คงจะไม่แปลกนัก หากจะบอกว่าของใหม่ก็ย่อมจะดีกว่าของเก่า แต่สำหรับในบางกรณี หรือสำหรับบางคน ของเก่าก็เป็นอะไรที่คุ้นเคย และดูน่าพิศมัยมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เวอร์ชันที่กำลังจะกลายเป็นอดีตอย่าง Android 4.4 KitKat และระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เวอร์ชันใหม่ล่าสุดอย่าง Android 5.0 Lollipop ที่ดูเหมือนจะดีกว่าในทุกๆ ด้าน แต่ก็ยังไม่วาย กลับมีจุดที่เสียเปรียบเวอร์ชัน KitKat อยู่ไม่น้อย ซึ่งหากข้อเสียเปรียบเหล่านี้ ไปส่งผลกระทบกับการใช้งานสมาร์ทโฟนในชีวิตประจำวันของใครบางคน การเลือกอยู่กับอดีตอย่าง KitKat อาจจะดูเข้าท่ากว่าการเปลี่ยนไปอยู่กับของใหม่อย่าง Lollipop ก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นเราลองไปติดตามดูกันต่อดีกว่าว่าข้อเสียเปรียบของ Lollipop นั้นมีอะไรบ้าง และจะมีผลกับการใช้งานของผู้ใช้งานอย่างเราๆ มากน้อยขนาดไหน
การเข้ากันได้กับแอปพลิเคชันต่างๆ

แน่นอนว่าระบบปฏิบัติการอย่าง Lollipop นั้นเป็นของใหม่ ทำให้เกิดการปรับตัวไม่ทันของเหล่านักพัฒนา ทำให้บางแอพพลิเคชัน นั้นเข้ากันไม่ได้ ใช้ๆอยู่ เกิดการปิดตัวไปขณะกำลังใช้งานก็มี บางแอพพลิเคชันก็อาจจะยังไม่รองรับ Lollipop ได้ดีเท่าที่ควร ผิดกับ KitKat ที่เกิดมานานกว่าทำให้หลายแอพพลิเคชันมีความเข้ากันได้มากกว่า ใช้แล้วเกิดการปิดตัวเองน้อยกว่า
หน้าตาและอินเทอร์เฟสที่ไม่เหมือนเดิม
ความงามของแต่ละคนนั้นย่อมมีนิยามที่ไม่เหมือนกันอย่างแน่นอน รวมทั้งถึงไอคอนของแอพพลิเคชันใน KiKat และ Lollipop ที่แตกต่าง รวมถึงอินเทอร์เฟส แต่ใช่ว่าบางคนจะยินดีกับของใหม่ อาจเป็นเพราะการยึดติดกับของที่คุ้นชินมาเนิ่นนาน ก็ทำให้ดูสวยกว่าของใหม่ที่ดูแปลกตาก็เป็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบอินเทอร์เฟสอย่าง Material Design ที่ดูแตกต่างจนบางคนก็คิดว่ารูปแบบนี้ไม่สวยไปเลยก็มี
ไม่มีโหมด Silent

อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดของ Google เลยก็ว่าได้ เป็นเพราะว่า Lollipop นั้น โหมด Silent ถูกเอาออกไปจากชอร์ตคัตของการกดปุ่มพาวเวอร์ค้างไว้ ทำให้การเข้าถึงโหมด Silent เป็นไปได้ลำบากมากยิ่งขึ้น ผิดกับ KitKat ยังคงความคลาสสิกนี้ไว้ ซึ่งเป็นวิธีการทำให้เข้าถึงโหมด Silent โดยวิธีที่ง่ายที่สุดแบบไม่จำเป็นต้องปลดล็อกหน้าจอแต่อย่างใด
การเข้าถึงหน้าจอ Multitasking

รูปแบบหน้าจอ Multitasking ของเวอร์ชัน KitKat นั้น สามารถเข้าถึงการทำงานของแอพพลิเคชั่นที่ทำงานได้อย่างดีมากกว่า เป็นเพราะการจัดวางแบบเรียบง่าย ไม่สลับซับซ้อน ผิดกับหน้าจอของ Lollipop ที่ดูซับซ้อนและยุ่งยากมากกว่า จึงทำให้การเข้าถึงหน้าจอ Multitasking เป็นไปอย่างลำบากมากกว่า
ความอึดทนของแบตเตอรี่

Lollipop นั้นถึงจะมีระบบ Project Volta ที่ช่วยประหยัดพลังงาน แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว สำหรับสมาร์ทโฟนหลายๆ รุ่น การอัพเกรดเป็น Lollipop นั้น ต้องแลกมาด้วยกับการที่อายุของแบตเตอรี่สั้นลง ซึ่งทำให้มีระยะการใช้งานที่น้อยลง ซึ่งต้องชาร์จบ่อยมากขึ้น ผิดกับ KitKat ที่ยังคงความอึดของแบตเตอรี่ได้มากกว่า Lollipop
การแจ้งเตือนบนหน้าจอ Lock Screen
สำหรับ Lollipop แล้วการแจ้งเตือนที่หน้าจอ Lock Screen จะเป็นแบบแสดงว่ามาจากแอพพลิเคชันอะไร และมีข้อความใดเข้ามา สามารถอ่านจากหน้าจอ Lock Screen ได้เลย แต่สำหรับบางคนแล้วไม่เป็นเช่นนั้น เป็นเพราะถ้ามีการแจ้งเตือนมากๆ จะทำให้หน้าจอดูรกมากเกินไป ต่างจาก Lock Screen ของ KitKat ที่ยังคงความเรียบง่าย ดูไม่รกเหมือน Lollipop
วิดเจ็ตบนหน้าจอ Lock Screen หายไป

สำหรับผู้ที่ชอบใช้งานวิดเจ็ตบนหน้าจอ Lock Screen คงต้องขอแสดงความเสียใจด้วย ที่ Lollipop ได้พรากความสามารถนี้ออกไป เหลือไว้แต่การแสดงผลการแจ้งเตือนข้อความ เวลา ซึ่งดูโล่งๆ จะว่าสวยก็สวยอยู่ แต่สำหรับบางคนอย่างที่กล่าวไว้ว่าชอบการใช้วิดเจ็ตต่างๆ บนหน้าจอ Lock Screen มากกว่า ก็ควรใช้งาน KitKat ต่อไปจะดีกว่า
สรุปแล้วในแต่ละฟีเจอร์ ไม่ว่าจะเป็นฟีเจอร์บน Android 4.4 KitKat หรือ Android 5.0 Lollipop ต่างก็มีจุดเด่น และจุดด้อยที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกใช้ระบบปฏิบัติการใดให้เหมาะสมกับสมาร์ทโฟน และพฤติกรรมการใช้งานของเรา หากยังคงใช้งาน Android 4.4 KitKat เดิมๆ ได้อย่างราบรื่น ไม่มีสิ่งใดขาดตกบกพร่อง การเลือกใช้เวอร์ชันนี้ต่อไปก็นับว่าเพียงพอ แถมยังไม่ต้องกังวลกับข้อเสียเปรียบข้างต้นอีกต่างหาก แต่หากต้องการความสดใหม่, การทำงานโดยรวมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับ Android 5.0 Lollipop การตกลงปลงใจอัพเกรดระบบปฏิบัติการไปเป็นเวอร์ชันใหม่นี้ ก็นับว่าเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับท่านเช่นเดียวกัน
Thaimobilecenter.com
วันที่ : 7/5/58
|