดสอบนอกสถานที่ โดยการทดสอบในห้องทดลอง จะใช้ชุดเครื่องมือที่มีชื่อเรียกว่า Analyzer ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ DxOMark สร้างขึ้นเพื่อทดสอบกล้องโดยเฉพาะ เช่น Noise Chart สำหรับทดสอบการเกิด Noise, ColorChecker Chart สำหรับตรวจสอบความเที่ยงตรงของสี หรือ Hexapod Shaker H860 สำหรับทดสอบระบบกันสั่นของมือถือ โดยการทดสอบส่วนมากจะใช้ผู้เชี่ยวชาญ และแขนกล เพื่อช่วยให้การทดสอบสามารถทำซ้ำได้ และมีความแม่นยำสูง โดยผลทดสอบจะถูกนำไปประมวลผลด้วยโปรแกรมเฉพาะทางที่ DxOMark สร้างขึ้น เพื่อสรุปออกมาเป็นตัวเลขในขั้นสุดท้าย
ส่วนการทดสอบนอกสถานที่ DxOMark จะทำการทดสอบในสถานที่ต่างๆ ซึ่งส่วนมากจะเป็นสถานที่เดียวกันกับที่เคยทดสอบบนมือถือรุ่นอื่นๆ ซึ่งหลังจากเก็บข้อมูลแล้ว ก็จะให้ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมกันให้คะแนนกล้องถ่ายภาพแต่ละรุ่น เพื่อนำไปประมวลผลเป็นคะแนนรวมอีกครั้ง
ในปัจจุบันคะแนนทดสอบกล้องโดยรวมของ DxOMark ยังไม่มีการจำกัดตัวเลขสูงสุด ซึ่งหมายความว่าหากสมาร์ทโฟนรุ่นไหนมีประสิทธิภาพของกล้องที่ดีพอ ก็อาจมีคะแนนที่สูงกว่าสมาร์ทโฟนที่กำลังครองแชมป์อันดับ 1 ณ ปัจจุบันได้เช่นกัน
ทำไมมือถือบางรุ่นไม่มีคะแนน DxOMark?
ประเด็นนี้ทาง DxOMark เคยออกมาเปิดเผยด้วยตนเองว่า กระบวนการทดสอบกล้องมือถือแต่ละครั้งใช้เวลาค่อนข้างนาน (ประมาณ 10 วัน) ส่งผลให้ปริมาณงานค่อนข้างรัดตัว อีกทั้งการทดสอบในแต่ละครั้งก็ต้องมีวิศวกร และผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการทดสอบด้วย ซึ่งบุคคลากรเหล่านี้ไม่ได้มีหน้าที่แค่ทดสอบมือถืออย่างเดียว แต่ยังมีงานอื่นๆ ที่ต้องทำภายในบริษัทอีกเป็นจำนวนมาก เช่น การทดสอบกล้อง และเซ็นเซอร์รับภาพ เป็นต้น แต่ทาง DxOMark ก็ระบุว่า จะมีการปล่อยผลการทดสอบกล้องมือถือออกมาอย่างต่อเนื่องตามแผนที่วางไว้
DxOMark น่าเชื่อถือแค่ไหน?
มาถึงประเด็นที่หลายคนอาจกำลังสงสัยว่า DxOMark มีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน? ซึ่งหากเรามองถึงวิธีการทดสอบของ DxOMark ที่มีการใช้เครื่องมือต่างๆ ที่มีความแม่นยำในการทดสอบ สามารถทำซ้ำได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ รวมถึงซอฟท์แวร์แบบพิเศษในการประมวลผลคะแนน ก็ทำให้ตัวเลขคะแนนที่ออกมามีความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับหนึ่ง รวมทั้ง DxOMark ก็ยังเคยออกมาเปิดเผยด้วยตนเองเมื่อปี 2018 ว่า บริษัทไม่เคยรับเงินใต้โต๊ะจากแบรนด์ผู้ผลิตต่างๆ ในการทำรีวิวทดสอบกล้อง แม้ว่าจะเคยมีบริษัทเหล่านั้นยื่นข้อเสนอมาให้ก็ตาม โดย DxOMark ให้เหตุผลว่า บริษัทเหล่านี้ยังไม่เข้าใจโมเดลธุรกิจของ DxOMark ที่เน้นไปในเรื่องของจำหน่ายโซลูชันสำหรับทดสอบประสิทธิภาพกล้องด้วยชุดเครื่องมือ Analyzer รวมถึงให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกล้องถ่ายภาพของบริษัทต่างๆ เป็นหลัก
แม้ว่าจะมีหลักการทดสอบอย่างเป็นระบบระเบียบ แต่วิธีการทดสอบของ DxOMark ก็อาจก่อให้เกิดความสงสัยเช่นกัน เพราะในบางครั้ง DxOMark ได้รับเครื่องไปทดสอบก่อนที่สมาร์ทโฟนรุ่นนั้นๆ จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ รวมทั้งเฟิร์มแวร์ที่ถูกนำไปทดสอบ ทาง DxOMark ระบุว่า เป็นเวอร์ชันที่ยังไม่ถูกปล่อยมาในเวอร์ชันสำหรับวางจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค (อย่างเช่นในกรณีของ HUAWEI P40 Pro ที่ DxOMark ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เฟิร์มแวร์ที่ทดสอบยังไม่ใช่เวอร์ชันเดียวกันกับที่วางจำหน่ายจริง) ดังนั้น ประสิทธิภาพของกล้องมือถือขณะใช้งานจริง ก็อาจมีคุณภาพที่แตกต่างกันออกไปจากที่ DxOMark ทดสอบไว้
แต่อย่างไรก็ตาม คะแนนกล้องถ่ายภาพก็เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น เพราะสมาร์ทโฟนแต่ละรุ่นก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป บางรุ่นที่ได้รับคะแนนทดสอบกล้องจาก DxOMark ไม่สูงมาก ก็อาจมีจุดเด่นด้านความบันเทิง หรือสเปกที่เร็วแรงเพียงพอต่อการใช้งานในชีวิตประจำวันก็เป็นได้ อีกทั้ง สมาร์ทโฟนเครื่องไหนจะดีที่สุดนั้นคงต้องขึ้นอยู่กับความชื่นชอบส่วนบุคคลของผู้ใช้งานด้วย หากทดลองใช้งานแล้วถูกใจ มีคุณสมบัติที่ตรงตามความต้องการ ก็ถือว่ามือถือรุ่นนั้นเหมาะสมกับผู้ใช้แล้วครับ
ที่มา : DxOMark (1), (2), (3), (4), (5), Android Headlines
วันที่ : 30/5/2563
