Benchmark คืออะไร? ตัวเลขบอกอะไรเรากันแน่ ยิ่งเยอะยิ่งดีจริงหรือ?
หากพูดถึงความแรงของสมาร์ทโฟน สิ่งที่จะถูกยกขึ้นมาด้วยกันเสมอคือ "คะแนน Benchmark" ตัวเลขมหัศจรรย์ที่เป็นตัวตัดสินชี้ขาดว่าสมาร์ทโฟนเครื่องไหนแรง หรือไม่แรง แม้กระทั่งแบรนด์สมาร์ทโฟนเองยังพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งตัวเลข Benchmark สูงสุด เพื่อนำมาเป็นเครื่องการันตีว่าสมาร์ทโฟนของตน "แรง" จริง รับได้ทุกงาน เล่นได้ทุกเกม ตัวเลข Benchmark จึงมีความสำคัญกับวงการสมาร์ทโฟนมาก ขนาดที่ว่าบางคนเลือกซื้อสมาร์ทโฟนจากคะแนน Benchmark ล้วนๆ กันเลยทีเดียว แต่เคยสงสัยกันไหมว่า ตัวเลขเหล่านี้มาจากการวัดค่าอะไร และสื่อถึงอะไรกันแน่? ในวันนี้ทีมงาน Thaimobilecenter จะพาทุกคนไปหาคำตอบกันครับ
Benchmark คืออะไร?
หากจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ Benchmark คือการวัดประสิทธิภาพของอุปกรณ์ (ในที่นี้คือสมาร์ทโฟน) ว่าสามารถทำงานประเภทหนึ่งได้เร็วที่สุดแค่ไหน โดยใช้การทดสอบที่ทำให้สมาร์ทโฟนประมวลผลอย่างเต็มความสามารถ และคำนวณผลลัพธ์ออกมาเป็นตัวเลขเพื่อให้เห็นภาพ และเปรียบเทียบกันได้ง่าย การวัด Benchmark ไม่มีเกณฑ์ที่แน่นอน แต่ละแอปพลิเคชันจะมีเกณฑ์การให้คะแนนเป็นของตัวเอง ดังนั้นจึงไม่สามารถนำไปเทียบกันข้ามแอปพลิเคชันได้ ต้องเทียบกับผล benchmark ที่มาจากแอปพลิเคชันเดียวกันเท่านั้น
การวัดค่า Benchmark อาจวัดค่าอะไรก็ได้ตามแต่แอปพลิเคชันนั้นๆ จะกำหนด แต่ส่วนใหญ่จะโฟกัสไปที่ประสิทธิภาพ และความเร็วสูงสุดของฮาร์ดแวร์ โดยเฉพาะ CPU, GPU และ RAM ตัวเลขยิ่งสูง ยิ่งสื่อถึงความ "แรง" ของสมาร์ทโฟนรุ่นนั้นๆ Benchmark จึงเป็นเกณฑ์วัดความแรงของสมาร์ทโฟนที่เข้าใจง่ายที่สุด และถูกนำไปใช้อ้างอิงมากที่สุดนั่นเองครับ
ตัวอย่างแอป Benchmark สำหรับสมาร์ทโฟน
AnTuTu Benchmark
AnTuTu คือแพลตฟอร์ม Benchmark ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในวงการสมาร์ทโฟน และมักจะถูกแบรนด์สมาร์ทโฟนจากจีนนำไปอ้างอิงอยู่บ่อยๆ โดยแอปจะทดสอบความเร็วการประมวลผลของ CPU, GPU และประสิทธิภาพด้านอื่นๆ โดยรวม แต่ปัจจุบันแอปถูกถอดออกจาก PlayStore เนื่องจากทำผิดกฎบางอย่างของทาง Google ทำให้ความน่าเชื่อถือของตัวแอปพลิเคชันลดลง แต่ถึงกระนั้น ก็ยังเป็นแอปพลิเคชันวัด Benchmark ที่ได้รับความนิยมอยู่ดี
Geekbench 5
อีกหนึ่งแอปที่ได้รับความนิยมไม่แพ้ AnTuTu เน้นทดสอบประสิทธิภาพของ CPU ทั้งการประมวลผลแกนเดี่ยว (single-core) และแบบหลายแกน (multi-core)
3DMark
3DMark เป็นแอปที่เน้นทดสอบประสิทธิภาพด้านกราฟิก และการรันเกม โดยโฟกัสที่การทำงานของ CPU และ GPU เป็นหลัก มีชุดทดสอบให้เลือกหลายแบบ ซึ่งแอปจะแนะนำชุดทดสอบที่เหมาะกับสมาร์ทโฟนให้เอง
PCMark
ทดสอบประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์ รวมไปถึงแบตเตอรี่ มีชุดทดสอบหลายแบบให้เลือก และมีกราฟประกอบผลการทดสอบให้ดูด้วย ส่วนการทดสอบแบตเตอรี่จะทดสอบระยะเวลาการใช้งานในชีวิตประจำวันทั่วๆ ไป
GFXbench
วัดประสิทธิภาพด้านกราฟิก ความเสถียรของประสิทธิภาพการทำงานในระยะยาว คุณภาพของงานเรนเดอร์กราฟิก และอัตราการใช้พลังงาน โดยแบ่งเป็น benchmark ย่อยหลายๆ ชุด ซึ่งจะถูกรันพร้อมกันทั้งหมด ใช้ทั้ง Vulkan และ OpenGL
Androbench
เน้นทดสอบประสิทธิภาพของหน่วยความจำภายใน มี benchmark ย่อย 2 ชุด ได้แก่ Micro และ SQLite โดย Micro เป็นการเปรียบเทียบประสิทธิภาพพื้นฐานของหน่วยความจำกับอุปกรณ์อื่นในฐานข้อมูล ส่วน SQLite จะทดสอบการทำงานของคำสั่ง insert, update และ delete หน่วยความจำ
นอกจากตัวอย่างข้างต้น ยังมีแอปพลิเคชัน Benchmark อีกหลายตัวบน PlayStore ซึ่งก็มีทั้งที่เชื่อถือได้ และเชื่อถือไม่ได้ สำหรับผู้ใช้ทั่วไปควรเลือกใช้แอปพลิเคชันที่นิยมกันข้างต้นจะชัวร์กว่าครับ
Benchmark ไม่ใช่ทุกอย่าง
ถึงแม้ว่า Benchmark จะแสดงให้เห็นประสิทธิภาพของสมาร์ทโฟนอย่างชัดเจน และมักจะถูกนำไปอ้างอิงอยู่บ่อยๆ แต่คะแนน Benchmark ไม่อาจนำไปใช้ตัดสินได้ว่าสมาร์ทโฟนรุ่นนี้ดีหรือแย่ เพราะ Benchmark เป็นการทดสอบหาขีดจำกัดของฮาร์ดแวร์เท่านั้น ไม่ได้สะท้อนถึงประสิทธิภาพในการใช้งานจริงๆ เช่น เครื่องร้อนง่ายไหม, แบตหมดเร็วแค่ไหน, UI ใช้ยากไหม, จับถนัดมือไหม, ใช้งานลื่นจริงๆ หรือไม่ เพราะสมาร์ทโฟนรุ่นเดียวกัน สเปกเหมือนกัน แต่ลง ROM คนละตัวกัน อาจจะลื่นไม่เท่ากันก็ได้ นอกจากนี้ คะแนน Benchmark ยังสามารถโกงได้ด้วยการ Overclock หรือเทคนิคพิเศษอื่นๆ ดังนั้น เราจึงไม่ควรยึดติดกับตัวเลข Benchmark มากเกินไป หากต้องการเลือกสมาร์ทโฟนดีๆ สักเครื่อง ควรอ่านรีวิวการใช้งานจากผู้ใช้อื่นๆ และควรทดลองเล่นเครื่องจริงที่ Shop ดูก่อน จะดีกว่าการตัดสินใจเลือกจากคะแนน Benchmark ล้วนๆ ครับ
นำเสนอบทความโดย : thaimobilecenter.com
วันที่ : 1/6/2563
