ระบบกันสั่นคืออะไร? OIS กับ EIS ต่างกันอย่างไร? ถ้าไม่มีจะถ่ายรูปได้ไม่สวยเลยหรือไม่ หาคำตอบได้ในบทความนี้!
ตั้งแต่ผู้ผลิตมือถือได้พัฒนา "กล้องถ่ายภาพ" ให้ใช้งานบนอุปกรณ์เครื่องเล็กๆ ขนาดเท่าฝ่ามือได้เมื่อช่วง 10 กว่าปีก่อนหน้านี้ เมื่อระยะเวลาผ่านไปโลกแห่งการถ่ายภาพจึงถูกปฏิวัติให้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงด้วยการมาของกล้องมือถือที่เพียบพร้อมทั้งคุณภาพ และประสิทธิภาพหลายๆ อย่าง ทำให้การเป็นช่างภาพไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ใครที่อยากเป็นช่างภาพก็ไม่ต้องแบกกล้อง หรือซื้อเลนส์มาเปลี่ยนให้ยุ่งยาก เพียงแค่สมาร์ทโฟนเครื่องเดียวก็สามารถทำให้ทุกคนถ่ายรูปได้แล้ว และส่งผลให้เทคโนโลยีของกล้องบนสมาร์ทโฟนในปัจจุบันก้าวล้ำขึ้นมากทีเดียว
แม้ว่าเทคโนโลยีของกล้องบนมือถือจะประกอบไปด้วยปัจจัยหลายๆ ส่วนที่มักเป็นจุดขายหลัก อย่างเช่น ความละเอียด, ขนาดรูรับแสง หรือฟีเจอร์ต่างๆ แต่เทคโนโลยีหนึ่งที่เราพบเห็นกันมาก และเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งของกล้องมือถือก็คือตัวหนังสือ 3 ตัว 2 รูปแบบ คือ OIS และ EIS ซึ่งเป็นชนิดของเทคโนโลยีป้องกันภาพสั่นไหวในกล้องรุ่นนั้นๆ แต่ผู้ใช้หลายๆ คนยังคงมีความสงสัยว่าแล้วระบบกันสั่นคืออะไร? จำเป็นในการถ่ายรูปมากน้อยขนาดไหน? สามารถช่วยให้รูปสวยขึ้นได้หรือไม่ หรือถ้าไม่มีกันสั่นจะถ่ายภาพได้ไม่สวยเลยรึเปล่า วันนี้เราจะมาอธิบายลักษณะการทำงาน และความสำคัญของระบบนี้กันครับ
ทำความรู้จักกับระบบป้องกันภาพสั่นไหว (Image Stabilization)
แรกเริ่มเดิมทีนั้น ระบบป้องกันภาพสั่นไหวจะถูกใช้งานกันในเลนส์ของกล้อง DSLR หรือกล้องอื่นๆ เป็นหลัก ซึ่งระบบป้องกันภาพสั่นไหว (Image Stabilization หรือ IS) จะทำหน้าที่ป้องกันความสั่นไหวของอุปกรณ์ที่เกิดขึ้นจากการถือด้วยมือเปล่า บวกกับการใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ช้า และการถ่ายภาพกลางคืน หรือที่แสงน้อย โดยส่วนประกอบของเลนส์ภายในจะขยับสวนทางกับทิศทางที่อุปกรณ์เคลื่อนไหว เช่น ถ้าหากเราโฟกัสภาพเรียบร้อยแล้ว แต่มือเราสั่น และอุปกรณ์เอียงไปทางซ้าย ระบบกันสั่นจะทำให้เลนส์ภายในเอียงไปทางขวา เกิดเป็นการหักล้างกัน และสามารถโฟกัส พร้อมถ่ายภาพในจุดเดิมได้
เมื่อระบบป้องกันภาพสั่นไหวสามารถเพิ่มโอกาสในการถ่ายภาพให้ดีขึ้น และนิ่งขึ้นได้เช่นนี้ ทางผู้ผลิตมือถือหลายรายจึงได้คิดค้น และพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อให้ใช้งานในกล้องบนสมาร์ทโฟนได้ ซึ่งเทคโนโลยีกันสั่นบนสมาร์ทโฟนที่เราเห็นกันในปัจจุบันจะมี 2 แบบหลักๆ คือ OIS และ EIS ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันภาพสั่นไหวเหมือนกัน แต่มีลักษณะการทำงานคนละแบบ โดยเราจะอธิบายในหัวข้อถัดไปครับ
OIS และ EIS คืออะไร?
อย่างที่กล่าวไว้ในหัวข้อที่แล้วว่า ระบบกันสั่นที่ใช้งานบนสมาร์ทโฟนในปัจจุบันมี 2 ระบบ คือ OIS และ EIS โดยระบบทั้งสองแบบมีรายละเอียดการทำงาน ดังนี้
OIS (Optical Image Stabilization) - ระบบกันสั่นแบบ OIS เป็นระบบกันสั่นที่ทำงานด้วยฮาร์ดแวร์ กล่าวคือ ตัวเลนส์กล้องของสมาร์ทโฟนจะถูกยึดด้วยแกนกันสั่น ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นแบบ 3-4 แกน (3-4 Axis) ถ้าหากแกนกันสั่นยิ่งมีจำนวนมากก็จะมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยลักษณะการทำงานของระบบกันสั่นแบบ OIS คือ ถ้ามือถือเกิดสั่นไหวไปในทิศทางใด ตัวกันสั่นจะล็อกเลนส์ไว้ ณ จุดที่โฟกัสภาพ และขยับสวนทางกับทิศทางที่อุปกรณ์สั่นไหวไป เช่น ถ้าผู้ใช้ยกมือขึ้นถ่ายภาพแล้วกล้องสั่นไปทางขวา แกนกันสั่นก็จะขยับให้เลนส์กล้องมาทางซ้ายในระยะเท่าๆ กัน เพื่อหักล้างการสั่นไหวนั้นๆ และทำให้เลนส์นิ่งที่สุด ซึ่งในทางเทคนิคแล้วระบบกันสั่นแบบ OIS ถือว่ามีประสิทธิภาพดีกว่า EIS เพราะจะไม่ทำให้สูญเสียรายละเอียดของภาพ แต่มีต้นทุนการผลิตสูงกว่าค่อนข้างมากเช่นกัน
EIS (Electronic Image Stabilization) - ระบบกันสั่นแบบ EIS เป็นระบบกันสั่นที่ทำงานด้วยซอฟต์แวร์ กล่าวคือ แบรนด์ผู้ผลิตจะเขียนซอฟต์แวร์ให้ตัวกล้องสามารถวิเคราะห์ได้แบบ Real-Time ว่ารายละเอียดที่อยู่ในเฟรมภาพนั้นมีอะไรบ้าง และเมื่อผู้ใช้ต้องการกดถ่าย ซอฟต์แวร์ก็จะประมวลผลได้เองทันทีว่า มีการสั่นไหวเกิดขึ้นหรือไม่ สั่นไหวไปในทิศทางใด และต้องชดเชยการสั่นอย่างไรให้ได้ภาพที่ถูกต้อง ซึ่งการกันสั่นในรูปแบบนี้ก็ถือว่าเป็นกระบวนการตกแต่งภาพด้วยอย่างหนึ่ง ผลลัพธ์ที่ได้จึงอาจทำให้ภาพที่ได้สูญเสียรายละเอียดไปบ้าง แต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าหากสมาร์ทโฟนรุ่นนั้นมีความละเอียดที่ค่อนข้างสูง และมีการเขียนซอฟต์แวร์ที่ดีก็เรียกได้ว่าน่าจะได้ภาพที่ไม่แพ้กันสั่นแบบ OIS เลยทีเดียว และที่สำคัญ ระบบกันสั่นแบบ EIS มีต้นทุนถูกกว่าอีกด้วย
ถ้าไม่มีกันสั่น จะถ่ายภาพได้ไม่สวยเลยหรือไม่?
ระบบป้องกันภาพสั่นไหวถือว่าเป็นระบบช่วยเหลือตากล้องให้เก็บภาพได้ตามที่ต้องการโดยที่ภาพไม่เบลอ แม้ว่าจะเกิดการสั่นไหวก็ตาม โดยเฉพาะการถ่ายภาพในปัจจุบันที่ทุกคนเพียงแค่ยกมือถือขึ้นมากดชัตเตอร์ได้ในเวลาไม่กี่วินาที แต่มือคนเรานั้นก็ยังไม่นิ่งมากพอ และถ้ายิ่งเป็นการถ่ายในที่แสงน้อยก็ยิ่งมีโอกาสทำให้ภาพเบลอกว่าเดิมเสียด้วย ดังนั้น ระบบกันสั่นจึงเข้ามามีส่วนสำคัญในการป้องกันไม่ให้ภาพที่กำลังถ่ายต้องเสียไปเพราะความเบลอนั่นเอง
นอกจากนี้ ถ้าหากใครชื่นชอบการถ่ายวิดีโอด้วยสมาร์ทโฟน ระบบกันสั่นน่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดูเป็นอันดับต้นๆ เลยก็ว่าได้ เพราะการถ่ายวิดีโอคือการบันทึกภาพเคลื่อนไหว ถ้าสมาร์ทโฟนรุ่นนั้นมีระบบกันสั่น ก็จะทำให้ภาพเคลื่อนไหวนั้นนิ่งขึ้น แต่ถ้าหากไม่มีกันสั่นก็จะทำให้ฟุตเทจนั้นเสียหายจนไม่สามารถใช้งานได้เลยทีเดียว
สรุป
ระบบป้องกันภาพสั่นไหว ถือว่าเป็นระบบที่ส่งผลโดยตรงต่อภาพถ่าย และคลิปวิดีโอที่ได้ โดยเป็นการเพิ่มโอกาสให้ได้ภาพที่ต้องการ และมีคุณภาพมากขึ้น และไม่เสียโอกาสนั้นไปอย่างเปล่าประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น คุณต้องการถ่ายรูปกับเพื่อนสนิทที่นานๆ จะเจอกันทีในสถานที่ที่เป็นการจัดแสดงไฟสวยงาม โดยคุณมีสมาร์ทโฟนสองเครื่อง เครื่องหนึ่งมีกันสั่น อีกเครื่องไม่มี แล้วถ่ายภาพออกมา รายละเอียดเหมือนกันเกือบทุกอย่าง ต่างกันแค่ภาพแรกคมชัด ส่วนภาพที่สองมีความเบลอ ภาพไหนจะถูกเลือกใช้มากกว่ากัน?
แต่อย่างไรก็ตาม การไม่มีระบบกันสั่นก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายร้ายแรงแต่อย่างใด ถ้าหากคุณเป็นผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพจริงๆ การชดเชยการสั่นไหวของภาพก็สามารถทำได้ง่ายๆ หลายวิธี เช่น
- วางมือถือบนวัตถุที่มั่นคง ไม่คลอนไปมา แล้วกดถ่ายภาพ
- เอาข้อศอกแนบชิดลำตัว แล้วกลั้นหายใจสักระยะก่อนกดถ่ายภาพ
- ใช้ขาตั้งกล้อง (เป็นวิธีที่ดีที่สุด)
หวังว่าท่านผู้อ่านที่ได้อ่านบทความนี้แล้วจะเข้าใจเรื่องของระบบกันสั่นทั้งแบบ OIS และ EIS กันมากขึ้น พร้อมทั้งนำข้อมูลไปใช้ในการเลือกสรรสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ของตนเองได้ในภายหน้านะครับ สำหรับวันนี้ทีมงาน Thaimobilecenter ต้องขอลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้า สวัสดีครับ
นำเสนอบทความโดย : thaimobilecenter.com
วันที่ : 11/1/2561