หน้าแรกมือถือ > รวมข่าวมือถือ > หน้าบทความ ข่าวมือถือ
   
Date : 26/1/2564

คะแนน AnTuTu บอกอะไรเรากันแน่? เลขยิ่งเยอะ มือถือยิ่งแรง จริงหรือ?

 

การจะวัดความแรงของสมาร์ทโฟนแต่ละรุ่น หลายคนน่าจะหยิบยกคะแนน AnTuTu มาทำการตัดสินเป็นหลัก ซึ่งในบางครั้ง ค่ายมือถือก็นำคะแนน AnTuTu มาทำการโฆษณาเพื่อบ่งบอกถึงความแรงของสมาร์ทโฟนรุ่นนั้นๆ ให้ทราบอย่างเข้าใจง่ายๆ แต่คะแนน AnTuTu ยิ่งเยอะ ยิ่งหมายความว่ามือถือรุ่นนั้นแรง จริงหรือ? และแท้จริงแล้วคะแนน AnTuTu กำลังบอกอะไรเรากันแน่? ไปหาคำตอบกันดีกว่าครับ

 

AnTuTu ทดสอบอะไร?

AnTuTu เป็นแอปพลิเคชันสำหรับใช้ทดสอบประสิทธิภาพการทำงานโดยรวม (Overall) ของสมาร์ทโฟน เพื่อทดสอบว่าสมาร์ทโฟนรุ่นนั้นๆ สามารถทำคะแนนทดสอบสูงสุดในแต่ละหมวดได้ในระดับใด โดยหลักๆ AnTuTu จะแบ่งการทดสอบออกเป็น 4 หมวดหมู่ และนำคะแนนในแต่ละหมวดมาคิดเป็นคะแนนรวม ได้แก่

 

  • CPU - ทดสอบการประมวลผลของหน่วยประมวลผลกลาง (CPU) ผ่านการรันชุดคำสั่งทางคณิตศาสตร์
  • GPU - ทดสอบพลังการประมวลผลเกี่ยวกับกราฟิกด้วยการเรนเดอร์ภาพประเภท 2D และ 3D
  • MEM - ทดสอบความเร็วในการอ่านเขียนของหน่วยความจำ RAM และ ROM
  • UX - ทดสอบความเร็วด้านการใช้งาน โดยจำลองสถานการณ์การใช้งานจริง เช่น เลื่อนหน้าเว็บไซต์, ขยายภาพใหญ่, เซฟภาพ คร็อปภาพ, สแกน QR Code เป็นต้น

 

คะแนน AnTuTu บอกอะไรเรา?

หากว่ากันตามจริงแล้ว คะแนน AnTuTu เป็นตัวบ่งบอกที่ค่อนข้างจับต้องได้ง่ายว่า สมาร์ทโฟน Android แต่ละรุ่นมีประสิทธิภาพ หรือความเร็วของฮาร์ดแวร์อยู่ในระดับใด ช่วยให้ผู้ใช้สามารถมองเห็นภาพของประสิทธิภาพของมือถือรุ่นนั้นๆ ได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น แต่เนื่องจาก AnTuTu เป็นการวัดคะแนนสูงสุดที่สมาร์ทโฟนรุ่นนั้นๆ ทำได้ในแต่ละหมวดหมู่ จึงทำให้อาจสะท้อนด้านการใช้งานจริงไม่ได้ทั้งหมด

 

ประเด็นนี้ทาง Android Authority เคยมีการเปิดเผยกราฟที่สะท้อนให้เห็น Compute และ Bandwidth ที่ระบบต้องการสำหรับรันคอนเทนต์ความละเอียดระดับ Full HD ที่ 60FPS ซึ่งจะเห็นได้ว่า หากเป็นการเล่นเกม 2 มิติ การใช้งานทั่วไป หรือแม้แต่การเล่นเกม 3 มิติ ระบบต้องการทรัพยากรของเครื่องอยู่ในระดับกลางๆ เท่านั้น (กราฟเส้นสีเขียว และเส้นสีน้ำเงิน) แต่เมื่อใช้งานแอปพลิเคชันทดสอบประสิทธิภาพ (Benchmark) กราฟกลับพุ่งขึ้นจากการเล่นเกม 3 มิติไปอีกเท่าตัว หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ Benchmark เป็นการทดสอบประสิทธิภาพฮาร์ดแวร์ในระดับ Peak Performance ซึ่งเป็นรีดเค้นพลังของฮาร์ดแวร์ในระดับสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เราพบไม่ได้บ่อยนักในการใช้งานจริง

 

หากใครยังไม่เห็นภาพ ลองนึกถึงมอเตอร์ไซค์คลาส 1,000 ซีซี ที่สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 299+ กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่การใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน คงเป็นไปได้ยากที่จะมีโอกาสบิดแช่ที่ความเร็ว Top Speed เพื่อเดินทางในชีวิตประจำวันด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น สภาพถนนที่ไม่ยาวพอสำหรับอัดถึง Top Speed, อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่มากกว่าการขับขี่ด้วยความเร็วปกติตามที่กฏหมายกำหนด ไปจนถึงอายุการใช้งานของชิ้นส่วน และเครื่องยนต์ ที่สึกเหรอเร็วขึ้นด้วยรอบการขับขี่ระดับสูง 

 

สมาร์ทโฟนก็มีหลักการการทำงานที่คล้ายคลึงกัน เพราะการใช้งานแบบปกติ ฮาร์ดแวร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น CPU, RAM หรือ ROM ก็จะรันด้วยความร็วกลางๆ เพื่อคงความสมดุลด้านการใช้งานที่ลื่นไหล และการบริโภคแบตเตอรี่ที่ไม่มากจนเกินไป เพราะหากสมาร์ทโฟนเกิดรันที่ความเร็ว Top Speed ตลอดเวลาตามผล Benchmark ก็จะส่งผลไปถึงความร้อนสะสม, การบริโภคแบตเตอรี่ในระดับสูง ไปจนถึงความเสียหายของอุปกรณ์บางชิ้นจากการใช้งานในระดับสูงเป็นเวลานาน 

ดังนั้น ประโยชน์ที่แท้จริงของคะแนน AnTuTu น่าจะอยู่ที่ การใช้อ้างอิงเพื่อจัดลำดับประสิทธิภาพของสมาร์ทโฟน / ชิปเซ็ต แบบคร่าวๆ เพื่อให้ผู้ใช้มองเห็นภาพได้ชัดเจนเสียมากกว่า

 

คะแนนเยอะ = แรง จริงหรือ?

อย่างที่เรากล่าวไปตั้งแต่ด้านต้นว่า คะแนน AnTuTu เป็นตัวเลขที่บ่งบอกประสิทธิภาพในระดับ Peak Performance ที่สมาร์ทโฟนรุ่นนั้นๆ สามารถทำได้ แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง ตัวเลขเหล่านี้ก็อาจไม่สะท้อนถึงความลื่นไหลด้านการใช้งานจริงก็เป็นได้

 

ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีการค้นพบว่า สมาร์ทโฟนบางรุ่นบางแบรนด์แอบมีการรันสคริปบางอย่างให้เครื่องทำงานสูงกว่าปกติเมื่อมีการรันแอปพลิเคชัน AnTuTu เพื่อช่วยให้คะแนนการประมวลผลอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ผู้ใช้บางรายจาก XDA-Developers ยังค้นพบด้วยว่า หากเราทำการ Root และลง GLTools พร้อมปรับค่าต่างๆ ในแอปพลิเคชัน AnTuTu (Custom Setting) เช่น ปิดการทำงานของ Anti-Aliasing (ป้องกันรอยหยัก), ใช้การประมวลผลภาพใน Resolution ระดับต่ำ และลดคุณภาพ Textures จะช่วยให้คะแนน AnTuTu พุ่งมาเกือบ 100,000 คะแนนเลยทีเดียว จนทำให้ AnTuTu ต้องออกแพทซ์แก้ไขเพื่อช่วยให้แบรนด์มือถือโกงคะแนนได้ยากมากยิ่งขึ้น ซึ่งประเด็นดังกล่าวก็ส่งผลไปถึงความน่าเชื่อถือของคะแนน Benchmark พอสมควร

อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คะแนนอาจไม่ได้เป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพทั้งหมดก็คือ การออกแบบซอฟท์แวร์ของมือถือแต่ละรุ่นแต่ละแบรนด์ที่ไม่เหมือนกัน มือถือบางรุ่นอาจเขียนซอฟท์แวร์เพื่อเน้นการใช้งานทั่วไปได้อย่างลื่นไหล และมีกลไกบางอย่างเพื่อไม่ให้สมาร์ทโฟนทำงานจนเกินระดับ Peak Performance เพื่อยืดอายุการใช้งานให้ยาวนานขึ้น เป็นต้น ซึ่งก็อาจกล่าวได้ไม่เต็มปากว่า มือถือรุ่นนี้ไม่แรงเท่ามือถืออีกรุ่นในคลาสเดียวกันที่ทำคะแนนได้มากกว่า

 

นอกจากนี้ การที่สมาร์ทโฟนรันคนละระบบปฏิบัติการ ก็ส่งผลถึงคะแนนที่ไม่เท่ากันเช่นเดียวกัน เนื่องจากแต่ละระบบปฏิบัติการจะมีการเรียกใช้ API สำหรับประมวลผลต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น iOS จะเรียกใช้ Metal API ที่ทาง Apple พัฒนาขึ้นมาเองสำหรับประมวลผลกราฟิก ขณะที่ Android จะเรียกใช้ Vulkan API เมื่อมีการประมวลผลกราฟิก ซึ่งทาง AnTuTu ไม่ได้เปิดเผยให้ทราบแบบแน่ชัดว่า มีเกณฑ์การให้คะแนนของทั้งสอง API ที่แตกต่างกันในลักษณะนี้อย่างไร 

สุดท้ายแล้วทางทีมงานอยากให้มองคะแนน AnTuTu รวมถึงคะแนน Benchmark เป็นผลชี้วัดในเบื้องต้นว่า สมาร์ทโฟนรุ่นนั้นๆ มีประสิทธิภาพการใช้งานอยู่ในระดับใด เพราะสุดท้ายแล้วสมาร์ทโฟนที่ดีที่สุดอาจไม่ใช่สมาร์ทโฟนที่แรงที่สุด แต่เป็นสมาร์ทโฟนที่ตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวันแต่ละท่านได้ดีที่สุด แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้า สวัสดีครับ

 

ข้อมูลอ้างอิง : Forbes, Make use of, Yuga Tech, Android Authority (1), (2), TechNorms, XDA-Developers, Gizmochina, Avast


วันที่ : 26/1/2564

Tags :
  

Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy