หน้าแรกมือถือ > รวมข่าวมือถือ > หน้าบทความ ข่าวมือถือ
   
Date : 30/3/2561

รู้ไว้ใช่ว่า : ประวัติศาสตร์แห่ง Android OS หุ่นกระป๋องเขียวยอดนิยมของคนทั่วโลก เจาะลึกเรื่องราวที่ผ่านมาตลอดช่วง 10 ปี กับจุดเด่นในแต่ละเวอร์ชัน!

 


 

ย้อนเวลากลับไปในช่วง 10 ปี ก่อนหน้านี้ HTC ได้เปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ล่าสุดในชื่อ HTC Dream ที่มีความพิเศษคือการใช้งานระบบปฏิบัติการ Android OS เป็นรุ่นแรกของโลก ซึ่ง ณ เวลานั้น Android OS ยังคงเป็นเพียง OS เกิดใหม่ที่ไม่มีใครคิดว่าจะโด่งดัง หรือทำงานได้ดีสักเท่าไหร่นักเมื่อเทียบกับบรรดามือถือ Symbian ที่วางจำหน่ายอยู่ทั่วไปในท้องตลาด แต่อีก 10 ปีให้หลัง Android OS ผงาดขึ้นเป็นระบบปฏิบัติการมือถือที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลก สามารถเอาชนะ Symbian, BalckBerry, Palm OS, webOS และ Windows Phone ไปได้อย่างขาดลอย และไร้ข้อกังขา ซึ่งความนิยมในระบบ Android OS นี้นับเป็นผลจากการตัดสินใจของ Google ที่ตัดสินใจทำให้ Android OS เป็นระบบปฏิบัติการแบบเปิดที่นักพัฒนาสามารถนำโค้ดไปพัฒนาต่อยอดเองได้ และกลายเป็นหุ่นกระป๋องเขียว Android ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน

หากนับเวลาย้อนไปแล้วก็เรียกได้ว่าเส้นทางของ Android OS นั้นมีเรื่องราวมากมายให้น่าศึกษา และน่าทำความรู้จักกันไม่น้อย โดยเฉพาะ Android OS แต่ละเวอร์ชันที่มีการตั้งชื่อให้ละม้ายคล้ายกับชื่อขนมหวานแต่ละอย่างจนกลายเป็นจุดเด่นที่บรรดาสาวก Android ต้องมาทายกันว่า ตัวอักษรย่อใน Android เวอร์ชันต่อไปจะเป็นชื่อของขนมหวานชนิดใด วันนี้ทีมงาน Thaimobilecenter จึงจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ Android OS หุ่นกระป๋องเขียวบันลือโลกให้มากขึ้น พร้อมทั้งบอกเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของชื่อขนมหวานในแต่ละเวอร์ชันให้ได้ทราบกันด้วย จะเป็นอย่างไรบ้างนั้น ติดตามชมไปพร้อมกันเลยครับ

 

จุดเริ่มต้นของ Android


ในเดือนตุลาคม ปี 2013 มีคนกลุ่มหนึ่งได้จัดตั้งบริษัทที่มีชื่อว่า Android Inc. ซึ่ง ณ ขณะนั้น ยังไม่มีใครคาดคิดว่าบริษัทนี้จะก้าวไปอยู่ภายใต้ปีกของ Google และกลายเป็นชื่อที่คุ้นหูของทุกๆ คนบนโลกใบนี้ โดยบริษัทดังกล่าวจัดตั้งโดย Rich Miner, Nick Sears, Chris White และ Andy Rubin โดยผู้ก่อตั้งรายหลังสุดเคยกล่าวเอาไว้ตอนเปิดบริษัทว่า Android Inc. จะมุ่งมั่นพัฒนา "มือถือที่มีความฉลาดมากขึ้น รู้จักความชื่นชอบของผู้ใช้ และรู้ตำแหน่งที่ตั้ง ณ จุดๆ นั้นด้วย"

ประโยคดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นเพียงคำอธิบายสั้นๆ ทั่วไปสำหรับมือถือที่คาดว่า "จะฉลาดขึ้น" แต่แท้จริงแล้วแพลตฟอร์มที่ Android Inc. กำลังจะพัฒนานั้น เดิมทีมีเป้าประสงค์ที่จะสร้างให้ทำงานร่วมกับกล้องถ่ายภาพดิจิทัลเท่านั้น ซึ่งทางทีมงานก็ได้สร้างสรรค์ระบบขึ้นมาให้พร้อมใช้งานแล้ว แต่ตลาดกล้องถ่ายภาพในเวลานั้นยังไม่เป็นที่นิยม ทำให้โครงการพัฒนาระบบของ Android Inc. ต้องถูกพับเก็บไป และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทีมงานเบนความสนใจจากระบบปฏิบัติการที่ทำงานร่วมกับกล้องถ่ายภาพ มาเป็นระบบปฏิบัติการที่ใช้งานร่วมกับมือถือแทน

และในปี 2015 บริษัท Android Inc. ที่พัฒนาระบบปฏิบัติการสำหรับโทรศัพท์มือถือก็ไปเตะตายักษ์ใหญ่อย่าง Google จนส่งผลให้ Google เข้าซื้อบริษัท Android Inc. ทันที โดยให้ทีมงานทุกคนยังคงพัฒนาระบบปฏิบัติการนี้ต่อไปเช่นเดิม แต่มีการตัดสินใจร่วมกันว่า Android OS จะเป็นระบบปฏิบัติการแบบเปิดที่ให้ใครนำไปใช้ก็ได้ และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของเจ้าหุ่นกระป๋องเขียวที่กลายมาเป็นระบบปฏิบัติการสมาร์ทโฟนที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลก ณ ปัจจุบัน

 

ก้าวแรกกับ Android 1.0


ในปี 2007 Apple ได้เปิดตัว iPhone รุ่นแรก พร้อมระบบปฏิบัติการ iOS ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการพลิกโฉมวงการมือถือให้เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล โดยในขณะที่ Apple ได้พัฒนา และเปิดตัว iPhone ไปแล้วนั้น ทาง Google ยังคงง่วนอยู่กับการพัฒนา Android OS และวางแผนพัฒนาระบบเพื่อนำมาสู้ศึกกับ Apple และในเดือนกันยายน ปี 2008 สมาร์ทโฟนรุ่นแรกที่ใช้งานระบบปฏิบัติการ Android Os ก็ถูกเปิดตัวอย่างเป็นทางการในชื่อ HTC Dream ที่มาพร้อมบริการจาก Google เช่น Google Maps, YouTube, HTML Browser (พัฒนาเป็น Google Chrome ในเวลาต่อมา) ที่ใช้ระบบ Search Engine ของ Google และที่สำคัญก็คือ ระบบ Android Market เวอร์ชันแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นของ Play Store ศูนย์รวมแอปพลิเคชันขนาดใหญ่ในปัจจุบัน

 

ชื่อขนมหวานของ Android แต่ละเวอร์ชันมีตั้งแต่ตอนไหน?


เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของ Android OS ที่ผู้ใช้ทุกคนน่าจะทราบกันดีก็คือ การตั้งชื่อ Android แต่ละเวอร์ชันด้วยชื่อของขนมหวานชนิดต่างๆ แต่ว่าในการเปิดตัว Android 1.0 เวอร์ชันแรกนั้น ไม่ได้มีการตั้งชื่อมาตั้งแต่แรก ไม่ว่าจะเป็นชื่อโค้ดเนมในบริษัท หรือชื่อแบบสาธารณะ แต่ Android 1.1 ในเวอร์ชันถัดมา ทีมงานในบริษัทเรียกโค้ดเนมของ Android เวอร์ชันนี้ว่า Petit Four (ชื่อขนมหวานชนิดหนึ่งของฝรั่งเศส) ในขณะที่กำลังพัฒนาระบบ แต่ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้ตั้งเป็นชื่อจริงจังมากนัก

Android OS ไม่เคยมีชื่อเรียกจนกระทั่งหลังจากการเปิดตัว Android 1.5 ในเดือนเมษายน ปี 2009 เพียงไม่กี่เดือน Android 1.5 ก็ได้รับการตั้งชื่อว่า Cupcake โดยเครดิตในการตั้งชื่อนี้เป็นของ Ryan Gibson หัวหน้า Project Manager ของ Google ซึ่งเหตุผลว่าทำไมเขาถึงได้ตั้งชื่อนี้ขึ้นมาก็ยังไม่มีใครทราบจนทุกวันนี้ แต่กระแสการตั้งชื่อเวอร์ชัน Android ด้วยชื่อขนมหวานได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว และในการเปิดตัว Android 4.4 KitKat ทาง Google ก็ประกาศอย่างเป็นทางการว่า "Since these devices make our lives so sweet, each Android version is named after a dessert"

 

โลโก้หุ่นกระป๋องตัวเขียวมาจากไหน?


สิ่งที่คุ้นหน้าคุ้นตาเหล่าสาวกแอนดรอยด์ทุกคนก็คือ โลโก้หุ่นเขียว ที่เป็นการผสมผสานดีไซน์ระหว่างหุ่นยนต์ และแมลง โดยโลโก้นี้เป็นผลงานการออกแบบของ Irina Blok ที่เคยถูกว่าจ้างโดย Google ซึ่ง Blok เคยเปิดเผยในการให้สัมภาษณ์กับ The New York Times ในปี 2013 ว่า บรีฟที่ทาง Google ส่งมาสำหรับการออกแบบโลโก้ใหม่นั้น ระบุสั้นๆ เพียงว่า "ทำให้มันเหมือนหุ่นยนต์" และเธอก็ยังเปิดเผยอีกว่า ต้นฉบับแบบ Final Design นั้นได้แรงบันดาลใจมาจากสัญลักษณ์ห้องน้ำรูปคนเพศชาย/หญิงนั่นเอง

นอกจากนี้ Blok และ Google ได้ตัดสินใจร่วมกันว่า พวกเขาอยากทำให้ Android OS เป็นระบบเปิด ดังนั้น โลโก้ Android ที่เป็นหุ่นยนต์ตัวเขียวนี้สามารถเปิดให้ผู้ใช้ หรือใครก็ตามนำเอาไปตกแต่งเพิ่มเติม หรือตัดต่ออย่างไรก็ได้ ซึ่งแตกต่างจากแบรนด์ยักษ์ใหญ่รายอื่นๆ ที่มักจะสงวนลิขสิทธิ์สัญลักษณ์, โลโก้ หรือมาสคอตประจำบริษัทไว้

 

Android 1.5 Cupcake


ระบบปฏิบัติการ Android OS เวอร์ชันแรกที่มีการตั้งชื่อเล่นต่อท้าย โดยมาพร้อมกับฟีเจอร์ใหม่เล็กๆ น้อยๆ อย่างการอัปโหลดวิดีโอลง YouTube, การหมุนหน้าจอให้ตรง และรองรับการใช้คีย์บอร์ดแบบ Third-Party ซึ่งสมาร์ทโฟนบางรุ่นที่มาพร้อมกับ Android 1.5 Cupcake ก็มีอยู่บ้าง เช่น Samsung Galaxy รุ่นแรก หรือ HTC Hero

 

Android 1.6 Donut


หลังจากเปิดตัว Android 1.5 Cupcake ได้ไม่เปิด Google ก็ได้เปิดตัว Android 1.6 Donut ออกมาต่อเนื่องหลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือน โดย Android Donut มาพร้อมกับการรองรับการใช้งานสัญญาณแบบ CDMA ทำให้ มือถือ Android จะสามารถใช้งานได้ทั่วโลก, การสลับกล้องถ่ายภาพ หรือการจัดการ Power Control, Wi-Fi, Bluetooth หรือ GPS เป็นต้น

 

Android 2.0-2.1 Eclair


หลังที่ Google เปิดตัว Android 1.0 มาได้เกือบ 1 ปี ในปี 2009 Google ก็ได้เปิดตัว Android 2.0 Eclair อย่างเป็นทางการ โดย Android 2.0 Eclair เป็นระบบปฏิบัติการเวอร์ชันแรกที่มีฟีเจอร์ "Text-to-Speech" หรือการอ่านข้อความเป็นเสียง, ภาพพื้นหลังแบบ Live Wallpaper, รองรับการใช้งานหลายบัญชี และระบบนำทางด้วย Google Maps รวมไปถึงการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานด้านต่างๆ ด้วย ส่วนสมาร์ทโฟนรุ่นแรกที่ได้ใช้งาน Android 2.0 Eclair ตั้งแต่แกะกล่องก็คือ Motorola Droid

 

Android 2.2 Froyo


ระบบปฏิบัติการ Android 2.2 Froyo (ย่อมาจาก Frozen Yogurt) เปิดตัวในเดือนพฤษภาคม ปี 2010 โดยมาพร้อมกับฟีเจอร์ใหม่อย่าง Wi-Fi Hotspot, ระบบการแจ้งเตือนผ่านทาง Android Cloud to Device Messaging (C2DM), รองรับการใช้งานโปรแกรม Flash Player ฯลฯ โดยสมาร์ทโฟนในตระกูล Nexus ก็เปิดตัวในช่วงต้นปี 2010 ด้วยเช่นกัน แต่มาพร้อมกับ Android 2.1 และเมื่อ Google เปิดตัว Android 2.2 สมาร์ทโฟน Nexus One ก็ได้รับอัปเดตในช่วงปลายปีทันที

 

Android 2.3 Gingerbread


Android 2.3 Gingerbread เปิดตัวในเดือนกันยายน ปี 2010 โดยมาพร้อมกับการปรับ UI แบบใหม่ พร้อมทั้งเพิ่มการเชื่อมต่อ NFC เข้าไปด้วย ซึ่งสมาร์ทโฟนรุ่นแรกที่ได้ใช้งาน Android 2.3 พร้อมระบบ NFC ก็คือ Nexus S ที่ Google จับมือพัฒนาร่วมกับ Samsung

 

Android 3.0 Honeycomb


ระบบปฏิบัติการ Android 3.0 ออกจะเป็นเวอร์ชันที่ค่อนข้างแปลกอยู่สักเล็กน้อย เพราะ Google พัฒนา Android 3.0 ขึ้นมาเพื่อใช้งานกับแท็บเล็ตโดยเฉพาะ ซึ่ง Android 3.0 เปิดตัวในเดือนกุมภาพันธ์ 2011 แต่ยุทธศาสตร์ที่ Google วางไว้ว่าจะให้ผู้ผลิตแท็บเล็ตหันมาใช้ Android 3.0 เพื่อสู้กับ iPad ของ Apple ที่เปิดตัวมาก่อนหน้าในปี 2010 ก็ต้องล้มไป เพราะบรรดาผู้ผลิตยังคงใช้ระบบปฏิบัติการ Android OS เวอร์ชันก่อนหน้าเหมือนเดิม  ทำให้ Android 3.0 ไม่เป็นที่นิยมเท่าไหร่นัก และ Google จึงต้องยกฟีเจอร์บางอย่างใน Android 3.0 ไปใส่ใน Android 4.0 เวอร์ชันต่อไปด้วย

 

Android 4.0 Ice Cream Sandwich


Android 4.0 เปิดตัวในเดือนตุลาคม ปี 2011 และเป็นแอนดรอยด์เวอร์ชันหนึ่งที่มาพร้อมกับฟีเจอร์ใหม่อย่างมากมายทีเดียว เพราะ Google ได้ยกฟีเจอร์บางอย่างใน Android 3.0 มาใส่ในเวอร์ชันนี้ด้วย เช่น Favorites Tray หรือแถบวางแอปพลิเคชันด้านล่างที่มักเป็นแอปพลิเคชันที่เราใช้กันบ่อยๆ และเป็น Android เวอร์ชันแรกที่รองรับการปลดล็อกสมาร์ทโฟนด้วยการถ่ายภาพใบหน้าของผู้ใช้ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการนำระบบ Biometric เข้ามาใช้งานในส่วนการรักษาความปลอดภัย และเริ่มพัฒนาให้ดีขึ้นนับจากนั้นเป็นต้นมา นอกจากนี้ Android 4.0 ยังมาพร้อมกับ การใช้งานปุ่มกด On-Screen, การปัดเพื่อปิดการแจ้งเตือน และการแสดงข้อมูล Data ที่ใช้ไปจาก Mobile Data และ Wi-Fi

 

Android 4.1-4.3 Jelly Bean


Android 4.x Jelly Bean เป็นแอนดรอย์ซีรีส์หนึ่งที่ใช้ Jelly Bean ติดต่อกัน โดย Android 4.1 เปิดตัวในเดือนมิถุนายน 2012 แล้วตามด้วยเวอร์ชัน 4.2 ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน และเวอร์ชัน 4.3 ในเดือนกรกฎาคม 2013

สำหรับฟีเจอร์ใหม่ในเวอร์ชันนี้มีหลายอย่างด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น การแจ้งเตือนแบบใหม่ที่แสดงคอนเทนท์มากขึ้น, รองรับการใช้งานร่วมกับ Google Chrome เต็มรูปแบบ, Google Now ถูกพัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรก และใช้งานร่วมกับระบบ Search, Project Butter ที่พัฒนาความเร็วของ Animation ต่างๆ ที่แสดงผลบนหน้าจอ และระบบสัมผัสที่แม่นยำมากขึ้น, การเชื่อมต่อมือถือกับหน้าจอแยก และรองรับการถ่ายภาพแบบ HDR

 

Android 4.4 KitKat


Android 4.4 เปิดตัวในเดือนกันยายน 2013 ซึ่งเป็นแอนดรอยด์เวอร์ชันแรกที่ใช้ชื่อขนมหวานที่มีลิขสิทธิ์ นั่นก็คือ KitKat ขนมหวานแบบช็อกโกแลตแท่งที่ผลิตโดย Nestle ซึ่งในตอนแรก Google เผยคำใบ้ว่า Android 4.4 จะใช้ชื่อว่า Key Lime Pie ซึ่งทีมงานทั้งหมดก็คิดว่า Android 4.4 จะใช้ชื่อนั้น แต่ John Lagerling ผู้บริหารที่ดูแลส่วนของ Google Partnership มีความคิดว่าชื่อ Key Lime Pie ดูธรรมดาเกินไป เขาเลยตัดสินใจติดต่อกับ Nestle เพื่อขอยืมชื่อ KitKat มาใช้งาน และสุดท้าย Android 4.4 ก็ได้ใช้ชื่อ KitKat จริงๆ

จุดเด่นของ Android 4.4 ไม่ได้อยู่ที่ฟีเจอร์ เพราะครั้งนี้ Google ไม่ได้ใส่ฟีเจอร์เข้ามามากนัก แต่เน้นการปรับแต่งระบบให้สามารถใช้งานได้บนสมาร์ทโฟนระดับเริ่มต้นที่มี RAM เพียง 512MB ซึ่งก็นับเป็นความคิดที่ดี เพราะ Android OS สามารถขยายตลาดให้ครอบคลุมผู้ใช้ได้ทุกช่วงระดับ และมีฐานลูกค้าที่ใหญ่มากทีเดียว

 

Android 5.0 Lollipop


Android 5.0 เปิดตัวในปี 2014 ซึ่งมาพร้อมกับการรีดีไซน์ UI แบบใหม่ทั้งหมดเป็นแบบ Material Design, รองรับการใช้งาน 2 ซิมการ์ด, HD Voice Call และระบบป้องกัน Device Protection โดยสมาร์ทโฟนรุ่นแรกที่ได้ใช้งานคือ Nexus 6

 

Android 6.0 Marshmallow


Android 6.0 เปิดตัวในปี 2015 โดยมาพร้อมกับ App Drawer แบบปัดขึ้นลง (ก่อนหน้านี้เป็นแบบปัดซ้ายขวา), ฟีเจอร์ Google Now on Tap, ทำให้ฟีเจอร์การใช้ลายนิ้วมือในการปลดล็อกเป็นฟีเจอร์มาตรฐานที่ต้องมี, รองรับ USB-C และเริ่มต้นใช้งาน Android Pay ซึ่งสมาร์ทโฟนรุ่นแรกที่ได้ใช้งานก็คือ Nexus 6P และ Nexus 5X

 

Android 7.0 Nougat


Android 7.0 เปิดตัวในปี 2016 โดยมาพร้อมกับฟีเจอร์ใหม่ๆ หลายอย่าง ทั้งระบบ Multitasking ที่รองรับการใช้งานได้หลายแอปพลิเคชันมากขึ้น, เพิ่มความเร็วในการประมวลผลแอปพลิเคชัน, รองรับการประมวลผลกราฟิกด้วย Vulkan API และเปิดให้บรรดา OEM พัฒนาฟีเจอร์ DayDream Virtual Reality ของ Google เข้าไปด้วย ซึ่งสมาร์ทโฟนรุ่นแรกๆ ที่ได้ใช้งานก็คือ Google Pixel, Google Pixel XL และ LG V20

 

Android 8.0 Oreo


Android 8.0 เป็นแอนดรอยด์เวอร์ชันที่สองที่ใช้ชื่อเรียกแบบติดลิขสิทธิ์ (Oreo เป็นเจ้าของโดยบริษัท Nabisco) และเป็นครั้งแรกที่ Google เลือกเปิดตัวรูปปั้นมาสค็อตของ Android Oreo ที่ New York City จากเดิมที่ปกติจะเปิดตัวใน Googleplex HQ เท่านั้น ส่วนฟีเจอร์ที่เพิ่มเข้ามาก็คือ รูปแบบไอคอนในเมนู Settings ที่เปลี่ยนไป, รองรับฟีเจอร์ Pictue-in-Picture, แถบแจ้งเตือนแบบใหม่ หรือระบบ Autofill ที่ปลอดภัย และใช้งานได้ง่ายดายมากยิ่งขึ้น ซึ่งสมาร์ทโฟนรุ่นแรกที่ได้ใช้งานก็คือ Google Pixel 2 และ Pixel 2 XL และสมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นอื่นๆ ที่กำลังจะเปิดตัวในเร็วๆ นี้

 

Android P


สำหรับ Android P เป็นระบบปฏิบัติการเวอร์ชันใหม่ที่กำลังจะเปิดตัวในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2018 นี้ โดย Google ก็ได้เปิดให้นักพัฒนาได้ทดสอบใช้งานกันในเบื้องต้นแล้ว โดยคาดว่า Android P อาจจะมาพร้อมกับ การรองรับไฟล์วิดีโอแบบ HDR และ HEIF, ระบบนำทางภายในตึก, ระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีขึ้น และอาจมีการเปลี่ยนดีไซน์บางส่วนด้วย ส่วนชื่อขนมหวานสำหรับตัว P นั้นยังไม่มีใครทราบข้อมูลว่า Google จะเลือกใช้ชื่อใดกันแน่

 

บทสรุปของ Android OS


จะเห็นได้ว่าตลอดช่วงเวลาเกือบ 10 ปี ที่ผ่านมา Android ผ่านอะไรมาเยอะแยะมากมาย ตั้งแต่การเป็นระบบปฏิบัติการเล็กๆ จนกระทั่งก้าวเข้าสู่ปีกของ Google พร้อมพัฒนาระบบให้ดีขึ้นในทุกๆ เวอร์ชัน จนทำให้หุ่นกระป๋องตัวเล็กๆ เติบโตกลายเป็นหุ่นยนต์ขนาดใหญ่ที่มีฟังก์ชันไฮเทคมากมาย และได้รับความนิยมจากผู้ใช้มากที่สุดในโลกด้วยสัดส่วนการใช้งานสูงถึง 85-86% ทั่วโลก ขณะที่คู่แข่งอย่าง iOS ของ Apple มีสัดส่วนผู้ใช้อยู่ที่ 14-15% เท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนประการหนึ่งของระบบ Android OS ก็คือ การอัปเดตที่ล่าช้า เพราะสมาร์ทโฟนที่จะได้รับอัปเดตเร็วที่สุดจะเป็นกลุ่มสมาร์ทโฟนของ Google เอง เช่น Pixel และ Nexus ส่วนมือถือแบรนด์อื่นต้องรอผู้ผลิตปรับแต่งโค้ดให้สำเร็จเสียก่อน จึงจะปล่อยอัปเดตได้ ทำให้ GooGle ต้องพัฒนา Project Treble ขึ้นมาใน Android Oreo เพื่อแก้ปัญหาในจุดนี้ ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าในระยะยาวแล้ว Android OS จะมีทีท่าได้รับการอัปเดตเร็วขึ้นหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือ Android OS จะยังคงครองสัดส่วนการใช้งานได้สูงที่สุดในโลกแบบนี้ต่อไปอีกหลายปีเลยทีเดียว

 

แปล และเรียบเรียงโดยthaimobilecenter.com
ที่มา : 
androidauthority


วันที่ : 30/3/2561

Cookie Consent

Our website uses cookies to provide your browsing experience and relavent informations.Before continuing to use our website, you agree & accept of our Cookie Policy & Privacy