ตอนนี้คุณอยู่ที่ >> หน้าแรก >> หน้ารวม บทความโทรศัพท์มือถือน่าสนใจ >> วิธีตรวจสอบมือถือ หรือสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ก่อนซื้อ ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ เรื่องง่ายๆ ที่ผู้ซื้อทุกคนควรรู้


วิธีตรวจสอบมือถือ หรือสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ก่อนซื้อ ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ เรื่องง่ายๆ ที่ผู้ซื้อทุกคนควรรู้


เผลอหน่อยเดียว เวลาก็ล่วงเลยมาถึงเดือนสุดท้ายของปี 2014 กันแล้ว ซึ่งก็มีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ตั้งใจจะเลือกซื้อมือถือ, สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ในช่วงปลายปีแบบนี้ เนื่องจากมักเป็นช่วงที่บรรดาผู้ผลิตแบรนด์ต่างๆ มักจะแข่งขันกันเพื่อนำเสนอโปรโมชั่นดีๆ ราคาโดนๆ มากเป็นพิเศษ เพื่อกระตุ้นยอดขายส่งท้ายปี แต่อย่างไรก็ดี นอกจากการตรวจสอบคุณสมบัติ และราคาจำหน่าย ให้ตรงกับความต้องการของเราแล้ว สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่เราควรทำก่อนที่จะจ่ายเงินก้อนใหญ่ให้กับร้านค้าก็คือ การตรวจสอบความเรียบร้อยของตัวสินค้าอย่างถี่ถ้วน ตั้งแต่ภายนอกกล่อง ไปจนถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ภายใน เพื่อให้สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์ต่างๆ ที่เราตั้งใจซื้อมาใช้งาน มีสภาพที่สมบูรณ์เต็ม 100% นั่นเอง ซึ่งขั้นตอนการตรวจสอบต่างๆ นั้นก็ไม่ยาก ทุกท่านสามารถทำตามได้อย่างแน่นอน ลองไปติดตามกันได้เลยครับ

 

ขั้นตอนที่ 1 : ตรวจสอบสภาพกล่อง

เมื่อเราตัดสินใจเลือกซื้อสมาร์ทโฟนรุ่นดังกล่าวแล้ว ก็มาเริ่มที่การเช็คสภาพกล่องกันก่อน โดยสภาพกล่องจะต้องไม่มีร่องรอยการแกะ หรือบุบเสียหายก่อนจะถึงมือเรา

 

ขั้นตอนที่ 2 : ตรวจสอบสภาพตัวเครื่อง

มาต่อกันที่ตัวเครื่อง เมื่อทำการแกะกล่องเรียบร้อยแล้วเราก็มาตรวจสอบสภาพตัวเครื่องว่ามีร่องรอยในการตกหล่น, รอยขีดข่วน หรือรอยถลอกของตัวเครื่องบ้างหรือไม่ โดยผู้ใช้งานควรจะตรวจสอบทั้งตัวเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอ, ขอบตัวเครื่องทั้งด้านบน-ล่าง และซ้าย-ขวา ถ้าสมาร์ทโฟนรุ่นดังกล่าวนั้นสามารถถอดฝาหลังได้ ก็ควรจะแกะฝาหลัง และตรวจสอบด้านใน พร้อมตรวจสอบแบตเตอรี่ด้วยเช่นกัน

 

ขั้นตอนที่ 3 : ตรวจสอบอุปกรณ์เพิ่มเติมต่างๆ ภายในกล่อง

สำหรับอุปกรณ์เพิ่มเติมต่างๆ ภายในกล่องนั้น สมาร์ทโฟนแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อจะมีความแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่โดยพื้นฐานทั่วไปแล้วจะประกอบไปด้วย สายหูฟังแบบสเตอริโอ, อะแดปเตอร์สำหรับการชาร์จแบตเตอรี่, สาย microUSB สำหรับเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์, คู่มือการใช้งาน และใบรับประกัน ซึ่งส่วนนี้จะสำคัญมากเป็นพิเศษ ดังนั้นผู้ใช้งานควรจะตรวจสอบเงื่อนไขการรับประกันอย่างละเอียด

 

ขั้นตอนที่ 4 : ตรวจสอบคลื่นความถี่ 3G หรือ 4G

ก่อนผู้ใช้งานจะเลือกซื้อสมาร์ทโฟนรุ่นดังกล่าว ก็คงจะตรวจสอบว่าสมาร์ทโฟนนั้นรองรับคลื่นความถี่ที่เราใช้ได้หรือไม่ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดการผิดพลาดเราก็ต้องมาตรวจสอบกันให้ดี ซึ่งปัจจุบันสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่จะรองรับการใช้งาน 3G แต่สมาร์ทโฟนบางรุ่นจะรองรับคลื่นความถี่แตกต่างกัน โดยความถี่ 3G ของแต่ละเครือข่ายในประเทศไทยจะเป็นดังนี้คือ เครือข่าย AIS ใช้คลื่นความถี่ 900/2100 MHz, เครือข่าย dtac ใช้คลื่นความถี่ 850/2100 MHz และเครือข่าย TrueMove H ใช้คลื่นความถี่ 850/2100 MHz

เมื่อตรวจสอบความถี่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ลองนำซิมการ์ดใส่เข้าไปที่ตัวเครื่อง และเปิดสัญญาณโทรศัพท์ พร้อมกับเปิดโหมดเชื่อมต่อข้อมูล และทดสอบการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านเว็บเบราว์เซอร์ รวมไปถึงทดสอบการโทรเข้า และโทรออก ด้วยเช่นกัน

 

ขั้นตอนที่่ 5 : ตรวจสอบหมายเลข IMEI

ในการตรวจสอบรหัส IMEI นั้นมีหลายวิธี โดยเบื้องต้นแล้วเราสามารถตรวจสอบได้จากข้างกล่อง และนำมาเปรียบเทียบกับเลข IMEI บนเครื่อง โดยสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่เลข IMEI จะอยู่ด้านในใต้แบตเตอรี่ ซึ่งเราสามารถแกะฝาหลัง และนำแบตเตอรี่ออกได้ สำหรับสมาร์ทโฟนที่ไม่สามารถแกะฝาหลังได้นั้น เลข IMEI จะถูกติดไว้ที่หลังของตัวเครื่อง รวมไปถึงการใส่รหัสพิเศษเพื่อตรวจเช็คเลข IMEI ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยเข้าไปที่โหมดการโทร และกดรหัส *#06# แค่นี้เลข IMEI ก็จะแสดงขึ้นมาให้เราเห็น

 

ขั้นตอนที่ 6 : ตรวจสอบขั้วแบตเตอรี่

โดยปกติแล้วสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ที่ออกจากกล่อง บริเวณขั้วแบตเตอรี่สีทอง นั้นไม่ควรมีรอยขีดข่วน หรือมีสีอื่นๆ ปะปนนอกจากสีทอง รวมไปถึงรอยไหม้ หรือจุดดำบริเวณขั้วแบตเตอรี่ ทั้งในส่วนของตัวเครื่อง และส่วนของก้อนแบตเตอรี่

 

วิธีที่ 7 : ตรวจสอบอาการผิดปกติของเม็ดสีบนหน้าจอแสดงผล

การตรวจสอบนั้นจะมี 2 แบบ อย่างแรกคือ การตรวจสอบ Stuck Pixel โดยการตรวจสอบนี้หน้าจอแสดงผลต้องเป็นภาพที่ดำสนิท เมื่อลองตรวจสอบแล้วจะเห็นเม็ดสีที่แตกต่างไปจากสีดำ ซึ่งเม็ดสีที่เห็นนั้นจะมีทั้งสีน้ำเงิน, สีขาว และสีแดง อย่างที่สองคือการตรวจสอบ Dead Pixel โดยการตรวจสอบนี้ภาพหน้าจอต้องเป็นสีขาวสว่างพอสมควร เมื่อลองตรวจสอบแล้วจะเห็นเม็ดสีที่เป็นสีดำ และถ้าเปลี่ยนภาพที่เป็นสีอื่นๆ ที่ไม่ใช้สีดำแล้ว เม็ดสีนั้นก็ยังคงเป็นสีดำอยู่เหมือนเดิน พร้อมทั้งผู้ใช้งานยังสามารถตรวจสอบความผิดปกติของเม็ดสีด้วยแอปพลิเคชัน Pixel Test หรือเข้าโหมด Test Menu เพื่อทำการตรวจสอบได้เช่นกัน


ขั้นตอนที่ 8 : เข้าเมนูตรวจสอบ (Service Test) ด้วยรหัสลับของสมาร์ทโฟนแต่ละแบรนด์

 

หากท่านใดยังไม่ทราบ เราสามารถทดสอบการใช้งานฟังก์ชันพื้นฐานต่างๆ ของตัวเครื่องได้ทั้งหมดภายในที่เดียว โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาไปดาวน์โหลดแอปพลิเคชันใดๆ เพิ่มเติม วิธีการก็คือให้เราเข้าไปที่โหมดโทรออก แล้วพิมพ์รหัสลับสำหรับตรวจสอบสมาร์ทโฟนเข้าไป ซึ่งรหัสสำหรับสมาร์ทโฟนแต่ละแบรนด์จะแตกต่างกันออกไปดังนี้

สมาร์ทโฟนซัมซุง (Samsung) ใส่รหัส *#0*#
                    
สมาร์ทโฟนโซนี่ (Sony) ใส่รหัส *#*#7378423#*#*
                    
สมาร์ทโฟนเอชทีซี (HTC) ใส่รหัส *#*#3424#*#*
                    
สมาร์ทโฟนแอลจี (LG) ใส่รหัส 3845#*รหัสรุ่น# หรือ กด 1809#*รหัสรุ่น#
                    
สมาร์ทโฟนออปโป้ (OPPO) ใส่รหัส *#808#

สมาร์ทโฟนเลอโนโว (Lenovo)  ใส่รหัส  ####1111#

สมาร์ทโฟนเอชทีซี (HTC) ใส่รหัส *#*#3424#*#* หรือ *#*#4636#*#*

สมาร์ทโฟนหัวเว่ย (Huawei) ใส่รหัส ##497613

สมาร์ทโฟนไอโมบาย (i-mobile) ให้กดปุ่มปิดเครื่องก่อน เมื่อหน้าจอดับแล้วให้ กดปุ่มลดเสียง (Volume Down) และปุ่ม Power ค้างไว้พร้อมกัน

ซึ่งรหัสของสมาร์ทโฟนแต่ละแบรนด์ข้างต้น จะเป็นรหัสเพื่อเข้าโหมดทดสอบ หรือ Service Test และมีเมนูย่อยเพื่อทดสอบการใช้งานขั้นพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบ Dead Pixel, การรับสัญญาณ, ระบบสั่น, กล้องถ่ายภาพ, เซ็นเซอร์, ระบบสัมผัส, ลำโพง, ปุ่มกด และอื่นๆ ซึ่งฟังก์ชันทดสอบต่างๆ จะมากน้อยต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแต่ละแบรนด์จะใส่มาให้มากน้อยขนาดไหน

 

ขั้นตอนที่ 9 : ตรวจสอบแสงลอดบนหน้าจอแสดงผล

การตรวจสอบอาการแสงลอดบนหน้าจอแสดงผล เริ่มจากการเปิดกล้องดิจิตอลที่ด้านหลังของตัวเครื่องแล้วทำการนำมือทั้งสองข้างมาบังแสงรอบนอก และสังเกตตามขอบจอว่ามีแสงลอดออกมามาก หรือน้อย เพียงใด ถ้าออกมามากจนเกินไป ผู้ใช้งานก็สามารถแจ้งพนักงานเพื่อทำการเปลี่ยนเครื่องใหม่ได้ทันที

 

ขั้นตอนที่ 10 : ตรวจสอบระบบสัมผัสของหน้าจอแสดงผล และปุ่มสัมผัส

การตรวจสอบระบบสัมผัสนั้นมีหลายวิธี เช่น การปัดหน้าจอไปซ้าย-ขวา หรือการปัดขอบหน้าจอด้านบน และด้านล่าง พร้อมทั้งทดสอบการแตะหน้าจอขณะเล่นเกม รวมไปถึงการแตะปุ่มควบคุมการทำงานแบบสัมผัส ซึ่งจะอยู่ด้านล่างของหน้าจอ โดยกดปุ่มฟังก์ชัน (หรือปุ่ม Recent Apps), ปุ่มโฮม และปุ่มย้อนกลับ ประมาณ 3-5 ครั้ง

 

ขั้นตอนที่ 11 : ตรวจสอบลำโพงหูฟัง

เราสามารถทดสอบลำโพงหูฟังได้ด้วยการโทรเข้า หรือโทรออก แล้วลองฟังเสียงสนทนา ว่ามีเสียงที่ดังฟังชัด หรือมีเสียงเบาจนเกินไปหรือไม่อย่างไร

 

ขั้นตอนที่ 12 : ตรวจสอบลำโพงเสียงภายนอก

ให้เข้าไปที่เมนู การตั้งค่า > เสียง และการแจ้งเตือน แล้วลองเลือกเสียงเรียกเข้า เพื่อให้ได้ยินเสียงของลำโพงภายนอก หรือเปิดเพลง ก็ได้เช่นกัน รวมถึงการลองปรับระดับเสียงให้เบา หรือดัง แล้วลองฟังว่าเสียงที่ออกมานั้นมีความผิดปกติ หรือมีอาการแตกพร่าหรือไม่


ขั้นตอนที่ 13 : ตรวจสอบปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง, ปุ่มเพิ่ม-ลดเสียง และปุ่มอื่นๆ

การตรวจสอบนั้นจะต้องลองกดใช้งานดูจริงๆ โดยกดปุ่มเปิด-ปิด เครื่อง, ปุ่มเพิ่ม-ลดเสียง หรือปุ่มกล้อง (ถ้ามี) ประมาณ 3-5 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าในการกดปุ่มแต่ละครั้ง ปุ่มจะไม่มีการค้าง หรือยุบลงไปแบบผิดปกติ รวมถึงมีการตอบสนองที่ดี

 

ขั้นตอนที่ 14 : ตรวจสอบกล้องดิจิตอล และไฟแฟลช

สามารถตรวจสอบได้ด้วยการเปิดโหมดกล้องถ่ายภาพ พร้อมกดถ่ายภาพ ซึ่งต้องลองทดสอบแบบนี้ประมาณ 3-4 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่ากล้องถ่ายภาพนั้นไม่มีปัญหา ทั้งกล้องด้านหน้า และกล้องด้านหลัง รวมไปถึงลองเปิดใช้งานไฟแฟลชว่ามีแสงแฟลชออกมาตามปกติหรือไม่

 

ขั้นตอนที่ 15 : ตรวจสอบหูฟัง

ส่วนใหญ่หูฟังที่แถมมาให้พร้อมกับชุดขายมาตรฐาน จะมีการรับประกันประมาณ 6 เดือนเท่านั้น เพื่อไม่ให้มีปัญหา และเสียเวลาในการเคลม หรือเปลี่ยนหูฟังใหม่อนาคต ผู้ใช้งานควรตรวจสอบหูฟังให้ดีกันเสียก่อน โดยทดสอบด้วยการเสียบสายหูฟังเข้ากับตัวเครื่อง ซึ่งจะมีสัญลักษณ์รูปหูฟัง แสดงขึ้นบนขอบหน้าจอด้านบน และลองเปิดเพลงฟัง หรือทดสอบการใช้งานด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวหูฟัง เช่นการสนทนา พร้อมลองกดปุ่มฟังก์ชันต่างๆ บนอุปกรณ์ เพื่อความมั่นใจอีกครั้ง

 

ขั้นตอนที่ 16 : ตรวจสอบสายชาร์จ และอะแดปเตอร์

 

สำหรับการตรวจสอบสายชาร์จ หรือสายยูเอสบี และอะแดปเตอร์ นั้นก็สำคัญไม่แพ้การตรวจสอบหูฟังเลยก็ว่าได้ โดยให้นำสายชาร์จ และอะแดปเตอร์มาเสียบชาร์จแบตเตอรี่ของตัวเครื่อง ซึ่งจะมีสัญลักษณ์รูปไฟฟ้าตรงแบตเตอรี่แสดงขึ้นมาที่ด้านบนขวาของหน้าจอ พร้อมทั้งนำสายชาร์จ หรือสายยูเอสบี มาลองเชื่อมต่อเข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือโน๊ตบุ๊ค ซึ่งจะมีสัญลักษณ์รูปการเชื่อมต่อที่ด้านบนขวาของหน้าจอ

จากขั้นตอนต่างๆ สำหรับการตรวจสอบสมาร์ทโฟนที่แนะนำกันไปข้างต้น แน่นอนว่าหากท่านใดนำไปปฏิบัติตามก็อาจจะต้องใช้เวลาตรวจสอบกันบ้างพอสมควร แต่หากท่านยอมสละเวลาตรวจสอบสักนิด รับรองว่าท่านจะสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาต่างๆ ที่อาจจะตามมาในภายหลังได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการที่ต้องจ่ายเงินก้อนโตให้กับร้านค้า แต่กลับต้องนำสมาร์ทโฟนเครื่องที่ไม่สมบูรณ์กลับไปใช้งาน ซึ่งคงจะทำให้เสียอารมณ์กันไม่น้อยเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ดี หากท่านใดมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบเครื่องที่ร้านตามขั้นตอนเหล่านี้ได้จริงๆ ก็สามารถนำสมาร์ทโฟนกลับไปตรวจสอบที่บ้านของท่านได้ เพราะหากท่านเกิดตรวจสอบเจอปัญหาอะไรขึ้นมาจริงๆ อย่างน้อยส่วนใหญ่ร้านค้าที่วางจำหน่ายสมาร์ทโฟนทั่วไปจะออกใบรับประกันหน้าร้านให้ 7 วัน ซึ่งผู้ซื้อสามารถนำสมาร์ทโฟนกลับมาเคลม หรือเปลี่ยนเครื่องใหม่ได้ทันที ภายในวัน และเวลาที่กำหนดไว้ สุดท้ายนี้ก็หวังว่า วิธีตรวจสอบเครื่องสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ก่อนซื้อ ที่ทีมงานได้นำเสนอไปแล้วนั้น จะมีประโยชน์กับผู้ซื้อสมาร์ทโฟนทุกท่านบ้างไม่มากก็น้อย สำหรับวันนี้ต้องขอลาไปก่อน พบกันได้ใหม่ในโอกาสหน้า สวัสดีครับ


Thaimobilecenter.com



วันที่ : 3/12/57


  แสดงความคิดเห็นที่นี่
ชื่อผู้โพสต์  (สมาชิกlogin ที่นี่) / สมัครสมาชิก
*
รายละเอียด
*

 
           Tags | More Smiles
ใส่ปี พ.ศ. ปัจจุบัน   ใส่เฉพาะปี พ.ศ. 4 ตัวเท่านั้น  
 


ต้อย  (Guest)
 
 ความคิดเห็นที่ 2 Quote
Huawei รหัสนี้ไม่ใช่นะครับ ปกติทุกแบรนด์ จะมีเครื่องหมาย # * นำก่อนตัวเลข และปิดด้วยเครื่องหมายอีกครั้ง แต่ Huawei ไม่มีเครื่องหมายเหล่านี้ปิด ทุปเวปเหมือนกันหมดเลยครับ

 โพสต์เมื่อ 23/04/2019  เวลา 13:01      โหวตให้   โหวตลบ  

Kasem  (Guest)
 
 ความคิดเห็นที่ 1 Quote
Xaiomiมีรหัสเช็คเครื่องมั้ยครับ

 โพสต์เมื่อ 17/06/2018  เวลา 07:42      โหวตให้   โหวตลบ  











    Catalog มือถือ     market     Review มือถือ      ราคามือถือ     forum
Catalog มือถือ
Catalog มือถือ Nokia
Catalog มือถือ Samsung
Catalog มือถือ SonyEricsson
Catalog มือถือ i-mobile
Catalog มือถือ LG
Catalog มือถือ BlackBerry
ลงประกาศสินค้ามือถือ
สมัครสมาชิก
หน้าแรกตลาดซื้อขายมือถือ
 
หน้าแรกรีวิว
รีวิว มือถือ Nokia
รีวิว มือถือ Samsung
รีวิว มือถือ Motorola
รีวิว มือถือ LG
 

ราคามือถือ Samsung
ราคามือถือ iPhone
ราคามือถือ Huawei
ราคามือถือ OPPO
ราคามือถือ Vivo
   
   
หน้าแรก cafe
Nokia club
ตั้งหัวข้อใหม่
 

© Copyright all rights reserved : ThaiMobileCenter.com