หน้าแรกมือถือ > รวมข่าวมือถือ > หน้าบทความ ข่าวมือถือ
   
Date : 23/3/2564

เกิดอะไรขึ้นกับ Google Pixel มือถือที่เคยเป็นความหวังของ Android ทำไมถึงดูเงียบไป ?

 

 

“เทคโนโลยีใหม่ ๆ ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากการตั้งคำถาม 
หากบริษัทที่ถูกสร้างขึ้นด้วยการตั้งคำถามอย่าง Google ลองตั้งคำถามกับสมาร์ทโฟนบ้าง มันจะเป็นอย่างไรกันนะ ?”

 

ประโยคข้างต้นคือคำโปรยจากโฆษณาของ Google Pixel 2 ก่อนที่ภาพจะถูกตัดไปยังผู้หญิงคนหนึ่งที่กำลังกัดกิน “แอปเปิล” อย่างเอร็ดอร่อย โฆษณาชุดนี้ สื่อให้เห็นถึงความตั้งใจในการปฏิวัติวงการมือถือได้เป็นอย่างดี

แต่นับวันกระแสของ Google Pixel ดูเหมือนเริ่มเลือนลางลงไปเรื่อย ๆ หลังทางบริษัทแม่อย่าง Alphabet ได้ออกมาเปิดเผยผลประกอบการให้ทราบกันเมื่อปี 2019 โดยมีใจความที่น่าสนใจว่า สมาร์ทโฟนรุ่นเล็กอย่าง Pixel 3a ทำยอดขายได้ค่อนข้างดี แม้ยอดขายฝั่งธุรกิจฮาร์ดแวร์จะลดลงจากปีที่แล้ว 

แม้ว่าภายในงานจะไม่มีการเปิดเผยยอดขายของมือถือรุ่นเรือธงอย่าง Pixel 4 ให้ทราบ แต่จากคำบอกเล่าของซีอีโออย่าง Sundar Pichai ที่เปิดเผยให้ทราบว่า Pixel 4 เป็นมือถือที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อส่งมอบประสบการการณ์ใช้งานที่ดีให้แก่ผู้บริโภค รวมทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยกระจายสินค้าให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ก็ทำให้เกิดการคาดเดาได้ว่า Pixel 4 เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ทำยอดขายไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้ และส่งผลให้ธุรกิจฝั่งฮาร์ดแวร์ของ Google ทำยอดขายได้น้อยลงกว่าเดิม แต่เพราะเหตุใด Pixel มือถือที่เคยเป็นความหวังหมู่บ้านของชาว Android ถึงดูไม่ได้รับความนิยมเหมือนแต่ก่อน ? ไปหาคำตอบกันครับ

 

เริ่มต้นจากความแตกต่าง

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 กับสมาร์ทโฟน Pixel รุ่นแรก Google ถือเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่สามารถสร้างความแตกต่างให้กับสมาร์ทโฟนได้อย่างแท้จริง ในยุคที่สมาร์ทโฟนยังใช้ระบบ HDR เพื่อถ่ายภาพในสภาวะแสงที่มีความซับซ้อน Google ก้าวกระโดดไปใช้ฟีเจอร์ที่เรียกว่า HDR+ ที่เป็นการถ่ายภาพหลายภาพที่มีค่าความสว่างของแสงแตกต่างกัน และนำภาพทั้งหมดมารวมกันในภาพเดียว ซึ่งแม้ว่าหลักการทำงานของ HDR+ ของ Pixel ไม่ได้แตกต่างกับ HDR ของมือถือทั่วไป แต่ HDR+ ของ Pixel ประมวลผลได้เร็วกว่ามาก อีกทั้งยังถูกเปิดใช้งานเป็นค่าเริ่มต้น จึงทำให้ภาพที่ได้มีความสวยงามตั้งแต่เปิดกล้อง 

 

Google ยังก้าวข้ามขีดจำกัดด้านฮาร์ดแวร์ของกล้องมือถือ ด้วยระบบป้องกันภาพสั่นไหวด้วยเซ็นเซอร์ Gyroscope ที่สามารถประมวลผล 200 ครั้งต่อวินาที เพื่อช่วยให้ภาพวิดีโอมีความนิ่งเป็นพิเศษ และดูลื่นไหลมากยิ่งขึ้น ไม่จำเป็นต้องใช้ระบบกันสั่นแบบ OIS เพื่อถ่ายวิดีโอให้นิ่งเหมือนกับมือถือในยุคนั้น (แม้ว่าในตอนหลังทาง Google จะยอมใส่ OIS มาให้ก็ตาม) ด้วยความล้ำทางเทคโนโลยีกล้อง รวมถึงคุณภาพของภาพถ่าย จึงทำให้ Google Pixel รุ่นแรกสามารถทำคะแนนทดสอบจาก DxOMark ได้สูงถึง 89 คะแนน แซงหน้าคู่แข่งอย่าง iPhone 7 ก้าวขึ้นเป็นมือถือที่มีกล้องที่ดีที่สุดในโลก ณ ตอนนั้นไปโดยปริยาย

 

นอกจากความโดดเด่นด้านกล้องถ่ายภาพแล้ว Google Pixel ยังให้สิ่งที่มือถือแบรนด์อื่น ๆ ให้ไม่ได้ นั่นก็คือ สิทธิในการเก็บภาพ และวิดีโอความละเอียดสูงบน Google Photos ได้แบบไม่จำกัด, ระบบปฏิบัติการที่มีความคลีนตามแบบฉบับดั้งเดิมของ Android, ฟีเจอร์ดาวน์โหลด และติดตั้งซอฟท์แวร์ให้แบบอัตโนมัติเมื่อมีอัปเดตใหม่ รวมถึงการมาพร้อมกับผู้ช่วยสุดแสนอัจฉริยะอย่าง Google Assistant 

 

ในปีต่อมา Google เขย่าวงการอีกครั้ง ด้วยการเปิดตัว Pixel 2 และ Pixel 2 XL มือถือที่แม้จะมีกล้องเดี่ยว แต่ก็สามารถถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอได้เหมือนกับมือถือกล้องหลังคู่ โดย Google ได้ดึงเอาพลังแห่ง AI ที่ได้รับการปลุกปั้นให้สามารถแยกแยะมนุษย์ สัตว์เลี้ยง ดอกไม้ รวมถึงวัตถุอื่น ๆ ได้อย่างแม่นยำ เพื่อทำ Segmentation Mask หรือการตัดตัวแบบออกจากพื้นหลังได้อย่างแม่นยำ 

 

ตัวอย่างภาพถ่ายจากโหมด Portrait ของ Pixel 2

นอกเหนือจาก AI แล้ว Google ยังได้ดึงเอาเทคโนโลยีทางฝั่งฮาร์ดแวร์ และซอฟท์แวร์ เพื่อช่วยให้การถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอเป็นไปอย่างธรรมชาติ ด้วยระบบ HDR+ ที่ถูกพัฒนาต่อยอดมาจาก Pixel รุ่นแรก ซึ่งที่มีความสามารถในการถ่ายภาพหลายสภาพแสงพร้อมกันหลาย ๆ ใบ รวมถึงระบบโฟกัสภาพแบบ Dual Pixel ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้เพราะสร้างข้อมูลระยะชัดตื้น หรือ Depth Map เพื่อวิเคราะห์ระยะห่างระหว่างตัวแบบ และฉากหลัง ทำให้ภาพถ่ายหน้าชัดหลังเบลอที่ออกมา มีความสวยงามไม่แพ้มือถือกล้องคู่จากแบรนด์คู่แข่งรายอื่น ๆ ในยุคนั้น

 

ถึงจุดที่เริ่มจะเป็นผู้ตาม

แม้ว่า Pixel ยุคแรกจะปูทางไว้เป็นอย่างดี แต่ดูเหมือนว่า Pixel 3 และ Pixel 3 XL มือถือรุ่นใหม่ที่เปิดตัวเมื่อปี 2018 จะไม่ได้เดินตามทางที่ Google วางไว้ เพราะคราวนี้ Google เลือกที่จะเริ่มทำตามคู่แข่งบ้างแล้ว ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนจากการเปลี่ยนดีไซน์สมาร์ทโฟนใหม่ในรุ่น Pixel 3 XL จากเดิมที่เป็นมือถือจอใหญ่ไร้ขอบ ก็กลายเป็นมือถือที่มีจอรอยบากขนาดใหญ่คล้ายกับ iPhone X ถึงขนาดโดนเพื่อนชาว Android ด้วยกันอย่าง Samsung เอ่ยปากแซวว่า “ติ่งบนจอกว้าง Pixel 3 XL พอที่จะจอดเครื่องบินได้ลำนึงเลยล่ะ” และ “ไม่ใช่ทุกคนที่เกิดมาเป็นผู้นำ”

 

นอกจากดีไซน์ที่โดนรับน้องทันทีตั้งแต่เปิดตัว Pixel 3 และ Pixel 3 XL ยังถูกพูดถึงจากนักรีวิวต่างประเทศในเรื่องของ แบตเตอรี่ ที่ไม่ค่อยจะทนเท่าไหร่นัก รวมทั้งยังมาพร้อมกับระบบชาร์จที่ค่อนข้างจะช้าด้วยกำลังการจ่ายไฟเพียง 18W ซึ่งใช้เวลาการชาร์จแบตเตอรี่จาก 0-100% ด้วยเวลา 123 นาที ขณะที่บางแบรนด์อสามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้เต็มในเวลาเพียง 80 นาทีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อีกหนึ่งสิ่งที่หลายฝ่ายหยิบยกมาเป็นประเด็นก็คือ สเปกที่ดูจะให้มาน้อยกว่าคู่แข่ง เพราะ Pixel 3 และ Pixel 3 XL ให้ RAM มาแค่ 4GB และหน่วยความจำภายในความจุสูงสุดแค่ 128GB เท่านั้น เมื่อเทียบกับแบรนด์อื่นอย่าง OnePlus 6 ที่เริ่มให้ RAM 6GB เป็นมาตรฐาน และให้ความจุสูงสุดมามากถึง 256GB ก็เริ่มทำให้ Pixel ดูจะไม่ใช่ความหวังของหมู่บ้าน Android อีกต่อไป

 

Pixel 4 จุดเปลี่ยนของ Google

Google พยายามแก้เกมใหม่ในปี 2019 ด้วยการเปิดตัว Pixel 4 และ Pixel 4 XL ที่คราวนี้อัปเกรดฟีเจอร์ให้ดูล้ำขึ้นผิดหูผิดตา ด้วยหน้าจอแสดงผลแบบ 90Hz, การใส่เซ็นเซอร์เรดาร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวแบบ Motion Sense เพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถสั่งการได้โดยไม่ต้องแตะหน้าจอสมาร์ทโฟน รวมทั้งยังใช้สำหรับปลดล็อกด้วยใบหน้า, ดีไซน์หน้าจอที่ไม่มีติ่งไม่มีรอยบาก สามารถรับชมคอนเทนต์ได้แบบเต็ม ๆ ไปจนถึงการเลิกใช้กล้องหลังเดี่ยว เพราะคราวนี้ Google ใส่กล้องหลังมาให้ถึง 2 ตัว ได้แก่ กล้องตัวหลัก และกล้อง Telephoto พร้อมอัปเกรดฟีเจอร์ใหม่ให้เพียบ ทั้ง Live HDR+ ที่สามารถพรีวิวภาพถ่าย HDR+ ให้เห็นได้ตั้งแต่ก่อนถ่าย, Learning-based White Balancing ที่สามารถปรับสมดุลแสงสีขาวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมได้แบบอัตโนมัติ ไปจนถึงโหมดถ่ายดาวแบบ Astrophotography ที่สามารถเปิดหน้ากล้องได้นานถึง 4 นาที พร้อมซอฟท์แวร์ที่ช่วยลด hot pixels แบบอัตโนมัติ

แม้ดูแล้ว Pixel 4 และ Pixel 4 XL ดูจะเป็นไม้เด็ดที่จะช่วยให้ Google กลับมายืนหยัดในวงการได้อีกครั้ง แต่เรื่องราวกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะสื่อต่างประเทศมองว่า Pixel 4 ยังขาดฟีเจอร์สำคัญอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่ในการเก็บไฟล์ภาพแบบต้นฉบับ (Original Photo) บน Google Photo ที่ขาดหายไป, แบตเตอรี่ขนาด 2800mAh ที่ดูจะน้อยไปสักหน่อยในรุ่น Pixel 4 ที่มีหน้าจอแบบ 90Hz, กล้องหลังไม่มีเลนส์มุมกว้าง Ultra Wide เหมือนรุ่นอื่น ๆ รวมถึงราคาเปิดตัวที่ค่อนข้างสูงไปสักหน่อย (Pixel 4 ราคาเริ่มต้น 799 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 24,700 บาท) ซึ่งราคาพอ ๆ กับ Samsung Galaxy S10 Series ที่มีฟีเจอร์เยอะกว่า 

 

Pixel 4 ยังเจอปัญหาเรื่องระบบ Security ที่ดูไม่ค่อยจะปลอดภัยสักเท่าไหร่ เพราะระบบสแกนใบหน้าของมือถือรุ่นนี้ สามารถปลดล็อกได้แม้ว่าผู้ใช้จะหลับตา บางรายถึงขั้นปลดล็อกด้วยใบหน้าไม่ได้ แม้จะพยายาม Factory Reset แล้วก็ไม่หาย ซึ่งกว่าที่ Google จะแก้ปัญหาเหล่านี้ ก็กินเวลาหลายเดือนเลยทีเดียว

 

Rick Osterloh

ไม่ใช่แค่เพียงผู้บริโภคที่ผิดหวัง เพราะแม้แต่ Rick Osterloh หัวหน้าทีมพัฒนาฮาร์ดแวร์จาก Google ก็รู้สึกผิดหวังกับ Pixel 4 ไม่แพ้กัน โดยรายงานจากสื่อต่างประเทศอย่าง The Information เปิดข้อมูลเบื้องหลังให้ทราบเพิ่มเติมว่า Osterloh รู้สึกผิดหวังกับแบตเตอรี่ที่ให้มาค่อนข้างน้อย และยังรู้สึกผิดหวังกับดีไซน์ ไปจนถึงสเปกที่ Google ใส่มาให้ นอกจากนี้ ยังเกิดเหตุการณ์สำคัญภายในองค์กร หลังคีย์แมนสองรายอย่าง Mario Queiroz ผู้จัดการทั่วไปของผลิตภัณฑ์ Google Pixel ที่ร่วมงานกันมาตั้งแต่ปี 2005 ไปจนถึง Marc Levoy หัวหน้าทีมผู้พัฒนากล้อง Pixel ได้ทำการยื่นลาออกจาก Google เป็นที่เรียบร้อย

จากปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ Google ตัดสินใจลดราคา Pixel 4 ในช่วงกลางปี 2020 เหลือเพียง 499 เหรียญ ซึ่งเป็นราคาที่พอ ๆ กับสมาร์ทโฟน Android ระดับกลาง และยังราคาพอ ๆ กับ iPhone SE รุ่นใหม่ที่ Apple หันมาจับกลุ่มตลาดผู้ที่ชื่นชอบไอโฟนสเปกดีราคาประหยัด แต่สุดท้ายแล้ว Pixel 4 และ Pixel 4 XL ก็ต้องยุติการวางจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ Google Store ในช่วงเดือนสิงหาคม 2020 แม้วางขายได้เพียง 9 เดือนเท่านั้น ซึ่งผิดวิสัยของ Google ที่มักจะวางขายมือถือ Pixel นานถึง 18 เดือน

 

ความหวังครั้งใหม่ของ Google ดูจะต้องฝากไว้กับ Pixel 5 มือถือรุ่นสานต่อที่เปิดตัวให้เห็นเมื่อปลายปี 2020 ที่ผ่านมา และคราวนี้ Google ทำเซอร์ไพร์ส เพราะ Pixel 5 ไม่ใช่มือถือเรือธงเหมือนกับ Pixel 4 แต่เป็นมือถือระดับรองท็อปเท่านั้น  โดยมาพร้อมกับจอ OLED 6 นิ้ว ที่มีค่า Refresh Rate 90Hz พร้อมชิป Snapdragon 765G, สแกนลายนิ้วมือหลังเครื่อง และจุดเด่นที่หลายคนรอคอยอย่างกล้อง Ultra Wide รวมถึงแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ถึง 4008mAh 

แม้อาจดูเข้าใจได้ว่า Pixel 5 ไม่ได้ตั้งใจที่จะเปิดตัวเพียงรุ่นเดียว แต่จะมีรุ่นท็อปกว่านี้เปิดตัวให้เห็นในอนาคต แต่อย่างไรก็ดี Pixel 5 เลือกเปิดราคาวางจำหน่ายเริ่มต้นที่ 699 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 21,600 บาท ซึ่งในเรทราคาเดียวกัน ก็มีคู่แข่งคนสำคัญอย่าง Galaxy S20 FE ที่ให้ชิปเซ็ตมาแรงกว่าด้วยขุมพลัง Snapdragon 865, หน้าจอ Refresh Rate สูง 120Hz, สแกนลายนิ้ว ไปจนถึงบอดี้กันน้ำกันฝุ่น IP68

 

ถึงเวลาปรับกลยุทธ์ใหม่

การแข่งขันบนตลาดสมาร์ทโฟนระดับเรือธงที่ดุเดือด ทำให้ Google เริ่มหันมาจับตลาดมือถือระดับกลางดูบ้าง ด้วยการออกรุ่น Pixel ที่มีชื่อ a ต่อท้ายออย่าง Pixel 3a และ Pixel 4a ที่เปิดราคาวางจำหน่ายอยู่ที่หมื่นต้น-หมื่นกลาง กับสเปกด้านกล้องถ่ายภาพที่ถูกยกมาจากรุ่นใหญ่ และปรับไปใช้ชิปเซ็ตระดับกลาง ซึ่งด้วยกลยุทธ์ใหม่ในครั้งนี้ทำให้หลายฝ่ายมองว่า Google เริ่มเดินมาถูกทาง เพราะสเปกที่ได้ และประสิทธิภาพของมือถือ Pixel รุ่นเล็ก ค่อนข้างคุ้มค่าต่อราคา 

ดูเหมือนว่า Google จะพักมือกับมือถือระดับเรือธง เพราะจากอีเวนท์ใหญ่เมื่อปลายปี 2020 ทาง Google เลือกเปิดตัวมือถือที่ไม่ใช่รุ่นเรือธงอย่าง Pixel 5 ให้เห็น รวมทั้งยังมีการนำมือถือระดับกลางรุ่นยอดนิยมอย่าง Pixel 4a มาปัดฝุ่นใหม่ภายใต้ชื่อใหม่อย่าง Pixel 4a 5G ที่อัปเกรดซีพียูให้แรงเท่า Pixel 5 พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการเชื่อมต่อบนเครือข่าย 5G ในราคาวางจำหน่ายที่น่าดึงดูดที่ 499 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 15,500 บาท รวมทั้งในระยะเวลาที่ผ่านมายังมีรายงานด้วยว่า Google เริ่มพัฒนามือถือราคาประหยัดรุ่นต่อไปอย่าง Pixel 5a เป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วย

จะเห็นได้ว่า จริง ๆ แล้ว Google ไม่ได้หายไปไหน ยังคงโลดแล่นบนตลาดสมาร์ทโฟนเช่นเดิม แต่เน้นจับกลุ่มตลาดสมาร์ทโฟนระดับกลางมากขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้เข้าถึงได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็ต้องติดตาม และเอาใจช่วยกันต่อไปว่าทิศทางของมือถือ Google Pixel จะเป็นไปในทิศทางใด และจะมี Pixel รุ่นไหนที่สามารถเขย่าวงการได้เหมือนกับ Pixel 1 และ Pixel 2 หรือไม่

 

ข้อมูลอ้างอิง : Android Authority (1), (2), 9to5GoogleAndroid CentralThe VergeAndroid PoliceBGRPhoneArenaGoogle India

 

นำเสนอบทความโดย : thaimobilecenter.com


วันที่ : 23/3/2564

Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy