Android Go คืออะไร ? ทำไมมือถือราคาประหยัดรุ่นใหม่ ถึงเตรียมหันมาใช้ระบบนี้แทนที่ Android แบบเดิม ?
ย้อนกลับไปเมื่องาน Google I/O เมื่อปีที่แล้ว ทาง Google ได้เปิดตัวระบบปฏิบัติการน้องใหม่ล่าสุดในชื่อ Android Go ซึ่งมีจุดเด่นในเรื่องของความเบา และออกแบบมาสำหรับมือถือรุ่นเล็กเพื่อให้ใช้งานได้อย่างลื่นไหล แต่เชื่อว่าหลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่า Android Go มีความแตกต่างกับระบบ Android เวอร์ชันปกติที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันอย่างไร และจะเข้ามามีบทบาทกับสมาร์ทโฟนมากน้อยขนาดไหน เราลองไปติดตามพร้อมๆ กันเลยดีกว่าครับ
สำหรับ Android Go เป็นระบบปฏิบัติการที่ถูกปรับแต่งเพื่อรันบนสมาร์ทโฟนระดับเริ่มต้นโดยเฉพาะ ซึ่งหากพูดกันตามตรงแล้ว ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทาง Google พยายามเจาะกลุ่มตลาดมือถือที่มีราคาไม่สูงมากนัก เพราะก่อนหน้านี้ทาง Google ก็เคยรุกตลาดด้วยโปรเจ็กต์ Android One ซึ่งเป็นการจับมือกับค่ายมือถือแบรนด์ต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์สมาร์ทโฟนระดับเริ่มต้น - ระดับกลาง ที่รันด้วยระบบปฏิบัติการแบบ Pure Android ซึ่งจุดเด่นคือ ระบบที่ใช้จะไม่มีการปรุงแต่งใดๆ พร้อมทั้งยังได้รับการอัปเดตแพทซ์จาก Google เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งมือถือที่เข้าโครงการนี้ในปัจจุบันได้แก่ Xiaomi Mi A1 และ Moto X4 (Android One Edition) เป็นต้น
แต่จุดที่แตกต่างกันก็คือ Android Go ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเน้นใช้งานบนมือถือราคาประหยัดอย่างเดียวเท่านั้น โดยทาง Sundar Pichia ซีอีโอของ Google ระบุว่า กลุ่มมือถือราคาประหยัดที่ว่านี้ ควรมีราคาอยู่ที่ราว 30 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,000 บาท ซึ่งราคาในระดับนี้ จะช่วยให้ผู้ใช้เป็นจำนวนหลายล้านคนในประเทศอินเดีย รวมถึงสามารถเข้าถึงสมาร์ทโฟนเครื่องแรกของพวกเขาได้ โดยแพลตฟอร์ม Android Go จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในด้านการเป็นระบบปฏิบัติการทางเลือกของมือถือราคาประหยัดนั่นเอง
Android Go ต่างกับ Android เวอร์ชันปกติอย่างไร ?
สำหรับระบบ Android Go นั้น จริงๆ แล้วจะมีพื้นฐานการทำงานแบบเดียวกันกับระบบ Android เวอร์ชันปกติ แต่จะมีการปรับแต่งในเรื่องของความเสถียร และประสิทธิภาพการทำงานให้เหมาะสมกับอุปกรณ์ที่มีฮาร์ดแวร์ไม่แรงมากนัก โดย Android Go เวอร์ชันแรก ในชื่อ Android Oreo (Go Edition) ถูกปรับแต่งอยู่บนพื้นฐานของระบบปฏิบัติการ Android เวอร์ชันใหม่อย่าง Android 8.1 Oreo ซึ่งมาพร้อมกับฟีเจอร์พื้นฐานแบบครบครัน อย่างเช่น ฟีเจอร์จัดการปริมาณการใช้ดาต้าอินเทอร์เน็ต หรือ Google Play Protect ซึ่งเป็นระบบตรวจสอบถึงความปลอดภัยของแอปพลิเคชันที่ติดตั้งอยู่ภายในตัวเครื่อง รวมไปถึงการตรวจสอบแอปพลิเคชันที่อยู่บน Google Play Store เพื่อให้มั่นใจได้ว่า สมาร์ทโฟนของผู้ใช้งานจะมีความปลอดภัยอยู่เสมอ
อีกหนึ่งจุดที่ทำให้ Android Go แตกต่างจากระบบ Android เวอร์ชันปกติก็คือ การมาพร้อมกับแอปพลิเคชันพื้นฐานจาก Google ที่ถูกดีไซน์ออกมาสำหรับมือถือที่มีหน่วยความจำแรม (RAM) น้อยกว่า 1GB โดยเฉพาะ แต่ยังคงฟีเจอร์หลักๆ เอาไว้เหมือนกับเวอร์ชันปกติ อย่างเช่น Gmail Go, Google Assistant Go, Maps Go, File Go, Gboard Go ทำให้สามารถใช้งานอย่างลื่นไหลมากขึ้นกว่าการใช้แอปพลิเคชันเวอร์ชันเต็ม รวมทั้งยังกินพื้นที่หน่วยความจำบนตัวเครื่องน้อยกว่าเดิมด้วยนั่นเอง ส่วนแอปพลิเคชันที่มีอยู่บน Play Store นั้น ทาง Google จะมีการโปรโมทแอปพลิเคชันที่ถูกออกแบบมาสำหรับมือถือ Android Go มากขึิ้นด้วย
แต่ Android Go ได้รับการสนับสนุนจากผู้พัฒนาฮาร์ดแวร์มากน้อยขนาดไหน ? สำหรับประเด็นนี้ ทางผู้ผลิตชิปเซ็ตมือถือรายใหญ่บนท้องตลาดอย่าง Qualcomm และ MediaTek ได้ออกมาประกาศเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า ได้มีการจับมือร่วมงานกับ Google เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะมีการซัพพอร์ตระบบปฏิบัติการ Android Go อย่างแน่นอน โดยทาง Qualcomm ระบุว่า ชิปเซ็ต Snapdragon ระดับเริ่มต้น และระดับกลาง สามารถใช้เป็นตัวขับเคลื่อนระบบ Android Go ได้ ซึ่งทำให้ในอนาคตเราจะได้เห็นมือถือที่มาพร้อมกับชิปเซ็ต Snapdragon ซีรีส์ 2xx และ 4xx รันบน Android Go นั่นเอง
ส่วนทางฝั่งของ MediaTek นั้น เปิดเผยว่า ชิปเซ็ตที่ทางบริษัทมีอยู่อย่างรุ่น MT6739, MT6737 และ MT6580 จะถูกใช้บนมือถือ Android Go รุ่นใหม่ๆ โดยในชิปเซ็ตรุ่น MT6580 จะใช้บนมือถือที่รองรับเครือข่าย 3G เท่านั้น ส่วนชิปเซ็ตรุ่น MT6739 และ MT6737 จะใช้บนมือถือที่รองรับเครือข่ายสัญญาณ 4G LTE
มือถือ Android Go จะวางขายเมื่อไหร่?
สำหรับสมาร์ทโฟนที่รันด้วย Android Go นั้น มีรายงานว่าจะเริ่มวางจำหน่ายในช่วงปลายไตรมาสที่ 1 ของปี 2018 ซึ่งมือถือรุ่นแรกที่จะได้ใช้ Android Go นั่นก็คือ Micromax Bharat Go โดยจะเริ่มวางขายในประเทศอินเดียเป็นที่แรก กับราคาค่าตัวราว 2,000 อินเดียรูปี หรือประมาณ 1,000 บาท โดยมาพร้อมกับสเปกพื้นฐาน ด้วย RAM ขนาด 1GB และหน่วยความจำภายในความจุเริ่มต้น 8GB นอกจากนี้ แบรนด์สมาร์ทโฟนรายอื่นๆ ก็เริ่มปรับตัวเข้ากับแพลตฟอร์ม Android Go แล้ว อย่างเช่น Nokia ที่เตรียมนำฟังก์ชันพื้นฐานบางอย่างจากระบบ Android Go มาใส่ไว้บนมือถือราคาประหยัดของค่ายอย่าง Nokia 2 ในอนาคต
หากพิจารณาจากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นได้ว่า Android Go นั้น ถูกปรับแต่งออกมาเพื่อแก้ไขจุดอ่อนของมือถือราคาประหยัด ที่ในบางครั้งประสิทธิภาพการทำงานอาจปรากฏอาการหน่วง หรืออาการค้างให้เห็น เนื่องจากตัวฮาร์ดแวร์ต้องแบกรับภาระการทำงานของระบบปฏิบัติการ Android เวอร์ชันปกติที่ค่อนข้างบริโภคทรัพยากรของตัวเครื่อง นอกจากนี้ Android Go ยังมีจุดเด่นในเรื่องของการติดตั้งแอปพลิเคชันพื้นฐานจาก Google ที่ออกแบบมาสำหรับ Android Go โดยเฉพาะ แต่ยังคงยึดฟีเจอร์หลักๆ เอาไว้ไม่ต่างกับแอปพลิเคชันเวอร์ชันปกติ นอกจากนี้ ด้วยราคาของมือถือ Android Go ที่ทาง Google ต้องการให้อยู่ในช่วงประมาณ 30 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 1 พันบาทนั้น อาจเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้ใช้บางส่วนตัดสินใจเปลี่ยนจากมือถือฟีเจอร์โฟน มาใช้งานสมาร์ทโฟน ในราคาที่เอื้อมถึงได้นั่นเอง ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า ค่ายมือถือรายใด จะหันมาใช้ Android Go อีกบ้าง รวมทั้ง Android Go จะเข้ามามีส่วนช่วยผลักดันตลาดมือถือ Android ได้มากน้อยเพียงใดครับ
ที่มา : Android Central
วันที่ : 30/1/2561